วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โรฮิงญา : มรดกความขัดแย้งจากประวัติศาสตร์บาดแผล

โรฮิงญา : มรดกความขัดแย้งจากประวัติศาสตร์บาดแผล

สิ่งแรกที่ต้องขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านก็คือ เราต้องแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความสงสารเห็นใจ ผู้เขียนรู้สึกเห็นใจชาวโรฮิงญาที่ถูกกระทำทารุณกรรม ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยโดยตรงกับชาวโรฮิงญาในหลายโอกาส และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นายกสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทย Mr. Maung Kyaw Nu รวมทั้งมีโอกาสได้ติดตามไปพูดคุยกับชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (ชาวโรฮิงญาส่วนมากประกอบอาชีพขายโรตี) พบว่าคนเหล่านี้ เป็นคนอัธยาสัยไมตรีน่ารัก เป็นมิตรและมีน้ำใจมากๆ

         ในขณะเดียวกันก็พบว่าประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่มาระหว่างปัญหาความขัดแย้ง ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างชาวพม่าและชาวโรฮิงญานั้น (ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น) มีหลายแง่มุมที่ถูกละเลย ไม่นำมากล่าวถึง ซึ่งอาจไม่ค่อยเป็นธรรมกับชาวพม่าส่วนใหญ่ คำถามคือ ประเทศพม่าใจกว้างพอที่จะยอมรับว่ามีชนกลุ่มน้อยในประเทศทั้งสิ้น 135 ชาติพันธุ์ ทำไมจึงจะยอมรับ ชาวโรฮิงญา เพิ่มอีกสักหนึ่งชาติพันธุ์ไม่ได้ ?

         ปกติชาวพม่าซึ่งถูกปกครองจากรัฐบาลอย่างเข้มงวดและมักมีความคิดเห็นทางการ เมืองที่ขัดแย้งกับรัฐบาลตลอด เหตุใดท่าทีของชาวพม่าต่อปัญหาชาวโรฮิงญาจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล? นาง อองซานซูจี ผู้ได้รับการยกย่องจากสังคมโลก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ยังคงมีท่าทีนิ่งเฉยต่อปัญหานี้ทั้งที่ประชาคมโลกกำลังจับตามอง แม้กระทั่งประธานาธิบดีโอบามา ยังหยิบยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาขึ้นมากล่าวในการแสดง สุนทรพจน์เมื่อครั้งที่มาเยือนพม่าเร็วๆนี่

        ในอดีต อาระกันเป็นรัฐอิสระ มีประวัติศาตร์ยาวนาน ร่วมสมัยพุทธกาล แม้หลักฐานที่ขุดค้นได้จะยืนยันการมีอยู่ของเมืองต่างๆในบริเวณนี้ช่วง ประมาณ คริสตศตวรรษที่ 5 เช่นเมือง ธัญวดี (Thandayawaddee) ไวสาลี (Visali)  และ เลมโร (Lemro) ในบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมืองท่าที่สำคัญ เป็นช่องทางการติดต่อค้าขายระหว่างรัฐที่อยู่ภายในทวีปกับรัฐที่อยู่แถบชาย ฝั่ง รูปแบบของรัฐในสมัยโบราณเราจะเห็นว่าล้วนถือกำเนิดภายในทวีปและติดต่อค้าขาย กันไปมาหาสู่โดยเส้นทางบก ต่อเมื่อมีการพัฒนาของเทคโนโลยีการเดินเรือซึ่งสามารถเดินทางได้ไกลมากขึ้น และระยะเวลาน้อยลง รัฐที่อยู่แถบชายฝั่งก็ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอาจจะด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ที่ดีขึ้นจากกิจกรรมการค้าขายเป็นหลัก

         มีหลักฐานชัดเจนว่าชาวอินเดียรวมไปถึงชาวอาหรับได้นำสินค้ามาแลกเปลี่ยนค้า ขายที่อาระกัน อาจมีบางส่วนได้เข้าตั้งรกรากอยู่ที่นี่ พร้อมๆการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม หลักฐานทางโบราณคดีชี้ชัดว่าพื้นที่นี้เดิมเป็นพื้นที่อารยธรรมฮินดูและพุทธ การที่ศาสนาอิสลามได้เริ่มเผยแผ่เข้ามาในคริสตศตวรรษที่ 7 ไม่ได้หมายความว่าชาวอาหรับเป็นบรรพบุรุษของชาวโรฮิงญา เช่นเดียวกับการที่เรามีพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ หรือมุสลิมในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไม่ได้หมายความว่าชาวมุสลิมเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากชาวอาหรับ แต่อย่างใด

        อาระกันคงความเป็นอิสระมาอย่างยาวนาน อาจเป็นเพราะทำเลที่ตั้งมีเทือกเขาอาระกันโยมาเป็นเสมือนปราการธรรมชาติกั้น ระหว่างอาระกันกับพม่าทำให้ยากแก่การโจมตี ประมาณคริสตศตวรรษที่ 15 กษัตริย์อาระกัน พระเจ้านรเมขลา หรือ เมง ซอ หม่อง (Narameikhla, Min Saw Maung, Man Co Mwan) ได้หลบหนีภัยคุกคามในราชสำนักไปหลบภัย และพึ่งพิง อาณาจักรเพื่อนบ้าน คือ เบงกอล อยู่ถึง 24 ปี ก่อนที่จะกลับมาฟื้นฟูอำนาจในปี ค.ศ. 1430 โดยการช่วยเหลือของกษัตริย์เบงกอล (ซึ่งเป็นมุสลิม) และตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ คือ มรัคอู (Mrauk-U)

         ในปี ค.ศ. 1433 กษัตริย์อาระกันยอมอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของเบงกอล อาจเป็นเพราะเคยได้รับความช่วยเหลือจากเบงกอล หลังจากนั้นมีการระบุและจารึกชื่อกษัตริย์อาระกัน ที่เป็นแบบกษัตริย์มุสลิม ควบคู่กับชื่อดั้งเดิม มีการออกเหรียญกาลิมะ (Kalima) ขณะเดียวกันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการว่ากษัตริย์อาระกันได้เปลี่ยน มานับถือศาสนาอิสลามหรือไม่ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาระกัน อาทิ Dr. Jacques P. Leiden ทำการศึกษาและเผยแพร่บทความเรื่อง Buddhist  Kings with Muslim Names : A Discussion on Muslim Influence in the Marauk-U Period ใจความว่ากษัตริย์อาระกันไม่เคยเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามแต่อย่างใด

        หลังจากนั้นอีกหลายรัชกาลที่กษัตริย์อาระกันใช้ชื่อดั้งเดิมควบคู่กับชื่อ มุสลิม ภายหลังอาระกันเข้มแข็งจนสามารถผนวกเบงกอลเข้าเป็นส่วนหนึ่งและก็เลิกใช้ ชื่อที่เป็นแบบมุสลิมควบคู่กัน และเป็นที่แน่ใจว่าหลังจากนั้นกษัตริย์อาระกันนับถือศาสนาพุทธ เพราะมีการสร้างวัดจำนวนมากซึ่งยังคงหลงเหลือเป็นโบราณสถานให้เห็นในสภาพที่ สมบูรณ์มาจนทุกวันนี้

      อาระกันคงความเป็นรัฐอิสระจนถึงปลายปี ค.ศ.1784 ก็พ่ายแพ้แก่กษัตริย์โบดอพญาของพม่าที่คนไทยรู้จักกันในนามพระเจ้าปดุงพร้อม อัญเชิญ พระมหามัยมุณี จากมรัคอูไปยังเมืองอมรปุระ(ปัจจุบันคือชานเมืองมัณฑเลย์ ชาวพม่านับถือพระมหามัยมุณีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเหมือนที่ ชาวไทยนับถือพระแก้วมรกต) อาระกันถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าเหมือนการผนวกล้านนาหรือเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของสยาม

        แต่ 40ปี หลังจากนั้นพม่าแพ้สงครามอังกฤษในสงคราม  Anglo-Burmese War ครั้งที่ 1 พม่าเสียอาระกันไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พม่ารบกับอังกฤษ สามครั้ง จนครั้งสุดท้ายทั้งประเทศก็ตกเป็นรัฐในอาณานิคมของอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1885 ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พม่ามีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของบริติชอินเดีย (British India) พื้นที่อาระกันเดิมกับเบงกอล ซึ่งอยู่บริเวณชายขอบของบริติชอินเดียเดิมกับพม่านั้น ผู้คนก็ไปมาหาสู่ กันอย่างเป็นอิสระเพราะได้กลายมาเป็นประเทศเดียวกัน ทั่วทั้งประเทศพม่าก็มีคนอินเดียอพยพเข้ามาเป็นแรงงานจำนวนมาก เหมือนกับการอพยพของชาวจีนเข้ามาเป็นแรงงานในสยามยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น คนอินเดียส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นนายทุนปล่อยเงินกู้ ภายหลังก็เข้าครอบครองพื้นที่ที่แต่เดิมเป็นของชาวพม่าที่ไม่สามารถไถ่ถอนได้ คนพม่าจึงรู้สึกไม่ค่อยชอบคนอินเดียมานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

         อังกฤษใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง ส่งเสริมให้คนกลุ่มน้อย ได้รับการศึกษา อาทิ กะเหรี่ยง คะชิ่น ซึ่งจำนวนมากหันมานับถือศาสนาคริสต์ อังกฤษ ใช้คนกลุ่มน้อยเหล่านี้เป็นทหาร ตำรวจ ปกครองคนพม่าซึ่งเป็นคนหมู่มากของประเทศ ส่วนชาวไทใหญ่หรือ ฉาน อังกฤษให้คงระบบเจ้าฟ้าปกครองกันเอง กระแสขัดแย้งไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยกับคนพม่าก็ หยั่งรากลึกสืบเนื่องเป็นปัญหามาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อตอนอังกฤษปกครองพม่านั้นได้มีการสำรวจจำนวนประชากรซึ่งทำได้ละเอียดตาม มาตรฐานอังกฤษ เป็นที่น่าสังเกตว่าผลสำรวจของอังกฤษประชาชนที่อยู่ในรัฐอาระกันขณะนั้นมี ผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่น้อยกว่าผู้นับถือศาสนาพุทธมากกล่าวคือมีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนหลักร้อยเท่านั้นเอง ในขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนนับล้านคนเลยทีเดียว

        พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษกว่าร้อยปี ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีกลุ่มนายทหาร 30 นาย (30 Comrades) นำโดย อองซาน เคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษ เพื่อแยกตัวเป็นอิสระภาพ โดยการชักนำและช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่นในการขับไล่อังกฤษ ในช่วงเวลานี้เองที่กองทัพอังกฤษซึ่งถอยร่นไปอยู่ในอินเดีย ได้ติดอาวุธให้กับชาวมุสลิมในรัฐอาระกันเพื่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น แม้ภายหลัง อองซานจะกลับลำหันมาสนับสนุนอังกฤษอีกครั้งเมื่อพบว่าการตกอยู่ใต้อำนาจกอง ทัพญี่ปุ่นอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่า ประเด็นนี้ผู้เขียนได้สอบถามชาวโรฮิงญาที่อยู่ในเมืองไทยซึ่งได้เล่าให้ฟัง ว่าสมัยเด็กคุณปู่ของเค้าเคยนำปืนที่ได้จากกองทัพอังกฤษมาให้ดูเป็นการยืน ยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง และนี่อาจจะเป็นปมที่ทำชาวพม่ามองชาวมุสลิมในรัฐอาระกัน ว่าเป็นคนละพวกกับตนเอง(ตามทัศนะผู้เขียน)

        ก่อนหน้าที่พม่าจะได้รับอิสระภาพจากอังกฤษ นายพล อองซาน ได้เชิญตัวแทนชนกลุ่มน้อยต่างๆประชุมกันที่เมืองปางโหลง มีการลงชื่อในสนธิสัญญาปางโหลงเป็นข้อตกลงระหว่างพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ใน การที่จะรวมตัวกันเป็นสหภาพก่อนเมื่อได้อิสระภาพจากการเป็นอาณานิคม รายละเอียดจะไม่ขอกล่าวถึง แต่จะขอตั้งข้อสังเกตุว่า ชนกลุ่มน้อยจากอาระกันไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม นขณะที่กะเหรี่ยงปฏิเสธตั้งแต่ต้นที่จะไม่เข้าร่วมเพราะต้องการที่จะแยกตัว เป็นอิสระทันทีที่ได้รับอิสระภาพ

        แม้ว่าผู้นำในการเรียกร้องเอกราช นายพล อองซาน จะถูกลอบสังหารก่อนที่อังกฤษจะให้อิสระภาพแก่พม่าในปี 1948 อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น ในปี1947 อังกฤษได้ให้อิสระภาพแก่อินเดีย หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างผู้นับถือศาสนาฮินดูกับผู้ นับถือศาสนาอิสลามในอินเดียจนต้องแยกออกเป็นประเทศปากีสถานตะวันออก (ต่อมาคือบังคลาเทศ) และปากีสถานตะวันตก (ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) ชาวมุสลิมในรัฐอาระกันต้องการที่จะเอาอย่างจึงได้เรียกร้องที่จะขอเป็นส่วน หนึ่งของปากีสถานตะวันออก แต่ผู้นำปากีสถานขณะนั้นปฎิเสธ อย่างไรก็ตามได้มีการเคลื่อนไหวกันเองในการแบ่งแยกดินแดนโดยตั้งเป็นขบวนการ มูจาฮีดีน ซึ่งรัฐบาลพม่าต้องส่งกำลังเข้ามาปราบปราม

         ภายหลังพม่ามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง อูนุ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยบุคลิกแบบนักการเมืองที่มีความประนีประนอมสูง อูนุได้ผลักดันให้มีการตั้งเขตปกครองพิเศษขึ้น (Mayu Frontier Administrative หรือ MFA)ในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณสามจังหวัดทางตะวัน ตกของรัฐอาระกัน ในช่วงเวลานี้ชาวมุสลิมในรัฐอาระกันได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองพม่า มีบัตรประชาชน มีรายการวิทยุออกอากาศเป็นภาษาของตนเอง เข้าใจว่าคงคล้ายๆ กับ BBC ของอังกฤษ ซึ่งพม่าเรียกว่า BBS (Burma Broadcasting Service) ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเองก็มีการตั้งสมาคมนักศึกษาชาวโรฮิงญา แบบเรียนต่างๆก็มีการกล่าวถึงการมีตัวตนอยู่ของชาวโรฮิงญา

         แต่แล้วเหตุการณ์ที่เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปัญหาที่แท้จริง(ในทัศนะผู้ เขียน)ก็เกิดขึ้น เมื่อ นายพลเนวิน ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1962 เมื่อนายพลเนวินซึ่งเป็นทหารอาชีพมองว่านโยบายประนีประนอมของ อูนุ อาจจะทำให้ประเทศต้องถูกแบ่งเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย (นายพลเนวินเป็นหนึ่งในกลุ่มสามสิบนายทหารเช่นเดียวกับอองซาน) นายพลเนวินมีทัศนะคติที่ตรงข้ามกับอูนุอย่างสิ้นเชิง เนวินปกครองประเทศด้วยอำนาจทหารอย่างเด็ดขาด

        ในทัศนะเนวินอาจมองชาวมุสลิมโรฮิงญาว่าเป็นตัวก่อปัญหา ต้องการแบ่งแยกเป็นรัฐอิสระ(ขณะนั้นก็ยังสู้รบกันอยู่) เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เนวินยกเลิกเขตปกครองพิเศษ ยกเลิกรายการวิทยุ ยกเลิกสิทธิความเป็นพลเมือง ออกกฏหมายเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองขึ้นใหม่ จำกัดสิทธิ์ เพราะเชื่อว่าชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากบังกลาเทศไม่น่าจะเป็นคน พื้นเมืองในรัฐอาระกันที่โดยมากนับถือศาสนาพุทธ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยกว่า 25 ปี เล่าให้ฟังว่า ทางการพม่ามาขอเอกสารต่างๆทั้งทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนไป โดยอ้างว่าจะทำการออกให้ใหม่ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการออกเอกสารใดๆให้ อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเลือกตั้ง ทางการจะออกบัตรแสดงตนเพื่อให้สามารถไปเลือกตั้งได้ โดยด้านหลังจะระบุข้อความภาษาพม่ามีความหมายทำนองว่า ผู้ถือบัตรนี้ไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในการเป็นพลเมืองพม่าได้

         กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ และความเป็นพลเมืองพม่าร่างขึ้นใหม่และประกาศใช้ในปี ค.ศ.1982 แทนฉบับเดิมปี ค.ศ.1948 (แก้ไขเพิ่มเติมปี 1960) กฎหมายฉบับใหม่มีความสลับซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก มีบทบัญญัติที่ละเอียดและมีความยาวแยกเป็น 8 หมวด 76 ข้อ ในขณะที่กฎหมายเดิมมีเพียง 23 ข้อเท่านั้น

        เมื่อไม่ได้อยู่ในสถานะพลเมือง สิทธิต่างๆย่อมไม่เทียบเท่ากับพลเมือง ไม่สามารถแต่งงานกัน หรือ มีบุตรได้ หากไม่ได้รับอนุญาต จากทางการ การประกอบกิจการ หรือทำงานต่างๆมักจะถูกผู้เป็นนายจ้างเอาเปรียบ ได้ค่าแรงน้อยกว่าชาวพม่าทั่วไป และโดยมากต้องทำงานหนัก สกปรก หรือเสี่ยงอันตราย ชายชาวโรฮิงญาส่วนมากจึงดิ้นรนที่จะหลบหนีเพื่อที่จะไปทำงานยังต่างแดน มีจำนวนไม่น้อยที่จบชีวิตลงกลางทะเล ไปไม่ถึงจุดหมายโดยที่ครอบครัวเองไม่มีโอกาสได้รับรู้

         ชาวอาระกันที่นับถือศาสนาพุทธนั้นสามารถหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกับชาวพม่า ได้ไม่ยากนัก อาจเป็นเพราะมีศาสนาเป็นสิ่งเชื่อมโยง กล่าวคือมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ในขณะที่ชาวมุสลิมโรฮิงญานอกจากความแตกต่างทางศาสนาแล้ว การไม่ได้รับสิทธิ์ความเป็นพลเมืองยิ่งตอกย้ำให้เกิดการแบ่งจำพวกของคนใน สังคมอย่างชัดเจน

         ความขัดแย้งระลอกล่าสุด ที่กลายเป็นชนวนให้เกิดความบาดหมาง ร้าวลึก ระหว่างชาวโรฮิงญาและชาวพม่า ได้พัฒนาเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาพุทธและผู้นับถือศาสนาอิสลาม กล่าวคือ มีรายงานข่าวว่าหญิงชาวพุทธถูกทารุณ ข่มขืนและฆาตกรรม โดยชายมุสลิม 3 คน ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2012 เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไป ได้สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวพม่าเป้นจำนวนมาก

        แม้เจ้าหน้าที่จะจับตัวผู้กระทำความผิดได้ก็ตาม ในวันที่ 3 มิถุนายน 2012 ชาวพม่าในเมืองตองอัพได้บุกขึ้นไปบนรถบัสที่มีชาวมุสลิมร่วมเดินทาง นำตัวชาวมุสลิมบนรถบัส 10 คน ลงมาสังหาร โดยทั้งสิบคนไม่เกี่ยวข้องใดๆกับเหตุการณ์ข่มขืนที่เกิดขึ้น

         และเมืองที่เกิดเหตุก็อยู่ห่างออกไปนับร้อยกิโลเมตร หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็ลุกลามใหญ่โต ชาวพุทธและมุสลิมต่างโกรธแค้นซึ่งกันและกัน มีการทำร้ายร่างกาย ทรัพย์สิน มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ เกิดการเดินขบวนประท้วงตามบริเวณต่างๆรวมทั้งที่ ย่างกุ้งด้วย แม้กระทั่งพระสงฆ์ก็ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีการขับไล่ชาวโรฮิงญาออกไป จากประเทศเพราะไม่ใช่ชาวพม่า 

        เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดรัฐจึงไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อการแสดงออกของพระสงฆ์ในกรณีนี้ แตกต่างจากกรณีที่พระสงฆ์ทั่วประเทศออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลพม่า ในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยกำลังทหาร หรือกรณีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มพระสงฆ์ที่ประท้วงการให้สัมปทานทำเหมือง ผลิตแร่ทองแดงแก่บริษัทจากประเทศจีนของรัฐบาลพม่าเมื่อเร็วๆนี้

         สถาบันพระสงฆ์ของพม่ามีอิทธิพลทางความคิดต่อชาวพม่าเป็นอย่างสูงมาแต่ไหน แต่ไร ด้วยความที่ชาวพุทธในพม่ายังคงยึดมั่นศรัทธาในพุทธศาสนาซึ่งเป็นเครื่องยึด เหนี่ยวสิ่งเดียวที่คงเหลืออยู่ เนื่องจากสถาบันกษัตริย์สิ้นสุดลงตั้งแต่ ปี ค.ศ.1885 พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองในพม่ามาโดยตลอด นับตั้งแต่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ผู้สนใจบทบาทพระสงฆ์ในพม่าสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในเรื่องของ ซายะซัน (Zaya San) หรือ อู อุตะมะ (U Utama) จะเข้าใจบทบาทของสงฆ์ในพม่าได้มากยิ่งขึ้น

        การเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมออนไลน์ในพม่า อีกเป็นชนวนเหตุหนึ่งที่โหมกระพือไฟแห่งความโกรธแค้นชิงชังให้รุนแรงและรวด เร็วขึ้น มีการส่งต่อข้อความที่แสดงออกถึงความเกลียดชังอย่างมากจากทั้งสองฝ่าย ฝั่งโรฮิงญาพยายามอ้างถึงหลักฐานต่างๆมาสนับสนุนแนวคิดที่ว่าบรรพบุรุษชอง พวกเค้าเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ คริสตศตวรรษที่ 7 มีอาณาจักรเป็นของตนเอง มีพระราชาที่นับถือศาสนาอิสลาม บางครั้งการอ้างถึงหนังสือหรือบทความต่างๆ แต่ก็ไม่ได้อธิบายหรือยกข้อความมาทั้งหมด หากแต่เลือกมาเฉพาะส่วนที่สามารถตีความหมายที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายของตนเอง ไม่ต่างจากฝ่ายชาวพุทธที่นำเสนอหลักฐานซึ่งไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ เชื่อได้ เช่นการโยงชาวโรฮิงญาเข้ากับกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความอันตรายอย่างยิ่ง ผู้รับข่าวสารที่มีจิตใจฝักใฝ่เลือกที่จะเชื่อหลักฐานจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดย ไม่ได้ไตร่ตรองหรือใช้ตรรกะอย่างเหมาะสมจะเชื่อเสมอว่าฝ่ายตนเป็นผู้ ถูกกระทำ และพร้อมที่จะตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง

         ปัญหาชาวโรฮิงญานี้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประชาคมโลก ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากการอพยพหลบหนีเข้ามาพึ่งพาอาศัย เราจะต้องช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม เท่าที่เราจะสามารถทำได้โดยไม่เดือดร้อนตัวเองมากนัก ขณะเดียวกันก็สมควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องมองดูสังคมของเราผ่านมิติแห่งความขัดแย้งของโรฮิงญาให้ดีว่า สังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และไม่พยายามที่จะประนีประนอมทำความเข้าใจกันด้วยเหตุและผล  การเลือกที่จะเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ถูกกับจริตของตนเองโดยขาดการตรึกตรองให้ ครบถ้วนทุกแง่มุมนั้น อาจนำมาซึ่งความหายนะแก่สังคมและประเทศชาติของเรา เฉกเช่นเดียวกับความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวพม่าและโรฮิงญาในปัจจุบัน

References
Aye Chan, The Development of a Muslim Enclave in Arakan State of Burma, 2005, SOAS Retrieved November 1, 2011
D.G.E. Hall, Burma, Hutchison & Co. Ltd., London, 1960.
Khin Maung Saw, Islamization of Burma Through Chitagong Engaleses as “Rohingya Refugee”. September 2011
Myint U Thant, The River of Lost of Footstep:Historiesof Burma. Farrar,Straus, and Giroux, 2006
Muhamed Ali Chowdhury, Bengal-Arakan Relations (1430-1666 A.D.), Firma KLM, Kolkata, 2004.
Mohamed Ali Chowdhury.The advent of Islam in Arakan and the Rohingya, presented at the Seminar organised by Arakan Historical Society at Chittagong ZilaParishad Hall, Chittagong, on December 31, 1995.
Moshe Yegar, The Crescent in Arakan, online article can be reached at http://www.rohingya.org/portal/index.php/rohingya-library/26-rohingya-history/82-the-crescent-in-arakan.html
Pamela Gutman,Burma’s Lost Kingdoms:Splendours of Arakan,Orchid Press, Bangkok, 2001.
Phayre Authur Purves, Sir, History Of Burma Including Burma Proper Pegu,
Taungu, Tenasserim and Arakan, From The Earliest Times To The End Of The First War With British India,Bailantyne, Handson And Co., London, 1883.
Sunait Chutintaranond and Chris Baker, Recalling Local Pasts:Autonomous History in Southeast Asia, Silkworm Books, Chiang Mai, 2002.
Tin MaungMaung Than and Moe Thuzar, Myanmar’s Rohingya Dilemma,ISEAS Perspective, Singapore, July 9, 2012
U ShweZan, The Golden Mrauk-U An ancient Capital of Rakhine,Yangon, 1994.
William Slim, Defeat Into Victory: Battling Japan in Burma and India, 1942-1945. London 2009.
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม