วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

‘ซัมซามิน’ บุกปัตตานีย้ำไทยสงบเดินหน้าคุย – ตัวแทนขบวนการชูดอกชบา ‘สัญลักษณ์สันติภาพปาตานี

‘ซัมซามิน’ บุกปัตตานีย้ำไทยสงบเดินหน้าคุย – ตัวแทนขบวนการชูดอกชบา ‘สัญลักษณ์สันติภาพปาตานี
ดาโต๊ะ ซัมซามิน คนกลางฝ่ายมาเลเซียเยือนปัตตานี ย้ำเมื่อการเมืองไทยสงบ การพูดคุยสันติภาพปาตานีเดินหน้าต่อ เผยพูโลตั้งตัวแทนพร้อมร่วมโต๊ะ นักวิชาการมาเลย์ย้ำสองฝ่ายต้องไว้ใจกัน คนปาตานีต้องตอบให้ได้ต้องการอะไร ตัวแทนทหารวอนอย่าทำลายความหวังคนในพื้นที่ แนะต้องกำหนดการพูดคุยในรัฐธรรมนูญ
ปลูกต้นสันติภาพ - ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพได้ร่วมปลูกต้นดอกชบาใกล้กับบริเวณจัดงานมหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพปาตานี
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซียในคณะทำงานร่วมเพื่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (JWG-PDP) ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนฝ่ายขบวนการต่อสู้ในพื้นที่ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สันติสนทนาและกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี: หนึ่งปีที่ผ่านมาและอีกหลายปีต่อจากนี้”
การปาฐกถาดังกล่าว มีขึ้นในงานมหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี [PPP 101: 10 ปี ความรุนแรง, 1 ปี สนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี" มีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน
ซัมซามินย้ำการเมืองไทยสงบ พูดคุยเดินหน้าต่อ


ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพในการปาฐกถา
ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม กล่าวในการปาฐกถาว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้หลายคนสรุปว่า การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ BRN ล้มเหลว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
“การพูดคุยสันติภาพที่หยุดชั่วคราวในตอนนี้ เนื่องจากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกับรัฐบาลอยู่ในฐานะรักษาการ จึงไม่สามารถดำเนินการพูดคุยสันติภาพที่เป็นทางการได้ แต่ผมมองในแง่ดีว่า เมื่อรัฐบาลไทยสามารถแก้ปัญหาที่กรุงเทพมหานครได้ การพูดคุยสันติภาพก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้” ดาโต๊ะซัมซามิน กล่าว
ดาโต๊ะซัมซามิน กล่าวต่อไปว่า การที่มาเลเซียเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพถูกกล่าวหาว่ามาเลเซียมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่นั้น ตอบว่าใช่ แต่วาระของมาเลเซียคือต้องการเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างรัฐกับขบวนการ BRN และเพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพที่มีความครอบคลุมและเที่ยงธรรม ซึ่งข้อตกลงสันติภาพที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในปาตานี ร่วมถึงมาเลเซียด้วย
เผยพูโลตั้งตัวแทนแล้ว พร้อมร่วมโต๊ะ
ดาโต๊ะซัมซามิน เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานีหรือขบวนการพูโล ทั้ง 3 กลุ่มได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อที่จะเข้าร่วมการการพูดคุยสันติภาพนี้ด้วย นอกจากยังมีแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามปาตานี หรือขบวนการบีไอพีพีก็มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมการเจรจาด้วย
หลังการปาฐกถา ดาโต๊ะซัมซามิน ได้ร่วมปลูกต้นดอกชบาในบริเวณนอกอาคารคณะวิทยาการสื่อสาร ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณงานมหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมกิจกรรมในงานมหกรรมดังกล่าวด้วย
จากนั้นเป็นการเปิดเวทีสันติเสวนาพิเศษ: “หนึ่งปีที่ผ่านมาและก้าวต่อไปของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” โดยมีศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร ศ.ดร.กามารุซามัน อัสกันดาร์ มหาวิทยาลัยซายน์มาเลเซียประเทศมาเลเซีย พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล
นักวิชาการมาเลย์ย้ำสองฝ่ายต้องไว้ใจกัน
ศ.ดร.กามารุซามัน อัสกันดาร์ จากมหาวิทยาลัยซายน์มาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า แม้ว่าระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของการพูดคุยเพื่อสันติภาพยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็อย่ายอมแพ้และไม่ควรมีทัศนะคติที่แพ้ เพราะการแก้ปัญหาและหาทางออกในด้านบวกอย่างยั่งยืนนั้นจะรีบร้อนไม่ได้ และดำเนินไปอย่างระมัดระวัง ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน
“ความไว้วางใจของกลุ่มที่เข้าร่วมการพูดคุยด้วยนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ กระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ใช้เวลาในการพูดคุยสันติภาพได้ไม่นาน เพราะทั้งสองฝ่ายมีความไว้วางใจสูงอยู่แล้ว จึงทำให้การพูดคุยสันติภาพเดินไปได้อย่างไม่สะดุด”
คนปาตานีต้องตอบให้ได้ต้องการอะไร
ศ.ดร.กามารุซามัน ตอบคำถามที่ว่าปัญหาของการพูดคุยสันติภาพปาตานีคืออะไรว่า ทุกอย่างเป็นปัญหาของปาตานี การเมืองส่วนกลางของไทยที่ไม่มีเสถียรภาพก็ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องสร้างความแกร่งในพื้นฐานให้ได้ โดยพื้นที่ต้องคำตอบให้ได้ว่าคนปาตานีทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ต้องการอะไร ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่คนปาตานีต้องตอบด้วยตัวเอง คนนอกจะมาตอบให้ไม่ได้
ศ.ดร.กามารุซามัน กล่าวด้วยว่า ในการแก้ปัญหาของพื้นที่ควรแนวทางจัดการปัญหาอยู่ 3 ประเด็น คือประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และการไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพอย่างไร จึงต้องมีการหารือในเรื่องนี้ให้มาก
ศ.ดร.กามารุซามัน กล่าวว่า ถ้ามีกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นก็สามารถเรียกร้องผ่านกระบวนการนี้ได้ จะให้เป็นข้อบังคับที่ห้ามไม่ให้ใช้ความรุนแรงก็ได้ แต่บางครั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่อาจจะเกิดจากฝ่ายอื่นก็ได้
ไม่ต้องรีบ แต่ต้องสร้างความไว้วางใจ
ศ.ดร.กามารุซามัน กล่าวว่า การยึดกระบวนการสันติภาพจะสามารถทำให้แก้ปัญหาเป็นไปได้ทุกอย่าง แต่เนื่องจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีเพิ่งเริ่มต้นปีแรกเท่านั้น และแม้ว่าในปีแรกนี้ก็เป็นเพียงการพูดคุยอภิปรายประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ซึ่งอาจจะไปทางขวางบ้าง ซ้ายบ้าง ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่เป็นการสร้างความไว้วางใจกันซึ่งกันและกัน
“ตอนนี้เราเร่งรีบมากเกินไป แต่ความคิดเห็นทั้งหมดยังไม่ได้รับพิจารณาจึงทำให้เป็นปัญหาต่อการเดินหน้าในการพูดคุย ดังนั้นจึงไม่ควรเร่งรีบมากเกินไปในการแก้ปัญหาเพื่อหาทางออก” ศ.ดร.กามารุซามัน กล่าว
ศ.ดร.กามารุซามัน กล่าวว่า ตอนนี้ต้องสร้างความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สองฝ่ายเท่านั้น แต่ต้องสร้างความไว้วางใจกันหลายๆฝ่าย และต้องสร้างความเชื่อมโยงกันทั้งคนในปาตานีและนอกปาตานี และคนทั้งหมดในปาตานีทั้งหมดต้องอยู่ในกระบวนการพูดคุยด้วย ส่วนมาเลย์ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน โดยหวังอย่างยิ่งว่า กระบวนการพูดคุยต้องดำเนินไปและต้องดีขึ้น
วอนอย่าทำลายความหวังคนในพื้นที่
พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการประสานการปฏิบัติที่5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมาของการพูดคุยเพื่อสันติภาพฝ่ายความมั่นคงให้การสนับสนุน เพราะเป็นหลักสากลของการแก้ปัญหาความขัดแย้งซึ่งทุกอย่างต้องจบลงที่การพูดคุย
“กระบวนการพูดคุยที่ผ่านมาเริ่มต้นมาจากการบีบบังคับ จึงทำให้การพูดคุยหยุดไปบ้าง ซึ่งที่จริงแล้วการพูดคุยต้องเริ่มจากด้านล่าง คือต้องสร้างความสนิทสนมกันก่อนเพื่อสร้างบรรยากาศการคุย แล้วจึงเริ่มพูดคุยสันติภาพ” พล.ต.นักรบ กล่าว
