วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เสียงสะท้อนครู3จว.ใต้ผ่าน‘ทุ่งยางแดงโมเดล’


เสียงสะท้อนประธานสมาพันธ์ครู 3 จว.ใต้ ผ่าน‘ทุ่งยางแดงโมเดล’  
สมชาย สามารถรายงาน

           เหตุการณ์ผู้ก่อความไม่สงบกว่า 40 คนกระจายกำลังบุกเผาโรงเรียน 6 แห่งในปัตตานีในช่วงกลางดึกวันที่ 13 ตุลาคม สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยสิ่งที่เกิดขึ้นหน่วยความมั่นคงแจ้งว่า การก่อเหตุดังกล่าวเป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐที่วิสามัญฆาตกรรมแกนนำคนสำคัญเสียชีวิต แต่ที่สิ่งสำคัญที่หลายฝ่ายกังวลคือระบบการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ควรจะบูรณาการให้เกิดความรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบเตือนภัยต่างๆ เมื่อเกิดเหตุร้าย

           ด้วยเหตุผลนี้ รัฐบาล พร้อมกองทัพ และหน่วยมั่นคงจะมีแนวความคิดนำยุทธศาสตร์ "ทุ่งยางโมเดล" มาฟื้นฟูบังคับใช้ โดยจะติดตั้งระบบแจ้งสัญญาณเตือนภัยแบบรีโมทในทุกโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งจัดตั้งชุดอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนหมู่บ้าน (อปพร.) ขึ้นมาดูแล ส่วนชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทำหน้าที่ดูแลโรงเรียน และมอบหมายให้ชุดคุ้มครองตำบลทำหน้าที่ดูแลเส้นทางหมู่บ้านทุกแห่ง

            ทั้งนี้ “ทุ่งยางแดงโมเดล” จะมีความสำเร็จมากน้อยเพียงใด "บุญสม ทองศรีพราย" ในฐานะประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในยุทธศาสตร์ทุ่งยางแดงโมเดลไว้อย่างน่าสนใจว่า ต้องขอบคุณฝ่ายทหาร ตำรวจ ปกครอง ที่จะช่วยดูแลชีวิตครูให้มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า หากจะทำอะไรในเวลาที่รวดเร็วและจะให้ประสบความสำเร็จกับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานคงต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะพื้นฐานของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันเหมือนกับคลื่นที่ขึ้นๆ ลงๆ

           "ผมไม่อยากจะเชื่อว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนในปี 2547 จนถึงวันนี้ปัญหาภาคใต้ยืดเยื้อยาวนาน วันนี้มีเพื่อนครูต้องสังเวยชีวิตไปถึง 178 รายเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก แต่ก็รู้สึกดีใจที่เห็นทุกฝ่ายตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ผบ.ทบ. แม่ทัพภาคที่ 4 ศอ.บต. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และฝ่ายการศึกษาของเราเอง กำหนดทุ่งยางแดงโมเดลขึ้นมาดูแลโรงเรียนและนักเรียนใหปลอดภัย”

           ส่วนความสำคัญของยุทธศาสตร์ของ "ทุ่งยางแดงโมเดล" นั้น นายบุญสม มองว่า ที่ผ่านมาแม้การทำงานของเจ้าหน้าที่จะผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ทุกฝ่ายต่างวางเป้าหมายอย่างชัดเจน คือ ครู นักเรียน และโรงเรียนต้องปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยหัวใจหลักของทุ่งยางแดงโมเดลสิ่งแรกคือ เรื่องเครื่องเตือนภัย

         "ถามว่าเรื่องนี้เคยมีมาในอดีตหรือไม่ ต้องบอกว่า ถ้าจำไม่ผิด ในอดีตเคยมีมาแล้ว โดยทุกฝ่ายพยายามทำให้เป็นรูปธรรม แต่ปรากฏว่า มาตรฐานในเรื่องเครื่องมือ หรืออุปกรณ์เตือนภัยของแต่ละหน่วยงานที่จัดซื้อมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานไม่เกิดขึ้น เช่น เสียงดังไม่เหมือนกัน บางเครื่องดังเหมือนเสียงนกหวีด หรือแม้กระทั่งได้รับเครื่องเตือนภัยไม่ครบ บางแห่งได้รับ บางแห่งไม่ได้รับ ไม่ครอบคลุม เพราะต้องอย่าลืมว่า ข้อมูลข่าวสารทุกเรื่อง ฝ่ายตรงข้ามเขารู้หมด เพราะเขาไม่ได้มาศึกษาแค่วันเดียวแล้วลงมือปฏิบัติการ ฉะนั้นโรงเรียนไหนที่ไม่ได้รับ เขาจะลงมือกับโรงเรียนนั้นทันที ดังนั้นจึงอยากฝากว่า เครื่องมือจะต้องทันสมัย ในเมื่อจะทำ ต้องทำให้ดี ผมไม่ขัดข้อง และไม่ขัดแย้ง อุปกรณ์ต้องได้ครอบคลุม และอย่าใช้เวลาในการพิจารณานานนัก”

          ไม่เพียงเท่านี้ ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังได้แจกแจงถึงรายละเอียดปลีกย่อยหากหวังจะให้ทุ่งยางโมเดลถึงฝั่งฝันว่า เจ้าหน้าที่ต้องออกแบบว่า เมื่อมีเครื่องมือเตือนภัย การทำงานจะทำกันอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับครู นักเรียน และโรงเรียน กล่าวคือ เมื่อมีสัญญาณเตือนภัยเกิดขึ้น แสดงว่า ต้องมีเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ต้องรีบจู่โจมเข้ามาช่วยเหลือในทันที ไม่ใช่เมื่อเกิดเสียงสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ทุกคนต้องวิ่งหนี อยากจะฝากเรื่องนี้ไว้ เพราะที่ผ่านมาเราเคยมีเครื่องมือ แต่ล้มเหลวในการดำเนินการ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องนี้ ซึ่งผมจะไม่ขอพูดในรายละเอียด แต่ด้วยความหวังดีต่อแผ่นดิน และอยากให้เข้าใจ เพราะส่วนตัวได้ต่อสู้มากว่า 11 ปีแล้ว

          เมื่อกล่าวถึงความสำเร็จในการป้องกันเหตุเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล นายบุญสม มองว่า ในทางปฏิบัติ "ชุดจู่โจม" มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากใครนึกภาพไม่ออกขอให้ย้อนไปในวันที่ครูจูหลิง ปงกันมูล ถูกทำร้ายเสียชีวิต สาเหตุที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาได้ต้องการรื้อฟื้นอดีต เพราะหากวันนั้นมีชุดจู่โจมเข้าไปช่วยเหลือตัวประกันได้ทัน เชื่อว่า เราจะไม่สูญเสียมากถึงขนาดนี้

         "วันนี้กองทัพภาค 4 คิดจะให้มีชุดจู่โจมขึ้นมา ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การดำเนินการ โดยเฉพาะการจัดวางกำลังของชุดเคลื่อนที่เร็ว หรือชุดจู่โจมมันอยู่ตรงไหน ตรงนี้สำคัญ เพราะต้องเชื่อมโยงกับข้อมูลข่าวสาร เราต้องรู้ว่า ฝ่ายตรงข้ามอยู่ในกลุ่มไหน พื้นที่ไหน สมมุติว่า เกิดเหตุใครคือคนที่มีอำนาจในการสั่งการชุดจู่โจม เพราะก่อนหน้านี้เล่าลือกันว่า วันนั้นที่ครูจูหลิงถูกทำร้าย โดยไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือทันท่วงที เพราะไม่มีคนสั่งการ ผมเห็นด้วยกับการมีชุดจู่โจม แต่เราต้องวางแผนในการปฏิบัติการให้ดี และให้ครอบคลุมพื้นที่โรงเรียนที่เสี่ยงภัยทั้งหมด”

         ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องดูแลพิเศษนั้น ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มองว่า เรื่องนี้พูดกันมายาวนานว่า โรงเรียนไหนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ส่วนตัวเห็นว่า ไม่ต้องมาบอกว่า สีแดง สีเหลือง สีเขียว เอาเป็นว่า ทุกพื้นที่น่ากลัวทั้งสิ้น จึงต้องมีกองกำลังประจำจุด เพราะต้องยอมรับว่า พื้นที่โรงเรียนไม่ได้เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมแคบๆ มันกว้างมาก ดังนั้นต้องมาคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้การป้องกันครอบคลุมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาฝ่ายตรงข้ามแสดงศักยภาพให้เห็นว่า ทำได้โดยดูได้จากการวางเพลิงโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง

          อย่างไรก็ตาม นายบุญสม มองว่าส่วนผสมที่จะทำให้ "ทุ่งยางแดงโมเดล" นำมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คือ การสร้างชุมชนเข้มแข็ง เพราะมีความเชื่อว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องเน้นยุทธศาสตร์ด้านสังคมให้มากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า วันนี้อาจจะเป็นเรื่องยาก เหมือนเช่นที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา แต่ที่สุดเราต้องใช้ยุทธศาสตร์นี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของชุมชน ผู้ปกครอง ผู้นำศาสนา ทุกกลุ่มให้มีความคิดว่า โรงเรียนเป็นของเขา

           ขณะเดียวกันผู้บริหารโรงเรียนต้องไม่ทำตัวให้เป็นปัญหา คนที่อยู่ตรงนี้ ต้องเป็นคนพิเศษ ต้องเรียนรู้ความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม ไม่ไปทำตัวขัดแย้งกับพื้นที่ และเข้ากับสังคมได้ดี หรือแม้กระทั่งทหารที่ไปคุ้มครองครูต้องเข้าได้กับชุมชนได้ดี ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ คำว่า ชุมชนเข้มแข็งคือ ทำให้เขารักโรงเรียน แต่วันนี้โรงเรียนถูกเผา โดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้ ดังนั้นต้องกลับมาคิดว่า ยุทธศาสตร์ง่าย ๆ คือ ไม่ต้องคิดไกล คิดว่า เอาชาวบ้านมาช่วยดูแลเป็นเกราะกำบังให้แก่โรงเรียนต่างๆ

          "เราควรมีงบประมาณในการทำกิจกรรมกับชุมชน ไม่ใช่แค่ปีละ 2 หมื่นบาท เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเสียเงินไปจำนวนมากมายกับเรื่องอื่นๆ ดังนั้นควรจะต้องเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้น แม้ว่าวันนี้จะทำอยู่ แต่ยังไม่สุดซอย สมมุติ 1 ปี โรงเรียนในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น ครูไม่ถูกยิง ไม่ถูกข่มขู่ ไม่มีลอบวางเพลิง รัฐควรจะมีรางวัลตอบแทนหรือไม่ เพราะตราบใดครูยังเสียชีวิต โรงเรียนยังถูกเผาอยู่ แล้วจะไปทำอะไรที่ดีกว่านี้ได้ ถ้าไม่คิดเรื่องแบบนี้ ไม่ต้องคิดเรื่องไกล คิดเรื่องที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดก็พอ"

           มาที่มุมมองเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ให้เห็นว่า เรื่องการตรวจค้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าตรวจผิดไป 1 คน มันขยายผลไปเป็น 100 คน จึงอยากฝากว่า คนที่จะปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ไม่ใช่เป็นใครก็ได้ ต้องเอาคนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของพื้นที่ เพราะการตั้งข้อสังเกตที่ผิดมันเป็นการสร้างความร้าวฉานในความรู้สึก และที่สำคัญวันนี้ สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่นิ่ง จึงต้องอาศัยกองกำลังเข้ามาดูแล แต่ต้องทำคู่ขนานเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้ความเข้าใจ เรื่องประเพณีวัฒนธรรม ทุกอย่างต้องเดินควบคู่กับความมั่นคง

          สุดท้าย ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวทิ้งทายไว้อย่างน่าสนใจว่า การสะท้อนความคิดเห็นในวันนี้ ไม่ได้มีความขัดแย้งกับแนวทางของ ทุ่งยางแดงโมเดล แต่อยากจะช่วยเสนอให้เป็นแนวทางหนึ่งในการตัดสินใจ สิ่งที่สะท้อนในวันนี้ เชื่อว่า มีประโยชน์ จึงอยากฝากถึงนายกรัฐมนตรีก่อนที่โรงเรียนในพื้นที่จะเปิดเทอมวันที่ 1 พฤศจิกายน เพราะถึงวันนี้ทุกอย่างต้องพร้อม โดยเฉพาะมาตรการดูแลโรงเรียน ครู และนักเรียนให้ปลอดภัยอย่างแท้จริง


โรงเรียนที่ถูกลอบวางเพลิงใน 3 จว.ใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลา ตั้งแต่ ม.ค.2547-10 ก.ย.2556
  • ปัตตานี 125 ครั้ง
  • ยะลา 64 ครั้ง
  • นราธิวาส 88 ครั้ง
  • สงขลา 18 ครั้ง

หมายเหตุ ยังไม่รวม เพิ่มอีก 2 โรงในปี 2557 และอีก 6 โรง เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม