วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อังคณามาอีกและ ..... ทุกช่วงนี้ของปี


              ผ่านมาแล้ว 10 ปีเต็มสำหรับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความอยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และก่อความสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อในคราวเดียวมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งตลอดกว่า 10 ปีที่ไฟใต้ลุกโชน


           เหตุการณ์ตากใบเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน ตรงกับวันที่ 25 ต.ค.2547 เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดต่อเนื่องมาคือการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐจนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตมากถึง 85 ราย แม้จะไม่ผิด แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงเพียงท่อนเดียวของเรื่องราวทั้งหมดเท่านั้น

เรื่องจริงที่ตากใบ...

          เหตุการณ์ตากใบเริ่มจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งชาย หญิง และเด็กจำนวนไม่มากนักไปรวมตัวกันที่หน้า สภ.ตากใบ อำเภอชายแดนของ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน จำนวน 6 คน ที่ถูกควบคุมตัวในคดียักยอกทรัพย์และแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป

         ช่วงนั้นมีเหตุคนร้ายบุกปล้นอาวุธปืนตามบ้านผู้นำท้องถิ่นและ ชรบ.อย่างต่อเนื่อง ได้ปืนไปหลายสิบกระบอก โดยทำกันง่าย ๆ แค่สวมหมวกไอ้โม่งบุกเข้าไปตอนกลางคืนก็ได้ปืนไปทุกครั้ง ทำให้บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ "สมรู้ร่วมคิด" หรือ "สมยอม" กันระหว่าง "ผู้ปล้น" กับ "ผู้ถูกปล้น" หรือไม่ จนกระทรวงมหาดไทยต้องคาดโทษว่า หากผู้นำท้องถิ่นหรือ ชรบ.คนใดถูกปล้นปืนไปอีกโดยไม่สมควรแก่เหตุ จักต้องถูกดำเนินคดีในข้อหา "ยักยอกทรัพย์ของทางราชการ" เพราะถือว่ารู้เห็นกับกลุ่มโจร และ ชรบ. 6 คนที่ตากใบก็ถูกจับกุมด้วยเหตุนี้ แต่ชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย จึงจัดชุมนุมขึ้นมา

         วันนั้นจากเช้าจนถึงบ่าย มีจำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันและหลายพันคน ผู้ที่ไปร่วมชุมนุมไม่ได้มีแค่ชาว อ.ตากใบ แต่ยังมีคนจากอำเภออื่นๆ เดินทางไปร่วมเป็นจำนวนมากด้วยการบอกแบบปากต่อปาก ช่วงแรกฝ่ายรัฐพยายามเจรจาต่อรองเพื่อให้สลายการชุมนุม มีการเดินเรื่องประกันตัว ชรบ.ทั้ง 6 คนออกมา และให้ผู้นำท้องถิ่นขึ้นพูดทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม แต่การชุมนุมกลับไม่จบลง แถมยังส่อเค้ารุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ฝ่ายรัฐมองอย่างไม่ไว้ใจว่าน่าจะเป็นการชุมนุมที่เกิดจากการ "จัดตั้ง" และหวังให้เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงตามมา

        ฝ่ายรัฐประเมินว่าแกนนำที่ปลุกปั่นการชุมนุมมีประมาณ 100 คน จึงคิดจับกุมเพื่อแยกแกนนำออกจากผู้ชุมนุม เพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรงหรือแค่มาดู ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ได้แยกย้ายกันกลับบ้าน

        ทว่าแกนนำได้กระจายตัวอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม ทำให้ยากต่อการแยกแยะ สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จนมีเสียงคล้ายปืนดังขึ้น 1 ครั้ง จากนั้นจึงมีการใช้อาวุธ แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ และเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังทหารตำรวจเข้าปิดล้อมกวาดจับผู้ชุมนุมผู้ชายได้จำนวนมาก เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจากการใช้อาวุธ 6 ราย และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 ราย

        ต่อมามีการสั่งให้ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ถอดเสื้อ นอนคว่ำหน้า แล้วนำเสื้อไปมัดมือไพล่หลัง และลำเลียงขึ้นรถยีเอ็มซีโดยการนำไปเรียงซ้อนกัน 2-4 ชั้น เพื่อนำไปสอบปากคำและคัดแยกที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ห่างจาก อ.ตากใบ จุดเกิดเหตุกว่า 150 กิโลเมตร

         การเดินทางที่ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง ประกอบกับความอ่อนเพลียเนื่องจากอยู่ในช่วงถือศีลอด ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวบนรถยีเอ็มซีถึง 78 ราย ส่วนที่รอดชีวิตมาได้จำนวนไม่น้อยก็พิการ แขนขาไม่มีแรง

....... แล้วเธอก็พล่าม ๆ ๆ ๆ  ต่อไป ซ้ำซากอยู่แบบนี้ ทุกปี ทุกปี และทุกปี  จนปีนี้ งานชุมนุมสุมหัว NGO ของพวกเธอ มีคนมาร่วมงานไม่ถึงร้อย ขี้เถ้าตากใบที่เธอพยายามเป่า ให้มันฟุ้งขึ้นมาอีกดูท่าจะเป่าไม่ขึ้นเสียแล้ว เรื่องของป้าอังคณา เลยไม่ถึงหูครูอังอณา เพราะชาวบ้านชาวช่อง เริ่มหูตาสว่าง ปลุกปั่นอย่างไรก็ไม่ขึ้นเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม