10 ปีกับวิถีคนแดนใต้ บทวิจัยเปื้อนอคติ เปลวเทียนในพายุ
นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เป็นเสมือนระฆังส่งสัญญาณเริ่มการปะทุของไฟใต้ระลอกใหม่ส่งเสียงขึ้นด้วยเหตุการณ์ปล้นปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ซึ่งผู้ก่อเหตุรุนแรงนับร้อยคนบุกเข้าไปในค่ายทหารแล้วลงมือสังหารเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไป 4 นาย พร้อมนำอาวุธปืนจำนวนมากไปด้วยนั้น ฝันร้ายของพี่น้องประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ก็เริ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
เวลาผ่านไป 10 ปี กับหลายร้อยพันเหตุร้ายที่เกิดขึ้น พร้อมกับชีวิตทั้งของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ปลิดปลิวไป เป็นไปตามสัจธรรมที่ว่าภายใต้ภาวะการรบพุ่งที่ต่างฝ่ายต่างใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันย่อมมีการสูญเสีย เปรียบเสมือนการสาดน้ำเข้าหากันย่อมต้องเปียกปอนกันไปทั้งสองฝ่าย แต่ชีวิตของประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องย่อมไม่สมควรที่จะต้องได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งประเด็นนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยมโนธรรมของคู่ขัดแย้งเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีหรือไม่
การวิพากษ์ถึงทางออกรวมถึงรากเหง้าของปัญหาถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทวิเคราะห์จากนักวิชาการผู้ทรงภูมิ การระดมสมองหาทางออกด้วยการกำหนด Road Map มากมายนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งผลงานการวิจัยจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนมากเพื่อหาบทสรุปในการแก้ปัญหาที่ลงตัว แต่สุดท้ายก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ด้วยเหตุผลสำคัญที่มองเห็นได้ง่ายที่สุดคือ บรรดาผู้รู้เหล่านั้นไม่ได้ลงมาสัมผัสกับวิถีชีวิตภายใต้ภาวะความขัดแย้งอย่างแท้จริง มีการใช้ความรู้สึกหรือทัศนคติของตนเองเข้าสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์ ผลที่ออกมาจึงมีความคลาดเคลื่อนตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงมากและมากขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือในท้ายที่สุด ซึ่งสำหรับผลงานทางวิชาการที่มีกระบวนการหาคำตอบอย่างมีหลักการแล้วนับว่าน่าเสียดายแรงกายแรงใจที่ตั้งใจจะใช้ความรู้ความสามารถมาเพื่อช่วยแก้ปัญหา แต่กลับกลายเป็นมาสร้างปัญหาไปซะได้
ผมมีโอกาสได้อ่านงานวิจัยของท่านผู้รู้ท่านจากมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย และนำเสนอในเว็บไซต์ต่างๆ เป็นเรื่องราวที่ท่านผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนโดยมีพื้นฐานข้อมูลเดิมคือ ความแยกขาดจากวิถีชุมชนและการใช้ชีวิตที่ผูกติดกับศาสนาและวัฒนธรรมของคนที่นี่ ภาพของการก่อการร้ายและความรุนแรงในพื้นที่พร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจที่ลงมาปฏิบัติงานจำนวนมากมายซึ่งเป็นเพียงข้อมูลอันน้อยนิดที่ท่านผู้วิจัยมี ประกอบกับท่านเป็นหญิงมุสลิมซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่สามจังหวัดที่ได้รับรู้เพียงเถ้าธุลีของควันระเบิดจากสื่อต่างๆ เท่านั้น ผลงานวิจัยจึงออกมาในเชิงสะท้อนเพียงภาพความขัดแย้งและติดกับอยู่เพียงภาพลบที่ได้จากการเก็บข้อมูลเพียงไม่กี่วัน
นี่จึงเป็นการ “ติดกับดักทางความคิดแบบคู่ตรงข้าม” อย่างแท้จริง
คุยกับทหาร 2 นายตีค่าทหาร 20,000 นาย
ตามแนวทางของงานวิจัยแล้ว การได้พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลที่มีคุณค่าเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเชิงตรรกมีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างแน่ชัด แต่การเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างจากหน่วยสันติพัฒนาเพียงสองนายซึ่งกล่าวถึงการอบรมก่อนลงมาประจำการในภาคใต้ว่ามีระยะเวลาเพียงสองวัน แล้วนำมาสรุปว่าเป็นสาเหตุสำคัญของความไม่เข้าใจในวิถีชุมชน ศาสนาและวัฒนธรรม
คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด จริงอยู่ว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนนอกพื้นที่ได้เข้าใจทุกเรื่องราวด้วยเวลาอันสั้น แต่การเรียนรู้จากการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันต่างหากที่มีคุณค่า และได้ผลมากกว่าการเรียนรู้จากการอบรม และแน่นอนที่สุดคือ ทหารสองท่านนั้นน่าจะอยู่ในพื้นที่นานกว่าท่านผู้วิจัยอย่างแน่นอน
การด่วนสรุปว่าไม่มีความเข้าใจนี้จึงอาจหมายรวมถึงตัวผู้วิจัยเองด้วย และการได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องนั้นสมควรที่จะต้องใช้จำนวนของกลุ่มตัวอย่างอย่างเพียงพอแล้วจึงมาประมวลผลรวมในเชิงสถิติ นั่นจะเป็นการรวบรวมที่ได้ผลใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด การชิงฟันธงว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจถึงวิถีชุมชนจึงเป็นการตีความที่ไร้หลักการโดยสิ้นเชิง
บทสรุปความขัดแย้งในมโนสำนึก
การด่วนสรุปว่าไม่มีความเข้าใจนี้จึงอาจหมายรวมถึงตัวผู้วิจัยเองด้วย และการได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องนั้นสมควรที่จะต้องใช้จำนวนของกลุ่มตัวอย่างอย่างเพียงพอแล้วจึงมาประมวลผลรวมในเชิงสถิติ นั่นจะเป็นการรวบรวมที่ได้ผลใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด การชิงฟันธงว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจถึงวิถีชุมชนจึงเป็นการตีความที่ไร้หลักการโดยสิ้นเชิง
บทสรุปความขัดแย้งในมโนสำนึก
การนำเสนอภาพความขัดแย้งในลักษณะ “พวกเขา” และ “พวกเรา” ในที่นี้หมายถึงสองกรณี คือ ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ และ คนไทยพุทธกับคนมุสลิม บ่งชี้ให้เห็นถึงภาพในจิตใจของผู้วิจัยที่มองเห็นเพียงภาพความแปลกแยกแตกต่างในมโนสำนึกตั้งแต่เริ่มแรก ทำให้บทสรุปของความรักความสามัคคีระหว่างคนที่มีความเชื่อถือศรัทธาแตกต่างแต่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้มาช้านานต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบทสรุปที่บิดเบี้ยวนี้เมื่อถูกสื่อผ่านสื่อมวลชนย่อมส่งผลให้ผู้ที่ไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงจินตนาการเห็นภาพความขัดแย้งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงหรือมีเพียงส่วนน้อยให้เป็นไปตามเจตนาที่ผู้วิจัยได้ตั้งธงไว้ก่อนแล้วล่วงหน้า ส่วนผสมระหว่าง “อคติ” กับ “ความเป็นจริง” จึงไม่สามารถเขย่ารวมกันได้อย่างกลมกลืน เนื่องจากอคติที่มาบดบังหลักวิชา
ถึงวันนี้ภาพการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าอกเข้าใจของคนสองศาสนาบนพื้นฐานของความพยายามเข้าใจซึ่งกันและกันยังมีให้เห็นอยู่มากมาย การร่วมกิจกรรมของเพื่อนบ้านต่างศาสนายังมีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ น่าเสียดายที่ท่านผู้วิจัยมิได้หยิบยกมานำเสนอในลักษณะรักษาสมดุลอย่างมีจิตเป็นกลาง
การสนับสนุนการศึกษาทางศาสนาที่ถูกมองข้าม
ข้อสังเกตุความคลาดเคลื่อนที่มิใช่ความจริงทั้งหมดอีกประการที่ถูกหยิบยกมานำเสนอเพียงด้านเดียวคือ การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ การกล่าวอ้างคำบอกเล่าของชาวบ้านซึ่งเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นที่พัก และโรงเรียนด้วยเหตุสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบทำให้ฝ่ายชาวบ้านไม่พอใจ จริงอยู่ว่าจากการปฏิบัติ หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาไม่พบสิ่งต้องห้ามในสถานศึกษาที่เข้าตรวจค้น ซึ่งทราบว่าทุกครั้งได้มีการชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อความเข้าใจร่วมกัน และเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผลกระทบทางจิตใจของผู้บริหารสถานศึกษาย่อมมีอยู่ในใจ แต่หากมองด้วยใจเป็นธรรมคงไม่มีใครต้องการที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพื่อสร้างผลกระทบต่อการเรียนของลูกหลานหากไม่มีสิ่งชี้นำที่พาดพิงไปถึง และหลายครั้งเช่นเดียวกันที่การตรวจค้นพบทั้งตัวผู้ต้องหาที่มีหมาย ป วิอาญา ระเบิด อุปกรณ์ประกอบระเบิด หรือแม้กระทั่งอาวุธปืนสงครามมากมาย จนถึงขนาดมีคำสั่งปิดโรงเรียนไปหลายแห่งนี่เป็นความจริงอีกเรื่องที่อยากจะสื่อให้สังคมทราบ
ความจริงอีกประการที่อยากจะเสริมเพิ่มเติมให้กับงานวิจัยดังกล่าวคือ การสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนมุสลิมในสามจังหวัดแห่งนี้ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนเป็นจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อคนต่อปี ซึ่งการสนับสนุนเช่นนี้ไม่มีในโรงเรียนของรัฐทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศ นี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานโดยรัฐบาล และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การศึกษาทางศาสนาในสามจังหวัดได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานในโรงเรียนขนาดใหญ่
แต่อีกมุมมองหนึ่งก็ทำให้เกิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขึ้นอีกมากมายราวดอกเห็ด สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเงินสนับสนุนของรัฐบาลนี่เอง
เรื่องราวที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ทั้งผลดีและผลเสียจากการสนับสนุนข้างต้นจะยังไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ เป็นแต่เพียงสงสัยว่าเหตุใดเรื่องราวการสนับสนุนดีๆ เช่นนี้ไม่ถูกนำเสนอในผลงานวิจัย
เรื่องราวที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ทั้งผลดีและผลเสียจากการสนับสนุนข้างต้นจะยังไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ เป็นแต่เพียงสงสัยว่าเหตุใดเรื่องราวการสนับสนุนดีๆ เช่นนี้ไม่ถูกนำเสนอในผลงานวิจัย
ผมเคยถามบาบอหลายท่านถึงสภาพความทรุดโทรมของห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ในพื้นที่ว่าเหตุใดจึงไม่ได้รับการปรับปรุงทั้งที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนมาก คำตอบคือ เป็นความต้องการให้เยาวชนได้เรียนรู้สภาพความเป็นอยู่ตามวิถีที่เรียบง่ายของมุสลิม ซึ่งก็เป็นคำตอบที่ฟังดูมีเหตุผลแต่จะมีเหตุผลอื่นอีกหรือไม่ฝากท่านผู้วิจัยลองลงมาทำวิจัยเรื่องนี้ดูซักครั้ง
ความยุติธรรมกับการก่อการร้าย
หลายปีที่ผ่านมาการติดตามจับกุมผู้กระทำผิดที่ก่อเหตุในพื้นที่มีเป็นจำนวนมาก ภายหลังการจับกุมสิ่งหนึ่งที่เขาเหล่านั้นเรียกร้องเป็นเสียงเดียวกันคือ “ความยุติธรรม” พร้อมกับการช่วยเหลืออย่างออกนอกหน้าขององค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและสิทธิมนุษยชนซึ่งมักเรียกร้องเฉพาะกรณีผู้กระทำผิดจากการก่อความไม่สงบเท่านั้น ที่ต้องบอกว่าเท่านั้นเพราะไม่มีการเรียกร้องสิทธิให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการกระทำของเขาเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อยนอกจากการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ การกล่าวอ้างเรียกร้องความเป็นธรรมจากการสังหารประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช่การเรียกร้องความยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสเป็นธรรมต่างหากที่พวกเขาต้องเข้าไปสู่กระบวนการตามครรลองของกฎหมาย
การเรียกร้องหาเอกราชตามท้องถนนและป้ายจราจรวันนี้ยังมีปรากฎให้เห็นโดยทั่วไปพร้อมๆ กับการก่อเหตุร้ายเพื่อกดดันรัฐบาลควบคู่กับการพูดคุยตามแนวทางสันติที่กำลังดำเนินไป แต่สำหรับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงแล้ว เขาจะไปเรียกร้องความยุติธรรมได้กับใคร
วิจัยปี 50 นำมาเสนอปี 56
จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมทราบว่างานวิจัยดังกล่าวทำไว้ตั้งแต่ปี 50 และมีการนำเสนอผลงานการวิจัยนี้ผ่านสื่อในสมัยนั้นไปแล้ว แต่การนำข้อมูลเดิมซึ่งล้าสมัยมาเผยแพร่ใหม่โดยไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องเวลาที่ล่วงเลยและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของสภาพสังคมจิตวิทยาในพื้นที่จึงอาจสร้างความสับสนต่อผู้อ่านซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สมควร เว้นแต่ผู้รวบรวมจะมีเจตนาแฝงอื่นๆ
ตลอด 10 ปีที่ผมเฝ้าติดตามความเป็นไปในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ได้เห็นการโหมกระพือสถานการณ์ใต้จนเกินจริงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ต้องการมากมาย ชีวิตและความตายกลายเป็นสิ่งหอมหวลสำหรับบุคคลและกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่เข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เสมือนพายุร้ายที่โหมกระหน่ำเข้าใส่เปลวเทียนที่ริบหรี่ใกล้มอดดับ เราจะช่วยกันปกป้องให้ผ่านพ้นไปในวันที่สามารถทำได้ตามบทบาทของแต่ละคน หรือจะเฝ้าดูมันดับลงพร้อมๆ กับชีวิตของคนชายขอบแห่งนี้ พระเจ้าเท่านั้นที่รู้...อามีน
ซอเก๊าะ นิรนาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น