วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วงในยืนยัน BRN เดินหน้าพูดคุย ย้ำไม่เปลี่ยนชุดเจรจา

วงในยืนยัน BRN เดินหน้าพูดคุย ย้ำไม่เปลี่ยนชุดเจรจา
วงในยืนยัน BRN เดินหน้าพูดคุย ย้ำไม่เปลี่ยนชุดเจรจา
          ยันการเจรจาสันติภาพยังคงเดินหน้า คาดมีอีกครั้ง ก.ย.นี้ ทั้งไม่เปลี่ยนชุดเจรจา ด้านที่ปรึกษา ศอ.บต.เผยข้อตกลงลดเหตุรุนแรงเดือนรอมฏอนเป็นความสำเร็จเบื้องต้นของการพูดคุยสันติภาพ ส่วนประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ย้ำการพูดคุยไม่ควรมีผลประโยชน์
        เมื่อวันที่ 28 ส.ค.56 ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารเฉลิมพรเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีการเสวนาและอภิปรายร่วมในข้อหัว “ความหวัง บทเรียน และความสำเร็จต่อการเจรจาสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้” จัดโดยนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมีนักศึกษาและนักเรียนและประชาชนเข้าร่วมฟังประมาณ 300 กว่าคน
เผย BRN ยืนยันการพูดคุยสันติภาพมีอีกครั้งในเดือนกันยายน
นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานที่ปรึกษาสภาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) กล่าวระหว่างเสวนาว่าจากการพูดคุยทางเฟสบุ๊ค (Facebook) กับนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำ BRN ได้รับการยืนยันว่าการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับตัวแทน BRN จะมีอีกครั้ง คาดว่าน่าจะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้นายฮัสซัน ยืนยันมาตลอดว่าการพูดคุยสันติภาพคือแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายอาซิส กล่าวอีกว่า นายฮัสซัน ได้ยืนยันอีกว่าทางฝ่าย BRN จะยังคงใช้คณะตัวแทนในการเจรจาชุดเดิมในการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนของรัฐบาลไทย จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลแต่อย่างใด
นายอาซิส กล่าวต่อไปว่า การพูดคุยสันติภาพมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งจากตัวอย่างกรณีมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ประชาชนที่ทนไม่ไหวต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายถืออาวุธกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ประชาชนจึงมีการเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย ยุติการใช้ความรุนแรง และให้มีการเจรจาต่อกัน ซึ่งหากไม่มีการเจรจาประชาชนจะลุกขึ้นต่อต้านต่อทั้ง 2 ฝ่าย
“ข้อตกลงลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ในช่วงเดือนรอมฎอน ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นความสำเร็จเบื้องต้นของการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยกับตัวแทน BRN ถึงแม้ว่าในเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงจำนวนมากก็ตาม แต่เหตุส่วนใหญ่เกิดต่อเป้าแข็งโดยเฉพาะต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ส่วนเหตุความรุนแรงต่อเป้าอ่อนน้อยมาก” นายอาซิส กล่าว
การพูดคุยสันติภาพต้องปราศจากผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย
นายประสิทธิ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า  การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ ไม่ควรที่จะมีผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย เช่น ทาง BRN ต้องการเพียงแค่ได้เปรียบทางการเมือง ส่วนฝ่ายรัฐบาลไทยต้องการเพียงแค่ให้ทาง BRN ยุติบทบาทเท่านั้น การพูดคุยสันติภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อที่จะนำสันติภาพมาสู่พื้นที่อย่างถาวรและต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
นายประสิทธิ กล่าวอีกว่า การปกครองรูปแบบพิเศษในพื้นที่ มีความเป็นไปได้ 3 รูปแบบ 1.การกระจายอำนาจ 2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองในพื้นที่ 3.ให้อำนาจเต็มที่ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการพูดคุยว่าจะทำอย่างไร เพื่อที่จะให้มีความสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่
ผู้ว่าชี้ 10 ปี เยียวยาแล้ว 5,000 ล้าน
นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง 27 ส.ค.56 มีผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 3,000 กว่าคนที่ได้รับรองจาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในพื้นที่ ในจำนวนนี้ทั้งที่เป็นมุสลิมและไทยพุทธ สิ่งที่ค้นพบคือผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ นอกจากนี้มีมุสลิมเสียชีวิตมากกว่าคนไทยพุทธเสียอีก ทั้งที่ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ อ้างว่าต่อสู้เพื่อพี่น้องชาวมลายูในพื้นที่ แต่ทำไมพี่น้องมุสลิมในพื้นที่เสียชีวิตจำนวนมากขนาดนี้
นายเดชรัฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางกลุ่มก่อความไม่สงบอ้างว่า ต่อสู้เพราะโดนเจ้าหน้าที่รัฐกดขี่ สิ่งที่ค้นพบคือเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิตทั้งหมดระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่โดนตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีพฤติกรรมทำร้ายประชาชนในพื้นที่
นายเดชรัฐ กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 จนถึง 27 ส.ค.56 รัฐบาลได้ให้เงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่จำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐอยู่ในฐานะที่ต้องดูแลประชาชน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถหาผู้ที่กระทำความผิดได้
นายเดชรัฐ กล่าวด้วยว่า คิดว่าการที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองในพื้นที่จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปเป็นรูปแบบใหม่ในทันทีคงเป็นไปไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดความรุนแรงจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่คิดว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากปรับเปลี่ยนเนื้อหาของโครงสร้างการปกครองที่อยู่แล้วให้มันดีขึ้นจากเดิม สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
นักวิชาการยืนยันสันติภาพต้องคู่ความยุติธรรม
อ.มัสลัน มาหะมะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ใช่อยู่ที่ประชาชนอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วย ที่จะต้องให้ความยุติธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากความยุติธรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่
อ.มัสลัน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐจะต้องมีการกระจ่ายอำนาจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนในพื้นทีเรียกร้องกันมานาน
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม