วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554



รู้จัก รมว.กลาโหมคนใหม่ กับสัญญาใจ "ให้ความสำคัญปัญหาภาคใต้เป็นอันดับแรก"



"ทีมข่าวอิศรา"เคยรายงานท่าทีของฝ่ายทหารที่กำลังจับตานโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังรู้ผลเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่กลับพ่ายที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่พอจะมองเห็นทิศทางของการแก้ปัญหาภาคใต้ คือ โฉมหน้ารัฐมนตรีกลาโหม
          
วันนี้เรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่แล้ว เขาคือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544
          
และในการให้สัมภาษณ์เปิดใจต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้กล่าวแสดงความสนใจเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้เอาไว้ด้วย แม้จะไม่มากนัก แต่ก็นับเป็นนิมิตหมายอันดี
          
ลองมาอ่านบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ แบบเต็มๆ จะได้รู้จักตัวตนและแนวทางการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ดีขึ้น


เตรียมล่องใต้เป็นภารกิจแรก...
"ผมจะเข้าทำงานในเช้าวันที่ 16 ส.ค.นี้ และจะนัดผู้บัญชาการเหล่าทัพมารับที่กระทรวงกลาโหมด้วย โดยผมจะเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน จากนั้นกลับเข้าไปที่กระทรวงกลาโหมเพื่อชี้แจงสรุปสั้นๆ และจะพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพื่อให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพมั่นใจในการทำงาน และร่วมกันทำงานตามภารกิจของกระทรวงกลาโหมในการดูแลสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูแลด้านความมั่นคง และการพัฒนาหน่วย
          
หากรัฐบาลแถลงนโยบายเสร็จ ผมจะเริ่มทำงาน ก่อนจะมีการประชุมสภากลาโหม ผมจะขอความกรุณาจาก ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการทหารบก) ว่าสัปดาห์หน้าจะลงไปเยี่ยมในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เป็นการส่วนตัวก่อน จากนั้นจะไปที่กองทัพภาคที่ 2 ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อดูสถานการณ์ และนำข้อมูลมาคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพหลังจากที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว เพราะความเร่งด่วนลำดับแรก คือการแก้ไขปัญหาชายแดน หากมีเวลาจะไปเยี่ยมกองทัพภาคที่ 3 เพื่อตรวจเยี่ยมอุทกภัยน้ำท่วม ส่วนนโยบายที่จะให้ในที่ประชุมสภากลาโหม คือนโยบายเดียวกับทั้งพรรคและรัฐบาลที่จะนำไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา"


มีความเป็นห่วงว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญ หรือล้วงลูกการแต่งตั้งโยกย้าย?
คงไม่มีการโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็นอยู่ แต่การปรับย้ายคราวนี้ (ปรับย้ายประจำปีปกติเพื่อทดแทนนายทหารที่เกษียณอายุราชการ) ต้องเปลี่ยน 3 ผู้นำหลัก ทั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) การที่ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำได้ต้องคุยกันทุกคน และมีความเห็นชอบ รวมถึงคนที่ขึ้นมาต้องทำงานร่วมกันได้
          
คิดว่าผมไม่มีความรู้สึกกินแหนงแคลงใจกับน้องๆ เลยสักคน น้องที่เข้ามาอยู่ในกองทัพอย่าง ผบ.สส. (พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์) สมัยที่เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ผมก็เคยไปรับทราบสถานการณ์จากท่านตลอด ถือว่าใกล้ชิดกันมาก ส่วน ผบ.ทบ.ก็เริ่มรู้จักและใกล้ชิดกับท่านตั้งแต่ท่านเป็นผู้บังคับการกรมทหาร ราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.) ซึ่งเรารู้จักกันดี ไม่มีปัญหาอะไร
          
การปรับย้ายนายทหารขอให้สบายใจได้ ผมจะคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าทัพว่าเขาคิดอย่างไร ปรับอย่างไร และเมื่อปรับแล้วผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับกองทัพอย่างไร เมื่อทุกอย่างลงตัวและทุกอย่างเกิดผลประโยชน์ต่อส่วนร่วมก็โอเค จึงจะร่วมประชุมและเสนอขึ้นมา ซึ่งง่ายกว่าที่จะมานั่งโหวตกัน อย่าไประแวงตามข่าวลือข่าวปล่อยเกี่ยวกับการโยกย้าย ตอนนี้ยังไม่มีการพิจารณา เรื่องนี้ต้องโปร่งใสเป็นธรรม และด้วยความเห็นชอบของทุกฝ่าย
          
ผมจะไม่เข้าไปเลือกคนที่จะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพอย่างแน่นอน แต่จะเป็นลักษณะคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพว่าที่เสนอคนนี้เพราะอะไร เลือกคนนี้เพราะอะไร แล้วทำไมไม่เลือกคนนี้ทั้งที่อาวุโสสูงกว่า คิดว่าไม่มีปัญหาวุ่นวาย เพราะเคยเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมมาแล้ว รู้ปัญหาพวกนี้ดี


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฝากอะไรเป็นพิเศษหรือไม่?
พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ฝากอะไร ท่านพูดแล้วว่าอยากให้ดูงานด้านปรองดองเป็นหลัก และหลังจากเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณคงได้พบกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ จากนั้นก็จะนัดคุยกัน นัดกินข้าวแบบเป็นกันเอง ถ้าน้องๆ ไม่มากินกับผม ผมก็ไปขอก๋วยเตี๋ยวกินที่ บก.ทบ. (กองบัญชาการกองทัพบก) สักชามก็ได้ ไม่ยากหรอก


จะให้ความเป็นธรรมในการปรับย้ายอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีการแบ่งขั้วบูรพาพยัคฆ์ และวงศ์เทวัญ?
ก็ต้องบอกเขาว่าตอนนี้ไม่ได้ เมื่อเป็นผู้ใหญ่กันแล้วต้องเห็นทุกคนเป็นลูกน้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมด ไม่อย่างนั้นจะเกิดทหารแตงโมเพิ่มขึ้นอีก เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ยืนยันว่าจะไม่มีการย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพตามกระแสข่าวที่ออกมา เพราะผมยึดหลักว่าเข้ามาทำงานใหม่ต้องมีเพื่อนและพวกก่อน มาแล้วสร้างศัตรูไม่ใช่นักบริหาร


กรณีที่มีนายทหาร ตท.10 (เตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ) บางคนในพรรคเพื่อไทยออกมาต่อต้านหลังได้รับตำแหน่ง รมว.กลาโหม ถือเป็นท่าทีของ ตท.10 หรือไม่?
ต้องรู้ประวัติคนที่ด่าผมว่าเป็นอย่างไร ตท.10 หลายคนก็โทรศัพท์มาหา บอกว่าเขาไม่ได้ยุ่งด้วย บอกว่าเพื่อนคนนี้ไม่ค่อยได้เรื่อง พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง รองผบ.สส.ก็โทรศัพท์มาถามผม ไม่รู้ว่าคนพูดเป็นอะไร ไปด่าท่านประธานองคมนตรีทำไม มาหาว่าผมเป็นรัฐมนตรีกลาโหมแล้วอำมาตย์จะมีพลังมากยิ่งขึ้น มาพูดอย่างนี้ได้อย่างไร และผมต้องไปพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ) เป็นคนแรกอยู่แล้ว ท่านเป็นนายจะไม่พบได้อย่างไร
          
ผมไปกราบท่านเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อได้ตำแหน่งนี้ก็ต้องไปกราบท่านในฐานะที่ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ผมให้ความเคารพนับถือ และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาสูงสุดของผมด้วย


แนวทางการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพจะดำเนินการอย่างไร?
เรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์ กองทัพมีแผนทั้งระยะยาวและระยะสั้นอยู่ ผมคงไม่ไปตัดงบประมาณหรือไปปรับแผนของเขาโดยเด็ดขาด จะให้เป็นไปตามที่เขาเสนอไว้แล้ว ส่วนที่จะขอใหม่เพิ่มเติมเราต้องดูแผนยุทธการของเขาว่าอยู่ในแผนพัฒนากองทัพหรือไม่ มีความเหมาะสมขนาดไหน มีงบประมาณหรือไม่ เราคุยกันได้ไม่มีปัญหา
          
ผมเห็นด้วยว่ากองทัพควรมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและครบจำนวนตามความต้องการของกองทัพ ส่วนการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือนั้น เราต้องนำมาดูก่อน ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่กองทัพเรือมาคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งผมต้องดูว่าการจัดหาเป็นอย่างไร จัดหาอาวุธจากประเทศไหน เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ และมีแผนการจัดหาอย่างไร


จะเป็นกาวใจผสานรอยร้าวระหว่างกองทัพกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่?
ต่อไปถ้ามีอะไรเราต้องคุยกัน ผมจะเป็นตัวแทนกองทัพว่า กองทัพหรือพรรคเพื่อไทยทำอะไรที่กระทบกระเทือนต่อกันหรือไม่ การพูดกันไปมา ต่อไปจะไม่มีการพูดกันให้แคลงใจกันอีก ระหว่างที่หาเสียงบางคนที่พูดกระทบกระเทียบกองทัพ ผมยังขอร้องว่าอย่าพูดเลย เพราะกระทบกระเทือนใจ และไม่ส่งผลหรือมีประโยชน์อะไร ซึ่งเขาก็เข้าใจ เชื่อว่าต่อไปความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพรรคเพื่อไทยคงดีขึ้น ผมยังไม่รู้สึกว่าใครเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผม เพราะทุกคนเป็นเพื่อนที่ดีกับผมหมด
          
จะไม่ทำให้เกิดภาพว่าเป็นกองทัพของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่จะต้องทำให้กองทัพและพรรคการเมืองแข็งแรง เพื่อให้แข็งแรงทั้งคู่จึงจะอยู่ด้วยกันได้ ถ้าพรรคอ่อนแอเมื่อไรก็จะอาศัยกองทัพ ฉะนั้นต้องไม่เอากองทัพไปเป็นที่พักอาศัยของพรรคการเมือง ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ การเมืองอ่อนแอเลยต้องอิงกองทัพ ถ้าการเมืองและกองทัพแข็งแรงก็ไปด้วยกันได้


มั่นใจหรือไม่ว่าทหารจะไม่ปฏิวัติ?
 ไม่มี ผมมั่นใจว่าทหารยุคนี้ไม่ทำ และถ้าผมได้ข่าวว่าจะมีการปฏิวัติ ผมจะเดินไปไหว้ และถามว่าไม่พอใจอะไรรัฐบาลสามารถคุยกันได้


รู้จัก “บิ๊กอ๊อด” ยุทธศักดิ์ ศศิประภา
พล.อ.ยุทธศักดิ์ หรือ "บิ๊กอ๊อด" ไม่ใช่ “หน้าใหม่” ทั้งในแวดวงการเมือง การทหาร และการกีฬา เพราะเคยผ่านตำแหน่งสำคัญทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม นายกสมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ทั้งยังเป็น ส.ส.มาแล้วหลายสมัย ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยยังใช้ชื่อพรรคไทยรักไทยด้วย
          
พล.อ.ยุทธศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2480 เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล ก่อนจะสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และจบเป็นนายร้อย จปร.เมื่อปี 2504 ผ่านหลักสูตรโรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 48 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 33 หลักสูตรพลร่มและหลักสูตรจู่โจมจากศูนย์การทหารราบ กองทัพบกสหรัฐฯ ฟอร์ตเบนนิ่ง
          
เส้นทางในชีวิตราชการ พล.อ.ยุทธศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งเสนาธิการกรมการรักษาดินแดน ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายการข่าว ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดกระทรวงกลาโหม และก้าวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ก่อนเกษียณอายุราชการ จากนั้นก็หันเหเส้นทางชีวิตเข้าสู่แวดวงการเมือง เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ สมัยแรก
          
สิบปีต่อมาเขาก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนสุดท้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ!


นโยบายดับไฟใต้ยังอึมครึม
จากประวัติการทำงานที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ ไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจนนัก นอกจากรับรายงานตามสายการบังคับบัญชาช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ สมัยแรก โดยบทบาทและชื่อชั้นของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ จะโดดเด่นไปในด้านกีฬาเสียมากกว่า
          
อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะการทำงานที่เป็นมือประสานสิบทิศ โดยเฉพาะในแวดวงกีฬาบ้านเราซึ่งสลับซับซ้อนไม่แพ้ปัญหาการเมือง ก็น่าเชื่อว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ นั้นไม่ธรรมดา และคำประกาศแรกของเขาที่ว่าจะให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้ ถึงกับจะเดินทางลงพื้นที่เป็นการส่วนตัวก่อนหนึ่งครั้ง บวกกับท่าทีโอนอ่อนเข้าหาผู้นำเหล่าทัพ ไม่ประกาศหักดิบทั้งเรื่องนโยบาย งบประมาณ และตัวบุคคล ก็น่าจะทำให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้รับความร่วมมือจากน้องๆ ในกองทัพมากพอสมควร
          
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย และนายกฯหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะดำเนินนโยบายดับไฟใต้อย่างไรมากกว่า จะให้น้ำหนักกับ “การทหาร” ผ่านโครงสร้างของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งมีกองทัพบกเป็น “ผู้เล่นหลัก” เช่นเดิมหรือไม่ หากใช่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็คงมีบทบาทไม่น้อย
          
แต่หากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเตรียมเดินหน้าเรื่อง "การกระจายอำนาจ" ผลักดันให้เกิดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่เพื่อใช้กลไกการปกครองลดเงื่อนไขที่ชายแดนใต้ตามที่เคยหาเสียงไว้ มือทำงานก็คงไม่ใช่ พล.อ.ยุทธศักดิ์
          
ทว่าจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนทั้งในแง่นโยบายและตัวบุคคลในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่าจะเอาอย่างไรกับปัญหาภาคใต้ดี แม้ไล่ดูชื่ออีกทีจะเจอ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (อดีต ผบ.ตร.) นั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และน่าจะรับผิดชอบงานสายความมั่นคง แต่ถ้า พล.ต.อ.โกวิท เข้ามาดูแลปัญหาภาคใต้จริง ก็จะถูกตั้งคำถามถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสมัยดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร.กรณีจับกุมผู้ต้องหาคดีปล้นปืน
          
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ โดยหลังจากนี้จะสรุปรายงานสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไปให้ทราบ รวมทั้งเตรียมรับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ที่จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเร็วๆ นี้ด้วย


ศูนย์ข่าวภาคใต้
http://narater2010.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม