ท่าทีของมาเลเซียต่อปัญหาภาคใต้ของไทย | |
รศ.ดร.ชุลีพร - อ.นิอับดุลรากิ๊บ ท่าทีของมาเลเซียต่อปัญหาภาคใต้ของไทย ในมุมของหัวหน้าแผนกมลายูศึกษา มอ.เป็นอย่างไร “เรื่องนี้ในมาเลเซีย ถ้าไปถามทหารระดับล่างก็จะได้คำตอบอย่างหนึ่ง ถ้าไปถามข้าราชการระดับสูง เขาบอกว่าไม่ต้องการให้เกิดปัญหา เขามองข้ามไปแล้ว ไปมองเรื่องการค้ากับประเทศต่างๆในภูมิภาค มองในเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าเกิดความสงบสุขได้ผลดีจะเกิดกับเขามากกว่า” อาจารย์นิอับดุลรากิ๊บบอก อาจารย์นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน หัวหน้าแผนกวิชามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี (มอ.) แสดงทรรศนะต่อการเจรจาระหว่างไทยกับตัวแทนบีอาร์เอ็นว่า แม้ระหว่างการเจรจาจะมีการปะทะกัน แต่การเจรจาก็ยังเป็นแนวทางที่ดี เพราะได้เห็นหน้ากัน ได้พูดจากัน “โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับการเจรจา เพราะการเจรจาครั้งก่อนๆ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ถ้าล้มเหลวมันก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นการเจรจาแบบลับๆ การเจรจาแบบเปิดเผยตัว แม้จะมีเสียงให้ เลิกล้มบ้าง อย่างฝ่ายค้านออกมาโจมตี แต่ผมว่าเป็นแนวทางที่ดี แม้จะไม่บรรลุผลเท่าไรก็ตาม” ส่วนข้อเสนอของบีอาร์เอ็น 5 ข้อนั้น “ผมว่าเหมือนเราขายของ เขาเพียงเสนอราคาสินค้าออกมา อยู่ที่ฝ่ายรัฐไทยว่าจะทำอย่างไร ต้องการพบกันครึ่งทาง ต้องการต่อรองราคาให้เหลือเท่าไร หรืออย่างไรถึงจะยอมรับได้ โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าเขาเสนอราคาสูงไป” การคลี่คลายปัญหา อาจารย์นิอับดุลรากิ๊บชี้ให้ดูปัญหาในประเทศฟิลิปปินส์ หนึ่งในประเทศที่มีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม แบ่งแยกตัวเป็นอิสระ แม้จะได้อิสระก็ไม่ได้เกิดผลอะไร เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ยังดำรงอยู่ เป็นเพียงแต่เปลี่ยนผู้นำทางการเมืองใหม่เท่านั้น รากเหง้าของปัญหาไฟใต้ อาจารย์บอกว่า แท้จริงเกิดมาจากหลายปัญหา “ผมว่าเรื่องใหญ่ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นเรื่องของการถูกกระทำ เหมือนผมจมอยู่ในทะเล เมื่อคำว่าแบ่งแยกดินแดน เข้ามามันก็เหมือนขอนไม้ต้องเกาะไว้ก่อน หรือมีขบวนการอะไรก็ตาม ที่มีแนวทางสู้เพื่อความเป็นธรรมเข้ามา แล้วจะให้ไปหาใคร” สำหรับสร้อยสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียเป็นอย่างไรนั้น คำตอบคือเป็นไปด้วยดี แม้จะมีปัญหาเรื่องเขตทับซ้อนแต่ก็สามารถหาทางยุติปัญหาได้เป็นอย่างดี ด้วยการตกลงกันตั้ง องค์กรความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนแล้วแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างกัน ปัจจุบันหน่วยงานนี้ตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ลึกเข้าไปในความเป็นมาเลเซียนั้นเป็นมาอย่างไร รศ.ดร.ชุลีพร วิรุณหะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉายภาพอดีตของแหลมมลายู ในงานสัมมนาทางวิชาการ จัดโดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ณ ห้องประชุมหอสมุด แห่งชาติ ท่าวาสุกรี ว่าคาบสมุทรมลายูมีพัฒนาการมายาวไกลและมีอัตลักษณ์ของตนเองคือ เป็นเมืองเล็กๆ อยู่กระจัดกระจาย มีความหลากหลายของผู้คน และมีความสัมพันธ์กันอย่างหลวมๆ สาเหตุอาจจะมาจากสภาพของพื้นที่ที่เป็นเหมือนก้างปลา มีสันเขาอยู่ตรงกลาง ชุมชนมักเกิดบริเวณปากน้ำที่ไหลลงสู่ทะเล และมีพื้นที่เพาะปลูกไม่มาก เนื่องจากเป็นเมืองเล็กๆ และพื้นที่เพาะปลูกน้อย ทำให้มีการเคลื่อนไหวอพยพของผู้คนอย่างต่อเนื่อง ดินแดนที่มาเลเซียอยู่ในปัจจุบัน ชนพื้นเมืองดั้งเดิมเป็นคนพูดในตระกูลภาษามอญ-เขมร ชนเชื้อชาติมลายูเข้ามาอยู่ภายหลัง ด้านเศรษฐกิจ ระยะเริ่มแรกเกิดจากการเดินเรือเลียบชายฝั่ง เส้นทางเรือที่สำคัญคือ เส้นเลียบชายฝั่งจากเวียดนามตัดเข้าอ่าวไทย และข้ามฝั่งไปมหาสมุทรอินเดียบริเวณคอคอดกระ ต่อมาใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ความเจริญทางการค้า ทำให้เกิดการเติบโตของรัฐอาณาจักรแรกๆ ชื่อ ศรีวิชัย ต่อมาคือ มะละกา ปัจจัยที่ทำให้มะละกาเติบโต เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มบทบาทเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจีนกับอินเดีย มาเป็นส่วนหนึ่งของการค้าของคาบสมุทร อินเดียหรือการค้าระหว่างทวีป สินค้าสำคัญของมะละกาคือเครื่องเทศ พร้อมๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังมีความเจริญทางด้านศาสนาอิสลาม และยังเป็นศูนย์เผยแผ่ศาสนาอิสลามไปยังเมืองต่างๆ ตามเส้นทางการค้าอีกด้วย ความเจริญของมะละกาทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างสองอาณาจักรคือ มะละกากับอาณาจักรสยาม แห่งกรุงศรีอยุธยา “ความทะเยอทะยานของอยุธยาเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันอันยาวนานกับอาณาจักรมะละกาและอาณาจักรยะโฮร์ซึ่งสืบทอดต่อมา เป็นการแข่งขันที่เกี่ยวกับการมีอำนาจเหนือบริเวณคาบสมุทร” อาจารย์ชุลีพรบอก กลิ่นเครื่องเทศและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ชาติตะวันตกรุกเข้ามา ชาติแรกที่เข้ามามีบทบาทในแหลมมลายูคือโปรตุเกสนำกองเรือเข้ามายึดเมืองท่าชายฝั่งเพื่อค้าขาย ตามมาด้วยชาวดัตช์และปิดท้ายด้วยอังกฤษเข้ามาแทรกแซง และในที่สุดก็เข้าปกครองมลายู หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ มลายูรวมตัวเป็นประเทศมาเลเซีย ปกครองแบบสหพันธรัฐ ประกอบด้วย 13 รัฐ แม้แต่ละรัฐจะมีประวัติศาสตร์และความเป็นมาต่างกัน แต่ก็เคารพความแตกต่างระหว่างกัน อาจารย์นิอับดุลรากิ๊บบอกว่า การเดินทางจากรัฐหนึ่งไปยังอีกรัฐหนึ่งของคนมาเลเซีย หาได้เหมือนคนในประเทศไทยไม่ อย่างเมื่อก่อนชาวกัวลาลัมเปอร์จะไปยังรัฐซาราวักและซาบาห์ แม้จะเป็นคนมาเลเซียด้วยกัน ก็ต้องใช้คล้ายหนังสือเดินทาง ต่อมา ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้เปลี่ยนเป็นให้พักอยู่ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ส่วนข้าราชการที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ในสองรัฐ ปัจจุบันได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมือนไปทำงานต่างประเทศ เรื่องแปลกอีกประการหนึ่งคือ ผู้ใหญ่บ้านของมาเลเซียไม่ได้เลือกตั้ง เหมือนไทย แต่ได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอ ส่วนกำนันถือเป็นข้าราชการประจำของรัฐ สามารถย้ายไปประจำตำบลอื่นๆในรัฐนั้นได้ พื้นภูมิของประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย เกิดจากสังคมที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ชุมชนอยู่อย่างกระจัดกระจาย มีความเป็นตัวตนสูง มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม คนในมาเลเซียมีทั้งเชื้อชาติมลายู จีน อินเดีย ชนเผ่าต่างๆ และไทย ลักษณะการกระจัดกระจายของผู้คน และความเป็นตัวตนสูงในวัฒนธรรมมลายู อาจเป็นคำตอบหนึ่งว่า แม้จะมีการเจรจากับตัวแทนบีอาร์เอ็น แต่ทำไมเหตุการณ์ร้ายจึงไม่สงบลง ทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนว่า มาเลเซียก็ไม่อยากให้ปัญหาดำรงอยู่แต่อย่างใด. | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
ท่าทีของมาเลเซียต่อปัญหาภาคใต้ของไทย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น