วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

"ท่านเวาะห์โต๊ะกือป๊ะ" พระภิกษุผู้เป็นที่พึ่ง "ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม"






จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนอันได้ชื่อว่าเป็นดั่งสังคมพหุวัฒนธรรม อันเป็นพื้นที่ซึ่งมีการอยู่ร่วมกันของผู้คนต่างศาสนา และต่างวัฒนธรรม อันมีหลักฐานเชิงสัญลักษณ์ปรากฏให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศาสนสถาน หรือชุมชนบางหมู่บ้านที่ชาวพุทธและมุสลิมยังคงพึ่งพาอาศัยกันดุจพี่น้อง ตั้งแต่ครั้งบรรพกาลจวบจนปัจจุบัน เฉกเช่นเรื่องราวของ ?พระเรวัตร ถิรสัทโธ? อายุ ๕๐ ปี หรือที่ชาวบ้านไทยพุทธ-มุสลิมเรียกกันติดปากว่า "ท่านเวาะห์"

นายเรวัตร เชาว์ทอง เป็นชื่อและสกุลเดิมของท่านเวาะห์ ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นชาว อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และได้เดินเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์มาแล้วเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี โดยปูมหลังของชีวิตมีบรรพบุรุษนับถือศาสนาอิสลาม กระทั่งมาถึงรุ่นของโยมพ่อซึ่งเป็นชาวพุทธ ส่วนโยมแม่เป็นชาวมุสลิม เป็นคนที่มีนิสัยรักเพื่อน เลือดร้อน มุทะลุ และชอบช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าเห็นใครลำบาก จะต้องเสนอตัวเข้าไปช่วยเหลืออยู่เสมอ จนบางครั้งต้องมีเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งไปทั่ว เพราะนิสัยที่ไม่ยอมเห็นคนถูกรังแกนั่นเอง

เมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น มีเพื่อนทั้งไทยพุทธและมุสลิม ชอบเฮฮาตามประสาคนวัยคะนอง กระทั่งเรียนหนังสือจบจากวิทยาลัยเกษตรกรรมนราธิวาส เพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกันได้เดินทางไปศึกษาต่อในระดับสูง แต่ชีวิตของ เรวัตร เชาว์ทอง ยังคงโลดโผนโจนทะยานในเมืองนราธิวาส กระทั่งเริ่มรู้สึกอยากหาหนทางยุติความรุ่มร้อน เพื่อสงบจิตสงบใจ โดยได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๕ ที่วัดธารากร (บางน้อย) ต.ธารากร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยมี พระครูสุนทรธรรมานุรักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ท่านเวาะห์ศึกษาธรรมที่วัดแห่งนี้เป็นเวลา ๒ ปีเต็ม ก่อนจะมาจำพรรษาที่วัดพิกุลทอง ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็นเวลา ๑๗ ปี จากนั้นจึงได้เดินทางออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีโอกาสไปศึกษาความรู้ต่างๆ กับ หลวงพ่อคง สุวณฺโณ วัดวังสรรพรส ต.บ่อ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ก่อนจะเดินทางกลับมายังจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจำพรรษาที่วัดสถิตชลธาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยปัจจุบันจำพรรษาที่กุฏิซึ่งอยู่ในบริเวณที่ดินท้ายวัดมุจลินทวาปีวิหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

?เราเป็นคนมีฐานะ พ่อแม่ทำธุรกิจค้าผ้า แถมมีทรัพย์สินที่บรรพบุรุษรุ่นทวดสร้างทิ้งไว้ให้ ไม่สนใจความสุขที่แท้จริง ได้แต่โลดโผนไปวันๆ กระทั่งวันหนึ่งอยากหยุดและละวางทุกสิ่งขึ้นมาเฉยๆ จึงตัดสินใจศึกษาธรรมในเส้นทางของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อหาหนทางดับทุกข์ให้กับตัวเอง? ท่านเวาห์ะกล่าว


แม้จะเป็นคนที่มีรากฐานครอบครัวเป็นชาวมุสลิม ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางพุทธศาสนา แต่บัดนี้ ?ท่านเวาะห์? ยังคงมีปฏิสัมพันธ์กับพี่น้องมุสลิมมาตลอด โดยไม่ได้รับเพียงกิจนิมนต์ของญาติโยมชาวพุทธเท่านั้น แต่งานบุญ งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ ร่วมไปถึงพิธีศพของชาวมุสลิม งานมัสยิด ?ท่านเวาะห์? ก็เดินทางไปร่วมงานด้วยตามปกติ ซึ่งถือว่าเป็นพระรูปเดียวที่ไปร่วมงานทั้งของชาวพุทธ และชาวมุสลิม ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ทุกแห่งหนไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีแดงหรือสีอะไรก็ตาม เมื่อมีงานบุญทั้งของพุทธและอิสลามจะพบเห็น "ท่านเวาะห์" เพราะท่านคิดอยู่เสมอว่า ศาสนาใดก็มีเป้าประสงค์เดียวกัน นั่นคือ การช่วยให้ทุกคนพ้นจากบ่วงแห่งความทุกข์ จนทุกวันนี้ชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิม ไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อของภิกษุสงฆ์ที่เรียกขานกันติดปากว่า ?ท่านเวาะห์โต๊ะกือป๊ะ? หรือ ?ท่านเวาะห์อาจารย์ขุนขวาน? ซึ่งมีที่มาจากบุคลิกเมื่อครั้งเป็นฆราวาสที่ชอบพกขวานขนาดเล็ก หรือ ที่ชาวปักษ์ใต้เรียกกันว่า?ลูกขวาน? ติดตัวไปไหนมาไหนตลอดเวลา นั่นเอง

เมื่อถามที่มาของชื่อที่ว่า "ท่านเวาะห์โต๊ะกือป๊ะ" ซึ่งเป็นภาษายาวี พระเรวัตร อธิบายให้ฟังว่า ?ท่านเวาะ นั้นเป็นชื่อทางสงฆ์ที่ชาวพุทธเรียก ส่วน โต๊ะ เป็นคำเรียกของคนมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งมีความหมายว่า ครู ในขณะที่คำว่า กือป๊ะ แปลว่า ขวาน ดังนั้นจึงกลายเป็นชื่อที่เขาเรียกเรากันติดปากในหมู่คนพุทธและคนมลายูในชาย แดนใต้ว่า ท่านเวาะโต๊ะกือป๊ะ? พระเรวัตร ถิรสัทโธ เล่า

ท่านเวาะห์ย้ำว่า ปัจจุบันเราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ การแก้ปัญหาที่เริ่มจากใหญ่ มีอะไรบ้างที่ดี ถ้าเริ่มจากเล็กๆ ใหญ่ข้างหน้าถึงจะดี ทุกวันนี้ความสามัคคีค่อยๆ เรียวเล็กลง เพราะเราไม่แก้ที่ต้นเหตุ นอกจากนี้ควรปลูกฝังให้เด็กมีศาสนา มีคุณธรรม รวมถึงแก้ปัญหาการศึกษาให้ชาวบ้าน ปัญหาชายแดนภาคใต้ ต้องแก้ในระดับราก ต้องแก้โดยคนในพื้นที่ หลักใหญ่ๆ อยู่ที่ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ซึ่งรู้จักคนในหมู่บ้าน มีความรู้ มีความคิดที่จะแก้ไขได้ แต่ที่ผ่านมา ไม่มีโอกาส จึงวุ่นวาย หวาดระแวงไปทั่ว ที่สำคัญการแก้ปัญหา ต้องแก้ให้ตรงประเด็น เริ่มจากต้นเหตุ โดยให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม ถ้ามีโอกาสก็ช่วยกันออกความเห็น ช่วยกันชี้แนะ เพราะทุกคนทุกศาสนามีสิทธิเท่าเทียมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม