จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ทำการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องในพื้นที่ ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส บริเวณถนน ณ นคร จำนวน 3 จุด ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวของโจรใต้ฟาตอนีในวันนั้นได้สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายเป็นวงกว้างอีกทั้งได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก
จากเหตุระเบิด 3 จุด ซึ่งจุดที่ 1 กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้ลูกระเบิดชนิดขว้าง ได้ขว้างเข้าไปในร้านต้นท้อน แต่โชคดีระเบิดไม่ทำงาน จุดที่ 2 ได้ทำการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องซุกซ่อนในรถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก มิตซูบิชิ สตราดา บริเวณหน้าร้านโดโด้คาราโอเกะ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 2 นาย และประชาชนได้รับบาดเจ็บ 15 คน จุดที่ 3 โจรใต้ฟาตอนี ได้ทำการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องซุกซ่อนในรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ เอส 125 สีเทา-ดำ บริเวณหน้าร้านติ๊กหมูกระทะ เจ้าหน้าที่ EOD สามารถเก็บกู้ไว้ได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสได้สนธิกำลังร่วม 3 ฝ่ายทำการติดตามจับกุมและปฏิบัติตามกฎหมายต่อผู้ต้องสงสัยเหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง ถนน ณ นคร อำเภอเมืองจังหวัดนราธิวาส จำนวน 4 เป้าหมายด้วยกัน คือ
- 1) หอพักบริเวณเยื้องโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
- 2) หอพักนักศึกษาบริเวณกำปงตาโก๊ะ
- 3) หอพักนักศึกษาบริเวณวิทยาลัยสารพัดช่าง
- 4) หอพักนักศึกษาซอยนรากุล
ผลการปฏิบัติเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 11 คน เป็นนักศึกษา 4 คน และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติมอีก 2 คน รวมทั้งสิ้นที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 13 คน โดยอาศัยกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ส่งตัวบุคคลต้องสงสัยทั้งหมดไปทำการควบคุมตัวเพื่อดำเนินกรรมวิธีซักถามขยายผลหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองต่อไป
ทันทีที่กระแสข่าวเจ้าหน้าที่ตรวจค้นหอพักนักศึกษาเพื่อติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยเหตุลอบวางระเบิดเมืองนราธิวาสได้แพร่สะพัดออกไป ในฝากฝั่งผู้ที่เป็นปีกการเมืองของขบวนการ BRN ได้ออกมาเคลื่อนไหวกดดันการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในทันที
โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 กลุ่ม PerMAS ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และคุกคามเยาวชนนักศึกษา อ้างว่าการติดตามจับกุมและปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่บริเวณหอพักนักศึกษา นักกิจกรรม รวมทั้งควบคุมตัวเยาวชนนักศึกษาเกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะเดียวกันพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับเรียกร้อง 5 ข้อด้วยกันกล่าวคือ
- 1) ให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดทันที และหยุดคุกคามเยาวชนนักศึกษา
- 2) ให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในพื้นที่ปาตานีซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก
- 3) ให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมด รวมทั้งยุติการคุกคามบุคคลและครอบครัวของเขา
- 4) ทหารไทยต้องเคารพทุกเงื่อนไขที่เป็นหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎของสหประชาชาติ
- 5) ทหารไทยควรพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่บังคับใช้ตลอดระยะเวลา 10 ปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีหลายครั้งที่ใช้กฎหมายนำไปใช้ในทางมิชอบ
ความเคลื่อนไหวยังมีตามมาอีกอย่างเช่น นายกัสตูรี มะโกห์ตา แกนนำกลุ่ม PULO ได้ออกมากล่าวหาว่านักศึกษาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม, นายมูฮัมหมัด เซาฟีร อาแซ ผู้ช่วยผู้ประสาน PerMAS พร้อมนักศึกษา ม.รามคำแหงร่วมแถลงการณ์ให้มีการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก และปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดทันที, เครือข่ายนักศึกษามุสลิมอยุธยา Ayutthaya Muslim Student Network ได้รวมตัวถือป้ายปล่อยตัวเพื่อนเรา “Free Patani Student”คืนอิสรภาพแก่นักศึกษา หยุดคุกคามนักศึกษา แด่สันติภาพปาตานี เช่นเดียวกับนักศึกษา มอ.ปัตตานี ออกแถลงการณ์คัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามการทำกิจกรรมของนักศึกษา
กระแสเรียกร้องของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นความพยายามของกลุ่ม PerMAS ในการปลุกเร้าในเครือข่ายสังคมออนไลน์ อีกทั้งมีการประสานงานกับกลุ่มนักศึกษาสถาบันต่างๆ ให้มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันเพื่อกดดันในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งมีความพยายามให้มีการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 13 คน ไปเข้าสู่กระบวนการซักถาม และได้ทำการปล่อยตัวผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับภูมิลำเนาในทันที 5 คน เนื่องจากผลการดำเนินกรรมวิธีซักถามบุคคลดังกล่าวให้การปฏิเสธว่าไม่เคยถูกชักชวนเข้าร่วมเป็นสมาชิก ผกร. และไม่เคยผ่านขั้นตอนการกระทำพิธีสาบานตน (ซูมเปาะ) และไม่ได้ร่วมก่อเหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องในพื้นที่เมืองนราธิวาสแต่อย่างใด คงเหลือผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวต่อเพื่อทำการซักถามขยายผลจำนวน 8 คน
กลุ่ม PerMAS รวมทั้งเครือข่ายนักศึกษาที่ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวเรียกร้องว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามการทำกิจกรรมของนักศึกษา อีกทั้งมีความพยายามให้มีการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาฟังคำสารภาพของบุคคลที่ถูกจับกุมกันว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่สมเหตุสมผลหรือไม่!! อย่างไร และสิ่งที่ได้เรียกร้องผ่านสื่อนั้นสมควรหรือไม่ในการช่วยเหลือผู้กระทำผิด
ผลการซักถาม นายอัมรีย์ วรรณมาตร ได้ให้การรับสารภาพว่าตนเองถูกชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการเมื่อประมาณกลางเดือน มกราคม 2558 เคยเข้ารับฟังประวัติศาสตร์รัฐปัตตานีจาก นาย ซุลกิปลี มะสะ แต่ไม่เคยผ่านพิธีสาบานตน (ซูมเปาะ) และให้การต่อไปอีกว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง บริเวณถนน ณ นคร ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมีผู้ร่วมก่อเหตุที่จำได้คือ นายซุลกิปลี มะสะ ซึ่งเป็นผู้สั่งการ (กลังหลบหนี), นายรีดวน สุหลง (เป็นผู้นำรถจักรยานยนต์ซุกซ่อนระเบิดแสวงเครื่องเข้าไปก่อเหตุ), นายอิสมะแอ เจ๊ะโซะ เป็นผู้ดูต้นทางร่วมกับตนเองให้นายรีดวน สุหลง ขับขี่รถจักรยานยนต์ซุกซ่อนระเบิดแสวงเครื่องเข้าไปก่อเหตุที่ถนน ณ นคร
นายรีดวน สุหลง ให้การยอมรับว่าเคยผ่านพิธีสาบานตน (ซูมเปาะ) จากนายอับดุลเล๊าะ ตะตีนาลาฮา (เลาะ) ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว ตนเองได้ผ่านการฝึกขั้นพื้นฐาน แต่ไม่ผ่านขั้นวาตอน ปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อื่นๆในห้วงที่ผ่านมา แต่ยอมรับมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558
นายรีดวน สุหลง ยังให้การต่อไปว่าตนเองได้ร่วมประชุมวางแผนกำหนดเส้นทางพื้นที่เป้าหมายในการก่อเหตุ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมนำพากลุ่มปฏิบัติการเข้าพื้นที่เป้าหมาย โดยได้รับคำสั่งจากนายตอเฮ (ไม่ทราบชื่อ-สกุลจริง) ให้ทำหน้าที่ประสานงาน นำทาง พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่เก็บซ่อนรถยนต์/รถจักรยานยนต์ซ่อนระเบิดแสวงเครื่องเพื่อเตรียมในการก่อเหตุ จำนวน 2 คัน
เป็นผู้ควบคุมผู้ร่วมก่อเหตุไปรับรถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก มิตซูบิชิ สตราดา ตอนครึ่งสีบรอนซ์เงิน และรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า เวฟ สีดำ-แดง ที่ซ่อนระเบิดแสวงเครื่องแล้ว ไปเก็บซุกซ่อนไว้ก่อนนำไปก่อเหตุ และได้ประสานการปฏิบัติตรวจสอบเส้นทางก่อนการปฏิบัติก่อนจะนำรถยนต์/รถจักรยานยนต์เข้าไปก่อเหตุยังสถานที่ที่กำหนดไว้ โดยได้มีการตั้งระบบจุดชนวนระเบิดด้วยการตั้งเวลาห่างกันประมาณ 10 นาที นายรีดวน สุหลง ยังได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้สั่งการให้ก่อเหตุอีกหลายคน
นายรีดวน สุหลง เป็นผู้ควบคุมดูแลการปฏิบัติการทั้งหมดในการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องถนน ณ นคร ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาสผ่านโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การนำรถยนต์-รถจักรยานยนต์ที่ประกอบระเบิดแสวงเครื่องไปซ่อนไว้ และในวันเกิดเหตุได้นำเข้าพื้นที่เป้าหมายถนน ณ นคร
นายอัมรีย์ วรรณมาตร ทำหน้าที่นำชุดระเบิดเข้าพื้นที่ก่อเหตุ โดยเป็นคนนำทางพารถยนต์-รถจักรยานยนต์ที่ประกอบระเบิดแสวงเครื่อง รอรับคำสั่งจากนายรีดวน สุหลง ว่าเส้นทางและพื้นที่พร้อมแล้ว ให้ดำเนินการนำทางจากจุดนัดพบไปยังสถานที่ก่อเหตุ
นายอิสมาแอ เจ๊ะโซะ ทำหน้าที่เป็นคนนำชุดระเบิดชนิดขว้างไปคอยอยู่ใกล้กับสถานที่ก่อเหตุ โดยจะรอคำสั่งจากนายรีดวน สุหลง ว่าระเบิดทั้ง 2 จุด เปิดสวิสซ์ตั้งเวลาเรียบร้อยแล้วห่างกันประมาณ 10 นาที ให้ดำเนินการได้เลย หลังจากนั้น นายอิสมาแอ เจ๊ะโซะ ได้นำชุดปฏิบัติการจากจังหวัดปัตตานีใช้ระเบิดชนิดขว้างไปยังบริเวณสถานที่ที่กำหนดไว้ หลังจากปฏิบัติการเสร็จสิ้นแล้วได้แยกย้ายออกนอกพื้นที่ และทำการปิดโทรศัพท์มือถือ
นี่คือคำสารภาพจากปากของผู้ที่ถูกจับกุมตัวที่เข้าไปหลบซ่อนในหอพักนักศึกษา นี่คือบุคคลที่กลุ่ม PerMAS และองค์กรนักศึกษาเครือข่ายรวมไปถึงผู้นำองค์กร PULO ต่างดาหน้าออกมาปกป้องกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญยังชี้ว่าเป็นการคุกคามการทำกิจกรรมของนักศึกษา
ไม่น่าเชื่อว่านักศึกษาเดี่ยวนี้มีการทำกิจกรรมในการระเบิดบ้านระเบิดเมือง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ การจับกุมตัวบุคคลต้องสงสัยทั้ง 13 คน มีการตั้งเงื่อนไขเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ ที่คอยฉกฉวยโอกาสข้อผิดพลาดของภาครัฐเข้ามาแสวงประโยชน์จากความผิดพลาดนั้นๆ เข้าดำเนินการในสิ่งที่ทางกลุ่มตนต้องการ มุ่งหวังให้เกิดอำนาจเพื่อใช้ต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองเพียงฝ่ายเดียว
กลุ่ม PerMAS รวมทั้งกลุ่มภาคประชาสังคมอีกหลายกลุ่มมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการ BRN อย่างชัดเจนกระทำตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรงของนักรบฟาตอนี ออกมาเคลื่อนไหวแถลงการณ์เพื่อชักจูงปลุกระดมอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดทอนอำนาจบทบาทของภาครัฐ เพราะการที่เจ้าหน้าที่ได้ติดตามจับกุมและปฏิบัติตามกฎหมายต่อผู้ที่กระทำการก่อเหตุแทบทุกครั้ง กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้กลับมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยมาเข้าสู่กระบวนการซักถาม ได้กระทำไปด้วยเหตุและผลและอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานและความเชื่อมโยงที่ชัดเจนทุกครั้งก่อนเข้าทำการติดตามจับกุม ที่สำคัญในครั้งนี้คำรับสารภาพที่ออกจากปากของผู้ที่ทำการก่อเหตุลอบวางระเบิดเมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 นั้น ถือว่าที่สุดแล้ว และอยากจะฝากให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูลข่าวสาร ลองชั่งน้ำหนักสิ่งไหนควรเชื่อ ไม่ควรเชื่อ อย่าให้กลุ่มหรือองค์กรใดมาชี้นำ ปลุกกระแสเพื่อทำลายในสิ่งที่ถูกต้อง
อย่าตกเป็นเครื่องมือให้บุคคลเหล่านั้นใช้ประโยชน์ในการมาลอบทำร้ายพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ต่อไปอีกเลย...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น