วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ผล‘คดีคนร้ายปล้นปืนฐานพระองค์ดำ’


แบมะ ฟาตอนี

               จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 ม.ค.54 เวลาประมาณ 19.30 น.ได้มีคนร้ายประมาณ 40 คน ร่วมกันใช้อาวุธปืนเล็กกลขนาด 7.62 มม. รัสเซี่ยน อาวุธปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มม.) อาวุธปืนเล็กกลขนาด 7.62 มม. นาโต้ อาวุธปืนยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 มม. อาวุธเล็กกลขนาด 7.62 มม. จำนวนหลายกระบอก และวัตถุระเบิดแสวงเครื่องประกอบขึ้นเอง เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ ร้อย.ร.15121 (ฐานพระองค์ดำ)



           ฐานพระองค์ดำ หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 ตั้งอยู่ที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส จากการเข้าโจมตีของคนร้ายในครั้งนั้นส่งผลให้ ร.อ.กฤช คัมภีรญาณ หรือ “ผู้กองบอย” ผู้บังคับกองร้อยทหารราบที่ 15121, ส.อ.เทวารัตน์ เทวา หัวหน้าชุดยิง, ส.อ.ดุลเลาะ ดะหยี และพลฯ ประวิทย์ ชูกลิ่น เสียชีวิต



              การเข้าโจมตีฐานพระองค์ดำของคนร้ายในครั้งนี้ ยังได้ทำการปล้นอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารไปด้วยทั้งสิ้น 65 กระบอก ส่วนหนึ่งเป็นปืนกลเบามินิมิ โดยมี พลทหารยาห์ยา บือราเฮง เป็นไส้ศึกขณะเกิดเหตุเป็นทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในฐานปฏิบัติการณ์ที่ 4 และได้เป็นผู้นำแนวร่วมเข้าโจมตีฐานพระองค์ดำ ส่งผลให้กำลังพลภายในฐานปฏิบัติการ เสียชีวิตจำนวน 4 นาย ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 11 ราย ด้วยกัน



          จากการเก็บรวบรวมหลักฐาน วัตถุพยานในที่เกิดเหตุ นำไปสู่การออกหมายจับกุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ มีจำเลยในคดีนี้ทั้งสิ้น จำนวน 15 ราย ด้วยกัน กล่าวคือ
  • - นายมะตอฮา เซะ จำเลยที่ 1
  • - นายมูหมัดนาพี บูละ จำเลยที่ 2
  • - นายอารีย๊ะ มะแซ จำเลยที่ 3
  • - นายอุษมาน ยาแต จำเลยที่ 4
  • - นายอิสมะแอ กาโล จำเลยที่ 5
  • - นายอัมรัน สะมะแอ จำเลยที่ 6
  • - นายยาห์ยา บือราเฮง จำเลยที่ 7
  • - นายอาบัส สือแต จำเลยที่ 8
  • - นายรุสลาม ลีมาอะ จำเลยที่ 9
  • - นายฮาพีซีน วาแตบือแง จำเลยที่ 10
  • - นายมาหะมะ สารอ จำเลยที่ 11
  • - นายซานูซี ยาแต จำเลยที่ 12
  • - นายสบูรฮัม ปูตะนิง จำเลยที่ 13
  • - นายมะธาฮา ยะสีงอ จำเลยที่ 14
  • - นายอับดุลเลาะ เจ๊ะดอเล๊าะ จำเลยที่ 15



            เมื่อวันที่ 21 พ.ย.55 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่3508/2555 พิพากษาให้จำคุกจำเลย คนละ 35 ปี 12 เดือน จำนวน 3 ราย คือ
  • 1. นายมะตอฮา เซะ จำเลยที่ 1
  • 2. นายอารีย๊ะ มะแซ จำเลยที่ 3
  • 3. นายอาบัส สือแต จำเลยที่ 8
ในคราวเดียวกันนี้ได้มีคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต จำเลย จำนวน 1 ราย คือ
  • นายอุษมาน ยาแต จำเลยที่ 4
             พิพากษาให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นไส้ศึก ขณะเกิดเหตุยังเป็นพลทหารภายในฐานพระองค์ดำ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลดโทษ เหลือจำคุกตลอดชีวิต จำนวน 1 ราย คือ
  • นายยาห์ยา บือราเฮง
          ศาลพิจารณาให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานโจทย์ไม่เพียงพอ แต่ให้ขังไว้ในระหว่างอุทธรณ์คดีความจำเลย จำนวน 9 ราย คือ
  • 1. นายมูหมัดนาพี บูละ จำเลยที่ 2
  • 2. นายอิสมะแอ กาโล จำเลยที่ 5
  • 3. นายอัมรัน สะมะแอ จำเลยที่ 6
  • 4. นายรุสลาม ลีมาอะ จำเลยที่ 9
  • 5. นายฮาพีซีน วาแตบือแง จำเลยที่ 10
  • 6. นายมาหะมะ สารอ จำเลยที่ 11
  • 7. นายซานูซี ยาแต จำเลยที่ 12
  • 8. นายมะธาฮา ยะสีงอ จำเลยที่ 14
  • 9. นายอับดุลเลาะ เจ๊ะดอเล๊าะ จำเลยที่ 15
         ในระหว่างที่มีการดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย มีจำเลย เสียชีวิตระหว่างการพิจารณาคดีความ จำนวน 2 ราย คือ
  • 1. นายฮาพีซัน วาแตบือแง จำเลยที่ 10
  • 2. นายสบูรฮัม ปูตะนิง จำเลยที่ 13
            โจทก์และโจทก์ร่วมทั้ง 6 อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลจังหวัดนราธิวาส ที่ศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 9 ราย ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 และให้จำเลยที่ 1, 3, 4, 7 และที่ 8 ร่วมกันคืนทรัพย์หรือชดใช้ราคาทรัพย์ จำนวน 3,005,435 บาท ให้แก่กองทัพบก

          นี่คือผลของการกระทำของกลุ่มขบวนการ ที่ได้ลงมือปล้นฐานพระองค์ดำ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสังเวยชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายรายด้วยกัน พร้อมทั้งได้ปล้นอาวุธปืนของทางราชการไปด้วย จำนวน 65 กระบอก ซึ่งในภายหลังเจ้าหน้าที่สามารถยึดคืนได้บางส่วน ในคดีนี้มีจำเลยทั้งสิ้น จำนวน 15 ราย แต่ที่มีพยานหลักฐานชัดเจนสามารถเอาผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้จำนวน 5 รายเท่านั้น เนื่องจากสำนวน และพยานหลักฐานไม่เพียงพอมัดตัวเอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้

          สิ่งที่น่าจะเป็นบทเรียนในคดีนี้คงไม่พ้นตัวเอกคือ นายยาห์ยา บือราเฮง ที่เป็นพลทหารภายในหน่วยฐานพระองค์ดำ กระทำตัวเป็นไส้ศึกชักนำแนวร่วมเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ อีกทั้งยังได้ร่วมลงมือก่อเหตุในค่ำคืนวันนั้นด้วย ศาลได้พิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิต แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยังมีความเมตตาได้พิพากษาลดดทษเหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต


           คงเป็นอุทาหรณ์สอนใจสมาชิกแนวร่วมทั้งหลายที่โดนแกนนำหลอกใช้ ท่องจำให้ขึ้นใจ“ไม่ตายก็ติดคุก” ไม่สามารถหนีรอดเงื้อมมือของกฎหมาย จะช้าหรือเร็ววันนั้นจะมาถึง วันที่จะต้องชดใช้ผลกรรมที่ได้กระทำมา ยิ่งในสมัยนี้ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีส่วนช่วยในคดี มีการเก็บรวบรวมหลักฐาน วัตถุพยานในที่เกิดเหตุ นำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาตรวจสอบตัวบุคคลที่กระทำความผิด รวมทั้งกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ตามสถานที่สำคัญต่างๆ มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการพิสูจน์คนร้าย หยุดคิดสักนิดก่อนจะกระทำชั่ว ชะล่าใจทำการลงมือก่อเหตุแล้วลอยนวลไม่โดนจับกุมเหมือนอย่างเช่นในอดีตคงไม่มีอีกต่อไปแล้ว..กรรมใคร กรรมมัน ยังมีอีกหลายคดีที่จะต้องสะสาง คุกตะรางยังคงเปิดอ้ารอต้อนรับสำหรับคนกระทำชั่วตลอด 24 ชั่วโมง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม