วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ใครอยู่เบื้องหลัง เวที Bicara Patani

แบมะ ฟาตอนี


           เมื่อวันที่ 21 ก.ย.57 ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ร่วมกับมูลนิธิศักยภาพชุมชน และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ จัดกิจกรรมเสวนาครบรอบ 1 ปี Bicara Patani “ตอบโจทย์พื้นที่ทางการเมืองปาตานีหรือไม่?” ซึ่งเวทีเสวนาในวันนั้นมีการเสวนากันในหัวข้อ “ทำไม Bicara Patani ต้องมี?” และ “อนาคตปาตานีกับวาทกรรมสันติภาพและสันติสุข” มีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 4,500 คน


“ทำไมเวที Bicara Patani ต้องมี?”


          นายฮารา ชินทาโร่ อ.ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ที่ปรึกษาองค์กร NUSANTARA นายฮากิม พงติกอ รองประธาน PerMAS นางรอมละห์ แซเยะ ตัวแทนสตรีที่ได้รับผลกระทบใน จชต. และนายเจ๊ะมุ มะมัน บุตรถูกยิงเสียชีวิต 3 คน เมื่อ 2 ก.พ.57

        นายฮารา ชินทาโร่ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถือได้ว่าเป็นแนวร่วมขาประจำของเวทีเสวนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นกระบอกเสียงให้กับแนวร่วมโจรใต้ หลายต่อหลายครั้งที่ล้ำเส้นในฐานะผู้อาศัยใบบุญผืนแผ่นดินไทยแสดงจุดยืนที่ยากเกินกว่าจะยอมรับได้


        นายฮากิม พงติกอ รองประธาน PerMAS เข้าร่วมเวทีเสวนา Bicara Patani ครบรอบ 1 ปี แต่ที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่ไร้เงาของนายสุไฮมี ดุลละสะ ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่เป็นประธานกลุ่ม PerMAS และยังเป็นแกนนำหลักในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ร่วมกับนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) น่าจะเป็นสิ่งยืนยันจากกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่ากลุ่ม PerMAS ได้เกิดปัญหาระส่ำระสายแตกร้าวภายในองค์กร เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้นำกับสมาชิก


           นายเจ๊ะมุ มะมัน ผู้ที่สูญเสียบุตรถูกยิงตาย 3 คน เมื่อ 2 ก.พ.57 หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้นโดนจองตัวจากกลุ่ม PerMAS เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่เจ้าตัวรู้อยู่เต็มอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปัญหาขัดแย้งส่วนตัว แต่ก็ยังออกมาใส่ไฟกล่าวหาอย่างชนิดหน้าไม่อาย กว่าความจริงมาเปิดเผยจากปากผู้ก่อเหตุพี่น้องชาวปาตานีที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้เกลียดชัง แช่งด่าเจ้าหน้าที่ยับเยิน

         “วาทกรรมเด็ด” ที่ปลุกกระแสเรียกร้องหนีไม่พ้นพิมพ์เขียวที่ได้รับการกลั่นกรองจากเวทีเสวนาย่อยก่อนหน้านี้ของกลุ่ม PerMAS ซึ่งในความรู้สึกของผู้เขียนที่เข้าร่วมรับฟังเสวนาในครั้งนี้ถือได้ว่าไม่เกินความคาดหมายแต่ประการใด มีการเรียกร้องไปในแนวทางเดียวกันของผู้เสวนา ให้ประชาชนชาวปาตานีกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนในทุกเรื่อง และ “ลุกขึ้นต่อสู้นำสิ่งที่เคยเป็นของตนกลับคืนมา โดยไม่ยอมให้ใครมากำหนดชะตากรรมของตน แต่จะต้องเป็นคนกำหนดชะตากรรมเอง”

         ขณะเดียวกันมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แสดงความคิดเพิ่มเติมว่า “เกิดอะไรขึ้นกับคนปาตานีที่เคยร่ำรวยมาก แต่กลับไม่มีแผ่นดินเป็นของตัวเอง ซึ่งต่างกับพม่า หรือกัมพูชาที่ยากจนแต่มีแผ่นดินเป็นของตัวเอง ดังนั้นพวกเราคนปาตานีต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อให้ได้แผ่นดินของเราคืนมา”
          การปลุกระดมในลักษณะนี้มีให้เห็นกันมาอย่างต่อเนื่องทั้งในเวที และนอกเวทีของการเสวนา เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนปาตานีลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องดินแดนคืนจากรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกลุ่ม PerMAS ที่มีการจัดเวทีเสวนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีกลุ่มขบวนการคอยบิดเบือนข้อเท็จจริง ปลอมประวัติศาสตร์ ทำให้เชื่อว่าปัตตานีและอีกหลายจังหวัดเป็นส่วนหนึ่งของมลายู แต่ต้องเสียดินแดนให้ไทยเพราะอังกฤษเข้ามารุกราน แล้วอังกฤษก็แบ่งส่วนนี้ให้ประเทศไทยเข้าทำการยึดครอง  เมื่อประเทศมลายูทั้งหมดได้รับเอกราชจากอังกฤษแต่ประเทศไทยไม่ยอมให้เอกราชแก่ปัตตานีแม้เพียงตารางนิ้วเดียว สิ่งเหล่านี้คือ “การบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์”


ทำไม? ต้องเลือกมัสยิดกลางปัตตานี จัดกิจกรรม



          เป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดเวที Bicara Patani และการจัดกิจกรรมของกลุ่ม PerMAS มักใช้มัสยิดกลางปัตตานีเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งก่อนหน้านี้สมัยที่อิหม่ามยะโก๊ป หร่ายมณี ยังมีชีวิตอยู่จะไม่อนุญาตให้กลุ่ม PerMAS จัดกิจกรรมในมัสยิดกลางเลย 


          นอกจากนี้กลุ่ม PerMAS ยังนิยมเน้นการจัดกิจกรรมในโรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนอิสลาม  หากจะอ่านเกมส์วัดใจ กลุ่ม PerMAS ที่มักเน้นสถานที่ดังกล่าวนั้นเป็นเพราะเนื่องจากโรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนอิสลาม สามารถปลุกระดมแนวความคิด และสร้างกระแสชาตินิยมมลายู เพื่อมุ่งสร้างนักต่อสู้ นักเคลื่อนไหวตัวตายตัวแทนได้ง่ายกว่าสถานที่อื่นๆ และกระแสตอบรับจากประชาชนในบางพื้นที่พบว่าไม่ต้องการให้ กลุ่ม PerMAS เข้าไปจัดกิจกรรมในหมู่บ้านของเค้า

เน้นใช้ภาษามลายูถิ่นและภาษามลายูกลางในการเสวนา มีอะไร? แอบแฝง
         การจะใช้ภาษาอะไรก็แล้วแต่ย่อมเป็นสิทธิของผู้จัดการเวทีเสวนาในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจของผู้เข้าร่วมการเสวนาร่วมกัน แต่ผู้เขียนคิดว่ามีจำนวนคนไม่น้อยที่เข้าร่วมเสวนาในวันนั้นไม่สามารถรับรู้ในสิ่งที่ผู้จัดต้องการจะสื่อ

           นัยยะในการในเรื่องของการใช้ภาษามลายูถิ่น และมลายูกลางในการสื่อสาร รวมทั้งการแต่งกายด้วยชุดประจำถิ่นมลายู เพื่อตอกย้ำแนวคิด การร่วมเป็นหนึ่งเดียว หรือ SATU PATANI และต้องการสื่อไปยังต่างชาติแสดงตัวตนของชาวมลายูปัตตานีมีอยู่จริง ปลุกกระแสชาตินิยมปัตตานี แต่เป็นการพรางกิจกรรมในละกษณะเปิดกว้างแต่จำกัดในบางประเด็นให้เฉพาะผู้ที่สามารถใช้ภาษามลายูถิ่น และมลายูกลางเท่านั้น

          ในขณะที่ระหว่างการดำเนินรายการเสวนาบนเวทีได้มีการถ่ายทอดสดผ่าน You Tube ให้ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศได้รับรู้ติดตามผ่านช่องทางดังกล่าว จุดประสงค์หลักเพื่อสื่อให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการแก้ปัญหา จชต. และเพื่อต้องการแสดงศักยภาพในการใช้สื่อของกลุ่มPerMAS


“อนาคตปาตานีกับวาทกรรมสันติภาพและสันติสุข”



          ผู้ร่วมเสวนามีความเห็นตรงกันว่า “กระบวนการสันติภาพหรือสันติสุขจะเกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ภายใต้ประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ และมีเสรีภาพในการกำหนดชะตากรรมตนเอง รวมทั้งทหารต้องลดบทบาทในพื้นที่ลง เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ในการกำหนดชะตากรรมของตนเองอย่างเสรีและปลอดภัยขึ้น”

         อยากทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านก่อนว่า “วาทกรรม” ที่เรียกร้องบนเวทีเสวนาเป็นเพียงแนวความคิดของคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ที่มีการปักธงไว้ล่วงหน้าแล้วในการจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพได้เปิดไว้กว้างแล้วสำหรับประชาชนทั่วไปที่มีการระดมแนวความคิดเพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกันในระดับเวทีย่อยอยู่แล้ว

          ด้านนายตูแวดานียา ตูแวแม ได้กล่าวว่า “หลังจากรัฐประหารคำว่าสันติภาพหายไป เหลือเพียงคำว่าสันติสุข” ขณะที่นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ มีความเห็นว่า “ต้องทำประชามติก่อนมีการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพื่อรับฟังความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียเสียที่สำคัญ”
ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าไม่ว่าจะใช้คำว่า “สันติภาพ” หรือ “สันติสุข” จุดมุ่งหมายปลายทางเดียวกันคือ นำความสงบสุขกลับคืนมาให้กับคนในพื้นที่จชต.

            หากมองอย่างใจเป็นกลางกับการใช้คำว่า“สันติสุข”น่าจะมีความเหมาะสมกว่า เมื่อประชาชนเกิดสันติสุข อยู่ดีกินดี มีความพร้อม อะไรๆ ก็ง่ายไปหมดจะพัฒนาไปในทิศทางใดไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไป ขออย่างเดียวกลุ่มหรือองค์กรที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ จชต.ไม่ควรที่จะปลุกระดมสร้างกระแสการกำหนดชะตากรรมของตนเอง (RSD) นำไปสู่การลงประชามติเพื่อแยกตัวอิสระในการปกครองตนเอง ถือว่าเป็นเรื่องกระทบความมั่นคงแห่งรัฐ กลุ่ม PerMAS พยายามสร้างเงื่อนไขมติ UN ที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธ.ค.1960 เรื่องการให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม ซึ่งปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ จชต.ไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว ท่านผู้อ่านก็ลองใช้วิจารณญาณไตร่ตรองดูว่าการกระทำของบุคคลบางกลุ่มที่พยายามสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเพื่อเหตุผลกลใด? หรือเพื่อใคร?

*****************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม