วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของหะยี สุหลง ปฐมเหตุของสถานการณ์ใต้?

เรื่องของหะยี สุหลง ปฐมเหตุของสถานการณ์ใต้?
“หะยีสุหลง บิน อับดุลกาเดร์ มูฮัมหมัด เอล ฟาโทนิ”




         เชื่อกันว่าเมือง ปัตตานีตกอยู่ใต้อำนาจของคนไทยตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีการก่อกบฏขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2106 แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และระหว่างปี 2173-2176 แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง แต่ไม่สำเร็จทั้ง 2 ครั้ง 

        ปัตตานีมาได้ลิ้มรสแห่งอิสรภาพชั่วคราวก็ครั้งที่กรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 แต่แล้วก็กลับมาเป็นเมืองขึ้นของคนไทยอีกในเวลาต่อมา

        ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสตูล อันเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “4 จังหวัดภาคใต้” ในกาลต่อมา ถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามตั้งแต่รัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อครั้งสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทยกทัพไปตีปักษ์ใต้ในปี 2328 มีผลทำให้ได้หัวเมืองตอนใต้อย่างไทรบุรี, กลันตัน และตรังกานูเพิ่มขึ้นมาอีก

        หัวเมืองทางใต้ก็ เหมือนหัวเมืองด้านอื่น ๆ ของราชอาณาจักรสยามที่ต้องได้รับผลกระทบจากการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ใน ปี 2434 รัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองส่วนภูมิภาคถูกสร้างขึ้นเพื่อรวมศูนย์อำนาจการปกครองสู่สวนกลาง การควบคุมดูแลจากส่วนกลางเป็นไปอย่างเข้มงวด รัดกุม และบีบรัด ยังผลให้มีปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้คนในท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง พร้อม ๆ กับคำว่า “ผีบุญ” และ “ขบถ” เป็นคำที่ใช้ฟุ่มเฟือยและถี่กระชั้น

นโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ 

       หัวเมืองส่วนนี้ถูก แบ่งออกเป็นหัวเมืองเล็ก ๆ ย่อย ๆ เรียกว่า “เจ็ดหัวเมือง” ได้แก่ สายบุรี (คอลุบัน), ปัตตานี, หนองจิก, ยุลา, ยะหริ่ง(ยามู), ระแงะ(ตันหยงมาส) และราห์มัน 

ผู้ปกครองเมืองจำนวน 2 คนถูกแต่งตั้งไปจากส่วนกลางโดยตรง

      ผู้ปกครองเมืองที่ รัฐบาลสยามตั้งขึ้นไม่ได้มีเชื้อสายเจ้ามืองเก่าตามประเพณีการปกครองที่ควร จะเป็น มิหนำซ้ำบางคนเคยเป็นคนเลี้ยงวัวมาก่อน เจ้ามืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่ก็เลยขัดแย้งกับเชื้อสายเจ้าเมืองเก่า มีการให้ร้ายป้ายสีเจ้าเมืองแท้ ๆ ของปัตตานี  นั่นเป็นยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

       หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือท่านปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร รู้ถึงปัญหาความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นในดินแดน 4 จังหวัดภาคใต้ดี เมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งที่ปรึกษาเกี่ยวกับกิจการมุสลิม ขึ้นมาโดยเฉพาะ บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้คือ... “แช่ม พรหมยงค์” หรือในอีกชื่อหนึ่ง “หะยีชำชุดดิน” 

       น่าเสียดายที่ปัญหาการต่อสู้ทางการเมืองหนักหนาสาหัสจนเกินไป และท่านปรีดี พนมยงค์ก็อยู่ในอำนาจสั้นจนเกินไป ปัญหา 4 จังหวัดภาคใต้จึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

        นั่นคือจุดเล็ก ๆ ที่เป็นหนึ่งในหลายๆ ชนวนแห่งการขืนแข็ง ได้มีการแข็งเมืองหรือคบคิดกับหัวเมืองมลายูอื่น ๆ ของเจ้าครองเมืองก่อการกบฏขึ้นอีกหลายครั้ง

ระบบเทศาภิบาล” อันเป็นผลจากการปฏิรูประบบราชการในลักษณะ Centralization เมื่อ 110 ปีก่อนได้รับการตอบรับด้วยท่าทีต่าง ๆ กัน 

       เจ้าเมืองปัตตานี เต็งกู อับดุลกาเคร์ หรือพระยาวิชิตภักดี ถูกถอดยศและถูกเนรเทศไปอยู่พิษณุโลก เจ้าเมืองระแงะ ได้รับการกระทำเช่นเดียวกัน โดยถูกเนรเทศไปอยู่สงขลาเมื่อพยายามจะตอบโต้อำนาจรัฐในขณะนั้น  การตอบโต้อย่างเด็ดขาดของฝ่ายอำนาจรัฐทำให้เหตุการณ์ดูสงบลงได้บ้าง จนระบบเทศาภิบาลถูก ยกเลิกในปี 2475 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่ระบบราชการยังไม่ได้รับการปฏิบัติด้วย กลับยิ่งรวมศูนย์อำนาจหนักยิ่งขึ้น หัวเมืองต่าง ๆ อยู่ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยโดยตรงทางราชการ ข้าราชการคนไทยจากส่วนกลางเริ่มถูกส่งไปปกครองแทนเจ้าเมืองมลายูที่ถึงแก่ อนิจกรรมและเกษียณ พร้อมกัยยกเลิกวิธีการเลือกสรรเจ้าเมืองจากผู้นำท้องถิ่น

        หะยีสุหลง บิน อับดุลกาเคร์ ฒูฮัมมัด เอล ฟาโทนิ หรือที่รู้จักกันดีทั้งคนในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ฝ่ายการปกครองในนาม “หะยีสุหลง” ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เป็นชื่อนี้โดดเด่นขึ้นในใจของชาวมุสลิม 4 จังหวัดภาคใต้ในฐานะผู้นำที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐที่กดดันอย่างเอาจริงเอาจังคน หนึ่ง

หะยีสุหลงได้ต่อสู้ในรูปแบบต่าง ๆ เท่าที่รูปการจะอำนวย

และในที่สุด - เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2490 เขาได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย และนายกรัฐมตรีคนใหม่ พลเรือตรีหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ 

ข้อเรียกร้องประวัติศาสตร์มีอยู่ 7 ประการ 

ดังนี้.....

  • 1. ขอให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มมาปกครองใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ให้มีอำนาจที่จะปลด ระงับ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ บุคคลผู้นี้จักต้องถือกำเนิดในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ 4 จังหวัด และจักต้องได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนใน 4 จังหวัดนั้น
  • 2. ข้าราชการใน 4 จังหวัดจักต้องเป็นมุสลิมจำนวน 80 %
  • 3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการของ 4 จังหวัด
  • 4. ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา
  • 5. ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัดซึ่งเคยมีผู้พิพากษามุสลิม (KATH) นั่งพิจารณาร่วมด้วย
  • 6. ภาษีเงินได้และภาษีทั้งปวงที่เก็บจากประชาชนใน 4 จังหวัดจักต้องใช้จ่ายเฉพาะใน 4 จังหวัดนั้น
  • 7. ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิมมีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง โดยให้อยู่ในอำนาจสูงสุดของผู้นำตามข้อ 1.

      ปีนั้น – ปี 2490 เดือนเมษายน – รัฐบาลพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนักหน่วงใน สภาผู้แทนราษฎร ต้องต่อสู้กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากพรรคประชาธิปัตย์ และเกิดกรณีสวรรคตพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลใน 2 เดือนต่อมา เสถียรภาพของรัฐบาลและนักการเมืองกลุ่มท่านปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งพลพรรคขบวนการเสรีไทย ซวนเซอย่างหนัก กระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

         ระบอบเผด็จการเข้าครอบงำสังคมไทยอีกครั้ง โดยมีจอมพลป. พิบูลสงครามผู้ ริเริ่มแนวคิด “ชาตินิยม” และ “รัฐนิยม” ในช่วงปี 2482 เป็นต้นมาอยู่เบื้องหลังบัลลังก์อำนาจ ครั้งนี้รัฐตำรวจเริ่มเกิดขึ้น ภายใต้การนำของพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ การกวาดล้างกลุ่มท่านปรีดี พนมยงค์เปิดฉากขึ้นอย่างเอาเป็นเอาตาย

หะยีสุหลงย่อมตกเป็นเหยื่อของระบอบเผด็จการอย่างมิพักต้องสงสัย !

        หะยีสุหลง บิน ดับดุลกาเดร์ พร้อมด้วยผู้นำคนอื่น ๆ อันได้แก่ หะยีแวะอุเซ็ง, หะยีแวะมามิน และหะยีแวะสะแมะ ถูกจับกุมอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหว 3 เมษายน 2490 เพราะโดยเนื้อหาของ 7 ข้อเรียกร้องฉบับประวัติศาสตร์ ถูกตีความว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดก็คือการฟื้นฟูดินแดนทั้ง 4 จังหวัดให้เป็น “รัฐอิสระ” เข้าข่ายเป็นการเตรียมการแบ่งแยกดินแดนอันเป็นการทำลายอธิปไตยและบูรณภาพ แห่งราชอาณาจักร

       หะยีสุหลงถูกส่งฟ้องต่อศาลที่ปัตตานี  ต่อมาคดีถูกโอนไปพิจารณาทีศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช  ภายหลังจากที่ศาลได้ พิจารณาคดีอย่างยาวนาน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2492 ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษเขาโดยให้จำคุก 4 ปี 8 เดือน ฐานกล่าวร้ายรัฐบาลในเอกสารที่แจกจ่ายยังประชาชนในท้องถิ่น ส่วนโทษฐานแบ่งแยกดินแดน - ศาลให้ยก ส่วนผู้นำคนอื่นได้รับโทษจำคุกคนละ 3 ปี ปี 2497 หลังจากพ้นโทษแล้ว หะยีสุหลงก็เดินทางกลับจังหวัดปัตตานี แต่แล้ว – หะยีสุหลง บิน ดับดุลกาเดร์ก็ “หายสาบสูญ” พร้อมคนสนิทและลูกชาย คือ อาห์มัด โต๊ะมีนา ในปี 2497 นั้นเอง

      แม้ ความมืดดำของการหายสาบสูญจะยังคงดำรงอยู่มาจนบัดนี้ แต่สำหรับฝ่ายผู้สูญเสียนั้น ต่างปักใจเชื่อว่าหะยีสุหลง บิน อับดุลกาเดร์และคนอื่น ๆ ถูกตำรวจจับถ่วงน้ำทะเลสาบสงขลา บริเวณหลังเกาะหนู ในเขตจังหวัดสงขลา
และนับแต่นั้นก็ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวในระดับเดียวกับที่มีอีกเลย 

         จนเมื่อปี 2500 อันเป็นปีที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ หะยีอามีน โต๊ะมีนา ลูกชายของหะยีสุหลงคนถัดจากอาห์มัด โต๊ะมีนา เป็นหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร ในช่วงการรณรงค์หาเสียง ประเด็นจึงหนีไม่พ้นเรื่องของศาสนาและการเมือง ซึ่งประจวบเหมาะกับการที่มาเลเซียได้รับเอกสารจากอังกฤษในปีเดียวกันนั้น  ความตื่นตัวของชาวมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้เรื่องสิทธิและเสรีภาพแห่งตนจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง

        หะยีอามีน โต๊ะมีนาได้รับเลือกให้เป็นส.ส.ปัตตานีทั้ง 2 ครั้งที่มีการเลือกตั้งซ้อน ๆ กันถึง 2 ครั้งในปี 2500 นั้น 

       เดือนเมษายน 2501 หะยีอามีน โต๊ะมีนาจัดพิมพ์หนังสือ “GUGUSAN CHAHAYA KESELAMA TAN” หรือ “รวมแสงแห่งสันติ” ผลงานเขียนของหะยีสุหลงขณะยังรับโทษอยู่ในเรือนจำ ออกเผยแพร่จำนวน 10,000 เล่ม 

       เนื้อหาในหนังสือนี้ ยังมีความเห็นขัดแย้งระหว่างเอกสารทางราชการที่ว่าหนังสือนี้ได้เน้นความจำ ในการต่อสู้เพื่อเอกราชตลอดจนความร่วมมือกันในหมู่ชาวมลายู กับคำให้สัมภาษณ์ของเด่น โต๊ะมีนา น้องชายแท้ ๆ ของหะยีอามีน โต๊ะมีนาที่เห็นว่าเป็นหนังสือขอพรพระผู้เป็นเจ้า หากทำตามหนังสือนี้แล้วก็จะปลอดภัยหรือได้รับสันติ

       หะยีอามีน โต๊ะมีนาได้เขียนคำนำให้กับหนังสือ “รวมแสงแห่งสันติ” ด้วยตัวเอง พร้อมบรรยายใต้ภาพของหะยีสุหลงในหนังสือว่า.....

      “หะยีสุหลงถูกฆ่าตายโดยเจ้าหน้าที่ที่โหดร้ายของรัฐ ขอให้พี่น้องมุสลิมจดจำเป็นเยี่ยงอย่าง” 


ชะตากรรมมาเยือนบ้านเรือนทายาทหะยีสุหลงอีกครั้ง....

     หนังสือทั้งหมดถูกเผา พร้อมๆ กับหะยีอามีน โต๊ะมีนาถูกจับในข้อหาแบ่งแยกดินแดน เอกสารของทางราชการ ระบุว่าหะยีอามีน โต๊ะมีนาได้เผยแพร่และชักจูงให้ชาวมุสลิมรื้อฟื้นความคิดของหะยีสุหลง และรำลึกถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ ดินแดน เชื้อชาติ ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี อย่างเปิดเผย และยังได้รับช่วงการดำเนินงานก่อตั้งรัฐปัตตานีตามแผนการของ “ตวนกู ยะลา นาเซร์” อีกด้วย

      ทางการจับกุมหะยีอา มีน โต๊ะมีนาพร้อมด้วยผู้นำอื่น ๆ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2504 และฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพฯ ในข้อหาสมคบกับพวกกระทำการเป็นขบถเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร, กระทำการโฆษณาโดยทางวาจาและหนังสือให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องเพื่อก่อการ ขบถ 

     แต่เมื่อพิจารณาคดีมาถึงปี 2508 ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาเพียงวันเดียว คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ถอนฟ้องหะยีอามีน โต๊ะมีนา

โดยอ้างว่าเพื่อผลทางการเมืองบางประการ !


     หะยีอามีน โต๊ะมีนาได้รับการปล่อยตัวจากที่คุมขังระหว่างการพิจารณาของศาล และได้เดินทางกลับปัตตานี  แม้เขาจะลดบทบาทตัว เองลงอย่างมากมายหลังการปล่อยตัว แต่ในสายตาของทางการและผู้รับผิดชอบในเขต 4 จังหวัดภาคใต้แล้ว หะยีอามีน โต๊ะมีนายังคงเป็นผู้นำคนหนึ่งที่จะต้องจับตามองและบรรจุรายชื่อเข้าใน “บัญชีดำ” ชนิดถาวร

       ปี 2523 ปัญหา 4 จังหวัดภาคใต้แปรเปลี่ยนไปมาก การเคลื่อนไหวทางการเมืองจากที่เคยยึดที่ตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้นำเป็นแกนนำและ ผู้ชูธง กลับเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปของขบวนการ มีการดำเนินงานที่มีระบบและลึกซึ้งขึ้น มีการสร้างกระแสกดดันฝ่ายรัฐบาลด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ก่อกวน เรียกค่าคุ้มครอง ข่มขู่ประชาชนและข้าราชการ  แน่นอนว่าหะยีอามีน โต๊ะมีนาผู้เคยมีบทบาทอย่างมากในอดีตจะถูกเพ่งเล่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

      เมื่อความสับสนมีมาก ขึ้น จึงเกิดกระแสข่าวว่าจะมีการเก็บบรรดาผู้นำจำนวน 5 คน คือ หะยีอามีน โต๊ะมีนา, โต๊ะครูพ่อมิ่ง หรือหะยีอับดุลเราะห์มาน,โต๊ะครูนาประดู่ หรือหะยีมูฮำหมัด และคนอื่นอีก 2 คน

       เด่น โต๊ะมีนาที่ในขณะนั้นเป็นเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคือชวน หลีกภัย ในรัฐบาลพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ จึงพยายามตรวจสอบข่าว เมื่อเห็นเป็นเรื่องจริง จึงขอร้องชวน หลีกภัยให้พาตนเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อชี้แจงปัญหาและแนวทางแก้ไข เพราะเห็นว่าเรื่องละเอียดอ่อนอย่างนี้ควรจะพูดคุยเป็นการเฉพาะตัวมากกว่า การพูดในที่ประชุมที่ประกอบด้วยผู้ที่รู้พื้นฐานของปัญหาต่างกัน

        แต่แล้ว เด่น โต๊ะมีนาก็ต้องงผิดหวัง เขาได้เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” เมื่อ 10 ปีก่อนว่า ชวน หลีกภัยเป็นคนไม่รับผิดชอบในการแก้ปัญหา  และนั่นเป็นสาเหตุ เด่น โต๊ะมีนาตีจากพรรคประชาธิปัตย์ในที่สุด ภายหลังที่มีการประชุมของผู้นำมุสลิมที่เฝ้ารอฟังผลการเจรจา เขาบอกกับผู้นำมุสลิมในที่ประชุมว่า 

“ตัวใครตัวมัน”

นับแต่นั้น บรรดาผู้นำมุสลิมก็ทยอยกันหลบหนีออกนอกประเทศ

       หะยีอามีน โต๊ะมีนาเดินทางไปอยู่กับผู้เป็นตาและญาติพี่น้องที่รัฐกลันตัน ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ประกอบอาชีพเบื้องต้นด้วยการแปรรูปไม้จำหน่าย ข่าวคราวเมื่อ 10 ปีก่อนยืนยันว่าเขาเลิกกิจการแล้วโดยสิ้นเชิง เพราะลูกค้าชาวมาเลย์ติดค้างชำระหนี้จนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จึงหยุดพักเพื่อดูท่าทีและหาลู่ทางประกอบธุรกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สมกับวัยและสังขาร

http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม