วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556
สันติวิธี หนทางสู่สันติภาพที่แท้จริง
สันติวิธี หนทางสู่สันติภาพที่แท้จริง
โดย ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
สืบเนื่องจากรัฐบาลและกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ แสดงเจตจำนงพูดคุยเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นอำนวยความสะดวก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งตัวแทนทั้งสองฝ่ายได้มีการพบปะพูดคุยครั้งแรก เพื่อกำหนดกรอบการพูดคุย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และทั้งสองฝ่ายมีกำหนดจะพบปะพูดคุยเพื่อสันติภาพอีกครั้ง ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิด สันติภาพ ในพื้นที่ต่อไป
ในระหว่างที่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกำลังดำเนินไปท่ามกลางความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคุกรุ่น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติในครั้งนี้อย่างหลากหลาย ในการนี้ เพื่อให้กระบวนการการพูดคุย หรือ การเจรจา เพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วประเทศปรารถนา สามารถดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุถึงข้อตกลงสันติภาพ ข้าพเจ้า ในฐานะที่เป็นประชาชน นักวิชาการและนักการศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอมีส่วนร่วมเสนอแนะแนวคิดที่เป็นหนทางในการส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจา เพื่อสันติภาพให้มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จ ดังนี้
1. การพูดคุย เจรจา : เส้นทางสู่ความสันพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจกัน
การที่ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ รวมทั้งรัฐบาลมาเลเซีย ได้ริเริ่มกระบวนการสันติวิธีสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการหันมาพูดคุย หรือ เจรจา ถือว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
กล้าหาญและน่าชมเชย สร้างความหวังแก่ประชาชนในพื้นที่ เพราะ การแก้ปัญหาโดยสันติวิธีเป็นหนทางเดียวที่สามารถนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริง ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนทุกศาสนาและชาติพันธ์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องมุสลิม จำเป็นต้องรีบตอบรับหรือขานรับ ร่วมมือและสนับสนุนทันที เมื่อการพูดคุย หรือ การเจรจาเพื่อสันติภาพถูกเรียกร้องหรือริเริ่ม แม้นการริเริ่มหรือการเรียกร้องจะมาจากฝ่ายที่เห็นต่างจากเราก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อขานรับคำเชิญชวนของคัมภีร์อัลกุรอาน ความว่า
“และหากพวกเขาโอนอ่อน เพื่อสันติภาพ(เพื่อสงบศึก)แล้ว ก็จงอ่อนโอนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายภารกิจเพื่ออัลลอฮฺ(พระเจ้า)เถิด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ(พระเจ้า)เป็นผู้ทรงได้ยิน และผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง
และถ้าพวกเขาปรารถนาจะลวงเจ้า(โดยสัญญาสันติภาพนั้น) ดังนั้น อัลลอฮฺ(พระเจ้า)ทรงเพียงพอแล้วสำหรับเจ้า พระองค์คือผู้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยกำลังของผู้ศรัทธา”
(ความหมายของกุรอาน 8 : 61 – 62 )
ในส่วนของฝ่ายรัฐบาล จำเป็นต้องส่งสัญญาณ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ข้าราชการและบุคลากรของรัฐทุกหน่วยงาน ให้มีความรู้ ความเข้าใจในยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติภาพ หรือ นโยบายการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจในนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐ สามารถนำยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นเอกภาพ
สำหรับภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำและนักการศาสนา ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาและสตรี ควรเข้ามามีส่วนร่วม และสนับสนุนกระบวนการพูดคุยหรือเจรจาเพื่อสันติภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดการความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธี ตลอดจนการจัดเวทีพูดคุยสานเสวนาประชาชนในภาคส่วนต่างๆในเรื่องสันติภาพและการกระจายอำนาจ เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากพลังของภาคส่วนต่างๆเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ ที่ค้ำชูและผลักดันให้กระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบผลสำเร็จ
2. ความยุติธรรม คือ รากฐานของสันติภาพ คัมภีร์อัลกุรอานหลายโองการได้ค้ำชูและปูทางสำหรับแบบแผนของสันติภาพ และยังได้สนับสนุนให้ใช้กระบวนการสันติวิธี ในการเรียกร้องคืนสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าของสิทธิ ห้ามละเมิดหรือรุกรานผู้อื่น พร้อมกันนั้น ต้องดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ทำดีกับมวลมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย
แม้กระทั่งกับข้าศึกในสงคราม เมื่อใดที่พวกเขาตอบรับการเจรจา ประนีประนอม ความยุติธรรมต้องอยู่เหนืออารมณ์และความรู้สึกส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ทางเครือญาติและมิตรสหายหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่า
ดังพระดำรัสของพระเจ้า ความว่า
“บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเป็นผู้ธำรงความเที่ยงธรรม ในการเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ(พระเจ้า) แม้จะเป็นอันตรายต่อตัวสูเจ้าเอง หรือ พ่อแม่ ญาติสนิทของสูเจ้าก็ตาม แม้เขาจะมั่งมีหรือยากจนก็ตาม...”
(ความหมายของคัมภีร์อัลกุรอาน 4 : 135)
ศาสนาอิสลามสอนให้อำนวยความยุติธรรม กับข้าศึกหรือศัตรู ความว่า
"บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ในการเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ(พระเจ้า) และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า”
(ความหมายของคัมภีรกุรอาน 5: 8)
สรุปแล้ว การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน เป็นรากฐานสำคัญที่ค้ำชูและปูทางสำหรับกระบวนการสร้างสันติภาพ
ฉะนั้น ในกระบวนการพูดคุยหรือเจรจา เพื่อยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องถือว่า การอำนวยความยุติธรรมในทุกมิติและทุกด้าน ต้องเป็นวาระที่สำคัญของการพูดคุยหรือเจรจา พร้อมกับมีมาตรการในการอำนวยการความยุติธรรมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงจะทำให้กระบวนการพูดคุยหรือเจรจาเพื่อสันติภาพประสบผลสำเร็จ
แน่นอน สำหรับพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในเรื่องอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ ผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ย่อมมีมุมมอง ความคิด ความเข้าใจในเรื่องสันติวิธี สันติภาพและความยุติธรรมที่หลากหลายและแตกต่างกัน
ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาได้รับการตอบรับ สนับสนุนจากประชาชนทุกภาคส่วน ทุกศาสนาและชาติพันธุ์ ข้าพเจ้าจึงเสนอ ให้รัฐจัดให้มีคณะกรรมการยุติธรรมและสมานฉันท์ภาคประชาชนชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้แทนประชาชนจากศาสนิกและชาติพันธุ์ต่างๆ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้แทนสตรี โดยคณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทในการสนับสนุน ตรวจสอบและติดตามกระบวนการสันติวิธีสู่สันติภาพและการอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สานเสวนาในเรื่องสันติวิธีและการอำนวยความยุติธรรมในมิติและด้านต่างๆแก่ประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ เข้าถึง มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจยุทธศาสตร์และแนวนโยบายของรัฐในการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี พร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันและสนับสนุนกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจา เพื่อให้เกิดสันติภาพที่แท้จริง
3. ความยุติธรรมทางสังคม เพื่อการสร้างสันติภาพ หนึ่งในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการอำนวยการความยุติธรรมแก่ประชาชน เพื่อเกื้อหนุนและส่งเสริมให้การเจรจา หรือ พูดคุยเพื่อสันติภาพประสบผลสำเร็จ และสอดคล้องกับหลักการอิสลาม ก็คือ การให้ความยุติธรรมในทางสังคม ภาครัฐไม่ควรละเลยการให้หลักประกันทางสังคม ด้วยการช่วยเหลือและเยียวยาแก่บรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาในด้านจิตใจ การศึกษา คุณภาพชีวิตและรายได้ของครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
4. สันติภาพ คือวัตถุประสงค์หลักของศาสนบัญญัติ บทบัญญัติต่างๆในศาสนาอิสลาม มีจุดมุ่งหมาย เพื่อปกป้องศาสนา เกียรติ ศักดิ์ศรี สติปัญญา ชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน นั่นเอง
ดังนั้น ในทัศนะของอิสลามแล้ว ถือว่า การพูดคุย เจรจาหาทางออกด้วยความจริงใจและมีวิทยปัญญา ปราศจากผลประโยชน์ เพื่อหาทางยุติการใช้ความรุนแรง และการละเมิดในทุกรูปแบบ หลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สินของบุคคลและส่วนรวม ถือเป็นสิ่งที่อิสลามเรียกร้อง และเป็นการปูทางไปสู่สันติภาพ อันเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของศาสนาอิสลาม ในทางตรงกันข้าม ความเสียหายไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ และการพัฒนาประเทศ
5. การพูดคุย หรือ เจรจา คือ วิธีการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีที่ทุกฝ่ายต้องเชื่อมั่น มิใช่การทดลอง สำหรับมุสลิมส่วนใหญ่ มีความศรัทธาและยึดมั่นในแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆโดยสันติวิธี หรือ โดยการพูดคุย เจรจากัน ด้วยสติปัญญาและเหตุผล บริสุทธิ์ใจเพื่อที่จะให้เกิดสันติภาพที่แท้จริง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะ สันติภาพ เป็นทั้งหลักการศรัทธาและหลักการปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ดังนั้น การอดทน
อดกลั้น ต่อปัญหาอุปสรรคและนสิ่งท้าทายต่างๆในกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติภาพ แม้ต้องใช้ระยะเวลานานนับสิบปีกว่าจะบรรลุข้อตกลง ย่อมดีกว่า การทนปล่อยให้สถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบเกิดขึ้นเพียงปีเดียว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ว่าความรุนแรงหรือความไม่สงบทีเกิดขึ้น ณ ที่ใดก็ตาม มันได้ทำลายความปกติสุขในชีวิตและสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน ภาพพจน์และชื่อเสียงของประเทศและประชาชนเป็นอย่างมาก ตลอดจนมันมีผลกระทบต่อเจริญเติบโตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการศึกษาของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจมีผู้มีส่วนได้เสียบางส่วน ที่ยังเป็นห่วง วิตกและกังวลว่า เมื่อการเจรจาเพื่อสันติภาพบรรลุผลแล้ว พวกเขาจะดำเนินชีวิตในพื้นที่อย่างไร?
การตอบโจทย์ในข้อห่วงใยเหล่านี้ มันเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐและสื่อต่างๆ รัฐและสื่อต้องมีบทบาทในการสื่อสาร เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ทั้งต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะนโยบายของรัฐในการสร้างสันติภาพและนำยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจในรูปแบบที่เหมาะสม ตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการถ่ายทอดประสบการณ์ในการจัดการความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น มีวัฒนธรรมและนิยมแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธี อันเป็นหนทางเดียวที่สามารถนำไปสู่สันติภาพทั้งในพื้นที่ ในประเทศและประชาคมโลก
6. การมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติภาพของประชาชน : หนทางสู่สันติภาพที่ยั่งยืน ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของของกระบวนการสันติวิธีสู่สันภาพที่ยั่งยืน ก็คือ ภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ตลอดภาคประชาชนที่เป็นศาสนิกและชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ค้ำชูและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติวิธีสู่สันติภาพ ยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสันติภาพ กระบวนการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และความยุติธรรมไม่ตรงกัน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเสนอให้ รัฐบาลกำหนดนโยบายเร่งด่วน เกี่ยวกับการจัดให้มีการเรียน การสอน การฝึกอบรม ด้านสันติศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ตลอดจนจัดให้มีหลักสูตร สื่อและกิจกรรมการฝึกอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับสันติศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี แทนที่ค่านิยมการแก้ปัญหาโดยใช้กำลังและความรุนแรง
สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอวิงวอนและขอพรต่อเอกองค์อัลลอฮฺ(พระเจ้า) ทรงโปรดประทานให้การพูดคุย หรือ เจรจา เพื่อสันติภาพในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ ทรงประทานสันติภาพที่ยั่งยืนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า(อาคีเราะฮฺ)
http://narater2010.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น
บทความใหม่กว่า
บทความที่เก่ากว่า
หน้าแรก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
หน้าเว็บ
Nater200
ผู้ติดตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น