วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

ประวัติมาตุภูมิหลังชายแดนใต้


ประวัติ ชาติ มาตุภูมิหลังจังหวัดชายแดนภาคใต้
http://www.tidso.com/board_3/view.php?id=168

ประวัติ ชาติ มาตุภูมิหลังจังหวัดชายแดนภาคใต้

"หัวเมืองมลายู" หัวเมืองชายแดนภาคใต้ของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย

จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ราว 700 ปี มาแล้วจากหลักฐานศิลาจารึก สมัยพ่อขุนราม คำแหงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย สมัยกรุงสุโขทัย ทางทิศใต้จดแหลมมลายูและในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง อาณาเขตทางทิศใต้จดมลายา และชวา จนกระทั่ง พ.ศ. 1837 ได้เรียกหัวเมืองชายแดนภาคใต้ว่า "หัวเมืองมลายู" ซึ่งประกอบด้วย เมืองไทรบุรี, กลันตัน, ตรังกานู, และเมืองปัตตานี (รวมจังหวัดยะลา, นรา ธิวาส) ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2310 ไทยได้เสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า หัวเมืองมลายูทั้ง 4 จึงตั้งตัวเป็นอิสระจากไทยมาตลอดสมัยกรุงธนบุรี

พ.ศ. 2328 สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงให้เดินทัพไปตีหัวเมืองปัตตานีและรวบรวมหัวเมืองทางภาคใต้ทั้ง 4 เข้ามาอยู่ในความปกครองของไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยให้มีการปกครองแบบอิสระแต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) 3 ปี/ครั้ง หากไม่ส่งจะถือว่าเป็นกบฏ และได้จัดให้มีระเบียบการปกครองบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ในขั้นต้นให้เมืองไทรบุรี และเมืองกลันตัน อยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองสงขลา จากกรณีนี้ได้สร้างความไม่พอใจ ให้กับเจ้าพระยาปัตตานี สุลต่าน มูตะหมัด ไม่ยอมอ่อนน้อม จึงโปรดฯให้ยกทัพไปตี เมื่อตีได้แล้วทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ต่วน กุราบิดิน (เชื้อสายสุลต่านเมืองปัตตานี) เป็นเจ้าเมือง

แก้ปัญหากบฏ แยกเมืองปัตตานีเป็น 7 หัวเมือง 

พ.ศ. 2334 หลังจากแต่งตั้ง เต็งกู รามิกดิน เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ขึ้นตรงต่อเมืองสงขลา ทำให้ เต็งกู รามิกดินไม่พอใจที่ถูกลดอำนาจเพราะศักดิ์ศรีน้อยกว่าเมืองสงขลา จึงทำตัวแข็งข้อไม่ขึ้นต่อเมืองสงขลา ได้ชักชวนองค์เชียงสือ กษัตริย์ญวนในสมัยนั้นให้นำกองทัพมาตีไทย แต่ถูกปฏิเสธจึงหันไปคบกับ โต๊ะ สาเยก (โจรสลัด) จากอินเดีย ก่อการกบฏและแยกกองทัพของเมืองปัตตานีมาตีเมืองสงขลาได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2334 หลังจากเมืองสงขลาตกอยู่ภายใต้อำนาจของเมืองปัตตานีแล้ว กองทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ร่วมกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ได้ยกทัพไปทำการปราบปรามและยึดเมืองสงขลากลับคืนมาได้ พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งให้พระยาเมืองสงขลายกทัพไปตีเมืองปัตตานี และสามารถยึดกลับคืนมาอยู่ภายใต้การปกครองของไทยตามเดิม การต่อสู้ในครั้งนั้นนับว่ารุนแรงมาก กำลังของเมืองสงขลาสู้ไม่ได้ต้องใช้กองทัพหลวง ดังนั้น เพื่อเป็นการลิดรอนกำลังของเมืองปัตตานีให้กระจายออกไป ไม่ยุ่งยากต่อการแข็งข้อและหลีกเลี่ยงการรวมอำนาจที่จะก่อการกบฏได้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2339 รัชกาลที่ 1 ทรงแก้ปัญหาด้วยการแยกเมืองปัตตานี ออกเป็น 7 หัวเมืองคือ

1. เมืองปัตตานี

2. เมืองยะหริ่ง

3. เมืองหนองจิก

4. เมืองสายบุรี (รวมเมืองบางนราด้วย)

5. เมืองยะลา

6. เมืองรามัน

7. เมืองระแง

โดยทรงแต่งตั้งให้ข้าราชการไทยและมลายู ที่มีความจงรักภักดีแยกกันปกครองเป็นเจ้าเมืองและมีอิสระต่อกัน แต่ทั้ง 7 หัวเมืองให้ขึ้นตรงต่อเมืองสงขลา ส่วนเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่และเป็นศูนย์กลางของตัวเมืองทั้ง 7 นั้น ภายหลังเจ้าเมืองได้ก่อความยุ่งยากมาโดยตลอด รัชกาลที่ 1 จึงทรงเปลี่ยนตัวเจ้าเมืองจากคนมลายูเป็นคนไทยปกครองแทน โดยแต่งตั้งให้ปลัดเมืองจะนะ (ขวัญซ้าย) เป็นพระยาปัตตานี และทรงยกฐานะเมืองสงขลาเป็นเมืองเอก ไม่ต้องขึ้นตรงต่อนครศรีธรรมราชเหมือนแต่ก่อนให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แห่งเดียว มีอำนาจควบคุมหัวเมืองทั้ง 7 รวมทั้งเมืองกลันตัน และตรังกานูด้วย ส่วนเมืองนครศรีธรรม ราชให้ควบคุมดูแลเฉพาะเมืองไทรบุรี ด้านฝั่งมหา สมุทรอินเดียเพียงเมืองเดียวเท่านั้น เนื่องจากมีพื้นที่รับผิดชอบกว้างขวางอยู่แล้ว เหตุการณ์ได้สงบมาโดยตลอดจนถึงรัชกาลที่ 3 และในระหว่างปี พ.ศ. 2381 เมืองไทรบุรีได้ทำกบฏ 2 ครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จสามารถปราบปรามได้ง่าย การก่อการร้ายสงบมาโดยตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5

เจ้าเมืองปัตตานี (พระยาวิชิตภักดี) ต่อต้านท้าทายอำนาจรัฐ 

พ.ศ. 2440 รัชกาลที่ 5 ทรงปรับปรุงเปลี่ยนระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ เรียกว่า "พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น ร.ศ. 116" ซึ่งได้ทดลองใช้มาจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2444 จึงประกาศใช้อย่างเป็นทางการโดยให้ใช้กับ 7 หัวเมืองภาคใต้ (เมืองปัตตานี, ยะลา, สายบุรี, หนองจิก, ยะหริ่ง, รามัน และเมืองระแงะ) โดยเรียกว่า "ข้อบังคับสำหรับ ปกครอง 7 หัวเมือง ร.ศ. 120" มีการแบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล มีตำแหน่งพระยาเมือง (เจ้าเมือง) ปลัดเมือง, ยกกระบัตรเมือง, โดยทั้งหมดขึ้นตรงต่อข้าหลวง สำหรับการเก็บภาษีจะส่งพนักงานสรรพากรไปเก็บ และแบ่งรายได้ให้เป็นเงินแก่พระยาหัวเมืองส่วนการพิจารณาคดีความจะส่งผู้พิพากษาไปตัดสินคดีความตามหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับพระยาเมืองที่มีเชื้อสายมลายูเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ เต็งกู อับดุลกาเดร์ บิน เต็งกู กามารุดดิน ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาวิชิตภักดี" เมื่อปี พ.ศ. 2442 และเป็นเจ้าเมืองปัตตานี ขณะนั้น

พ.ศ. 2444 พระยาวิชิตภักดี เริ่มกระด้างกระเดื่องไม่ยอมรับอำนาจของข้าหลวงและต่อต้านขัดขวางท้าทายอำนาจรัฐ ได้คบคิดกับพระยาเมืองระแงะ, สายบุรี และพระยาเมืองรามัน ซึ่งเป็นเชื้อสายของพระยาสุริยะสุนทรบวรภักดี (นิอิต้า) เจ้าเมืองสายบุรีขณะนี้ได้ร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนในฐานะผู้ปกครองรัฐส่งไปให้ข้าหลวงใหญ่ในอังกฤษประจำสหพันธ์มลายูที่สิงคโปร์ว่า ประเทศไทยไม่ให้ความเป็นธรรมและข่มเหงรังแกชาวไทยมุสลิมพร้อมทั้งได้ก่อความไม่สงบขึ้น ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้ทรงให้จับกุมพระยาวิชิตภักดี ในฐานะก่อการกบฏและถอดยศ และนำไปจองจำที่เมืองพิษณุโลก มีกำหนด 10 ปี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2448 พระยาวิชิตภักดี ได้ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พระยาวิชิตภักดีจึงได้เดินทางกลับมาอยู่ที่เมืองปัตตานีในสภาพสามัญชน ธรรมดา

พ.ศ. 2449 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกตำแหน่งพระยาเมืองทั้ง 7 ลดลงเหลือ เพียง 4 หัวเมืองคือ

1. เมืองปัตตานี

2. เมืองยะลา

3. เมืองสายบุรี

4. เมืองระแงะ

รวมเป็นมณฑลปัตตานี ต่อมารัชกาลที่ 7 ได้ทรงยกเลิกมณฑลปัตตานี ยุบสายบุรีและระแงะเป็นอำเภอ ส่วนปัตตานีและยะลามีฐานะเป็นจังหวัดเทียบเท่าสงขลา ต่อมา พ.ศ. 2454 พระยาวิชิตภักดีได้ยื่นขอรับเบี้ยหวัดย้อนหลังแต่ไม่ได้รับการพิจารณา และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2460 พระยาวิชิตภักดี ได้ยื่นเรื่องขอกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินเดิมจำนวน 600 แปลง โดยอ้างว่าเป็นมรดก แต่ศาลได้พิจารณายึดที่ดินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เพราะถือว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดิน จากสาเหตุนี้ได้สร้างความโกรธแค้นให้กับพระยาวิชิตภักดีเป็นอย่างมาก จึงมีการวางแผนและรวบรวมสมัครพรรคพวก เพื่อจะสังหารข้าราชการชั้นผู้ใหญ่โดยเชิญมาร่วมงานเลี้ยงที่บ้านพัก แต่ทางการสืบทราบแผนการดังกล่าวเสียก่อน รัชกาลที่ 7 จึงส่งทหารจากเมืองนครศรีธรรมราช ไปจับกุมตัวพระยาวิชิตภักดี แต่พระยาวิชิตภักดีได้หลบหนีไปอยู่ที่กลันตัน และเริ่มต่อสู้กับรัฐบาลไทยมาโดยตลอดได้รับการยกย่อง จากสมาชิกขบวนการโจรก่อการร้ายว่า "วีรบุรุษที่ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนให้อิสลาม"

ขบวนการมุสลิมแห่งรัฐกลันตัน 

พ.ศ. 2476 ภายหลังการเสียชีวิตของพระยาวิชิตภักดี เต็งกูมามุด มะไฮยิดดิน บุตรชาย คนที่ 7 ของพระยาวิชิตภักดี ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากปีนังและเข้ารับราชการแผนกศึกษาของรัฐกลันตัน ได้พยายามดำเนินการตามแนวความคิด ของบิดาโดยได้ร่วมกับ เต็งกู ปัตตารอ หรือเต็งกูอับดุล กาเดร์ และเต็งกูยะลานาเซร์ หรือนายอดุลย์ ณ สายบุรี (บุตรพระยา สุริยบวรภักดี) แต่ในระหว่าง พ.ศ. 2484-2488 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเสียก่อน เต็งกูมามุด มะไฮยิดดิน จึงได้สมัครเข้าเป็นทหารอังกฤษไปทำการรบในประเทศอินเดีย ได้รับยศพันโท และภายหลังได้เป็นผู้รวบรวมสมาชิกก่อตั้งเป็น "ขบวนการมุสลิมแห่งรัฐกลันตัน" เพื่อต่อต้านกับกองทัพประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยึดครองมลายูอยู่ในขณะนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง เต็งกูมามุด มะไฮยิดดินได้อาศัยขบวนการนี้ เป็นองค์กรบังหน้า โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากอังกฤษไปช่วยเหลือชาวมุสลิมประมาณ 3,000 คนที่ตกค้างอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้มีโอกาสได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมและได้ปลุกระดมชายไทยมุสลิมเหล่านั้น ทำให้มีสมาชิกของขบวนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข้อเรียกร้อง 7 ข้อของผู้นำศาสนาอิสลาม 

พ.ศ. 2488 ขบวนการมุสลิมแห่งรัฐกลันตัน ของเต็งกูมามุดฯ ได้เปลี่ยนชื่อขบวนการใหม่เป็น "ขบวนการรวมเผ่ามลายูที่ยิ่งใหญ่" ตั้งอยู่ที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย มีอำนาจเหนือสุลต่านรัฐกลันตัน และระหว่าง พ.ศ. 2478-2488 เต็งกูมามุด ณ สายบุรี (14 มกราคม 2487) ได้อ้างตัวเป็นหัวหน้าชาวไทยมุสลิม ทำหนังสือขึ้นร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี โดยตั้งชื่อขบวนการใหม่ว่า "ขบวนการแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี" มีแผนการที่จะ แบ่งแยกดินแดนจากไทย ต่อมาได้เริ่มการเคลื่อนไหวทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย โดยการเคลื่อนไหวในประเทศไทยได้มอบหมายให้ ประธานกรรมการอิสลามปัตตานี เป็นผู้รับผิดชอบปลุกระดม ยุยงและพยายามบิดเบือน ข้อเท็จจริงให้ชาวไทยมุสลิมเกลียดชังรัฐบาลและชาวไทยพุทธ จนกระทั่ง สิงหาคม 2490 ได้มีกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามประมาณ 100 คน ได้เข้าชื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยแก้ปัญหา 7 ข้อ พอสรุปได้ดังนี้

1. ให้รัฐบาลไทยตั้งบุคคลที่เป็นชาวไทยมุสลิม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นข้าราชการและอยู่ในตำแหน่งตลอดชีพ
2. ให้สอนภาษามลายูในโรงเรียนของ รัฐบาลจนถึงชั้น ป.4
3. หนังสือราชการต้องใช้ 2 ภาษา คือภาษาไทย ภาษามลายู
4. ให้แยกผู้นับถือศาสนาอิสลามจาก ผู้นับถือศาสนาอื่น เพื่อพิจารณาคดีชาวไทยมุสลิมต่างหาก
5. ภาษีอากรของชาวไทยมุสลิมภาคใต้ ให้ใช้บำรุงท้องถิ่นชาวมุสลิมชายแดนภาคใต้เท่านั้น
6. ข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเป็นคนนับถือศาสนาอิสลาม 80%
7. มอบอำนาจให้คณะกรรมการอิสลามออกกฎหมายใช้เอง ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อ พ.ศ. 2490 เกิดการรัฐประหาร จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สั่งการเมื่อมกราคม 2491 ให้จับกุมตัวหะยี...นายแวหามะ อาหะมะ นายหะยีอุเซ็ง และนายแวมะเซ็ง รวม 4 คน พร้อมทั้งยึดเอกสารปลุกระดมการแบ่งแยกดินแดนได้อีกจำนวนมาก กลุ่มบุคคล เหล่านี้ถูกนำตัวไปขึ้นศาล ที่ จ.นครศรีธรรมราช และถูกพิพากษาให้จำคุก 7 ปี (ต่อมาด้วยเหตุผลทางการเมือง กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้รับการปลดปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2493) ต่อมาเมื่อเมษายน 2491 ระหว่างที่หะยี... และพวกถูกจับกุมตัวได้มีการก่อความไม่สงบจนถึงขั้นจลาจลใน 2 พื้นที่คือ

1. บ้านดุซงญอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
2. บ้านปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

รัฐบาลต้องปราบปรามอยู่หลายปีเหตุการณ์จึงสงบ พ.ศ. 2496 เต็งกูมามุดฯ ซึ่งได้หลบหนีไปอยู่มาเลเซีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 ได้เสียชีวิตลง เต็งกูยะลา นาเซร์ หรือ นายอดุลย์ ณ สายบุรี ได้เป็นหัวหน้าขบวนการบีเอ็นพีพี และได้ใช้บ้านพักที่เมืองปาเสปูเตะ รัฐกลันตัน มาเลเซีย เป็นบ้านพักและศูนย์ปฏิบัติการมาโดยตลอด จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2520.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม