วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

เมื่อคนไทยพุทธกลายเป็น “ผู้เห็นต่าง” เรามาถูกทางแล้ว

จับตาแถลงการณ์ BRN จะเบิกเนตร “บิ๊กตู่” เห็น “ความตายทั้งเป็น” ที่ชายแดนใต้ไม่ปกติได้หรือไม่ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

      วันที่คนในประเทศต่างอยู่ในช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ไม่ว่าจะอย่างสนุกกันเต็มที่อย่างผู้มีอันจะกิน หรือฉลองกันอย่างดิบๆ สุกๆ แบบของคนไม่มีอันจะกินที่หาเช้ากินค่ำ แต่ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งของพื้นที่ประเทศไทย คือ “คนจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ต้องอยู่ในห้วงของการเฉลิมฉลองสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ไทยแบบกล้าๆ กลัวๆ
        
       เนื่องเพราะต้องระวัง หรือคอยป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจาก “ข่าวสะพัด” มาก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มผู้ไม่หวังดีมีแผนก่อเหตุร้ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์
        
       นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่อีกหลายหมื่นคนที่ต้องเฝ้าทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย และจะนะ ในขณะที่เราได้สาดน้ำ และประแป้ง หรือกินดื่มกันอย่างสนุกสนาน
        
       เจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังต้องออกเดินลาดตระเวน สองมือจับปืน ยืนยาม และพร้อมที่จะ “พลีชีพ กับสถานการณ์ของ “สงครามประชาชน ในพื้นที่
        
       เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่อีกราว 300 ชีวิต ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ระดมมาจากทุกภาคของประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังคงขะมักเขม้นอยู่กับ “การกู้เสาไฟฟ้าแรงสูง” ในพื้นที่ ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และในจุดอื่นๆ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีไฟฟ้าใช้อย่างถาวร
        
       แน่นอนว่าสงกรานต์ปีนี้ “คน กฟผ.” ราว 300 ชีวิต อาจจะไม่ได้ไปรวมงานวันสงกรานต์เหมือนกับคนอื่นๆ
        
       ทั้งหมดทั้งปวงที่เกิดขึ้นคือ “ความเลวร้าย” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความเลวรายที่เกิดจากฝีมือ “โจรใต้” หรือคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มี “บีอาร์เอ็น โคออดิเนต” เป็นแกนนำใหญ่ และเริ่มก่อเหตุความไม่สงบระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
        
       และความเลวร้ายที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวงก็มาจาก “ความล้มเหลว” ในการแก้ปัญหาของ “รัฐบาล” ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 5 รัฐบาล จนถึง “รัฐบาลของ คสช.” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. และเป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศมาแล้วเป็นปีที่ 3
        
       แต่ 3 ปีของการเข้ามาบริหารประเทศของ “รัฐบาลทหาร” การแก้ปัญหาในด้านอื่นๆ ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ เพราะหลายอย่างอาจจะทำแล้วได้ผล เช่น การยึดที่หลวงกลับมาเป็นของรัฐ และการจัดระเบียบสังคมอื่นๆ แต่ในเรื่องของการ “ดับไฟใต้” ยังคงไม่มีอะไรที่ดีกว่ารัฐบาลพลเรือนที่ผ่านๆ มา
        
       แม้แต่ในเรื่องของการสร้าง “เอกภาพ” ในการเดินหน้าดับไฟใต้ ในส่วนของ “กองทัพ” เองก็ไม่มีให้เห็น เพราะวันนี้ในกองทัพเองก็ยังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าไฟใต้เกิดจากขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นผู้กระทำ เพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน
        
       สิ่งที่คนในพื้นที่รวมถึงคนทั้งประเทศมักได้ยินมาโดยจากตลอด ทั้งจากเรียวปากของ “ท่านผู้นำ” รวมถึงบรรดาผู้บริหารในกรุงเทพฯ และจากผู้รับผิดชอบในพื้นที่ด้วยคือ “เราเดินมาถูกทางแล้ว” หรือ “สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว” พร้อมชี้ให้ดูตัวเลขจากการก่อเหตุลดลง เมื่อเทียบกับปีนั้น หรือปีโน้น
        
       ทว่า เอาเข้าจริงก็ตอบไม่ได้ว่า “ดีขึ้นตรงไหน” ในเมื่อ “คาร์บอมบ์” ก็ยังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ คนไทยพุทธก็ยังถูกฆ่าเป็นระยะๆ เหตุร้ายในพื้นที่ก็ยังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง และที่สำคัญความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของคนในพื้นที่ที่มีต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็น “กอ.รมน.” หรือ “ศอ.บต.” กลับลดน้อยลงเรื่อยๆ
        
       ความจริงแล้ว “มุสลิม” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่เชื่อ และหวาดระแวงเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เวลานี้กลับยังปรากฏว่า “ไทยพุทธ ยิ่งหวาดระแวง และไม่เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของหน่วยงานของรัฐมากกว่า และมีแต่ทวีความเข้มข้นเพิ่มยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
        
       จนเวลานี้กลับมีภาพของคนไทยพุทธกลายเป็น “ผู้เห็นต่าง” กับหน่วยงานรัฐ กับในนโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลไปแล้วเกือบจะทุกเรื่อง
        
       รวมทั้งยังกลายเป็นกลุ่มคนที่เชื่อว่า โครงการต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ดับไฟใต้ ล้วนเป็นเรื่องของ “การแสวงผลประโยชน์” มี “การค้ากำไร” เกิดขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ หรือขอให้ยุติโครงการที่เห็นว่ามีผลประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับไม่มีผลประโยชน์ต่อประชาชน
        
       13 ปีที่ผ่านมาที่ต้องถือว่าการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงคือ การสร้าง “ความสามัคคี” ให้เกิดขึ้นระหว่างคนไทยพุทธกับคนมุสลิม ซึ่งวันนี้นอกจากไม่ลด “ความหวาดระแวง” ระหว่างกันแล้ว ยังกลายเป็น “ศัตรู” กันอย่างออกนอกหน้าออกตาเสียด้วย
        
       สิ่งนี้ยืนยันได้จากมีการประกาศ “สงครามทางความคิด” จนเกิดความขัดแย้งปรากฏชัดแจ้งในโซเซียลมีเดีย เพียงแต่เป็นการใช้ “วาจา” สาดใส่กัน แทนที่จะปา “ระเบิด” หรือยิง “กระสุนปืน” ใส่กันเท่านั้น
        
       เวลานี้จึงมีคำถามที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนทั้งจาก “ส่วนกลาง” และจาก “พื้นที่” ว่า มีโครงการอะไรบ้างที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และ “ศอ.บต.” ทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมให้จับต้องได้
        
       อันเหมือนอย่าง “ความล้มเหลวที่จับต้องได้” อาทิ การซื้อ “เรือเหาะ” หรือการซื้อเครื่องตรวจระเบิด “จีที 200” เป็นต้น ซึ่งวันนี้กลายเป็น “สิ่งของไร้ค่า” ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบ่อยๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึง “ความผิดพลาด” ของ “กองทัพ” และเป็นเหมือน “หนามแหลม” ที่สังคมใช้กลับไปทิ่มแทงรัฐ
        
       หรือที่ยิ่งนานวันหน่วยงานอย่าง “ศอ.บต.” ยิ่งกลายเป็น “หมู่บ้านกระสุนตก” จากการบริหารโครงการที่คนในพื้นที่เห็นว่า “ไม่โปร่งใส” ไม่ตอบโจทย์ของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ แถมมีการ “ขุดคุ้ย” โครงการต่างๆ ขึ้นมาประจานเหมือนกับว่า “ศอ.บต.” กลายเป็น “จำเลยของสังคม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
        
       จากหน่วยงานที่คนในพื้นที่ให้ความเชื่อมั่น กลายเป็นหน่วยงานที่คนในพื้นที่หวาดระแวง และเห็นถึงผลประโยชน์ที่แอบแฝง หรือซ่อนเร้น จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
        
       13 ปีที่ผ่านมาในการดับไฟใต้ระลอกใหม่ จึงยังเป็น 13 ปีแห่งความล้มเหลว ชนิดที่กล่าวได้ว่า “คลำหาง ไม่พบหาง คลำหัว ไม่พบหัว แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีการปล่อยให้ “สงครามประชาชน” มีการพัฒนาไปข้างหน้า และอาจจะ “ถูกยกระดับ จากความไม่สงบภายในประเทศ จนกลายเป็นเรื่องของภายนอกประเทศได้ในที่สุด
        
       เพราะล่าสุด “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” ได้ออกแถลงการณ์ไปทั่วโลก ว่าด้วยเรื่องการพร้อมเข้าสู่เวทีการเจรจากับ “รัฐไทย” โดยมี “เงื่อนไข หรือข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ 1.ให้เปลี่ยนรูปแบบการเจรจาให้เป็นสากล 2.ต้องมีประชาคมระหว่างประเทศเป็นสักขีพยาน และ 3.ต้องมีคนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
        
       อันทั้ง 3 ข้อเสนอดังกล่าวนับเป็นเรื่องของการออกมา “เคลื่อนไหว ชนิดที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
        
       เพราะก่อนหน้านี้ หรือเมื่อหลายเดือนก่อนมีการตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่า บีอาร์เอ็นเริ่มเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการที่ “ปฏิเสธการเจรจา” ไปเป็น “พร้อมเจรจา” แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่บีอาร์เอ็นเป็นผู้กำหนด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นมียุทธศาสตร์ 2 ทาง คือ ใช้ทั้งงานด้าน “การทหาร” และ “การเมือง ในเวลาเดียวกัน
        
       ถ้าแถลงการณ์ที่ออกมาเป็น “ของจริง นั่นแสดงให้เห็นว่า บีอาร์เอ็นกำลังก้าวออกจาก “ที่มืด มาสู่ “ที่สว่าง จากการเป็น “องค์กรลับ” กลายมาเป็น “องค์กรที่เปิดเผย” ซึ่งอาจจะมาจากการที่บีอาร์เอ็นเองก็เล็งเห็นว่า วันนี้องค์กรของพวกเขากำลังถูกสังคมจับตา และมองเห็นไปอย่างแทบไม่มีอะไรปิดบังอำพราง
        
       เนื่องเพราะสังคมโดยเฉพาะ “สื่อมวลชน” และ “หน่วยงานความมั่นคง” ทราบหมดแล้วว่า บีอาร์เอ็นคือผู้ที่สั่งการให้มีการก่อการร้ายตัวจริง เพื่อแบ่งแยกดินแดนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แถมยังรู้ด้วยว่าในขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ใครที่เป็น “ผู้นำ” และมีการตั้ง “ฐานกำลัง” อยู่ในประเทศมาเลเซียอย่างไร
        
       และที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นการออกมาเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นในครั้งนี้ ต้องได้รับ “ไฟเขียว” จาก “รัฐบาลมาเลเซีย” ในฐานะเจ้าบ้านที่บีอาร์เอ็นไปอาศัยอยู่ เพราะถ้าเจ้าบ้านไม่เปิดไฟเขียว ขบวนการบีอาร์เอ็นจะไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน
        
       อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ทางการมาเลเซียได้เรียก “ดูลเลาะ แวมะนอ” ประธานขบวนการบีอาร์เอ็นคนใหม่ พร้อมคณะเข้าพบ อันเป็นห้วงเวลาก่อนที่จะมีแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นออกมาในเรื่องของการตั้งเงื่อนไขเพื่อเจรจากับรัฐไทยดังกล่าว
        
       เมื่อเป็นเช่นนี้ “รัฐไทย” จึงต้องคิดให้ถูก และคิดให้เป็นว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อวิกฤตปัญหาไฟใต้ต่อไป?!
        
       รัฐบาลไทยควรอย่าไปสนใจข้อเสนอของบีอาร์เอ็น แล้วให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์แบบฟันธงไปเลยว่า แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นเป็น “ของปลอม” ที่ไม่ควรค่าแก่การใส่ใจใดๆ ดังที่มี “นายพล” หลายคนเชื่อเช่นนั้น
        
       หรือปล่อยให้การดับไฟใต้ดำเนินต่อไปแบบเดิมๆ กล่าวคือ รอให้โจรใต้ก่อเหตุวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง หรือขยับขยายเป็นทำลายระบบน้ำประปา ท่อส่งก๊าซ คลังน้ำมัน ฯลฯ แล้วก็แถลงข่าวว่าเป็น “เหตุปกติ” ที่ไม่มี “คนตาย” ส่วนคนในพื้นที่ที่ “ตายทั้งเป็นมากว่า 13 ปี” ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ควรจะ “ใส่ใจ” อย่างนั้นหรือ?!?!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม