กรณีตากใบ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เหตุการณ์เริ่มจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ประท้วงที่ก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุม 6 คน และต่อมารัฐได้ใช้มาตรการในการสลายการชุมนุม จนนำไปสู่การจับกุมผู้ประท้วงและมีผู้เสียชีวิตระหว่างขนส่งผู้ต้องหา 84 ศพ และสูญหายอีกจำนวนมากกว่า 60 คน
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547
แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสได้กำหนดให้คณะกรรมการอิสระมีอำนาจและหน้าที่ในการสอบข้อเท็จจริงถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ความว่า การใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมสถานการณ์และความสงบเรียบร้อย การสลายการชุมนุม การต่อต้านขัดขืนการใช้อำนาจรัฐ การควบคุมตัวผู้ชุมนุมและการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุม ตลอดจนเหตุแห่งการบาดเจ็บและเสียชีวิตมีสาเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร มีพฤติการณ์ประการใด กระทำไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หลักวิชาหรือมาตรฐานในการควบคุมหรือเคลื่อนย้ายบุคคลในสถานการณ์เช่นนั้นหรือไม่ ประการใด หากไม่เป็นไปตามนั้น มีผู้สมควรต้องรับผิดชอบประการใดหรือไม่ และมีมาตรการป้องกันตลอดจนช่วยเหลือหรือแก้ไขเยียวยาเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างไร
ประเด็นพิจารณาของคณะกรรมการอิสระฯ
ในการดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว คณะกรรมการอิสระฯจึงมีมติกำหนดประเด็นเพื่อพิจารณาดังนี้ คือ
- 1.การชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีการจัดตั้งหรือไม่
- 2.ผู้ชุมนุมพกพาอาวุธมาด้วยหรือไม่
- 3.มาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ก่อนการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาสเป็นไปตามมาตรฐานและเหมาะสมหรือไม่
- 4.เหตุผลในการสลายและวิธีการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาสเหมาะสมหรือไม่
- 5.การควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดเหมาะสมและกระทำได้ตามกฎหมายหรือไม่
- 6.การเลือกใช้ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพื่อควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมเหมาะสมหรือไม่
- 7.การเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี มีมาตรฐานหรือไม่
- 8.การใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจาก สภ.อ.ตากใบ จนกระทั่งนำผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เหมาะสมหรือไม่
- 9.การดูแลผู้ถูกควบคุม ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่
- 10. มีผู้สูญหายจากเหตุการณ์ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือไม่
- 11.ผู้รับผิดชอบการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส การขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวจาก สภ.อ.ตากใบไปที่อิงคยุทธบริหาร และการดำเนินการที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี
การชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีการจัดตั้งหรือไม่
ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า การมาชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตลุาคม 2547 มีด้วยกันหลายสาเหตุ แต่มีอยู่ 2 สาเหตุที่มีการแจ้งหรือนัดหมายกันล่วงหน้า คือ การชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทั้ง 6 คน และการมาละหมาดฮายัด (การขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า) ให้แก่ ชรบ. ทั้ง 6 คน ประกอบกับก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเจ้าหน้าที่สองครั้ง ครั้งที่หนึ่งที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ครั้งที่สอง ชาวบ้านอำเภอสุไหงปาดี ไม่พอใจทหาร โดยกล่าวหาว่าทหารยิงปืนถูกขาหญิงไทยมุสลิมคนหนึ่ง แต่เมื่อแพทย์ตรวจแล้วพบว่ามีรอยถลอกเล็กน้อยและไม่ใช่เกิดจากรอยกระสุนปืน แต่การชุมนุมประท้วงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีการถอนทหารออกจากฐานปฏิบัติการดังกล่าว
คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วเห็นว่า การชุมนุมประท้วงที่หน้า สภ.อ.ตากใบ ไม่ว่าจะเป็นพิจารณาข้อมูลเชิงพฤติกรรมของผู้ชุมนุมบางส่วนในขณะเกิดเหตุ หรือหลังเกิดเหตุ เป็นการกระทำที่มีการวางแผนมาก่อนโดยคนกลุ่มหนึ่ง มีการจัดตั้งคล้ายกับการชุมนุมคัดค้านเจ้าหน้าที่ก่อนหน้านั้นสองครั้ง ที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส โดยเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ มีความมุ่งหมายที่กำหนดไว้แน่นนอน การเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. 6 คนเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างเท่านั้น
แกนนำผู้ชุมชนดูเสมือนจงใจให้การชุมนุมเกิดขึ้นช่วงเดือนถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม จงใจให้เกิดการยืดเยื้อ น่าจะมีเบื้องหลังมากกว่าการชุมนุมเรียกร้องตามปกติ มีการวางแผนยั่วยุเจ้าหน้าที่
ในขณะที่กลุ่มคนมาชุมนุมประท้วง เจ้าหน้าที่ระบุได้เฉพาะแกนนำกลุ่มหนึ่งประมาณ 30 คนที่อยู่ด้านหน้าเท่านั้น ผู้ชุมนุมที่เหลือไม่สามารถแยกแยะได้ว่าผู้ใดบ้างที่มาร่วมชุมนุมเพราะคำชักชวนหรือได้รับแจ้งให้มาละหมาดฮายัดให้ ชรบ.หรือมาให้กำลังใจ ชรบ.หรือเป็นประเภทที่มาดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น มาทราบชัดเจนเมื่อมีการควบคุมตัวและมีการซักถามในภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่มาเพราะอยากรู้อยากเห็นหรือถูกชักชวนให้มาร่วมละหมาดฮายัด หรือมาให้กำลังใจ ชรบ.ทั้ง 6 คน
รายระเอียดประเด็นพิจารณาที่ 2
ผู้ชุมนุมพกพาอาวุธมาด้วยหรือไม่
ปรากฏข้อเท็จจริงจากภาครัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งได้สอบถามในภายหลังสรุปได้ดังนี้ ภาครัฐ ทั้งรายงานของ กอ.สสส.จชต. ที่กราบเรียนนายกรัฐมนตรีและคำชี้แจงของ มทภ.4 (พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี) สรุปได้ว่าในกลุ่มชุมนุมมีการพกพาอาวุธมาด้วย ภาคประชาชน สำหรับกรณีที่ทางการได้ตรวจพบอาวุธสงคราม ระเบิด มีดดาบในแม่น้ำหลังสลายการชุมนุมในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 26 ตุลาคม 2547) นั้น ผู้ถูกควบคุมซึ่งให้ข้อมูลในภายหลังทุกคนยืนยันว่า ในที่ชุมนุมไม่ได้พบเห็นว่า มีผู้ใดพกพาอาวุธเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ และในการเดินผ่านด่านหรือจุดสกัดต่างๆ จะถูกตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอย่างละเอียด ผู้ให้ข้อมูลบางคนให้ปากคำว่าระหว่างสลายการชุมนุม ถ้ามีอาวุธคงมีการใช้อาวุธตอบโต้เจ้าหน้าที่อย่างแน่นอนและการสูญเสียของฝ่ายเจ้าหน้าที่คงมีมากกว่านี้
คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว เห็นว่าการที่ภาครัฐรายงานว่าผู้เข้าชุมนุมบางส่วนซุกซ่อนอาวุธมาด้วยนั้น โดยเฉพาะอาวุธสงครามและกระสุนจำนวนมากที่เจ้าหน้าที่ยึดได้หลังจากสลายการชุมนุมในวันนั้น และจากการที่งมอาวุธได้จากแม่น้ำต้องมีหลักฐานมาอ้างมากกว่านี้จึงจะทำให้เชื่อได้ อย่างไรก็ดี รอยกระสุนปืนที่โรงพัก ต้นไม้หรือที่พักในสวนสาธารณะมีทิศทางมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากกระสุนที่มีทิศทางมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม ก็แสดงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ ซึ่งคงมีจำนวนไม่มากและไม่กี่คนเท่านั้น เพราะถ้าแกนนำผู้ชุมนุมมีอาวุธมากจริงและใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่แบบต่อสู้กัน เจ้าหน้าที่คงตายและบาดเจ็บอีกหลายคน
รายระเอียดประเด็นพิจารณาที่ 3
มาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ก่อนการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เหมาะสมหรือไม่
ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ได้ตั้งด่านสกัดผู้เดินทางไม่ให้ไปยัง สภ.อ.ตากใบ แต่ไม่สามารถสกัดกั้นได้ ข้อเท็จจริงปรากฏต่อไปด้วยว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงคือ รอง ผอ.สสส.จชต. (นายศิวะ แสงมณี) มทภ.4 ปลัดจังหวัดนราธิวาส และผู้นำศาสนาอิสลาม และบิดาของ ชรบ.ซึ่งต้องคดีคนหนึ่งและมารดาของ ชรบ.ซึ่งต้องคดีอีกคนหนึ่ง ได้พยายามเจรจาด้วยภาษาไทยและภาษามลายูท้องถิ่นหลายครั้งเพื่อขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับไป รวมทั้งได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่าให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับไป มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จำต้องสลายการชุมนุม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วเห็นว่า มาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นการสกัดกั้นผู้เดินทางไม่ให้เข้าไปยัง สภ.อ.ตากใบ หรือการเจรจา 5 ถึง 6 ครั้ง ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ ผู้นำทางศาสนา และบิดามารดาของ ชรบ. 6 คน ที่ถูกจับกุมนั้น เป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอิสระมีข้อสังเกตว่า หากการสกัดกั้นมิให้ผู้เดินทางเข้าไปยัง สภ.อ.ตากใบประสบความสำเร็จ ผู้ชุมนุมอาจจะมีจำนวนน้อยกว่านี้
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงจากการสอบถามผู้ชุมนุมในภายหลัง ปรากฏว่า การพูดผ่านเครื่องขยายเสียง เพื่อให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับไปนั้น ผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ได้ยิน เพราะมีแกนนำในการชุมนุมพยายามโห่ร้องส่งเสียงดังอยู่เสมอ คณะกรรมการอิสระจึงมีข้อสังเกตว่า ในการใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อเจรจากับผู้ชุมนุมนั้น ควรคำนึงถึงกำลังของเครื่องขยายเสียงกับการโห่ร้องส่งเสียงดังของแกนนำในการชุมนุม เพื่อกลับเสียงจากเครื่องขยายเสียงและทิศทางที่ลมพัดพาด้วย
รายระเอียดประเด็นพิจารณาที่ 4
เหตุผลในการสลายและวิธีการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เหมาะสมหรือไม่
ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ในการวางแผนสลายการชุมนุม ที่ประชุมของผู้บริหารระดับสุงในพื้นที่ได้ข้อสรุปว่า จะเจรจาขอร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับไปและหากเวลา 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่แยกย้ายกันกลับไป และเกิดเหตุจลาจลขึ้น มทภ.4 ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตามประกาศกฎอัยการศึก จะเป็นผู้ใช้อำนาจสั่งสลายการชุมนุม โดยให้ ผบ.พล.ร.5 (พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร) เป็นผู้ควบคุมตามหลักสากลในการใช้กำลัง ซึ่งถือว่ากองพลทหารราบ เป็นหน่วยทางยุทธวิธีสูงสุด และเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. การเจรจาเพื่อขอให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับไป ยังไม่ประสบความสำเร็จ สถานการณ์เริ่มตึงเครียด กลุ่มผู้ชุมนุมใช้สิ่งของต่างๆ ก้อนอิฐ เศษไม้ ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่และพยายามใช้กำภลังเข้ามาภายใน สภ.อ.ตากใบ ชุดปราบจลาจลจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส เข้าผลักดันฝูงชน แต่สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ฝูงชนใช้กำลังโถมเข้าหาเจ้าหน้าที่ มทภ.4 จึงมีคำสั่งให้สลายการชุมนุม โดยการใช้น้ำจากรถดับเพลิงของเทศบาลตำบลตากใบฉีดน้ำเข้าใส่ฝูงชน ใช้แก๊สน้ำตา และขณะเดียวกันมีเสียงปืนดังขึ้นมาจากทางด้านผู้ชุมนุม ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บสาหัสหนึ่งนาย เจ้าหน้าที่จึงยิงปืนขึ้นฟ้าหลายชุด และใช้เวลาในการสลายการชุมนุมประมาณ 30 นาที จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
การสลายการชุมนุมทำให้ฝ่ายผู้ชุมนุมเสียชีวิต 7 ศพ (5 ศพถูกกระสุนปืนที่บริเวณศีรษะ) เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย (1 นายถูกกระสุนปืน) ผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัว 1,370 คน คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วเห็นว่า เจ้าหน้าที่มีเหตุอันสมควรที่เชื่อได้ว่า หากปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อออกไป ก็จะทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จนมิอาจควบคุมได้ และอาจเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ต่อสถานที่ราชการ และเจ้าหน้าที่ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก และบางส่วนก็มีการวางแผนล่วงหน้า พร้อมทั้งมีไม้ ก้อนหินและอาจมีอาวุธอื่นๆ ซุกซ่อนอยู่ ประกอบกับภาวะความกดดันอย่างรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ ที่ต่อเนื่องมายาวนาน การตัดสินใจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จึงถือได้ว่า เป็นไปตามเหตุผลและความจำเป็นของสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงวิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์และทหารพรานซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการเข้าสลายการชุมนุมนั้นคณะกรรมการอิสระเห็นว่า เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผนและวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล อย่างไรก็ตาม การใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการสลายการชุมนุมตลอดจนใช้อาวุธและกระสุนจริงเป็นความจำเป็นตามสถานการณ์ ดังนั้น เมื่อมีการเสียชีวิตและการบาดเจ็บเกิดขึ้นทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่ จึงควรเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องดำเนินการพิสูจน์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายต่อไป
สำหรับกรณีที่มีข่าวว่า มีการจ่อยิงศีรษะผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้น ผลจากการชันสูตรพลิกศพไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธปืนจ่อยิงผู้ร่วมชุมนุมแต่อย่างใด
รายระเอียดประเด็นพิจารณาที่ 5
การควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดเหมาะสมและกระทำได้ตามกฎหมายหรือไม่
ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ก่อนการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ประสงค์จะควบคุมตัว เฉพาะบุคคลที่เป็นแกนนำ ในการชุมนุมเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จึงตัดสินใจควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมด และเมื่อมีคำสั่งให้ผู้ถูกควบคุมทั้งหมดถอดเสื้อออก จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่อาจทราบได้ว่า ผู้ถูกควบคุมคนใดเป็นแกนนำในการชุมนุม
คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ต้องการควบคุมเฉพาะกลุ่มแกนนำประมาณ 30 ถึง 40 คน เท่านั้น จึงเตรียมใช้รถบรรทุกที่ขนส่งทหารพราน จำนวน 4 คัน เพื่อขนส่งผู้ถูกควบคุมตัว แต่เมื่อมีการควบคุมตัวผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากขึ้น เพราะไม่สามารถจำแนกแกนนำจากผู้ร่วมชุมนุมได้ จำเป็นต้องปรับแผนเอาตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดไว้ก่อน แล้วค่อยคัดออกในภายหลัง เป็นเหตุให้เกิดความบกพร่อง ในการเตรียมการและการปฏิบัติหลายประการ
สำหรับการกักตัวผู้ชุมนุมนั้น มทภ.4 มีอำนาจกักตัวผู้ชุมนุมไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ตามมาตร 15 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457
รายระเอียดประเด็นพิจารณาที่ 6
การเลือกใช้ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพื่อควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมเหมาะสมหรือไม่
คณะกรรมการอิสระพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า การเลือกใช้ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพื่อควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมเป็นการเลือกที่เหมาะสมแล้ว เพราะมีผู้ถูกควบคุมจำนวนมาก สถานที่ที่จะใช้ควบคุมตัวในจังหวัดนราธิวาส มีไม่เพียงพอ และไม่เหมาะสม จึงตัดสินใจใช้ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เนื่องจากมีเรือนจำทหารที่จะใช้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้ และมีโรงพยาบาลทหาร ที่จะรักษาพยาบาลผู้ถูกควบคุมตัวที่ป่วยและบาดเจ็บได้
รายระเอียดประเด็นพิจารณาที่ 7
การเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี มีมาตรฐานหรือไม่
ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า จำนวนรถบรรทุกที่ใช้ขนส่งเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจำนวน 1,370 คน มีไม่เพียงพอ จึงได้สั่งให้นำรถบรรทุกทั้งของทหารและตำรวจมาเพิ่ม
คณะกรรมการอิสระพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเห็นว่า การเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร ค่อนข้างจะเป็นไปด้วยความสับสนและฉุกละหุกภายใต้สถานการณ์ขณะนั้น เมื่อความเสียหายอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นเพราะมีคนตายมาก จึงต้องทบทวนหาข้อบกพร่องในทุกขั้นตอน
การเตรียมรถในช่วงเวลาฉุกละหุก แม้จำนวนรถจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ถ้าเชื่อตามเอกสารที่ทหารจัดส่งมาให้ คือมีรถของตำรวจ ทหาร และนาวิกโยธิน รวม 28 คัน และจำนวนผู้ถูกควบคุมซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน เพิ่งมาทราบทีหลังว่ากว่า 1,300 คน คิดเฉลี่ยคันละกว่า 50 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่บรรทุกได้ แต่เมื่อรถคันแรกๆ บรรทุกไม่ถึง 50 คน คันหลังต้องบรรทุกมากกว่า 50 คน โดยแน่แท้ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องพยายามบรรทุกให้หมด อีกทั้งต้องมารับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกสกัดและควบคุมตัวไว้ที่สามแยกตากใบก็ต้องพยายามบรรทุกคนขึ้นไปให้หมด ผลจึงปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอยู่ในรถบรรทุกคันหลังๆ
การกระท่าของผู้ถูกควบคุมบนรถบรรทุก
สำหรับวิธีการเคลื่อนย้ายนั้น ผู้ถูกควบคุมส่วนใหญ่อ้างว่าถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้าทับซ้อนกันหลายชั้น บางคนพูดถึง 3-4 ชั้น ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าให้นั่งไปและยืนไป มีรถคันหนึ่งในสี่คันแรกที่มีการนอนทับซ้อนกัน และต้องมาขนลงหลังจากที่ ผบช.ภ.9 และ มทภ.4 มาพบและสั่งให้เอาลง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนซึ่งถ่ายภาพรถบรรทุกผู้ควบคุมคันหนึ่ง ซึ่งนอนทับซ้อนกันหลายชั้นได้ชี้แจงว่าได้ยิน ผบช.ภ.9 และ มทภ.4 สั่งให้เจ้าหน้าที่เอาคนลงมา แต่ไม่ได้อยู่ดูว่ามีการปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่
คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า น่าจะฟังได้ว่ามีการเอาผู้ชุมนุมนอนทับซ้อนกันจริงในรถบรรทุกคันแรกของขบวนแรกจนผู้บังคับบัญชามาเห็น จึงสั่งให้เอาคนลงมาและจัดขึ้นไปใหม่ ซึ่งต่อมาไม่น่าจะมีการสั่งให้เอาคนนอนทับซ้อนกันหลายชั้นเช่นนั้นอีก
อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีการทับซ้อนในรถคันหลังๆ เพราะจากรายงานของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานด้านการแพทย์และพยาบาล ซึ่งพิจารณาผลชันสูตรพลิกศพ และจากการสอบถามแพทย์ผู้รักษาผู้บาดเจ็บ และการเยี่ยมผู้บาดเจ็บล้วนสรุปได้ว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ถูกควบคุมอยู่ในสถาวะอ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้เต็มที ขาดอาหารและน้ำประกอบกับได้รับอากาศหายใจน้อย เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรงลงและจากการกดทับ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้ง “แนวนอน แนวดิ่ง และแนวเฉียง” เพราะการบรรทุกที่แน่นเกินไป หลายรายตายจากสาเหตุจากการถูกกดทับ ที่หน้าอก หลายรายมีภาวะเสียสมดุลของสารในเลือด มีภาวะการทำลายกล้ามเนื้อเกิดขึ้น (Rhabdomyolysis) และอาจมีอาการไตวายชนิดเฉียบพลัน(Acute renal fallure) ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การทับกันคงมีจริง แต่ทับแบบไหน แนวนอน แนวดิ่ง หรือแนวเฉียง ซึ่งทุกแนวทำให้เกิด Compression Syndromeทำให้กล้ามเนื้อขาดเลือดไปเลี้ยงได้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ถึงแก่ความตายได้หากเกิดขึ้นเป็นเวลานาน
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือรถบรรทุกคันหลังเสียเวลาการลำเลียงคนลงนานกว่าคันแรกๆ ประกอบกับการอัดทับ และความอ่อนเพลียจากการอดอาหารและน้ำ เสียแรงตลอดทั้งวัน ความต้านทานของร่างกายจึงน้อยลง
นอกจากนี้ ผลการชันสูตรพลิกศพยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตมาจากสาเหตุคอหัก และไม่มีร่องรอยของการรัดคอหรือการครอบถุงพลาสติค
คณะกรรมการเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต้องถือว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก ละเลยไม่ดูแลการลำเลียงและเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อย ที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์ และมุ่งแต่เพียงปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนจึงไม่อาจคาดได้ว่าจะเกิดการตายเช่นนี้
รายระเอียดประเด็นพิจารณาที่ 8
การใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจาก สภ.อ.ตากใบ จนกระทั่งนำผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เหมาะสมหรือไม่
ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า รถบรรทุกผู้ถูกควบคุมขบวนที่สอง(จำนวน 22 คัน หรือ 24 คัน) ซึ่งพบผู้เสียชีวิต 77 รายใช้เวลาเดินทางจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ประมาณ 5 ชั่วโมง โดยมีการหยุดระหว่างทางเนื่องจากมีการวางเรือใบหรือการเปลี่ยนเวรหรือรับผู้ถูกควบคุมเพิ่มขึ้น และใช้เวลาลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุกอีกนานจนแล้วเสร็จคันสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 เนื่องจากสภาพถนนหน้าเรือนจำทหารบกในค่ายอิงคยุทธบริหารมีขนาดเล็ก รถบรรทุกไม่สามารถเข้าไปพร้อมๆ กันได้หลายคัน
คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า เนื่องจากระยะเวลาการเดินทางจาก สภ.อ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารซึ่งห่างประมาณ 150 กิโลเมตร มีการหยุดระหว่างทางและขบวนรถเป็นขบวนที่ยาว 22 คัน หรือ 24 คัน การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะเป็นเวลากลางคืนมีฝนตกหนัก มีการวางสิ่งกีดขวาง ประกอบกับมีข่าวว่าจะมีการชิงตัวผู้ถูกควบคุมตัว ทำให้การเดินทางไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วเท่าที่ควร ระยะเวลาที่ใช้มายังค่ายอิงคยุทธบริหาร 5 ชั่วโมง จึงเป็นระยะเวลาเหมาะสมภายใต้วิสัย และพฤติการณ์ในสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว
สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ณ เรือนจำทหารบกในค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น คณะกรรมการอิสระเห็นว่า ด้วยสภาพถนนหน้าเรือนจำทหารบกแคบรถบรรทุกไม่สามารถเข้าไปพร้อมๆ กัน หรือสวนกันได้ทำให้การลำเลียงคนลงเป็นไปอย่างล่าช้าระยะเวลาที่ใช้ในการลำเลียงคนลงจากรถบรรทุก จึงเหมาะสมตามเหตุการณ์และสภาพของสถานที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้การใช้เวลาในการลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ณ เรือนจำทหารบก จะเป็นไปอย่างเหมาะสม ตามสถานการณ์ก็ตาม คณะกรรมการอิสระเห็นว่า เมื่อมีการพบผู้เสียชีวิตในรถบรรทุกแล้ว เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลการลำเลียง มิได้สั่งให้ดำเนินการใดกับรถบรรทุกที่จอดรออยู่หรือแจ้งให้ผู้ควบคุมรถของรถบรรทุกคันอื่นๆ ทราบ เพื่อดำเนินการใดๆ เช่น รีบนำผู้ถูกควบคุมลงพื้นด่วนเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น การละเลยไม่คำนึงถึงการบรรเทาความเสียหายดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น และเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบ
รายระเอียดประเด็นพิจารณาที่ 9
การดูแลผู้ถูกควบคุม ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่
ผู้ถูกควบคุมตัวและเจ้าหน้าที่ต่างให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่าการดูแลผู้ถูกควบคุมที่บริเวณเรือนจำจังหวัดทหารบก ที่โรงพยาบาล ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นไปอย่างดี ซึ่งยังรวมไปถึงการช่วยเหลือของแพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ทั้งของจังหวัดปัตตานี และจังหวัดข้างเคียง ซึ่งได้รับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารไปรักษาพยาบาลต่อ คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่าผู้ถูกควบคุมและผู้เจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างดีมีประสิทธิภาพและเหมาะสมแล้ว
รายระเอียดประเด็นพิจารณาที่ 10
มีผู้สูญหายจากเหตุการณ์ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือไม่
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ณ ขณะนี้มีบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ได้หายไปจำนวน 7 คน โดยมีการแจ้งเรื่องราวไว้ต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสแล้ว
คณะกรรมการอิสระเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานพื้นที่ ต้องเร่งสืบหาข้อเท็จจริงเป็นการด่วน และประสานไปยังทายาทของผู้สูญหาย พร้อมทั้งจัดการเยียวยา บำรุงขวัญในเบื้องต้น เพื่อให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่มิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเจ้าหน้าที่มีความห่วงใยในความเป็นอยู่ และทุกข์สุขของประชาชนโดยทั่วถึงเป็นอย่างดียิ่งตลอดมา
รายระเอียดประเด็นพิจารณาที่ 11
ผู้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส การขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวจาก สภ.อ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร และการดำเนินการที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี
ในการพิจารณาว่าผู้ใดควรรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ คณะกรรมการอิสระ เห็นว่าเมื่อ มทภ.4 ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2547 เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกในเขตอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มทภ.4 จึงมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในสถานที่เกี่ยวกับยุทธ์ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร (มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457) ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าในการวางแผนการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ มทภ.4 ได้สั่งให้ ผบ.พล.ร.5 (พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร) เป็นผู้ควบคุมกำลังและเป็นหน่วยภาคยุทธวิธีในการดำเนินการ
ผู้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมใน สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส และการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี
คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.พล.ร.5 เป็นผู้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งรับผิดชอบในการควบคุมตัวผู้ชุมนุม การลำเลียงผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุก และการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมซึ่งถูกควบคุมตัวบนรถบรรทุกไปยังเรือนจำจังหวัดทหารบก ค่ายอิงยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี และปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.ต.เฉลิมชัย วุรุฬห์เพชร ไม่ได้อยู่ควบคุมดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรีที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา
ผู้รับผิดชอบที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รอง มทภ.4 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานการข่าวและสายงานยุทธการได้รับคำสั่งจาก มทภ.4 ให้จัดเตรียมทั้งน้ำ อาหาร และพื้นที่ เพื่อรองรับผู้ถูกควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ดังนั้น เมื่อการลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุกที่เรือนจำจังหวัดทหารบกปัตตานี ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร และพบว่าในรถบรรทุกมีคนตาย แต่กลับมิได้มีคำสั่งหรือดำเนินการใดๆ กับผู้ควบคุมรถบรรทุกหรือผู้ถูกควบคุมที่จอดรออยู่ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้น จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา
ผู้รับผิดชอบในสถานการณ์โดยรวม
โดยที่ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มทภ.4 เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเมื่อประกาศกฎอัยการศึก แม้จะได้มอบหมายให้ พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.พล.ร.5 และ พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รอง มทภ.4 เป็นผู้รับผิดชอบตามที่กล่าว ใน 11.1 และ 11.2 แล้วก็ตาม มทภ.4 ก็ยังคงต้องรับผิดชอบในการติดตาม ควบคุม และสอดส่องดูแลว่าภารกิจที่ได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ปฏิบัติประสบความสำเร็จ หรือมีปัญหาความยุ่งยากประการใด แม้จะมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อเวลาประมาณ 01.30 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 มทภ.4 ก็ได้ทราบข่าวว่ามีคนตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหารประมาณ 70 คน แล้ว แต่ก็มิได้ดำเนินการอะไร จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2547 มทภ.4 จึงเข้ามาที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อมาตอบข้อสอบถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ซึ่งเดินทางมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อหาข้อมูลการตายของผู้ชุมนุม 78 คน คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มทภ.4 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีหน้าที่ติดตามดูแลภารกิจที่ได้มอบหมาย ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติอย่างใกล้ชิด
บทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เริ่มก่อเหตุการณ์คือกลุ่มแกนนำบางคนที่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ละคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อบกพร่องไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ อนึ่ง ในเหตุการณ์นี้มีข้อสังเกตว่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หลายท่านได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ กล้าหาญ จึงต้องนำเหตุการณ์นี้มาศึกษาเสนอแนะเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นนี้ขึ้นอีก และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมากระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบมายังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึงและไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนี้ ภาคที่ 4
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระฯ
1.ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม
เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเสียชีวิตในกรณีมีการชุมนุมประท้วงเช่นนี้อีก ให้ชุดปราบจลาจลของตำรวจที่ได้รับการฝึกอบรม และมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์การปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นหลัก สำหรับชุดปราบปรามจลาจลของฝ่ายทหาร จะใช้เป็นกองหนุนในกรณีที่กำลังตำรวจมีไม่พอเท่านั้น และห้ามติดอาวุธ
2.ข้อเสนอแนะในการควบคุมตัวและการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม
- 2.1 ในการควบคุมตัวผู้ชุมนุม ควรควบคุมเฉพาะแกนนำในการชุมนุม หรือผู้ต้องสงสัยเท่านั้น และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ควรจัดให้มีการสอบสวนเบื้องต้น เพื่อแยกประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ควรต้องมีมาตรการเพื่อเปิดทางให้ประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมถอนตัวออกจากที่ชุมนุมได้
- 2.2 ยานพาหนะที่ใช้ต้องจัดให้มีจำนวนมากเพียงพอ และต้องมีเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรควบคุมขบวน
- 2.3 หากระยะทางที่ไกล ควรจัดให้ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนได้นั่งไป
- 3.1 การจัดตั้งองค์กรบริหารราชการ ควรจัดตั้งให้มีลักษณะพลเรือนมากขึ้น โดยให้องค์กรประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
- 3.2 ควรใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร และน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา″
- 3.3 ควรนำองค์กรเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนในระดับตำบล และหมู่บ้านทุกองค์กรมาสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
สังคมต้องเรียนรู้ความจริงกรณีตากใบ
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2547
ในสังคมอารยะ การเรียนรู้ความผิดพลาดร้ายแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในรัฐ เป็นความจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ กับประชาชน เพราะจะทำให้สังคมเข้าใจรากเหง้าของความผิดพลาด และสามารถที่จะมองเห็นแนวทางในการร่วมกันแก้ไขปัญหา หรือปรับปรุงกลไกต่างๆ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความผิดพลาดครั้งต่อไปอีก
หากถือกันตามที่คนในรัฐบาลกล่าวอ้างว่า เหตุโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นที่ตากใบ เป็นเพียงความผิดพลาดในการปฏิบัติราชการ ข้ออ้างที่ไม่ยอมให้เผยแพร่วีซีดีบันทึกเหตุการณ์รุนแรงที่ตากใบ ก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะระบบราชการเป็นกลไกรับใช้ประชาชน และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลใกล้ชิดของประชาชน สังคมจึงต้องรับรู้และเรียนรู้ความผิดพลาดในการปฏิบัติราชการ จึงจะสามารถช่วยกันหาทางไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก
การที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างความมั่นคงของรัฐในการปกปิดวีซีดีกรณีตากใบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปกปิดกลับจะทำให้สังคม และรัฐสูญเสียความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงของรัฐมากยิ่งกว่าการเปิดเผยความจริงเสียอีก
แท้จริงแล้ว การอ้างความมั่นคงของรัฐ เป็นเพียงเพื่อจะปกปิดความผิดพลาดของการสั่งการในระดับสูง และความผิดพลาดของกรอบความคิดในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเท่ากับการปกปิดเพื่อความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาล มิหนำซ้ำ การอ้างไม่สมเหตุสมผลยังเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ของสังคม และอาจจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงในอนาคต
การที่รัฐบาลไม่เห็นสมควรให้มีการเปิดเผยวีซีดีนั้นเป็นเพียงความเชื่อ ซึ่งไม่มีทางที่จะปกปิดได้ ในเมื่อการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารทุกวันนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องของอำนาจสั่งการจากรัฐบาลอันไม่ชอบด้วยเหตุผล จะสามารถควบคุมได้ ในที่สุดก็เชื่อได้ว่า ระยะอีกไม่นาน วีซีดีชุดนี้จะได้รับเผยแพร่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในวงกว้าง
แม้ว่ารัฐบาลนี้อาจมั่นใจว่า นโยบายประชานิยมจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจ แต่เมื่อวีซีดีชุดนี้แพร่หลายออกไปกว้างขวางมากขึ้น ก็จะส่งผลให้คนไทยสูญเสียความไม่ไว้วางใจ ในการตัดสินใจใช้อำนาจของภาครัฐ เพราะไม่มีใครจะมั่นใจได้ว่า รัฐบาลอาจจะใช้ความรุนแรงดังเช่นกรณีที่ตากใบ
สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำในวันนี้ จึงไม่ใช่การปกปิดข้อมูลข่าวสารด้วยการใช้อำนาจรัฐ หากแต่ต้องเปิดเผยต่อสังคม เพื่อสังคมจะได้รับรู้ความจริงด้วยความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในวันนี้ ทางออกเพื่อความมั่นคงของสังคมและเสถียรภาพของภาครัฐในเรื่องวีซีดีตากใบนี้ อาจเหลือทางเลือกที่ทำให้รัฐบาลต้องนำมาเปิดเผยและถ่ายทอดวีซีดีบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านทางโทรทัศน์ โดยมีคนกลางสรุปให้เห็นความผิดพลาดและนำเสนอทางแก้ปัญหาที่เป็นสมานฉันท์ และร่วมกันคลี่คลายความตึงเครียดที่ดำรงอยู่ในสังคมวันนี้ให้มากที่สุด
หากทำได้ รัฐบาลนี้คงได้เป็นรัฐบาลอีกครั้งจากการเลือกตั้งที่จะมาถึง แต่หากไม่กล้าจะเปิดเผยความจริงในกรณีตากใบ การปกปิดครั้งนี้นอกจากจะเป็นข้อวิพากษ์ติดหลังรัฐบาลไปตลอด ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อภาครัฐและสังคม
มีการตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น หากยังมีความจริงอะไรที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องใส่ใจกับเสรีภาพในการรับรู้ และนำไปซึ่งการตรวจสอบของสังคมที่เกี่ยวกับชีวิตของแต่ละผู้คน เพื่อให้มีความรู้สึกถึงความปลอดภัย โดยไม่ตกอยู่ในความไม่แน่นอน หรืออยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดที่ปราศจากขอบเขตของภาครัฐ
ส่วนกรณีที่ยังมีการตายเกิดขึ้นรายวันในสามจังหวัดชายแดนใต้นั้น เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับไม่ได้ และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการจัดการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากอ่านข้อเสนอของนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ก็จะไม่พบเลยว่ามีใครเห็นด้วยกับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นรายวันเลย
การเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนท่าทีแก้ปัญหาภาคใต้ จึงไม่ใช่เพราะต้องการจะปล่อยให้มีการฆ่ากันรายวันได้อย่างสะดวก หากแต่เล็งเห็นแล้วว่า การปล่อยให้รัฐบาลใช้วิธีอย่างเช่นที่ทำมาหนึ่งปีนั้น รังแต่จะก่อปัญหาให้รุนแรง ซับซ้อนจนยากแก่การแก้ไขมากขึ้นเรื่อยๆ และยังบ่งบอกอีกว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์สิ่งที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “มาถูกทางแล้ว” นั้นเป็นจริงหรือ?
ข้อเสนอให้เปิดเผยความจริงกรณีตากใบ เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันของทุกฝ่าย เพื่อคิดหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสมนั่นเอง
หากความตึงเครียดในสังคมไทยที่ทวีมากขึ้นนี้ รังแต่จะก่อความไร้เสถียรภาพมากขึ้น และหากผลกระทบนั้นมีต่อเราทุกคนแล้ว การเผยแพร่ความเป็นจริงอาจจะช่วยลดทอนปัญหาความตึงเครียดเหล่านี้ลง และยังอาจช่วยกันบอกต่อเพื่อเป็นพลังให้รัฐบาลได้ดำเนินการในสิ่ง “คิดถูก-ทำถูก” ต่อไป
ปากคำของผู้ได้รับบาดเจ็บ กรณีตากใบ
หลังเกิดเหตุการณ์ตายหมู่ จากการสลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เวลานี้ ก็เป็นไปตามความคาดหมายของผู้คนที่ติดตามเหตุการณ์ในพื้นที่นี้มาตลอด อันปรากฏให้เห็นจากปรากฏการณ์ฆ่ารายวัน ที่เพิ่มความถี่ยิบและรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกที
ในขณะที่ความลับดำมืดเกี่ยวกับการชุมนุมและการตายหมู่เกือบ 100 ศพ ยังคงค้างคาอยู่ในความรู้สึกของผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้โดยตรง คำถามที่ว่า ขนคนกันอย่างไร ถึงได้ตายกันมากมายอย่างนี้ ไปจนถึงคำถามเกี่ยวกับจำนวนคนสูญหาย จึงยังปรากฏอยู่ทั่วไป ในสังคมชาวมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ถึงแม้ตลอดเวลาที่ผ่านมา จะมีผู้คนพยายามเข้ามาช่วยกันคลี่คลายปมต่างๆ มากมายหลายคณะ และวันเวลาผ่านไปกว่า 21 สัปดาห์แล้วก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่ยังคงมีคำถามเช่นนี้ ปากคำของ “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 108/1 หมู่ 9 ตำบลไพรวัลย์ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการขนย้ายผู้ชุมนุม จากหน้าที่ว่าการอำเภอตากใบ ไปยังกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้าค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จึงยังคงมีคุณค่ามากพอที่ควรจะบันทึกไว้
ขณะนี้ “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” ยังคงนอนพักรักษาตัวอยู่ที่ตึกอายุรกรรมชาย 1 เตียง 31 ชั้น 9 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (โรงพยาบาล มอ.) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในสภาพมีผ้าพันแผลที่แขนซ้ายและบั้นท้าย ตั้งแต่ต้นแขนทั้งสองข้างถึงปลายมือ และปลายเท้าบวม มีรอยเจาะที่ลำคอข้างขวา มีสายยางสอดอยู่ตามลำตัว ใบหน้า และขาเต็มไปด้วยรอยถลอก
ถึงวันที่ “ประชาไท” มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมถามไถ่อาการ “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” ถูกนำฟอกไตมาแล้ว 3 ครั้ง ภายใต้การดูแลของ “นายแพทย์ณปกรณ์ แสงฉาย” คำบอกเล่าของ “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” ที่น่าสนใจอย่างยิ่งอยู่ตรงที่เขาถูกคลุม “ถุงดำ″ หลังจากถูกมัดแขน มัดขา นำขึ้นรถมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร
บ้านของ “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” อยู่ห่างจากโรงพักตากใบ ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุม 6 กิโลเมตรโดยประมาณ หลังจากได้ยินเพื่อนบ้านหลายคนบอกว่า มีคนชุมนุมกันที่โรงพักตากใบ เวลาประมาณ 11.00 น. “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” ก็ขับมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้าน มาดูว่ามีคนชุมนุมกันกี่คน ชุมนุมกันเรื่องอะไร ถึงที่เกิดเหตุก็นำรถไปจอดแถวหัวสะพานเกาะยาว เยื้องกับโรงพักตากใบ เข้าไปดูใกล้ๆ ที่ชุมนุม แล้วก็ติดอยู่ในนั้น จนกระทั่ง เวลาประมาณ 15.00 น. ทหารก็ฉีดน้ำ
“ตอนนั้น ผมอยู่ตรงหน้าโรงพัก พอได้ยินเสียงปืน ผมเลยวิ่งหนีไปที่สะพาน จะเอารถมอเตอร์ไซด์ออก แต่ไม่ทัน ก่อนจะถึงสะพานมีบ้านไม้ร้าง ผมจึงวิ่งหนีเข้าไปหลบในนั้น ทั้งที่หายใจไม่ออกและแสบตา ผมอยู่ในนั้นไม่ถึง 10 นาที พื้นบ้านหักขา ผมโผล่ลงใต้ถุน ทหารที่อยู่ใกล้ๆ ก็เลยมาจับขาผมดึงลงใต้ถุน พอทหารจับได้ตัว เขาก็เตะๆๆ ที่เจ็บที่สุด คือ เตะเข้าข้างหลังผม ทหารเตะจนผมทรุด เขาก็จับถอดเสื้อ แล้วเอาเชือกมามัดมือไขว้หลัง และมัดขา
เชือกที่ใช้มัดเส้นเล็กมาก ขนาดเล็กกว่าปากกาอีก ตรงนี้มีรถทหารจอดอยู่ใกล้กัน คันหนึ่ง มีรั้วสูงแต่ไม่มีผ้าใบคลุม ตอนนั้น มีคนกูกจับแล้วหลายคน พอทหารมัดผมเสร็จ เขาเอาถุงดำมาสวม ขนาดพอดีกับหัว แต่ไม่ได้มัดปากถุง ผมยังหายใจได้อยู่ จากนั้น ก็จับผมยกแล้วก็ดันขึ้นรถ ผมมองอะไรไม่เห็นแล้ว ไม่รู้ว่า บนรถมีใครอยู่บ้าง แต่พอขึ้นไปข้างบน ผมยังยืนอยู่ได้
ต่อมา มีคนมาผลักแล้วสั่งให้นอนคว่ำหน้า ผมพยามแข็งขืนไม่ยอมนอนคว่ำ จึงถูกเตะเข้าสีข้างอีก จนต้องยอม ผมนอนคว่ำหน้าอยู่ติดฝากระบะรถด้านในสุด นอนขวางทางยาวของรถ ผมอยู่ล่างสุด ตอนนั้นมองอะไรไม่เห็น ได้ยินแต่เสียง บางคนร้องโอดโอย ขอความช่วยเหลือ แต่ก็ถูกเตะ ผมได้ยินเสียงคนแก่คนหนึ่ง กล่าวปฏิญาณตน เพื่อระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า ก็ถูกเตะด้วย
พอมีคนมาทับข้างหลังหลายๆ คน ผมก็ถามว่า ถูกคลุมถุงดำด้วยหรือเปล่า มีคนบอกว่า ถูกคลุมด้วย คนที่บอกว่าไม่ถูกคลุมก็มี พอขึ้นไปบนรถไม่นาน ผมรู้สึกกระหายน้ำมาก เลยตะโกนบอกทหารว่า ขอน้ำหน่อย ก็มีเสียงตอบมาว่า “จะเอาน้ำหรือ, เอาตีนไปดีกว่า″ พูดจบ ก็เอาเท้าย่ำไปที่กลางหลัง ผมต้องเงียบ คนอื่นที่ขอน้ำ ก็จะโดนแบบเดียวกัน หรือไม่ก็โดนตีด้วยด้ามปืน
รถเริ่มออกจากตรงนั้น ประมาณ 6 โมงเย็นน่าจะได้ ผมร้อนมาก เหงื่อเต็มหัว อึดอัดมาก หายใจไม่ออก เหนื่อยมาก แต่ยังไม่ถึงกับสลบ ขยับตัวไม่ได้เลย ไม่มีแรง ผมไม่รู้ตัวเลยว่า คนที่นอนอยู่ข้างๆ กับคนที่อยู่ข้างบนผม ตายตั้งแต่ตอนไหน เพราะไม่มีเสียงอะไรเลย มารู้ตอนที่ผมเรียกเขาว่า พี่ๆ ขยับหัวนิดหนึ่งได้มั้ย แต่ไม่มีเสียงตอบรับ
ระหว่างทาง รถจอดหลายครั้ง บางครั้งจอดนานมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รถจอด ผมรู้สึกตัวขึ้นมา ก็มีคนที่ถูกจับมาด้วยกัน เชือกที่มัดมือเขาหลุด เลยช่วยถอดถุงดำที่คลุมหน้าออกให้ แล้วช่วยแก้เชือกที่มัดมือไขว้หลัง และเชือกที่มัดเท้า ทิ้งข้างทาง
พอถอดถุงออก ผมมองอะไรไม่ชัด ตาพร่าไปหมด ผมถามว่า เราอยู่ที่ไหน เขาบอกว่า ปาลัส (เทศบาลตำบลปาลัส อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี) ผมถามคนที่ถูกจับมาด้วยกันว่า พวกเขาทำอะไรอยู่ มีคนบอกว่า ทหารกินข้าวกันอยู่ ผมบอกว่า หายใจไม่ออก เขาก็ช่วยกดหน้าอก ช่วยบีบท้องให้ เพื่อนๆ ที่ถูกจับมาด้วยกัน พยายามยกผมลุกขึ้นนั่ง เป็นคนสุดท้าย แต่ผมนั่งไม่ได้ เพราะเจ็บหลัง เพื่อนๆ เลย ต้องจับเอาไว้
พวกที่ถูกจับมาด้วยกัน ขอทหารลุกขึ้นนั่งยองๆ เพราะคนแน่นมาก เขาไม่ว่าอะไร แต่ไม่ยอมให้ยืน
ส่วนคนที่ตายในรถ เพื่อนๆ ช่วยกันจัดศพให้เรียบร้อย มีคนบอกผมว่า มีคนตาย 8 คน เพื่อนๆ เอาไปตั้งซ้อนๆ กันตรงกลาง 3 – 4 ชั้น คนที่ยังไม่ตายก็นั่งลงข้างๆ บางคนนั่งบนศพ จนถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร
ตอนรถจอดที่ปาลัส มีทหารคุมอยู่ 3 คน แต่มองเห็นไม่ชัดว่า เขาใส่ชุดอะไร รถหยุดที่นี่ประมาณ 40 นาที หรือเกือบ 1 ชั่วโมง มีคนถามว่าอีกนานมั้ย จะได้ไป ทหารที่อยู่บนรถบอกว่า “ตามใจกู กูจะไปตอนไหนก็ได้ พวกมึงอยู่นิ่งๆ แล้วกัน ไม่ต้องมาสนใจ”
พอรถออก ก็มีทหารขึ้นมาอีก 3 – 4 คน ขึ้นไปอยู่บนหลังคาตรงห้องคนขับรถ 1 คน อยู่ที่ฝากระบะหลัง 2 – 3 คน ที่เหลือเกาะอยู่ข้างรถ รถออกจากปาลัสมาก็ไม่จอดอีกเลย มาถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร น่าจะประมาณตี 1 ตี 2 เพราะตอนที่อยู่ที่ปาลัส ผมถามกี่โมงแล้ว คนที่ถูกจับมาด้วยกัน บอกว่าเที่ยงคืนแล้ว
พอมาถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร ขณะที่คนอื่นทยอยลงไปได้ ผมต้องให้คนที่ถูกจับมาด้วยกัน ช่วยประคองลงจากรถ ตอนนั้นผมเห็นทหารให้คนที่ถูกจับมาด้วยกันนั่งเป็นแถว บนพื้นปูนในเต้นท์ แถวละ 5 คน เพื่อนๆ นำผมไปวางไว้บนพื้นหญ้า เพราะต้องนอน นั่งไม่ได้ ทั้งเจ็บหลัง ทั้งหมดแรง
จากนั้น ก็มีหมอคนหนึ่ง ใส่ชุดขาว แล้วก็มีอีก 2 – 3 คน มายกผมไปไว้ที่ห้อง ใกล้กับเต้นท์ที่กางไว้ เขาให้ดื่มน้ำ แต่ไม่ได้รักษาพยาบาลอะไรเลย ไม่ได้ให้ยา ต่อมา เขาเอาผมไปโรงพยาบาลปัตตานี มีทหารมาคุมอยู่หลายคน ผมบอกว่าขอยาด้วย ผมเจ็บ ทหารคนหนึ่ง บอกว่า “จะเอาเอานี่มั้ย” เขายกด้ามปืนยาวขึ้นมาให้ดู… อยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานีหนึ่งวัน ผมก็ถูกนำมารักษาตัวที่โรงพยาบาบาลสงขลานครินทร์”
กว่า “นางแมะดะห์ มีนา″ อายุ 47 ปี มารดาของ “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” จะทราบว่า มีการสลายการชุมนุมกันที่ตากใบ ก็ตกเย็นของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตกกลางดึกวันเดียวกัน เพื่อนบ้านก็มาบอกว่า คนที่ถูกจับยังไม่มีใครกลับมาบ้าน
รุ่งเช้าวันที่ 26 ตุลาคม 2547 เพื่อนบ้านที่ไปตามหาญาติที่ถูกจับ กลับมาบอก “นางแมะดะห์ มีนา″ ว่า มีชื่อลูกชายของนางถูกจับ นำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี วันที่ 27 ตุลาคม 2547 ญาติๆ ชวนกันไปเยี่ยม แต่แพทย์บอกว่า ส่งตัวไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันที่ 28 ตุลาคม 2547 พ่อของ “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” ไปหาที่โรงพยาาบาลสงขลานครินทร์ แต่ไม่เจอ จนวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ผู้เป็นพ่อ กลับไปหาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์อีกครั้ง จึงได้พบ “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” ผู้เป็นลูกนอนรักษาตัวอยู่ในสภาพบอบช้ำหนัก
“ตอนนี้ยังมีใครมาบอกว่า จะช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล หรือจะให้ความช่วยเหลืออะไรบ้าง ฉันยังไม่รู้เลยว่า จะทำอย่างไร รายได้ของครอบครัวก็น้อย” เป็นคำพูดที่หล่นออกจากปากผู้เป็นแม่ “นางแมะดะห์ มีนา″
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับกรณีของ “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” ก็คือ …
- ถ้ามีการนำถุงดำมาคลุมศีรษะผู้ถูกจับกุมจริง ผู้กระทำมีเจตนาแอบแฝงอะไรหรือไม่,
- ทำไม “นายอับดุลเลาะ เจะฮะ” ถึงถูกคลุมถุงดำ, ทำไม ถึงคลุมถุงดำเฉพาะบางคน,
- ทำไม ถึงคลุมถุงดำ เฉพาะผู้ถูกจับกุมในรถบางคัน,
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น