ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ เป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่กว่า 49% ประกอบกิจการตามหลักศาสนาอิสลาม เริ่มเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2546 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาท วันนี้ภายใต้การบริหารงานของบอร์ดชุดปัจจุบันที่มี นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ปัญหาหนี้เสียเข้าขั้นวิกฤต กระทบต่อฐานะการเงินของธนาคารอย่างน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ ตัวเลขผ่านการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน งวดไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดเดือนมิถุนายน ระบุว่า ธนาคารขาดทุนสะสมเพิ่มจาก 20,092 ล้านบาทในเดือนนธันวาคม 2557 เป็น 25,511 ล้านบาท
เปิดตัวเลขน่าตระหนก
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได หรือหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล ตรวจสอบล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2558 ได้ทะยานขึ้นจากระดับ 43% ในเดือนธันวาคม 2557 มาอยู่ที่ 49% ขณะที่หนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงของธนาคารก็ยิ่งสูงมากขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เท่ากับติดลบ 22% นั่นหมายถึงการกันสำรองเป็นกองทุนเพื่อป้องกันความเสียหายจากสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอาการหนัก ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้อย่างน้อยต้อง 8.5% หรือทุกๆ สินทรัพย์เสี่ยง 100 บาท แบงก์จะต้องกันสำรองไว้ 8.5 บาท
เบื้องหลังวิกฤตแบงก์-ปัญหาหนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการ” ถึงเบื้องหลังปัญหาไอแบงก์ ว่า ต้นตอที่แท้จริง คือ คนที่บริหารแบงก์นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ขาดความเข้าใจ ไม่มีความสามารถในการบริหารงานธนาคาร เห็นได้จากการสั่งระงับการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ และรายย่อยทำให้เกิดภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรงของสินเชื่อ พร้อมกับการสั่งยกเลิกโครงสร้างการติดตาม และการดูแลลูกค้ารายย่อยที่ถูกวางรากฐานไว้มานาน ทำให้ลูกหนี้ขาดการติดต่อ ธนาคารไม่สามารถติดตามหนี้
“เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่พยายามแก้ปัญหาหนี้เสีย แต่กลับโยนไปเป็นปัญหาการทุจริตการปล่อยสินเชื่อในอดีต ขณะนี้มีเรื่องที่ตั้งไว้กว่า 40-50 เรื่องที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน” แหล่งข่าว กล่าว
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาในยุคของ นายธานินทร์ อังษุวรังสี เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร หนี้เสียที่เคยมีแค่ 8% ในปี 2554 จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็น 2 เท่าในปี 2555 ต่อเนื่องจนถึงยุคของ นายชัยวัฒน์ ซึ่งยังคงนโยบายเดิมของนายธานินทร์ หนี้เสียจึงไต่ระดับขึ้นมาดังกล่าว ขณะที่การปล่อยสินเชื่อหดตัวจาก 110,00 ล้านในเดือนธันวาคม 2557 เหลือ 100,000 ล้าน จากตัวเลขล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2558
“นี่เป็นผลงานที่เกิดขึ้นในสมัยนายชัยวัฒน์” แหล่งข่าว กล่าว
ชัยวัฒน์-ธานินทร์ ความล้มเหลวที่สืบทอดกันมา
นายชัยวัฒน์ อยู่ในแวดวงสถาบันการเงินมาตลอด 40 ปี ผ่านงานธนาคารมา 9-10 แห่ง ความชำนาญที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นด้านการปิด/ควบ/ขาย กิจการ เช่น AIG ธนาคารนครหลวงไทย โดยไม่มีผลงานเรื่องการพัฒนา หรือการทำธุรกิจธนาคาร
ทั้งนี้ จากข้อมูลของปลัดกระทรวงการคลังในช่วงนั้นให้ข้อมูลว่า นายธานินทร์ ให้นายชัยวัฒน์ เป็นที่ปรึกษาในการบริหารงาน และนายธานินทร์ ตอบแทนโดยสนับสนุนให้นายชัยวัฒน์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโรงแรมสุวรรณภูมิ ในขณะที่นายธานินทร์ เป็นกรรมการ บริษัทการท่าอากาศยาน หรือ AOT นอกจากนี้ นายธานินทร์ ยังเป็นบุคคลที่ คสช. สั่งให้ไปรายงานตัวภายหลังการรัฐประหาร
เมื่อนายชัยวัฒน์ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการไอแบงก์ คนใกล้ชิดนายชัยวัฒน์ มักกล่าวอ้างต่อผู้บริหาร และพนักงานภายในมาโดยตลอดว่า เป็นเพื่อนร่วมรุ่น วปอ.50 กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้รับมอบหมายให้มาเป็นประธานฯ
คลังเกาะติดสถานการณ์แบงก์
รูปแบบการทำงาน นายชัยวัฒน์ จะทำงานเฉพาะที่ปรึกษา 3 คนที่เป็นลูกน้องเก่า ซึ่งไม่มีความรู้ความสามารถอะไร โดยให้เงินเดือนสูงคนละ 200,000 บาท และให้มีอำนาจสั่งการเหนือพนักงาน และผู้บริหารทั้งหมด และทำงานร่วมกับพนักงานระดับ ผอ. 4-5 คน ในการบริหารธนาคารขนาด 1 แสนล้าน เพราะระแวงในตัวผู้บริหารทุกคนของธนาคาร
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังยังวิเคราะห์การทำงานของนายชัยวัฒน์ ว่า มีนโยบายระงับการปล่อยสินเชื่อ แต่ระดมเงินฝาก ส่วนการแก้หนี้ หรือให้สินเชื่อจะให้ที่ปรึกษาเป็นผู้เจรจากับลูกค้า ซึ่งไม่มีความโปร่งใส
ขณะเดียวกัน การแก้หนี้ (TDR) เป็นในลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อลูกค้าบางราย แต่ทำให้ธนาคารเสียหาย เช่น ธนาคารเกิดส่วนสูญเสีย (PV loss) โดยที่ลูกค้ามิได้มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือผ่อนปรนเงื่อนไข เช่น พักเงินต้น และให้ผ่อนแต่อัตรากำไรในอัตราต่ำๆ เพื่อให้ดูเหมือนว่าแก้ไขหนี้ได้ แต่ในอนาคตลูกค้าเหล่านี้ก็จะกลับมาตกชั้นอยู่ดี (re-entry)
“นอกจากนี้ ในลูกค้ารายใหญ่จะกำหนดให้มี third party ทำหน้าที่ Cash monitoring ซึ่งล้วนเป็นพรรคพวกของนายชัยวัฒน์ และเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าในอัตราที่สูง ทำให้ลูกค้าเดือดร้อน และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงโดยไม่จำเป็น แทนที่จะเอาเงินจำนวนนั้นมาชำระหนี้ธนาคาร” แหล่งข่าวกล่าว และว่า ปัจจุบันธนาคารมีผลการดำเนินงานที่แย่ลง หนี้เสีย (NPFs) 49% สินเชื่อหดตัว บางเดือนที่มีกำไรจากสำรองตีกลับ เพราะเกิดจากการแก้หนี้ที่ไม่มีคุณภาพ พนักงานทยอยลาออก สะท้อนว่า แผนการแก้ไขปัญหาไม่สามารถปฏิบัติได้
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาของนายชัยวัฒน์ มี 2 แนวทาง ที่คลังกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แนวทางแรก นายชัยวัฒน์ เชื่อว่าจะหาผู้ร่วมทุนได้ และสอง ตรวจสอบการทุจริตสินเชื่อที่ไม่เกิดรายได้ (NPFs) เพื่อกลบความล้มเหลวการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาสินเชื่อภายในธนาคารได้วางระบบตรวจสอบ และถ่วงดุล (check & balance ) โดยเจ้าหน้าที่สินเชื่อ (RM) เป็นผู้ดูแลลูกค้า ฝ่ายวิเคราะห์ (CM) ทำหน้าที่วิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ และความเสี่ยงด้านต่างๆ และฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อ (CR) พิจารณาก่อนนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตามลำดับชั้น
การพิจารณาว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPFs) นั้นเป็นการทุจริตของพนักงาน หรือกรรมการธนาคารนั้นเป็นการตั้งสมมติฐานที่มิได้อยู่บนมาตรฐานการอำนวยสินเชื่อ หากต้องพิจารณาถึงกระบวนการทำงาน ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงของทางธนาคาร หากแต่มีข้อเท็จจริงบางประการที่ส่งผลต่อลูกค้าโดยตรง นั่นคือ นโยบายธนาคารในสมัยนายธานินทร์ (พ.ย.55-มิ.ย.56) และสมัยนายชัยวัฒน์ (พ.ค.57-ปัจจุบัน) ที่ระงับการปล่อยสินเชื่อใหม่ ชะลอการดูแล หรือเจรจากับลูกค้าเดิม ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อลูกค้าบางราย และทำให้ธนาคารเสียหาย บริหารงานผ่านที่ปรึกษา รวมทั้งไม่มีความสามารถจนเป็นที่ยอมรับของพนักงาน จึงสร้างความเสียหายต่อลูกค้า และธนาคารมากกว่าหรือไม่
“เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่มีลักษณะหมุนเวียนต่อเนื่องต้องถูกระงับ โดยเห็นได้จากสินเชื่อที่ตกชั้นจะเกิดในช่วงของทั้ง 2 คนนี้”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น