พล.ต.นักรบ กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าคนที่อยู่บนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ มีสิทธิแค่ไหนในการตอบคำถาม ในขณะที่คนในพื้นที่ต่างก็ให้ความหวังกับคนที่ไปเจรจาบนโต๊ะ แต่เมื่อพูดคุยไปแล้วไม่ได้อธิบายให้สาธารณะก็ทำให้ความหวังของคนที่รอข่าวอยู่ รู้สึกไม่ได้อะไรเลย
พล.ต.นักรบ กล่าวว่า ในการพูดคุยสันติภาพต้องทำความเข้าใจถึงความคาดหวังจากพื้นที่ด้วย เพราะกระบวนการพูดคุยครั้งนี้เริ่มต้นผิดขั้นตอน ทั้งนี้เพราะตัวแทนกลุ่มที่เจรจาบนโต๊ะนั้น ไม่รู้ว่าเป็นตัวแทนที่มาจากทุกกลุ่มหรือเปล่า เพราะกลุ่มคนที่สร้างความไม่สงบในภาคใต้มีเยอะ
ต้องกำหนดการพูดคุยในรัฐธรรมนูญ
พล.ต.นักรบ กล่าวว่า กระบวนการสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติได้ แต่ที่ผ่านมาวาระดังกล่าวประกาศโดยรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีหลายรัฐบาล มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยจึงทำให้ลำบากในการสานต่อนโยบายเพื่อให้การแต่ปัญหาตามวาระดังกล่าวเป็นไปต่อเนื่อง เพราะการประกาศโดยรัฐบาลก็ทำให้ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย จึงทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งต่างจากกระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ที่มีการประกาศในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำตามนั้น
พล.ต.นักรบ กล่าวว่า กระบวรการพูดคุยเพื่อสันติภาพฝ่ายความมั่นคงสนับสนุนเต็มที่ หากทำแล้วได้ผลก็ต้องไปด้วยดี เพราะจะเกิดผลต่อความมั่นคงทั้งสิ้น
สันติภาพปาตานีต้องเป็นบทเรียนให้โลก
ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก จากมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปด้วยว่า คู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายควรจับมือกันเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่เอาแต่เรื่องการเมือง แต่ใช้การพูดคุยสันติภาพมาแก้ปัญหาทุกปัญหา ซึ่งเริ่มต้นที่การพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน เพื่อเป็นเป็นบทเรียนให้ที่อื่นในโลกได้ด้วย ส่วนคนที่เป็นผู้นำระดับชาติ แม้ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพก็ควรมาสนับสนุนด้วย
ศ.ดร.ดันแคน กล่าวว่า ขอเรียกร้อง 5 ข้อของฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นหากจะให้นำเข้าพิจารณาในรัฐสภาด้วยนั้น คิดว่ายังเป็นไปไม่ได้เพราะเป็นเพียงความฝันเท่านั้น การนำข้อเสนอของขบวนการเข้าสภานั้นยังเร็วเกินไป เช่นเดียวกับข้อเสนอของฝ่ายรัฐไทยที่ขอจากฝ่ายขบวนการด้วย 5 ข้อก็เร็วเกินไปเหมือนกัน
มาเลย์ต้องอยู่การพูดคุยจึงจะสำเร็จ
ศ.ดร.ดันแคน กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยตอนนี้ คิดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะคุยกันได้ ส่วนการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยการเจรจานั้น ฝ่ายรัฐบาลต้องมีความคิดเห็นที่ตรงกันกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อน
ศ.ดร.ดันแคน กล่าวว่า ส่วนกรณีที่คนนอกพื้นที่สงสัยว่ามาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น ถ้าไม่มีมาเลเซียมาเป็นคนนำร่วมเพื่อสร้างสันติภาพก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กระบวนการพูดคุยที่ตั้งในมาเลเซียนั้นถือว่าดีที่สุดแล้ว หากไม่ใช่มาเลเซียการดำเนินงานไปก็ไม่สำเร็จ แม้ว่าการเริ่มต้นของการพูดคุยไม่เกิดขึ้นอย่างดีที่สุดก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มีการเดินหน้าไปแล้วโดยการอนุมัติของทั้งสองประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาโดยการพูดคุยของที่นี่ยังดีกว่ากระบวนการพูดคุยของที่อื่นด้วย
สร้างกลไกที่หลากหลาย ทุกฝ่ายยอมรับ
ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า หัวใจของการลดปัญหาความรุนแรง คือต้องลดเงื่อนไขความรุนแรงทุกรูปแบบ ต้องใช้สันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งนโยบายการพูดคุยเพื่อสันติภาพนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบจึงเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว แต่ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้นจำเป็นที่ทุกคนต้องมีหน้าที่เป็นกลไกในการพูดคุยที่หลากหลาย เพื่อเป็นหลักประกันให้ทุกฝ่ายยอมรับ
“10 ปีเราสูญเสียมามากพอแล้ว เราควรหันมาใช้สันติวิธีในการพูดคุยทำความเข้าใจต่อไปในภาวะที่มีความซับซ้อนเช่นนี้ แม้เราไม่มั่นใจว่าปัญหาจะแก้ได้หรือไม่ก็ตาม” ผศ.ปิยะ กล่าว
 “อาบูฮาฟิส” ตัวแทนร่วมโต๊ะส่งคลิปแถลง
ทั้งนี้ระหว่างการเสวนาเจ้าหน้าที่ได้เปิดฉายคลิปวิดีโอที่มีภาพของ “อาบูฮาฟิส อัลฮากีม” ซึ่งระบุว่าเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนการพูดคุยสันติภาพในฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นด้วย พร้อมกันนี้ในที่เสวนามีการแจกเอกสารคำแถลงดังกล่าวซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยให้ผู้เข้าร่วมด้วย
ย้ำ“สู้กับระบอบอาณานิคม ชาวไทยไม่ใช่ศัตรู”
โดยอาบูฮาฟิส กล่าวว่า “เราต่อสู้กับระบอบอาณานิคมของไทยเท่านั้น ขณะที่ชาวไทยหาได้เป็นศัตรูของเราไม่ ... เราเลือกการต่อสู้ด้วยกาลังอาวุธ ก็เพราะว่าในอดีตรัฐไทยไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับชะตากรรมของประชาชนเลย บรรดาผู้นาของเราในอดีตซึ่งต่อสู้ผ่านรัฐสภาหรือการเรียกร้องบนหลักการสิทธิมนุษยชนก็มักต้องประสบกับการถูกจับกุมหรือไม่ก็ถูกคุมขัง บางคนยังถูกฆาตกรรมหรือต้องหลบหนีลี้ภัยในต่างแดน ที่น่าเศร้าก็คือสถานการณ์เหล่านั้นก็ยังคงดารงอยู่ในทุกวันนี้”
เผยเบื้องหลัง วงเจรจาในอดีตล้มซ้ำซาก
อาบูฮาฟิส กล่าวว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของนักต่อสู้ปาตานีไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ก็เคยเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีรัฐบาลบางประเทศและองค์กรเอกชนบางกลุ่มทำหน้าที่ประสานงาน ซึ่งดำเนินการอย่างปิดลับและมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนและการมีอำนาจที่ได้รับมอบหมายชัดเจนหรือชอบธรรมเพียงพอ
อาบูฮาฟิส กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าสู่โต๊ะพูดคุยด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน จุดประสงค์ของบรรดานักต่อสู้หมายจะประเมินความจริงใจและความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของรัฐไทย ส่วนฝ่ายไทยก็เข้ามาเพียงเพื่อหาข่าวกรองและแสวงหาหนทางที่จะยุติความรุนแรง ไม่มีการยอมรับสถานะของบรรดานักต่อสู้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาก็ยังถูกมองว่าเป็นเพียงผู้ก่อการร้าย
เข้าร่วมคุยเพราะหวังทางเลือกที่ไม่ใช้อาวุธ
อาบูฮาฟิส กล่าวว่า กระบวนการสันติภาพครั้งนี้เริ่มต้นอย่างเปิดเผย ถือเป็นครั้งแรกที่กระบวนการสันติภาพปาตานีได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากประชาคมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ถึงแม้ถูกผูกมัดให้อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย แต่เราก็ได้เข้าร่วมพูดคุยเพื่อค้นหาทางเลือกอื่นที่นอกเหนือไปจากการใช้กำลังอาวุธ เพื่อให้ได้มาทางออกของความขัดแย้งปาตานีที่มีความยุติธรรม ความรอบด้านและความยั่งยืน
ทิ้งท้าย “ดอกชบา สัญลักษณ์แห่งสันติภาพปาตานี”
อาบูฮาฟิส ยังได้กล่าวทิ้งท้ายของแถลงการณ์ครั้งนี้ด้วยว่า “วันนี้ เรามาพร้อมดอกชบาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ โดยไม่พกพาอาวุธใดๆ สงครามได้ปะทุขึ้นที่ปาตานี และที่ปาตานีนี่เองที่สันติภาพจะก่อเกิดขึ้น สมฉายานามปาตานี ดารุสลาม คือ ปาตานี ดินแดนแห่งสันติภาพ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม