วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สัมภาษณ์ 'ฮัสซัน ตอยิบ': BRN กับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

สัมภาษณ์ 'ฮัสซัน ตอยิบ': BRN กับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

สัมภาษณ์ 'ฮัสซัน ตอยิบ': BRN กับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

Sun, 2013-08-11 02:30


          บทสัมภาษณ์ ‘ฮัสซัน ตอยิบ’ ต่อสื่อมวลชนชายแดนใต้ เรื่อง BRN กับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ย้ำปัญหาไฟใต้ต้องจบลงบนโต๊ะเจรจา วอนทุกฝ่ายร่วมมือสนับสนุน หากรัฐบาลให้อำนาจปกครอง ขอให้มั่นใจว่าจะดำรงความยุติธรรม ปกครองตามกฎหมายอิสลาม พร้อมเคารพคนศาสนาอื่นและถือเป็นสมาชิกครอบครัว

         หมายเหตุ: ฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ในฐานะหัวหน้าคณะตัวแทนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยได้ให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดยสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) พร้อมด้วยสำนักข่าวประชาไท โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) และสื่อจากมาเลเซีย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่ประเทศมาเลเซีย

          โดยเป็นการให้สัมภาษณ์ด้วยภาษามลายู ซึ่งแปลสรุปเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์ชินทาโร่ ฮารา อาจารย์สาขาวิชาภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ทั้งนี้ คลิปเสียงสัมภาษณ์ดังกล่าว มีการออกอากาศในรายการโลกวันนี้ ของสถานีวิทยุ Media Selatan ระหว่างวันที่ 7-8 สิงหาคม 2556


ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพเป็นอย่างไร ?
       ผมฮัสซัน ตอยิบ หวังว่ากระบวนการสันติภาพจะประสบความสำเร็จ แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบนโต๊ะเจรจา นอกจากนี้มาเลเซียในฐานะผู้ไกลเกลี่ย ไม่ใช่แค่ผู้อำนวยความสะดวกก็ต้องมีความจริงใจเหมือนกัน

        ดังนั้น ขอยืนยันว่าฝ่าย BRN เอาจริงเอาจังในเรื่องกระบวนการสันติภาพ เพราะการต่อสู้ของเราไม่อาจจะสิ้นสุดในสนามรบ ไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม แต่จุดจบของการต่อสู้ของเราอยู่บนโต๊ะเจรจา คนที่อ้างว่าเราต้องการล้มโต๊ะเจรจานั้น คือแค่เอาจินตนาการตัวเองมาเล่าอย่างเดียว แน่นอนว่า ก่อนหน้านี้เราก็รบมาแล้ว แต่จุดจบก็ต้องเป็นโต๊ะเจรจา ฉะนั้นการเจรจาจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป ไม่มีการหยุดนิ่งหรือการชะงัก


เป้าหมายในการโจมตีของ BRN ?
        เราไม่โจมตีเป้าหมายอ่อน (soft target) ทั้งโต๊ะอิหม่าม โต๊ะคอเต็บ โต๊ะบิหลั่น คนเหล่านี้ถือว่าเป็นเป้าหมายอ่อน รวมถึงย่านเศรษฐกิจด้วย เป้าหมายในการโจมตีของเราคือกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เพราะฉะนั้นเราอยากจะบอกว่า พื้นที่ย่านเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ติดอาวุธมารักษาความปลอดภัย

      ผมขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของโต๊ะอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี แต่เราก็ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของใคร ขอยืนยันอีกครั้งว่า เป้าหมายการโจมตีของเราคือกำลังติดอาวุธอย่างเท่านั้น เราไม่โจมตีเป้าหมายอ่อนหรือเป้าหมายเศรษฐกิจ ใครโจมตีเป้าหมายเหล่านี้ เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน ต้องรอผลการสอบสวน

รูปแบบการปกครองในความหมายและความต้องการของ BRN ?

        ถ้าสมมุติว่า รัฐบาลให้สิทธิแก่เราสามารถปกครองโดยตนเองได้ การปกครองของเราก็ต้องเป็นการปกครองที่ยุติธรรมที่สุด โดยมีกฎหมายอิสลามเป็นหลัก เมื่อมีการปกครองตามกฎหมายอิสลาม เราก็ต้องมองว่า คนที่นับถือศาสนาอื่นก็เป็นสมาชิกครอบครัวของเราเช่นกัน เมื่อเรากดขี่พวกเขา ก็ถือว่าเป็น “ฮารอม” (ผิดกฎหมายอิสลาม) และเป็นบาปด้วย

         เพราะฉะนั้น การปกครองของเรา ก็ต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม ชาวจีนและชาวสยามในปาตานีก็ไม่ต้องเป็นห่วง ตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่เป็นสังคมหลากหลายเชื้อชาติ สังคมของเราก็เป็นสังคมหลากหลายเชื้อชาติเช่นเดียวกัน ลองสังเกตดูชาวสยามในอำเภอตุมปัต (Tumpat) รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย พวกเขาก็สามารถสร้างวัดและปฏิบัติศาสนกิจของเขาได้ การที่ต่างคนต่างนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน ก็ไม่มีปัญหาตามหลักการอิสลาม


สถานการณ์ในเดือนรอมฎอนปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

         ในเดือนรอมฎอนปีนี้ มีเหตุรุนแรงน้อยลง และหวังว่าทุกท่านสามารถต้อนรับวันอีดิลฟิตรีอย่างสันติ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลด้วย ถึงแม้ว่า ฝ่ายรัฐบาลไม่ปฏิบัติเงื่อนไขทั้งหมด 7 ข้อที่เราได้ยื่นมาแล้วแม้แต่ข้อเดียว แต่เราก็ให้การพิจารณาต่อการลดความรุนแรง เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันแรกของเดือนรอมฎอนไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ต่อมามีการใช้ความรุนแรงและมีคนเสียชีวิตทุกวัน จนทำให้คนในสนามอดทนไม่ได้ จนต้องก่อนเหตุแต่เป็นการให้คำเตือนต่อรัฐบาล ไม่ใช่การแก้แค้น

         ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในพื้นที่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้น ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่าย BRN หรือฝ่ายรัฐบาล ต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติภาพ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน?

        ตอนแรก ฝ่ายรัฐบาลอยากลดความรุนแรง แต่ฝ่าย BRN พร้อมที่จะยุติความรุนแรงโดยมีเงื่อนไข 7 ข้อที่เราได้เสนอแล้ว แต่ฝ่ายรัฐไม่รับเงื่อนไขเหล่านี้ ในเขตพื้นที่ชนบทก็ยังมีทหารอยู่เต็มและยังมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ก็มีการสกัดถนน การโจมตี การล้อมบ้าน การค้นบ้าน ฯลฯ แต่เราก็ใช้ความอดทน

       หตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นระยะในช่วงรอมฎอนนั้น คือคำเตือนต่อฝ่ายรัฐบาลไทย ไม่ใช่การตีกลับ ถ้าเป็นการตีกลับ ถ้าคนของเราตายหนึ่งคน คนของเขาก็ต้องตายสิบคน การโจมตีในเดือนรอมฎอนเป็นคำเตือนต่อรัฐบาลเท่านั้น ความเสียหายจึงมีไม่มาก

         พวกเราไม่ได้ลงนามในข้อตกลงการริเริ่มเดือนรอมฎอนสันติสุขนั้น เพราะมีเวลาน้อยมาก พวกเราอยากจะให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนลงนามในข้อตกลงก่อนเดือนรอมฎอน แต่ไม่มีการลงนาม อย่างไรก็ตาม เราก็ลดความรุนแรงได้ แม้ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ประมาน 60-70 เปอร์เซ็นต์

         ก่อนถึงเดือนรอมฎอนก็มีเหตุการณ์ยิงโต๊ะครูที่ปูลาฆาซิง (เหตุคนร้ายยิงนายอิสมาแอ ปาโอ๊ะมานิ๊ อายุ 51 ปี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 ที่อ.ยะรัง จ.ปัตตานี) และสมาชิกขององค์กรเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ (JOP) หลายคนก็ถูกยิงตาย (เช่น เหตุคนร้ายยิงนายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 44 ปี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556) คดีของพวกเขาก็ถูกยกฟ้องแล้ว แต่คนเหล่านี้้ก็ถูกยิงตาย

         หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ คนที่ควบคุมนักรบในสนามก็โทรศัพท์มาหาผม และแจ้งว่าเด็กๆ ภายใต้การควบคุมเสียความอดทนแล้ว แต่ผมก็ให้คำแนะนำว่าต้องใช้ความอดทน พวกเขาก็โทรศัพท์มาหาสองสามครั้ง แต่ผมก็บอกว่าอดทนหน่อย

        ผมก็เสียใจด้วยที่ว่าการลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนเกิดขึ้นอย่างไม่เต็มที เพราะความต้องการของเราก็คือ ไม่อยากจะก่อให้เกิดเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอนถึงวันที่ 10 ของเดือนเชาวัล


การควบคุมของกำลังในสนาม?
        เราควบคุมพวกเขาอยู่มานานแล้ว แต่เมื่อเหตุการณ์ยิงสังหารเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ กองกำลังในสนามก็เสียความอดทน แต่อย่างไรก็ตาม เราให้ความสำคัญกับข้อตกลงนั้น ถ้าฝ่ายรัฐยังปฏิบัติและใช้ความรุนแรง เหตุการณ์ก็เกิดขึ้น แต่มันเป็นแค่ชั่วคราว

การพูดคุยรอบต่อไปจะเกิดขึ้นหรือไม่ ?

        เวลาสำหรับการพูดคุยครั้งต่อไปยังไม่กำหนด แต่เราก็ได้เสนอเงื่อนไขแล้ว เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลให้คำตอบต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อเบื้องต้นว่า จะรับได้หรือไม่ ถึงแม้ไม่มีการพูดคุยอย่างเปิดเผย แต่เราก็จะติดต่อสื่อสารกับฝ่ายไทย โดยผ่านผู้อำนวยความสะดวก

       ในเดือนรอมฎอนเราก็ได้เจอกับผู้อำนวยความสะดวกสองครั้งแล้ว และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายไทยก็มาด้วย แต่เราไม่ได้เจอตัวต่อตัว แต่ติดต่อผ่านผู้อำนวยความสะดวก


ความร่วมมือกับขบวนการอื่นๆเป็นอย่างไรบ้าง ?

        เราได้ประสานงานกับขบวนการอื่นๆ แล้ว เช่น Patani United liberation Organization (PULO) และ Barisan Islam PembebasanPatani (BIPP) และทั้งสององค์กรก็รวมกันในการพูดคุยด้วย แต่องค์กร PULO มีหลายสาย ซึ่งเป็นปัญหาของ PULO เอง ฉะนั้น PULO ก็ต้องสร้างความเอกฉันท์ในองค์กรเอง
ความรวมมือจากฝ่ายต่างๆ เป็นอย่างไร ?
          ขอให้ข้าราชการทั้งหลายและองค์กร NGO ต่างๆ ทำงานอย่างจริงจัง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นเห็นว่ายากหน่อย แต่ถ้าพรรคนี้ประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็ขอให้การสนับสนุนต่อกระบวนการสันติภาพ พวกเขาอาจจะคิดว่า ถ้ากระบวนการสันติภาพที่นำโดยพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จ พรรคประชาธิปัตย์จะเสียเก้าอี้จากภาคใต้ พวกเขาไม่ควรคิดแบบนั้น ในโลกการเมือง คนที่ดี คนที่ทำงานเพื่อประชาชนนั่นแหละที่จะได้รับการสนับสนุนของประชาชน

         เราก็ขอเรียกร้องทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ปาตานี ไม่ว่าจะเป็นชาวมลายู ชาวจีน หรือชาวสยามก็ตาม ให้ความรวมมือเพื่อสร้างสันติภาพ


บทบาทของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นอย่างไร?

       พ.ต.ท.ทักษิณให้การสนับสนุนอย่างเต็มทีต่อกระบวนการสันติภาพ มีบางคนอ้างว่า ผมสนิทกับนายทักษิณมาก แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ใช่คนที่สนิทกัน ผมเจอกับ พ.ต.ท.ทักษิณผ่านมาเลเซีย เมื่อมีกระบวนการสันติภาพนี้แหละ


‘5ข้อ 7 ข้อ’ เงื่อนไขเจรจาของ BRN
         5 ข้อ 7 ข้อ คือข้อเสนอที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นยื่นเป็นเงื่อนไขในการพูดคุยสันติภาพต่อฝ่ายไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะใช้ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งต่อๆไป มีเนื้อหาดังนี้
ข้อเสนอ 5 ข้อ

       นายฮัสซัน ตอยิบกับนายอับดุลการิม คอลิบ ตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็นแถลงผ่านเว็บไซต์ยูทูปเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 มีเนื้อหาสรุป ดังนี้

  • 1.ต้องให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ยไม่ใช่แค่ผู้อำนวยความสะดวก
  • 2.การพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นระหว่างชาวปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็นกับนักล่าอาณานิคมสยาม
  • 3.ในการพูดคุยต้องมีสักขีพยานจากกลุ่มประเทศอาเซียน องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)
  • 4.ต้องปล่อยตัวผู้ถูกคดีความมั่นคงและยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข
  • 5.ต้องยอมรับว่าองค์กร BRN. เป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ข้อเสนอ 7 ข้อ

        นายฮัสซัน ตอยิบ แถลงผ่านเว็ปไซต์ยูทูปวันที่ 20 มิถุนายน 2556 มีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรการในเดือนรอมฎอน-วันที่ 10 เดือนเซาวัล สรุปดังนี้
  • 1.ต้องถอนทหารและทหารพรานจากกองทัพภาค 1, 2 และ 3 และตำรวจที่ถูกส่งมาจากส่วนกลางออกจากพื้นที่ปาตานีทั้งหมด 
  • 2.แม่ทัพภาคที่ 4 ต้องถอนทหารและทหารพรานออกจากเขตหมู่บ้านให้ไปอยู่ค่ายใหญ่ๆ ของแต่ละหน่วย 
  • 3.ต้องถอนกำลังตำรวจและตำรวจชายแดนออกจากเขตหมู่บ้าน
  • 4.ปล่อย อส.(อาสาสมัครรักษาดินแดน) ที่นับถือศาสนาอิสลามให้กลับไปปฏิบัติศาสนกิจและใช้ชีวิตกับครอบครัวในเดือนรอมฎอน
  • 5.ต้องไม่ทำการโจมตี สกัดถนน และการจับหรือควบคุมตัวอย่างเด็ดขาด 
  • 6.นักล่าอาณานิคมสยามไม่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอน 
  • 7.เงื่อนไขดังกล่าวต้องลงนามโดยนายกรัฐมนตรี และต้องประกาศในวันที่ 3 กรกฎาคม 2013

นอกจากนี้ยังมีคำเตือนเพิ่มเติมว่า 
  • 1.ข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย 
  • 2.การเจรจาสันติภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติ 
  • 3.ต้องกำหนดฐานะของหัวหน้าคณะตัวแทนไทยและฐานะของหัวหน้าคณะนั้นต้องมั่นคง 
  • 4.ไม่มีการเจรจาลับหรือไม่เปิดเผย
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม