วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

BRN นักสู้ อาชญากรหรือผู้ก่อการร้าย



BRN นักสู้ อาชญากรหรือผู้ก่อการร้าย


              สถานภาพใดที่ BRN ควรมี ? ยังคงเป็นคำถามที่ได้แย้งกันอยู่ องค์กรอิสระ (NGO) บางองค์กรสื่อภาพของคนกลุ่มนี้เป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่และวีรบุรุษในสายตาสมาชิกBRN แต่ในสายตาของประชาชนและชาวโลกแล้ว เป็นได้เพียงแค่อาชญากรและผู้ก่อการร้ายภายในประเทศเท่านั้น สมาชิกระดับปฏิบัติการของ BRN ที่เรียกตนเองว่า RKK ซึ่งอ้างตนว่าเป็นนักสู้ แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมความรุนแรงมากมายที่คนกลุ่มนี้เกี่ยวข้อง อาทิ การโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ ได้แก่ พลเรือน พระสงฆ์ ครู รวมถึงเจ้าหน้าที่ทำให้สถานภาพของคนเหล่านี้ห่างไกลจากคำว่านักรบ


ลอบวางระเบิดพระภิกษุขณะกำลังบิณฑบาต

             การฆ่าพระสงฆ์เป็นสิ่งที่แม้แต่อดีตแกนนำพลูโลยังต่อต้าน และกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าอายและคาดไม่ถึงว่า ผกร.รุ่นใหม่จะคิดและทำ การฆ่านาวิกโยธินเมื่อปี 48 ที่ ต.ตันหยงลิมอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเข้าข่าย การก่อการร้ายแบบลูกผสม กล่าวคือ สังหารพวกเดียวกันแล้วโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อผู้ก่อเหตุรุนแรงกราดยิงร้านน้ำชาแล้วร้องตะโกนป่าวประกาศจนทั่วหมู่บ้านว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ก่อเหตุ นาวิกโยธินผู้เคราะห์ร้ายเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ จึงถูกป้ายสีว่าเป็นมือปืน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวถูกหยามเกียรติ โดยให้สตรีมุสลิมปัสสาวะรดใบหน้า ทรมานต่างๆ นานา เช่น นำรังมดแดงมาใส่บนร่ายกายและสังหารอย่างทารุณ สภาพศพทูกแทงด้วยเหล็กแหลมหลายที่ บริเวณข้อมือมีรอยฉีกขาดจนเห็นกระดูก หลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าเกิดจากการดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด ทำให้ข้อมือครูดกับพื้นอย่างแรงติดต่อกันหลายครั้ง

           มีการฆ่าครูซึ่งเป็นเป้าหมายอ่อนแอ ทั้งที่ครูทำหน้าที่ให้การศึกษาลูกหลานพี่น้องไทย จีน และมลายู โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา เหตุการ์ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ การฆ่าครูจูหลิง ปงกันมูล ครูฉัตรสุดา นิลสุวรรณ และครูชลธี เจริญชล ครูจูหลิงฯ ถูกกลุ่มสตรีมุสลิมจับเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้ปล่อยสมาชิก RKK ที่ถูกจับ เนื่องจากภรรยาของ RKK รายนั้นได้ออกเสียงตามสายในหมู่บ้านว่าสามีซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ต่อมากลุ่มวัยรุ่นได้เข้าไปในที่กักขังครูจูหลิงและทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนกรณีครูฉัตรสุดาฯ เสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ เหตุการณ์เกิดปี 56 ที่ อ.เจาะไอร้อง นราธิวาส จากคำสารภาพของผู้ต้องหาได้ใช้ปืนสั้นขนาด .22 มม. ยิงเข้าที่กลางหน้าอกผู้ตายจนรถเสียหลัก แต่ยังไม่เสียชีวิตทันที ครูฉัตรสุดาฯ พยายามเอาชีวิตรอดโดยคลานหนี ผู้ก่อเหตุรุนแรงจึงหยุดรถจักรยานยนต์แล้วเข้ายิงซ้ำจนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ มิใช่การกระทำของนักรบอย่างที่ประกาศตัว

ยิงครูเสียชีวิตขณะรับประทานอาหารในโรงเรียน

          ส่วนการเสียชีวิตของครูชลธีฯ เสียชีวิตเนื่องจากพยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกศิษย์ที่เข้าร่วมขบวน การยุติการต่อสู้โดยใช้อาวุธและเข้ามอบตัว สร้างความไม่พอใจให้กับขบวนการจนถูกขู่เตือนหลายครั้งก่อนถูกสังหารและโจรกรรมรถยนต์ โดยค้นหากุญแจจากศพอย่างใจเย็น การฆ่ากรณีนี้หวังผลให้เกิดความเกลียดชังระหว่างพี่น้องไทย – พุทธและมลายู – มุสลิม รวมทั้งสร้างอคติระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่

           นอกจากเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติยังมีการสังหาร จนท.ระดับสูง เช่น การสังหารผู้พิพากษารพินทร์ เรือนแก้ว เมื่อปี 47 กลางใจเมืองปัตตานี ขณะรถติดไฟแดงในเวลากลางวันต่อหน้าแม่ของผู้ตาย และกรณีล่าสุดคือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ซึ่งเสียชีวิตขณะเดินทางไปร่วมงานเทศกาลไก่เบตงเพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเบตง

          การฆ่ายกครัวพี่น้องไทย – พุทธ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อปี 53 ราษฎรชาวไทยอีสานได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาซื้อสวนยางที่ บ.ฮแตยือลอ ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ นราธิวาส และประกอบอาชีพด้วยความขยันขันแข็ง ครอบครัวประกอบด้วย พ่อ แม่ ตา ยายและลูกชายหญิง 2 คน จำนวน 6 คน ทั้งหมดถูกบังคับให้นั่งคุกเข่าแล้วจ่อยิงที่ศรีษะทีละคน ยายก้มลงกราบเพื่อขอขีวิตและตายในท่ากราบ เด็ก 2 คนใช้ช่วงเวลาจ่อยิงวิ่งหนีจากที่เกิดเหตุมาขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน ซึ่งได้นำเด็กไปซ่อนในตู้เสื้อผ้าทำให้รอดชีวิต หลังจากผู้ก่อเหตุตามมาตรวจค้นในบ้านเพื่อนบ้าน เมื่อสังหารครอบครัวดังกล่าวแล้วคนร้ายได้จุดไฟเผาบ้าน ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวคือ นายมะรอโซ จันทรวดี ขณะนี้เด็กทั้งคู่ได้เดินทางออกนอก 3 จังหวัดชายแดน ไปพักพิงกับญาติและไม่กล้ากลับเข้าพื้นที่อีก การฆ่าล้างครัวเช่นนี้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเกรงกลัวในหมู่พี่น้องไทย-พุทธ เป็นการบังคับให้ต้องละทิ้งถิ่นที่อยู่ แม้ว่าประชาชนเหล่านี้จะมีสิทธิและความชอบธรรมในการยึดครองกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ตาม ขบวนการจึงอยู่ในสถานภาพอาชญากรและผู้ก่อการร้ายในประเทศ มิใช่นักรบหรือผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง

          จากประจักษ์พยานหลักฐานและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพื่อหวังทำลายชีวิตและบรรยากาศความสงบสุขสามารถสรุปได้ว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดน มีสถานภาพเป็นได้แค่เพียงอาชญากรและผู้ก่อการร้ายภายในประเทศเท่านั้น แม้จะมีความพยายามนำเสนอภาพบุคคลเหล่านี้ในฐานะนักสู้หรือวีรบุรุษก็ตาม


ซอเก๊าะ นิรนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม