วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ฝ่ายก่อการชายแดนใต้ล้มเหลว


ฝ่ายก่อการชายแดนใต้ล้มเหลว
*นิธิ เอียวศรีวงศ์* วิพากษ์ *ฝ่ายก่อการชายแดนใต้ล้มเหลว*
ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญได้อภิปราย ในหัวข้อ "สันติภาพชายแดนใต้ ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมา จัดโดยเครือข่ายผู้ภาคหญิงภาคประชาสังคม

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ขออนุญาตถอดความคำอภิปรายโดยมีเนื้อหา ดังนี้
นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์
0 0 0
          ก่อนอื่นต้องบอกว่า ผมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ ในภาคใต้น้อยมาก เหตุผลสำคัญเพราะแรกๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในปี 2547 ผมค่อนข้างสนใจและติดตามมาก หลังจากนั้นมา 1-2 ปี ผมพบว่า สำหรับคนนอกแล้ว จะติดตามเรื่องนี้ได้ยากมากๆ เพราะว่าสื่อในประเทศไทยค่อนข้างแย่ คือคุณจะติดตามเหตุการณ์จริงจังจากสื่อไม่ได้ เพียงแค่รู้ว่ามันระเบิดที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ใครตาย มันไม่ได้ช่วยให้คุณเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้น และผมก็อยากจะโทษว่า สื่อในประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แต่ว่าไม่มีความพยายามในการเจาะลึกลงไปจริงๆ ถึงเรื่องที่มันจะเกิดขึ้น

           ผมขอยกตัวอย่างรูปธรรมว่า ตั้งแต่มีเหตุการณ์ใน พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน ผมพบผู้สื่อข่าว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่มืออาชีพ เป็นนักวิชาการฝรั่งที่สนใจและทำงานอยู่ในภาคใต้บ่อยมาก นานมาก เป็นคนเดียวที่สามารถเข้าถึงผู้ปฏิบัติ การ ผู้ก่อการ อย่างน้อยที่สุด 2-4 คนด้วยกัน เขาปิดชื่อหมด ถ่ายรูปด้านหลัง ไม่มีทางจำได้ แล้วคุยกันว่าเขารู้สึกอย่างไร เขาคิดอย่างไร เขาไปทำอะไรบ้าง ในกระบวนการที่เขาจะไปร่วมอยู่ในการเคลื่อนไหว เขาต้องผ่านอะไรบ้าง ต่างๆ นานา แล้วลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

          จากนั้นไม่มีเลยครับ สื่อไทยไม่สามารถเข้าถึงคนเหล่านี้ได้ ต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจกัน ผมคุยกับเพื่อนที่อยู่ในวงการสื่อพอสมควร เขาก็รู้สึกไม่ไว้วางใจ ไม่กล้าพอที่จะเข้าไปเจอคนที่ปฏิบัติการเหล่านี้ได้ ตัวเขาเองก็เป็นคนที่ฝ่ายปฏิบัติการไม่ไว้วางใจเหมือนกัน ซึ่งทำให้สื่อเจาะอะไรไม่ได้มากไปกว่าเหตุการณ์

          ผมอยากจะเตือนไว้ด้วยว่าในความขัดแย้งทุกอย่าง ในสงครามทุกแห่ง ไม่ใช่เฉพาะแต่ในเมืองไทย เขาพูดกันว่า เหยื่อรายแรกของสงครามคือความจริงเสมอ ในเมืองไทยก็เหมือนกัน ผมจะนึกย้อนไปถึงสงครามเวียดนามว่า สื่ออเมริกันเองก็ไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่เวียดนามกลับไปที่อเมริกาได้เป็นปี  คือเกิดสงครามรบกันมา คนอเมริกันเองก็มาตายเยอะไปหมดในเวียดนาม แต่คนอเมริกันที่อยู่ในอเมริกาไม่ได้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ในเวียดนาม ต้องฟังแต่ที่รัฐบาลอเมริกาพยายามที่จะบอก ซึ่งก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่หลอกกันตลอดมา

           ผมว่าในสงคราม ในความขัดแย้งทุกแห่ง รวมทั้งในเมืองไทยด้วยก็เกิดสิ่งนี้เหมือนกัน ฝ่ายที่เป็นอริของกันและกัน ทำลายความจริงเพื่อจะช่วยให้เกิดพรรคพวก ให้เกิดการสนับสนุนฝ่ายตน นี่ผมไม่ได้โทษแต่รัฐบาลไทย อีกฝ่ายหนึ่งก็เหมือนกัน มันเป็นหน้าที่ของการทำสงครามในความขัดแย้งที่คุณจะต้องฆ่าความจริงก่อน แล้วก็เพื่อแสวงหาพรรคพวกของกันและกัน เป็นปกติธรรมดา

           แต่ที่น่าเสียดายก็คือ สื่อ เขาไม่ได้สังกัดทั้งสองฝ่าย เขาน่าจะไปเจาะอะไรสักอย่างออกมาให้สังคมไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ ดังนั้นหลัง พ.ศ.2547 ผมรู้สึกว่าผมหมดหวัง เพราะว่าผมไม่มีความสามารถที่จะเข้ามาในพื้นที่เพื่อมาสัมผัสกับความจริงเหล่านี้ได้ ก็เลยตามเท่าที่จะตามได้ ไม่ได้สนใจที่จะตามใกล้ชิดอย่างที่เคยคิดจะทำในตอนแรกๆ ที่มันเกิดเรื่องขึ้น

          ฉะนั้นที่จะพูดต่อไปนี้ อยากจะให้เป็นการคุยกันมากกว่า เพราะผมไม่ได้คิดว่าผมจะมีความรู้มากพอจะพูดได้

         ทีนี้เมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้ว ได้เจอกับเพื่อนคนหนึ่ง คือ อ.ดันแคน แม็คคาร์โก ก็เป็นอีกคนที่ใช้เวลาในการศึกษากรณีภาคใต้มาตั้งแต่ พ.ศ.2548 แล้วก็มีผลงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ทยอยออกมาอยู่เรื่อยๆ ก็ถามแกว่า ในทัศนะของแก อะไรที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในภาคใต้ แกบอกพูดอย่างสั้นที่สุด คือ ความอยุติธรรม มันไม่ยุติธรรม ซึ่งผมก็คิดว่ามันก็ตรงกับคนจำนวนมากที่สนใจเรื่องนี้ ทุกคนก็เห็นตรงกันว่า มันมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

         ทีนี้ผมอยากจะเริ่มต้นจากความอยุติธรรมหรือความไม่ธรรมที่เกิดขึ้นในกรณีภาคใต้ ผมว่าเราต้องเข้าใจความไม่เป็นธรรมหรือความไม่ยุติธรรมสองสามอย่างด้วยกันที่ผมอยากจะขยายความ อันที่หนึ่งก็คือ มันเกิดความไม่เป็นธรรมที่กระทำขึ้นทั้งโดยรัฐและโดยทุนแก่คนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้นี้หรือไม่ คำตอบคือ แน่นอน แต่ในขณะเดียวกันก็อยากจะเตือนว่า ความไม่เป็นธรรมที่รัฐและทุนกระทำแก่คนเล็กๆ ทั้งหลาย มันไม่ได้เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้นี้เท่านั้น มันเกิดขึ้นทั้งประเทศ

          ในอีสานซึ่งนับถือพุทธ เป็นคนไทยเหมือนคนอื่นๆ มีเชื้อสายไทยเหมือนกัน ถูกขับไล่ออกไปจากที่ทำกิน ถูกแย่งทรัพยากร เช่น คนอีสานจะใช้พื้นที่ริมแม่น้ำที่เขาเรียก ป่าทาม ในการทำเกษตรเยอะมาก แต่ว่าวันหนึ่งนายทุนก็มากว้านเอาที่ดินเหล่านั้นไปปลูกมะเขือเทศ เพื่อที่จะทำโรงงานน้ำมะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศ และนายทุนคนนั้นก็มีความผูกพัน ที่จริงก็ร่วมหุ้นอยู่กับพรรคการเมืองหนึ่ง ก็ไล่ออกไปให้หมด ชาวบ้านก็ไม่มีสิทธิจะใช้ป่าทามเหล่านั้นได้

           ชาวบ้านต่อสู้เป็นเวลาเกือบ 20 ปีกว่าจะได้คำสั่งศาลมาว่า บริษัทนั้นไม่มีสิทธิที่จะยึดเอาที่ดินเหล่านั้นไป แต่คิดถึง 20 ปี ในชีวิตของคนมันเป็นเศษหนึ่งส่วนสามของชีวิตที่คุณเสียไป มานั่งสู้อยู่กับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เพราะฉะนั้นความอยุติธรรมในแง่นี้ ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นกับคนเล็กๆ ในประเทศไทยทั้งหมด

          อีกแง่หนึ่งของความยุติธรรม ถามว่ามันไม่มีความยุติธรรมแก่คนส่วนน้อยของประเทศไหม คำตอบคือผมว่ามันมีแน่นอน การที่สามจังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งอันนี้นอกเรื่องไปนิดหนึ่งก่อน คือผมไม่เชื่อว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นความขัดแย้งทางศาสนาแท้ๆ อย่างไรก็ตามแต่ คุณนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ค่อนข้างมาก แต่ลองนึกถึงชาวมุสลิมที่อยู่ในหนองจอกในกรุงเทพฯ ไม่มีใครรู้สึกอะไรกับเขาเลย เป็นมุสลิมที่อยู่ใกล้กันมาเป็นร้อยกว่าปี มันกลืนกันไป กลืนกันมา จนไม่มีรู้สึกอะไรอีกแล้ว

          แต่มุสลิมที่อยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่ได้อยู่ใกล้กันแบบนั้น เพราะฉะนั้นเขาก็ยังมีความแตกต่าง แล้วเขาก็รู้สึกว่าความแตกต่างเหล่านั้นเป็นตัวตนของเขา เช่น เขาอยากจะให้การศึกษา ทางด้านศาสนาสืบต่อมาในภาษามลายู นี่เป็นตัวอย่าง

          ในขณะที่คนหนองจอกไม่จำเป็น คุณจะสอนคัมภีร์กุรอ่านเป็นภาษาไทยก็ได้ สอนไปเลย สอนศาสนาด้วยภาษาไทยก็ได้ แต่คนตรงนี้ต้องสอนเป็นภาษามลายู เพราะตำรามีอยู่ในภาษามลายู จะไปสอนภาษาไทยได้ยังไง ก็ต้องสอนด้วยภาษามลายู ความแตกต่างเหล่านี้ ถามว่ารัฐไทยเป็นรัฐที่รังแกคนส่วนน้อยที่มีความแตกต่างเหล่านี้ไหม ผมว่าทำ ไม่ว่าจะเป็นชาวมลายู ไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยง ไม่ว่าจะเป็นชาวม้ง ชาวกุยที่อยู่ในที่ต่างๆ ในประเทศไทย

           แต่ทั้งหมดเหล่านี้ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่อ่อนแอ ที่บอกว่ารัฐไทยเป็นรัฐที่อ่อนแอก็เพราะว่า รัฐทุกรัฐในโลกนี้ผูกขาดการใช้ความรุนแรง ถามว่ารัฐไทยผูกขาดการใช้ความรุนแรงสำเร็จไหม ผมว่าสำเร็จ

           จริงอยู่สถานการณ์ในภาคใต้ มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาท้าทายการผูกขาดการใช้ความรุนแรง โดยใช้ความรุนแรงตอบโต้บ้าง อย่างไรก็ตามแต่ ถามว่ารัฐไทยผูกขาดความรุนแรงได้สำเร็จแค่ไหน ผมว่าสำเร็จค่อนข้างมาก คือกองกำลังติดอาวุธทั้งหลายของเรา ไม่ว่าจะเป็นทหาร ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ถึงที่สุดแล้ว สามารถที่จะปราบปรามการท้าทายการใช้ความรุนแรงของคนอื่นได้  อีกฝ่ายหนึ่งที่ใช้ความรุนแรง ถามว่าทำร้ายรัฐไทยได้มากไหม ผมว่าไม่มากเท่าไหร่

            แต่ความอ่อนแอของรัฐไทย ไม่ใช่อยู่ตรงที่คุณไม่สามารถใช้ความรุนแรงได้นะครับ ความอ่อนแอของรัฐไทยอยู่ที่ว่า เราไม่มีเอกภาพในการนำเพียงพอ ลองถามว่า ใครจะสามารถทำอะไรที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่ามีประโยชน์ ตัวอย่างเช่น การศึกษาไทยควรจะได้รับการปฏิรูปไหม ผมเชื่อว่า 80-90 เปอร์เซนต์เห็นด้วยว่าเราต้องปฏิรูปการศึกษา ถามว่าใครทำได้ ไม่มีใครทำได้สักคน ผมไม่ได้โทษ รมต.ศึกษาฯนะ

            มีนักวิชาการฝรั่งคนหนึ่ง เขาเปรียบเทียบสังคมไทยเหมือนกับ...คุณเคยเห็นไหมที่เขาผูกเชือก เป็นปมๆ ให้เด็กปีนเล่น เขาบอกว่ารัฐไทย มันเป็นแบบนั้น คือมีปมแยะมาก เด็กปีนปมนี้ ก็จะไปดึงปมอื่นด้วย มันก็กระทบถึงกัน แต่มันคนละปม ประเทศไทยก็จะเป็นอย่างนี้ คือไม่มีการนำที่ชัดเจน แต่กระจายการนำไปหมด มีทั้งนักการเมือง ทั้งระบบราชการ กองทัพบก ทั้งตำรวจ ทั้งฝ่ายวิชาการในมหาวิทยาลัย ทั้งหมดเหล่านี้มีอำนาจหมด แล้วก็ดึงกันไปดึงกันมา ไม่มีความเด็ดขาด ความอ่อนแอของรัฐไทยอยู่ตรงนี้ ดังนั้น รัฐที่อ่อนแอจึงอยากได้สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งจำเป็น คือความจงรักภักดีของพลเมืองที่มีต่อรัฐ ทุกรัฐต้องการสิ่งนี้หมด

           แต่คุณไปดูเถอะครับ ผมไม่เห็นจะมีรัฐไหนที่พูดแบบตรงไปตรงมาว่า ผมต้องการความจงรักภักดีจากคุณ เข้าใจไหม วิธีที่จะได้ความจงรักภักดีจาก พลเมืองก็คือ ทำอ้อมๆ ไม่บอกตรงๆ จึงมีแต่ความระแวง ระแวงว่าคนนี้ กลุ่มนั้น ไม่ภักดีอยู่ตลอดเวลา ด้วยความอ่อนแอ ผมก็คิดว่ารัฐไทยจึงมีความระแวงต่อความแตกต่างของพลเมือง ระแวงพวกกุย ระแวงพวกม้ง ระแวงพวกมลายู คุณพูดภาษาไทยไม่เหมือนเขา ระแวงไปหมด

           สมัยหนึ่งที่รัฐไทยระแวงว่า คนอีสานทั้งอีสานภักดีต่อฉันจริงหรือเปล่า หรือภักดีต่อประเทศลาวที่อยู่เวียงจันทร์กันแน่ เพราะอ่อนแอ เพราะต้องการแต่ความภักดีที่ชัดๆ อยู่ตลอดเวลา แทนที่จะสร้างความภักดีโดยวิธีอื่น ก็สร้างความภักดีโดยการข่มขู่ให้เขาภักดีต่อตัวเอง ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือค่อนข้างมาก

           จริงๆ รัฐบาลพม่าที่กดขี่ประชาชนมาเป็น 10 ปี เห็นได้ชัดที่สุดเลย คือความไม่ไว้วางใจ เพราะอ่อนแอ แล้วใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการบังคับให้ชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในพม่ามีความภักดีต่อตัวเอง คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เราอาจจะไม่แรงเท่าพม่า ในแง่นี้ ถามว่ารัฐไทยมีความเป็นธรรมต่อชนกลุ่มน้อยไหม มันไม่มี ที่ไม่มีเพราะอ่อนแอ

           อันสุดท้าย เรื่องของความเป็นธรรมที่ต้องนึกถึงก็คือ น่าประหลาดนะครับ เวลาที่รัฐทำอะไรก็แล้วแต่ที่มันยุติธรรม คนที่เป็นพลเมืองต้องรู้สึกด้วยว่า อันนั้นคือความยุติธรรม แต่ไม่ใช่ ผมกำลังจะบอกว่าความเป็นธรรมคือสิ่งที่ทั้งรัฐและพลเมืองเห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช่เฉพาะรัฐเห็นว่าเป็นธรรมอย่างเดียว

           เพราะฉะนั้นเวลาที่รัฐบอกว่า ไม่เป็นธรรมอย่างไร ก็ผมส่งคุณขึ้นศาลให้อัยการตรวจสอบ ขึ้นฟ้องศาล ศาลบอกว่าคุณผิด แล้วคุณยังบอกผมไม่เป็นธรรมได้ยังไง ไม่ใช่ เรากำลังพูดถึงความเป็นธรรมที่มีในกฎหมาย ไม่ใช่ที่มันล่องลอยอยู่ในอากาศ มันต้องเป็นความเป็นธรรมที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นธรรม ตรงนี้รัฐไทยไม่สามารถให้ได้ ไม่ใช่เฉพาะแก่ชาวมลายูมุสลิม  ทั้งประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ที่จะทำให้ไม่รู้สึกว่า ที่ผมโดนลงโทษและได้รับการปล่อยตัวมันเกิดขึ้นจากความเป็นธรรม แต่ความเป็นธรรมในแง่นี้มันไม่มีจริง เพราะฉะนั้นนี่เป็นมิติด้านความเป็นธรรมที่ผมคิดว่ารัฐไทยจะให้ได้ นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะฝากทิ้งไว้

           ประเด็นที่สองต่อมา ที่ อ.โซรยา [จามจุรี – DSJ] ถามว่า จะเกิดความสันติขึ้นมาได้อย่างไรในที่่ตรงนี้ มองจากแง่ของประวัติศาสตร์ ผมคิดว่าในสามจังหวัดภาคใต้ ความไม่สงบไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ทุกคนก็รู้อยู่ว่ามันเกิดความไม่สงบมากี่ครั้งกี่หนแล้ว เพราะคนที่นี่เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการอยู่กับรัฐไทย แล้วเขารู้สึกว่าต้องสร้างอำนาจต่อรอง โดยอำนาจต่อรองในที่นี้หมายถึงแยกตัวออกจากรัฐไทย หมายถึงต้องมีการเจรจาตกลงกันก่อนว่า จะอยู่ร่วมกันอย่างไรก็แล้วแต่ มันมีทุกอย่างหมด ในการแข็งข้อหรือขัดขืนกับอำนาจของรัฐไทย แล้วในที่สุดก็สงบลง แล้วก็เกิดมาอีก แล้วก็สงบลง ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น

          ถ้ามองถึงแง่ประวัติศาสตร์ หรือร้อยปีที่ผ่านมา ผมอยากจะพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐไทยใหญ่มาก เมื่อเทียบกันกับคนในสามจังหวัดภาคใต้ ยังไงๆ ก็สู้ไม่ได้ คือเมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่คุณใช้วิธีการสู้ด้วยความรุนแรง คุณไม่มีทางชนะรัฐไทยได้ อย่างที่ผมบอกเมื่อครู่แล้วว่า รัฐไทยอ่อนแอก็จริง แต่ไม่ได้อ่อนแอในแง่ของการใช้ความรุนแรง มันใช้ได้มากเท่าๆ กับ หรือมากยิ่งกว่ากลุ่มใดก็แล้วแต่ในประเทศที่สามารถใช้ได้

          พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถามว่าเข้มแข็งไหม เข้มแข็งมากครับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้นได้รับความอุดหนุนช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจที่ใหญ่พอสมควร คือจีนในสมัยนั้น แล้วก็เวียดนามปล่อยให้ผ่านทางเข้ามา ผมมีเพื่อนที่เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทางภาคอีสาน เขาบอกว่า ในภาคอีสานไม่ต้องห่วงเรื่องเกี่ยวกับอาวุธเลย เขาสามารถใช้ปืนอาก้าหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ส่งมาจากประเทศจีนได้สบายๆ แต่แน่นอน ในภาคใต้หาอาวุธได้ยากกว่า ต้องใช้วิธีแย่งจากตำรวจมาอีกที ทีนี้ภาคอีสานที่อยู่ติดกับลาว ติดกับเวียดนาม อาวุธไหลเข้ามาสบายๆ

           ผมคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเข้าถึงอาวุธได้มากกว่าผู้ปฏิบัติการในภาคใต้เวลานี้มากเลย แล้วก็เป็นอาวุธที่ค่อนข้างจะเป็นอาวุธสงครามขนาดใหญ่ด้วย ไม่ใช่แค่ปืนประจำกายแต่เพียงอย่างเดียว แต่กระนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ต้องยุติการต่อสู้ไปเพราะการตัดความช่วยเหลือของจีน พอจีนตัดความช่วยเหลือ คุณก็เสร็จ คุณไม่มีทางดิ้นรนจะไปสู้อะไรกับรัฐไทยได้

           เพราะฉะนั้นกำลังของรัฐไทยในการป้องกันตนเอง อย่าไปคิดแต่เพียงกองทัพอย่างเดียว คุณยังมีความสัมพันธ์ทางการทูต ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากในโลกนี้อยากจะอยู่ฝ่ายเดียวกับคุณมากกว่าที่จะอยู่กับ ฝ่ายที่ต่อสู้กับคุณ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นมลายู จะเป็นคอมมิวนิสต์ จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ คุณให้ประโยชน์แก่เขามากกว่า เพราะฉะนั้นกำลังในแง่นี้ของรัฐไทยมันมหาศาล ดังนั้น การกบฏต่อรัฐไทยหลังราชการที่ 5 เป็นต้นมา ผมไม่เห็นมีใครประสบความสำเร็จสักคน

           กบฏจริงๆ แล้วไม่มีทาง ในรัฐสมัยใหม่ รัฐสามารถดึงเอาอำนาจมาได้เมื่อไหร่ เชือกที่เป็นปมๆ ที่ผมพูดถึงมันเห็นพ้องต้องกันในการร่วมกันป้องกันตนเอง พอเห็นอย่างนี้ปั๊บ กำลังจะมโหฬาร ฉะนั้นในภาคใต้ จึงเกิดขึ้นแล้วก็สงบลง เกิดขึ้นแล้วก็สงบลง

           ดังนั้นผมคิดว่า สันติในความหมายทั้งสองฝ่าย คือ การประสบความสำเร็จในการเจรจากัน แล้วก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันนี้ผมไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ แต่ผมอยากจะชี้ 2-3 อย่างหากมองจากแง่ประวัติศาสตร์แบบเหี้ยมโหด คือไม่นึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนนะครับ

           อันที่หนึ่ง ผมอยากจะพูดว่า ฝ่ายผู้ก่อการในภาคใต้ ประสบความล้มเหลว ก็คือว่า คุณไม่สามารถที่จะดึงเอาความร่วมมือจากต่างประเทศได้ ซึ่งผมเข้าใจว่า เป็นความปรารถนาหรือความตั้งใจตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ 2547 แล้วว่า ถ้าคุณเคลื่อนไหวแล้ว ในที่สุดคุณจะได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มที่เขาเรียกว่ามุสลิมหัวรุนแรง หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่คุณไม่ประสบความสำเร็จในการดึงความช่วยเหลือที่เป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช่เป็นศูนย์เลย ไม่ใช่นะ อาจจะมี แต่เป็นกอบเป็นกำอย่างที่จะมีโอกาสให้คุณจะเอาชนะรัฐไทยด้วยอาวุธ เป็นไปไม่ได้

           ทำไมเขาจึงไม่รับไม่ให้การช่วยเหลือ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่อธิบายในที่นี้ว่า กลุ่มต่างๆ มีผลประโยชน์ผูกพันอยู่กับรัฐไทยสูงกว่าที่จะมาเสี่ยงกับกลุ่มเหล่านี้ คุณอาจจะบอกว่าเป็นมุสลิมด้วยกัน ผมไม่ทราบ แต่ผมเชื่อว่าอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว จะเป็นอุดมการณ์ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมืองไม่พอหรอก ไม่พอที่คุณจะดึงรัฐอื่นเข้ามาช่วยด้วยเหตุผลอุดมการณ์อย่างเดียว

            คุณยังจำได้ไหม จีนกับเวียดนามซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยกันยังรบกันเลย เมื่อผลประโยชน์ของประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ลองมองว่า คอมมิวนิสต์มันเป็นศาสนาชนิดหนึ่ง ยังรบกันเลย เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผมคิดว่านี่เป็นความล้มเหลวที่หนึ่ง

           อีกอย่างหนึ่ง เพื่อนของผมอีกคนเป็นนักข่าวเหมือนกัน เขาเข้าไปทำข่าวหลังจากที่อาเจะห์ได้มีข้อตกลงกับรัฐบาลอินโดนีเซียเรียบร้อยแล้ว เขาได้มีโอกาสเข้าไปในอาเจะห์ ไปคุยกับผู้นำฝ่ายปฎิบัติการของฝ่ายกบฏอาเจะห์ซึ่งตอนนี้ก็วางอาวุธแล้ว  เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียยอมหลายอย่าง ยอมแบ่งผลประโยชน์เรื่องน้ำมัน ยอมให้มีการปกครองตนเอง ให้กลายเป็นเขตปกครองพิเศษ อะไรต่างๆ นานาร้อยแปด

           ปรากฏว่าผู้นำอาเจะห์เหล่านั้นบอกเลยว่า เขาไม่รู้จะช่วยยังไงกับมุสลิมที่อยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย เพราะกลุ่มมุสลิมที่อยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยนั้นดำเนินงานทางการเมืองทั้งการเมืองภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ ล้มเหลวมากๆ เลย เพราะหลังจาก พ.ศ.2547 มาจนถึงปัจจุบันนี้ ที่จริงประมาณ 3 ปีหลัง พ.ศ.2550 เป็นต้นมา องค์กรระหว่างประเทศ เริ่มชี้ว่า ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน มีทั้งสองฝ่าย ฝ่ายรัฐไทยก็ละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกฝ่ายหนึ่งก็ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะคุณไปทำร้ายคน คือคุณใช้ความรุนแรง คุณไม่มีทางชนะทางการเมืองได้ แม้แต่คนที่อยู่ฝ่ายต่างประเทศที่เคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแยะแล้ว ยังรู้สึกว่า ถ้าผมไปช่วยก็จะเสียไปด้วย กลายเป็นว่า ผมก็เป็นฝ่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

           ถ้าไปดู ไม่ว่ากรณีอาเจะห์ กรณีการเคลื่อนไหวของโลกมุสลิมทั้งหมด คุณจะพบว่า เขาไม่เคลื่อนไหวโดยอาศัยความรุนแรงเพียงอย่างเดียว เขาจะไม่ทำอย่างนั้นเป็นอันขาด เขาจะต้องดูว่า ความรุนแรงที่เขาใช้มันจะมีผลในทางการเมืองอย่างไร คือการเมืองกับสงครามมันแยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าคุณคิดว่าจะอาศัยความรุนแรงในทางต่อสู้ เพื่อจะได้สิ่งที่คุณต้องการมา คุณต้องนึกถึงการเคลื่อนไหวในทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน คุณใช้แต่ความรุนแรงอย่างเดียวไม่ได้ และด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่านี่เป็นความล้มเหลวอันที่หนึ่ง ก็คือเขาไม่ประสบความสำเร็จในการดึงความช่วยเหลือจากต่างประเทศได้

           อันที่สอง หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปตั้งแต่ 2547-2555 แปดปีแล้ว ผมคิดว่ารัฐรู้แล้ว อย่างเก่งพวกคุณก็ทำได้แค่นี้ คุณลองมองประเทศไทยให้กว้างกว่าสามจังหวัด คุณลองดูตัวผมก็ได้ ผมนั่งอยู่เชียงใหม่ ถามว่าการปฏิบัติการที่รุนแรงทั้งหมดของกลุ่มปฏิบัติการในภาคใต้ กระทบต่อการธนาคารไทยไหม น้อยมาก คือธนาคารกรุงเทพสาขาที่ถูกระเบิดที่ยะลา มันเป็น 0.01 เปอร์เซนต์ของธนาคารกรุงเทพ ไม่มีความหมาย

           ในทัศนะผม คนที่อยู่ไกลจากสามจังหวัดภาคใต้ ก็ไม่ได้อะไรมากกว่านี้ มีประชากรที่เดือดร้อนอยู่ 1.7-1.8 ล้านคนที่อยู่ในสามจังหวัดภาค ใต้ ก็แค่นั้น ประเทศไทยตั้ง 60 ล้าน จะเป็นอะไรไป นี่พูดแบบเหี้ยมๆ เลยนะ ไม่สนใจว่าพวกคุณจะตาย จะอะไรเท่าไหร่ แต่หากมองจากรัฐที่ใหญ่ทั้งหมด แล้ว แปดปีผ่านไปถ้าคุณทำได้แค่นี้ คุณก็ได้แค่นี้แหละ ใครจะอึดกว่ากัน ประเทศไทยถามว่า เดือดร้อนไหม ไม่เดือดร้อน อยู่ได้สบายมากเลย คุณลองไปคิดถึงสมัยเราเคยเผชิญกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เอาเฉพาะพื้นที่อย่างเดียว ที่เรียกว่าพื้นที่สีชมพูนั้นมีเท่าไหร่ ผมคิดว่าชะตากรรมอันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกกับชาวมลายูมุสลิมที่เคลื่อนไหวเพื่อจะเรียกร้อง ไม่ว่าจะเรียกร้องอะไรก็แล้วแต่ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน คือคุณทำไม่ได้มากไปกว่านี้

            สมัยหนึ่งในภาคใต้ เมื่อสัก 30-40 ปีก่อน พอตกมืดก็ไม่มีใครกล้าเดินทางระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนเมืองแล้ว เพราะระหว่างทางไม่ปลอดภัย แต่ตอนนี้ขยายเข้ามาถึงในเมืองด้วย ข้างนอกด้วย แต่มากสุดก็แค่นี้ เพราะมันผ่านไปแล้วแปดปี คือถ้าปีที่สอง ปีที่สามคุณสามารถระเบิดหาดใหญ่ได้ บ่อยๆ พอจากปีที่สามไปถึงสงขลา อันนี้แหละมันน่ากลัว แต่ก็แค่นี้ สามปีหาดใหญ่ที ก็ไม่เป็นไร และผมคิดว่าเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายรู้ อีกฝ่ายหนึ่งก็รู้ และผมคิดว่าในอดีต กลุ่มผู้ก่อการทั้งหลายในภาคใต้ หลังจากทำงานไปพักหนึ่ง อาจจะถึงสิบปี ก็เริ่มรู้สึกว่า วิธีนี้ไม่ได้ผล เพราะคล้ายกับว่า คุณเป็นแจ็คที่ตัวเล็กมาก แล้วคุณไปสู้กับยักษ์ที่ใหญ่มากๆ โดยวิธีที่คุณไปตีหัวแม่เท้ามันอย่างเดียว มันทำไม่ได้หรอก มันไม่มีทางที่จะสู้ได้

            แต่แน่นอนความสูญเสียเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะกับประชาชน แต่แน่นอนไม่ใช่กับรัฐไทย คุณอยู่เชียงใหม่ได้โดยไม่ต้องสนใจ เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เลย ไม่กระทบ ดอกเบี้ยไม่เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยไม่ลดลง การส่งออกสินค้าก็ไม่ได้ต่ำลง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น การท่องเที่ยวก็กระทบไปอยู่พักหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็กลับมาเฟื่องฟูเหมือนเก่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันไม่เกิดผล

           จะเกิดสันติภาพได้อย่างไร คำตอบคือ ผมไม่ทราบว่าจะเกิดสันติภาพได้อย่างไร แต่ผมเชื่อแต่เพียงว่า ถ้าไม่มีใครเปลี่ยนแปลงมากนัก คือรัฐไม่เปลี่ยน อีกฝ่ายหนึ่งไม่เปลี่ยน ในที่สุดคือจะสงบไป แล้วจะเกิดกลุ่มใหม่มาอีก ถ้ารัฐยังเหมือนเดิมอีก
           แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ยอมรับว่า รัฐไทยกำลังเปลี่ยน  เปลี่ยนโดยตัวสังคมเอง และการเมืองของรัฐไทยเองก็ดำรงอยู่อย่างเก่าได้ยาก ทำให้จำเป็นต้องปรับตัวเอง จะปรับไปอย่างไรผมไม่ทราบ

           ท่ามกลางประชาชนที่ตื่นตัวมาก คุณสามารถเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้นอย่างตรงไปตรงมา แล้วจะให้รัฐเหมือนเก่านั้นก็เป็นไปไม่ได้แล้ว กลุ่มที่ปฏิบัติการต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม จะเปลี่ยนยุทธวิธีของตนเองไหม ผมก็หวังว่าจะเปลี่ยน
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม