ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ –หน่วยข่าวกรอง พบแผนสถาปนารัฐปัตตานีขึ้นใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ชิ้นใหม่ เผยเตรียมจะปฏิบัติการรุนแรง 80 วันในพื้นที่ ระบุจะตั้งเมืองหลวงที่เบตง และกินอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดในยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ส่วนที่สงขลาตัดเอาเฉพาะ 3 อำเภอ เทพา-สะบ้าย้อย-จะนะ ด้านสตูลเอา 2 อำเภอคือ ควนโดน-ฉลุง
แหล่งข่าวความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า เหตุการณ์การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแผนที่มีการเตรียมล่วงหน้าไว้แล้ว โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และมีแผนการสถาปนารัฐปัตตานี โดยจะมีการตั้งเมืองหลวงที่ อ.เบตง จ.ยะลา ใช้กฎหมายอิสลามในการปกครอง คล้ายกฎหมายของประเทศอิหร่าน ยกเลิกเงินสกุลไทย แต่ยังคงให้คนไทยพุทธอาศัยอยู่ต่อไปได้
ทั้งนี้ แผนการดังกล่าวจะใช้เวลาในการต่อสู้รวม 80 วัน มีการยกระดับการต่อสู้ไปสู่สากล ให้องค์การสหประชาชาติ เข้ามาแก้ไขตามแนวทางการต่อสู้ของปาเลสไตน์และขบวนการอาเจ๊ะห์เสรี
ส่วนกำลังต่างชาติ จะไม่เข้าร่วมต่อสู้ในห้วงเวลานี้ แต่จะมาสนับสนุน เมื่อการปฏิบัติสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเจไอในอินโดนีเซีย กลุ่มอัลกออีดะห์ และมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้กำลังบางส่วนเข้ามาอยู่ในรูปแบบนักท่องเที่ยวและแรงงานเถื่อน เข้ามาประกอบธุรกิจบังหน้าในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว และพยายามสมรสกับคนไทย โดยเฉพาะจะมุ่งไปยังผู้หญิงบริการที่มีอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มดาวะห์ และพวกที่ลักลอบหนีเข้าเมือง รวมทั้งชาวพม่าที่นับถือศาสนาอิสลาม
หากการปฏิบัติการดังกล่าวไม่สำเร็จใน 80 วัน อาจจะมีการพลีชีพ (ในมัสยิด) ซึ่งรัฐปัตตานีประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาสครอบคลุมทั้งพื้นที่ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.จะนะในจังหวัดสงขลา อ.ควนโดนและ อ.ฉลุงในจังหวัดสตูล
สำหรับแผนการสถาปนารัฐปัตตานี สืบทราบมาว่า มีการจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2535 ทดลองใช้ในปี 2536 และมี 2537 มีการปรับแก้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา และจะมีการก่อเหตุรุนแรงเมื่อครบ 10 ปี
แผนการที่ผ่านมา มีการปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจอะไอร้อง จ.นราธิวาส มีการใช้หน่วยคอมโด และการชุมนุมประท้วงที่ สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส การชุมนุมในครั้งนั้นมีการห้ามนำอาวุธเข้าไป และมีแผนจะเลิกชุมนุมในเวลา 18.00 น. แต่ไม่เป็นไปตามแผนที่มีการวางไว้
เหตุการณ์ลุกลามทำให้มีการสูญเสีย แต่ก็ได้ประโยชน์คือ ได้พลิกไปเป็นการปลุกระดมให้ใช้ไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งในการชุมนุมในครั้งนั้นได้มีแฝงตัวไปในรูปแบบนักข่าว เพื่อนำภาพไปตักต่อออกเผยแพร่ เพื่อโจมตีการกระทำของเจ้าหน้าที่
เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์เมื่อ 28 เมษายน 2547 เป็นการปฏิบัติการนอกแผนของอุสตาซ โซ๊ะและ เป็นคนสั่งการ จนถูกประณามจากขบวนการ และถูกบังคับให้ดื่มน้ำปัสสาวะ แต่ผลสรุปจากเหตุการณ์ทั้ง 2 ทำให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ในการโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ทั้งนี้ พบแผนการโจมตีในห้วงปี 2548 คือ สภ.อ. ป้อมยาม จุดสกัด จุดตรวจของทหาร ตำรวจ โดยจะใช้กำลังชุดปฏิบัติการในครั้งนี้ครั้งละ 3-4 คน โดยใช้อาวุธสงครามและระเบิดขว้าง รวมทั้งจะมีการวางระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ภูเก็ตและเชียงใหม่ พื้นที่ละ 3 ลูก เพื่อป้องกันการส่งกำลังมาช่วย และให้กองกำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐหันไปดูแลในพื้นที่ดังกล่าว
จากการติดตามหาข่าวอย่างใกล้ชิดทราบอีกว่า ขณะนี้มีเตรียมกำลังทุกส่วนไว้พร้อมแล้ว เพื่อเป็นการปฏิบัติการสร้างสงครามแบบยืดเยื้อ ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำทุกอย่างด้วยความรุนแรงใน 80 วัน และยังทราบอีกว่าจะมีการจับกุมข้าราชการระดับอำเภอๆ ละ 1 คน เพื่อเป็นการต่อรองให้มีการปลดปล่อยสมาชิกที่ถูกจับกุม
ส่วนวันเวลามีการกระจายให้ทราบ จากฐานปฏิบัติการที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งในขณะนี้มีการวางแผนวันดีเดย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และก่อนถึงวันดีเดย์ 10-15 วันหน่วยคอนมานโดบนเทือกเขาในเขต ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา จะลงสู่หมู่บ้านที่มีการจัดตั้ง
ส่วนการขนย้ายอาวุธ ที่เก็บสะสมจะมีการทยอยเคลื่อนย้ายตามหมู่บ้าน ที่จัดตั้งและจะขนย้ายในเวลากลางวัน เนื่องจากจะไม่มีการตรวจจับมากเหมือนในเวลากลางคืน และเมื่อถึงวันดีเดย์หน่วยคอมมานโดและกลุ่ม PEMUDA จะเข้าโจมตีที่ตั้งหน่วยทหารพร้อมกันหลายจุด เพื่อทำลาย ปล้นอาวุธ สังหาร จับตัวข้าราชการระดับสูงไปต่อรอง และจะถอนตัวเข้าป่าเพื่อรอก่อเหตุครั้งต่อไป
นอกจากนี้ จะมีการปฏิบัติที่นั่นหรือที่นี่เรื่อยๆ และโจมตีหนักขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการดำเนินการขั้นนี้ไม่เกิน 80 วัน ควบคู่กับการชักธงขึ้นสู่ยอดเสาทุกหมู่บ้าน ซึ่งในการปฏิบัติในครั้งนี้จะไม่คำนึงถึงความสูญเสีย และจะให้เกิดความสูญเสียชีวิตมากที่สุด เพื่อชักนำองค์กรต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือ เจรจานำไปสู่การลงประชามติปกครองตนเอง เช่น ติมอร์
ขณะเดียวกัน ยังพบมีการจัดวางกำลังคือ หน่วยคอมมานโด 100 คนใน อ.ยะหา จ.ยะลา จะเข้าปฏิบัติการที่ สภ.อ.ยะหา จ.ยะลา นักศึกษามุสลิมในมหาวิทยาลัยและสถาบันอื่นๆ จะร่วมเข้าปฏิบัติการทุกรูปแบบ เช่น ชุมนุมเรียกร้องก่อความวุ่นวาย และกำลังคอมมานโดอีก 300 คนจะเฝ้าระวังฐานที่ตั้งและแทรกซึมอยู่ในหมู่บ้านที่จัดตั้งเพื่อรอการสมทบ
ส่วนกำลังพล 3,500 คนได้ผ่านการฝึกหน่วยคอมมานโด โดยมีครูฝึกจำนวน 50 คน ใช้เวลาฝึก 6 เดือน สมาชิกในหมู่บ้านจัดตั้ง PEMUDA แนวร่วมธรรมชาติประชาชนทั่วไปประมาณ 70 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ในหมู่บ้านทั่วไป ส่วนอาวุธเป็นอาวุธปืนเล็กยาว เอ็ม 16 เอสเค 33 และปืนลูกซองประมาณ 5,000-6,000 กระบอก จากการที่มีการสะสมมานานกว่า 40 ปี และยังมีปืนพกสั้นรวมทั้งระเบิดขว้างด้วย
โดยพบแหล่งที่ซุกซ่อนปืนอยู่ในพื้นที่ อ.บันนังสตา อ.เบตง จ.ยะลา จะมีการวางกำลัง 4 ขั้นก่อนนำอาวุธเหล่านี้ จำนวน 2,000-3,000 กระบอกแจกจ่ายให้กับสมาชิกใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเงินทุน ส่วนเงินทุนที่ได้มา จะได้มาจากการเรียกเก็บจากสมาชิกเป็นรายวันและราย เดือน ซึ่งมีการเริ่มเก็บมาตั้งแต่ปี 2545 และได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ คือ สวีเดน เยอรมัน ซาอุดิอาระเบีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ซึ่งของมาเลเซียจะมาจาก อ.บาลิ่ง เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน
ส่วนปอเนาะที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะอยู่ใน อ.ยะหา อ.กาบัง ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มในขณะนี้มีกลุ่มคือ GMIP BRNCO PULO BRN CONGRESS ส่วนกลุ่มวาฮาปิยังไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หากสำเร็จจะเข้ามาร่วมเจรจา ส่วนกลุ่มก่อร้ายต่างประเทศจะเข้ามาเมื่อเกิดเหตุใหญ่ |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น