ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี ตอนที่ 1 | |
ท่ามกลางเสียงระเบิดและควันปืนที่ไม่เคยหยุดในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบเก้าปีแล้ว ยังคงมีความไม่ตกผลึกในทางความคิดว่าสิ่งที่รัฐไทยกำลังต่อสู้อยู่นั้นคืออะไร โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (Deep South Journalism School – DSJ) พยายามที่จะถอดความคิดของคนที่จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐผ่านปากคำของพวกเขาเอง
เราหวังว่าการสะท้อนเสียงเหล่านี้จะทำให้สังคมเข้าใจถึงวิธีคิดของพวกเขาและนำไปใช้ในการแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยปัญญาอย่างมีทิศทางมากขึ้น เชื่อว่าทุกฝ่ายที่เฝ้าติดตามและทำงานในภาคใต้ต่างต้องการที่จะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในเร็ววัน แม้ในขณะนี้อาจจะยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ตามที
สายธารแห่งประวัติศาสตร์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าดินแดนที่รู้จักกันว่าเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในปัจจุบันนั้นเดิมมีฐานทางวัฒนธรรมจากอิทธิพลของศาสนาฮินดูและพุทธ ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 9 ในขณะที่อิทธิพลของทั้งสองศาสนาแผ่ขยายอย่างกว้างขวางในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้ามกลุ่มและชาติพันธุ์ การเข้ามาของศาสนาอิสลามกลับจำกัดอยู่เฉพาะคนชาติพันธุ์มลายู ในช่วงหลายศตวรรษ อาณาจักรสยามกับอาณาจักรปาตานีมีความสัมพันธ์กันอย่างหลวมๆ เจ้าเมืองของปาตานีส่งเครื่องราชบรรณาการให้กับสยามเพื่อแสดงความจงรักภักดีแต่สยามก็ให้อิสระเจ้าเมืองเหล่านั้นในการปกครอง
ตราบจนกระทั่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ที่สยามเผชิญกับภัยคุกคามจากเจ้าอาณานิคมตะวันตก ในกระบวนการสร้างชาติไทยและทำประเทศให้ทันสมัย รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งส่งผลให้อาณาจักรปาตานีกลายเป็นจังหวัดที่ขึ้นกับการปกครองของกรุงเทพฯ โดยตรงนับตั้งแต่พ.ศ. 2445 ต่อมาสยามได้ลงนามใน The Anglo-Siamese Treaty ในพ.ศ. 2452 กับอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของดินแดนในคาบสมุทรมาลายาในขณะนั้น สนธิสัญญาฉบับนั้นส่งผลให้พื้นที่ในรัฐเคดาห์ กลันตัน ตรังกานูและเปลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนดินแดนในอาณาจักรปาตานี รวมถึงสตูลตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม
คนมลายูมุสลิมในดินแดนแถบนั้นไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจชะตากรรมของตนเองว่าต้องการจะเป็นสมาชิกของชาติสยามหรือไม่ การต่อต้านการถูกผนวกรวมและการถูกทำให้กลายเป็นไทยได้ปะทุขึ้นและดำเนินต่อมาตลอดช่วงเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ แม้ว่าอาจจะเบาบางไปบ้างในบางยุคสมัย แต่ความคิดต่อต้านยังไม่เคยยุติลง การต่อสู้ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในหมู่ชนชั้นนำมลายูมุสลิมได้ขยายตัวไปสู่ระดับสามัญชนมากขึ้นเรื่อยๆ
หมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์อันหนึ่ง คือ การเรียกร้องของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ในพ.ศ. 2490 ซึ่งขณะนั้นเขาเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี หะยีสุหลงได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อให้กับตัวแทนของรัฐบาลไทย ข้อเสนอนั้นประกอบด้วย 1) ให้มีผู้ปกครองใน 4 จังหวัด ปัตตานี สตูล ยะลาและนราธิวาสเป็นคนมุสลิมในพื้นที่และได้รับเลือกจากคนในพื้นที่ โดยให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลามและแต่งตั้งข้าราชการ 2) ให้ข้าราชการในสี่จังหวัดเป็นคนมลายูในพื้นที่ร้อยละ 80 3) ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่ไปกับภาษาไทย 4) ให้มีการใช้ภาษามลายูเป็นสื่อในการเรียนการสอนระดับประถม 5) ให้มีศาลพิจารณาคดีตามกฎหมายอิสลามที่แยกขาดจากศาลยุติธรรมของทางราชการ โดยให้ดาโต๊ะยุติธรรมมีเสรีในการพิพากษาชี้ขาดความ 6) ภาษีและรายได้ที่จัดเก็บให้ใช้ในพื้นที่ 4 จังหวัดเท่านั้น 7) ให้คณะกรรมอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจในการออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติทางศาสนาโดยได้รับความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจตามข้อ 1
หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์
หลังจากได้มีการยื่นข้อเรียกร้องไม่นาน หะยีสุหลงและผู้นำศาสนาอีกหลายคนก็ถูกจับกุมข้อหากบฏและถูกคุมขังเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน ต่อมาเขาได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนด แต่สองปีต่อมาเขากลับหายตัวไปอย่างลึกลับพร้อมกับลูกชายคนโต หลังถูกตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกไปรายงานตัว ซึ่งคาดกันว่าพวกเขาถูกตำรวจจับถ่วงน้ำจนเสียชีวิต เรื่องราวของหะยีสุหลงยังคงเป็นหนึ่งใน “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่ยังคงถูกเล่าต่อๆ กันในหมู่ชาวมลายูมุสลิม แม้เวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ และน่าประหลาดใจว่าข้อเสนอหลายๆ ข้อที่มีการพูดกันในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับข้อเรียกร้องของหะยีสุหลงยิ่งนัก
ในช่วงหลังพ.ศ. 2500 เป็นยุคเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยอาวุธ โดยกลุ่มเคลื่อนไหวที่สำคัญ ได้แก่ 1) BNPP (Barisan National Pembebasan Patani - Patani National Liberation Front) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในพ.ศ. 2502 โดยมีกลุ่มชนชั้นนำของปาตานีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ BNPP นับเป็นกลุ่มขบวนการติดอาวุธที่ต่อสู้เพื่อเอกราชกลุ่มแรก ต่อมาในพ.ศ. 2529 ได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น BIPP (Barisan Islam Pembebasan Patani – Patani Islamic Liberation Front) ปัจจุบันเชื่อว่ากลุ่มนี้ไม่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวแล้ว
2) PULO (Patani United Liberation Organisation) ก่อตั้งในพ.ศ. 2511 ที่ประเทศซาอุดิอาราเบีย โดยนายตนกูบีรอ กอตอนีลอ เขาเสียชีวิตในพ.ศ. 2548 ที่ประเทศซีเรีย ในพ.ศ. 2550 นายนอร์ อับดุลเราะห์มานได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานแทน ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งภายใน นายคัสตูรี มะกอตา ซึ่งเป็นรองประธานและหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศได้แยกตัวออกมา ทั้งสองกลุ่มต่างอ้างว่าตนเป็นประธานของกลุ่มพูโล ปัจจุบันพูโลยังคงเคลื่อนไหวอยู่นอกประเทศและทำงานการเมืองในเวทีระหว่างประเทศเป็นหลัก
3) BRN (Barisan Revolusi Nasional – National Liberation Front) กลุ่ม BRN จัดตั้งขึ้นในพ.ศ. 2503 โดยมีสมาชิกรุ่นก่อตั้ง คือ นายอับดุลการิม ฮัสซัน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน ในอ.รือเสาะ จ.นราธิวาส รวมถึงโต๊ะครูปอเนาะที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐ ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงและนักวิเคราะห์อิสระบางท่านระบุว่านายอามีน โต๊ะมีนา ลูกชายของหะยีสุหลงและนายฮารูน สุหลง ประธานของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิเป็นสมาชิกรุ่นแรกๆ ด้วย ในช่วงต้น การต่อสู้ของ BRN ใช้แนวทางแบบชาตินิยม-สังคมนิยม-อิสลามในการเคลื่อนไหว โดยเน้นการสร้างฐานจากโรงเรียนปอเนาะ ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2520 มีความขัดแย้งกันในเรื่องแนวทางของการต่อสู้ โดยมีการถกเถียงกันว่าการต่อสู้โดยใช้ประเด็นเรื่องชาตินิยม-สังคมนิยมนั้นไม่ถูกต้องและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างแนวร่วมในประเทศมุสลิมอื่นๆ และได้มีการเสนอให้นำเอาประเด็นศาสนามาใช้ในการต่อสู้แทน
4) GMIP (Gerakan Mujahidin Islam Patani – Patani Islamic Holy Warriors Movement) ตั้งขึ้นโดยนายนาซอรี แซะเซ็ง ในพ.ศ. 2538 กลุ่มนี้พัฒนามาจากกลุ่ม GMP (Gerakan Mujhidin Patani) ซึ่งตั้งขึ้นในพ.ศ. 2529 และยุติบทบาทในพ.ศ. 2536 นาซอรีเคยไปฝึกการทหารที่ลิเบียและไปร่วมรบอัฟกานิสถาน เชื่อว่ากลุ่มนี้มีความใกล้ชิดในเชิงอุดมการณ์กับกลุ่มญิฮาดสากลมากกว่ากลุ่มอื่น ในปัจจุบันไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน
5) กลุ่ม Bersatu ซึ่งเป็นองค์กรร่ม (umbrella organization) ของ PULO, BIPP และ BRN ซึ่งจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2532 โดยมีดร. วันกาเดร์ เจ๊ะมานเป็นประธาน ปัจจุบันไม่มีการเคลื่อนไหวในฐานะของกลุ่มนี้แล้ว
การก่อตัวของคลื่นกระแสการต่อสู้ยุคปัจจุบัน
ในขณะที่รัฐไทยตายใจและคิดว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ในภาคใต้กำลังจะสลายตัวไปแล้ว ปรากฏการณ์การปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็งในอ. เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เป็นสิ่งที่ช็อครัฐบาลทักษิณ ชินวัตรในขณะนั้น ฝ่ายรัฐใช้เวลาอยู่นานในการจัดทัพเพื่อรับมือกับการต่อสู้ด้วยอาวุธที่ปะทุขึ้นอย่างฉับพลันจนรัฐตั้งตัวไม่ทัน รัฐยังคิดว่าพวกเขาเป็น “โจรกระจอก” บ้างว่าเป็นพวกเด็กติดยาเสพติด ไม่มีใครที่ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการก่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น จนมีคำพูดที่ว่ารัฐไทยกำลังรบอยู่กับ “ผี” ที่มองไม่เห็น
เนื่องจากว่าการเคลื่อนไหวในช่วงเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมาเป็นการเคลื่อนไหวใต้ดินปิดลับ ข้อมูลว่าใครเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวใต้ดินที่ปรากฏรูปอยู่ในทุกวันนี้ยังเป็นปริศนาที่หลายคนกำลังพยายามไข ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงและปากคำของคนที่เคยอยู่ในขบวนการระบุตรงกันว่ากลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวในพื้นที่อยู่ในปัจจุบัน คือ กลุ่ม BRN – Coordinate
สมาชิกระดับกลางที่เข้าสู่ขบวนการในช่วงทศวรรษ 2530 คนหนึ่งเล่าย้อนถึงสถานการณ์ในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ว่า BRN – Coordinate ได้เปลี่ยนแนวทางการเคลื่อนไหวโดยการลงมาจากป่าเขาและเข้าไปหามวลชนในหมู่บ้าน ซึ่งต่างจากแนวทางของ BRN - Congress ที่เน้นการทำงานกองกำลังอย่างเดียว ไม่เน้นงานด้านมวลชน ในช่วงนั้นนายอับดุลการิมซึ่งลี้ภัยไปอยู่ในประเทศมาเลเซียแทบจะไม่ได้มีบทบาทใดๆ ในการเคลื่อนไหวแล้ว
“ฐานแห่งการปฏิวัติ คือ ศาสนา แนวทางการต่อสู้ คือ จับอาวุธ และเป้าหมายของการปฏิบัติการ คือ merdeka [เอกราช]”, สมาชิกฝ่ายการเมืองระดับกลางผู้นี้กล่าวอย่างชัดเจน
เขาอธิบายว่าการทำงานของ BRN – Coordinate นั้นจะไม่เน้นการพึ่งตัวบุคคลแต่ว่าจะบริหารงานแบบคณะกรรมการร่วม ในช่วงสิบปีแรกระหว่างพ.ศ. 2527 - 2537 เป็นช่วงของการทำงานความคิดและจัดตั้งมวลชนให้มีสำนึกความเป็นมลายู โดยเฉพาะในมัสยิด ตาดีกาและปอเนาะ เหตุการณ์การเผาโรงเรียน 36 แห่งในปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาในคืนวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ดูเหมือนจะเป็นหมุดทางประวัติศาสตร์สำคัญในการประกาศลุกขึ้นสู้ด้วยการเผาสถานที่ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นแหล่งทำลายอัตลักษณ์ความเป็นมลายูและกลืนลูกหลานของพวกเขาให้กลายเป็นไทย
สมาชิกขบวนการผู้นี้ซึ่งปัจจุบันได้ยุติการเคลื่อนไหวแล้วระบุว่าในช่วงพ.ศ. เป็นการวางโครงสร้างการทำงานขององค์กร โดยแบ่งหลักๆ เป็น 2 ปีก คือ ปีกการเมืองที่เรียกว่า MASA และปีกการทหารที่เรียกว่า MAY (คาดว่าเป็นการกร่อนเสียงคำว่า militer ในภาษามาเลย์ซึ่งแปลว่า กองทัพ) ตั้งแต่ช่วงพ.ศ. 2538 เป็นต้นมาเริ่มมีการฝึกกองกำลังทางทหาร ในช่วงนั้นใช้เวลา 2 ปีในการฝึกแต่ละรุ่น พอถึงพ.ศ. 2546 ขบวนการสร้างกองกำลังได้ตามเป้าหมายประมาณ 3,000 คน ช่วงพ.ศ. เป็นช่วงอุ่นเครื่องก่อนการเปิดฉากการต่อสู้อย่างเต็มรูปแบบ
ในหนังสือ “สงครามประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่เขียนโดยนายทหารในภาคใต้ที่ศึกษาเกี่ยวกับขบวนการมากว่า 8 ปี ระบุว่า BRN – Coordinate เปิดฉากด้วยการปล้นปืนที่ป้อมตำรวจที่บ้านรานอ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545 หลังจากนั้นมีการโจมตีฐานการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่หลายแห่งและขบวนการได้ปืนไปเกือบ 100 กระบอก
นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังได้ระบุว่าขบวนการได้ตระเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งฝ่าย MASA MAY ฐานทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ขบวนการพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการเก็บเงินจากสมาชิกวันละ 1 บาท การเตรียมข้าวปลาเสบียงอาหารและเงินบริจาคจากแหล่งอื่น รวมทั้งฝ่ายพยาบาลที่ต้องพร้อมรักษาคนเจ็บจากการสู้รบ
ทหารได้ยึดเอกสารฉบับหนึ่งจากโต๊ะทำงานของนายมะแซ อุเซ็ง ในพ.ศ. 2546 นายมะแซเป็นอุสตาซโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา ใน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ผู้ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเป็นสมาชิกระดับนำคนหนึ่งของ BRN - Cooridanate ในเอกสารฉบับนี้ได้พูดถึง “แผนบันได 7 ขั้น” ซึ่งได้ถูกนำมาอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นแผนการการปฏิวัติของ BRN - Coordinate
เอกสารที่กองทัพเรียกว่า “บันไดเจ็ดขั้น” ที่ยึดได้จากโต๊ะทำงานของนายมะแซ อุเซ็งในพ.ศ. 2546
คำแปลเอกสาร “บันได 7 ขั้น” (เอกสารของกอ.รมน.)
ในหนังสือ “องค์กรปฏิวัติปัตตานี” ที่เขียนโดยอดีตสมาชิกที่คุมงานมวลชนของขบวนการและจัดพิมพ์โดยนายทหารที่ทำงานในภาคใต้ได้อ้างถึงแผนบันได 7 ขั้นนี้ โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าในช่วงพ.ศ. เป็นสิบปีแรกที่ขบวนการทำงานในขั้นที่ 1 และ 2 คือสร้างสำนึกมวลชนและจัดตั้งมวลชน ในช่วงพ.ศ. เป็นช่วงของการดำเนินงานในขั้นที่ 3 – 6 โดยพัฒนาการที่สำคัญคือ การวางโครงสร้างการปฏิบัติงานในปีกมวลชนและการทหาร เมื่อถึงพ.ศ. 2547 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการ “จุดดอกไม้ไฟแห่งการปฏิวัติ” หรือเป็นขั้นที่ 7 โดยมีการปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มต้นการปฏิวัติ
ความพยายามต่อจิ๊กซอว์เพื่อเข้าใจพัฒนาการของขบวนการใต้ดินนี้อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะความจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากในสถานการณ์เช่นนี้ บางทัศนะไม่เชื่อว่าแผนบันได 7 ขั้นที่ทหารอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งนี้จะเป็นแผนการปฏิวัติของฝ่ายขบวนการจริง แต่นี่ก็เป็นข้อมูลชุดหนึ่งสำหรับการพิจารณาเพื่อเข้าใจปรากฏการณ์การต่อสู้ด้วยอาวุธที่ปะทุขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา
หมายเหตุ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group ปัจจุบัน เธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีการจัดการความขัดแย้งที่ King’s College London และเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ การจัดทำรายงานพิเศษเรื่อง “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ติดตามอ่าน ตอนที่ 2 "กระบวนการเข้าสู่การต่อสู้เพื่อ merdeka" ได้ในวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2555
|
http://narater2010.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น