วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557

จับตาสันติภาพชายแดนใต้-ปาตานี เมื่อมาเลเซียผงาดใน UNSC-AEC

            มาเลเซียคว้าตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นครั้งที่ 4 “นาจิบ”แถลงทันที ย้ำ 5 ข้อบทบาทสร้างสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้ง เสริมบทบาทในเวทีโลก พร้อมกับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนพอดี บก.ศูนย์เฝ้าระวังวิเคราะห์ให้จับตาบทบาทต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี ชี้ต้องสร้างสมดุลระหว่างคู่ขัดแย้ง และพิสูจน์ให้ได้ว่าสันติภาพได้ผลและเป็นประโยชน์
มาเลย์คว้าตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC
          เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม  2557 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสหประชาชาติครั้งที่ 69 ที่เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศมาเลเซียได้เสียงสนับสนุนให้เป็นประเทศสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง แห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC โดยได้รับเสียงสนับสนุน 187 จากทั้งหมด 192 เสียง
          โดยชนะการลงคะแนนเสียงพร้อมกับประเทศ แองโกลา เวเนซูเอลา นิวซีแลนด์ และสเปน เพื่อแทนตำแหน่งประเทศสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่หมดวาระ 5 ตำแหน่ง ได้แก่ รวันดา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้และลักเซมเบิร์ก ซึ่งสมาชิกใหม่จะดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2015 และทำหน้าที่ใน UNSC จนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2016
            โดยจะทำหน้าร่วมกับอีก 5 ประเทศสมาชิกไม่ถาวรที่จะหมดวาระในปี 2015 ได้แก่ ประเทศชาด, ชิลี, จอร์แดน, ไนจีเรีย และลิธัวเนีย ทั้งนี้มาเลเซียเคยเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมารแล้ว 3 ครั้งคือในปี 1965 ปี 1989 และปี 1990
            สำหรับสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีทั้งหมด 10 ประเทศมีวาระ 2 ปี แต่ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกใหม่ทุกปีปีละ 5 ตำแหน่ง แบ่งตามกลุ่มภูมิภาค 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก กลุ่มแอฟริกา กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (GRULAC) กลุ่มยุโรปตะวันออก (EES) และ กลุ่มยุโรปตะวันตกและประเทศอื่น (WEOG)
           ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติระบุว่า คณะมนตรีความมั่นคงมีความรับผิดชอบหลักในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างชาติ สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแต่ละคนจะต้องมีหนึ่งเสียง สมาชิกทุกประเทศต้องปฏิบัติตามการตัดสินใจของ UNSC
“นาจิบ” แถลงย้ำ 5 ข้อบทบาทสร้างสันติภาพ
          สำนักข่าวเบอร์นามา ของมาเลเซียรายงานว่า หลังจากได้รับข่าวดังกล่าวแล้ว นายกนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้แถลงในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลีว่า ประเด็นหลักที่มาเลเซียจะให้ความสำคัญในฐานะสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 5 ลำดับ ได้แก่
  • 1.มุ่งขยายแนวคิดทางสายกลางในระดับโลก
  • 2.รณรงค์ผลักดันแนวทางการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง
  • 3.สนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ
  • 4.อำนวยความสะดวกในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งของประเทศต่างๆ
  • 5.ร่วมพิจารณาการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติอย่างรอบด้าน

จับตาบทบาทต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี
          นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวหลังจากอ่านคำแถลงดังกล่าวของนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแล้วว่า คำแถลงดงกล่าวมีหลายข้อที่มีความสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย หรือดินแดนปาตานี
         นายรอมฎอน กล่าวต่อไปว่า ความสำคัญดังกล่าวคือการที่มาเลเซียเป็นประเทศที่สนับสนุนแนวทางสายกลาง ปฏิเสธการเคลื่อนไหวที่มีแนวทางสุดโต่ง ซึ่งมาเลเซียยืนยันในเรื่องมาตลอด แต่ข้อที่สำคัญที่สุดคือ การอำนวยความสะดวกในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ซึ่งเห็นได้ชัดในบทบาทของมาเลเซียในมิดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
           นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ประจอบเหมาะกับในปีหน้า ประเทศมาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียนพอดี ซึ่งจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  หรือ AEC ซึ่งทั้ง 2 ตำแหน่งนี้จะไปเสริมอำนาจในเชิงอ่อน (soft power) หรืออำนาจในการโน้มน้าวทางการเมืองในเวทีระหว่างประเทศของมาเลเซียมากขึ้น
ต้องสร้างสมดุลระหว่างคู่ขัดแย้ง
            นายรอมฎอน กล่าวด้วยว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับคู่ขัดแย้งว่า จะวางบทบาทของมาเลเซียอย่างไร แต่สิ่งที่มาเลเซียต้องระวัง คือ การที่ชนชั้นนำไทยระแวงบทบาทมาเลเซียมาตลอด ซึ่งเป็นฐานคิดสำคัญของคนกลุ่มนี้เพราะไม่ต้องการให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกยกระดับเป็นปัญหาระหว่างประเทศ เพราะถือเป็นความขัดแย้งภายใน และระวังไม่ให้มีบทบาทของต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น โอไอซี ยูเอ็นและอาเซียน เข้ามาแทรกแซงภายใน
           นายรอมฎอน กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม กระบวนการสันติภาพที่เปิดเผยเมื่อปีที่แล้ว ได้ทำให้บทบาทของมาเลเซียเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แล้ว เพราะมาเลเซียเป็นประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว ด้วยเหตุผลการเป็นประเทศเพื่อนบ้าน มีผลประโยชน์ร่วมกัน มีประชากรที่ผูกพันกับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญคือมีกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวต้อสู้กับรัฐบาลไทยจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย
            นายรอมฎอน กล่าวว่า ถ้ามองจากมุมองของคนมลายูมุสลิมที่มีภูมิหลังเป็นคนปาตานีที่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย อาจจะมองการเปลี่ยนแปลงนี้ในหลายแง่มุม โดยอาจจะต่อรองกับมาเลเซียในฐานะที่เป็นตัวแสดงที่สำคัญมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ  ส่วนมาเลเซียแม้จะมีอำนาจในเชิงอ่อนมากขึ้นและมีความมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาก็จริง แต่ก็ต้องระวังบทบาทความเป็นผู้อำนวยความสะดวกมากขึ้น จะทำอะไรหรือตัดสินใจอะไรก็ต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดร่วมกันของคู่ขัดแย้งเป็นหลัก ต้องรักษาสมดุลให้ได้ ต้องมีมีความรับผิดชอบที่จะแก้ปัญหามากขึ้น
ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสันติภาพได้ผลและเป็นประโยชน์
       “ดังนั้นแน่นอนว่า การมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลกย่อมต้องมีคนที่เห็นด้วย และอาจจะไม่พอใจ ซึ่งอาจจะมาจากทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง ดังนั้นมาเลเซียต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า การเป็นผู้อำนวยความสะดวกและการมีบาทบาทในการสร้างสันติภาพมากขึ้นนั้นมันได้ผล และเป็นประโยชน์” นายรอมฎอน กล่าว
       “หลังจากนี้ต้องดูว่ามาเลเซียจะวางบทบาทอย่างไร และจะทำให้กระบวนการสันติภาพในภาคใต้ของไทยที่ชะงักงันให้สร้างสรรค์และให้เดินหน้าต่ออย่างไร ซึ่งก็มีสัญญาณที่ชัดเจนในเรื่องนี้อยู่แล้ว” นายรอมฎอน กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม