PerMAS กับการจุดชนวน“มหกรรมสันติภาพครบรอบ 10 ปี ความรุนแรงรอบใหม่” ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปี ก่อน เวลาประมาณ 02.00 น. ของคืนวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004) ได้มีกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย จำนวนราว 60 คน บุกเข้าปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส กองกำลังดังกล่าวได้สังหารเจ้าหน้าที่ทหารไป 4 นาย ก่อนหลบหนีไปพร้อมกับอาวุธปืน M-16 และอาวุธปืนสั้นรวม 437 กระบอก ซึ่งค่ายทหารที่ถูกโจมตีดังกล่าวเป็นแค่กองพันทหารพัฒนาที่มาสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มิใช่หน่วยสู้รบแต่อย่างใด โดยข้อเท็จจริงสถานการณ์ความไม่สงบที่มาจาก “รากเหง้า” การแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จุดเริ่มต้นแท้จริงไม่ได้มาจากการ “ปล้นปืน” กองพันพัฒนาที่ 4 (ค่ายปิเหล็ง) อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส อย่างที่สังคมไทยส่วนหนึ่งเข้าใจ แต่ปัญหาความไม่สงบ เนื่องจากความพยายามแบ่งแยกดินแดนของขบวนการโจรใต้ในชื่อต่าง ๆ เช่น บีเอ็นพีพี พูโล มูจาฮีดีน บีอาร์เอ็น ได้จัดตั้งวิธีการต่อสู้มายาวนานแล้ว ดังนั้นปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือความไม่พอใจของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐจึงมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่มีอุดมการณ์ ไม่ใช่โจรใต้ที่อ้างตัวเป็นนักรบ เป็นตัวแทนชาวปาตานีเหมือนสมัยนี้ ทั้งนี้กลุ่มโจรใต้ยังใช้ยุทธศาสตร์เน้นความรุนแรงเพื่อสร้างความหวาดกลัวกับประชาชนในการควบคุมมวลชน รวมทั้งปลุกระดมนำเยาวชนไปเป็นแนวร่วมในการก่อเหตุ โดยใช้ความเป็นชนชาติมลายู ศาสนา และประวัติศาสตร์ บวกกับความไม่เป็นธรรมเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ในขณะที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ใช้ยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นยุทธศาสตร์หลัก โดยมี 6 ยุทธศาสตร์รองอาทิ การเสริมสร้างความเข้าใจ การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การป้องกันและการแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อน การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ความขมขื่นของประชาชนในพื้นที่ ใครกันแน่ที่เป็นผู้กระทำ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมิใช่หรือ? ที่ไปปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 แล้วนำอาวุธปืนดังกล่าวมาก่อเหตุสร้างสถานการณ์ ฆ่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ ก่อนหน้านี้ประชาชนอยู่อย่างสงบสุขไม่เดือดร้อน และหวาดระแวงต่อกัน กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้สร้างบาดแผลให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม ต้องการสร้างความแตกแยก ในขณะที่เจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาพื้นที่ นำความสันติสุขกลับสู่พื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ กลุ่ม BRN หรือ PULO แม้แต่กลุ่มแนวร่วมอีกหลายกลุ่ม เคยทำอะไรเพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่แห่งนี้บ้าง นอกจากวางระเบิด เข่นฆ่าพี่น้องที่เป็นคนไทยด้วยกัน เลือดสีเดียวกัน พี่น้องที่นับถือศาสนาเดียวกัน 10 ปี ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เราได้อะไรจากกลุ่มโจรใต้ พวกนี้บ้าง นอกจาก เสียงปืน เสียงระเบิด รอยเลือด และคราบน้ำตาแห่งความสูญเสีย ในเวทีพูดคุยสันติภาพ ขบวนการพูโล (Patani United Liberation Organisation : PULO) ประสบความสำเร็จในการรวม 3 กลุ่ม ให้เป็นหนึ่งเพื่ออำนาจต่อรองเข้าร่วมวงพูดคุยเพื่อสันติภาพ จำนวน 2 ที่ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าไม่เป็นที่พอใจของ BRN สักเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาได้แสดงบทนำมาโดย ตลอด การเกิดเหตุรุนแรงในห้วงนี้ที่มีการสร้างสถานการณ์รายวันอาจจะเป็นความไม่พอใจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เกิดจากความขัดแย้งแย่งชิงองค์กรนำสร้างสถานการณ์แล้วโยนความผิดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มอื่น เช่น BRN ก่อเหตุแล้วกุข่าวว่า PULO เป็นผู้กระทำ หรือ PULO ก่อเหตุแล้วโยนให้ BRN ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ช่าง ความเลวที่ได้ก่อไว้กับการมุ่งทำลายชีวิตเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ถือได้ว่าการกระทำนั้น “สุดโต่ง” กลุ่มนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า ปัญญาชนอย่าง PerMAS คนทั่วไปต่างรู้ดีว่าเป็นปีกหนึ่งของขบวนการ BRN ในการเคลื่อนไหวงานการเมืองและมวลชนจัดตั้ง จากหลักฐานที่ปรากฏทำให้ยืนยันได้ว่ามีความเชื่อมโยงกันทั้งมิติทางทหารเป็นการต่อสู้ในทางลับ และมิติทางการเมืองเป็นการต่อสู้ทางเปิด ชักนำนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชน ออกมาเคลื่อนไหวโจมตีการแก้ปัญหาของภาครัฐ โดยการใช้เวที Bicara Patani ในการขับเคลื่อนตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ 200 เวที ปัจจุบันได้จัดไปแล้ว 48 เวที มีข้อสังเกตการจัดเวที Bicara Patani ของกลุ่ม PerMAS มีเจตนาแอบแฝง วัตถุประสงค์อำพราง เพื่อเปิดทางให้ชุดปฏิบัติการทางทหารของกลุ่ม BRN เข้าพื้นที่ได้โดยเสรี จากนั้นจะมีการก่อเหตุรุนแรงเกิดขึ้นตามมาหลังจากจัดกิจกรรม การจัดกิจกรรมในบางพื้นที่เชื่อมโยงถึงระดับแกนนำของ BRN ใช้กิจกรรมของ PerMAS อำพรางการประชุมในการวางแผนก่อเหตุให้กับสมาชิก ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่ม PerMAS บางส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุในพื้นที่ และจัดกิจกรรมปลุกระดม อย่างเช่น นายนูรมาน ดอเลาะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในเขตเทศบาลนครยะลา 38 จุด เมื่อ 25 ตุลาคม 2554 ทำหน้าที่สังเกตการณ์และนำระเบิดเข้าพื้นที่ นายสุไฮมิง ดุลละสะ ประธาน PerMAS คนปัจจุบัน เคยร่วมจัดกิจกรรมแอบแฝงเพื่อชี้นำความเป็นเชื้อชาติมลายูปาตานี ให้กับเยาวชนในสถานศึกษาศาสนาทุกระดับ จะเห็นว่าแกนนำของกลุ่มแอบอ้างตัวมาโดยตลอดว่าเป็นตัวแทนของนักศึกษาในสามจังหวัดภาคใต้ แต่แท้จริงแล้ว ก็แค่กลุ่มๆหนึ่ง ที่ต้องการแบ่งแยก เพื่อเอกราชปาตานี เอากลุ่มนักศึกษามาบังหน้า ซึ่งการแสดงออกของพฤติกรรมนายคนนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ การเคลื่อนไหวมีวาระแอบแฝง ซ่อนเร้นผลประโยชน์ ทำเพื่อตัวเอง เหตุใดจึงมองไม่เห็นความทุกข์ของคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้
......อนิจจาประชาชนที่ต่างตั้งตารอคอยสันติภาพ .........ตนไทยปลายด้ามขวาน |
วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556
PerMAS กับการจุดชนวน“มหกรรมสันติภาพครบรอบ 10 ปี ความรุนแรงรอบใหม่”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น