วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รอมฎอนเดือนแห่งความเมตตา

รอมฎอนเดือนแห่งความเมตตา

รอมฎอนเดือนแห่งความเมตตา

ไพศาล ดะห์ลัน


         กรรมการซูรอสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กรรมการซูรอ สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปรึกษา เครือข่ายชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา
ความดีทั้ง 6 ประการในเดือนรอมฎอน เป็นสุดยอดแห่งความดี.... เมื่อเราขออภัยจากพระผู้เป็นเจ้าได้ เราก็ต้องเป็นผู้ให้อภัยแก่ผู้อื่นได้เหมือนกัน เพราะการให้อภัยนั้น ยังสามารถทำให้โลกนี้สงบสุขปราศจากความขัดแย้งและสงคราม


         รอมฎอนเป็นเดือนแห่งความเมตตา จากพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาลที่พระองค์ทรงมีให้แก่ชั้นฟ้าและแผ่นดิน ดังนั้นในเดือนรอมฎอนของทุกๆ ปีบรรดาปวงบ่าวผู้ศรัทธาจะพยายามปฏิบัติอิบาดะฮฺ(ศาสนกิจ) ทำการภักดีต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขาอย่างเข้มแข็ง ทั้งยามเช้ายามเย็นและยามค่ำคืน เพื่อสนองคำบัญชาของพระองค์ที่ได้สั่งใช้และให้ละเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม

        จุดประสงค์เดียวเท่านั้นที่บรรดาผู้ศรัทธาได้ตั้งใจทำอิบาดะฮฺ ก็เพื่อทำการภักดีที่มีต่อพระองค์อย่างแท้จริง และหวังความโปรดปรานความเมตตาจากพระองค์ในโลกอาคีเราะฮฺหรือภพหน้าเท่านั้น

       พี่น้องที่รักทั้งหลาย เดือนแห่งความเมตตาของพระผู้อภิบาลนั้น ได้กลับมาอีกครั้งกลับมาในช่วงเวลาที่พวกเรายังมีชีวิตอยู่ มันจึงเป็นโอกาสที่จะได้ตอบสนองคำบัญชาของพระองค์อีกครั้งและจะได้มีโอกาสฝึกฝนตัวเองให้มีความสามารถในการเป็นผู้ให้เป็นผู้มีเมตตาต่อผู้อื่น มีผู้คนอีกมากมายที่หมดโอกาสต้อนรับเดือนแห่งความเมตตานี้เพราะพวกเขาต้องจากโลกนี้ไปก่อนเดือนรอมฎอนจะมาถึง

        รอมฎอนเป็นเดือนที่เหล่าผู้ศรัทธาจะรับผลานิสงส์ผลตอบแทนอันมากมายจากความเมตตาของพระผู้อภิบาลของพวกเขา ทั้งยังเป็นเดือนแห่งการฝึกฝนทักษะแห่งความดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอดทน การประหยัด การบริจาค การละหมาดยะมาอะฮฺ(รวม)กันที่มัสยิด การอ่านคัมภีร์กุรอาน และการให้อภัย
ความดีทั้งหกประการนี้ เป็นสุดยอดแห่งความดีที่เราสามารถฝึกฝนให้เกิดทักษะเพื่อเราจะได้เป็นผู้ชำนาญการในเรื่องเหล่านั้นและสามารถนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตได้ตลอดทั้งปี

        บรรดาผู้ศรัทธาต้องรู้ดีว่า พวกตนนั้นเกิดมาในโลกนี้เพื่อเป็นผู้ให้หรือเป็นมือบน โดยหวังผลในความโปรดปรานและความเมตตาจากพระผู้อภิบาลของพวกเขาในโลกอาคิเราะฮฺหรือโลกหน้า เราศรัทธาว่าโลกอาคิเราะฮฺอันเป็นโลกแห่งความเป็นนิรันดร์ ซึ่ง 1 วันในโลกอาคีเราะฮฺนั้น ก็เท่ากับ 1,000 ปีในโลกที่เราเรียกว่าดุนยานี้
ดังที่อัลกุรอานในซูเราะฮฺที่ 32 ที่มีชื่อว่า ซูเราะฮฺ อัซซัจญ์ด๊ะฮฺ ในอายะฮฺที่ 5
พระองอัลลอฮฺ(ซ.บ.) ได้กล่าวไว้ในซูเราะฮฺนี้ว่า

        32:5 “พระองค์ทรงบริหารกิจการทั้งหลายของโลกจากชั้นฟ้ายังโลก และบันทึกการบริหารนี้ได้ขึ้นไปสู่พระองค์ในวันหนึ่ง ซึ่งเวลาของมันเป็นเวลาพันปี ตามการนับของเจ้า”

         ดังนั้นเวลาในโลกนี้ชั่งสั้นนัก เมื่อเทียบกับโลกหน้าอันเป็นโลกแห่งความจริง โลกแห่งความเป็นนิรันดร์สำหรับผู้มีอีหม่าน ผู้ศรัทธาที่มีความจงรักภักดีต่อพระผู้อภิบาลของเขา และเมื่อเขามีความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหลาย เขาก็จะถูกขนานนามว่า ผู้ศรัทธาซึ่งเขาจะมีความสุขในโลกอันเป็นนิรันดร์แห่งนั้น

        หนึ่งในความหมายของผู้มีอีหม่าน ตามวจนะของท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล.) ที่กล่าวว่า

       “ไม่มีอีหม่านในคนใดในหมู่สูเจ้า จนกว่าเขาจะรักพี่น้องเหมือนกับรักตัวเอง” (อัลบุคคอรีและมุสลิม จาก อนัส)

         เดือนรอมฎอนจึงเป็นเดือนที่บรรดาผู้ศรัทธาจะได้มีโอกาสฝึกทักษะความดีทั้ง 6 ประการ และนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันอีก 11 เดือน ก่อนที่เดือนรอมฎอนจะมาถึงอีกครั้ง และก่อนที่ชีวิตพวกเขาจะกลับคืนสู่ความเมตตาของพระองค์
ความดี 6 ประการ ได้แก่
  • 1.การอดทน 
  • 2.การประหยัด 
  • 3.การบริจาค 
  • 4.การละหมาดยะมาอะฮฺ(การละหมาดรวมกันที่มัสยิด) 
  • 5.การอ่านคัมภีร์กุรอาน 
  • 6.การให้อภัย

       1. การอดทน  การอดทนในความหมายของอิบาดะหฺนั้น เป็นความอดทนที่ต้องอดกลั่นต่อกิเลสตันหาทั้งปวง ทั้งร่างกาย วาจา ใจ และความยั่วยวนจากสิ่งรอบข้างในปัจจุบันที่มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองอันเป็นทั้งกิเลสและตันหาของมนุษย์ที่มนุษย์ได้มองและสัมผัสจนหลงเข้าไปในวังวนของมัน ดังนั้นเดือนรอมฎอนจึงเป็นเดือนที่ผู้ศรัทธาได้มีโอกาสฝึกตนให้รอดพ้นจากสิ่งเลวร้ายเหล่านั้น
ท่านศาสดาได้กล่าวว่า “การถือศีลอดนั้นเป็นครึ่งหนึ่งของการอดทน”(บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์)

        ดังนั้นบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอาศัยเรื่องการถือศีลอดและการละหมาดเพื่อยืนหยัดสู่หนทางแห่งความสำเร็จเถิด

        และท่านศาสดายังกล่าวว่า “ผู้ที่แข็งแกร่งนั้น ไม่ใช่ผู้ที่สามารถล้มคู่ต่อสู้ได้ แต่ผู้ที่แข็งแกร่งคือผู้ที่สามารถควบคุมตัวเองได้ในยามโกรธ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

        ท่านอิบนุกะษีร ได้กล่าวว่า “ การอดทนนั้นมีอยู่ 2 ประเภท นั่นคือการอดทนต่อการละทิ้งสิ่งที่เป็นข้อห้ามและที่เป็นบาปทั้งหลาย และการอดทนต่อการปฏิบัติเพื่อแสดงถึงการเคารพภักดีและการเข้าใกล้อัลลอฮฺ ซึ่งการอดทนประเภทที่สองนี่เอง ที่มีผลานิสงส์อย่างมากมายเพราะมันคือเป้าประสงค์ (ของการอดทน)” (ตัฟสีรอิบนุกะษีร : 1/466)
        2. การประหยัด  การประหยัดก็เป็นส่วนหนึ่งของอิบาดะฮฺ อัลลอฮฺได้ตรัสความว่า "จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย" (อัลอะอฺรอฟ : 31) มุสลิมที่ได้ชื่อว่าผู้ศรัทธานั้นจะต้องปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ใช้และละเว้นที่ในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม นี่คือ อิบาดะฮฺ

         ยังมีคนในโลกนี้อีกมากมายที่ไม่มีโอกาสที่จะกินอาหารดีๆ ที่มีประโยชน์และเครื่องนุ่งห่มที่จะสวมใส่ ไม่มีแม้กระทั่งที่อยู่อาศัย และการรักษาพยาบาล มีหลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้ที่เป็นทรัพยากรร่วมของมนุษย์ ถ้าคนส่วนหนึ่งใช้มากเกินไปใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย คนอีกส่วนหนึ่งที่ด้อยโอกาสก็จะไม่มีโอกาสที่จะใช้มัน เช่น น้ำ พลังงาน และอาหาร มีหลายประเทศในโลกที่พยายามรณรงค์ให้ประชาชนของตนมีความประหยัดและแบ่งปัน

         3. การบริจาค การบริจาคก็เป็นอิบาดะฮฺอย่างหนึ่งที่ต้องการทำให้มนุษย์ส่วนหนึ่งเป็นมือบน เป็นผู้ให้ ให้แก่เด็กกำพร้า ผู้ขัดสนและยากไร้ นี่เป็นส่วนสำคัญและเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดกำลังซื้อ เป็นการทำให้ผู้ที่ยากจนได้มีเงินและมีโอกาสซื้อปัจจัยที่ต้องการ

          เมื่อมีความต้องการก็เกิดกำลังการผลิตอันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความเจริญรุ่งเรือง จะพบว่า รัฐบาลในหลายประเทศเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ ขาดกำลังซื้อ รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ก็จะแจกเงินให้ประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้นำเงินที่ได้มา ไปใช้จ่ายซื้อสินค้า เพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงานทางอ้อม

         ดังนั้นการบริจาค คือการที่คนมั่งมีเอาเงินไปแจกจ่ายแก่คนจน ทำให้คนจนที่ไม่มีเงินใช้จ่ายซื้อสินค้า ที่เราเรียกกันว่าการสร้างกำลังซื้อเพื่อเพิ่มความต้องการ และการที่รัฐให้ประชาชนนั่งรถไฟฟรีหรือรถสาธารณะขนส่งฟรีนั้นก็เช่นเดียวกัน เป็นการแจกเงินทางอ้อมเมื่อประชาชนไม่ได้จ่ายค่าโดยสาร ก็จะมีเงินเหลือในกระเป๋าไว้ใช้จ่ายซื้อสินค้า กำลังซื้อก็เกิดขึ้น การผลิตก็เกิดขึ้น การจ้างงานก็เกิดขึ้น คนก็จะมีรายได้ การใช้จ่ายก็เกิดขึ้นอีก มันจะวนเวียนกันไปไม่สิ้นสุด

         4. การละหมาดญะมาอะฮฺ(การละหมาดรวมกันที่มัสยิด) เป็นอิบาดะฮฺที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า และสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคม คือมนุษย์กับมนุษย์ให้ผู้ที่มาละหมาดได้รับรู้เรื่องราวของกันและกัน และเรื่องราวของสังคม ได้รับรู้ปัญหารับรู้ความทุกข์ความสุขของผู้คนในสังคมเดียวกัน ทำให้มีการร่วมมือกันและแก้ไข้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดการช่วยเหลือการแบ่งปันกันและกัน

          มัสยิดเป็นบ้านของอัลลอฮฺ(ซ.บ.) บนหน้าผืนแผ่นดินเป็นสถานที่ที่บรรดาผู้ศรัทธามาร่วมกันสุยูด(ก้มกราบ)ต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเขา มัสยิดยังเป็นบ่อเกิดแห่งความดีที่ผู้คนจะเข้าไปตักตวงความดี

         ในสมัยท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล.) มัสยิดได้เป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งความดี เป็นที่พึ่งของคนที่มีทุกข์คนยากไร้ คนเดินทางและการตัดสินปัญหาต่างๆ ลดความขัดแย้งของสังคม มัสยิดจึงได้ชื่อว่า เป็นบ้านของอัลลฮฺ (ซ.บ.) เป็นที่พึ่งของคนในชุมชน

         5. การอ่านกุรอาน  การอ่านคัมภีร์กุรอาน เป็นอิบาดะฮฺที่สำคัญแห่งความยำเกรง ทำให้เรามีความใกล้ชิดต่อพระผู้อภิบาลของเรา เป็นการขัดเกลาสติปัญญาและฝึกฝนความจำ อันเป็นพื้นฐานแห่งความรู้ทำให้มนุษย์มีความยำเกรงต่ออำนาจของพระเจ้าอย่างแท้จริง เกรงกลัวต่อบาป

         การอ่านกุรอานเป็นการฝึกฝนหาความรู้ที่มีห่วงโซ่ผูกพันกับความดี และการอ่านกุรอานก็เป็นการฝึกตนเองให้เป็นผู้มีคุณธรรม ผู้ใดที่อ่านกุรอานมากๆ และได้รับการศึกษาเรียนรู้วิชาการแขนงต่างๆ จนสำเร็จ เขาก็จะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตที่ทรงคุณธรรม ที่สร้างความสุขให้แก่ผู้คนบนแผ่นดิน และจะเป็นตัวแทนของพระเจ้าบนหน้าผืนแผ่นดินนี้ได้อย่างดี

          ดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวว่า “จงอ่านด้วยพระนามของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้าง”

          6. การให้อภัย  การให้อภัย เป็นอิบาดะฮฺที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์ถ่อมตน มีความยำเกรงต่ออำนาจที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า มนุษย์พยายามขออภัยโทษจากพระผู้ลิขิตชีวิตตน เพื่อเขาจะได้เป็นผู้บริสุทธิ์และได้เป็นชาวสวรรค์ตามความปรารถนา
และการขออภัยจากพระเจ้ามากๆ ก็สามารถบรรเทาทุกข์แก่มนุษย์ในโลกนี้ได้ เพราะเป็นการถ่ายบาปในความผิดของตนได้เป็นอย่างดี และเป็นการทำสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าผู้มีอำนาจเต็ม เขาปฏิญาณตนว่าเขาจะไม่กระทำผิดอีก

         เมื่อเราขออภัยจากพระผู้เป็นเจ้าได้ เราก็ต้องเป็นผู้ให้อภัยแก่ผู้อื่นได้เหมือนกัน เพราะการให้อภัยนั้น ยังสามารถทำให้โลกนี้สงบสุขปราศจากความขัดแย้งและสงคราม

          เมื่อไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีสงคราม การแบ่งปันก็มีขึ้น ความสงบสุขสันติจะเกิดขึ้นมาตามกฎสภาวะที่พระเจ้ากำหนด นั่นคือการมีอิสลามอันเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต เป็นวิถีธรรมที่ปราศจากจากการเป็นเจ้าของ อันเป็นกระบวนการดำเนินชีวิตที่แท้จริงของสรรพสิ่งที่มีชีวิตในโลกนี้

           ดังที่พระผู้เป็นเจ้า ได้กล่าวว่า“วันนี้ ข้าได้ให้สมบรูณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนา (วิถีการดำเนินชีวิต) ของพวกเจ้า และข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนา (วิถีการดำเนินชีวิต) แก่พวกเจ้า แล้ว (ซูเราะฮ์อัลมาฮิดะฮ์ 5/3)
สลามและดุอาอฺ

http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม