วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ยิงครูตาดีกา-บึ้มทหาร สถานการณ์สวนทางหยุดยิงรอมฎอน

ยิงครูตาดีกา-บึ้มทหาร สถานการณ์สวนทางหยุดยิงรอมฎอน

ยิงครูตาดีกา-บึ้มทหาร สถานการณ์สวนทางหยุดยิงรอมฎอน
Thu, 2013-07-18 09:31


มูฮำหมัด ดือราแม
        แค่สัปดาห์แรกเดือนรอมฎอน เกิดแล้ว 10 เหตุการณ์ ยิงครูตาดีกา-บึ้มทหาร สถานการณ์สวนทางข้อตกลงลดความรุนแรง ย้อนดูสถิติ 4 ปี ความสูญเสียในเดือนอันประเสริฐ



สถิติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอนปี 2552-2555


สถิติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอนและอีก 10 วัน หลังจากเดือนรอมฏอน ปี 2552-2555


        หลังจากดาโต๊ะอัฮหมัด ซัมซามิน ฮุสเซน ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการ BRN แถลงข่าว กรณีข้อตกลงที่จะลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนและ 10 วันของเดือนเชาวาลปีนี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ผ่านไปเพียง 4 วัน ก็เกิดเหตุรุนแรงแล้ว 9 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 8คน

         นั่นจึงน่าเป็นห่วงว่า เดือนรอมฎอนปีนี้อาจเกิดเหตุรุนแรงเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะจากสถิติพบว่า เป็นช่วงหนึ่งที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุดช่วงหนึ่งของปี

  • เหตุที่ 1 วันที่ 13 กรกฎาคม พบศพชายไม่ทราบชื่อบริเวณริมแม่น้ำโก-ลก บ้านลูโบ๊ะฆง หมู่ 3 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส สภาพศพถูกยิงบริเวณศีรษะ และมีบาดแผลถลอกที่แขนกับข้อมือ
  • เหตุที่ 2 วันที่ 14 กรกฎาคม เวลา 20.30 น.คนร้ายขับรถยนต์เก๋งยิงใส่รถนายอิสมะแอ บาเหะ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110 บ้านรือเปาะ หมู่ 4 ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส บนทางหลวงหมายเลข 4057 บ้านกวาลอมาแด หมู่ 4 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้รับบาดเจ็บ นางมารียะ หะมะ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 140/1 หมู่ 5 ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งนั่งมาในรถด้วยได้รับบาดเจ็บเช่นกัน เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
  • เหตุที่ 3 วันที่ 15 กรกฎาคม เวลา 13.50 น.คนร้ายดักยิงนายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 73 หมู่ 1 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ขณะขับรถจักรยานยนต์ไปทำสวน ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดที่สะพานข้ามคลองลิเง๊ะ ม.13 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยนายตอเหล็บถูกดำเนินคดีความมั่นคง 5 คดี ศาลยกฟ้องไปแล้ว 1 คดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกันตัว
  • เหตุที่ 4 วันที่15 กรกฎาคม กลางดึกคนร้ายดักยิงนายอับดุลรอฮิม งอเล็ง อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17/1 หมู่ 5 ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ขณะเดินหาปลาจนเสียชีวิต เหตุเกิดหลังโรงเรียนสาลาลุสดินวิทยา ม.11 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่ระบุว่า นายอับดุลรอฮิมมีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย ชอบขโมยของชาวบ้าน
  • เหตุที่ 5 วันที่ 16 กรกฎาคม เช้า คนร้ายดักยิงนายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 บ้านบันนังกูแว อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและครูตาดีกา มีอาชีพกรีดยาง เสียชีวิต เหตุเกิดที่บ้านบาโงแจเกาะ หมู่ 10 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา ขณะออกไปกรีดยาง
  • เหตุที่ 6 วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 15.00 น. คนร้ายใช้รถยนต์กระบะตามประกบยิงนายปรเมศวร์ วงศ์บุตรรอด อายุ 57 ปี เจ้าของหนังสื่อพิมพ์ท้องถิ่น “อาชญากรรม” ขณะขับรถยนต์บนถนนสาย 418 หมู่ 7 ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยถูกยิงเข้าลำตัวบาดเจ็บ นายปรเมศ ระบุว่า สาเหตุน่าจะเป็นเรื่องการเสนอข่าวบ่อนการพนันใน จ.ยะลา 2 แห่ง ที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มอิทธิพลและผู้ที่เสียผลประโยชน์
  • เหตุที่ 7 วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 23.30 น. คนร้าย 2 คน ลอบยิงนายสุชัล คงขวัญ อายุ 28 ปี ขณะนอนในขนำกลางสวนยางพารา ม.4 ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เข้ากลางหลัง 1 นัด ได้รับบาดเจ็บ
  • เหตุที่ 8 วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 เวลา 07.35 น. ลอบวางระเบิดทหารพรานชุดลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครู บนถนนสายบ้านกาโสด – เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้ทหารพรานบาดเจ็บ 1 นาย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของกลุ่มคนร้ายในพื้นที่
  • เหตุที่ 9 วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ลอบวางระเบิดและโจมตีซ้ำทหารพราน ฉก.ทพ.4807 บริเวณสะพานบ้านปะเระลูโบะ ม.9 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ขณะลาดตระเวนด้วยรถวีว่า ทำให้ทหารพรานบาดเจ็บ 2 นาย
      เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอนย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2552 - 2555 จากการรวบรวมของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีสถิติ ดังนี้
  • ปี 2552 เกิดเหตุการณ์ 83 ครั้ง เสียชีวิต 41 ราย บาดเจ็บ 177 ราย
  • ปี 2553 เกิดเหตุการณ์ 88 ครั้ง เสียชีวิต 33 ราย บาดเจ็บ 50 ราย
  • ปี 2554 เกิดเหตุการณ์ 71 ครั้ง เสียชีวิต 37 ราย บาดเจ็บ 58 ราย
  • ปี 2555 เกิดเหตุการณ์ 62 ครั้ง เสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ 86 ราย
         จากสถิติดังกล่าว จะพบว่า ในช่วงปี 2552 มีผู้บาดเจ็บที่สูงมากถึง 177 คน เฉลี่ยวันละ 5-6 คน จากนั้นในปี 2553 – 2555 มีจำนวนผู้บาดเจ็บที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่จำนวนเหตุการณ์เฉลี่ยมากกว่าวันละ 2 เหตุการณ์ แต่มีแนวโน้มลดลงโดยในปี 2553 มีจำนวน 88 เหตุการณ์ ปี 2554 มี 71 เหตุการณ์ และปี 2555 ลดลงเหลือ 62 เหตุการณ์ ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปีไม่แตกต่างมากนัก โดยปี 2555 มีจำนวนผู้เสียชีวิตในเดือนรอมฎอนน้อยที่สุดเพียง 29 คน

        ส่วนเดือนรอมฎอนปีนี้ หากนับรวมเหตุลอบวางระเบิดรถทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 12 บนถนนเลียบทางรถไฟ บ้านบาลอ หมู่ที่ 1 ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา จนได้รับบาดเจ็บ 8 นาย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมด้วยแล้ว ทำให้มียอดรวมเหตุการณ์ทั้งหมด 10 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 3 คน บาดเจ็บ 12 คน เฉลี่ยในรอบ 8 วันของการถือศีลอดมีเหตุรุนแรงวันละ 1 เหตุการณ์

        แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ยกเว้นลอบวางระบิดทหารเมื่อเช้านี้ เจ้าหน้ายังไม่ได้สรุปว่าเป็นการกระทำของกลุ่มใด แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้พยายามตั้งคำถามถึงถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

  • 1.ความสามารถของขบวนการบีอาร์เอ็นในการควบคุมกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่มีจริงหรือไม่
  • 2.อาจมีกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้สังกัดขบวนการบีอาร์เอ็นพยายามก่อเหตุเพื่อฉวยโอกาสแสดงบทบาทหรือตัวตนออกมา และ
  • 3.มีการตั้งคำถามถึงความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยว่า จะสามารถป้องไม่ให้มีเหตุรุนแรงได้อย่างไร
        ด้วยเหตุนี้ ทำให้ต้องจับตาดูกันว่า ในช่วงเดือนรอมฎอน 2556 ปีนี้ และอีก 10 วันหลังจากนั้น จะเกิดเหตุรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จะดำเนินต่อเนื่องไปหลังจากนี้
หวังว่าในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐปีนี้ สถิติจะไม่ทะลุมากไปกว่านี้

See more at: http://www.deepsouthwatch.org/dsj/4507#sthash.5RaRaRBs.dpuf
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม