วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

“ความสำเร็จ” ของมินดาเนา กับ “ความล้มเหลว” ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการสันติภาพปาตานี

“ความสำเร็จ” ของมินดาเนา กับ “ความล้มเหลว” ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการสันติภาพปาตานี


             วันที่ 27 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นวันสำคัญของมินดาเนาที่มีพิธีลงนาม The Comprehensive Agreement on Bangsamoro การลงนามดังกล่าวเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งของชาวมินดาเนาภายใต้การนำของขบวนการแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front, MILF) และรัฐบาลฟิลิปปินส์ การรายงานข่าวในสื่อต่างๆ ในประเทศไทยเราโดยเฉพาะจากสื่อกระแสหลักที่เปรียบเทียบ “ความสำเร็จ” ของมินดาเนากับ “ความล้มเลว” ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการสันติภาพปาตานี เหมือนกับ “เด็กทารกกับเด็กมัธยมปลาย?”



             ประสบการณ์ของบังซาโมโรบนเกาะมินดาเนา มีความแตกต่างจากสภาพแวดล้อมที่ปาตานี ในเรื่องกระบวนการสันติภาพมินดาเนามีประสบการณ์มากกว่า 17 ปี นับตั้งแต่ ปี ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) และมีการเจรจาเปิดไม่ต่ำกว่า 60 ครั้ง ไม่นับรวมการเจรจาทางลับอีกหลายครั้งส่วนปาตานีเพิ่งผ่านมาแค่ปีเดียวเอง ซึ่งได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 (ค.ศ.2013) ที่สำคัญมีการพูดคุยแค่ 3 ครั้ง นับตั้งแต่มีการลงนามในกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
ป่วนหนักทุกครั้งก่อนเจรจา?

             มีการตั้งข้อสงสัยจากหลายฝ่าย รวมทั้งกระแสการสนทนาของชาวบ้านตามร้านน้ำชาที่ติดตามข่าวสารกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้น ทุกครั้งก่อนการพูดคุย จะมีการก่อเหตุรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐและเป้าหมายอ่อนแอ ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มไหน? และกระทำไปทำไม?

         ยิ่งไปกว่านั้นความเชื่อมั่นในตัวของนายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนของกลุ่ม BRN ที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นตัวจริงเสียงจริงหรือไม่? เพราะแทบทุกครั้งที่มีการก่อเหตุสิ่งบ่งบอกให้เห็นว่า แกนนำไม่มีเอกภาพในการสั่งการกลุ่ม RKK ในพื้นที่หยุดทำการเคลื่อนไหวได้เลย

          การขาดเอกภาพในการสั่งการเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการก่อเหตุ ข้อมูลเชิงลึกประชาชนในพื้นที่ต่างรู้ดีว่ากลุ่มที่มีความคิดต่างจากรัฐมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม และในแต่ละกลุ่มมีการแยกตัวออกไปจัดตั้งกลุ่มใหม่เป็นเอกเทศ มีแนวความคิด มีอุดมการณ์ แนวทางการต่อสู้เป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นการที่รัฐไทยมีการพูดคุยกับกลุ่ม BRN เพียงกลุ่มเดียวจึงเกิดกระแสต้านจากลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วม


ป่วนหนักกว่าเดิมหลังเลื่อนเจรจาออกไปไม่มีกำหนด?

           เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน อาซิม อดีตผู้อำนวยการข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย จะออกมาสร้างภาพตอกย้ำสร้างความเชื่อมั่นและแข็งแกร่งของโต๊ะสันติภาพในวาระครบรอบ 1 ปี ส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายรู้ว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพยังไม่ล่มพร้อมเดินหน้าต่อ ถึงแม้ในช่วงนี้จะยังไม่มีกำหนดการของการพูดคุยก็ตามที และหากตัวเองพ้นจากตำแหน่งนี้ก็จะมีผู้ที่จะมาทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกแทนตน


           หากย้อนกลับไปดูการก่อเหตุในห้วงที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพได้ห่างหายไปจากหน้าสื่อที่มีการนำเสนอ ข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาแทนที่ในการแย่งชิงในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแต่ละสำนักในการขายข่าวแทน คือการสร้างสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงด้วยการฆ่า สังหาร แล้วเผา “เป้าหมายอ่อนแอ” ทั้งครู พระ ผู้หญิง รวมทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งไทยพุทธและมุสลิม



               การก่อเหตุต้อนรับเดือนเมษายน เดือนแห่งเทศกาลสงกรานต์ ที่ทุกคนต่างรอคอยในการละเล่นสาดน้ำคลายร้อนของคนหนุ่มสาว สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุหรือบุคคลที่เคารพนับถือ ด้วยการลอบวางระเบิดในเขตเทศบาลนครยะลาจำนวนหลายจุด ตั้งแต่บ่ายของวันที่ 6 เมษายน และเช้าของวันที่ 7 เมษายน 2557 สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้ โดยเฉพาะด้านจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถเยียวยาให้กลับคืนมาได้



              ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มขบวนการ BRN หรือกลุ่มอื่นๆ ที่แอบแฝงอยู่ในเงามืด ได้สะท้อนผ่านการก่อเหตุรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการทำลายแหล่งเศรษฐกิจ โจมตีเป้าหมายอ่อนแอ ด้วยการกระทำที่ป่าเถื่อน อำมหิต สุดโต่ง ที่คนปกติเค้าไม่กระทำกัน เช่นการฆ่าตัดคอ การฆ่าแล้วเผาทำลายศพ เพื่อยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง การตอบโต้ของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยไม่เลือกศาสนา เพื่อปลุกเร้าให้คนต่างศาสนาขัดแย้งและใช้ความรุนแรงเข่นฆ่ากันเอง

บทเรียนมินดาเนาเพื่อประโยชน์สันติภาพปาตานี

           การนำเสนอของสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง และสื่อทางเลือกไม่จำเป็นต้องจะต้องมีการนำเสนอในลักษณะเปรียบเทียบ “ความสำเร็จ” ของมินดาเนากับ “ความล้มเลว” ที่ปาตานี เพราะกระบวนการสันติภาพของแต่ละพื้นที่อยู่ในระดับที่แตกต่างกัน อีกทั้งปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งต่างกันโดยสิ้นเชิงการนำเสนอที่ชี้นำทางความคิดที่ไม่สร้างสรรค์ ที่มีการเปรียบเปรยให้เห็นภาพของสันติภาพ“นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายคนหนึ่งกับเด็กทารกคนหนึ่ง”

          สื่อทั้งหลายควรจะถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของมินดาเนา เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างสันติภาพ ณ ปาตานี น่าเสียดายอย่างยิ่งที่แทบไม่มีสื่อที่กระทำเช่นนั้น ตั้งแต่กระบวนการสันติภาพปาตานีริเริ่ม สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ยังไม่ทำหน้าที่ซึ่งเอื้อต่อกระบวนการสันติภาพ แต่ยังเป็น “คนขายข่าว”  เพื่อป้อนความต้องการของผู้บริโภคสื่อเท่านั้น

ใคร?? คือผู้ชี้ชะตาสันติภาพปาตานี

           สื่อมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงตีแผ่พฤติกรรมของกลุ่มขบวนการที่ยังเดินหน้าก่อเหตุสร้างความรุนแรง เปิดเผยความเชื่อมโยงของกลุ่มขบวนการที่สนับสนุนกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ ทำการลักลอบสินค้าหนีภาษี ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน ที่มีผลประโยชน์มหาศาล



            นี่คือต้นเหตุของไฟใต้ที่ไม่รู้จักกับคำว่าสงบ เนื่องจากมีบุคคลบางกลุ่มที่ไม่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เกิดสันติสุข กลุ่มกระบวนการที่ดำรงอยู่ได้เพราะได้รับเงินทุนหล่อเลี้ยงองค์กรจากพ่อค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และจากธุรกิจผิดกฎหมายทุกชนิด สถานการณ์ลักษณะเช่นนี้ยังดำเนินไปยากที่จะแก้ไข เปรียบเสมือนพายเรือวนอยู่ในอ่าง ณ วันนี้ เมื่อวานนี้ หรือเมื่อช่วงหลังเหตุปล้นปืนต้นปี 47 รูปแบบยังคงเป็นเช่นเดิม เพียงแค่เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนตัวละครผู้ที่รับบาดเจ็บ ล้มตาย แต่ผู้ก่อเหตุคือกลุ่มขบวนการBRN และพันธมิตรเดิมๆ ที่แย่งชิงความสงบสุขยัดเหยียดความทุกข์เข็นแสนสาหัสให้กับประชาชนปาตานี



            ประชาชนปาตานีคือผู้กำหนดชี้ชะตาสันติภาพอย่างแท้จริง เปิดรับข้อเท็จจริง
ของข่าวสาร ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบของกลุ่มขบวนการ อย่าหลงเชื่อข่าวลือที่ยังไม่รู้ต้นตอและแหล่งที่มา

           หากวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ ประชาชนชาวปาตานียังคงนิ่งเฉยเป็นทองไม่รู้ร้อน นั้นหมายความว่าเม็ดเงินที่รัฐไทยได้ทุ่มลงไปในการแก้ไขปัญหาไปถึงกว่า 2 แสนล้านบาท ตลอด 11 ปีงบประมาณ กำลังละลายไปกับเสียงระเบิด เปลวเพลิง และความสูญเสียของผู้คน!! แสงริบหรี่แห่งสันติภาพจะดับมอดไป
ชั่วลูกชั่วหลานคงไม่เห็นแสงสว่างเกิดขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม