วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ป้ายผ้ากับวาทกรรม "เอกราช" หรือ "สันติภาพ" อีกก้าวหนึ่งของเกมโกง


ป้ายผ้ากับวาทกรรม "เอกราช" หรือ "สันติภาพ" อีกก้าวหนึ่งของเกมโกง



               แล้ววงรอบของการป่วนใต้ของ BRN ที่มาควบคู่กับการพูดคุยเพื่อสันติภาพก็กลับเข้าสู่วงจรแบบเดิม ๆ อีกครั้ง ตั้งแต่เริ่มมีการพูดคุยสันติภาพรอบแรกเมื่อเดือน ก.พ. ต้นปีที่ผ่านมา การก่อเหตุเพื่อกดดันรัฐบาลไทย การใส่ร้ายป้ายสี การช่วงชิงสื่อทั้งสื่อมวลชนในประเทศและนอกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ลื่อทางเลือกอย่างยูทูปยังถูกฝ่ายขบวนการนำมาใช้ทั้งบิดเบือนและชี้นำเพื่อสร้างความได้เปรียบต่อรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งสื่อธรรมดาๆ เช่น ป้ายผ้าและการพ่นสีสเปรย์บนท้องถนนก็ยังถูกนำออกมาใช้ และในแต่ละครั้งก็สร้างแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาลไทยได้ไม่น้อย แต่ความพยายามสร้างแรงกระเพื่อมในครั้งนี้หากสังเกตุดีๆ จะพบว่าไม่ธรรมดา เพราะเป็นความพยายามที่มีนัยแอบแฝงที่บ่งบอกถึงแนวความคิดและความต้องการของผู้บงการใช้ยุทธการป้ายผ้าครั้งนี้ได้


            ด้วยการสื่อความหมายโดยใช้ภาษามลายูอักษรรูมี แปลว่า "สมเพชในศักดิ์ศรีแห่งเชื้อชาติ สยามตอบแทนเชื้อชาติปาตานี เปลี่ยนจากคำว่าเอกราชสู่คำว่าสันติภาพ ภายใต้การยึดครองเหมือนเดิมแท้จริง" หรือ “บ้านตนเองยังวุ่นวายไม่เลิก แล้วจะมาปกครองได้อย่างไร”


          การใช้ถ้อยคำในลักษณะออกลูกอ้อนต่อชาวปาตานีนั้น มุมหนึ่งเหมือนจะเรียกร้องให้ลุกขึ้นสู้ แต่อีกมุมมันคือการ “ยอมรับ” ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม ยอมที่จะลดระดับจากการเรียกร้องเอกราชไปสู่การรวมกันสร้างสันติภาพ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็นับว่าเป็นบรรยากาศที่ดีต่อการพูดคุยไม่น้อย แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ นี่เป็นเพียงการคาดเดา


           แต่จากข่าวที่กระเส็นกระสายออกมาว่าผู้บงการครั้งนี้คือนายอับดุลกาลิม กาลิด และนายมะสุกรี ฮารี ซึ่งทั้งสองอยู่ในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายขบวนการ ซึ่งมีประวัติเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุในพื้นที่มากมาย โดยเฉพาะรายหลังมีดีกรีเป็นบุตรของประธานคณะกรรมการอิสลามยะลา ซึ่งถูกจับกุมหลังเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรง ภายหลังได้รับการประกันตัว แต่ที่สุดก็หลบหนีไปอยู่ฝั่งมาเลเซียเมื่อปี 50 และความสอดคล้องอีกประการที่ชี้ชัดได้ว่าทั้งสองเป็นผู้สั่งการคือ ข้อความในป้ายผ้าเป็นคำเดียวกันกับที่นายฮาซัน ตอยิบ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยของ BRN ซึ่งโพสผ่านเว็บเพจในห้วงเดียวกัน


            และในเมื่อทั้งสองอยู่ในคณะพูดคุยสันติภาพ คำถามคือ “ทำเพื่ออะไร” และถ้าคำตอบคือ เป็นเรื่องปกติของการไม่มีความจริงใจที่จะใช้แนวทางสันติโดยการพูดคุยของฝ่ายขบวนการแล้ว การยังไม่มีสัญญาณตอบรับของรัฐบาลไทยต่อข้อเสนอสุดป่วน 5 ข้อที่ยากจะรับได้น่าจะเป็นสาเหตุหลัก


           ข้างฝ่ายมาเลเซียที่แสดงบทบาทผู้อำนวยความสะดวกก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะกำหนดวันพูดคุยในครั้งต่อไปหลังเจอลูกเลื่อนไปเมื่อ 21 พ.ย.56 ที่ผ่านมา นัยว่ามาเลเซียไม่มีอะไรจะเสียกับเหตุการณ์ในภาคใต้ของไทย แต่กับจะได้ประโยชน์เสียอีกที่ปล่อยให้ไทยต้องแก้ปัญหาในบ้านตัวเองจนไม่มีเวลาพัฒนาประเทศเท่าที่ควรจน GDP ร่วงกราวรูด ในขณะที่มาเลเซียมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเซีย ส่งผลให้ขบวนการต้องใช้ลูกไม้เรียกร้องความสนใจแบบเดิมๆ อีกครั้ง นี่ยังไม่นับรวมถึงการก่อเหตุลอบสังหารทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนอย่างถี่ยิบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา


           แต่หากพิจารณาถึงจุดยืนหลักของขบวนการคือการต้องการเอกราชแล้ว การออกมาใช้สื่อในเชิงตัดพ้อ ครั้งนี้อาจไม่ได้เกิดจากขบวนการฝ่ายเดียว ประเทศที่อ้างว่าจะช่วยเหลือไกล่เกลี่ยน่าจะมีส่วนรู้เห็นด้วยเหตุผลข้างต้น ซึ่งเป็นที่น่ากังขาอยู่ว่าเจตนาที่แท้จริงของมาเลเซียต่อเหตุการณ์ในประเทศไทยจะเป็นไปในทางใดแน่


           ประกอบกับสถานการณ์ความยุ่งเหยิงทางการเมืองของไทยที่สื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจรายงานสดกันนาที ต่อนาที ทำให้ความพยายามสร้างภาพความรุนแรงโหดร้าย การละเมิดสิทธิมนุษยชน สร้างความแตกแยก ฆ่าคนเหมือนผักปลาเพื่อหวังให้ประชาคมโลกรับรู้กลับไม่ถูกนำเสนอโดยสื่อ ทำให้เงินที่ลงทุนไปในการก่อเหตุเสียเปล่า ซึ่งในมุมมองของการก่อการร้ายเพื่อสร้างภาพนั้นถือว่าไม่คุ้มค่า แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองเริ่มส่อเค้าเบาบางลง ขบวนการจึงใช้โอกาสนี้สร้างกระแสเพื่อช่วงชิงสื่อให้หันกลับมาสนใจอีกครั้ง ซึ่งก็นับว่าได้ผล


            อย่างไรก็ตามหลายต่อหลายครั้งที่กลยุทธนี้ถูกนำกลับมาใช้ ไม่ว่าจะมีสิ่งชี้นำตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาว่าต้องการสื่อไปถึงใครด้วยเรื่องใดก็ตาม เรื่องหนึ่งที่แน่นอนเสมอคือ การใช้สื่อได้ทั่วพื้นที่จำนวนกว่า ๘๐ จุดย่อมเป็นสิ่งชี้วัดให้เห็นถึงศักยภาพในการใช้งานแนวร่วมที่มีกระจายอยู่เต็มพื้นที่ด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงในฐานะเป็นหน่วยที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ต้องตระหนักและไม่มองข้าม


           การพูดคุยสันติภาพพร้อมข้อเสนอ 5 ข้อถึงวันนี้แม้ว่าจะยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ด้วยว่าข้อเสนอที่เสมือนขอไปทีของ BRN ได้ชี้ชัดแล้วว่า ขบวนการรู้ดีว่าอย่างไรรัฐบาลไทยก็คงไม่ตอบสนอง จึงอาศัยช่องโหว่นี้ก่อเหตุร้ายไปเรื่อยๆ เพื่อไปให้ถึงวัตถุประสงค์หลักคือการเรียกร้องให้องค์กรระดับโลกเข้ามาแทรกแซงเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการกำหนดใจตนเองของประชาชนแล้วแยกตัวเป็นเอกราชต่อไป “การล้มโต๊ะพูดคุยสันติภาพ” ก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ต้องการสร้างความชอบธรรมเพื่อป่าวประกาศให้นานา ชาติรู้ว่ารัฐบาลไทยไม่ต้องการใช้แนวทางสันติ..... นั่นต่างหากที่เป็นเจตนา

เรื่องป้ายผ้าจึงเป็นเพียงน้ำจิ้มที่ช่วยให้ผักจานใหญ่มีรสชาดขึ้น..ก็เท่านั้น

ซอเก๊าะ นิรนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม