วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บทบาท PerMAS กับงานการเมืองสนับสนุน BRN ..........จริงหรือ?



‘อสนียาพร นนทิพากร’


        องค์กรภาคประชาสังคม เป็นอีกกลไกหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการผลักดันขององค์กรต่างชาติ พร้อมทั้งได้สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมให้ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินกิจกรรมเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อภาคประชาชนและรัฐบาล แต่ในปัจจุบันการขับเคลื่อนขององค์กรภาคประชาสังคมได้กลับกลายเป็นปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะองค์กรภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้

      องค์กรภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้บางองค์กร ได้ทำงานการเมืองสนับสนุนกลุ่มขบวนการ BRN  ใช้ยุทธศาสตร์สงครามประชาชนนำไปสู่เป้าหมายคือ “เอกราช”และ“ยุทธศาสตร์วิธีสงครามกองโจร”(ญิฮาด) รวมทั้งสงครามข่าวสาร (IO) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการก่อเหตุของกำลังทหาร ควบคู่กับเน้นงานการเมืองเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย“การกำหนดใจตนเอง”ในการแยกดินแดนเป็นอิสระจากรัฐบาลไทย

       จากการรวบรวมสถิติของหน่วยงานความมั่นคงพบว่า องค์กรภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อต้นปี 47 เป็นต้นมา ในปัจจุบันมีถึง 419 องค์กรด้วยกัน ในนามส่วนตัวของผู้เขียนเองยังคิดเสมอว่าน่าจะมีองค์กรที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม และไม่แสวงหาผลกำไรอยู่ในพื้นที่ แต่ในอีกมิติความคิดหนึ่งเชื่อเหลือเกินว่ามีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ตั้งองค์กรภาคประชาสังคมขึ้นมาบังหน้าเพื่อขอรับเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ แต่น่าเป็นห่วงที่สุดคือตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานการเมืองสนับสนุนแนวร่วมกลุ่มขบวนการ BRN

       กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือกลุ่ม PerMAS เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีความเข้มแข็งมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวในพื้นที่มาโดยตลอด เป็นความคาดหวังของปาตานีเนื่องจากกลุ่มขบวนการ BRN ได้วางบทบาทไว้เพื่อขับเคลื่อนงานการเมืองโดยเฉพาะ ต่อจากนี้เป็นต้นไปต้องจับตามอง และติดตามความเคลื่อนไหวอย่างกระชั้นชิด เนื่องจากรัฐบาลไทยจะสานต่อการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ซึ่งกลุ่ม PerMAS ไม่เห็นด้วยและไม่ต้องการให้เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่ ซึ่งพอจะจับประเด็นความต้องการของกลุ่ม PerMAS ได้จากการจัดกิจกรรมเวทีเสวนา BICARA PATANI ที่ผ่านมา ด้วยการเดินสายทำการปลุกระดมประชาชนปาตานี ต้องการให้มีการลงประชามติเพื่อกำหนดใจตนเอง (Right to Self-Determination) มุ่งไปสู่การแยกตัวเป็นเอกราช นับวันองค์กรนักศึกษากลุ่มนี้มีความสุ่มเสี่ยงเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐไทยเข้าไปทุกขณะ

        รูปแบบการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม PerMAS มีความหลากหลายในการทำกิจกรรม แต่ที่สำคัญคือการเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศ ต่างประเทศที่มีพี่น้องมลายูปาตานีไปประกอบอาชีพ ไปศึกษา หรืออาศัยอยู่ ในลักษณะการปลุกกระแสความรักชาติปาตานี โดยชูประเด็น “SATU PATANI” ขึ้นมา

        กลุ่ม PerMAS มีความพยายามต้องการสื่อให้เห็นว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ขัดแย้งด้วยอาวุธ, เป็นพื้นที่อัตลักษณ์ของตัวเอง, เป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง “สิทธิการเป็นเจ้าของ” และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางต่อพี่น้องมลายูปาตานี จากกรณีเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมตรวจค้นบุคคลเป้าหมาย หรือมีเหตุปะทะจนนำไปสู่การเสียชีวิตของแนวร่วมขบวนการ



       การใช้เวทีระดับนานาชาติในการขับเคลื่อนงานการเมืองของปีกการเมืองกลุ่มขบวนการ BRN อย่างเช่นที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน และเวทีภาคประชาชนอาเซียน (ACSC/APF) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 24 เมษายน 2558 องค์กรภาคประชาสังคม และกลุ่ม PerMAS ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย โดยสำนักสื่อ Wartani และสื่อ Kompas ของ ประเทศอินโดนีเซีย ได้ฉายภาพยนตร์สารคดี“ความล้มเหลวของทุ่งยางแดงโมเดล” นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพบรรยาย “สถานการณ์ซ้อมทรมานในประเทศไทยและภาคใต้” ส่วน นาย อาเต๊ฟ โซ๊ะโก หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) บรรยาย “ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และการละเมิดสิทธิมนุษยชน”



       นาย กามาลุดดีน ฮานาฟี แกนนำกลุ่ม BIPP ได้กล่าวชื่นชมตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมและกลุ่ม PerMAS ที่ร่วมแสดงออกในที่เวทีการประชุมดังกล่าว พร้อมย้ำว่าประชาชนทุกคนและทุกกลุ่ม มีบทบาทและหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการแสดงท่าทีให้กับนานาชาติรับทราบปัญหาในปาตานี ในอนาคตปาตานีจะกลับมาเป็นของพวกเราทุกคน

        มาถึงจุดนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ ไม่ต้องสงสัยต่อไปอีกแล้วกับพฤติกรรมของกลุ่มขบวนการ BRN, BIPP, กลุ่มนักศึกษา PerMAS, องค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กร และกลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่นอีกหลายกลุ่มได้ใช้ยุทธการ “แยกกันเดินร่วมกันตี” จุดหมายเดียวกันคือ “เอกราช” เท่านั้นที่ต้องการ ต่างรู้เห็นเป็นใจกันอย่างดี เพียงแต่บทบาทหน้าที่ต่างกันในการเคลื่อนไหว

       จะเห็นได้ว่ากลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กรได้ใช้สถานะของตัวเองในการโจมตีนโยบายยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทย มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อต้องการสื่อให้นานาชาติได้รับทราบปัญหา เพื่อให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซง การประชุมเวทีระดับนานาชาติมีการเตรียมการในเรื่องที่องค์กรระหว่างประเทศให้ความสนใจเป็นพิเศษไปบรรยายเพื่อต้องการสื่อปัญหา เช่น เรื่องสถานการณ์ซ้อมทรมานในประเทศไทยและภาคใต้, ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

       เป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่อง “สถานการณ์ซ้อมทรมานในประเทศไทยและภาคใต้” ที่ นางอังคณา นีละไพจิตร ได้นำไปบรรยายในเวทีการประชุมในครั้งนี้มีความพยายามสื่อให้นานาชาติได้รับรู้ ซึ่งในความเป็นจริงในปัจจุบันนี้ไม่มีอีกแล้ว กระบวนการซักถามผู้ต้องสงสัยที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้มีการดูแลเป็นอย่างดี มีการตรวจร่างกายจากแพทย์ทั้งก่อนกระบวนการซักถามและหลังจบสิ้นกระบวนการซักถาม เพื่อลดข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว

       การรับสารภาพของผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดมาด้วยการก่อเหตุ และเป็นสมาชิกแนวร่วม RKK ไม่มีการซ้อมทรมานและบังคับขู่เข็ญใดๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส มีการเชิญบิดามารดา ลูกเมีย ผู้นำศาสนาในพื้นที่ร่วมรับฟังทุกขั้นตอนในกระบวนการซักถาม

         ส่วนการบรรยายหัวข้อ “ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ที่บรรยายโดย นายอาเต๊ฟ โซ๊ะโก ทำการสื่อให้เห็นว่ายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ในการติดตามจับกุมได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ใช้หลักของการเจรจาเป็นหลัก เพื่อลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ว่ากับฝ่ายใดก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น มีการประสานผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่นมาช่วยในการเจรจาให้ผู้ต้องสงสัยเข้าทำการมอบตัว

         ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ต่อกรณีกลุ่มขบวนการได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอ เด็กสตรี และคนชรา ด้วยการกระทำการสุดโต่งเข่นฆ่าผู้คนอย่างไร้ความปราณี กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวสนับสนุนกลุ่มขบวนการกลับเงียบเฉยไม่เคยแสดงท่าทีใดๆ เลย ซึ่งองค์กรเหล่านี้เงียบเพื่อคอยเก็บข้อมูลความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วทำการ (IO) ขยายผลให้เป็นเรื่องราวใหญ่โตเพื่อสื่อไปยังต่างชาติได้รับรู้ นี่คือ!!!หน้ากากที่แท้จริงขององค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้



         การโฆษณาชวนเชื่อเป็นงานถนัดขององค์กรภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกลุ่ม PerMAS ในการสร้างการรับรู้ต่อประชาชนปาตานีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่นการเผยแพร่บทความ “การเสียสละของกลุ่ม PerMAS” มุ่งสร้างภาพลักษณ์ต่อองค์กร และเพื่อเป็นการให้กำลังใจต่อ นายสุไฮมี ดูละสะ ประธานกลุ่มฯ ต่อกรณีมีกระแสข่าวว่าได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเนื้อหามุ่งเน้นปลุกระดมให้สมาชิกออกมาร่วมเคลื่อนไหว เนื่องจากกลุ่ม PerMAS เป็นความหวังของสังคมปาตานี



       ขณะที่เว็บไซต์ kabarkampus.com ของอินโดนีเซีย ได้นำเสนอข่าวว่านักศึกษาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังศึกษาอยู่ในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ได้จัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งชาติ (UIN) เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมประจำปี เอเชีย - แอฟริกา ครั้งที่ 60 นำประเด็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนในปาตานีเข้าหารือในที่ประชุม โดยอ้างว่าการใช้อำนาจทางทหารของรัฐบาลไทยเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตของประชาชน

      ที่ผู้เขียนได้หยิบยกในบางประเด็นเพื่อต้องการสื่อให้เห็นความเชื่อมโยงขององค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มนักศึกษา PerMAS ว่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกันกับขบวนการ BRN, BIPP เพื่อให้เห็นธาตุแท้ขององค์กรเหล่านี้ ผู้เขียนมิได้จงใจทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรใดองค์กรหนึ่งอย่างไร้ข้อมูลและทิศทาง และเมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้ไปอ่านเจอบทความเรื่อง “คำสารภาพผู้ก่อเหตุระเบิดเมืองนรา...ฉีกหน้า PerMAS” เขียนโดย “อิมรอน” มีการเผยแพร่บทความลงใน pulony.blogspot.com ซึ่งได้มีการแชร์ต่ออย่างกว้างขวางในเครือข่ายสังคมออนไลน์เมื่อได้อ่านแล้วก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจชวนให้ติดตาม

       เนื้อหาในบทความเป็นการแฉพฤติกรรมของ สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี หรือกลุ่ม PerMAS กับการโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกเร้าในเครือข่ายสังคมออนไลน์ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย มีการวางแผนประสานความร่วมมือไปยังกลุ่มนักศึกษาสถาบันต่างๆ ให้มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่กลุ่ม PerMAS กำหนด เพื่อทำการกดดันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งมีความพยายามให้มีการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทำการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุลอบวางระเบิดเมืองนราธิวาส และในเวลาต่อมาผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้สารภาพความจริงว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุสร้างสถานการณ์ซึ่งเป็นการฉีกหน้ากลุ่ม PerMAS สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เข้าไปอ่านว่าง ๆ 

ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปอ่านความจริงกัน เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มองค์กรบางกลุ่มตามลิ้งด้านล่างนี้ครับ...

http://pulony.blogspot.com/2015/04/permas.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม