วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

อัตลักษณ์มาลายู ไม่ใช่อัตลักษณ์อิสลาม


อัตลักษณ์มาลายู ไม่ใช่อัตลักษณ์อิสลาม


          มีผู้จุดประกายเริ่มต้นจากนักวิชาการของตะวันตก อย่าง แซมมวล ฮันติงตัน ซึ่งเป็นผู้พยากรณ์อนาคต ความขัดแย้งรอบใหม่ของมนุษยชาติในทศวรรษนี้ว่า มันจะเป็นการขัดแย้งหรือปะทะกันของอารยธรรม และเป็นอารยธรรมตะวันตกกับอิสลามหรือขงจื้อ

         ในบรรดาเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้ก่อเกิดคำเรียกขาน อิสลาม หรือมุสลิมแบบแยกแยะเป็นประเภทได้อีกหลายคำหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็น มุสลิมหัวรุนแรง มุสลิมสายกลาง หรือมุสลิมสุดโต่ง และที่ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามจะอธิบาย การเคร่งครัดในศาสนาของมุสลิม กลายเป็นความเคร่งตึงทางศาสนา และพลอยจะทำให้ชนต่างศาสนิกรู้สึกอึดอัดที่จะคบหาสมาคมด้วย ทั้งนี้ เป็นเพราะอิสลามในยุคปัจจุบัน ถูกอธิบายด้วยสองคุณลักษณะ

 ประการหนึ่ง คือความพยายามรื้อฟื้นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของประชาชาติอิสลามในอดีต ในฐานะของมหาอำนาจที่เคยครอบครองดินแดนเกือบครึ่งโลกใบนี้


 ประการที่สอง คือความพยายามอธิบายอิสลามในฐานะของลัทธิความเชื่อที่สมบูรณ์ และเหมาะสมสำหรับมนุษยชาติ

          ในประการแรกนั้น เมื่อมุสลิมมองตนเองในฐานะเคยเป็นเสมือนหนึ่งมหาอำนาจ จึงเกิดคำถามต่อคนรุ่นใหม่ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ตกต่ำ ซึ่งการอธิบายประเด็นเหล่านี้ก็มีทัศนะหลัก ๆ อยู่ 2 ทัศนะ คือ เกิดจากการทำลายของโลกตะวันตก หรือมหาอำนาจในยุคปัจจุบัน นับเนื่องกันตั้งแต่สงครามครูเสดก็ว่าได้

         ส่วนอีกทัศนะนั้น มองเห็นว่าเป็นเพราะความอ่อนแอของมวลมุสลิมเอง และในความอ่อนแอตรงนี้ก็คือ ความหย่อนยานในทางศาสนานั่นเอง และในความอ่อนแอนี้ ยังถูกอธิบายให้เชื่อมโยงกับความแปลกปลอมของความคิดอิสลามหรือศาสนา คือมีการบิดเบือน มีการปลอมปนของทัศนะอื่นๆ ที่ไม่ใช่อิสลามเข้ามาในหมู่ประชาชาติอิสลามอีกด้วย


          ทัศนะเช่นนี้ยังถูกอธิบายให้มองเห็นภาพ ของขบวนการมุสลิม อีกแนวที่มักเรียกว่า กลุ่มที่ต้องการนำอิสลามไปสู่คุณค่าดั้งเดิมที่บริสุทธิ์เหมือนเช่นสมัยศาสดา ที่มักได้ยินว่า 'อิสลามบริสุทธิ์'

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าจะจำกัดทัศนะเช่นนี้ได้เพียงสองประการ ยังมี กลุ่มที่สาม ที่เชื่อว่า ความตกต่ำของมุสลิมนั้น มีสาเหตุมาจากเหตุผลทั้งสองประการนั้นแหละ คือมีสาเหตุหลักจากทั้งตนเองและศัตรู 


        และเมื่อเป็นเช่นนี้ การขับเคลื่อนสังคมเพื่อการฟื้นฟู จึงมีลักษณะที่แตกต่างกันด้วย ฝ่ายที่เห็นตัวเองเป็นปัญหาหลัก ก็เริ่มจากการแก้ไขตนเอง พยายามแสวงหาคุณค่าของตนเองเพื่อที่จะยืนเทียบเคียงกับผู้อื่นได้

         ส่วนฝ่ายที่มองว่าปัญหาหลักมาจากผู้อื่นหรือศัตรู ก็พยายามแสวงหาแนวทางการต่อสู้ต่อกรกับผู้อื่นหรือศัตรูเป็นหลัก แต่ในเมื่อรู้สึกว่าศัตรู ใหญ่กว่า เข้มแข็งกว่า ก็ต้องอาศัยวิธีการสร้างความเสียหายต่อศัตรูด้วยการไม่เผชิญหน้า ที่เรียกว่า การก่อการร้ายนั่นเอง


        นี่เป็นบทนำที่จะสะท้อนทัศนะการต่อสู้หรือมุมมองในมุมหนึ่งของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น 


        หมายถึงว่า การก่อเกิดขบวนการต่อสู้ ไม่ว่าจะเรียกว่าแบ่งแยกดินแดนหรือเรียกร้องความยุติธรรม หรือจะรวมถึงเรียกร้องสิทธิทวงคืนดินแดนที่เป็นของตนแต่เดิมโดยไม่ได้ขอแบ่งจากใคร และไม่ว่าสาเหตุมันจะมาจากอะไรเป็นหลักเป็นรอง  


        แต่ความสำคัญในวันนี้ คือกระบวนการต่อสู้ต่างหาก กระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ต้องการ หรือที่เรียกว่า 'ธงนำในการต่อสู้' และที่สำคัญที่สุดที่ควรจะพูดถึง คือ 'วิธีการต่อสู้' เพราะการอธิบายเหตุผลทุกอย่างของปัญหา ควรที่จะต้องถูกกำกับด้วยวิธีการด้วยเช่นกัน

       หากจะกล่าวถึงที่สุดแล้ว อิสลามให้ความสำคัญใน 'วิธีการมากกว่าเป้าหมาย' และนอกเหนือจากนี้สังคมไทยหรือฝ่ายความมั่นคง ควรที่จะให้ความสำคัญในการเข้าใจบริบทของสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเชิงประวัติศาสตร์มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างน้อยก็มี 2 ประเด็นหลัก คือ

        ประเด็นแรก การเมืองการปกครองในอดีตของสามจังหวัดเป็นอย่างไร

        ประเด็นที่สอง โลกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ประชากรสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูำกอะไรกดทับไว้ มิให้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก แต่ยังคงยึดโยงกับภาพในอดีต และเรียกร้องหาภาพในอดีตให้หวลคืนกลับมา


        ประวัติศาสตร์ ปัตตานี ถูกเลือกหยิบยกมาเฉพาะในช่วงที่ปัตตานีเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเครื่องมือ
 มีความพยายามอธิบายประวัติศาสตร์ ในยุคสมัยนั้น การเกิดขบวนการของเจ้าเมืองปาตานีกับสยาม แต่ไม่เกิดกับรัฐมลายูอื่นกับอังกฤษ และในการบูรณาการดินแดน แต่ไม่บูรณาการชาติ ที่ว่านี้ ยังทำให้เกิดข้อเรียกร้องของฮัจยีสุหลง ซึ่งโดยเนื้อหาที่แท้จริงก็คือ การเรียกร้องการปกครองที่ตนเอง การแยกเป็นรัฐอิสระ หรือการแบ่งแยกดินแดน หรือการตั้งประเทศใหม่ ก็สุดแล้วแต่มุมมอง

         ขบวนการต่อสู้ต่างๆ ก็เริ่มพรั่งพรูออกมา ประชาชนจับกลุ่มคุยกัน เสร็จสรรพจบลงจัดตั้งกันเป็นขบวนการ ถ้าหากลงลึกไปในประวัติศาสตร์ความจริงของสามจังหวัด ไม่ใช่มีเพียง 3 - 4 กลุ่มเท่านั้นที่ประกาศตัว แต่มีมากกว่า 20 กลุ่ม แต่ก็เป็นไปตามสภาพของผู้บริหารองค์กรที่จะนำพาไปได้ไกลแค่ไหน ? จนสุดท้ายหลงเหลือเป็นกลุ่มใหญ่ที่พอมีชื่อเสียงคุ้นหูเพียงไม่กี่กลุ่ม

      ส่วนพัฒนาการของขบวนการต่อสู้ในสามจังหวัดนั้น มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว  มันมีประเด็นกระบวนการฟื้นฟูอิสลาม เข้ามาแทรกเป็นกระแสหลักในยุคต่อมา และแทบกล่าวได้ว่า เป็นธงนำสำคัญในการต่อสู้ของวันนี้ก็ว่าได้

        ถ้าประเด็นนี้เองสังคมไทยหรือฝ่ายความมั่นคงไทยยังไม่รู้เหนือรู้ใต้ หรือยังไม่ประกอบชุดความรู้ในประเด็นนี้เพื่อนำมาศึกษาอย่างแท้จริง ก็พูดได้เลยว่า การแก้ปัญหาในสามจังหวัด ก็ยังอีกห่างไกลที่จะสงบสันติจริงๆ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทั่วไป หรือจะเรียกว่า หลักนิยมก็ได้ที่ว่า สงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด ในเมื่อไม่อยากให้มีการหลั่งเลือด นั่นคือวิธีทางการเมืองจะต้องเป็นธงนำในการแก้ปัญหา

        การเมืองจริงๆ การเมืองการปกครองจริง ๆ คือการให้ข้อเสนอเพื่อหาข้อยุติในทางการเมือง เพื่อค้นคว้าหาคำตอบว่า 



  • "ที่ทำกันมาทั้งหลาย สุดท้ายต้องการอะไร?" 
  •  ใครต้องการ  พวกเองต้องการ  หรือว่าประชาชนต้องการ
  •  แม้ฟังดูแล้วจะตรงๆ ซื่อ ๆ แต่นัยสำคัญที่ฝ่ายรัฐเองจะได้ตระหนักซะทีว่า "ที่ผ่านๆ มาบอกว่าแก้ปัญหานั้นน่ะ แก้ปัญหาของใคร? 
  • เพราะถ้ายังไม่รู้ว่า 'เขา' ต้องการอะไร?"
  • แล้วทีนี้ที่ไปแก้ๆ กัน มันแก้อะไร? 
  • และถ้าจะตอบว่า 'เขา' ต้องการเอกราช ซึ่งให้ไม่ได้ 
  • แล้วเคยบอกหรือเปล่าว่า แล้วให้อะไรได้บ้างล่ะ?


          การเมืองในความหมายทีนี้ คือ การรวมความเข้าใจว่าด้วยการเมืองการปกครองในอดีตปาตานี กับการเข้าใจว่า มีสังคมหนึ่งที่พยายามอ้างการกลับคืนสู่ภาพในอดีต โดยไม่ยอมรับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ยังคงมองอยู่ในมุมของตนเอง  เพราะเข้าได้ถูกปลูกฝังความเข้าใจว่านี่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหาสังคมของตนเอง ซึ่งบางทีอาจจะไม่อาจเป็นจริงดังที่คิดก็ได้ 


         แต่ในเมื่อยังไม่เคยพบเจอความใฝ่ฝัน 

        ไหนเลยจะหยุดฝันได้ 
        หากไม่นั่งจับเข่าเปิดอกคุยกันไหนเลย 
         จะรู้ว่าลูกเราฝันเห็นอะไรบ้าง? 
         และอยากทำตามความฝันนั้นเพียงใด?

         แต่ถ้าหากนำวิถีมลายูเป็นแนวทาง ย่อมแตกต่างจากวิถีอิสลาม คุณค่าของมลายู แยกออกต่างหากจากอิสลาม และ มลายูอาจก่ออาชญากรรม (ฆ่าผู้บริสุทธ์) ได้ แต่อิสลามไม่อาจกระทำได้

         
ดังนั้น อิสลามจึงควรหันมาพิจารณาวิธีการ หรือเป้าหมาย และต้องตัดสินใจว่า จะยึดถือแนวไหนกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ


อัตลักษณ์มลายู ไม่ใช่อัตลักษณ์อิสลาม


อย่ามั่วครับ ไม่งั้นก็งุมมะงาหรากันไม่จบ 
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม