วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

กรณีมัสยิดกรือเซะ

กรณีมัสยิดกรือเซะ

Filed under: เหตุการณ์สำคัญ — admin @ 4:07 am

กรณีมัสยิดกรือเซะ

 

ผู้เรียบเรียง อรอนงค์ และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

เหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อกรณีมัสยิดกรือเซะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 บริเวณมัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเถอเมือง จังหวัดปัตตานี มัสยิดกรือเซะเป็นโบราณสถานและมัสยิดเก่าแก่ของจังหวัดปัตตานี ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว

ความเป็นมา

ก่อนเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะในวันที่ 28 เมษายน 2547 นั้น ได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการก่อนหน้านั้น โดยในวันที่ 26 เมษายน 2547 กลุ่มคนประมาณ 30 คนได้ประชุมวางแผนเตรียมการโจมตีจุดตรวจมัสยิดกรือเซะที่บ้านนายฮามะ สาและ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยมีบุคคลระดับแกนนำเข้าร่วมประชุมหลายคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่ในเขตจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 28 เมษายน 2547
ในระหว่างการประชุมเตรียมการได้มีการกำหนดพื้นที่โจมตีหลายจุด ซึ่งรวมถึงจุดตรวจมัสยิดกรือเซะด้วย

ลำดับเหตุการณ์

วันที่ 27 เมษายน 2547 เวลาประมาณ 15.00 น. กลุ่มบุคคลประมาณ 30 คนแต่งกายในลักษณะบุคคลทั่วไปที่เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ได้เดินทางโดยรถกระบะและรถเก๋ง พร้อมด้วยกระเป๋าสัมภาระไปยังมัสยิดกรือเซะ และได้นำกระเป๋าสัมภาระเข้าไปไว้ในมัสยิด ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 ถึง 20.00 น. กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำละหมาดร่วมกัน โดยอุสต๊าซโซ๊ะได้พูดปลุกระดมให้มุ่งมั่นในการปฏิบัติการประกาศเอกราช และได้ทำการนัดหมายอีกครั้งว่า จะโจมตีจุดตรวจกรือเซะในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 28 เมษายน 2547 เพื่อแย่งชิงอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่และให้หลบหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ภายในมัสยิด
เวลาประมาณ 20.00-20.30 น. กลุ่มชายประมาณ 20 คนแต่งกายในชุดดะอ์วะฮ์ได้เข้าไปรับประทานอาหารที่ร้านชื่อ “มะกาแม” ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านข้างมัสยิดทางทิศเหนือ ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวเดินทางมาจากสถานที่ต่างๆ กัน จากจังหวัดสงขลาและจังหวัดยะลา เวลาประมาณ 23.00 น. ได้มีชาย 2 คน ออกมาจากมัสยิด และนำรถจักรยานยนต์ขี่วนเวียนไปมาตามเส้นทางระหว่างมัสยิดและจุดตรวจกรือเซะ และหลังจากที่ได้กลับเข้าไปในมัสยิดแล้วชายทั้งสองก็ไม่ได้ออกมาจากมัสยิดอีก
เช้าตรู่วันที่ 28 เมษายน 2547 เวลาประมาณ 02.30 น. กลุ่มบุคคลที่เดินทางไปยังมัสยิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 ประมาณ 15-18 คนได้ออกมานั่งรวมกลุ่มกันที่ลานหน้ามัสยิดด้านทิศตะวันออก โดยคนในกลุ่มได้พูดคุยและแสดงท่าทางในลักษณะของการวางแผน โดยคนอีกกลุ่มจำนวน 6-8 คน ได้รวมกลุ่มกันที่ระเบียงทางขึ้นมัสยิดด้านทิศใต้ จากนั้นได้มีรถกระบะไม่ทราบยี่ห้อ สีน้ำเงินดำได้แล่นเข้ามาจอดบริเวณมัสยิดและมีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งลงมาจากรถโดยบางคนแต่งกายชุดดะอ์วะฮ์เดินเข้าไปในมัสยิด
เวลาประมาณ 04.50 น. มีกลุ่มบุคคลที่มัสยิดประมาณ 30 กว่าคนได้แยกออกเป็น 2 กลุ่มกลุ่มละประมาณเกือบ 20 คน โดยกลุ่มที่หนึ่งเดินทางไปทางถนนด้านสถานีอนามัย อีกกลุ่มหนึ่งเดินไปทางถนนด้านทิศเหนือฝั่งเดียวกับที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงลูโละมุ่งหน้าไปทางจุดตรวจกรือเซะ
ต่อมากลุ่มบุคคลประมาณ 32 คน ได้เดินมุ่งไปยังจุดตรวจกรือเซะฝั่งป้อมยามด้านสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ขณะเดียวกันนั้น สิบตำรวจเอก อันวาร์ เบ็ญฮาวัน สังกัดกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 444 ซึ่งปฎิบัติหน้าที่อยู่ ณ จุดตรวจฯ ได้รับแจ้งเตือนจากทหารจำนวน 3 คนที่วิ่งมาจากจุดตรวจฝั่งสถานีอนามัยว่าให้ระวังกลุ่มบุคคลดังกล่าวด้วย และต่อมาทหารที่เหลืออยู่อีก 1 คน ที่อยู่ ณ จุดตรวจได้ถูกฟันทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าว ได้โจมตีป้อมตำรวจที่อยู่ใกล้ๆ กับมัสยิดกรือเซะ และได้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร ผลจากการปะทะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเสียชีวิต 3 นาย และบาดเจ็บ 17 นาย
หลังจากนั้นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทั้ง 32 คน ได้หลบหนี้เข้าไปภายในมัสยิดกรือเซะ พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี รองผอ.กอ.รมน. ได้เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ มีประชาชนประมาณ 2,000-3,000 คน รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณมัสยิด
เจ้าหน้าที่ปิดล้อมมัสยิดอยู่นานราว ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 14.00 น.
ทางตำรวจทหารตัดสินใจบุกเข้าไปในมัสยิด ใช้ระเบิดมือและอาวุธ จนเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่อยู่ภายในมัสยิดทั้ง 32 คนเสียชีวิต

ผลกระทบจากเหตุการณ์

ข่าวการบุกเข้าไปสังหารกลุ่มบุคคลภายในมัสยิดกรือเซะแพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐถึงการกระทำปราบปรามเกินกว่าเหตุ ดังนั้นเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 104/2547 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการจากหลายภาคส่วนได้แก่
1. นายสุจินดา ยงสุนทร อดีตเอกอัครราชทูตและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานกรรมการ
2. นายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงคุณวุฒิประจำจุฬาราชมนตรี
3. นายจรัญ มะลูลีม นักวิชาการมหาวิทยาลัย เป็นรองประธาน
4. นายภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นกรรมการ
5. นายมหดี วิมานะ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน เป็นกรรมการ
6. นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เป็นกรรมการ
7. นายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เป็นกรรมการ


หลังจากมีการดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้แถลงผลการสอบสวนเหตุการณ์กรณีกรือเซะและตากใบ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม