ภาพของเฉิน ผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ที่หน้าปก "In Everlasting Memomy" หรือความทรงจำนิรันดร์ เป็นหนังสือที่ระลึกสำหรับผู้มาร่วมงานฌาปนกิจเฉิน ผิง ซึ่งจัดที่วัดธาตุทอง เมื่อเดือนกันยายน 2556 สำหรับหนังสือดังกล่าวลงชื่อผู้แต่งว่า "เฉิน ผิง" โดยตีพิมพ์ 3 ภาษาได้แก่ ภาษาอังกฤษ มลายู และจีน (แฟ้มภาพ/ประชาไท)
สำนักข่าวมาเลเซียนอินไซเดอร์สัมภาษณ์อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่ปัจจุบันต้องมาอาศัยในประเทศไทยเนื่องจากทางการมาเลเซียไม่ทำตามสัญญาในเรื่องการให้สัญชาติพวกเขา ซ้ำยังสร้างภาพให้คอมมิวนิสต์เป็น 'ปีศาจ' ที่หลอกหลอนพวกเขาเองและคนในชาติ
2 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวมาเลเซียนอินไซเดอร์นำเสนอรายงานครบรอบ 25 ปีการทำสนธิสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่ายระหว่างรัฐบาลไทย รัฐบาลมาเลเซีย และพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (Communist Party of Malaya หรือ CPM) จากมุมมองของอดีตสมาชิกพรรค CPM ผู้ที่ยังรู้สึกว่ารัฐบาลมาเลเซียไม่ได้ทำตามที่สัญญาไว้ซ้ำยังคงพยายามทำให้พวกเขาดูเป็นตัวร้าย
การเซ็นสัญญาระหว่าง 3 ฝ่ายมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการก่อกบฏของพรรค CPM ที่มีมาตั้งแต่ปี 2501 ในปัจจุบันมีสมาชิกพรรค CPM หลายคนอาศัยอยู่ในจังหวัดนราธิวาสของประเทศไทย พวกเขาให้สัมภาษณ์ต่อมาเลเซียอินไซเดอร์ว่ารัฐบาลมาเลเซียไม่มีความจริงใจในการปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญา
อดีตสมาชิก CPM อายุ 53 ปี ชื่อ ยาขอบ อิบราฮิม ให้สัมภาษณ์ว่าเขารู้สึกโกรธที่รัฐบาลมาเลเซียยังคงพยายามทำให้พรรค CPM เป็นตัวร้ายต่อไปทั้งที่ความจริงพรรค CPM ไม่ได้เป็นภัยใดๆ อีกแล้ว โดยอิบราฮิมเล่าว่าในโทรทัศน์ยังคงมีการโฆษณาชวนเชื่ออ้างว่ากลุ่มคอมมิวน้สต์เป็นภัยทั้งที่จริงๆ สงครามการต่อสู้ระหว่างพรรค CPM กับรัฐบาลได้จบไปแล้วรวมถึงมีการทำลายอาวุธทั้งหมดทำให้พวกเขาไม่ได้มีอาวุธเหมือนก่อนหน้านี้
อิบราฮิมมีชื่อเรียกในหมู่ชาวพรรค CPM ว่า 'บูลาต' เขามาจากรัฐกลันตัน เข้าร่วมกองร้อยที่ 10 ของพรรค CPM ที่เรียกว่ากองกำลังประชาชนมลายา ต่อมาเขาก็รับหน้าที่ทำกราฟิกให้สื่อของกองร้อยที่เขาสังกัดอยู่
อิบราฮิมกล่าวว่ารัฐบาลมาเลเซียบิดเบือนประวัติของพรรค CPM โดยการห้ามตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือประวัติของพรรคตั้งแต่ช่วงราว 10 ปีที่แล้ว ทั้งที่หนังสือถูกจัดทำเรียบร้อยแล้วโดยมหาวิทยาลัยเกบังซานมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia หรือ UKM) แต่ก็ถูกคัดค้านโดยรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารในยุคนั้นโดยมีการกล่าวหาในเรื่องต่างๆ เช่นกล่าวหาว่ามีความพยายามรื้อฟื้นแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ ทำให้พวกเขาต้องพยายามหาทางตีพิมพ์หนังสือด้วยตนเอง
อดีตสมาชิกพรรค CPM อีกคนหนึ่งชื่อ อินดราจายา อับดุลลาห์ อายุ 57 ปี กล่าวโต้แย้งข้อกล่าวหาของอดีตจเรตำรวจ ตัน ศรี อับดุล ราฮิม นูร์ ซึ่งกล่าวหาว่าพรรค CPM พยายามสร้างรัฐคอมมิวนิสต์มลายาโดยไม่สนใจปลดปล่อยมลายาจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยอับดุลลาห์แย้งว่าพรรคของเขามีการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยให้มลายาเป็นเอกราชจากอังกฤษด้วย
"การปฏิวัติประชาธิปไตยคือการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและศักดินา มันคือการต่อต้านการล่าอาณานิคม พวกเราแค่ไม่ใช้คำว่า 'การเป็นเอกราช' เท่านั้น" อับดุลลาห์กล่าว
"การปฏิวัติประชาธิปไตยมีความหมายใหญ่กว่าการเป็นเอกราช คือจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้นในแง่การวางรูปแบบของประเทศ" อับดุลลาห์กล่าว
ปัจจุบันอับดุลลาห์อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ในจังหวัดนราธิวาส อยู่ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซียเพียง 3 กม. ผู้คนในหมู่บ้านนี้เคยเป็นสมาชิกกองร้อยที่ 10 ของ CPM มาก่อน หมู่บ้านนี้แต่เดิมมีชื่อว่า บ้านรัตนกิตติ 4 จนกระทั่งต่อมาอยู่ภายใต้การบริหารของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
อิบราฮิมกล่าวว่ารัฐบาลไทยปฏิบัติต่อพวกเขาดีกว่ารัฐบาลมาเลเซีย จากสนธิสัญญาสันติภาพรัฐบาลมาเลเซียจะต้องอนุญาตให้อดีตสมาชิกพรรค CPM ที่เกิดในมาเลเซียมีสิทธิที่จะกลับประเทศได้และจะต้องให้สิทธิความเป็นพลเมืองแก่พวกเขาตามกฎหมาย แต่อิบราฮิมยังไม่ได้รับเอกสารประจำตัวประชาชนหลังจากเวลาผ่านไปแล้ว 25 ปี เขายังเล่าถึงคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเอกสารประจำตัวจนต้องกลับมาอาศัยอยู่ที่ไทยจนกระทั่งเสียชีวิต
"เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาทั้งหมดเป็นชาวมาเลเซียแต่รัฐบาลอ้างว่าพวกเขาไม่มีเอกสาร (ที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็น)" อิบราฮิมกล่าว
หนึ่งในผู้ที่ไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้คือเฉินผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ผู้มีชื่อเดิมคืออองบุนหัว ผู้ที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว เขาเป็น 1 ใน 3 ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ที่ร่วมลงนามในสัญญาหาดใหญ่กับทางการมาเลเซียและไทยเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2532 เฉินผิงพยายามกลับมาเลเซียหลายครั้งโดยมีการร้องขอต่อศาล แต่ก็ถูกบอกปฏิเสธเพราะศาลของมาเลเซียเรียกร้องให้เขานำหลักฐานแจ้งเกิดหรือหลักฐานแสดงความเป็นพลเมืองมาเลเซียก่อนจะสามารถดำเนินคดีกับรัฐบาลมาเลเซียได้
แต่กรมทะเบียนของมาเลเซียเคยอ้างว่าพวกเขาหาหลักฐานแจ้งเกิดของเฉินผิงไม่พบ นอกจากนี้ศาลทางการมาเลเซียยังตัดสินให้หนังสือชื่อ "Alias Chin Peng: My Side of History" ซึ่งระบุถึงเหตุการณ์ที่อังกฤษบุกทำลายสถานที่ราชการจนทำให้เอกสารสูติบัตรของเขาถูกทำลายว่าเป็นเรื่องเท็จ เฉินผิงยืนกรานว่าเขาไม่สามารถจัดทำเอกสารใหม่ได้เพราะเอกสารถูกตำรวจยึดไปในช่วงที่ถูกบุกโจมตี
อดีตสมาชิกพรรค CPM ไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลมาเลเซียถึงต้องกลัวอิทธิพลของเฉินผิงหากเขากลับไป แม้ว่าเขาจะกลายเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว อับดุลลาห์มองว่าการอนุญาตให้เฉินผิงกลับบ้านจะเป็นเรื่องการให้ในเชิงมนุษยธรรมมากกว่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้รัฐบาลมาเลเซียต้องกังวล
ในแง่มนุษยธรรม อดีตสมาชิกพรรค CPM จึงมองว่าประเทศไทยปฏิบัติดีกว่ามาเลเซีย โดยทางการไทยได้ให้สัญชาติพลเมืองกรณีพิเศษแก่พวกเขา อีกทั้งยังทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในสนธิสัญญาหาดใหญ่โดยการให้ที่ดิน 15 ไร่เพื่อทำการเกษตรรวมถึงมีการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านและการรักษาพยาบาลฟรีในโรงพยาบาลท้องถิ่นถ้าหากมีบัตรที่ออกให้กับคนยากจน ซึ่งดูเหมือนพวกเขาจะรู้สึกดีกับสวัสดิการพิเศษเหล่านี้
หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา มีบ้าน 147 หลัง มีประชากรอยู่ราว 500 คน ซึ่งครอบครัวอดีตพรรค CPM บางส่วนมีทายาทเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ในหมู่บ้านมีสถานที่ต่างๆ อย่างโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงแรม มัสยิด และพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ตอนนี้รัฐบาลไทยกำลังสร้างสวนสุคิรินให้กับหมู่บ้านเป็นเงิน 5 ล้านบาท
มาเลเซียนอินไซเดอร์รายงานว่าชีวิตในหมู่บ้านเป็นไปอย่างสงบ ส่วนใหญ่เป็นคนทำการเกษตร คนสูงอายุในหมู่บ้านมักจะทำกิจวัตรประจำวันง่ายๆ คอยติดตามข่าวสารต่างๆ อับดุลลาห์ ซีดี หนึ่งในผู้นำพรรค CPM อายุ 91 ปี เป็นหนึ่งในนั้น เขายังดูแข็งแรงดีแม้ว่าจะใช้ไม้เท้าเดินและพูดลำบากเพราะเคยถูกหน่วยข่าวกรองของทางการวางยามาก่อนในปี 2518
อับดุลลาห์ ซีดี กล่าวว่าเขาอยากกลับไปที่บ้านเกิดในรัฐเปรัก แต่ก็เห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียต้องการล้างสมองพวกเขา โดยอ้างว่าพวกเขาเคยอยู่แต่ในป่าไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้เขาจึงตัดสินใจไม่กลับไป และมีคนกังวลว่าอับดุลลาห์ ซีดี อาจจะถูกจับกุมตัวโดยอ้างกฎหมายความมั่นคงภายในได้ถ้าหากเขาพยายามกลับไป แต่เขาก็สามารถกลับไปเยือนมาเลเซียได้ครั้งหนึ่งในปี 2541 โดยได้เข้าพบสุลต่านอัสลาน ชาห์ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์
สิ่งที่อดีตสมาชิกพรรค CPM สังเกตได้อีกอย่างหนึ่งคือความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลมาเลเซียมีลักษณะที่ไม่ได้มองเห็นคอมมิวนิสม์เป็นอุดมการณ์แต่มองว่าเป็นปีศาจร้าย แค่มี ส.ส. คนหนึ่งพูดถึงเฉิงผิงและผู้นำพรรคคนอื่นๆ ก็ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนคอมมิวนิสต์แล้ว โดยอิบราฮิมมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นแนวคิดระบบเศรษฐกิจอย่างหนึ่งและไม่เข้าใจว่าเหตุใดถึงถูกโยงไปเป็นการต่อต้านศาสนาและแนวคิดอเทวนิยมทั้งๆ ที่ชาวมาเลย์ที่เข้าร่วม CPM ก็ยังคงนับถือศาสนาอิสลามอยู่
อิบราฮิมยังได้เล่าถึงกรณีครูสอนศาสนาคนหนึ่งเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ในช่วงราวเที่ยงแล้วได้ยินเสียงอาซานซึ่งเป็นเสียงประกาศชวนละหมาด ทำให้ครูสอนศาสนาคนนั้นรู้สึกโกรธที่ถูกหลอกมาตลอด 40 ปี ในเรื่องที่คิดว่าพวกเขาไม่มีศาสนา
อิบราฮิมกล่าวอีกว่ามาเลเซียยังไม่ได้เป็นรัฐชาติอย่างแท้จริง เพราะแม้ผู้คนจากเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคมต่างชาติ แต่ก็ยังไม่เป็นอิสระจากผู้มีอำนาจในประเทศเอง ยังคงมีการกดขี่ มีความอยุติธรรม มีสิ่งที่หลงเหลือจากยุคอาณานิคมอย่างกฎหมายว่าด้วยการปลุกระดม (Sedition Act) ประเทศหนึ่งจะเป็นรัฐชาติไปไม่ได้ถ้าหากประชาชนยังยึดติดในความเป็นเชื้อชาติของตน
อย่างไรก็ตามอิบราฮิมมองว่าชาวมาเลเซียมีการเติบโตทางความคิดมากขึ้นจากการที่คนมีความอดทนเวลาที่เกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับศาสนา ส่วนอับดุลลาห์มองว่ามาเลเซียยังคงล้าหลังเพราะพรรคการเมืองอัมโนซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมและเป็นรัฐบาลยังคงมีอำนาจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น