วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นายกเป็นผู้ชี้ขาดจะให้ใครเป็น หน.เจรจาสันติสุขกับมาเลเซีย


       ผบ.ทบ.ระบุนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาดจะให้ใครเป็น หน.เจรจาสันติสุขกับมาเลเซีย เป็นทหารหรือพลเรือนได้ทั้งนั้น อยากคุยกับผู้มีความเห็นต่างครอบคลุมทุกกลุ่ม

        เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวกรณีรัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกให้ใช้เป็นสถานที่การเจรจาสันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้มีความเห็นต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย 


         โดยทางมาเลเซียเสนออยากให้ทีมเจรจาสันติสุขฝ่ายไทยเป็นเจ้าหน้าที่พลเรือน ว่า เรื่องนี้เป็นการพยายามแสดงให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าต้องการดำเนินการอย่างสันติ เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้เน้นย้ำอยู่เสมอว่าการดำเนินการเพื่อสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และต้องเป็นไปทางสันติวิธี ขอยืนยันว่า ในส่วนของทหารและตำรวจที่ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ก็ได้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย 

          การพูดคุยได้มีการระบุความรับผิดชอบในคณะกรรมการ จะเป็นพลเรือนหรือทหารก็แล้วแต่กรอบของการทำงานที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าคณะกรรมการที่จะไปพูดคุยสันติสุข คิดว่าทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงคงได้พูดคุยกันแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีความชัดเจน รอเพียงให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ถูกต้องตามขั้นตอน


        "อย่าคิดว่าต้องเป็นพลเรือนหรือเป็นทหาร เพราะทุกส่วนมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ในพื้นที่ทั้งนั้น รวมถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของทหารเองที่ได้มีการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งในส่วนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพ ก็ดูแลกันมาตลอด ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหามายาว นานมีความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ขอให้มั่นใจในตัวของคณะกรรมการและทีมงานที่จะมีการจัดตั้งขึ้นว่าจะได้รับการกลั่นกรองมาจากผู้ใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ขณะนี้ให้รอความชัดเจนก่อนเท่านั้น" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

          พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า กรอบและแนวทางการพูดคุยที่ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เตรียมให้รัฐบาลพิจารณานั้น เบื้องต้นได้วางโครงสร้างพูดคุยไว้แล้ว ส่วนของเดิมบางอย่างที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นแนวทางก็นำมาปรับใช้ ส่วนอะไรที่ไม่เหมาะสมก็จะมีการแจ้งไปยังประเทศมาเลเซียให้ได้รับทราบ รวมถึงการวางละเอียดใหม่ลงไป มีทั้งทีมย่อยในการเข้าไปช่วยกัน ดังนั้นขอให้สบายใจว่าการพูดคุยกันสันติสุขจะมีอย่างแน่นอน จะควบคู่ไปกับการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ และทุกฝ่ายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่ทหารอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ขอให้สบายใจว่าจะไม่เกิดความล่าช้า เพียงแต่ขอให้ทุกอย่างมีความเหมาะสมและลงตัวในรายละเอียดมากกว่านี้


         เมื่อถามว่า นอกจากนี้จะมีการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว ส่วนกลุ่มอื่นๆ จะต้องดึงเข้ามาร่วมด้วยหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะพยายามดึงเข้ามาร่วม ทั้งผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่และผู้เห็นต่างที่อยู่ข้างบน จะต้องไปตกลงกันว่าจะดึงเอากลุ่มไหนบ้างที่จะมาคุยกับฝ่ายเรา เราต้องการให้เกิดความครอบคลุมทั้งหมด เขาต้องไปตกลงกันให้ได้ ในส่วนของมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกจะต้องดำเนินการเรื่องเหล่านี้ให้เกิดความกระชับ มาเลเซียต้องช่วยเราเพื่อให้การพูดคุยสันติสุขครบถ้วนทุกกลุ่ม เพราะเราต้องการให้มันครอบคลุม ไม่ใช่เฉพาะคุยได้บางกลุ่มเท่านั้น แต่บางกลุ่มคุยไม่ได้ แบบนี้ปัญหาก็ไม่จบ อย่างไรก็ตาม ทางมาเลเซียยังไม่ได้แจ้งกำหนดเวลาในการพูดคุยที่ชัดเจน ทราบก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯสมช. ได้ไปหารือกับประเทศมาเลเซีย รวมถึงผู้เห็นต่าง มีการตกลงกันในระดับหนึ่งแล้วว่า จะดำเนินการสานต่อพูดคุยกันสันติสุขให้เกิดความต่อเนื่องตามเจตนารมณ์ แต่หลังจากช่วงวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมของเราเองเพื่อรอให้กระบวนการต่างๆ มีความสมบูรณ์ครบถ้วน

           ส่วนกรณีเหตุการณ์ระเบิดที่ประเทศมาเลเซีย พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เป็นปัญหาที่เกิดภายนอกประเทศ ในส่วนของไทยก็ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทราบว่าเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับประเทศ ไทย แต่ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านใกล้เรือนเคียงก็ต้องให้ความสนใจ แต่ก็ไม่ได้กังวล เบื้องต้นประเทศมาเลเซียไม่ได้ติดต่อประสานงานเพื่อขอความช่วยเหลือมาทางไทย หากมีการหลบหนีเข้ามาภายในประเทศ

          รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ส่วนหน้า สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 4 อำเภอรอยต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในห้วงเดือนตุลาคมตลอดทั้งเดือน เนื่องจากในเดือนตุลาคมมีวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายวันคือ โดยในวันที่ 10 ตุลาคม เป็นวันสถาปนาขบวนการ บีอาร์เอ็น วันที่ 12 ตุลาคม เป็นวันสถาปนาธรรมนูญ พูโลใหม่ และวันที่ 25 ตุลาคม เป็นวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ โดยเฉพาะด่านตรวจด้านความมั่นคง 6 จุดใน จ.สงขลา ให้เพิ่มมาตรการเข้มข้นในการตรวจสอบรถยนต์ต้องสงสัยที่มีการแจ้งเตือนมาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะปรับข้อมูลให้ทันสมัยเป็นประจำทุกวัน นอกจากนั้นกล้องวงจรปิดก็ขอให้มีการตรวจสอบเพื่อให้ได้งานได้ครบทั้งหมด เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น








          พ.ต.อ.อำพล บัวรับพร รักษาการ ผบก.ภ.จว.สงขลา ระบุว่าได้เน้นย้ำมาตรการในการป้องกันเหตุให้เข้มข้น ทั้งด่านตรวจความมั่นคง ชุดลาดตระเวน ชุดสืบสวนหาข่าว รวมถึงการปิดล้อมตรวจค้น เพราะหากมีเหตุไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ก็จะส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน ทั้งความเชื่อมั่นของประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ

          เมื่อเวลา 10.10 น. ที่ห้องโถงอาคารอเนกประสงค์ ชั้น 1 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) จ.ยะลา นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นประธานเปิดโครงการ "คลายทุกข์ต้นทาง" โดยมี พล.ต.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา นายสามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัด นายอำเภอ บัณฑิตอาสาอำเภอ เจ้าหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมอำเภอ และนักประชาสัมพันธ์อำเภอ ร่วมงานครั้งนี้กว่า 300 คน
นายภาณุเปิดเผยว่า การเปิดตัวโครงการ "คลายทุกข์ต้นทาง" เป็นไปตามนโยบายและสอดคล้องกับประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และการอำนวยความเป็นธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน สามารถสนับสนุนการทำงานของ ศอ.บต. และอำนวยความเป็นธรรมทันทีที่มีปัญหา หรือมีการร้องทุกข์จากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

           "สำหรับการจัดงานครั้งนี้ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนรับผิดชอบหลักในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว เพื่อต้องการให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน การให้ความช่วยเหลือ และการอำนวยการความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ที่ประสบกับปัญหาความเดือดร้อน เพื่อได้รับการแก้ไขปัญหา ความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างรวดเร็ว และการดำเนินการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน ต้นทางของปัญหา โดย ศอ.บต.จะทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งในส่วนเครือข่ายโดยตรง โดยเฉพาะบัณฑิตอาสา เครือข่ายยุติธรรมชุมชน นิติกรอำเภอ รวมทั้งล่ามต่างๆ ที่อยู่ประจำอำเภอ" เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม