วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บีอาร์เอ็นอาจไม่ได้เรียกไทย "นักล่าอาณานิคมสยาม"

บีอาร์เอ็นอาจไม่ได้เรียกไทย "นักล่าอาณานิคมสยาม"

        ไม่เฉพาะข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นเท่านั้นหรอกที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงและกองทัพประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า "ยอมรับไม่ได้" ตั้งแต่ได้ยินและถอดความคำแถลงกันมาเมื่อปลายเดือน เม.ย.2556




        ทว่ายังมีคำเรียกขาน "รัฐไทย" ว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" อีกที่ไม่เฉพาะฝ่ายความมั่นคงไทยเท่านั้น แต่คนไทยทั่ว ๆ ไปก็คงยอมรับยาก

       ก็ประวัติศาสตร์ไทยมีแต่เรื่องที่ไทยเสียเปรียบ เสียดินแดนจากยุคล่าอาณานิคม แต่บีอาร์เอ็นกลับมาต่อว่าไทยว่าเป็น "นักล่าอาณานิคม" เสียนี่ ทำเอาบรรยากาศการ "พูดคุยสันติภาพ" ชักจะไม่ค่อยสันติภาพสักเท่าไหร่
       ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ พร้อมคำว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" นี้ ทางบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ แถลงผ่านคลิปวีดีโอทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ครั้งแรกเมื่อปลายเดือน เม.ย.ก่อนการพูดคุยสันติภาพรอบ 2 เพียงไม่กี่วัน และมาแถลงย้ำอีก 2 ครั้งช่วงปลายเดือน พ.ค. ก่อนการพูดคุยสันติภาพรอบ 3

        แน่นอนว่านายฮัสซันและพวกแถลงเป็นภาษามลายู จากนั้นก็มีผู้แปลถอดความออกมาเป็นภาษาไทย ทั้งที่แปลโดยระบุชื่อผู้แปล และการแปลแบบไม่ระบุชื่อ แต่ส่งต่อๆ กันทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงที่แปลสรุปๆ เสนอผ่านสื่อสารมวลชนกระแสหลักด้วย

คำว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" เริ่มมาจากจุดนั้น

         แม้จนถึงวันนี้ สังคมไทยได้พูดและแชร์วลีนี้ต่อๆ กันไปจนเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า "เชื่อกันไปแล้ว" ว่าบีอาร์เอ็นใช้คำที่มีความหมายนี้ ทว่า ศ.ดร.รัตติยา สาและ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลายูศึกษาชื่อดัง ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กลับเสนอมุมมองที่แตกต่าง และให้ข้อคิดในเรื่อง "การแปล" เอาไว้อย่างน่าสนใจ

        โดยเฉพาะการแปลในเรื่องที่ละเอียดอ่อนในบริบทของการพูดคุยเพื่อสันติภาพของสองชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาแตกต่างกัน...

        ศ.ดร.รัตติยา อธิบายว่า การแปลเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนซึ่งต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะนักแปลหรือล่ามสามารถทำให้คนทะเลาะกันและทำให้คนดีกันได้ด้วย นักแปลจึงต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหาและรายละเอียดเรื่องวัฒนธรรม ตลอดจนวิธีคิดของเจ้าของภาษาต้นทาง การแปลงานบางอย่างผู้แปลต้องเก็บคำให้ละเอียดและต้องแปลด้วยคำในภาษาปลายทางที่ให้ความหมายระดับเดียวกันให้มากที่สุด เพราะคำบางคำหากแปลด้วยคำที่ต่างระดับ ก็ให้ความรู้สึกที่ไม่ดีได้

         เช่น คำว่า 'penjajah Siam' (เปินฌาฌัฮ เสียม ; คำที่บีอาร์เอ็นใช้ในการแถลง) คือ "เจ้าปกครองสยาม" หรือ "ผู้ยึดครองสยาม" คงไม่ใช่ระดับคำ "นักล่าอาณานิคมสยาม"

        คิดว่าการแปลไม่ควรกระทำแค่ดูตัวอักษรอย่างผิวเผิน นอกจากนั้นถ้าเป็นงานที่ถอดเสียงมาจากการพูดคุย ก็จำเป็นต้องฟังเสียงด้วย เพราะน้ำเสียงคนพูดสามารถสื่อความหมายเชิงลึกได้ ลักษณะน้ำเสียงที่ต่างกันบางเสียงมีความหมายแฝง การแปลอาจสร้างความรุนแรงได้ คือรุนแรงเพราะการใช้คำผิดระดับ หรือไม่ก็แปลด้วยน้ำเสียงที่ผิดระดับ บางคนใช้น้ำเสียงเรียบๆ ไม่ได้รุนแรง แต่ใช้คำแรง บางครั้งการใช้น้ำเสียงก็ช่วยลดความรุนแรงได้ หรือเวลาพูด เสียงอาจฟังว่าแรง แต่จริงๆ เขาใช้คำที่ธรรมดามาก

         ดังนั้นต้องฟังเสียงและฟังคำควบคู่กันอย่างตั้งใจ ถึงจะได้ความหมายที่ตรงและสื่อด้วยภาษาปลายทางที่ถูกต้องได้ เพราะเสียงบอกอารมณ์ของผู้พูด

          "คน 2 คนพูด คนหนึ่งเราฟังได้ แต่อีกคนพูดเรื่องเดียวกันเราฟังไม่ได้ เพราะข้อจำกัดของการใช้ภาษาปลายทาง ฉะนั้นผู้แปลบางคนฟังภาษาต้นทางรู้ แต่อ่อนภาษาปลายทาง หรือเข้าถึงภาษาต้นทาง แต่เวลาถ่ายทอดคำศัพท์ของภาษาปลายทางกลับจำกัด ฉะนั้นต้องคิดเยอะๆ"

         ศ.ดร.รัตติยา บอกอีกว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีประชาชนเป็นผู้ติดตามผล การแปลงานระดับนี้ โดยเฉพาะผู้ที่แปลถ่ายทอดบนโต๊ะพูดคุย ผู้แปลต้องเข้าถึงทั้งสองภาษาอย่างมีจิตวิญญาณที่สมดุลทั้งไทยและมลายู

        "การเปิดโต๊ะคุยกันเป็นโอกาสดีมากแล้วที่ทั้งสองฝ่ายได้เปิดใจคุยกันอย่างตรงไปตรงมา หากมีคำพูดใด เป็นคำ หรือวลี หรือประโยคที่ฟังแล้วกำกวม หรืออาจกลิ้งได้ในภายหลัง ก็สมควรที่จะสร้างความชัดเจนที่โต๊ะนั้นเลย ไม่อย่างนั้นอาจถอดรหัสคำพูดไม่ได้ตรงความหมาย"

        "สำหรับการคัดล่ามไปใช้ในงานระดับนี้ สำคัญที่สุดต้องเป็นผู้ที่รักษาความลับได้ดี สุขุม รอบคอบ และอ่อนไหว ล่ามไม่มีหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง หน้าที่การให้ข้อมูลเป็นเรื่องของประธานคณะเจรจาหรือไม่ก็ผู้ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ล่ามต้องเข้าถึงความหมายของภาษาต้นทางและภาษาปลายทางอย่างผู้รู้ และไม่ใช่คนเดียว ต้องไม่ใช่เป็นคนที่พูดภาษามลายูเป็นอย่างเดียว แต่ต้องใช้ภาษาไทยได้อย่างแตกฉานด้วย จึงจะไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง ที่สำคัญคือจะได้สร้างความไว้วางใจแก่ทุกคน ทุกฝ่าย" ศ.ดร.รัตติยา กล่าว


       เป็น "สาร" และ "น้ำเสียง" ที่เต็มไปด้วยความห่วงใย อยากให้เกิดความเข้าใจ และอยากให้สันติภาพได้ก้าวเดิน...
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม