วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทบาทมาเลเซีย สร้างความยุ่งยากให้ ความขัดแย้งในไทย

บทบาทมาเลเซีย สร้างความยุ่งยากให้ ความขัดแย้งในไทย
บทบาทมาเลเซีย สร้างความยุ่งยากให้ ความขัดแย้งในไทย
By Jason Johnson 

     
       เหตุการณ์การประดับธงชาติมาเลเซียตามจุดต่างๆ ตลอดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์อย่างแรงกล้า ทั้งนี้นอกจากเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ามีช่องโหว่รูพรุนอยู่มากมายตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซียสำหรับการออกปฏิบัติการของพวกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแล้ว ยังเป็นการเน้นเตือนอย่างโต้งๆ ให้ระลึกเอาไว้ว่า ฝ่ายมาเลเซียจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทอันสำคัญจึงจะสามารถยุติความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอาณาบริเวณดังกล่าวได้ ยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์เหล่านี้ยังสาธิตให้เห็นด้วยว่า การก่อความไม่สงบที่นี่มีการร่วมมือประสานงานกันระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ มากกว่าที่หลายๆ ฝ่ายเคยเชื่อกัน

       
          
       ปัตตานี – เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พวกผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมมาเลย์ ได้ประดับธงชาติมาเลเซียกันตามถนนสายต่างๆ , สะพานคนเดินข้ามหลายต่อหลายแห่ง, และตามเสาไฟฟ้าตลอดทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนทางใต้สุดของไทยซึ่งประชากรส่วนใหญ่ที่สุดเป็นชาวมุสลิม พฤติการณ์เชิงสัญลักษณ์แห่งการประกาศแข็งข้อก่อกบฏเช่นนี้ ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทข้ามพรมแดนของมาเลเซียในกรณีขัดแย้งที่ได้มีการสูญเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากแล้วนี้ โดยที่บทบาทดังกล่าวมักถูกละเลยมองเมินไปอยู่บ่อยๆ
       
       ถึงแม้พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยยืนยันเรื่อยมาว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาอันเกิดจากปัจจัยต่างๆ ภายในพื้นที่ดังกล่าวเอง แต่การตีความเช่นนี้ก็ยังคงถูกขยายกว้างออกไปอยู่ดี จากข้อเท็จจริงที่ว่าชาวมุสลิมมาเลย์ที่เป็นคนสัญชาติไทยจำนวนมาก เป็นผู้ที่มีเชื้อชาติและศาสนาใกล้ชิดใกล้เคียงกับคนเชื้อชาติที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ด้วยเหตุนี้เองตั้งแต่นมนานมาแล้ว มาเลเซียจึงมีฐานะเป็นแหล่งพักพิงหลบภัยของพวกแบ่งแยกดินแดนเชื้อชาติมาเลย์ ผู้ซึ่งเปิดการโจมตีต่างๆ ในเขตประเทศไทย จากนั้นก็หลบหนีข้ามชายแดนไปพักพิงอย่างปลอดภัยในพื้นที่ของมาเลเซีย

โจรใต้บึ้ม 100 จุด 3 จ.รับวันชาติมาเลย์ฯ
       
       มีการกล่าวหากันอย่างอึงคะนึงกว้างขวางว่า บริเวณภาคเหนือของมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐกลันตัน ถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมและวางแผนของพวกผู้ก่อความไม่สงบ เป็นที่ทราบกันดีด้วยว่าเหล่านักรบของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก ตลอดจนคนอื่นๆ ซึ่งมีสายสัมพันธ์โยงใยกับการก่อกบฎมุ่งแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีการติดต่อขอคำปรึกษาคำแนะนำในเชิงยุทธศาสตร์จากพวกแบ่งแยกดินแดนมุสลิมมาเลย์รุ่นเก่าสูงอายุ ซึ่งพำนักพักพิงอยู่ในมาเลเซีย
       
       เหตุการณ์การประดับธงชาติเช่นนี้ จึงเป็นเสมือนการเน้นเตือนอย่างโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาว่า มาเลเซียจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทในทางเสริมส่งอย่างสำคัญยิ่ง ถ้าหากต้องการจะลดระดับของความรุนแรงในเขตพื้นที่ชนชาติส่วนน้อยแห่งนี้ ทั้งนี้ถึงแม้อาณาบริเวณนี้บังเกิดความไม่สงบอยู่เป็นระยะๆ มายาวนานแล้ว ทว่าความรุนแรงที่ปรากฏขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2004 ต้องถือว่าเป็นการปะทุตัวอย่างชนิดไม่เคยขึ้นสูงถึงขนาดนี้มาก่อนเลย
       
       วันที่ 31 สิงหาคม อันเป็นวันที่พวกผู้ก่อความไม่สงบประดับธงชาติมาเลเซียตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งเขตจังหวัดปัตตานี, นราธิวาส, ยะลา, และหลายๆ ส่วนของจังหวัดสงขลานั้น มีความหมายทั้งในฐานะที่เป็นวันครบรอบวาระที่มาเลเซียได้รับเอกราชหลุดพ้นจากการปกครองแบบอาณานิคมของอังกฤษ และก็เป็นวันครบรอบวาระการก่อตั้งขบวนการเบอร์ซาตู (Bersatu) เมื่อปี 1989 โดยที่เบอร์ซาตูเป็นกลุ่มรวมที่มุ่งนำเอากลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมมือกัน

       
       แหล่งข่าวหลายรายที่มีความรู้เกี่ยวกับขบวนการใต้ดินของผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า เหตุการณ์ที่ต้องอาศัยการร่วมมือประสานงานกันอย่างสูงมากเฉกเช่นการประดับธงตลอดทั่วทั้งอาณาบริเวณเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ได้รับคำสั่งออกมาจากพวกผู้นำการแบ่งแยกดินแดนซึ่งตั้งฐานอยู่ในมาเลเซีย
       
       มีแหล่งข่าวชาวมุสลิมมาเลย์บางรายโยงใยเหตุการณ์ประดับธงนี้เข้ากับการที่ไทยเข้ายึดเอาพื้นที่จังหวัดชายแดนเหล่านี้ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาณาจักรสุลต่านมาเลย์ ไปเป็นอาณานิคม แหล่งข่าวเหล่านี้เชื่อว่ามีการก่อเหตุต่างๆ ขึ้นมา รวมทั้งสิ้น 103 เหตุการณ์ เท่ากับจำนวนปีที่อาณาบริเวณอันเคยรู้จักกันในชื่อว่า “ปะตานี” (Patani) แห่งนี้ต้องตกอยู่ใต้การปกครองของฝ่ายไทยอย่างเป็นทางการ (สนธิสัญญาอังกฤษ-สยามปี 1909 Anglo-Siamese Treaty of 1909 ซึ่งเป็นเอกสารการตกลงแบ่งเขตแดนระหว่าง สยาม ที่ปัจจุบันคือประเทศไทย กับ มาเลเซีย ที่เวลานั้นเป็นดินแดนอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ คือการยุติความสัมพันธ์ในรูปของรัฐบรรณาการแบบดั้งเดิม โดยที่ในความสัมพันธ์แบบเก่านั้น รัฐสุลต่านปัตตานียังคงมีอิสระอยู่มาก ถึงแม้ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่สยามในหลายยุคหลายสมัย)
       
       เหตุการณ์ประดับธงซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือประสานงานกันระหว่างกลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด แถมยังปรากฏขึ้นในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อันกว้างขวางเช่นนี้ ทำให้บังเกิดคำถามขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งเกี่ยวกับโครงสร้างของการก่อความไม่สงบคราวนี้ ซึ่งบ่อยครั้งมักถูกวาดภาพว่ามีความแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ และเกิดการแข่งขันช่วงชิงกันอย่างสูงในบรรดากลุ่มและฝักฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมขบวนการนี้ ขณะที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้ประกอบด้วยกลุ่มจำนวนมาก รวมทั้งฝักฝ่ายต่างๆซึ่งแยกตัวออกมาจากกลุ่มกบฎรุ่นเก่าๆ เฉกเช่น องค์การปลดแอกสหปะตานี (Patani United Liberation Organization หรือ PULO) และ บาริซาน เรโวลูซิ นาซิโอนัล (Barisan Revolusi National หรือ BRN) แต่ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวที่ทราบเรื่องดีรายหนึ่งนั้น มีสภาผู้อาวุโสลับๆ ที่จัดโครงสร้างกันอย่างหลวมๆ คอยเป็นผู้ติดต่อประสานงานกลุ่มและฝักฝ่ายเหล่านี้ทั้งหมด
       
       **การทูตอันละเอียดอ่อน**
       
       ภายหลังเกิดเหตุประดับธงชาติมาเลเซียในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้วไม่นานนัก เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ออกมาอธิบายว่า พวกผู้ก่อความไม่สงบกำลังพยายามที่จะจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับมาเลเซียขึ้นมา อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวอื่นๆ หลายๆ รายซึ่งสามารถเข้าถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้ กลับชี้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการตอกย้ำให้เห็นถึงความปรารถนาอันมีมานานช้าในหมู่ผู้คนจำนวนมากในขบวนการแบ่งแยกดินแดนใต้ดินนี้ ซึ่งต้องการให้มาเลเซียเข้าแสดงบทบาทเป็นตัวกลางในกระบวนการเจรจาต่อรองสร้างสันติภาพกับรัฐบาลไทย

       
       สำหรับฝ่ายมาเลเซียนั้น ในตอนแรกๆ ทีเดียว สื่อมวลชนที่ตกอยู่ในอิทธิพลของรัฐในแดนเสือเหลือง ต่างพากันเงียบเฉยต่อเหตุการณ์นี้ ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน สื่อมวลชนมาเลเซียได้รายงานอ้างอิงคำพูดของพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งกล่าวเพียงว่า พวกเขาก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมจึงมีการประดับธงชาติมาเลเซียในดินแดนไทย ในเวลาเดียวกันนั้น พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลไทย ก็ออกมายืนยันว่าพวกเขายังคงมีสายสัมพันธ์อย่างจริงใจฉันมิตรกับคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย
       
       ในวันที่ 8 กันยายน นาจิบได้มีการพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย ในระหว่างที่ทั้งคู่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งจัดขึ้นในรัสเซีย นาจิบ ได้ยืนยันกับ ยิ่งลักษณ์ ว่ามาเลเซียจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบนี้ รวมทั้งยังกล่าวด้วยว่าเขามีความพึงพอใจในนโยบายต่างๆ ที่ไทยใช้อยู่ในพื้นที่ซึ่งเกิดความไม่สงบขึ้นมาอย่างยาวนานแล้วนี้
       
       แต่ถึงแม้มีการแสดงออกซึ่งความนุ่มนวลดูดีในทางการทูตเหล่านี้ ในทางเป็นจริงแล้วทั้งสองประเทศมีประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับเขตจังหวัดทางใต้สุดของไทยที่ประชากรส่วนใหญ่ที่สุดเป็นชาวมุสลิมมาเลย์ ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษ 1960 และ ทศวรรษ 1970 มาเลเซียมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ที่ต่อสู้คัดค้านการปกครองของไทย

       
       ครั้นมาถึงทศวรรษ 1990 มาเลเซียเริ่มถอนความสนับสนุนที่ให้แก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน หลังจากที่ไทยแสดงบทบาทเป็นเครื่องมือเสริมส่งฝ่ายมาเลเซียในการกำจัดกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา (Communist Party of Malaya หรือ CPM) ในปี 1989 ต่อมาเมื่อถึงปี 1998 มาเลเซียได้ส่งมอบตัวผู้นำสำคัญๆ ของกลุ่มพูโลให้แก่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย ซึ่งมีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้เกิดยุคที่ค่อนข้างเงียบสงบของภูมิภาคแถบนี้ขึ้นมา
       
       ครั้นเมื่อการก่อความไม่สงบของพวกแบ่งแยกดินแดนเริ่มปรากฏโฉมขึ้นมาอีกครั้งในปี 2001 พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายไทยวาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายมาเลเซีย ทั้งในเรื่องการติดตามบุคลากรของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งตั้งฐานอยู่ในมาเลเซีย, การยุติไม่ให้มีบุคคล 2 สัญชาติเพื่อทำให้ความมั่นคงปลอดภัยตามชายแดนมีความเหนียวแน่นเข้มแข็งยิ่งขึ้น, และการเร่งรัดปราบปรามสินค้าเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเถื่อนและยาเสพติด
       
       ข้อตกลงชายแดนระดับทวิภาคีซึ่งลงนามกันในปี 2000 โดยที่มีเนื้อหาเน้นหนักอยู่ที่การต่อสู้ปราบปรามอาชญากรรมและการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้น ในตอนแรกๆ ทีเดียวมีสัญญาณบ่งบอกว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความร่วมมือระดับทวิภาคีของทั้งสองประเทศ แต่แล้วความช่วยเหลือของฝ่ายมาเลเซียก็ค่อยๆ ถดถอยลงไป ในขณะที่การก่อความไม่สงบมีความเข้มข้นรุนแรงขึ้นทุกที
       
       ผลก็คือ ฝ่ายไทยมีความหงุดหงิดผิดหวังฝ่ายมาเลเซียในตลอดช่วงระยะแห่งความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยระลอกล่าสุดนี้ซึ่งกินเวลายาวนานร่วมๆ 1 ทศวรรษแล้ว ในวันที่ 23 สิงหาคมปีนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจของเขา ต่อการที่มาเลเซียไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเท่าที่ควรจะเป็น ในระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ในเมืองไทย
       
       พล.อ.อกนิษฐ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมายาวนานในการพูดจาหารืออย่างไม่เป็นทางการกับบุคลากรของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ตั้งฐานอยู่นอกประเทศ ได้กล่าวย้ำอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของมาเลเซียทราบดีว่าพวกแบ่งแยกดินแดนได้ใช้ดินแดนของพวกเขาเป็นแหล่งหลบหลีกหนีภัยจากการปราบปรามกวาดล้างของกองกำลังฝ่ายไทย และไม่ได้ดำเนินมาตรการรูปธรรมใดๆ เลยเพื่อหยุดยั้งเรื่องนี้
       
       แหล่งข่าวหลายรายที่สามารถเข้าถึงพวกผู้ก่อความไม่สงบบอกว่า การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อกนิษฐ์ กลายเป็นการเติมเชื้อให้แก่กองเพลิงของพวกผู้ก่อความไม่สงบในการก่อเหตุเนื่องในวันที่ 31 สิงหาคมขึ้นมา ซึ่งรวมถึงการลอบวางระเบิด 5 ครั้งที่ทำให้มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้รับบาดเจ็บไป 6 คน ทั้งนี้เอเชียไทมส์ออนไลน์ไม่สามารถที่จะหาแหล่งข่าวอิสระมายืนยันข้ออ้างนี้ได้
       
       ขณะที่ทัศนะเช่นนี้ของ พล.อ.อกนิษฐ์ ก็เป็นความคิดเห็นของพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยที่ประจำอยู่ทางภาคใต้จำนวนไม่น้อย หากได้พูดจาสนทนากับบุคลากรเหล่านี้เป็นการส่วนตัว แต่การพูดเช่นนี้ออกมาอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะก็ถือเป็นการลดทอนดอกผลที่บังเกิดขึ้นจากการดำเนินการทางการทูตของไทยต่อมาเลเซียในช่วงหลังๆ นี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่เป็นพี่ชายของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกขับลงจากอำนาจไปด้วยการก่อรัฐประหารของฝ่ายทหารในปี 2006 แล้ว พวกเจ้าหน้าที่ไทยต่างหลีกเลี่ยงไม่วิพากษ์วิจารณ์กล่าวหามาเลเซียอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะว่ามีบทบาทที่ช่วยทำให้ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้สุดของไทยยังคงดำรงอยู่อย่างไม่สามารถคลี่คลายได้

       เหตุการณ์การประดับธงชาติมาเลเซียตามจุดต่างๆ ตลอดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์อย่างแรงกล้า ทั้งนี้นอกจากเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ามีช่องโหว่รูพรุนอยู่มากมายตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซียสำหรับการออกปฏิบัติการของพวกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแล้ว ยังเป็นการเน้นเตือนอย่างโต้งๆ ให้ระลึกเอาไว้ว่า ฝ่ายมาเลเซียจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทอันสำคัญจึงจะสามารถยุติความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอาณาบริเวณดังกล่าวได้ ยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์เหล่านี้ยังสาธิตให้เห็นด้วยว่า การก่อความไม่สงบที่นี่มีการร่วมมือประสานงานกันระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ มากกว่าที่หลายๆ ฝ่ายเคยเชื่อกัน
     
     
       **สายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยปัญหา**
       
       เมื่อตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซียตกอยู่ในสภาพเลวร้ายลงไปเป็นอย่างมาก มาเลเซียรู้สึกเดือดจัดจากการที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณใช้นโยบายด้านความมั่นคงแบบเน้นการปราบปรามมาจัดการกับการก่อความไม่สงบในภาคใต้สุดของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์โหดร้ายสยดสยองทางสิทธิมนุษยชนขึ้นมาด้วยฝีมือของกองกำลังความมั่นคงของไทย ทั้งในกรณีมัสยิดกรือเซะ เมื่อเดือนเมษายน 2004 และกรณีการสลายและจับกุมผู้ประท้วงที่อำเภอตากใบ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณยังทำให้ความสัมพันธ์กับแดนเสือเหลืองยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อเขาวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของฝ่ายมาเลเซียครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งการดำเนินการของฝ่ายมาเลเซียต่อกลุ่มชาวมุสลิมมาเลย์จากพื้นที่ขัดแย้งในไทยที่ข้ามเข้าไปในแดนเสือเหลืองโดยที่มาเลเซียถือว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัย

       
       เมื่อคณะรัฐบาลที่กลุ่มผู้ก่อการรัฐประหารโค่นล้มทักษิณแต่งตั้ง ได้ขึ้นครองอำนาจโดยที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้พยายามทำงานเพื่อให้สายสัมพันธ์ทวิภาคีนี้กลับราบรื่นขึ้นมาใหม่ พล.อ.สุรยุทธ์กระทั่งแสดงความสนับสนุนอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะต่อการใช้หนทางสันติเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่เรื่องนี้มีบางคนบางฝ่ายให้ความเห็นภายหลังศึกษาทบทวนย้อนหลังแล้ว ว่าเป็นการสนับสนุนอย่างอ้อมๆ ให้ฝ่ายมาเลเซียใช้ความพยายามอยู่หลังฉากเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยคลี่คลายความขัดแย้งซึ่งในเวลานั้นยังถือว่าปะทุตัวขึ้นมาใหม่ไม่นานนัก
       
       ในตอนปลายปี 2005 และต้นปี 2006 อดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมเหม็ด ของมาเลเซีย ได้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดจาหารืออย่างลับๆ ต่อเนื่องกันหลายครั้งหลายหนขึ้นในมาเลเซีย ระหว่างพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงของไทยกับบุคลากรของพวกแบ่งแยกดินแดน แต่ความริเริ่มดังกล่าวในที่สุดแล้วก็ประสบความล้มเหลวเพราะขาดการสนับสนุนจากระดับสูงสุดทั้งในฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยและในหมู่บุคลากรของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีบทบาทสำคัญในการก่อความไม่สงบ บุคคลบางคนที่คุ้นเคยกับการพูดจาหารือกันในตอนนั้นกล่าวในทำนองว่า การที่ไทยมีท่าทีลังเลไม่เดินหน้าอย่างเต็มที่ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่ามาเลเซียไม่ได้เป็นคนกลางที่ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถที่จะไว้เนื้อเชื่อใจให้เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยคลี่คลายความขัดแย้งนี้ได้
       
       ในขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ไทยมีความปรารถนาที่จะเห็นมาเลเซียเปิดฉากดำเนินความริเริ่มพยายามให้มากขึ้น ในการติดตามเก็บข้อมูลข่าวกรองและแลกเปลี่ยนข่าวกับฝ่ายไทย ตลอดจนปราบปรามพวกแบ่งแยกดินแดนที่ข้ามพรมแดนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของฝ่ายมาเลเซีย แต่เป็นที่เชื่อกันว่าพวกนักการเมืองชาวมาเลเซียจำนวนมากกลับมีความรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า รัฐบาลไทยควรที่จะเปิดกว้างให้มากขึ้นในการแก้ไขคลี่คลายปัญหาอันสืบเนื่องจากอัตลักษณ์ ตลอดจนความทุกข์ยากเดือดร้อนอื่นๆ ของชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้
       
       ในเดือนกรกฎาคมปีนี้เอง นักการเมืองชาวมาเลเซียที่เป็นคนเชื้อชาติมาเลย์จำนวนมาก ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจของพวกเขาให้ปรากฏในระหว่างที่เดินทางเยือนพื้นที่ภาคใต้ของไทย นักการเมืองเหล่านี้ซึ่งมาจากหลายๆ พรรค ทั้งพรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (United Malays National Organization หรือ UMNO) ที่เป็นแกนกลางคณะรัฐบาลผสม, พรรคสหอิสลามมาเลเซีย (Pan Malaysian Islamic Party หรือ PAS) และพรรคยุติธรรมประชาชน (People's Justice Party หรือ PKR) ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ได้เดินทางเยือนจังหวัดปัตตานี และพบปะกับพวกชนชั้นนำทรงอำนาจในท้องถิ่น รวมถึงบางคนซึ่งเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นพวกเห็นอกเห็นใจสนับสนุนการก่อความไม่สงบ
       
       เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ ได้ไปพูดในการประชุมระดับนานาชาติซึ่งจัดขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทางภาคใต้ของไทย โดยเขากล่าวว่า มาเลเซียไม่เคยแทรกแซงและก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงในความขัดแย้งคราวนี้ เขาบอกอีกว่ามาเลเซียจะจัดหาทั้งข่าวกรอง, ข้อมูลข่าวสาร, และคำแนะนำให้แก่ฝ่ายไทยเพิ่มมากขึ้นอีก เพื่อช่วยให้มีการแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์อย่างสันติ
       
       อย่างไรก็ตาม ในทางเป็นจริงแล้วมาเลเซียไม่น่าที่จะกระทำตามความเรียกร้องต้องการของฝ่ายไทยอย่างเต็มที่ในเรื่องเกี่ยวกับข่าวกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อฤดูการเลือกตั้งของมาเลเซียกำลังใกล้เข้ามา ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบันอย่างพรรคอัมโน ก็เผชิญกับสภาพการณ์ที่เสียงสนับสนุนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศทำท่าอาจจะลดต่ำลง โดยที่พื้นที่เหล่านี้เองเป็นเขตที่มีความเห็นอกเห็นใจชาวมุสลิมมาเลย์ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
       
       **การพูดจากันอย่างจำกัดขอบเขต**
       
       พวกนักวิเคราะห์อิสระตลอดจนบุคคลฝ่ายอื่นๆ ที่ติดตามความขัดแย้งนี้ต่างเชื่อว่า ตราบใดที่กรุงเทพฯยังคงปฏิเสธไม่ยอมเกี่ยวข้องพัวพันด้วยอย่างจริงจัง ในกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างเป็นทางการกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนแล้ว มาเลเซียก็ยังจะมีท่าทีวางตัวเหินห่างจากการเข้าช่วยเหลือเพื่อแก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งนี้
       
       พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายไทยกำลังถูกสะกิดจากพวกองค์การทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยระดับระหว่างประเทศตลอดจนฝ่ายอื่นๆ ให้เร่งทวีการพูดจาหารือกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนใต้ดิน แต่การตอบสนองของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเหล่านี้ยังคงอยู่ในรูปแบบเดิมๆ ที่จะย้อนถามกลับไปว่า “จะให้พูดจากับใครล่ะ?” ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของผู้คนซึ่งคุ้นเคยกับสถานการณ์เป็นอย่างดี

       
       ในทัศนะของพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยแล้ว พวกแบ่งแยกดินแดนต่างมีความเอนเอียงที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช และด้วยเหตุนี้เองการเจรจาใดๆ ก็ล้วนแต่ไม่ก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นมา แต่คนอื่นๆ ที่คุ้นเคยกับสถานการณ์ถึงแม้ยอมรับว่าพวกแบ่งแยกดินแดนจำนวนมากทีเดียวมีความคิดแบบที่มุ่งหมายจะเอาให้ได้ตามที่ฝ่ายตนต้องการทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว ทว่าก็เชื่ออย่างหนักแน่นด้วยว่าสามารถที่จะโน้มน้าวชักชวนให้คณะผู้นำของพวกแบ่งแยกดินแดนออกมาจากเงามืดได้ ถ้าหากทางการผู้รับผิดชอบของไทยแสดงให้เห็นความจริงใจในการก้าวเข้าสู่กระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการ
       
       เป็นที่เชื่อกันว่า คณะรัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีโอกาสที่จะเริ่มต้นกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะบังเกิดผลในรูปลักษณ์ของการผ่อนปรนอย่างสำคัญๆ ให้แก่เขตพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติมาเลย์ เป็นต้นว่า การจัดให้เป็นเขตปกครองตนเองพิเศษโดยที่มีตัวแทนซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้บริหาร


       
       พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ซึ่งใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ในต่างแดนนับตั้งแต่ที่หลบหนีออกจากประเทศไทยในปี 2008 นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงต้นปีนี้ด้เคยพบปะหารืออยู่หลายครั้งกับพวกแบ่งแยกดินแดนรุ่นเก่าที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย อย่างไรก็ดี อดีตผู้นำไทยทรงอิทธิพลผู้นี้ยังคงไม่สามารถที่จะพบปะหารือกับตัวบุคคลซึ่งรู้กันดีว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อความไม่สงบในปัจจุบัน ทั้งนี้ตามการบอกเล่าของแหล่งข่าวหลายๆ รายที่ทราบเรื่องการหารือเหล่านี้
       
       แหล่งข่าวรายหนึ่งบอกว่า ระหว่างการพบปะหารือเหล่านี้ พวกแบ่งแยกดินแดนที่ตั้งฐานอยู่ในมาเลเซียพวกนี้ ได้เสนอแนะให้รัฐบาลไทยปลดปล่อยนักโทษคดีความไม่สงบซึ่งถูกตั้งข้อหาทางด้านความมั่นคง, ยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันมาก, ยกเว้นบัญชีดำผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อความไม่สงบ, และลดจำนวนกองกำลังความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงมา แหล่งข่าวรายเดียวกันนี้บอกอีกว่า รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงความปรารถนาที่จะทำตามข้อเรียกร้องเหล่านี้เลย
       
       สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการตอบโต้ต่อการหยั่งท่าทีที่จบลงด้วยความล้มเหลวดังที่กล่าวมานี้ ก็คือการที่พวกผู้ก่อความไม่สงบได้จัดการวางระเบิดขึ้นหลายๆ จุดในจังหวัดยะลา และในศูนย์การค้าในอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเป็นตัวเมืองใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ของไทย เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา การโจมตีด้วยระเบิดรถยนต์หลายๆ จุดในลักษณะที่ดูเหมือนกับมีการวางแผนประสานงานกันคราวนี้ ทำให้มีผู้ถูกสังหาร 15 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

       
       จากเหตุรุนแรงคราวนั้นที่ยังคงติดหูติดตา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้เดินทางไปมาเลเซียก่อนที่ชาวมุสลิมจะเริ่มการถือศีลอดช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ เพื่อพบปะหารือกับพวกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลของมาเลเซีย

       
       แหล่งข่าวรายหนึ่งที่คุ้นเคยกับการพบปะหารือคราวนั้นเล่าว่า พ.ต.อ.ทวี ได้ขอร้องพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายมาเลเซีย ให้ติดต่อกับเหล่าผู้นำการแบ่งแยกดินแดน เพื่อชักชวนเกลี้ยกล่อมผู้ก่อความไม่สงบให้ผ่อนคลายการโจมตีในระหว่างเดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมนี้ ซึ่งในปีนี้อยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม ถึง 19 สิงหาคม แต่ปรากฏว่าพวกผู้ก่อความไม่สงบได้ตอบสนองด้วยการก่อการโจมตีอย่างดุเดือดรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม จนทำให้ช่วงเดือนถือศีลอดปีนี้กลายเป็นรอมฎอนที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย นับตั้งแต่ที่การก่อความไม่สงบได้ขยายตัวยกระดับอย่างน่าตื่นใจเมื่อเดือนมกราคม 2004
       
       **กระสุนทางการเมือง**
       
       ความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ ได้กลายเป็นเสมือนกระสุนทางการเมืองที่ส่งให้แก่บรรดาปรปักษ์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รวมไปถึงข้อกล่าวหาที่ว่าพรรครัฐบาลของเธอไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ว่าจะนำสันติภาพมาสู่พื้นที่บริเวณนี้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า คณะรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยนั้นถูกมัดมือมัดเท้าโดยพวกชนชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคณะผู้บังคับบัญชากองทัพซึ่งทรงอำนาจมาก
       
       พล.อ.อกนิษฐ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างเหนียวแน่และเป็นปรปักษ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกมากล่าวย้ำว่า รัฐบาลไม่สามารถที่จะเจรจากับพวกผู้ก่อความไม่สงบได้ เพราะจะเป็นการกระทำความผิดละเมิดมาตราหลายๆ มาตราในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ของประเทศ

       
       ทางด้าน พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลภาคใต้ ก็กล่าวย้ำจุดยืนดังกล่าวนี้ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ครั้งหนึ่งที่ถูกนำออกเผยแพร่ภายหลังกรณีการมอบตัวของผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 93 คนในจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา
       
       เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้มีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนอย่างเอิกเกริก ทว่านักวิจารณ์ของสื่อจำนวนมากได้แสดงความไม่เชื่อถือกรณีการมอบตัวครั้งที่มีจำนวนผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้แปรพักตร์กันมากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนครั้งนี้ไปเรียบร้อยแล้ว โดยพวกเขาระบุว่านี่เป็นเพียงลูกเล่นเพื่อการประชาสัมพันธ์ซึ่งจัดขึ้นโดยกองทัพบก เพื่อสาธิตให้เห็นว่าตนเองสามารถปฏิบัติงานก้าวหน้าไปโดยควบคุมการก่อความไม่สงบจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งได้แล้ว ถ้าหากเกิดมีนักวิเคราะห์ใดๆ ซึ่งยังเชื่อว่ากองทัพสามารถควบคุมเรื่องนี้ได้ นอกจากนั้นยังมีแหล่งข่าวหลายๆ รายทีเดียวบอกว่า พวกที่มอบตัวเหล่านี้บางส่วนเป็นผู้ที่เคยไปขอลี้ภัยอยู่ในมาเลเซียมาก่อน
       
       คนอื่นๆ แสดงการคาดเดาว่า การแถลงเรื่องผู้มอบตัวเช่นนี้คือความพยายามสุดท้ายของ พล.ท.อุดมชัย ที่จะรักษาตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ของตนเอาไว้ ทั้งนี้ พล.ท.อุดมชัยซึ่งมีชื่อเสียงมากจากการสร้างสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับพวกผู้นำทางศาสนาอิสลามเมื่อเปรียบเทียบกับแม่ทัพภาคที่ 4 คนก่อนๆ ตกเป็นข่าวลือสะพัดทีเดียวว่าอาจจะถูกเปลี่ยนตัวในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2012 นี้ (หมายเหตุผู้แปล: พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ยังคงดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ได้ถูกโยกย้ายแต่อย่างใด)

       
       ถึงแม้การมอบตัวในช่วงหลังๆ มานี้ อาจจะสามารถโอ่อวดได้ว่าบ่งบอกถึงความก้าวหน้าของกองทัพบก แต่ก็มีบุคคลวงในกองทัพบางรายบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า ความพยายามต่างๆ ที่จะเข้าให้ถึงพวกผู้นำแบ่งแยกดินแดนแนวทางแข็งกร้าวนั้น ดูท่าว่ายังคงล้มเหลว นี่รวมถึงความพยายามของกองทัพบกตามที่เป็นรายงานข่าวที่ว่าจะหาทางติดต่อกับ สะแปอิง บาซอ และ มะแซ อูเซ็ง ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการแบ่งแยกดินแดน แหล่งข่าวหลายๆ รายเหล่านี้เปิดเผย
       
       ทั้ง สะแปอิง บาซอ และ มะแซ อูเซ็ง ต่างถูกระบุว่ากำลังพำนักอยู่ในมาเลเซีย และความพยายามทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมาของพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทย รวมทั้งของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง แห่ง ศอ.บต. ด้วย ที่จะติดต่อกับพวกเขาล้วนแล้วแต่ประสบความล้มเหลว ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวอื่นๆ หลายราย แต่ถ้าหากจะฟื้นฟูให้สถานการณ์ในอาณาบริเวณของชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติมาเลย์ที่ประสบปัญหาหนักหน่วงแห่งนี้กลับคืนสู่สภาพที่ค่อนข้างสงบให้ได้แล้ว ประเทศไทยก็จำเป็นที่จะต้องค้นหาหนทางไม่แต่เพียงในการเจรจาต่อรองกับพวกระดับสูงของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น หากแต่กับประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของตนอีกด้วย
       
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม