"สมหมาย ภาษี" เร่งตัดสินใจอนาคตธนาคารอิสลาม หรือ "ไอแบงก์" หลังมีข้อเสนอให้ยุบทิ้งเพราะปัญหาบริหารไม่โปร่งใส-หนี้เสียจำนวนมาก ส่วน เอสเอ็มอีแบงก์ยืนยันคลังต้องอุ้มต่อเพราะต้องช่วย ผู้ประกอบการขนาดเล็ก
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า ได้หารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการแก้ปัญหาฐานะของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่ง ประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบข้อมูลไม่โปร่งใส มีหนี้เสียจำนวนมาก และขาดทุนสะสมสูง
แนวทางแก้ปัญหาในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์จะ ไม่มีการไปควบรวมกับธนาคารออมสิน เพราะเอสเอ็มอีแบงก์มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องช่วยให้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของประเทศเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งประเทศไหนๆ ก็มีธนาคารเพื่อช่วยเอสเอ็มอีกันทั้งนั้น ดังนั้น รัฐบาลจะต้องช่วยให้เอสเอ็มอีแบงก์เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ส่วนของไอแบงก์จะยุบหรือไม่ยุบกำลังพิจารณาอยู่ เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมามีการบริหารงานไม่โปร่งใส จนธนาคารมีความเสียหายเกิดขึ้นจำนวนมาก ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกข้อมูลได้ คลังจะไม่ยุบเอสเอ็มอีแบงก์ เพราะเป็นธนาคารที่มีความสำคัญ แต่เรื่องฐานะของไอแบงก์ยังไม่อยากพูดมากตอนนี้ ซึ่งได้ให้นโยบายกับประธาน เอสเอ็มอีแบงก์คนใหม่ไปแล้วว่าแบงก์จะดีไม่ดีอยู่ที่การหาคนมาเป็นซีอีโอ ต้องเป็นคนดี มีฝีมือ และซื่อสัตย์"
รายงานข่าวกระทรวงการ คลังกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ต้องการให้นาย สมหมายเห็นชอบแผนการควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์ และไอแบงก์ เข้ากับธนาคารออมสิน เพราะการดำเนินงานที่ผ่านมาพบปัญหามาก ถึงตอนนี้จะแต่งตั้งประธานใหม่ทั้ง 2 แบงก์เข้ามาแก้ไข แต่เกรงว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาอาจเปลี่ยนแปลงผู้บริหารแบงก์ จนเกิดปัญหารอบใหม่ขึ้นอีก
ด้านรายงานข่าวจากไอแบงก์เปิด เผยว่า เตรียมพิจารณาขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล 4 หมื่น ล้านบาท ภายในเดือนธ.ค.นี้ หากการตรวจสอบฐานะทางการเงิน (ดิวดิลิเจนต์) ที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์เดือนพ.ย. พบว่ามีหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจนถึง 5 หมื่นล้านบาทในสิ้นปี
เบื้องต้นหารือกับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือแซม ถึงเรื่องการขายหนี้ โดยจะพิจารณาขายในส่วนของลูกหนี้ทั่วไปที่ไม่ใช่มุสลิมออกไปทั้งหมด และลูกหนี้ที่เป็นมุสลิมแต่ไม่มีศักยภาพ ขาดความสามารถในการชำระหนี้ หรือไม่ได้ประกอบธุรกิจแล้ว อย่างไรก็ตาม การขายหนี้ครั้งนี้ต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ไอแบงก์ ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น