วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ย้ายอีก 50 ผู้ต้องขังคดีไฟใต้ กลับคุกบ้านเกิดก่อนรอมฎอน

ย้ายอีก50ผู้ต้องขังคดีไฟใต้ กลับคุกบ้านเกิดก่อนรอมฎอน

ย้ายอีก50ผู้ต้องขังคดีไฟใต้ กลับคุกบ้านเกิดก่อนรอมฎอน

เตรียมย้ายผู้ต้องขังคดีความมั่งคงจากคุกบางขวางกว่า 50 ราย สู่เรือนจำบ้านเกิดก่อนรอมฎอน ศอ.บต.พาญาติเยี่ยมครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพ ญาติเห็นด้วยกับบีอาร์เอ็นที่ให้ปล่อยนักโทษคดีไฟใต้ พร้อมแนะบนโต๊ะเจรจาสันติภาพต้องมีตัวแทนคนในพื้นที่
วันที่ 28 มิถุนายน 2556 ที่โรงแรมเซาเทิร์นวิว จ.ปัตตานี ญาติผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำบางขวาง กรุงเทพมหานครกว่า 200 คน ได้รวมตัวกันเพื่อเตรียมเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำบางขวางด้วยรถทัวร์จำนวน 5 คัน ตามโครงการสานสายใจจากครอบครัวสู่ผู้ต้องขังในเรือนจำนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต)
ทั้งนี้มีผู้ต้องขังในเรือนจำบางขวางที่ญาติจะไปเยี่ยมในครั้งนี้จำนวน 57 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังคดีความมั่นคง โดยก่อนเดินทางได้มีเจ้าหน้าที่ของศอ.บต.มาอธิบายถึงขั้นตอนและระเบียบในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง โดยมีกำหนดเข้าเยี่ยมในวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 โดยมีกลุ่มเพื่อน จ. เป็นอาสาสมัครร่วมเดินทางไปด้วย
ก่อนออกเดินทางในเวลาประมาณ 15.00 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ได้มาพบปะให้กำลังใจญาติผู้ต้องขังทั้งหมด และกลุ่มผู้หญิงจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้มาร่วมพบปะและขอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
พ.ต.อ.ทวี กล่าวระหว่างพบปะว่า การให้ญาติเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังในครั้งนี้ ถือเป็นการไปรับผู้ต้องขังกลับบ้าน หมายถึงการย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำบางขวาง กรุงเทพมหานครมาอยู่ที่เรือนจำในจังหวัดบ้านเกิดของผู้ต้องขังเอง เพื่อความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของญาติ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายๆอย่าง
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อไปว่า จะพยายามย้ายผู้ต้องขังดังกล่าวให้ได้ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 หรือก่อนเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า ส่วนผู้ต้องขังที่ศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิตและคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งไม่สามารถย้ายได้ เนื่องจากเป็นกระบวนการศาลและขั้งตอนตามกฎหมายนั้น มีอยู่ 2 คน แต่ก็จะพยายามให้ทุกคนได้กลับมา
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สำหรับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่คดีสิ้นสุดแล้ว มี 6 รายที่ไม่สามารถย้ายเรือนจำได้ แต่ตนจะพยายามขอให้ได้กลับมาอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลาให้ได้
“หลังจากการเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังในครั้งนี้แล้ว ผมจะขออนุญาตนำตัวผู้ต้องขังกลับมาอยู่ในภูมิลำเนาของตัวเอง เช่น ถ้าผู้ต้องขังเป็นคนจังหวัดนราธิวาส ก็จะขอย้ายมาอยู่ที่เรือนจำนราธิวาส แต่ถ้าเป็นผู้ต้องขังที่มีโทษหนักๆ ก็จะให้ย้ายมาอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลา” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีนโยบายที่จะบรรเทาความเดือนร้อนของญาติผู้ต้องขัง เพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจ คลายความคิดถึงที่มีต่อผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำที่กรุงเทพมหานคร โดยจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมประกาศขยายอำนาจการคุมขังของเรือนจำกลางนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา รวมทั้งเบตง จ.ยะลา ให้ครอบคลุมอัตราการลงโทษของผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถนำกลับมาอยู่ใกล้ชิดกับญาติพี่น้องได้มากที่สุด
นางสีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ ชาวบ้านควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ภรรยาผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในคดีโจมตีเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 หรือวันเดียวกับเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิต แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตได้ร่วมเดินทางไปเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย
นางสีตีนอร์ กล่าวว่า ตนยังไม่แน่ใจว่าสามีจะได้ย้ายกลับมาอยู่ในเรือนจำที่จังหวัดปัตตานีหรือไม่ เช่นเดียวกับญาติคนอื่นๆบางคนด้วย เพราะยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า ผู้ต้องขัง 6 คนที่อาจจะไม่ได้ย้ายนั้นเป็นใครบ้าง
นางสีตีนอร์ กล่าวด้วยว่า กรณีที่กลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) มีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ ให้ปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคงทุกคนนั้น อยากให้รัฐบาลรับพิจารณาด้วย แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ปล่อยทุกคน ต้องพิจารณาดูเป็นรายบุคคลว่า ใครบ้างที่สมควรปล่อยตัวไป แต่หากคนนั้นทำผิดจริงก็ไม่สมควรปล่อย
นางสีตีนอร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ด้วยว่า ถ้าจะให้เกิดสันติภาพขึ้นในพื้นที่ คงต้องใช้เวลาอีก 10 ปี เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก จะต้องเรียกหลายฝ่ายมาแก้ปัญหาร่วมกัน มาเจรจากัน ต้องพยายามเจรจา ต้องประนีประนอมกัน
นางสีตีนอร์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา การเจรจายังไม่ได้ผล จึงควรปรับเปลี่ยนตัวหรือคณะตัวแทนเจรจาด้วย เพราะชุดเก่าที่ไปเจรจานั้น ไม่มีความน่าเชื่อถือแล้ว ที่สำคัญต้องมีตัวแทนของประชาชนด้วย เพราะย่อมรู้ดีว่าประชาชนต้องการอะไร อีกอย่างสถานการณ์ก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุด และการเจรจาไม่ใช่ไปเจาะจงที่กลุ่มBRN อย่างเดียว
นางสีตีนอร์ กล่าวด้วยว่า ในการเจรจานั้น อยากให้มีการเปิดเผยแพร่ต่อสาธารณะมากกว่าเป็นการเจรจาลับ และบนโต๊ะเจรจานั้น อยากให้มีแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ ผู้นำศาสนาและประชาชนมีส่วนร่วมด้วย และเมื่อการเจรจาเสร็จสิ้นลง ก็ให้แถลงให้ประชาชนรับทราบด้วย เพราะที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยทราบว่า การเจราเป็นอย่างไร โดยเฉพาะทางฝ่ายรัฐไทยที่ไม่เคยออกมาแถลง มีแต่ฝ่าย BRN เท่านั้นที่ออกมาแถลงข้อเรียกร้องต่อฝ่ายรัฐ
           
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม