วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เปิดปาก "พยานปากเอก" ไขปมศพเกลื่อนที่กรือเซะ "ขบวนการหลอกชาวบ้าน แล้วทหารถูกใครหลอก?




โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 หรือที่รู้จักกันดีในนาม "เหตุการณ์กรือเซะ" ซึ่งก่อความสูญเสียชีวิตผู้คนและเจ้าหน้าที่รัฐรวม 108 ชีวิตนั้น จนถึงวันนี้ยังคงเป็นปริศนาดำมืดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุใดวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมนับร้อยคนซึ่งส่วนใหญ่มีเพียง "มีด" กับ "กริช" จึงกล้าบุกเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ซึ่งมีอาวุธครบมือ


และเหตุใดจึงมีการ "ตายหมู่" ที่มัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์อิสลามในดินแดนปลายสุดด้ามขวานเขตประเทศไทย โดยคำตอบของคำถามดังกล่าวนี้ไม่น่าจะเป็นแค่ลักษณะกำปั้นทุบดินที่ว่า "เพราะทหารยิงอาวุธหนักเข้าไป" แต่สิ่งที่น่าค้นหาคือทำไมสถานการณ์จึงประจวบเหมาะและจบลงตรงสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนั้น


การสืบเสาะค้นหาความจริงเบื้องหลังเหตุการณ์มีมาตลอดหลายปีทั้งจากฝ่ายความมั่นคงเอง และคณะกรรมาธิการวิสามัญบางชุดของวุฒิสภา ในส่วนของฝ่ายความมั่นคงนั้นเชื่อว่าเป็นความพยายามของกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนวาดแผนการนี้ขึ้นและจงใจให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่ เพื่อยกประเด็นแบ่งแยกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รัฐปาตานีในอดีต) ขึ้นสู่เวทีนานาชาติขณะที่ฝ่ายกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาบางท่าน (ปัจจุบันเป็นอดีตไปแล้ว) ซึ่งเคยลงพื้นที่ไต่สวนเรื่องนี้เห็นว่า เป็นการวางแผนของฝ่ายความมั่นคงที่รู้ข้อมูลการข่าวมาก่อนล่วงหน้า แต่จงใจให้เกิดการปะทะ โดยเชื่อว่าจะสามารถกวาดล้างขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนได้ทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่อย่างไรก็ดียังมีข้อมูลจากบุคคลในพื้นที่อีกหลายชุดที่อาจจะยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหน ซึ่งจะเรียกว่าเป็น "พยานปากเอก" ก็น่าจะได้ เพราะเขารอดชีวิตโดยบังเอิญจากความรุนแรงที่ไม่แน่ชัดว่าฝ่ายใด "จัดฉาก" ให้เกิดขึ้น


เปิดปาก "พยานปากเอก"


มิง (นามสมมติ) ชายหนุ่มวัยใกล้ 30 ปี คือบุคคลที่เรากำลังพูดถึง เขายืนยันว่ารอดชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 28 เมษาฯ เพราะไม่ได้ไปร่วมก่อเหตุตามนัด!


"จริงๆ ผมน่าจะตายไปแล้วด้วยซ้ำ หากวันนั้น (วันที่ 28 เมษาฯ 2547) ผมไม่มีปัญหาทางบ้านพอดี" มิงเริ่มต้นเรื่องราวของเขาด้วยภาษามลายูถิ่น


เรื่องราวของมิงเป็นที่รับรู้กันในวงแคบ คือเฉพาะตัวเขากับเพื่อนๆ กลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ เขาต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดผวา กระทั่งเวลาล่วงผ่านมานานปี ในวาระครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์กรือเซะ เขาจึงยอมเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเป็นครั้งแรกเพื่อบอกเล่าความจริงบางด้านของเหตุการณ์ร้ายในครั้งนั้นที่เขา(เกือบ) เคยมีส่วนร่วม


มิง เล่าว่า ช่วงปี 2547 เขากำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งใน จ.ยะลา เขาต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยเพราะฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี จึงเลือกเข้าเรียนกะเช้า เพื่อจะได้มีเวลาทำงานในตอนเย็น


"ช่วงที่ผมเรียนอยู่ ผมได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้อง ทุกๆ สัปดาห์ อุสตาซ (ครู) จะเรียกหัวหน้าห้องทุกห้องไปประชุม ทุกครั้งที่มีการประชุมกัน อุสตาซจะให้หัวหน้าห้องทุกห้องหาเด็กในห้องของตนเองมาเข้าร่วมประชุมด้วย 5 คน โดยเน้นว่าต้องเป็นเด็กดี เรียนเก่ง ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าอุสตาซให้หาเด็กมาทำอะไร เพราะเขาบอกเพียงว่ามาทำฮิดายะห์ (นำทาง หรือการชี้นำ) ผมก็นึกว่าเป็นการอบรมธรรมดาทั่วไป"


"ทุกครั้งที่เด็กมาร่วมประชุม อุสตาซจะบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์ของรัฐปาตานีในอดีต จากนั้นก็จะพูดให้เกลียดชังคนนอกศาสนาและเจ้าหน้าที่รัฐ สัปดาห์หนึ่งจะนัดไปฟังบรรยาย 5 วัน โดยผู้ที่มาบรรยายไม่รู้เป็นใครมาจากไหน ไม่มีนักเรียนรู้จัก" มิง เล่าต่อว่า เมื่อเสร็จจากการอบรม หรือ "ฮิดายะห์" แล้ว อุสตาซก็จะนัดพวกนักเรียนให้ไปอบรมต่อตามมัสยิดในพื้นที่ต่างๆ โดยผู้บรรยายจะเปลี่ยนคนไปเรื่อยๆ และเปลี่ยนหัวข้อบรรยายไปเรื่อยๆ เช่น ความรุ่งเรืองของรัฐปาตานีในอดีต, ความเกลียดชังคนไทยพุทธ, ความอยุติธรรมของรัฐบาลไทยที่กระทำต่อคนมลายู

"บรรยากาศตอนบรรยายจะนั่งฟังร่วมกับชาวบ้าน ในมัสยิดเงียบกริบ ไม่มีเสียงอื่นใดเลยนอกจากเสียงของผู้บรรยาย คนที่เข้าร่วมอบรมจะนั่งฟังด้วยความตั้งใจ สนใจ บางคนถึงกับหน้าแดงร้องไห้ บางคนก็แสดงอาการโกธรเกลียดรัฐและคนนอกศาสนา"

มิง บอกว่า หลังจากเดินสายฟังบรรยายได้ประมาณ 2 เดือน ก็เริ่มเข้าสู่การฝึกอบรมขั้นต่อไป"อุสตาซนัดให้ผมกับเพื่อนนักเรียนไปรวมกันที่ชายทะเลแถวๆ อ.เทพา จ.สงขลา และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อทดสอบร่างกาย โดยครั้งแรกครูที่เป็นคนฝึกจะให้วิ่งจับเวลา จากนั้นจะฝึกหลายอย่างมาก มีการฝึกใช้อาวุธโดยใช้ไม้แทนปืนด้วย ฝึกอยู่ 3 วัน 3 คืน เมื่อฝึกเสร็จก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ตอนนั้นผมเริ่มรู้ข้อมูลว่ามีการฝึกกันแบบนี้มาหลายรุ่นแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่ากี่รุ่น รู้แต่เพียงว่ารุ่นของผมเป็นรุ่นสิบกว่าๆ"

และแล้วก็ถึงวันสำคัญซึ่งกลุ่มนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมไม่มีใครรู้ล่วงหน้า..."ช่วงก่อนวันที่28 เมษาฯ อุสตาซก็นัดเด็กนักเรียนไปรวมตัวกันในสถานที่แห่งหนึ่ง (มิงไม่ยอมเปิดเผยว่าเป็นที่ไหน) ผมกับเพื่อนๆ ก็เดินทางไปตามนัด เมื่อไปถึงก็เจอผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนบาบอ (ครูสอนศาสนาชั้นผู้ใหญ่) จากนั้นชายคนนี้ก็เรียกให้ทุกคนไปนั่งร่วมประชุม ซึ่งมีคนไปประมาณร้อยกว่าคน เสร็จแล้วก็ให้ท่องบทสวดเป็นภาษาอาหรับ 3 บท ตอนที่ท่องบทสวดนั้นจะรู้สึกว่าตัวเองใหญ่กว่าคนอื่น เห็นคนอื่นเล็กไปหมด คิดว่าทุกคนที่ไปร่วมพิธีก็รู้สึกแบบเดียวกัน ใครพูดไม่ถูกหูก็จะเข้าไปบีบคอทันที ไม่กลัวใครเลย ยิ่งเห็นทหาร ตำรวจจะเข้าไปบีบคอให้ได้ จากนั้นก็มีการพูดปลุกระดมเรื่องรัฐปาตานีอีก"

"ต่อมาวันที่ 27 เมษาฯ ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน อุสตาซคนเดิมได้นัดให้ไปรวมตัวกันที่น้ำตกแห่งหนึ่งในพื้นที่ โดยกลุ่มของผมไปกัน 20 คน เมื่อไปถึงที่หมายก็ตกใจมากเมื่อเห็นว่าคนที่มาประชุมคราวนี้มีมากกว่าที่ผ่านๆ มา จากที่ได้สอบถามเพื่อนทั้ง 20 คนที่มาด้วยกัน ไม่มีใครรู้จักคนอีกหลายร้อยที่กำลังเข้าร่วมประชุมในคืนนั้นเลย"

มิงเล่าอีกว่า คืนนั้นได้พบกับบาบอคนเดิม และก็มาปลุกระดมเหมือนกับทุกครั้ง เรื่องที่พูดก็เป็นข้อมูลเชิงลบของรัฐ คนนอกศาสนา และตำรวจ ทหาร ขณะที่เขานั่งฟังอยู่อย่างสงบ ก็มีโทรศัพท์จากทางบ้านตามตัวให้เขากลับบ้านด่วน

"จู่ๆ ที่บ้านก็โทร.มา บอกว่ามีปัญหาให้กลับด่วน ผมจึงชวนเพื่อนอีกคนให้กลับด้วยกัน อุสตาซก็ไม่ว่าอะไร เพราะคนเยอะมาก และไม่รู้เรื่องอีกเลยว่าที่น้ำตกแห่งนั้นในคืนนั้นเขาทำอะไรกันต่อ"

มิงบอกว่า เขามาได้ข่าวเกี่ยวกับเพื่อนๆ ที่ไปร่วมประชุมวันนั้นในอีก 1 วันถัดมาว่ามีหลายคนเสียชีวิต

"เพื่อนสิบกว่าคนที่ร่วมประชุมด้วยกันที่น้ำตก ไปตายในวันที่ 28 เมษาฯ ตายที่ อ.สะบ้าย้อย (จ.สงขลา) 3 คน (เป็นนักกีฬาทีมฟุตบอลเยาวชน) ส่วนที่เหลือตายที่มัสยิดกรือเซะ ทีแรกเพื่อนที่กลับมาด้วยกันมาบอก ผมไม่เชื่อ หาว่าเขาโกหก เลยชวนกันไปดู แทบล้มทั้งยืนเลย เพราะในใจรู้แล้วว่าถูกหลอก แต่ไม่รู้ว่าใครหลอก รู้แต่ว่าถูกหลอกแน่นอน หลอกให้เกิดเรื่องแบบนี้ และมีการตายเกิดขึ้น ถือว่าโชคเข้าข้างผม ไม่อย่างนั้นก็คงต้องตายเหมือนเพื่อนๆ ในกลุ่มอย่างแน่นอน"

ทุกวันนี้แม้เวลาจะผ่านมาถึง 7 ปีแล้ว แต่มิงบอกว่ายังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นได้ดี เมื่อครบรอบเหตุการณ์วันที่ 28 เมษาฯในแต่ละปี เขาจะมานั่งคิดย้อนไปถึงช่วงนั้นว่าเขากับเพื่อนๆ ไปทำอะไรกัน โดยเฉพาะการประชุมที่น้ำตกในคืนก่อนวันที่ 28 เมษาฯ

"มันเป็นอะไรที่ลืมยากมาก เพื่อนต้องเจอจุดจบเพราะถูกหลอก เพราะรู้ไม่ทันคน"

แม้จะรู้ว่าถูกหลอก แต่เครื่องหมายคำถามก็ยังมีอยู่มากมายในหัวใจของมิง...

"ผมกับอีกหลายคนที่รอดชีวิตจากวันนั้นได้มานั่งถามกันเองว่าถูกใครหลอกกันแน่ เพราะบาบอและอุสตาซที่มาปลุกระดมก็หายตัวไปหลังจากเกิดเหตุ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ตาย ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐเองก็รู้ทัน แม้ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการสับเปลี่ยนกำลัง ผมเลยไม่รู้ว่าการตายครั้งนั้นเกิดจากกลุ่มขบวนการหลอกหรือเจ้าหน้าที่รัฐหลอกกันแน่" มิงตั้งคำถามทิ้งท้าย

คำถามอันแหลมคมของมิง จะว่าไปก็เป็นคำถามที่กรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภาบางท่านเคยตั้งมาแล้วว่าฝ่ายความมั่นคงน่าจะรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่28 เมษาฯ แต่ทำไมถึงเลือกใช้วิธีการในลักษณะกวาดล้าง หรือเพราะประเมินว่ากำลังคนของฝ่ายก่อความไม่สงบน่าจะมีอยู่เท่านี้ทว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเหตุการณ์วันที่ 28 เมษาฯ โดยเฉพาะที่มัสยิดกรือเซะนั้น ได้กลายเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดการปลุกปั่นปลุกระดมและความแค้น มีเครือข่ายแนวร่วมก่อความไม่สงบขยายวงกว้างมากขึ้นจนเหตุการณ์ความไม่สงบบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน

ฉะนั้นหากเด็กหนุ่มอย่างมิงและเพื่อนๆของเขาถูกคนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรืออ้างว่ามีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหลอกเพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง คำถามที่รัฐต้องตอบก็คือ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะฝ่ายทหารที่ปฏิบัติการในวันนั้นถูกใครหลอก...

ใครกันที่ทำให้เหตุการณ์กรือเซะกลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล และเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟใต้คุโชน?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม