การก่อการร้าย - การก่อการร้าย - การก่อการร้ายในยุคสารสนเทศ
โดย ทอทหาร วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2552
๑. กล่าวนำ การเกิดเหตุก่อวินาศกรรมเมื่อ ๙ ก.ย.๒๕๔๔ ในสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านได้เปรียบเสมือนกับเป็นปฐมบทของรูปแบบการก่อการร้ายที่มีรูปแบบของการปฏิบัติการที่แตกต่างไปจากเดิม ที่มีความรุนแรง และความเสียหายมากขึ้น ดำเนินการเป็นกระบวนการในทางลับ มีความประสานสอดคล้องอย่างลงตัว และที่สำคัญได้สร้าง ความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นได้สร้าง ความหวาดกลัว เสียใจ อยากที่จะแก้แค้น โกรธแค้นที่ฝังแน่นจดจำยากที่จะลืมเลือนกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมูลเหตุของความขัดแย้งเพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกเลือกให้เป็นเป้าหมาย
นอกจากนี้เหตุการก่อวินาศกรรมฯ ดังกล่าวยังได้สะท้อนถึงแนวคิดทางทหารใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาคือ เช่น สงครามยุคที่ ๔ (Fourth Generation Warfare) [๑] และ สงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare) [๒] ที่ นำเสนอว่าสงครามสมัยใหม่ที่จะเผชิญนั้นมีแนวโน้มที่รัฐจะต้องเผชิญกับคู่สงครามที่ไม่ใช้รัฐมากกว่ารัฐ และคู่สงครามที่ไม่ใช้รัฐนี้จะต่อสู้กับรัฐโดยใช้ความอสมมาตร ความรุนแรง ความหวาดกลัว และ ความไม่มีรูปแบบ อีกทั้งยังมีแนวคิดที่การกล่าวถึงการที่รัฐผสมผสานสงครามรูปแบบเดิมเข้ากับสงครามรูปแบบใหม่ๆ เช่น สงครามนอกแบบ การก่อการร้าย หรือ การก่อความไม่สงบ โดยใช้ดำเนินสงครามกับรัฐคู่สงคราม ที่เรียกว่า สงครามพันทาง (Hybrid Warfare) [๓]
ดังนั้นเมื่อการก่อการร้ายได้มีกระบวนทรรศน์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ย่อมจะส่งผลให้รูปแบบวิธีการ และวิธีคิดของการก่อการร้ายมีความเปลี่ยนแปลงไป หากกองทัพยังคงใช้ กรอบแนวคิด หลักนิยม แผน และ ระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard Operation Procedure : SOP) เดิมๆ ในการเผชิญกับการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น คงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะอาจจะไม่สามารถยุติหรือเอาชนะกลุ่มก่อการร้าย ที่ได้เปลี่ยนรูปแบบ วิธีการ และวิธีคิด ไปแล้ว การศึกษาถึงการก่อการร้ายในยุคสารสนเทศ จึงมีความจำเป็นที่กองทัพ และ ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้มีความเข้าสภาวะภัยคุกคามและปัญหาที่มาจากภัยก่อการร้ายในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
๒. กระบวนทรรศน์ใหม่กับการก่อการร้าย
กระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อแนวคิดในการก่อการร้ายในภาพรวม ทำให้มุมมองที่ตกกระทบต่อการก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้ายมีความสลับซับซ้อนสูงมากขึ้น ดังนั้นการใช้หลักนิยม แนวคิด และวิธีคิดที่เคยประสบความสำเร็จมาในอดีต แล้วนำมาปัดฝุ่นใช้กับสถานการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนอาจจะเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก และในบางครั้งอาจจะนำไปสู่การล้มสลายของรัฐในที่สุด เพราะกระบวนทรรศน์ของการก่อการร้ายได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิธีคิดใหม่ รูปแบบใหม่ๆ ขั้นตอนใหม่ๆ และ การปฏิบัติการที่ในรูปแบบใหม่ๆ เป็นต้น สำหรับกระบวนทรรศน์ใหม่ของการก่อการร้ายประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้
๒.๑ มูลเหตุแห่งการก่อการร้าย การก่อการร้ายในปัจจุบันจะมีมูลเหตุที่สำคัญที่นำไปสู่การก่อการร้ายของกลุ่มก่อการร้าย ๕ ประการ ดังแสดงในรูปที่ ๑ โดยกลุ่มก่อการร้ายที่เกิดขึ้นใหม่หรือดำรงอยู่ในปัจจุบันจะมีมูลเหตุสำคัญของการก่อการร้ายที่มีสาเหตุมาจากอย่างน้อยหนึ่งประการจาก ๕ ประการ สำหรับรายละเอียดของมูลเหตุแห่งการก่อการร้ายสามารถอธิบายได้ดังนี้
รูปที่ ๑ มูลเหตุของการก่อการร้าย
๒.๑.๑ ความไม่เท่าเทียม (Not Equal) : ความไม่เท่าเทียมในสังคม ความแตกต่างระหว่างชนชั้น ที่มีอยู่มากในสังคมใดสังคมหนึ่ง ย่อมที่จะนำไปสู่ความไม่พอใจในสภาพที่เป็นอยู่ และถ้ามีกลุ่มคนที่ต้องการต่อสู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ย่อมจะมีความเป็นไปได้ที่จะรวมตัวกันและถ้ากลุ่มที่รวมตัวกันมีระดับความเข้มแข็งที่มากพอ ก็อาจจะนำไปสู่การก่อการร้าย ส่วนใหญ่แล้วความไม่เท่าเทียมมักจะนำไปสู่การก่อความไม่สงบที่จะมุ่งเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างอำนาจรัฐ โดยใช้แนวทางการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือในที่จะทำการปฏิวัติล้มล้างอำนาจรัฐที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างของกลุ่มก่อการร้ายที่มีสาเหตุมาจากความไม่เท่าเทียมได้แก่ กลุ่มเฮซบอลลาห์ เป็นกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมชีอะ ชาวปาเลสไตน์
๒.๑.๒ ความไม่เพียงพอ (Not Enough) : ความต้องการพื้นฐานและทรัพยากรในสังคมใดสังคมหนึ่ง คนในสังคมนั้นควรที่จำได้มีโอกาสที่จะใช้ทรัพยากรนั้นและควรได้รับโอกาสที่จะเข้าถึงความต้องการพื้นฐานเหล่านั้นอย่างน้อยก็เพื่อการดำรงชีพ แต่เมื่อไรก็ตามคนในสังคมไม่ได้รับโอกาสดังกล่าว อาจจะถูกเบียดเบียนจากผู้ที่มีกำลังมากกว่าหรือเข้มแข็งกว่ามาเบียดเบียนทรัพยากรต่างๆ ย่อมที่จะสร้างความไม่พอใจกับผู้ที่ถูกเบียดเบียนและนำไปสู่การต่อสู้โดยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก่อการร้ายเพื่อต่อสู้กับการถูกเบียดเบียนในที่สุด ตัวอย่างของกลุ่มก่อการร้ายที่มีสาเหตุมาจากความไม่เพียงพอได้แก่ กลุ่มอัลกออิดะห์ เป็นต้น
๒.๑.๓ ความไม่เข้มแข็ง (Not Strong) : การที่สังคมหนึ่งสังคมใดขาดความเข้มแข็ง ไม่สามารถที่จะมีกำลังในการที่จะปกป้องดูแลผลประโยชน์ของตนได้ นั้นย่อมที่จะมีโอกาสที่จะถูกเบียดโดยผู้ที่เข็งแรงกว่า และผู้ที่แข็งแรงกว่าย่อมที่จะมีกำลังอำนาจในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และรวมไปถึงการเบียดเบียนผู้ที่มีกำลังอำนาจอ่อนด้อยกว่า ดังนั้นการที่สังคม หรือ รัฐ หรือ ประเทศที่มีความอ่อนแอกว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองได้นั้น ถ้านำกำลังอำนาจไม่ว่าด้านใดของตนไปชนตรงๆ กับผู้ที่แข็งแรงกว่า ย่อมจะนำไปสู่ความเสียหายย่อยยับ ดังนั้นวิธีที่จะต่อสู้กับผู้ที่เข้มแข็งกว่าได้อย่างเท่าเทียมคือการทำสงครามอสมมาตร คือชดเชยความอ่อนแอกว่าของตนด้วยการใช้วิถีทางของการก่อการร้ายกับผู้ที่แข็งแรงกว่า ตัวอย่างของกลุ่มก่อการร้ายที่มีสาเหตุมาจากความไม่เข้มแข็งได้แก่ กลุ่มอัลกออิดะห์ เป็นต้น
๒.๑.๔ ความไม่รู้ (Not Know) : ความไม่รู้ ความไม่เท่าทันย่อมที่จะนำไปสู่ความหวาดระแวง ความกลัวว่าจะเป็นไปตามสิ่งคาดเดา หรือจินตนาการ หรือ กลัวว่าจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็อาจจะนำผลกระทบมาสู่ความเชื่อที่ตนเองมี ความไม่รู้มักจะเป็นสาเหตุของการก่อการร้ายในกลุ่ม สังคม หรือ รัฐ ที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม ยึดมั่นถือมั่น อัตลักษณ์ของตนอย่างสุดโต่ง ตัวอย่างของกลุ่มก่อการร้ายที่มีสาเหตุมาจากความไม่รู้ได้แก่ กลุ่มตาลิบาน ในอัฟกานิสถาน เป็นต้น
๒.๑.๕ การไม่สื่อสาร (Not Communicate) : การขาดการสื่อสารที่ชัดเจนย่อมจะนำมาซึ่งปัญหา ในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศกับประเทศ ประเทศกับสังคม ประเทศกับประชาชน สังคมกับสังคม เพราะการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีความถูกต้องแม่นยำทันเวลา เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ข้อมูลข่าวสารที่มีความถูกต้อง แม่นยำและทันเวลาสามารถช่วยป้องกันและต่อต้านข่าวลือ อันเป็นการลดความสับสนในสังคมจากข่าวสารที่บิดเบือนความจริงที่นำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นต่อกัน ไม่ว่าจะเป็น ประชาชน สังคม รัฐ หรือประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก่อการร้ายเพื่อเรียกร้องหรือต่อสู้ในสิ่งที่ตนเองเข้าใจผิด
๒.๒ กงล้อแห่งความหวาดกลัว เนื่องจากความสลับซับซ้อนของบริบททางสังคมจิตวิทยาที่มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันทำให้การก่อการร้ายในยุคสารสนเทศนั้นจะมีความสลับซับซ้อนของการดำเนินการตามไปด้วย ใน รูปที่ ๒ แสดงถึงกงล้อแห่งความหวาดกลัวของการก่อการร้ายที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของการก่อการร้าย เพราะความหวาดกลัวจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การต่อรองของกลุ่มก่อการร้ายสัมฤทธิ์ผล เพราะกลุ่มก่อการร้ายเชื่อว่าถ้าเป้าหมายหรือฝ่ายตรงข้ามหวาดกลัวแล้วย่อมจะกระทำตามที่กลุ่มตัวเองต้องการ หรือย่างน้อยฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการดำเนินการที่มีอยู่ในปัจจุบันไปยังวัตถุประสงค์ใหม่ที่กลุ่มก่อการร้ายไม่เสียประโยชน์ โดยกงล้อแห่งความหวาดกลัวมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รูปที่ ๒ กงล้อแห่งความหวาดกลัว
๒.๒.๑ ความรุนแรง (Violence) : กลุ่มก่อการร้ายจะเลือกใช้ความรุนแรงเป็นจุดเริ่มในการดำเนินการ โดยความรุนแรงที่เลือกใช้นั้นจะเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถยอมรับได้ว่าเป็น เรื่องปกติในชิวิตประจำวัน เช่น การฆ่าตัดหัวตัวประกัน หรือ การระเบิดฆ่าตัวตายเป็นต้น
๒.๒.๒ ความเสียหาย (Damage) : การดำเนินการของกลุ่มก่อการร้ายใดๆ ที่ถูกเลือกมาใช้นั้น นอกจากมีความรุนแรงแล้วจะต้องทำให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง เช่น การจี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในกรุงนิวยอร์ค สหรัฐฯ เมื่อ ๙ ก.ย.๒๕๔๔ (เหตุการณ์ก่อวินาศกรรม ๙๑๑) หรือแม้กระทั้งการระเบิดฆ่าตัวตายตามชุมชน เป็นต้น
๒.๒.๓ ผลกระทบ (Impact) : การดำเนินการใดๆ ก็ตามของกลุ่มก่อการร้ายจะต้องส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็น การดำรงชีวิตของประชาชน หรือ ผลกระทบต่อทรัพย์สิน ตัวอย่างของผลกระทบที่ส่งผลอย่างกว้างขวางได้แก่ เหตุการณ์ก่อวินาศกรรม ๙๑๑ ที่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ ทั้งประเทศในภาพรวม หรือ การก่อการร้ายในนครมุมไบ ศูนย์เศรษฐกิจซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศอินเดีย เมื่อ ๒๘-๒๙ พ.ย.๒๕๕๑ [๔] ที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบต่ออินเดียทั้งประเทศและทั่วโลก เป็นต้น
๒.๒.๔ จดจำ (Remember) : เมื่อการก่อการร้ายได้สร้างผลกระทบทางสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว สังคมก็จะจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลที่นำไปสู่ความหวาดกลัว ประชาชนไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ไม่รู้ว่าตนเองจะได้รับผลจากการก่อการร้ายเมื่อไร เช่น คนสหรัฐฯ จดจำการสูญเสียในเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม ๙๑๑ อย่างยากที่จะลืมเลือน
กงล้อแห่งความหวาดกลัวนี้จะเปรียบเสมือนกับสูตรสำเร็จของการก่อการร้าย ไม่ว่ากลุ่มก่อการร้ายนั้นจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีสาเหตุมาจากเหตุใด เช่น การแบ่งแยกดินแดน ความเชื่อทางศาสนาอย่างสุดโต่ง หรือแม้กระทั่งรัฐที่เป็นรัฐก่อการร้าย ทั้งนี้เพราะความไม่เท่าเทียมในศักยภาพที่ตนเองมีกับคู่ปรปักษ์ หรือเป้าหมาย ความหวาดกลัวจึงเป็นสิ่งที่กลุ่มก่อการร้ายใช้ในการต่อรอง ต่อสู้ เพื่อนำมาซึ่งการบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กลุ่มตนเองต้องการ
๒.๓ ลักษณะของเป้าหมาย กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ จะเลือกดำเนินการต่อเป้าหมายที่คิดว่าดำเนินการแล้วส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในรูปที่ ๓ แสดงถึงลักษณะของเป้าหมายของการก่อการร้าย ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
รูปที่ ๓ ลักษณะของเป้าหมายของการก่อการร้าย
๒.๓.๑ เป้าหมายที่ส่งผลต่อคน (Human as a target) : เป้าหมายแรกที่จะถูกกระทำหรือเลือกโดยกลุ่มก่อการร้าย คือ คน โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่ถูกเลือกเป็นเป้าหมายจะเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือ คนที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ เพราะ คน ผู้ซึ่งอาจจะถูกเลือกให้เป็นเป้าหมายของการโจมตีเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ และ คน (ผู้บริสุทธิ์) ก็มักจะเป็นผู้ที่หวาดกลัวง่าย ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้ผู้บริสุทธิ์มักจะถูกเลือกให้เป็นเป้าหมายในการโจมตีบ่อยครั้ง แต่ก็มีความเป็นได้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เช่น ทหาร ตำรวจ และกำลังกึ่งทหาร ก็ถูกเลือกเป็นเป้าหมาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลทางจิตวิทยาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการก่อการร้าย หรือ วัตถุประสงค์ของการก่อการร้าย สำหรับเป้าหมายที่เป็นคนนั้นกลุ่มก่อการร้ายจะโจมตีในลักษณะ กลุ่มคน หรือ กระทำต่อคนทีละคนก็ได้
๒.๓.๒ เป้าหมายที่ส่งผลต่อระบบ (System as a target) : การดำเนินการต่อเป้าหมายที่เป็นระบบ นั้นกลุ่มก่อการร้ายจะเลือก เป้าหมายที่โจมตีแล้วกลายเป็นโจมตีระบบ เช่น การโจมตีในที่สารธารณะจะแสดงให้เห็นถึงอำนาจรัฐที่ไม่สามารถครอบคลุมไปถึง เพราะไม่สามารถสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ เช่นการระเบิดสถานีรถไฟ หรือ การระเบิดใหรือ ในบางครั้ง โจมตีต่อที่ตั้งของหน่วยทหาร ก็จะแสดงให้เห็นถึงความมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจรัฐ เพราะขนาดที่ตั้งหน่วยทหารยังถูกโจมตี ซึ่งเป้าหมายที่เป็นระบบนั้นจะส่งผลให้ประชาชนหันมาคลางแคงต่ออำนาจรัฐ หรืออาจจะหวาดกลัวและหันไปสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย หรือ กดดันรัฐบาลตนเองให้ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มก่อการร้าย
๒.๓.๓ เป้าหมายที่ส่งผลต่อความเชื่อ (Belief as a target) : ความเชื่อก็กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ถูกเลือกเป็นหมาย เช่น การโจมตีต่อเป้าหมายที่เป็นสัญญาลักษณ์ของประเทศหรือเผ่าพันธุ์ตนเอง เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เป็นต้น เป้าหมายที่ส่งผลต่อความเชื่อนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคู่ปรปักษ์ เพราะเป็นกระทำต่อความเชื่อความศรัทธาในภาพรวม ตัวอย่างของการโจมตีต่อเป้าหมายประเภทนี้ได้แก่ การโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่สัญญาลักษณ์ของการค้าเสรีและทุนนิยม เป็นต้น หรือ การโจมตีทหารสหรัฐฯ ที่เข้าปฏิบัติการในอิรักเพื่อสะท้อนไปยังประชาชนและทหารเองว่าบุกรุกประเทศอิรัก หรือ เป้าหมายที่เป็นครูในภาคใต้ที่เป็นตัวแทนของรัฐไทยในการเผยแพร่วัฒนธรรมและภาษา หรือ แม้กระทั่งการแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐเข้าโจมตีต่อสุเหล่าของศาสนาอิสลามโดยกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย เพื่อให้ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความเกลียดชังต่อรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ
๓. แนวโน้มของรูปแบบในการก่อการร้าย
การก่อการร้ายในยุคสารสนเทศนั้นจะมีความสลับซับซ้อนที่สูงขึ้น ทั้งในบริบทของสังคมที่กลุ่มก่อการร้ายนั้นมีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวพัน และรวมไปถึงลักษณะเฉพาะตนของกลุ่มก่อการร้ายเอง ที่ทำให้ยากที่จะหารูปแบบของการก่อการที่มีลักษณะที่ชัดเจน ดังนั้นรูปแบบของการก่อการร้ายจึงลักษณะที่เฉพาะเจาะจง มีความสัมพันธ์กับบริบทของสังคม ขีดความสามารถในการก่อการร้าย ขีดความสามารถในการป้องกันการก่อการร้ายของเป้าหมาย และสำคัญคือวัตถุประสงค์ของการก่อการร้าย ดังนั้นแนวโน้มของการก่อการร้ายในยุคสารสนเทศจึงมีทิศทางที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
๓.๑ นวัตกรรมเสริมการขับเคลื่อน (Innovation Driven) : เป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า นวัตกรรมต่างๆ ได้ส่งผลให้สังคมโลกเปลี่ยนแปลงไป การดำรงอยู่ของมนุษย์มีความพึ่งพานวัตกรรมทางเทคโนโลยีมากขึ้น และเทคโนโลยีในปัจจุบันได้ย่อโลกให้มีขนาดที่เล็กลง ผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีสามารถสื่อสารกันเองได้อย่างรวดเร็ว จนเกือบจะเป็นรับรู้ในเวลาจริง (Real Time) ทำให้ผู้ที่คิดเหมือนกัน ชอบเหมือนกันสามารถสื่อสารกันได้โดยง่ายไม่ว่าจะอยู่แห่งไหนในโลก จนมีคำกล่าวกันที่ว่าความสามารถของเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถตอบได้ว่ามีเข็มตกที่ไหนในโลก ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้มนุษย์สามารถรวมกลุ่มกันได้ตามความเชื่อ ความชอบ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง ดังนั้นเทคโนโลยีจะทำให้กลุ่มก่อการร้ายสามารถติดต่อ สื่อสาร พูดคุย แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดอุดมการณ์ แนวทาง วิธีการ ให้กับสมาชิกในกลุ่มของตน ได้โดยง่ายและเป็นการยากที่คนนอกกลุ่มหรือคู่ปรปักษ์จะติดตามได้ นอกจากนี้เทคโนโลยียังช่วยให้การก่อการร้ายเกิดขึ้นได้ที่ไหนก็ได้บนโลก โดยที่ผู้ก่อการร้ายอาจจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่หรือบริเวณของเป้าหมาย ดังนั้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจึงกลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กลุ่มก่อการร้าย สามารถสื่อสารกันได้ เชื่อมโยงกันได้ ถ่ายทอดอุดมการณ์กันได้ ร่วมมือกันปฏิบัติการได้ โดยยากที่จะติดตาม ตัวอย่างของการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนการก่อการร้ายคือ การถ่ายทอดคลิปของบินลาเดนผ่านสื่อทั้งสื่อกระแสหลัก อย่างวิทยุโทรทัศน์ และ สื่อออนไลน์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์การก่อการร้ายของกลุ่มอัลกออิดะห์
๓.๒ ตัวแสดงที่มิใช้รัฐกลายมาเป็นผู้มีบทบาทหลัก (Non-State Actors as a Major Role) : การก่อเหตุวินาศกรรม ๙๑๑ เมื่อ ๙ ก.ย.๒๕๔๔ ที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นการก้าวขึ้นมาของกลุ่มก่อการร้ายที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อมาท้าทายประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ โดยตรง และถือได้ว่าเป็นปฐมบทที่ยิ่งใหญ่ของการก่อการร้ายในยุคสารสนเทศ ที่ทำให้ทิศทาง และความเชื่อของหลายๆ ประเทศมองไปที่สงครามยุคที่ ๔ และสงครามอสมมาตร เหตุการณ์ ๙๑๑ นี้เองทำให้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงภัยก่อการร้ายว่าเป็นภัยที่สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในโลก ไม่จำเป็นว่าประเทศที่เป็นเป้าหมายจะอยู่ในภาวะสงคราม ความขัดแย้ง หรือ สงบ (สันติภาพ) และนั่นก็หมายความว่า รัฐไม่จำเป็นต้องประกาศสงคราม แต่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดเลย อาจจะกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายโดยไม่รู้ตัว ปัจจุบันการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายจะเป็นเรื่องที่แต่ะละรัฐแต่ละประเทศ จะต้องให้ความสนใจ ติดตามความเคลื่อนไหว เพราะรัฐหรือประเทศของตนเองอาจจะถูกเลือกเป็นเป้าหมายในการโจมตี เมื่อไหรก็ได้ถ้าการป้องกันมีความหย่อนยาน หรือ ขาดความใส่ใจของเจ้าหน้าที่รัฐ และด้วยเหตุผลเหล่านี้เองจึงทำให้การก่อการร้ายครั้งสำคัญๆ ของโลกจะเป็นการปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายที่มิใช่รัฐ มากกว่าจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีประเทศอุปถัมภ์ หรือ รัฐที่เป็นรัฐก่อการร้ายโดยตรง
๓.๓ ความรุนแรงมากขึ้นและความสูญเสียหนักขึ้น (More Violent and More Damage) : คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการก่อการร้ายในปัจจุบันมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ทั้งนี้เพราะแนวทางในทางสากลนั้น นานาประเทศจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันคือ “การไม่เจรจาต่อรองเรื่องใดๆ กับกลุ่มก่อการร้าย” ทำให้กลุ่มก่อการร้ายต้องเพิ่มระดับความรุนแรงและความเสียหายเพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรอง หรือสร้างสภาวะแห่งความหวาดกลัวให้เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของระดับความรุนแรงที่เพิ่มากขึ้นได้แก่ การก่อเหตุวินาศกรรม ๙๑๑ เมื่อ ๙ ก.ย.๒๕๔๔ ที่มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า ๒,๙๙๙ คน และบาดเจ็บกว่า ๖,๐๐๐ คน [๕] และมีมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ[๖] และ การก่อการร้ายในมุมไบ ที่มีผู้เสียชีวิต ๑๗๕ คน บาดเจ็บ ๓๐๘ คน [๗] เป็นต้น
๓.๔ อุดมการณ์ไม่เท่าผลประโยชน์ (Interest Lead) : ในอดีตนั้นการก่อการร้ายจะใช้อุดมการณ์เป็นหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการทั้งหมดเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่ในปัจจุบันการดำเนินการต่างๆ มีแนวโน้มที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มตนมากกว่าอุดมการณ์ เพราะกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้นจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มก่อการร้ายเองก็ต้องปรับเปลี่ยนการปฏิบัติการต่างๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นหากกลุ่มก่อการร้ายไม่ปรับท่าทีและแนวคิดของตนอาจจะส่งผลให้กลุ่มก่อการร้ายไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ และอาจจะล่มสลายลงไปในที่สุด ทำให้บางครั้งจะต้องเลือกรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มฯ ตนเองมากกว่าที่จะเลือกรักษาหรือดำเนินการตามอุดมการณ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม เช่น การยุติการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Provisional Irish Republican Army (IRA) เมื่อ ๒๘ ก.ค. ๒๕๔๘ [๘]
๓.๕ ความไม่มีรูปแบบในรูปแบบ (Unsytem in System) : จะพบว่าในปัจจุบันการก่อการร้ายนั้นไม่มีรูปแบบที่แน่นนอน ยากที่จะคาดเดาว่ารูปแบบใดจะถูกเลือกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการก่อการร้าย แต่อย่างไรก็ตามการไม่มีรูปแบบนั้นกลับพบว่าการดำเนินการที่ไม่มีรูปแบบแต่ละครั้งกลับมีความเชื่อมโยงกันอย่างสอดคล้อง เพราะการปฏิบัติมักจะปฏิบัติกันในรูปของ เซล (cell) ที่ปฏิบัติการกันอย่างแยกอิสระแต่มีเป้าหมายเชื่อมโยงกัน ตัวอย่างเช่น การเหตุการณ์ ๙๑๑ และ การกราดยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ในการก่อการร้ายที่มุมไบ เป็นต้น
๓.๖ มีรายได้เป็นของตนเอง (Own Funding) : ในการก่อการร้ายในอดีตนั้น กลุ่มก่อการร้ายส่วนใหญ่แล้วจะมีประเทศอุปถัมภ์ ที่คอยให้การสนับสนุน ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ และรวมถึงการสนับสนุนทางด้านการเงินด้วย แต่ในปัจจุบันด้วยกระแสโลกาภิวัตน์นั้นได้ส่งผลให้ การลงทุน การเคลื่อนย้ายทุนเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้โดยง่าย และยากที่จะติดตามเส้นทางการเดินของเงิน นอกจากนี้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยังเอื้ออำนวยต่อการฟอกเงินในลักษระของอาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้กลุ่มก่อการร้ายสามารถสร้างรายได้และนำรายได้ที่ได้มาไปใช้ในการสนับสนุนการก่อการร้ายกลุ่มของตนเอง หรือบางครั้งอาจจะมีการนำไปสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มอื่นๆ อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในดูแลตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร
๔. เทคโนโลยีกับการก่อการร้าย
การที่เทคโนโลยีได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ทำให้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาอำนวยความสะดวกและส่วนใหญ่แล้วในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ถูกผนวกอย่างผสมผสานไว้กับการดำรงชีวิตของมนุษยชาติจยนไม่สามารถแยกออกได้ ซึ่งตรงนี้เองทำให้กลุ่มก่อการร้ายได้แสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการก่อการร้าย เพื่อนำไปสู่กงล้อแห่งความหวาดกลัว สำหรับการใช้เทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการก่อการร้ายนั้นมี ๒ ลักษณะคือ
๔.๑ เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำลายล้าง : เทคโนโลยีประเภทนี้จะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการทำลายล้างโดยตรง เป็นอาวุธที่มีลักษณะพิเศษที่เกิดจากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีอำนาจสังหารโดยตรง เช่น อาวุธทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destructive : WMD) ที่สามารถส่งผลให้เกิดอำนาจการทำลายล้างสูงและสังหารบุคคลจำนวนมากได้ภายในระยเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นได้ทั้ง อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ อาวุธเคมี และ อาวุธที่แพร่รังสี นอกจากนี้ยังรวมถึงระเบิดแรงสูงที่ขนาดและรูปร่างพิเศษ อย่างเช่น เพาเวอร์เจล (Power Jell) หรือ ระเบิดซีโฟร์ (C4) เป็นต้น
๔.๒ เทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนการก่อการร้าย : นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปสู่ระบบอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างโดยตรงแล้ว กลุ่มก่อการร้ายยังนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการก่อการร้าย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การมีเทคนิควิธีใหม่ในการจุดระเบิดจากระยะไกล ทำให้ยากในการติดตามหรือตามจับผู้ก่อการ การใช้เทคโนโลยีมุ่งกระทำต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานเช่น การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก่อกวนกองทัพ หน่วยงานสำคัญ เช่น ทำเนียบรัฐบาล สถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อขัดขวางการออกอากาศหรือ การก่อกวนต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ รบกวนระบบการจราจรทางอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้อินเทอร์เน็ต (Internet) ในการเผยแพร่อุดมการณ์ การบ่อนทำลายบิดเบือนข่าวสาร การสร้างมวลชนโดยการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น การสร้างเครือข่ายโดยใช้ เว็บไซต์ ร่วมกับ Facebook และ Twitter เป็นต้น หรือการสื่อสารกันโดยตรงที่ยากที่จะตรวจจับ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ SMS และ Twitter เป็นต้น หรือการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตในการวางแผนการก่อการร้าย
๕. แนวทางในการเผชิญปัญหาการก่อการร้ายในยุคสารสนเทศของกองทัพ
ความสลับซับซ้อนของรูปแบบการก่อการร้ายในยุคสารสนเทศนั้นมีมากกว่าที่จะใช้รูปแบบการปฏิบัติในการต่อต้านการก่อการร้ายยุคก่อนๆ มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสบชัยชนะได้โดยง่าย ดังนั้นกองทัพจึงจะต้องใช้กำลังอำนาจในทุกด้านผสมผสานกันเพื่อให้เกิดกำลังอำนาจสูงสุดในการเผชิญกับการก่อการร้ายในยุคปัจจุบัน สำหรับกำลังอำนาจที่ต้องพัฒนาเพื่อให้รองรับกับการก่อการร้ายนั้นได้แก่
๕.๑ การใช้ Hard Power เผชิญกับการก่อการร้าย : การใช้ Hard Power เพื่อนำไปสู่การรองรับกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายในยุคสารสนเทศนั้น กองทัพจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพให้มีความทันสมัย โดยการปฏิวัติในกิจการทหาร (Revolution in Military Affairs: RMA) ให้มีโครงสร้างที่มีความเหมาะสม มีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย มีการการใช้องค์ความรู้อย่างสูงสุดไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการกำหนดยุทธศาสตร์ การกำหนดหลักนิยม และการใช้ความรู้ในการเข้าปฏิบัติการ การมีกำลังพลที่มีคุณภาพและขีดความสามารถ และรวมไปถึงการมีเครือข่ายที่ดีที่คอยร่วมและช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งการปฏิวัติในกิจการทหารจะช่วยให้กองทัพมีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และขีดความสามารถที่หลากหลาย สามารถเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่ากองทัพจะเคยผ่านประสบการณ์ในการเผชิญรูปแบบของภัยคุกคามลักษณะนั้นมาก่อนหรือไม่ก็ตาม
๕.๒ การใช้ Soft Power เผชิญกับการก่อการร้าย : ปัจจุบันกลุ่มก่อการร้ายจะนิยมใช้ สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และ ประวัติศาสตร์ มาเป็นทั้งเครื่องมือและเป้าหมายในที่จะถูกกระทำโดยกลุ่มก่อการร้าย ดังนั้นกองทัพเองจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งความเข้มแข็งทางกายภาพและความเข้มแข็งทางจิตใจ เพื่อให้สังคมและคนในสังคมนั้นๆ มีความความพร้อมในการที่จะเผชิญกับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มที่เกิดความขัดแย้งต่างๆ ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน มีการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และช่องทางสื่อสารกลับ เพื่อลดระดับความขัดแย้งก่อนที่จะขยายผลไปสู่การเรียกร้องโดยการก่อการร้าย นอกจากนี้การแสวงหาความร่วมมือและเครือข่ายเพิ่มเติมทั้งจากภาครัฐด้วยกันเอง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กองทัพและภาคส่วนต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ และ องค์กรต่างๆ ที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อร่วมกันเป็นเครือข่ายในการลดความขัดแย้งสร้างความสงบสุขและสันติภาพให้เกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและพื้นที่อื่นๆ บนโลกนอกจากประเทศไทย
๖. บทสรุป
กระแสการเปลี่ยนแปลงกับบริบทต่างๆ ของสังคมและโลกในปัจจุบัน เช่น โลกกาภิวัตน์ ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำมาซึ่ง การปฏิวัติในกิจการทหาร และยังส่งผลให้เกิดแนวคิดสงครามยุคที่ ๔ และสงครามอสมมาตร รวมไปถึงสงครามพันทาง สิ่งต่างๆ เหล่าได้สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตรของการเปลี่ยนแปลง เมื่อภัยคุกคามได้มีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป การศึกษาทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษาการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะเผชิญปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและมีทิศทางมากยิ่งขึ้น
การก่อการร้ายในยุคสารสนเทศจะมีมูลเหตุสำคัญมาจากผู้ที่ไดรับผลกระทบจากสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ ๑) ความไม่เท่าเทียม ๒) ความไม่เพียงพอ ๓) ความไม่เข้มแข็ง ๔) ความไม่รู้ และ ๕) การไม่สื่อสาร และกลุ่มก่อการร้ายจะสร้างกงล้อแห่งความหวาดกลัวเพื่อใช้ต่อรองที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กลุ่มก่อการร้ายต้องการ โดยกงล้อแห่งความหวาดกลัวนี้จะเริ่มจาก ความรุนแรง ที่นำไปสู่ความเสียหาย และความเสียหายจะสร้างผลกระทบที่นำไปสู่การจดจำ และกลายมาเป็นความหวาดกลัวในที่สุด
สำหรับเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายนั้นมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มก่อการร้าย จะเลือกเป้าหมาย ๓ กลุ่มได้แก่ ๑) คน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ๒) ระบบ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นบุคคลหรือสถานที่ก็ได้ที่กระทำแล้วสะท้อนถึงเขตอำนาจรัฐที่ไปไม่ถึง และ ๓) ความเชื่อ ในเป้าหมายกลุ่มนี้จะเป็นบุคคลหรือสถานที่ที่กระทำแล้วส่งผลต่อความเชื่ออย่างรุนแรง เช่น การโจมตีโรงเรียนจะสะท้อนถึงความรู้สายสามัญและการบังคับให้เรียนภาษาไทยซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น
ส่วนรูปแบบของการก่อการร้ายยุคสารสนเทศนั้นจะขับเคลื่อนโดยมีนวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นสิ่งสนับสนุน ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐจะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทหลัก ใช้ความรุนแรงมากขึ้นและทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น คำนึงถึงผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์ ปฏิบัติการด้วยความไม่มีรูปแบบแต่การปฏิบัติการมีความสอดคล้องผสมผสานกันอย่างมีจังหวะ และมีเงินทุนสนับสนุนของตนเอง
เทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อการร้ายจะมีอยู่ ๒ ลักษณะคือ ๑) เทคโนโลยีที่ใช้ทำลายล้าง และ ๒) เทคคโนโลยีที่ใช้สนับสนุน โดยกองทัพจะเผชิญกับการก่อการร้ายในยุคสารสนเทศได้นั้นจะต้องมีการผมผสานกันระหว่าง Hard Power ที่ต้องปฏิวัติในกิจการทหารเพื่อให้กองทัพมีความทันสมัย และ Soft Power ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งกับชุมชน เพื่อลดเงื่อนไขที่นำไปสู่มูลเหตุของการก่อการร้าย และเปิดพื้นที่ที่ให้มีการพบปะพูดคุยกันเพื่อนำไปสู่การลดระดับความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตามการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในยุคสารสนเทศ เป็นเรื่องที่กระทำได้ยากมากขึ้นและคงไม่สามารถใช้แนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตนำมาใช้แล้วเกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างที่คาดหวัง ทั้งนี้เพราะบริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เปิดพื้นที่ใหม่ในการสู้รบ ที่มีความผสมผสานระหว่างสิ่งที่มีระบบระเบียบ กับสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้อย่างลงตัว การใช้องค์ความรู้อย่างสูงสุดเท่านั้นที่จะช่วยให้การปฏิบัติต่างๆ เพื่อเอาชนะการก่อการร้ายได้อย่างจริงจัง และที่สำคัญเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่ต้องช่วยกันดูแล แก้ไข ตรวจสอบ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกองทัพแต่เพียงฝ่ายเดียว
๗. อ้างอิง
[๑] http://tortaharn.net/contents/index.php?option=com_content&task=view&id=66&Itemid=75.
[๒] http://tortaharn.net/contents/index.php?option=com_content&task=view&id=34&Itemid=75.
[๓] http://tortaharn.net/contents/index.php?option=com_content&task=view&id=156&Itemid=75.
[๔] http://en.wikipedia.org/wiki/2008_Mumbai_attacks.
[๕] http://en.wikipedia.org/wiki/September_11_attacks.
[๖] http://www.iags.org/costof911.html.
[๗] [๔] อ้างแล้ว.
[๘] http://en.wikipedia.org/wiki/Provisional_Irish_Republican_Army#End_of_the_armed_campaign
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น