วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

ย้อนอดีตบามิยัน

พระพุทธรูปยืนแห่งบามียัน : ย้อนอดีต และ อดีตของอดีต 

พระพุทธรูปยืนแห่งบามียัน 
ย้อนอดีต และ อดีตของอดีต 

พระพุทธรูปยืนสูงตระหง่าน 50 เมตร แห่งบามียัน(Bamiyan) ที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธ ในอดีต ณ ดินแดนแห่งพุทธศาสนา แต่กาลก่อน 


บามียัน(bamiyan) : ดินแดนแห่งความขัดแย้งในปัจจุบัน 
อาฟกานิสถาน ตั้งอยู่บริเวณเส้นทางสายไหม(Silk Road) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าจากยุโรปมายังเอเชีย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมไปยังดินแดนต่างๆ หลายคนอาจแปลกใจว่าทำไมจึงมีพระพุทธรูปอยู่ในประเทศอาฟกานิสถาน ที่เป็นมุสลิม ที่ปัจจุบัน ผู้คนในอาฟกานิสถานนับถือศาสนาอิสลาม 





เมืองบามียัน ประเทศอัฟกานิสถาน อยู่ห่างจากเมืองคาบูล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถาน ไปทางตะวันตกประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร เฉียงขึ้นไปทางเหนือเล็กน้อย ในประวัติศาสตร์สมัยพุทธกาล บริเวณแถวนี้อยู่ชายขอบแคว้นคันทาระ (หรือคัณธารราฐ) ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ ในปัจจุบันจะครอบคลุมประเทศปากีสถานภาคตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วกินเข้าไปทางอัฟกานิสถานตะวันออกบางส่วน 








พระพุทธรูปยืนแห่งบามียัน มี 2 องค์ เป็นองค์ใหญ่ และองค์เล็ก ประดิษฐานอยู่ข้างๆกัน พระพุทธรูป ๒ องค์นี้สร้างระหว่าง พ.ศ.๘๐๐-๑,๐๐๐ องค์เล็กสูง ๓๗ เมตรเศษ บางแห่งก็เลยนับเป็น ๓๘ เมตร องค์เล็กสร้างก่อน คือประมาณ พ.ศ.๘๐๐ องค์ใหญ่สูง ๕๓ เมตร โดยการสลักเข้าไปในหน้าผา เมื่อสร้างเสร็จหลังจากนั้นมาอาจจะสักศตวรรษหนึ่ง คงใช้เวลาในการสร้างนาน เพราะว่าต้องเสียเวลาเจาะแล้วสลักเข้าไปในภูเขา เป็นศิลปะสำคัญ ที่เรียกว่าเป็นศิลปะแบบคันทาระ ซึ่งเป็นศิลปะที่สืบเนื่องจากกรีก ตั้งแต่ครั้งที่กรีกเข้ามาอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย 

เมื่อมานับถือพระพุทธศาสนา ก็ได้เริ่มสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพุทธศักราชประมาณ ๕๐๐ ถือว่าพระพุทธรูปเกิดขึ้นครั้งแรกเป็นศิลปะแบบ กรีกหรือคันทาระนี่เอง และทำให้มีการนิยมสร้างพระพุทธรูปกันต่อมา เพราะว่าก่อนนั้นในอินเดียไม่กล้าสร้างพระพุทธรูป เพราะถือว่าเคารพมาก คนอินเดียแต่เดิมนี้เคารพพระพุทธเจ้ามาก ไม่กล้าทำเป็นรูป ได้แต่สร้างเครื่องหมายบอกให้รู้ เช่นว่า จะแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้อยู่ ก็ทำเป็นรูปต้นโพธิ์ แล้วก็มีพระแท่นอยู่ข้างล่าง อย่างนี้เป็นต้น 


















หรืออย่างที่ปรินิพพาน ก็มีต้นสาละ มีพระแท่นที่ประทับ อย่างนี้เป็นต้น เรื่องพระพุทธรูปที่เจริญรุ่งเรืองมาถึง พ.ศ.๘๐๐ --๑๐๐๐ เป็นระยะที่ศิลปะคันทาระนี้เจริญรุ่งเรืองมาก ความจริงพระพุทธรูป ๒ องค์ ที่เมืองบามียันนี้ เคยถูกทำลายไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ว่าทำลายได้ไม่มาก เพราะสมัยก่อนไม่มีเครื่องมือมากมาย พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่มาก และเป็นศิลาทั้งหมด การทำลายก็ทำได้ยาก กองทัพของมุสลิมเข้ามาทางดินแดนแถบนี้ประมาณ พ.ศ.๑๒๕๐ ตอนนั้นก็มีการทำลาย แต่ทำลายได้อย่างมากก็ได้แต่ทุบบางส่วน ซึ่งโดยมากจะทุบพระนาสิกคือจมูกเป็นหลัก เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปในอินเดียนี้จะพบว่ามีชำรุดที่พระนาสิกมากมากเหลือเกิน เพราะทำลายไม่ไหว และมีการทำลายพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์กันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพ.ศ.๒๒๐๐ เศษ ตอนนั้น กองทัพของอิหร่านบุกเข้ามา กองทัพนี้ได้ทำลายพระพักตร์ทั้งหมด ดังนั้นจะเห็นว่าก่อนที่ทาลีบันจะทำลายคราวนี้นั้น พระพักตร์ของพระพุทธรูปก็ไม่มี เพราะว่า กองทัพของมุสลิมได้ทำลายไปเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๐ เศษนั้นแล้ว 

















มาคราวนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ คือ 12 ปีมาแล้ว พวกทาลีบันตอนนั้นก็กำลังรบ เขาเรียกว่าเป็นกบฏเพื่อชิงอำนาจรัฐบาล พวกทาลีบันตอนนั้นก็เข้าไปอยู่ในเขตแถบนี้ ก็ได้ขู่ว่าจะทำลายพระพุทธรูปนี้ ชาวพุทธในศรีลังกาเป็นต้น ก็ได้ออกมาเรียกร้องขอให้ระงับการทำลาย เรื่องเลยเงียบไป นั่น ก็เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว จนกระทั่งมาคราวนี้แหละ ที่เป็นครั้งสุดท้ายที่ว่าได้ ก็ทำลายกันไป 

เมื่อเขาทำลายอย่างนี้ ก็เป็นธรรมดาที่จะก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ชาวพุทธ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ชาวพุทธหรอก ชาวโลกทั้งหมด คือผู้ที่มีอารยธรรมก็ไม่พอใจทั้งนั้น ดังที่จะเห็นว่านานาประเทศได้แสดงออก เรียกร้องบ้าง ประณามบ้าง ในการกระทำของทาลีบันครั้งนี้ สำหรับชาวพุทธเรานี้ก็มีสิทธิที่จะไม่พอใจ แต่ในฐานะเป็นชาวพุทธ เรามีหลักพระพุทธศาสนาอยู่ 

















ในพุทธศาสนานั้นก็สอนว่าให้มีเมตตาประจำใจ ก็คือมีความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด เราก็ถือหลักว่าไม่รุนแรง ไม่แก้แค้นอะไรทำนองนี้ ก็ถือหลักกันมา มีขันติ มีความอดทน เพราะฉะนั้นชาวพุทธจึงไม่มีสงครามศาสนากับผู้ใด ก็อยู่มาอย่างนี้ แต่ว่าการที่จะมีเมตตานั้น ก็ไม่ใช่ว่ามีเมตตาไปเฉยๆ มิฉะนั้นเดี๋ยวกลายเป็นเมตตาแบบเรื่อยเฉื่อย ไม่ใช้ปัญญา ก็กลายเป็นโมหะไป ทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้มีเมตตาประจำใจ แต่พร้อมกันนั้น ก็ให้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาและความไม่ประมาท ตรงนี้ที่ว่าให้อยู่ด้วยปัญญาและมีความไม่ประมาทนี้เป็นเรื่องสำคัญ คือเราต้องรู้ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ว่าใครเขามาทำร้ายเรา แล้วเราก็อดทน ไม่แก้แค้น ไม่ทำร้ายตอบแล้วก็จบไป หรือว่ายอมไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น 

แต่มันเป็นเรื่องของส่วนรวม เป็นเรื่องของการมองไกลไปข้างหน้าว่า สังคมมนุษย์หรือโลกนี้จะอยู่กันด้วยสันติสุขได้อย่างไร คือในกรณีที่มีการกระทำแบบนี้ ถ้าทำกันต่อไปข้างหน้า มันจะเป็นอย่างไร มนุษย์ทำอย่างไรจะอยู่กันได้ด้วยสันติสุข 

ฉะนั้นก็ให้คำนึงในข้อนี้เป็นสำคัญ เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมะไว้นี้ ก็เห็นได้ชัดเจนว่าทรงมีจุดหมายเพื่อให้ชาวโลกนี้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข คือจุดหมายนี้เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกทุกคน โดยเฉพาะชาวพุทธต้องมาคิดกันว่า เราจะทำอย่างไรให้โลกหรือสังคมมนุษย์นี้อยู่ด้วยดีมีสันติสุข โดยใช้วิธีการที่เป็นธรรมคือวิธีการที่เป็นสันติ สงบ ไม่รุนแรง ถ้าหากว่ามนุษย์ใช้วิธีเอาแต่ใจตัว ไม่คำนึงถึงผู้อื่นแล้ว โลกนี้จะอยู่สงบสุขได้หรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ต้องคิดระยะยาว ว่าเราจะเอาวิธีการทางธรรมะนี้มาใช้แก้ปัญหาของโลกให้สำเร็จได้หรือไม่ 























มองกันในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องท้าทายทีเดียว ท้าทายความสามารถ สติปัญญาของมนุษย์ ที่จะต้องคิดพิจารณาเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ว่าปล่อยไปเรื่อย มีเหตุการณ์อะไรขึ้นมาทีก็ตื่นเต้นกันที 

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มาเตือนใจชาวพุทธ การตื่นตัวนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ว่าตื่นตัวแล้วก็ไม่ใช่ว่ามีความโกรธรุนแรงไปแล้วก็จบ ไม่ใช่อย่างนั้น ก็คือการที่ต้องคิดเอาจริงเอาจัง ที่จะนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ หรือมาใช้ประยุกต์กับสถานการณ์โลกปัจจุบันว่า จะให้โลกนี้อยู่เป็นสุขในระยะยาวได้อย่างไร 

ถ้าเราไปมองในแง่ว่าการทำลายครั้งนี้ ทำไมนานาอารยประเทศ จนกระทั่งยูเอ็นเขาจึงได้ออกมาประณาม มีการเรียกร้อง มีการส่งทูตไปเจรจาเอาจริงเอาจังกันมากมาย ก็เพราะว่าเขาเห็นเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความหมายต่ออารยธรรมของมนุษย์ อย่างพวกทาลีบันเขาบอกว่า พระพุทธรูปนี้เป็น Insult to lslam เป็นการดูถูกต่อศาสนา อิสลาม เขาจะพูดดังนั้นได้อย่างไร 

เพราะว่าไม่ใช่เขาเป็นดินแดนอิสลามแล้วก็มีใครไปสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา แต่ว่าพระพุทธรูปนี้ท่านมีอยู่ก่อนแล้วในดินแดนนี้ ซึ่งแต่ก่อนนี้เป็นดินแดนพระพุทธศาสนา เป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมากเกิดขึ้นก่อนศาสนาอิสลามเกิด 








ศาสนาอิสลามนั้นเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๖๕ ก็หมายความว่าพระพุทธรูปนี้เกิดมีขึ้นก่อนศาสนาอิสลามเกิดตั้ง ๒๐๐-๓๐๐ ปี หลังจากศาสนาอิสลาม กองทัพมุสลิมบุกเข้ามา ก็มาทำลาย กลายเป็นว่ากองทัพเหล่านั้นแหละที่มาดูถูกทำลายท่าน ไม่ใช่ว่าพระพุทธรูปไปดูถูกอะไรชาวอิสลามหรอก เป็นเรื่องที่เขาไม่มีสิทธิที่จะพูด 

เมื่อเป็นอย่างนี้ เขาอาจจะอ้างในแง่ศาสนาบัญญัติ คือตัวหลักการที่บอกว่าไม่ให้นับถือ idol รูปเคารพ รูปบูชา หรือเทวรูป ความจริงข้ออ้างนี้ก็ไม่ถูก เพราะว่าเมื่อตนนับถือศาสนาอิสลาม ก็ตัวเองก็ไม่นับถือรูปเคารพบูชาของศาสนาอื่น ก็ไม่เป็นโทษแก่ตนเอง ก็ไม่เป็นบาป เพราะตัวเองก็ปฏิบัติตามหลักศาสนาของตัวเอง ก็คือว่าตัวเองเป็นมุสลิม ตัวเองก็ไม่นับถือ แต่ว่าคนอื่นเขานับถือก็เป็นเรื่องของเขา เราก็ไม่ไปยุ่งด้วยก็เป็นการให้เกียรติแก่กัน และก็เป็นหลักของการอยู่ร่วมกันด้วยดี 







โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้จะต้องเน้นเรื่องนี้มาก เพราะว่าโลกนี้มันแคบเข้า แล้วมนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ในเมื่อมนุษย์มีความแตกต่างกัน เช่น ความเชื่อถือทางศาสนา เขาก็ใช้หลักการนี้ ก็คือว่าตัวเองก็ปฏิบัติไปตามหลักของตัวเอง ไม่ไปรุกรานไปทำร้ายผู้อื่น อันนั้นก็เป็นการให้เกียรติแก่กัน หรือแม้แต่ถ้าจะบังคับคนไหนเป็นมุสลิมก็ไปบังคับได้ เธอเป็นมุสลิมแล้วเธอต้องปฏิบัติตามศาสนาบัญญัติ เธอต้องไม่นับถือรูปเคารพบูชาของศาสนาอื่น อย่างนั้นได้ ก็มีสิทธิบังคับ ถ้าจะบังคับก็มีสิทธิบังคับได้แค่คนมุสลิมด้วยกัน แต่จะไปบังคับคนศาสนาอื่นไม่ได้ 

ดังนั้น เมื่อตัวเองไม่นับถือแล้ว ตัวเองก็ไม่มีโทษ เพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติผิดศาสนาบัญญัติ หรือแม้แต่ว่า ถ้าเห็นว่าการนับถือรูปเคารพนี้เป็นสิ่งไม่ดี ตัวเองมีสิทธิที่จะไปแนะนำชักจูงอธิบายด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้เขาเห็นด้วย ก็ใช้วิธีพูดจาด้วยสติปัญญา จะไปทำร้ายบังคับเขา ก็ไม่ถูกต้อง








ถ้าว่ากันไปตามหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปก็ไม่ใช่ไอดอล อย่างที่เขาบัญญัติไว้ไม่ให้นับถือ เพราะว่าพระพุทธรูปของเรานี้ไม่ใช่เทวรูป ไม่ใช่รูปศักดิ์สิทธิ์แบบที่ศาสนาต่างๆ เขานับถือกัน แต่ว่าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้า สำหรับเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ ระลึกถึงธรรมะ ระลึกถึงความดี เราจะได้มาประพฤติหรือปฏิบัติธรรมหรือนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาดำเนินชีวิต 

ฉะนั้น การที่ทางทาลีบันทำการครั้งนี้ นานาอารยชาติก็เลยประณามกัน ถือว่าเป็นการทำลายมรดกอารยธรรมมนุษย์ ที่มนุษย์มีความเจริญ มีความคิดสร้างสรรค์ในทางศิลปะ เป็นต้น และก็สร้างสรรค์ขึ้นมา บางรัฐบาลเขาประณามพวกทาลีบันแรง เขาประณามว่าการกระทำของทาลีบันนี้เป็นการลบหลู่มนุษยชาติ มนุษยชาติเขามีความเจริญงอกงาม มีวิถีของความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ด้วยกันด้วยสันติสุข แบบนี้แกไม่เอาด้วย การกระทำของทาลีบันก็เป็นการลบหลู่ อย่างน้อยก็เป็นการที่แสดงว่า ไม่คำนึงถึงจิตใจของเพื่อนมนุษย์ที่เขานับถือศาสนาอื่นหรือเป็นพวกอื่น จะเอาแต่ใจตัวอย่างเดียว ในกรณีนี้ก็เป็นการที่มีจิตใจคับแคบและโหดร้าย ทำให้เพื่อนมนุษย์มีสิทธิที่จะหวาดระแวง 

เพราะฉะนั้นข้อสำคัญก็คือ จะแก้ปัญหากันอย่างไรในระยะยาว ถ้าจะว่าถึงในเฉพาะหน้าก็คือว่า ประเทศต่างๆ มีสิทธิที่จะประณาม ซึ่งก็ได้ประณามกันไปแล้ว ก็เป็นการประณามอย่างชอบธรรม เพื่ออย่างน้อยให้รู้ว่าการกระทำอย่างนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ ให้รู้กันไปก่อนว่าประเทศทั้งหลายไม่ยอมรับการกระทำอย่างนี้ นี่เรียกว่าเป็นการประณาม เมื่อประณามไปแล้วก็ไม่ควรจะหยุดอยู่แค่นั้น ก็ต้องคิดทำอย่างไร เราจึงจะรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติไว้ได้ ไม่ใช่ให้มีการทำลายกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็คิดกันให้จริงจังอย่างที่บอกเมื่อกี้ ก็คือมาคิดในแง่อนาคตยาวไกลว่า โลกหรือสังคมมนุษย์นี้ จะอยู่กันด้วยดีมีสันติสุขได้อย่างไร และชาวพุทธก็จะต้องตื่นตัวไม่ประมาท มีภัยอันตรายต่างๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เกิดขึ้นครั้งหนึ่งก็ตื่นขึ้นมาทีหนึ่งกลายเป็นตื่นเต้นแล้วก็เงียบกันไป 

การตื่นตัวที่จริงก็ คือต้องมาเรียนรู้หลักพระศาสนา แล้วก็มองถึงประโยชน์ส่วนรวม ว่าเราจะปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนธรรมะไว้ เพื่อให้ชีวิต สังคม ดีงาม ต้องการให้เกิดประโยชน์สุข แก่ชาวโลก ให้โลกนี้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนี้ เขาจะทำอย่างไร เอาธรรมะมาใช้แก้ปัญหาของโลกให้ได้ เป็นการป้องกันภัยในอนาคต แล้วก็ทำประโยชน์แก่สังคมมนุษย์ทั้งหมด 

ในส่วนหนึ่งที่น่าชม ก็คือชาวมุสลิม ในหลายประเทศที่มาแสดงออก ได้มาประณามพวกทาลีบันด้วย ก็เป็นการแสดงท่าทีของชาวมุสลิม ที่แสดงให้เห็นว่ามีชาวมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกทาลีบันนี้ และก็ยินดีที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์โดยสันติสุข 

ซึ่งอันนี้ถ้าชาวมุสลิมได้แสดงออกมากก็ยิ่งดี โดยเฉพาะระยะยาว ก็เพื่อจะรักษาสันติสุขของมนุษย์ ว่าเราอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ก็อาจจะออกมาอธิบายหลักการของศาสนาอิสลามให้เห็นว่า ศาสนาอิสลามนั้นต้องการให้อยู่กันสันติอย่างนี้ แนวทางปฏิบัติที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็จะเป็นทางที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์ สังคมมนุษย์ให้โลกนี้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขได้ 

สำหรับชาวพุทธก็ขอย้ำว่า ต้องตื่นตัวขึ้นมาศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา รู้เท่าทันสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นในเรื่องของกิจการพระศาสนา ทำอย่างไรจะให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้มั่นคงยั่งยืน และนำหลักพระศาสนานี้มาใช้ประโยชน์ เพื่อจะให้ชีวิตและสังคมอยู่ร่มเย็นเป็นสุข และก็เอาธรรมวิธี คือที่เป็นธรรมชอบธรรมนี้ มาแก้ปัญหาของโลก 

โดยเฉพาะปัญหาปัจจุบันที่มันมีความเลวร้ายเกิดขึ้นมากเหลือเกิน มีความรุนแรง มีสงคราม มีการเบียดเบียนกันทั่วไปหมด เราทำอย่างไรจะแก้ไขได้อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นการท้าทายชาวพุทธก็ว่าได้ ว่าจะสามารถนำหลักการของพระศาสนามาสร้างสันติสุขให้แก่โลกมนุษย์ได้หรือไม่ 

หวังว่าทุกคนจะช่วยกัน ขอให้การตื่นตัวที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นการตื่นตัวที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ความดีงาม และการเอาจริงเอาจังในทางที่จะเกิดประโยชน์สุข ความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา ประเทศชาติ สังคม และแก่ชาวโลกทั้งหมด


จาก 
มองไกล กรณี “ทาลีบัน” ทำลาย “พระพุทธรูป” ล้ำค่า
พระธรรมปิฎก : นสพ.มติชนรายวัน ๒๗ มี.ค. ๒๕๔๔ 
ธรรมานุรักษ์ ฉบับที่ ๒๑ , เมษายน ๒๕๔๔ 


Create Date : 10 เมษายน 2552
Last Update : 10 เมษายน 2552 17:11:55 น.3 comments
Counter : 329 Pageviews.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม