วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

“มูลนิธิเอเชีย” แหล่งเงินทุนสนับสนุนกลุ่ม PerMAS


แบมะ ฟาตอนี

          กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PerMAS) ขอรับเงินสนับสนุนทุนจากมูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) จำนวน 1.8 ล้านบาท สร้างมวลชนกลุ่มเป้าหมาย 900 คน ครอบคลุม 30 หมู่บ้าน เพื่อเตรียมจัดตั้งหมู่บ้านปกครองตนเอง โดยมี นายบูคอรี ลาเตะ รองประธาน PerMASเป็นประธานภายใต้ชื่อ“โครงการเพิ่มศักยภาพแกนนำองค์กรเยาวชนเพื่อสันติภาพ”




          กลุ่ม PerMAS มีความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อที่จะขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพฉบับประชาชน โดยมีเป้าหมายให้มีการลงประชามติ กำหนดใจตนเอง เพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดนนำไปสู่เอกราชเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกับขบวนการ BRN ในขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับ BRN ไม่มีความคืบหน้าก่อนหน้านี้ในการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับ BRN ที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก กลุ่ม PerMAS ยังแสดงท่าทีเคลือบแคลงสงสัยมาโดยตลอดและพยายามแสดงจุดยืนของตัวเอง มีการปลุกกระแส SATU PATANI พร้อมๆ กับการโฆษณาชวนเชื่อทุกรูปแบบเพื่อให้ประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางที่กลุ่ม PerMAS ปูทางไว้ มีการปลุกกระแสชาตินิยมฟาตอนี




            BRN ยืมมือกลุ่ม NGOs แนวร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านมวลชน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการใช้กองกำลังทางทหารในการก่อเหตุกลุ่มPerMAS คือกลุ่มที่เคลื่อนไหวสนับสนุน BRN อย่างชัดเจน บางฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงจึงสรุปฟันธงว่ากลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวสอดรับกับแนวทางของขบวนการแบ่งแยกดินแดน สื่อบางแขนงก็หยิบไปนำเสนอข่าวทำนองว่าขบวนการนักศึกษาเป็นปีกหนึ่งของ“บีอาร์เอ็น” แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามกับข้อสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาชายแดนใต้ก็ยังคาใจฝ่ายความมั่นคงกับผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยอยู่เหมือนเดิม และคงไม่มีใครไขข้อข้องใจทั้งหมดนี้ได้

          กลุ่มนักศึกษาที่เป็นร่มขององค์กรต่างๆในขณะนี้คือ PerMAS หมายถึง สหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานีองค์กรนี้แปลงมาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) เดิม ซึ่งสนน.จชต.เป็นการรวมตัวของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแต่ละจังหวัดของจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งปัจจุบันยุบไปหมดแล้ว เหลือ PerMAS องค์กรเดียว รวมทั้ง PNYs (กลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมตัวแทนนักศึกษาปาตานีทั้งในประเทศและต่างประเทศมีนโยบายสำคัญคือ “SATU PATANI” หรือ “หนึ่งปาตานี” (นัยยะหมายถึงปาตานีเป็นหนึ่งเดียว) องค์กรฐานของ PerMAS มี ๓๐-๓๗ องค์กร ทั้งองค์กรที่เป็นอิสระและองค์กรที่เป็นสโมสรนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ไม่เกี่ยงว่าต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น แต่ต้องเป็นปาตานี



ประเด็นหลักในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Permas

           ปลุกกระแสความเป็นชาตินิยม มลายูปาตานี และให้ประชาชนออกมากำหนดชะตากรรมของตัวเอง รณรงค์ให้ใช้คำทักทาย SatuPatani (สาลามปาตานีหนึ่งเดียว) อ้างว่า การพูดคุยสันติภาพไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ บิดเบือนการดำเนินนโยบายของรัฐว่า ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนใน ๓ จชต. จากนโยบายการพัฒนา การใช้กฎหมายพิเศษใน จชต. บิดเบือนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ กรณีควบคุมครูตาดีกา กรณีศาลฎีกาตัดสินจำคุก นายมูฮำหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ“อันวาร์”



องค์กร LEMPAR เป็นที่ปรึกษา กลุ่ม PerMAS

           สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ LEMPAR สมาชิกส่วนใหญ่เป็นอดีตแกนนำของ PNYS, PerMAS, สนมท.ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแก่PerMAS และผู้บรรยายในเวที Bicara Patani สมาชิก LEMPAR อาทิ นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก นายตูแวดานียา ตูแวแมแง นายมูฮำมัดอาลาดี เด็งนิ และนายอัซฮาร์สารีมะเจ๊ะ กลุ่ม PerMAS เคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการลงนามพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับกลุ่ม BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์2556 และมีการกล่าวอ้างว่าประชาชนเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต้องการรับรู้การเมืองในปัจจุบัน และอ้างความต้องการของประชาชนในการออกมากำหนดชะตากรรมของตัวเอง - จะจัดควบคู่กับกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น งานตาดีกาสัมพันธ์ งานเด็กกำพร้า งานรับบริจาคสมทบทุนสร้างห้องสมุดจะเลือกหมู่บ้านที่รัฐอ้างว่าเป็นพื้นที่สีแดงก่อน หมู่บ้านที่นักศึกษาเคยไปทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งในต่างประเทศที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปอาศัยอยู่ในการประกอบอาชีพและไปศึกษาต่อ



          จากบทบาทของกลุ่ม PerMAS ที่ได้ทำการเคลื่อนไหวงานด้านการเมืองควบคู่งานด้านการทหารของกลุ่ม BRN ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ การกำหนดใจตนเองเพื่อมุ่งไปสู่การลงประชามติก้าวไปสู่เอกราชปลดแอกจากการปกครองของรัฐไทย โดยการเรียกร้อง “สิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดน” ซึ่งจากพฤติกรรมของกลุ่มองค์กรดังกล่าว การได้มาซึ่งแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งได้มาจากเงินของพ่อค้ายาเสพติดน้ำมันเถื่อน และสินค้าหนีภาษี โดยผ่านนายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ฝ่ายต่างประเทศสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LAMPAR) ซึ่งเป็นที่ปรึกษากลุ่ม PerMAS

           เมื่อวันที่ 16 – 18 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา มูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาโครงการ “การใช้ทฤษฎีแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่โรงแรมตันหยง ถ.โสภาพิสัย อ.เมือง จ.นราธิวาส ผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเอเชีย ซึ่งองค์กรที่เคลื่อนไหวเป็นแนวร่วมฝ่าย BRN เข้ารับการอบรมอาทิเช่น สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน กลุ่ม PerMASสำนักสื่อ Wartani สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (Wepeace) มูลนิธิทนายความมุสลิม กิจกรรมประกอบด้วย การอธิบายหนังสือสัญญาเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติ และการจัดทำรายงานความก้าวหน้าโครงการและรายงานด้านการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรภาคประชาสังคมใน จชต. ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

        แต่เป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่มีองค์กรระหว่างประเทศบางองค์กร ทั้งที่ทราบดีว่าบทบาทของกลุ่ม PerMAS ที่ทำการเคลื่อนไหวต่อสู้มุ่งไปสู่เอกราชแยกตัวเป็นอิสระ และเป็นปีกหนึ่งของขบวนการ BRN แต่กลับแกล้งโง่หลับหูหลับตา เอาหูไปนาเอาตาไปไร่สร้างความปั่นป่วนด้วยการสนับสนุนเงินทุนในการจัดกิจกรรมนำไปสู่การสร้างความแตกแยก โดยเฉพาะล่าสุดมูลนิธิเอเชียเตรียมสนับสนุนเงินทุน 1.8 ล้านบาท เพื่อให้กลุ่ม PerMAS นำไปสร้างมวลชนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 900 คน ครอบคลุม 30 หมู่บ้าน เพื่อเตรียมจัดตั้งหมู่บ้านปกครองตนเองในนามส่วนตัวผู้เขียนเองไม่เห็นด้วยกับมูลนิธิเอเชียที่พยายามสุมปัญหาไฟใต้เพิ่มปัญหาที่ไม่มีวันจบ แทนที่จะสนับสนุนขบวนการพูดคุยสันติภาพบนโต๊ะเจรจาที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่เฉพาะมูลนิธิเอเชียเพียงเท่านั้นยังมีองค์กรระหว่างประเทศอีกหลายองค์กรที่ทำตัวเป็นอีแอบสนับสนุนทุนให้กับกลุ่ม NGOsเหล่านี้เคลื่อนไหวต่อสู้รัฐไทย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม