วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย 1



ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย

ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย
โดย ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในส่วนที่หนึ่งของบทความชุดนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ คือ.-

๑)  ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง
๒)  รัฐประชาชาติคืออะไร?
๓)  ใครคือคนมลายูมุสลิม
๔)  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐมลายูมุสลิมกับรัฐไทยก่อนสมัยใหม่
๕) การศึกษาเรื่องปัญหาการแบ่งแยกดินแดน
๖) ประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์: จาก "กบฏหะยีสุหลง" ถึง "กบฏดุซงญอ"
๗) กบฏดุซงยอในวาทกรรมประวัติศาสตร์ทางการไทย
๘) การเมืองกับประวัติศาสตร์
๙)  ฮัจญีสุหลงกับขบวนการชาตินิยมมลายู
๑๐) การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของรัฐไทย และทรรศนะต่อคนมลายูมุสลิม ๒๔๗๕-๒๔๙๑
๑๑) การสร้างชาติและนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม, พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๗
๑๒) สมัยของการสมานฉันท์ ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม, ๒๔๘๘-๒๔๙๐
๑๓) รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ กับจุดจบของการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม
๑๔) บทสรุป 




๑) ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง
ความเชื่อทางการเมืองที่มีมานานอันหนึ่ง ซึ่งสรุปว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิมคือการแบ่งแยกดินแดน เป็นตัวอย่างหนึ่งของ "ข้อเท็จจริง" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นและได้รับการตอกย้ำจากทรรศนะทางการตลอดมาจนกลายเป็น "ความเป็นจริง" ไปในความรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการไปจนถึงชาวบ้านทั่วประเทศ

ในความเชื่อและข้อเท็จจริงนี้ กล่าวคือ คนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนที่ไม่อาจไว้วางใจได้ เนื่องจากมีพฤติกรรมที่มักเป็นกบฏหรือไม่ก็ต่อต้านการปกครองของทางการสยามหรือไทยมาโดยตลอด อย่างน้อยก็นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ยิ่งในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ๆ ในไม่กี่ทศวรรษมานี้ คนไทยภาคอื่นๆ ยิ่งเห็นความพยายามของพวกเขาในการ "แบ่งแยก" ออกจากอาณาจักรไทยหรือประเทศไทย ด้วยการใช้กำลังอาวุธที่จะแยกสามจังหวัดภาคใต้สุดคือปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ออกไปจากรัฐไทย

ที่ผ่านมาแทบไม่มีคนไทยภาคอื่น ๆ ที่ตั้งคำถามว่า ความรับรู้ดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นความจริงที่ถูกต้องหรือเปล่า ทำไมคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงต้องการจะแยกตัวเองออกจากการปกครองของรัฐไทย ที่เป็นเช่นนี้ เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คือเพราะประวัติศาสตร์ชาติไทยบอกเรามาอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ชาติไทยซึ่งเป็นวาทกรรมประวัติศาสตร์หลักที่ครอบงำประเทศนี้ มานับแต่การก่อรูปของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (สมัยรัชกาลที่ ๕ มา) ยืนยันตลอดมาว่าอาณาจักรไทยเป็นผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของเหนือรัฐมลายูในภาคใต้ อันได้แก่เมืองปัตตานีเดิม ซึ่งรวมยะลาและนราธิวาสด้วย เมืองไทรบุรี (รัฐเคดาห์) ซึ่งรวมสะตูล เมืองกลันตัน ตรังกานู และปะลิส ทว่าการรุกเข้ามาอย่างหนักของลัทธิอาณานิคมตะวันตกในช่วงเวลานั้น บีบบังคับให้สยามจำต้องยอมสูญเสียอำนาจ(อันรวมผลประโยชน์)และเมืองประเทศราชเหล่านั้นบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชของสยามประเทศเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

ในสมัยนั้น เมื่อพูดถึงเป้าหมายของการศึกษา สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอว่าหนึ่งคือ "ความรักอิสรภาพแห่งชาติภูมิ..."พระราชนิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์ของพระองค์ท่าน จึงตั้งอยู่บนสมมติฐานของการก่อสร้างสยามให้เป็นรัฐประชาชาติสมัยใหม่ ที่มีอาณาเขตอันแน่นอน และมีประชากรที่เป็นคนพวกเดียวกันคือไทยเหมือนกัน แม้จะต่างชั้นวรรณะและภาษากันก็ตาม ด้วยเหตุของการเผชิญอันตรายจากลัทธิอาณานิคมตะวันตกดังกล่าวนี้ การสร้างและเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทยนับแต่เริ่มต้น จึงผูกพันอยู่กับจุดหมายของความเป็นเอกราชของชาติ

ประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงถูกจดจำและตีความต่อมา บนโครงเรื่องหลักๆสองเรื่องคือการปฏิรูปประเทศของรัชกาลที่ ๕ และของการเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสและอังกฤษในรัชสมัยเดียวกัน นั่นคือกรณีวิกฤตปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ สยามยอมเสียดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้แก่จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ในทำนองเดียวกัน ภายใต้สนธิสัญญาอังกฤษและสยามในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) สยามก็ต้องเสียดินแดนอีก ๑๕,๐๐๐ ไมล์ในบริเวณ ๔ รัฐมลายูให้แก่จักรวรรดินิยมอังกฤษไปอีก

ธงชัย วินิจจะกูล   ได้วิพากษ์วิธีการและความคิดในการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญได้รื้อโครงกรอบของประวัติศาสตร์ชาติออก ทำให้เห็นว่าทั้งสองเหตุการณ์ คือการปฏิรูปประเทศและการเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น เป็นสองด้านของเรื่องเดียวกัน คือกระบวนการที่รัฐและระบบการเมืองแบบใหม่กำลังเข้ามาแทนที่ระบบปกครองแบบโบราณ ซึ่งแสดงออกในภูมิศาสตร์แบบใหม่ที่มีแผนที่เป็นอาวุธ ด้านหนึ่งสยามแพ้ฝรั่งเศสและอังกฤษ อ้างอำนาจเก่าไม่ได้ จึงเรียกว่า "การเสียดินแดน" อีกด้านหนึ่งสยามชนะ (บรรดาหัวเมืองและประเทศราช) ผนวกดินแดนที่เคยคลุมเครือให้กลายเป็นของสยามแต่ผู้เดียว ก็เรียกว่า "การปฏิรูปการปกครองหัวเมืองของสยาม" ไม่เคยเรียกว่าการได้ดินแดน กระบวนการทั้งหมดนั้นทำให้บรรดาหัวเมืองและเมืองประเทศราชของสยาม แต่ไหนแต่ไรมา ล้วนถูกมองว่าเคยเป็นดินแดนภายใต้รัฐสยามใหม่อย่างสมบูรณ์

การเกิดขึ้นของข้อกล่าวหาเรื่อง "การแบ่งแยกดินแดน" ในทศวรรษปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงกล่าวได้ว่าเป็นความต่อเนื่องเชิงตรรกทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์ "ราชาชาตินิยม" อันเป็นทฤษฎีที่เสนอ โดย ธงชัย วินิจจะกูล จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นกระจ่างชัดว่า มโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดนมาจากความเชื่ออันไม่สงสัยเลยว่า ดินแดนที่เคยเป็นอิสระในบริเวณชายเขตแดนสยามมาก่อนนั้น ก็ไม่เคยเป็นอิสระมาก่อน หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของอาณาจักรที่มีกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์เป็นศูนย์กลาง ที่มีสถาบันและวัฒนธรรมไทยเป็นหลักมาโดยตลอด คงไม่ต้องกล่าวให้มากกว่านี้ ว่าสมมติฐานที่ว่านี้เป็นมโนทัศน์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยใหม่ไม่เกินสองร้อยปี และก็ห่างไกลจากความเป็นจริงของการดำรงอยู่ของรัฐประชาชาติสมัยใหม่ทั้งหลายรวมทั้งไทยด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากความเป็นจริงของรัฐประชาชาตินั้น ต่างก่อรูปขึ้นมาจากชุมชนที่มีหลายเชื้อชาติและภาษา มีการปฏิบัติวัฒนธรรมที่หลากหลายต่างๆ กันไป


๒) รัฐประชาชาติคืออะไร?

การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มักเข้าใจและตีความว่า เป็นการสร้างรัฐชาติไทยที่เป็นรัฐประชาชาติหรือ nation-state ขึ้นมาตามแบบอย่างของรัฐสมัยใหม่ทั้งหลายในยุโรปและอเมริกา คุณลักษณะใหญ่ ๆ ของความเป็นรัฐชาติ ได้แก่การมีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ประชาชนและพลเมืองแห่งรัฐนั้น ๆ การมีอาณาเขตของรัฐที่แน่นอนดังปรากฏในแผนที่สมัยใหม่ กับการที่ประชากรในรัฐนั้น ๆ ซึ่งแม้มีหลากหลายเชื้อชาติและภาษาวัฒนธรรม ก็จะถูกทำให้กลายมาเป็นพลเมืองพวกเดียวกัน โดยมีอุดมการณ์ใหม่ เช่น สิทธิและเสรีภาพของพลเมือง และความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในรัฐนั้น ๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แทนการขึ้นต่อเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์แบบเดิม แต่ที่สำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ คือการที่รัฐ(สมัยใหม่) ก้าวขึ้นมาเป็นพลังขับดันการเปลี่ยนแปลงในประเทศที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่สังคมหรือภาคประชาชนและชุมชน จินตนาการของชาตินั้นมีพลังและดูเหมือนว่าเป็นความจริงที่มีชีวิตก็เพราะมันรองรับด้วยรัฐและอำนาจรัฐสมัยใหม่นั่นเอง

รูปแบบของรัฐชาติสมัยใหม่ดังกล่าว เกิดมาจากการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสิทธิของประชาชนและชุมชนการเมืองใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น จุดหมายใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงนี้แสดงออกในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การปฏิวัติประชาธิปไตย" ซึ่งหากจะระบุให้ชัดเจนลงไปก็คือ การปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี หรือการปฏิวัติของชนชั้นนายทุน อันเป็นผลมาจากพัฒนาการภายในรัฐนั้นๆ เป็นหลัก พลังการเมืองใหม่มาจากชนชั้นกระฎุมพีและนายทุนต่างๆ ทำลายพันธนาการของระบบฟิวดัลและระบบปกครองแบบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงไป เช่นการปฏิวัติของอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๗๖) และการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๗๘๙) ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ก็ได้แก่ กรณีกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้น

ลักษณะเด่นของการเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองในข้อแรกนี้ แสดงออกโดยการให้น้ำหนักและความสำคัญไปที่รัฐ การสร้างรัฐและประชาชาติสมัยใหม่ขึ้นมาแทนที่รัฐเก่าที่เป็นเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้นหรือกึ่งศักดินา ในสมัยนั้น ปัจเจกชนและชุมชนย่อย ๆ เล็ก ๆ ยังไม่ใช่และไม่อาจเป็นจุดหมายของการปฏิวัติเหล่านี้ได้

อีกกระบวนหนึ่งมาจากการต่อสู้เพื่อปลดแอกลัทธิอาณานิคมตะวันตก กล่าวอีกอย่างก็คือได้แก่ กระบวนการและการต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อเป็นเจ้าของอัตลักษณ์ของประชาชนและกลุ่มคนต่าง ๆ การเคลื่อนไหวเหล่านี้แม้เกิดในระยะแรกของการปฏิวัติทางการเมืองประชาธิปไตย แต่ประชาชนหรือกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยอมขึ้นต่อขบวนการส่วนกลาง ด้วยมีความเชื่อมั่นว่า หากสร้างรัฐใหม่ได้สำเร็จ พวกตนก็จะได้อิสระและความเป็นตัวของตัวเองไปด้วยโดยอัตโนมัติ เช่น อาเจะห์ ในสมัยที่อินโดนีเซียทำการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากดัตช์ ก็ยินดีร่วมกับขบวนการส่วนกลางทุกอย่าง แต่ปัจจุบันก็กำลังต่อสู้เรียกร้องสิทธิปกครองตนเองจากรัฐบาลกลาง เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเสมอภาคในด้านต่าง ๆ อย่างพอเพียงและเหมาะสม

การปฏิรูปของสยามภายใต้การนำของรัชกาลที่ 5 หากมองในบริบทของประวัติศาสตร์โลกสมัยดังกล่าว ก็ต้องพูดว่าเป็นลูกผสม(ลูกครึ่ง)อยู่ในระหว่างสองรูปแบบของสองกระบวนข้างบนนี้ คือมีทั้งกำเนิดมาจากปัจจัยและพลังการเมืองของชนชั้นใหม่ในประเทศ ซึ่งในที่สุดถูกกลืนจากชนชั้นนำตามประเพณีและขบวนการชาตินิยมแบบทางการ อีกด้านก็มีปัจจัยอิทธิพลที่มาจากมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมภายนอกบีบบังคับ และทำให้ต้องปรับเอาแนวทางบางอย่างที่ทันสมัยเข้ามาใช้โดยมีจุดหมายที่จำกัด ผลก็คือรัฐชาติสมัยใหม่ของสยาม กลับสร้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เข็มแข็งยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาก่อน พลังการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีได้รับการกระตุ้นและก่อตัวขึ้น แต่ก็ไม่สามารถยกระดับพัฒนาให้เป็นพลังการเมืองที่อิสระมีอุดมการณ์และการปฏิบัติของตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างกลุ่มข้าราชการโดยเฉพาะทหารขึ้นมาเป็นพลังต่อรองทางการเมืองระยะผ่านที่จะผ่านอย่างยาวนาน

เป้าหมายทางการเมืองโดยทั่วไป แม้จะอยู่ที่ความเป็นเอกราช แต่ก็เป็นเอกราชของชนชั้นนำมากกว่าที่จะเป็นของราษฎร เพราะรัฐและจินตนาการเรื่องรัฐยังเป็นของชนชั้นนำอยู่ หาได้เป็นของหรือมาจากราษฎรไม่ เนื้อหาของประชาธิปไตยแม้จะพูดกันมาก แต่ก็ถูกหดลงและค่อยหายไปในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการนำระหว่างชนชั้นนำเก่ากับใหม่ ระหว่างกลุ่มทหารกับพลเรือน และในที่สุดระหว่างท้องถิ่นกับศูนย์กลาง

หากจับเอาสองข้อใหญ่คือการมีรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชน และการที่พลเมืองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐนั้นๆ โดยไม่ขึ้นต่อปัจจัยอื่นใดแล้ว ก็ต้องกล่าวลงไปว่า การปฏิรูปการปกครองและแม้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมา ก็ยังไม่ได้สร้างรัฐประชาชาติไทยที่สมบูรณ์ตามนิยามข้างต้นขึ้นมาเป็นผลสำเร็จไม่ ตรงกันข้ามรัฐไทยในระยะดังกล่าว กลับสร้าง "ชนส่วนน้อย" ขึ้นมาตามชายแดนและในบริเวณที่รัฐบาลกลางไม่อาจบังคับ และทำให้คนส่วนนั้นยอมรับแนวคิดและการปฏิบัติของการเป็นไทย ตามภาพลักษณ์ที่รัฐบาลกลางเชื่อและต้องการเห็นได้

ข้อคิดสำคัญอันหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ รัฐประชาชาติสมัยใหม่ ก่อตั้งขึ้นบนหลักการความเชื่อของความเป็นเอกภาพในวัฒนธรรมและชนชาติ กล่าวคือในสมัยนั้นมีความคิดและเชื่อกันว่า รัฐชาตินั้นสามารถสร้างชุมชนขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครรู้จักกันทั้งหมด แต่ก็เชื่อมต่อผูกพันซึ่งกันและกัน โดยผ่านประสบการณ์ในชีวิตประจำวันที่มีร่วมกัน เช่นการอ่านหนังสือพิมพ์ยี่ห้อเดียวกันทั้งประเทศ ฟังเพลงและละครวิทยุเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกันทั้งประเทศ หลงใหลนางเอกและพระเอกคนเดียวกันทั้งประเทศเป็นต้น

นี่คือสิ่งที่เบน แอนเดอร์สันเรียกว่า "กาลอันว่างเปล่าที่เป็นหนึ่งเดียวกัน" (homogeneous empty time) ซึ่งช่วยทำให้จินตนาการของความเป็นชาติเดียวกันในหมู่คนที่ไม่ใช่คนเชื้อชาติศาสนาภาษาเดียวกันสามารถเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ จินตนาการเช่นนี้ทำให้เกิดมีแนวคิดเรื่องเวลาที่เป็นเส้นตรง ซึ่งเชื่อมเอาอดีต ปัจจุบันและอนาคตไว้ อันช่วยทำให้จินตนาการทางประวัติศาสตร์ของอัตลักษณ์ ความเป็นชาติ ความก้าวหน้าและอื่นๆ เป็นจริงขึ้นมาได้

ในทางปฏิบัติ ความคิดเรื่องรัฐประชาชาติสมัยใหม่ดังกล่าวนี้ นำไปสู่ปฏิบัติการทางการเมือง ที่พลเมืองของรัฐมีหน้าที่ในการ"พัฒนาอัตลักษณ์ของพวกเขาตามการปฏิบัติทางการเมืองในรัฐร่วมกัน ไม่ใช่พัฒนาผ่านภูมิหลังทางเชื้อชาติของแต่ละกลุ่ม" เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐชาติจึงสร้างพลเมือง ข้าราชการ กรรมกร และ ครูอาจารย์ที่เป็นสากลหรือทั่วไป

อีกด้านเหนึ่ง เทคโนโลยีสมัยใหม่และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมก็ช่วยทำให้พลเมืองแต่ละคน สามารถจินตนาการว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ใหญ่กว่าตาเห็นได้ ทำให้พวกเขาสามารถกระทำการอะไรในนามของกลุ่มนิรนามนั้นได้ จินตนาการทางการเมืองเหล่านี้ทำให้พวกเขาก้าวพ้นข้อจำกัดของความคิด และการปฏิบัติตามประเพณีเดิมๆ ลงไปได้

อย่างไรก็ตามมโนทัศน์และความคิดเรื่องรัฐชาติดังกล่าวแล้วนั้น มาบัดนี้ถูกวิพากษ์และวิจารณ์จากการเปลี่ยนแปลงในบรรดารัฐและประเทศทั่วโลก ว่าความเชื่อเรื่องเอกลักษณ์และเอกภาพของเชื้อชาติในรัฐชาตินั้นไม่เป็นความจริง และไม่เป็นผลดีต่อความเป็นชาติของพลเมืองทั้งหลาย การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชนชาติและวัฒนธรรมอันหลากหลาย โดยเฉพาะภายหลังการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น นำไปสู่การเกิดของรัฐที่เป็นพหุลักษณ์และหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น อันจะเป็นทิศทางใหม่ของประสบการณ์การสร้างสังคมประชาธิปไตยต่อไป

ข้อพึงสังวรคือ ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการสร้างรัฐชาติที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องมีสองส่วนอยู่เสมอ คือ
- ส่วนที่เป็นการปฏิบัติใช้กลไกรัฐของรัฐบาล และ

- ส่วนที่เป็นการเข้าร่วมและตอบสนองของประชาชนทั้งประเทศ

การเคลื่อนไหวรูปแบบต่าง ๆ ไปจนถึงการประท้วงไม่ว่าในรูปแบบอะไรก็ตาม ที่ไม่ใช่เป็นการใช้ความรุนแรง ก็ต้องถือว่าเป็นการเข้าร่วมสร้างรัฐชาติประชาธิปไตยของประชาชน ไม่ใช่มองแต่เพียงว่าเป็นการทำลายรัฐชาติที่เป็นเอกภาพของผู้นำเท่านั้น

๓) ใครคือคนมลายูมุสลิม

คนไทยเชื้อสายต่าง ๆ อาจไม่มีความยากลำบากในการเป็นไทยตามนิยามและการปฏิบัติของรัฐไทย แต่สำหรับชาวมุสลิมในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส (ส่วนสตูลนั้นอยู่แยกจากสามจังหวัด มีสงขลาคั่นกลางและเอียงไปฝั่งทางตะวันตก แต่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จึงมักถูกเหมาให้เป็นปัญหาชายแดน 4 จังหวัด) การเป็นไทย ไม่ใช่แค่การมีสัญชาติในทางกฎหมายเท่านั้น หากที่เป็นปัญหาและนำไปสู่ความขัดแย้งกับรัฐไทย อยู่ที่การเป็นไทยในทางวัฒนธรรม หรือให้เจาะจงก็คือ การเป็นไทยในทางความคิด ในทางความเชื่อและในทางวิถีชีวิต ซึ่งหมายถึงความเชื่อและการปฏิบัติในทางศาสนาและประเพณีของประชาชนและชุมชนนั้น ๆ ด้วย

ทว่าลำพังการมีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างกัน ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนเสมอไป หรือแม้ระหว่างประชาชนด้วยกันเองก็ตาม ปัญหาทางการเมืองระหว่างเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกันจะปรากฏและรุนแรงขึ้น ก็ต่อเมื่อมีพลังการเมืองที่นำไปสู่การบีบบังคับเพื่อให้ไปบรรลุเป้าหมายร่วมกันของรัฐ การบังคับดังกล่าวและจุดหมายของมัน จึงก่อและนำไปสู่ปฏิกิริยาจากผู้ถูกบีบและบังคับ ในรูปแบบตามบริบทและคุณค่าความเชื่อทั้งในและนอกประเทศ

ชาวมุสลิมในประเทศไทยก่อนอื่นไม่ใช่กลุ่มคน "กลุ่มน้อย" ในทางชาติพันธ์ (ethnic minority group) หากแต่เป็นคนไทยที่อยู่ทั่วไปในประเทศ(national group) แม้ว่าพื้นที่บริเวณที่มีคนมุสลิมอยู่มากที่สุดและเป็นกลุ่มก้อนแน่นหนามากสุด อยู่ในบริเวณสี่จังหวัดภาคใต้สุด(ประมาณว่ามีราวร้อยละ 5 ของประชากรไทยทั้งประเทศ) แต่เมื่อนับจำนวนประชากรมุสลิมแล้ว ก็เป็นเพียงประชากรราวครึ่งหนึ่งของประชากรมุสลิมทั้งประเทศ อีกราวครึ่งหนึ่งนั้นกระจายกันอยู่ไปทั่วประเทศ โดยมีภาคกลางที่มีประชากรมุสลิมรวมกันมากรองจากภาคใต้สุด

หากนับจากชาติพันธ์แล้ว คนมุสลิมส่วนใหญ่เป็นคนมลายู ร้อยละ 80 อยู่ในจังหวัดภาคใต้สุด ส่วนมุสลิมที่ไม่ใช่มลายูมีเพียงร้อยละ 20 และอาศัยอยู่ในภาคอื่นๆ มุสลิมที่ไม่ใช่มลายูประกอบไปด้วยคนเชื้อชาติไทย อินเดีย ปากีสถาน จีน อาหรับ ชวา จามและอื่นๆ

ปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมภาคกลางกับรัฐไทย ก็แตกต่างไปจากของชาวมุสลิมภาคใต้สุด แม้คนมุสลิมภาคกลางมีความเห็นอกเห็นใจในปัญหาและความเดือดร้อนของมุสลิมภาคใต้ แต่พวกเขาส่วนใหญ่มีจินตนาการในเรื่องความเป็นชาติ และเป็นพลเมืองไทยเหมือนกับคนไทยทั่วไปมากกว่า เว้นแต่ในเรื่องทางศาสนาและการปฏิบัติเฉพาะเรื่องเท่านั้น ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งของชาวมุสลิม จึงมีทั้งลักษณะของปัญหาที่เป็นเฉพาะและปัญหาที่เป็นเรื่องทั่วไป แม้ความเป็นมุสลิมที่ประทับอยู่ก็ไม่ใช่สิ่งหยุดนิ่งตายตัว หากแต่ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนา มีพลวัตและพลังในตัวเอง ที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับรัฐไทยดำเนินไปในทิศทางและความหมายที่ร่วมกันหรือขัดกันได้ เช่นเดียวกับประชากรกลุ่มและชาติพันธ์อื่นๆ ทั้งหลายในประเทศไทย

น่าสังเกตว่าคนมุสลิมก็มีคำเรียกที่ทำให้แตกต่างไปจากคนเชื้อชาติไทย เช่นเดียวกับคนเชื้อชาติจีน ลาวและอื่นๆ คำที่คนไทยทั่วไปใช้ระบุถึงความเป็นชาวมุสลิมที่แพร่หลายมานานพอสมควรคือคำว่า "แขก" ส่วนคนที่มีการศึกษาและภาครัฐราชการนิยมใช้คำว่า "ไทยอิสลาม" และ "ไทยมุสลิม" การสร้างคำว่า "ไทยอิสลาม" และ "ไทยมุสลิม" กำเนิดมาในสมัยรัฐบาล จอมพล      ป.พิบูลสงคราม ในนโยบายการสร้างชาติไทยหรือที่รู้จักกันดีว่าสมัย "รัฐนิยม"  คำว่า "แขก" หมายถึงคนแปลกหน้า คนต่างถิ่นหรือผู้มาเยือนก็ได้ ในสมัยแรกที่มีการใช้คำนี้ อาจไม่ได้เจาะจงแต่คนมุสลิม หากใช้เรียกเครื่องแต่งกาย ภาษาและขนบธรรมเนียมที่ไม่ใช่แบบคนไทย เพราะโลกของคนไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามีคนเชื้อชาติและชาติพันธ์ต่างๆ มากมายที่เข้ามาตั้งรกรากหรือทำงานและราชการต่างๆ ทำให้เกิดมีคำนามที่ใช้ในการระบุและเรียกกลุ่มคนหลากหลายเหล่านั้นขึ้นมา กระทั่งในที่สุดคำว่า "แขก" ค่อย ๆ สร้างความหมายใหม่ของมันที่ระบุเฉพาะคนนับถือศาสนาอิสลามและคนอาหรับและอินเดียไป

กษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่แน่ ๆ คือ  สมัยรัชกาลที่ 5 ใช้คำว่า "แขก" เรียกคนมลายูมุสลิม เช่นในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เรื่องพระราชกรัณยานุสรในปีพ.ศ. 2420 ว่าด้วยเรื่องการถือน้ำพระพัฒสัตยา บรรดาขุนนางหัวเมืองที่ลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ ถือน้ำในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม "ที่เป็นแขกประเทศราช ถือน้ำที่ท่าศาลาลูกขุน สาบาลอย่างแขก พวกเขมรแลญวณเข้ารีด มีบาดหลวงมากำกับด้วย"

ในช่วงยุคสมัยดังกล่าว คำว่า "แขก" ยังไม่มีนัยของการดูถูกและเหยียดหยามทางเชื้อชาติ (racism) คือยังไม่เป็นศัพท์การเมืองที่มีนัยของการแบ่งแยกและดูถูกระหว่างเชื้อชาติกันขึ้น แต่ก็มีนัยของความไม่เข้าใจและของความเหนือกว่าทางอำนาจที่เป็นทางการ ของความเป็นผู้ใหญ่ที่มีสิทธิในการเรียกและพูดถึงคนที่อยู่ใต้อำนาจ และฐานะได้ตามความถนัดของตนเอง ดังเห็นได้จากทรรศนะของเจ้าพระยายมราช เมื่อไปตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้ในปี พ.ศ. 2466 พบว่าเจ้าหน้าที่ข้าราชการปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อราษฎรมุสลิม จึงทำหนังสือสมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยขึ้น

ในคำปรารภเจ้าพระยายมราชกล่าวถึงนโยบายของพระเจ้าอยู่หัว ที่มิได้รังเกียจในศาสนาที่ต่างกัน "เพราะฉะนั้นเจ้าน่าที่ผู้ปกครองราษฎร ซี่งมีคตินิยมต่างจากคนไทยแลต่างศาสนาดังเช่นมณพลปัตตานีเปนต้น ควรต้องรู้จักหลักพระราชประสงค์ และรัฐประศาสน์ของรัฐบาลไว้เป็นอารมย์ เพื่อดำเนินทางราชการให้ถนัดชัดเจนการปกครองของราษฎรที่ถืออิสลาม(มหหมัด) จะเข้าใจเอาอย่างที่เราเข้าใจกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ว่าแขกเกลียดหมูและไม่กินหมูเท่านั้นหามิได้ ยังมีบางสิ่งบางอย่าง แขกถือเปนของสำคัญยิ่งกว่าหมูก็มี"

เห็นได้ว่าเจ้าพระยายมราชและคนไทยทั่วไป กล่าวถึงคนมุสลิมโดยใช้คำว่า "แขก" อย่างไม่ถือสาและไม่คิดว่าเป็นการกระทบกระเทือน เพราะอาจคิดว่าเป็นการพูดกันภายในระหว่างเจ้าหน้าที่ข้าราชการไทยกันเอง ในคำนำหัวข้อของสมุดคู่มือฯดังกล่าว อำมาตย์โท พระรังสรรค์ สารกิจ (เทียม กาญจนประกร) ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติศาสนาอิสลามเป็นผู้เขียนในหัวข้อสำคัญอันเกี่ยวกับชาวอิสลามและการปฏิบัติ ก็ใช้คำว่า "แขก" เรียกคนมุสลิมในทุกหัวข้อ เช่น "คัมภีร์โกราน เป็นคัมภีร์การสั่งสอนที่พวกแขกถือว่าเป็นคำสั่งของพระเจ้า และมีบัญญัติว่าถ้าไม่เรียนรู้เป็นบาป", "ประเพณีแขก", "หนังสือแขก" เป็นต้น

สังเกตว่าเมื่อถึงเนื้อหารายละเอียดของแต่ละเรื่อง เช่นพระคัมภีร์โกราน ประเพณี การถือบวช การทำละหมาด การไหว้พระและฟังเทศน์วันศุกร์ เรื่องใส่รองเท้าเข้าในสะเหร่ามัสยิด และอื่นๆนั้น ผู้เขียนจะใช้คำว่า "ชาวอิสลาม" หรือ "ชายหญิงอิสลาม" ในทุกหัวเรื่อง ไม่มีการใช้คำว่า "แขก" อีกเลยแม้แต่คำเดียว แสดงว่าเมื่อเป็นการเขียนที่เป็นทางการและเป็นสาธารณะแล้ว เจ้าหน้าที่ไทยยังต้องละเว้นไม่กล่าวคำอันเป็นศัพท์ชาวบ้าน แต่มีนัยของการสร้างค่านิยมที่ไม่เท่ากัน จนนำไปสู่การสร้างอคติระหว่างกันขึ้น และทำให้เกิดระยะห่างทางสังคมของกลุ่มคน นอกเหนือจากความแตกต่างทางชนชั้นขึ้นมาได้

เมื่อได้มีการพูดถึง "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม" นี้มามากแล้ว ขอเพิ่มรายละเอียดที่สำคัญและช่วยทำให้ประเด็นที่กำลังอภิปรายอยู่นี้กระจ่างแจ้งขึ้นด้วย ในการพิมพ์ใหม่ (เข้าใจว่าคงเป็นครั้งที่ 2) นี้ ผู้เขียนคือนายประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ ได้ขอให้อาจารย์ดลมนรรจน์ บากา แผนกอิสลามศึกษา ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ทำเชิงอรรถอธิบายและแก้ความเข้าใจผิดพลาดในความหมายของศาสนาอิสลามตามที่ อำมาตย์โท พระรังสรรค์สารกิจ (เทียม กาญจนประกร)ได้เขียนขึ้นมา

ยกตัวอย่างที่สำคัญเช่น "ศาสนาอิสลาม (มหหมัด) เป็นชื่อศาสนาที่สำคัญศาสนาหนึ่งในโลก ซึ่งพระเจ้า(อัลลอฮ์)ได้ทรงคัดเลือกศาสดา ซึ่งมีจำนวนมาก ให้ทำการเผยแพร่ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ศาสดาท่านแรกคือนบีอาดัม และท่านสุดท้ายคือนบีมุหัมมัด ศ็อลฯ(ขอความโปรดปรานจากอัลลอฮ์และขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ศาสนาอิสลามมิใช่ศาสนาที่มุหัมมัดเป็นผู้ก่อตั้ง ท่านเป็นผู้ประกาศตามคำสั่งของอัลลอฮ์ จึงไม่ควรที่จะเขียนในวงเล็บว่า มหหมัด เพราะจะทำให้ว่า เป็นศาสนามหหมัดตามความเข้าใจของชาวตะวันตก"(เชิงอรรถที่ 4 หน้า 290) "แขก ที่ถูกต้องคือมุสลิม มิใช่แขก, มุสลิมหมายถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทางราชการให้เรียกชาวไทยมุสลิมว่า "คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม" และ "โกราน ที่ถูกต้องเรียกว่าอัล-กุรอานหรือกุรุอาน (Qur'an) ไม่ใช่โกรานหรือโก้หร่าน…" "หนังสือแขกควรใช้คำว่าภาษายาวี" "พระมหหมัด ที่ถูกต้องคือ ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลอัลลอฮ์อะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งมักย่อเป็น มุหัมมัด ศ็อลฯ"

๔) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐมลายูมุสลิมกับรัฐไทยก่อนสมัยใหม่

สมเด็จฯกรมพระยาดำรง ทรงอธิบายแก้ไขความเข้าใจที่ไม่ถูกในหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ในเรื่องหัวเมืองปักษ์ใต้ว่า "เมืองไทรบุรี เมืองปัตตานี เป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่เมืองตรังกานูพึ่งตั้งเมื่อครั้งกรุงธนบุรี และมายอมเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ส่วนเมืองกลันตันนั้นเดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองปัตตานี..."

การเป็นเมืองขึ้นหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองในสมัยโบราณหรือสมัยจารีต ที่เรียกว่าระบบบรรณาการ ในยุคนั้นก็คล้ายกับสังคมจารีต ที่รัฐและคนสัมพันธ์กันโดยดูที่อำนาจว่าของใครใหญ่กว่ากัน เมื่อตกลงรับรู้กันได้แล้ว ทั้งรัฐใหญ่และเล็กก็สามารถดำเนินการปกครอง การผลิต การค้าแลกเปลี่ยนของตนเองไปได้อย่างสงบเรียบร้อย จนกว่าจะมีปัจจัยเงื่อนไขใหม่เข้ามากระทบ อันทำให้ความสัมพันธ์เดิมนั้นเปลี่ยนแปลงไป ก็จะนำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงเข้าบีบบังคับ ซึ่งในที่สุดก็จะดำเนินไปตามกรอบใหญ่คือรัฐใหญ่ก็จะเป็น "เจ้าพ่อ" เหนือรัฐเล็กๆอีกต่อไป

เมืองขึ้นในรัฐจารีตไม่ใช่เมืองขึ้นแบบเจ้าอาณานิคมฝรั่งสมัยใหม่ หากแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องภายในดินแดนของรัฐเล็กๆ นั้นเลย ดังนั้นเมืองปัตตานีสมัยโน้นจึงปกครองตนเองมาตลอด กระทั่งมาถึงสมัยแห่งการปฏิรูปของสยาม ที่อำนาจมีนัยถึงการเป็นเจ้าของดินแดนนั้นๆ ด้วยปัญหาอีกข้อคือความเชื่อว่า รัฐปัตตานีในอดีตมักก่อกบฏต่อกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์บ่อยๆ ก่อนอื่นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างรัฐสุลต่านปัตตานี กับรัฐอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์. รัฐปัตตานีกำเนิดมาจากเมืองท่าที่ทำการค้ากับภายนอก เป็นชุมชนปากแม่น้ำในบริเวณคาบสมุทรมลายูที่เล็กกว่าชุมชนเกษตรกรรมในภาคพื้นทวีป ชุมชนปากแม่น้ำเกิดง่ายและสลายตัวง่าย มีความเป็นอยู่กระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มเดียวกัน สัมพันธ์กับการอพยพย้ายถิ่นของชุมชนหลายระลอก. ในทางการเมืองหมายความว่าอำนาจและผู้นำของรัฐมีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงบ่อย ในกรณีของรัฐปตานีมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างราชสำนักกับกลุ่มโอรังกายาหรือพวกชนชั้นนำ ซึ่งทำให้กระเทือนต่อความสัมพันธ์กับรัฐเจ้าพ่อใหญ่กว่าบ่อยด้วยเหมือนกัน

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงในความสำคัญของการค้าก็มีผลต่อฐานะของรัฐปตานีด้วย. ในสมัยจารีต สยามมีความสัมพันธ์กับปตานีบนผลประโยชน์ของการค้าร่วมกัน "มีความยืดหยุ่น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอยู่มาก ไม่มีความตึงเครียดที่ถาวร จึงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายค่อนข้างที่จะหลวม ซึ่งลักษณะตรงนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อระบบรัฐชาติสมัยใหม่เกิดขึ้น" การเปลี่ยนไปของเศรษฐกิจในอุษาคเนย์ในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะการเข้ามาตั้งสถานีการค้าของอังกฤษในคาบสมุทรมลายู ที่สำคัญปตานีลดความสำคัญของเมืองท่าการค้าไปสู่การเป็นแหล่งผลิตพริกไทย ดีบุกกับยางพาราให้แก่ตลาดโลก จากจุดนี้เองที่ทำให้สยามเริ่มทำการควบคุมปตานีอย่างแข็งแรงขึ้น มีการจัดการกับดินแดนและผลประโยชน์จากดินแดนเหล่านั้นมากขึ้น แน่นอนการเปลี่ยนจุดหนักในความสัมพันธ์ของสยามย่อมนำไปสู่ปฏิกิริยาจากรัฐปตานีเองด้วย

นับจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นศูนย์กลางใหม่ของสยาม เราได้เห็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดและจุดหมายทางการเมืองการปกครองมาตลอด จากอาณาจักรกษัตริย์แบบอยุธยาเก่า ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาสู่การเป็นรัฐประชาชาติสมัยใหม่ กระบวนการเปลี่ยนแปลงตนเองและอัตลักษณ์ของสยาม มีผลต่อการปฏิบัตินโยบายต่อเมืองประเทศราชและรัฐประเทศราชอีกอย่างต่างจากสมัยก่อนด้วย ในระยะยาวจุดหมายและความต้องการทางการเมืองของรัฐไทย มีน้ำหนักเหนือความเข้าใจและเหนือนโยบายขันติธรรมทางศาสนา เพราะความรู้และความเข้าใจในศาสนาอิสลาม และความเป็นคนมลายูของผู้นำรัฐไทยในระยะปฏิรูปประเทศเป็นต้นมา เป็นความรับรู้ที่ไทยรับมาจากองค์ความรู้ของตะวันตกที่มีต่ออิสลามเป็นหลัก เห็นได้จากการที่รัฐไทยสมัยรัชกาลที่ 5 มาเรียกศาสนาอิสลามว่า "ศาสนามะหะหมัด" หรือมหหมัด และมองว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีความรุนแรงทางการเมืองและรังเกียจคนต่างศาสนา ดังคำอธิบายใน สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม เป็นต้น

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมืองมุสลิมปักษ์ใต้กับกรุงเทพฯ นับแต่แรกจึงแสดงออกถึงแรงต้านจากรายา(ราชา)ปัตตานีมากกว่าด้านอื่น นำไปสู่การต่อสู้ขัดขืนการที่สยามเข้ามาครอบงำเหนือท้องถิ่นและสะท้อนความต้องการอิสระของตนเองถึง 6 ครั้ง คือกรณีตนกู ลัมมิเด็น (พ.ศ.2329), ระตูปะกาลัน(พ.ศ.2349), นายเซะและเจะบุ (พ.ศ.2364 และ พ.ศ.2369), เจ้าเมืองหนองจิก(พ.ศ.2370), เจ้าเมืองปัตตานี(ตนกูสุหลง พ.ศ.2374) และตนกูอับดุลกาเดร์ (พระยาวิชิตภักดีฯ) พ.ศ.2445 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการมีรายาปัตตานี

หลังจากนั้นสยามไม่แต่งตั้งเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นครองเมืองอีกต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะอีก 4 ปีต่อมา รัฐบาลสยามก็แก้ไขการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้เป็น 4 เมืองคือ ปัตตานี, ยะลา, สายบุรี, และระแงะ แล้วตามมาด้วยการทำสัญญากับจักรภพอังกฤษใน "สัญญากรุงเทพฯ"(พ.ศ.2452) เป็นการตกลงกันของมหาอำนาจในการแบ่งดินแดนและเขตอิทธิพลกันในแบบฉบับของจักรวรรดินิยมตะวันตก ที่ใช้กันทั่วในดินแดนที่เป็นอาณานิคมทั่วโลกสมัยนั้น

ตามสัญญากรุงเทพฯ  สยามยกเลิกสิทธิการปกครอง และอำนาจควบคุมเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ ในทางกลับกันสยามได้รับสิทธิอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและคนในรัฐไทยทั้งหมดโดยสมบูรณ์ ที่สำคัญรวมทั้งอธิปไตยของสยามเหนือรัฐปตานี ซึ่งเปลี่ยนจากเมืองประเทศราชมาเป็นจังหวัดหนึ่งของสยามไป

อีกด้านอธิปไตยของสยามที่อังกฤษคืนให้คือ การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอำนาจกงสุลของอังกฤษในสยาม นักประวัติศาสตร์ไทยตีความสนธิสัญญานี้เป็นผลดีแก่ไทย ในแง่ของความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ แม้จะต้อง"เสียดินแดนมลายู 4 รัฐ รวมเนื้อที่ประมาณ 15,000 ตารางไมล์ และพลเมืองกว่าห้าแสนคนให้อังกฤษก็ตาม แต่(ถึงอย่างไร) ก็ไม่ใช่ดินแดนที่เป็นคนไทยแท้ ๆ "

หากเราให้ประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกระทำเป็นฝ่ายพูดบ้าง ก็จะได้อีกภาพหนึ่ง กล่าวคือสุลต่านที่กลันตันและตรังกานูโกรธเคืองมาก จนปรารภกับนายอาเธอร์ แอดัมส์ ที่ปรึกษาการคลังอังกฤษประจำไทรบุรีว่า "ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับการขายลูกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งไม่มีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้"

แท้ที่จริงแล้วในทางประวัติศาสตร์ รัฐชาติสยามก็ไม่ได้ "สูญเสีย" ดินแดนของตนแต่ดั้งเดิมไป หากแต่ "จะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทอง นอกเหนือไปจากเครื่องราชบรรณาการนี้แล้ว ก็ไม่มีการสูญเสียทางด้านวัตถุอื่นใดอีก" แต่ที่สำคัญในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๕ ต่อการเสียดินแดนดังกล่าวก็คือ "การสูญเสียดินแดนเหล่านี้ไปย่อมเป็นการเสื่อมเสียเกียรติภูมิของประเทศ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องย้ำความเป็นเจ้าของดินแดนในส่วนนี้" และนี่คือความยอกย้อนผันผวนของประวัติศาสตร์ชาติสยามสมัยใหม่ ที่พัวพันกับชะตากรรมและอนาคตของคนมลายูมุสลิมภาคใต้อย่างลึกซึ้ง

๕) การศึกษาเรื่องปัญหาการแบ่งแยกดินแดน
ที่ผ่านมาการศึกษาในเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่าง คนมลายูมุสลิม กับ อำนาจรัฐไทย มักมองข้ามกำเนิดและความเป็นมาของมโนทัศน์แบ่งแยกดินแดน และข้ามไปรวมศูนย์การศึกษาที่พัฒนาการช่วงหลังๆ ของความขัดแย้ง ซึ่งด้านหนึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าและมีการประโคมข่าวกันมาก แต่ราคาที่เราต้องจ่ายไปให้กับความโง่เขลา และการหลงลืมทางประวัติศาสตร์ในเรื่องกำเนิดของความขัดแย้งการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ก็คือ การทำให้ปัญหานี้ยืดเยื้อต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และก็เท่ากับให้การยอมรับการศึกษาที่เป็นอัตวิสัยและที่กระทำอย่างหยาบๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วย

กลับมาที่การศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ อาจแบ่งงานเขียนหลักๆ ในปัญหานี้ออกเป็นสองกลุ่มที่ตรงข้ามกัน

กลุ่มแรก ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ชาวต่างชาติ(ตะวันตก) แห่งยุคทศวรรษ ๑๙๔๐ ซึ่งมีท่าทีค่อนข้างวิพากษ์นโยบายของรัฐบาลและวิธีการจัดการกับคนมลายูมุสลิมในภาคใต้ กลุ่มนี้มีแนวโน้มสนับสนุนสิทธิอัตวินิจฉัยของชนชาติต่างๆ เช่นมลายูมุสลิมที่จะเป็นอิสระในการดำเนินและปฏิบัติวัฒนธรรมและศาสนาของพวกเขา

กลุ่มที่สอง เป็นนักเขียนและนักวิชาการส่วนใหญ่มาจากวงการวิชาการไทยและข้าราชการ กลุ่มหลังนี้ทรรศนะและท่าทีของพวกเขาถูกกำหนดโดยเงื่อนไขของความภักดีต่อรัฐไทย และสำนึกของชาตินิยมไทย ผู้สังเกตการณ์ต่างชาตินับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมาจนถึงปีทศวรรษ ๑๙๖๐ มีความเห็นอกเห็นใจในสิทธิของชนชาติส่วนน้อยทั้งหลายในการตัดสินใจเพื่ออนาคตทางการเมืองของตนเอง คนเหล่านี้จึงมักกล่าวหารัฐไทยว่ามีอคติต่อคนมลายูมุสลิม ด้วยการจัดกลุ่มให้พวกเขาว่าเป็นพวก "แขก" ซึ่งนัยก็คือพวกเขาเป็น "คนนอก" หรือเป็น "คนกลุ่มน้อย" และในที่สุดก็ให้ป้ายยี่ห้อล่าสุดว่าเป็น "โจรแบ่งแยกดินแดน" ความรู้สึกที่รังเกียจรัฐบาลไทยของชาวบ้านขึ้นสู่จุดสูงสุดในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม  

(๑) ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๗ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังญี่ปุ่นในช่วงสงครามมหาอาเซียบูรพา และต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม 

(๒) ซึ่งอยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๐ ครั้งหลังนี้จอมพล ป. ก้าวสู่อำนาจด้วยการเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งนำไปสู่การล้มและกวาดล้างรัฐบาลเสรีนิยมภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ 

โดยทั่วไปคนเข้าใจและเชื่อกันว่า คนมลายูมุสลิมภาคใต้ถูกกระทำทารุณกรรมทางการเมืองอย่างมากก็ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนี้เอง เช่นกรณีการจับกุมฮัจญีสุหลง และ "กบฏดุซงญอ" เป็นต้น ในความเป็นจริง เมื่อศึกษาจากข้อมูลสมัยนั้นอย่างละเอียด ปรากฏว่าการปะทะและใช้ความรุนแรงต่อคนมลายูมุสลิมภาคใต้นั้น เริ่มขึ้นแล้วก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงครามจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ เมื่อคิดถึงความซับซ้อนและความอ่อนไหวในประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาดังกล่าว จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมการศึกษาในเรื่องดังกล่าวจึงทำอย่างภววิสัยได้ยาก

ในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ เป็นการศึกษาอย่างถูกต้องตามหลักฐานภายนอก ไม่ใช่เป็นการศึกษาแบบอัตวิสัยที่เอาความเชื่อของผู้ศึกษาเป็นที่ตั้ง บทความวิจัยชิ้นนี้ต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงการเกี่ยวพันกันของเหตุการณ์หลาย ๆ เรื่องในช่วงเวลาของทศวรรษปีพ.ศ. ๒๔๘๐ อันนำไปสู่การปะทะและปราบปรามบรรดาผู้นำมุสลิมด้วยความรุนแรงเป็นครั้งแรก โดยฝีมือของรัฐบาลไทยที่ได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็น "ประชาธิปไตย"แล้ว การศึกษาครั้งนี้วางจุดหนักไว้ที่การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ (อันรวมวิสัยทัศน์)ทั้งของคนมลายูมุสลิมภาคใต้ และของรัฐไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พร้อมกับนำรูปแบบการปกครองของประชาธิปไตยเข้ามาแทน มีการใช้นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่อำนาจรัฐบาล และการควบคุมบริเวณที่มีความตื่นตัวทางการเมืองและมีสำนึกในวัฒนธรรมของตนเองสูงมาก นั่นคือภูมิภาคในอีสานและภาคใต้ กล่าวในทางการเมือง การกระทำของรัฐไทยในระยะนั้น เท่ากับเป็นการผนึกและรวมศูนย์รัฐประชาชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น โดยใช้จินตนาการของไทยภาคกลางเป็นแกนนำ

บทความนี้จึงแย้งว่าจริงๆ แล้ว ข้อกล่าวหาว่าด้วยการกระทำ "แบ่งแยกดินแดน" นั้น เป็นการประดิษฐ์สร้างขึ้นมาของอำนาจรัฐไทย และบังคับใช้ให้เป็นจริง เพื่อที่จะปราบปรามและข่มขู่ดินแดนในบริเวณเหล่านั้นจากการอ้างสิทธิทางการเมืองในอัตลักษณ์ และความใฝ่ฝันของพวกเขา กล่าวอย่างกว้างๆ การเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในทางการเมืองนั้น ถือว่าเป็นแบบเฉพาะอย่างหนึ่งของการกบฏต่อรัฐ โดยกลุ่มคนที่สมาชิกของรัฐหรือคนที่อาจจะเป็นสมาชิกของรัฐที่ไม่พอใจในรัฐบาลที่ปกครองพวกเขาอยู่

(1) ขบวนการดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่ก่อรูปขึ้นบนอัตลักษณ์ของพวกเขาที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ ซึ่งถูกทำให้เป็นคนกลุ่มน้อยในรัฐไป

ภายหลังการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีการเคลื่อนไหวที่สำคัญของขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้แก่ "ขบวนการโมโร"ในฟิลิปปินส์, "ขบวนการมลายูปัตตานี"ในภาคใต้ของไทย, "ขบวนการไทยใหญ่และกะเหรี่ยงและโรฮิงยา"ในพม่า, และสุดท้ายคือ "ขบวนการอะเจะห์"ในอินโดนีเซีย Clive J. Christie ในงานศึกษาเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอุษาคเนย์ อธิบายอย่างกะทัดรัดถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์และการเมือง ในการเกิดขึ้นและคลี่คลายขยายไปของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

เหตุการณ์สำคัญที่จุดประกายให้และในระดับหนึ่งก็ช่วยสร้างรูปแบบและเนื้อหาของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ให้กับขบวนการแต่ละขบวนการในภูมิภาคนี้ก็คือ กระบวนการของการล้มล้างระบบอาณานิคม ซึ่งเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประสบการณ์ร่วมกันที่เป็นปัจจัยผลักดันของบรรดาขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้คือ การเกิดขบวนการชาตินิยม ที่ต่อต้านอำนาจลัทธิอาณานิคม การค้นหาอัตลักษณ์ที่เป็นของประชาชาติต่าง ๆ การพังทลายของการบุกและยึดครองของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ และท้ายที่สุดคือ การประกาศเอกราชของประเทศเหล่านี้

(2) มีงานศึกษาที่พยายามจะอธิบายขบวนการแบ่งแยกดินแดนในเชิงโครงสร้าง ได้แก่งานของเดวิด บราวน์ เรื่อง "From Peripheral Communities to Ethnic Nations: Separatism in Southeast Asia" (1988)

(3) บราวน์เถียงว่ากรณีของการแบ่งแยกดินแดนของชาติพันธุ์นั้น จะเข้าใจได้ดีกว่าหากศึกษาผ่านคุณลักษณะและผลสะเทือนของรัฐ(the state) ซึ่งเป็นกุญแจสำหรับการอธิบายกำเนิดของขบวนการแบ่งแยกต่างๆ เหล่านี้ เขาระบุไว้ในข้อโต้แย้งของเขาว่ามี ๓ ขั้นตอนในปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชนที่อยู่รอบนอกๆ

ขั้นที่หนึ่ง การเกิดขึ้นของลักษณะรัฐที่เป็นเชื้อชาติเดียว (mono-ethnic state) แน่นอนว่าย่อมทำให้การแทรกแซงเข้าไปในชุมชน ย่อมนำไปสู่การทำลายโครงสร้างของอำนาจอันยอมรับนับถือทั้งหลาย (communal authority structures) ของชนกลุ่มน้อยลงไป การทำลายนี้เกิดขึ้นในสองระดับ

-  ในระดับมวลชน(หรือรากหญ้า) เกิดวิกฤตในอัตลักษณ์และความไม่มั่นคงของชุมชน
- ในขณะที่ในระดับผู้นำ เกิดวิกฤตของความชอบธรรม (crisis of legitimacy)

ขั้นที่สอง บรรดากลุ่มผู้นำทั้งหลายในชุมชนรอบนอกเหล่านี้ พยายามหาทางแก้ไขวิกฤตเหล่านั้นด้วยการสรรค์สร้างอุดมการณ์ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ขึ้นมา และดำเนินการปลุกระดมให้เกิดการเผชิญหน้ากับรัฐขึ้น การกระทำดังกล่าวสร้างพื้นฐานอันใหม่สำหรับการมีเอกภาพและอัตลักษณ์ของชุมชนขึ้นมา และก็สร้างพื้นฐานใหม่ให้กับความชอบธรรมแก่บรรดาผู้นำเหล่านั้นอีกด้วย

ขั้นที่สาม ในขบวนการชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์นั้น มักมีจุดอ่อนแฝงอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งเกิดจากการที่กลุ่มผู้นำต่างๆ มีความต้องการและความใฝ่ฝันที่แข่งขันกัน เช่นผู้นำตามประเพณีกับผู้นำรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสมัยใหม่ แต่ละกลุ่มก็แสวงหาความชอบธรรมในฐานะแห่งการเป็นผู้นำของพวกตนภายในชุมชนเหล่านั้น ผลกระทบที่สำคัญอันหนึ่งของการแข่งขันกันก็คือ นำไปสู่ความไม่สามัคคีของกลุ่มและพวก และจุดอ่อนในขบวนการชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ที่ก่อรูปขึ้นมา

จุดสำคัญในทฤษฎีนี้ก็คือการสร้างมโนทัศน์ว่าด้วยรัฐที่เป็นเชื้อชาติเดี่ยว แม้สังคมเหล่านี้ล้วนเป็นสังคมพหุชาติพันธุ์มาแต่ในประวัติศาสตร์แล้ว แต่ในแต่ละกรณีสภาพแวดล้อมที่รัฐสมัยใหม่ก่อกำเนิดขึ้นมา กลับนำไปสู่การส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ของรัฐกับชุมชนเชื้อชาติใหญ่แต่กลุ่มเดียว, ชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาติพันธุ์ต่างๆ ถูกกีดกันออกไปจากการเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของรัฐ จากการเข้าไปมีตำแหน่งที่มีอิทธิพลในรัฐบาล และจากการมีส่วนร่วมในลักษณะทางอุดมการณ์ของรัฐด้วย

อัตลักษณ์แห่งชาติจึงกลายเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับภาษา วัฒนธรรมและคุณค่าของชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เท่านั้น ปัญหาจุดอ่อนของทฤษฎีนี้อยู่ที่แนวคิดว่าด้วยรัฐ "ชาติพันธุ์เดียว" ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในประเทศที่ศึกษาและทั้งหลายทั่วไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นพม่า ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไทย ตามทางที่บราวน์ศึกษาและเสนอนั้น การผสมกันระหว่าง รัฐ "ชาติพันธุ์เดียว" และสังคมพหุชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งนับรวมประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น พม่า เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ไม่นำไปสู่การเร่งความขัดแย้งทางการเมืองหรือความรุนแรงทางการเมือง ตราบเท่าที่รัฐบาลกลางขาดเจตจำนงและความต้องการในการเข้าไปแทรกแซงชุมชนชาติพันธุ์รอบนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาที่ว่านั้นเกิดได้เมื่อความต้องการทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ผลักดันให้รัฐบาลทำการขยายบทบาทออกไปนอกเหนือเขตใจกลางเข้าไปสู่ชุมชนส่วนน้อย บริเวณที่โครงสร้างและอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ถูกกระทบอย่างแรงจนทำให้เกิดการเผชิญหน้าของชาตินิยมชาติพันธุ์ขึ้นมา ความขัดแย้งทางการเมืองและความรุนแรงระหว่างชุมชนส่วนน้อยกับรัฐที่ดำเนินต่อมา จึงเป็นผลมาจากลักษณะและการปฏิบัตินโยบายผสมกลมกลืนและการรวมศูนย์ของรัฐ ด้วยการแทรกแซงชุมชนส่วนน้อยทั้งหลายนั้นเอง

ความพยายามของรัฐแสดงออกในรูปแบบของการพยายามนำเสนอคุณค่า และสถาบันของกลุ่มชนส่วนข้างมากเข้าไปในชุมชนรอบนอกทั้งหลาย อันนี้มีนัยว่าคุณค่าของชุมชนรอบนอกนั้นด้อยกว่าของศูนย์กลาง และมีแต่ต้องรับเอาวัฒนธรรมที่ก้าวหน้ากว่าของคนส่วนข้างมากเท่านั้น ชุมชนรอบนอกเหล่านั้นจึงจะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของชาติได้  การศึกษาแทบทั้งหมดที่ทำในกรณีภาคใต้ของไทย ก็ใช้สมมติฐานทำนองนี้เหมือนกันทั้งนั้น นั่นคือรัฐไทยที่เป็น "เชื้อชาติเดียว" ดำเนินนโยบายที่นำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลางมาโดยตลอดในหลายยุคหลายสมัย ในแต่ละยุคสมัยของการปกครองแบบรวมศูนย์นั้น และเป็นเวลาที่ผู้นำดั้งเดิมของปัตตานี ได้ถูกถอดจากตำแหน่งและอำนาจแล้ว ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการประท้วงและการกบฏ เพราะ "สมาชิกของผู้นำประเพณีที่ถูกโค่นอำนาจหาทางที่จะกลับมามีอำนาจอีกในบริเวณนั้น"

(4) การก่อความไม่สงบเล็กๆ และไม่เป็นเอกภาพในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ เปลี่ยนมาเป็นการประท้วงต่อต้านที่ยาวและมีการจัดตั้งมากขึ้น เมื่อผู้นำท้องถิ่นถูกแทนที่มากขึ้นโดยข้าราชการไทย โดยเฉพาะภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งมีการปรับรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่อีกครั้ง ระบบปกครองนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างเต็มที่มากขึ้นภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามสมัยที่หนึ่ง

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งนี้ ได้แก่ การกบฏของมลายูมุสลิมใน พ.ศ. ๒๔๙๑ หลังจากที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามกลับขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ กบฏครั้งนั้นเกิดขึ้นภายหลังที่รัฐบาลไทยปฏิเสธคำเรียกร้องที่นำโดย ฮัจญีสุหลง ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคนมลายูมุสลิมเป็นผู้นำสูงสุดในสี่จังหวัดภาคใต้ และให้เป็นข้าราชการได้ถึงร้อยละ ๘๐ ในบริเวณนั้น และให้มีคณะกรรมการอิสลามดำเนินการดูแลกิจการของคนมุสลิมเป็นต้น

การจับกุมฮัจญีสุหลงกระตุ้นให้เกิดการก่อความไม่สงบอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งหลังจากการหายสาปสูญไปของฮัจญีสุหลง และคาดว่าคงถูกฆาตกรรมแล้วโดยตำรวจไทยในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ความไม่สงบก็ปะทุขึ้นอีก  ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีการ "กบฏ" โดยคนมลายูมุสลิมในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ คำเรียกร้อง ๗ ข้อก็ไม่ใช่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการจับกุมและการดำเนินคดีกับฮัจญีสุหลง ตามที่นักวิชาการและสาธารณชนเข้าใจกันต่อๆมา อย่างไรก็ตาม ได้มีสิ่งที่เรียกว่า "ความไม่สงบ" และ "การประท้วง" โดยคนมุสลิมในบริเวณ "สามจังหวัดภาคใต้สุด" (ไม่ใช่ "สี่จังหวัด" ตามที่เรียกกันทั้งหน่วยงานรัฐและสื่อมวลชน)

ในช่วงก่อนที่จะมีการจับกุมฮัจญีสุหลงเสียอีก และความรุนแรงก็ยิ่งทวีมากขึ้นภายหลังที่เขาถูกจับกุมไปแล้ว การลุกฮือที่ลุกลามใหญ่และรุนแรงที่สุดสมัยนั้นคือ เหตุการณ์ที่เกิดในวันที่ ๒๖-๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ จากการปะทะกันในหมู่บ้านดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส การปะทะกันครั้งนั้นภายหลังเป็นที่รู้จักกันดีใน "กบฏดุซงญอ" และคนทั่วไปเข้าใจว่า เหตุการณ์นั้นเกิดมาจากการที่ฮัจญีสุหลงถูกจับ หลังจากนั้น "กบฏดุซงญอ" ก็ถูกทำให้เลือนและอยู่ภายใต้โครงเรื่องของ "กบฏหะยีสุหลง" ในที่สุดกงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนมาบรรจบอีกครั้ง เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายหัวรุนแรงมลายูมุสลิม กับกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐในสามจังหวัดภาคใต้อีก ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เหตุการณ์ล่าสุดนำไปสู่การรื้อฟื้นและทบทวนความทรงจำที่ลบเลือนไปเมื่อ ๕๖ ปีก่อนโน้น นำมาสู่การเล่าเรื่องและทวนความจำใหม่ ว่า "กบฏดุซงญอ" ในปี ๒๔๙๑ นั้นแท้จริงแล้วคืออะไร

๖) ประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์: จาก "กบฏหะยีสุหลง" ถึง "กบฏดุซงญอ"

การอุบัติขึ้นของคลื่นความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้สุดครั้งล่าสุด มาจากการบุกเข้าปล้นปืนในค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ ๔ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส โดยกลุ่มคนที่ไม่อาจระบุได้ ในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ กรณี "ปล้นปืน ๔ มกราคม" เป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดกว่าเหตุการณ์อื่นๆ ในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางการเมืองชาติพันธุ์ที่มีมายาวนานในพื้นที่นั้น

จากรายงานของทางการบอกว่า มีกลุ่มคนประมาณ ๖๐ คนบุกเช้าไปในค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ ยิงทหารตายไป ๔ นาย ก่อนจะหลบหนีไปพร้อมกับปืนไรเฟิล ๔๐๐ กระบอก, ปืนพก ๒๐ กระบอก, และปืนกลอีก ๒ กระบอก. การบุกครั้งนี้นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเรียกว่า "เป็นปฏิบัติการที่มีการวางแผนอย่างดี" นั้น เริ่มด้วยการวางเพลิงโรงเรียน ๒๐ แห่งใน ๑๐ อำเภอในนราธิวาสในเวลา ตี ๑ ครึ่ง โรงเรียน ๕ หลังถูกเผาราบไปกับพื้นดิน ผู้ก่อการยังได้วางเพลิงป้อมยามตำรวจที่ไม่มีคนอยู่ด้วยอีก ๒ แห่ง ในจังหวัดยะลา

กลุ่มคนดังกล่าวได้เผายางรถยนต์บนถนนหลายสาย และมีการพบระเบิดปลอมถูกวางอยู่ในที่ต่างๆ ถึง ๗ จุดในจังหวัด ตำรวจสันนิษฐานว่าทั้งหมดนี้เป็นการสร้างสถานการณ์ เพื่อดึงความสนใจของเจ้าหน้าที่จากการบุกปล้นค่ายทหารในนราธิวาส ไม่ต้องสงสัยว่า การจู่โจม "๔ มกรา" นี้ทำให้รัฐบาลเสียหน้าอย่างมาก และทำให้นายกฯทักษิณ ชินวัตรหัวเสียอย่างหนักด้วย เขากล่าวตำหนิทหารที่ขาดความระมัดระวัง และถึงกับอารมณ์เสียด้วยการหลุดคำพูดออกมาว่า ทหารที่ถูกฆ่านั้นสมควรตายแล้ว "ถ้าคุณมีกองทหารทั้งกองพันอยู่ที่นั้น แต่คุณก็ยังไม่ระวังตัว ถ้าอย่างนั้นก็สมควรตาย"

(5) ภายหลังการบุกปล้นปืน รัฐบาลได้เร่งการควบคุมสถานการณ์เพื่อจะยุติความปั่นป่วน และการโจมตีอย่างลี้ลับของคนเหล่านั้น ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัด และส่งกองกำลังลงไปยังบริเวณนั้นมากขึ้น นอกจากนั้นฝ่ายตำรวจก็เพิ่มมาตรการแน่นหนาขึ้นในการจัดการกับผู้ต้องสงสัยที่เป็นคนมลายูมุสลิม ด้วยการใช้กลยุทธที่หนักข้อขึ้นกับคนเหล่านั้น  วิธีการหนึ่งก็คือการอุ้มผู้ต้องสงสัยและทำให้พวกนั้นหายไป ตำรวจจะมายังบ้านและบอกผู้ต้องสงสัยให้ตามไปที่สถานีตำรวจเพื่อทำการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจมักมาเรียกตัวชาวบ้านไปโดยไม่มีหมายจับ แต่ชาวบ้านก็ไม่มีทางขัดขืนตำรวจได้ หลายวันผ่านไปก่อนที่ลูกเมียของผู้ต้องสงสัยเริ่มสงสัยว่า มีอะไรไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า "ถ้าผู้ต้องสงสัยถูกอุ้มไปโดยทหาร โอกาสรอดกลับมาบ้านยังมี แต่ถ้าหากเขาถูกตำรวจอุ้มไป โอกาสรอดกลับมาไม่มี"

(6) ในช่วงหลายเดือนก่อนถึงเหตุการณ์วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ มีรายงานจำนวนมาก ทั้งจากคนในพื้นที่และในหนังสือพิมพ์ ว่าชาวบ้านมลายูมุสลิมในบริเวณนั้นอาจถึง ๒๐๐ คน ถูกอุ้มหายไปโดยตำรวจท้องถิ่นและทหาร แต่ข่าวการถูกอุ้มของชาวบ้านในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร มันจมอยู่ในรายงานข่าวความไม่สงบที่นับวันเพิ่มมากขึ้น ที่เรียกว่า "ฆ่ารายวัน" จนไม่มีความหมายอะไร รัฐบาลเชื่อว่าการฆ่ารายวันเป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

หลังกรณี "๔ มกรา" การฆ่ารายวันและความรุนแรงที่ตอบโต้โดยกำลังของรัฐในภาคใต้สุด ได้ขยายเป้าหมายคลุมไปถึงชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ด้วย นอกเหนือไปจากกำลังฝ่ายความมั่นคงหรือเจ้าหน้าที่ทางการ เหตุการณ์ที่ประชาชนสะเทือนใจและน่าตระหนกมากที่สุดได้แก่ การฆ่าพระและการมุ่งโจมตีทำลายวัด

ต่อมาในเวลาเช้ามืดของวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ กลุ่มมุสลิมกล้าตายกว่าร้อยคนบุกเข้าโจมตีสถานีตำรวจ ที่ทำการของรัฐและป้อมยาม ๑๒ จุด ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี, ยะลา, และสงขลา (น่าสังเกตว่าไม่มีปฏิบัติการในจังหวัดนราธิวาสในเช้าวันนั้น ทั้งๆ ในอดีตนราธิวาสเป็นจุดของการปะทะขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐมากสุด) กลุ่มผู้ก่อการมีอาวุธเช่นมีดขวานและปืนนิดหน่อย กระทั่งนำไปสู่การยึดมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เป็นฐานที่มั่นสุดท้าย ก่อนถูกกองกำลังทหาร และตำรวจ และอื่น ๆ ที่ลงมาประจำเตรียมรับมือความรุนแรงในพื้นที่เหล่านั้นตอบโต้ และปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างเต็มที่. ฝ่ายกลุ่มมุสลิมเสียชีวิตไป ๑๐๗ คน

โดยเฉพาะที่มัสยิดกรือเซะตายไป ๓๒ คน อายุเฉลี่ย ๓๐ ปี ในบรรดาผู้เสียชีวิตในจุดอื่นมีกลุ่มเยาวชนที่ยังเป็นนักเรียนระดับมัธยมในอำเภอสะบ้าย้อยถึง ๑๐ กว่าคน. ที่มัสยิดกรือเซะเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเสียชีวิต ๓ นาย และบาดเจ็บสาหัส ๘ นาย ฝ่ายผู้ก่อการไม่มีผู้บาดเจ็บเลย

แม้คำชี้แจงของทางรัฐบาลกล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องการเมือง นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่าการโจมตีเหล่านั้นเป็นฝีมือของพวกติดยาเสพย์ติด แต่ความหมายของกรณี ๒๘ เมษา ไม่ได้เงียบหายไป. ทันทีภายหลังการสังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาอธิบายและย้ำถึงความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ "การกบฏวันที่ ๒๘ เมษายน" ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งชาวบ้านมลายูมุสลิมเรียกว่า Perang หรือ Kebangkitan Dusun Nyior หรือสงครามหรือการลุกขึ้นสู้ของดุซงญอ ในขณะที่ทางการไทยและวาทกรรมไทยเรียกเหตุการณ์นั้นว่า "กบฏดุซงญอ" (7)

๗) กบฏดุซงยอในวาทกรรมประวัติศาสตร์ทางการไทย

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏดุซงญอ" ก็มีฐานะและชะตากรรมคล้ายๆ กับบรรดากบฏชาวนาทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา คือเป็นเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างและทำให้เป็นความทรงจำของสังคมต่อมาโดยรัฐและอำนาจรัฐสยามไทย เนื้อเรื่องจะดำเนินไปเหมือนๆ กันทำนองนี้ วันดีคืนดีก็มีกลุ่มชาวบ้านผู้หลงผิด พากันจับอาวุธแล้วลุกฮือขึ้นต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่และข้าราชการของรัฐไทย ชาวบ้านพวกนั้นมักเป็น "คนชายขอบ" หรืออีกศัพท์เรียกว่า "คนกลุ่มน้อย" ของรัฐและสังคมไทย ที่น่าสนใจคือในกระบวนการทำให้เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของสังคมนั้น คนเหล่านั้นก็จะถูกทำให้กลายเป็น "ผู้หลงผิด" และ เป็น "ผู้ร้าย"ในประวัติศาสตร์ไทยไป

กล่าวได้ว่านับจากปีพ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นต้นมา เหตุการณ์ในอดีตของกรณี "กบฏดุซงญอ" ตกอยู่ในสภาพ และฐานะของ "ผู้ร้าย" มานับแต่เกิดเหตุการณ์นั้นมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดในวันที่   ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ทำให้เสียงและความทรงจำไปถึงหลักฐานข้อมูลที่เป็นของชาวบ้านเหล่านั้นถูกเปิดเผยออกมาอย่างกว้างขวางมากที่สุดในพื้นที่สาธารณะของสังคม ที่ผ่านมาการบรรยายและอธิบายเหตุการณ์ที่ทางการเรียกว่า "กบฏดุซงยอ" ดำเนินไปบนกรอบโครงหรือพล๊อตเรื่องของการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน

เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถูกจัดวางไว้ต่อจากการจับกุม   ฮัจญีสุหลง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ดังตัวอย่างงานเขียนนี้จากหนังสือเรื่อง ไทยมุสลิม โดย ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ (แพร่พิทยา, ๒๕๑๙) ซึ่งเล่าว่า "นับแต่ได้มีการจับกุมนายหะยีสุหรง กับพรรคพวก เมื่อเดือนมกราคม ๒๔๙๐(ที่ถูกคือ ๒๔๙๑-ผู้เขียน) ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะจับกลุ่มมั่วสุมกัน ส่อไปในทางก่อการร้ายขึ้น ทางการได้พยายามติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวตลอดมา บรรดาผู้ที่หวาดระแวงซึ่งเกรงว่าจะถูกจับกุมก็หลบหนีออกนอกประเทศไป คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีก็ได้ยุบเลิกไป ขณะเดียวกันพรรคการเมืองของมลายูบางพรรค ตลอดจนหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงข่าวยุยงปลุกปั่นสนับสนุนเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลเพื่อที่จะแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปรวมกับมลายูให้ได้

ต่อมาในเดือนมกราคม ๒๔๙๑ สถานการณ์ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ทางรัฐบาลจึงได้ส่งกำลังตำรวจไปรักษาความสงบเพิ่มเติมไว้ที่จังหวัดนราธิวาส ในปีเดียวกันนั้นเอง คือเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ ได้เกิดกบฏขึ้นที่บ้านดุซงญอ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายหะยี ติงงาแม หรือมะติงงา ตั้งตนเป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวก เข้าปะทะยิงต่อสู้กับฝ่ายตำรวจ. การปะทะได้ดำเนินไปเป็นเวลานานถึง ๓๖ ชั่วโมง เหตุการณ์จึงได้สงบลง

หลังจากนั้นได้ทำการจับกุมนายหะมะ กำนันตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ และนายมุสตาฟา ในข้อหากบฎ ส่วนนายมะติงงาหลบหนีไปได้ ต่อมาประมาณปี ๒๔๙๗ จึงทำการจับกุมตัวได้ และถูกส่งไปคุมขังไว้ที่จังหวัดนราธิวาสได้ประมาณปีเศษ ก็หลบหนีจากที่คุมขังไปร่วมกับโจรจีนคอมมิวนิสต์จนถึงปัจจุบัน"(หน้า ๒๖๓-๒๖๔) น่าเสียใจที่เชิงอรรถของหลักฐานข้อมูลและการตีความ"กบฎดุซงยอ" นี้ ผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ไม่ทราบที่เกิดความผิดพลาด ไม่ได้ตีพิมพ์รายละเอียดของเชิงอรรถ มีแต่เลขเชิงอรรถที่ ๑๗ แต่ไม่มีชื่อเอกสารหนังสือหรือที่มาของข้อมูลดังกล่าว หลังจากจบย่อหน้าสุดท้ายของคำบรรยาย หากจะคาดคะเนโดยดูจากเอกสารและหนังสือที่ผู้เขียนนำมาใช้อ้างอิง ในการเขียนบทว่าด้วย "การวางแผนแบ่งแยกดินแดนในสมัยเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒" จากหน้า ๒๕๘-๒๖๖ ก็มีมาจากหนังสือจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เอกสารชั้นต้นเลยสักชิ้นเดียว ดังต่อไปนี้

พ.ต.ท. ลิมพิช สัจจพันธ์, ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสี่จังหวัดภาคใต้, (เอกสารโรเนียว)
พ.ต.อ. วิชัย วิชัยธนพัฒน์, ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา, กองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดนเขต ๙, ๒๕๑๖)
พ.ต.อ. กัมปนาท จินตวิโรจน์, ขบวนการโจรแยกดินแดนภาคใต้, (กรุงเทพฯ, โพธิ์สามต้นการพิมพ์, ๒๕๑๗)

พรรณนาความของเหตุการณ์ "กบฎดุซงยอ" จึงเป็นความจริงตามทรรศนะและความเชื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอาศัยเอกสารรายงานและคำสอบสวนผู้ต้องหาโดยวิธีการและสมมติฐานของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเกณฑ์ ดังนั้นวิธีการเขียนและผูกเรื่องจึงเหมือนวิธีการของพงศาวดารอย่างหนึ่ง คือผลของเรื่องเป็นตรรกและแนวในการสร้างเรื่อง ในกรณีนี้คือชาวมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งจะต้องสร้างความไม่สงบให้เกิดขึ้นในภาคใต้สุด

นั่นคือ "สถานการณ์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ" เมื่อมีน้ำหนักของเหตุที่จะเกิดความไม่สงบแล้ว ก็ทำให้ "ทางรัฐบาลจึงได้ส่งกำลังตำรวจไปรักษาความสงบเพิ่มเติมไว้ที่จังหวัดนราธิวาส"  ที่น่าสงสัยคือ ทำไมทางการจึงส่งกำลังตำรวจไปเพิ่มเติมเฉพาะที่นราธิวาสแห่งเดียวเท่านั้น ราวกับจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่นราธิวาส ทั้งๆ ที่ฮัจญีสุหลงถูกจับที่ปัตตานี และกลุ่มผู้นำมุสลิมที่นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็อยู่ที่ปัตตานีเป็นส่วนใหญ่ แต่ทางการกลับส่งกำลังตำรวจเพิ่มไปที่นราธิวาสตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งก็ไล่ๆ กับเวลาที่ทางการจับกุมฮัจญีสุหลง

น้ำหนักของการวางความไม่น่าไว้วางใจที่นราธิวาสแต่เนิ่นๆ นั้น ทำให้ข้อสรุปของทางการว่า การเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนนั้นดำเนินไปในหลายจังหวัด และโดยหลายกลุ่มมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น หากอ่านและตีความตามคำบรรยายข้างต้นนี้ แสดงว่ากบฏดุซงยอไม่ได้เกิดเพราะเป็นปฏิกิริยาต่อการจับกุมฮัจญีสุหลง หากจริงๆ แล้วเป็นการก่อกบฏโดยความตั้งใจมาก่อนแล้วของคนมุสลิม ทำให้การโยนความผิดหรือความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยในการจับกุมฮัจญีสุหลงว่า นำไปสู่ความวุ่นวายและการตอบโต้ของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ก็ลดน้ำหนักและไม่เป็นจริงไป

ต่อจากนั้นคือ การทำให้กบฏเป็นเรื่องจริงที่มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ การพรรณนาของทางการก็อาศัยประวัติศาสตร์นิพนธ์กบฏชาวนาและกบฏผีบุญในอดีตมาใช้ นั่นคือ ทันใดนั้นใน "วันที่ 27 เมษายน ได้เกิดกบฏขึ้นที่บ้านดุซงญอโดยมีนายหะยี ติงงาแมหรือมะติงงา ตั้งตน    เป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวกเข้าปะทะยิงต่อสู้กับฝ่ายตำรวจ" การเกิดเหตุการณ์ในวันอันแน่นอน แสดงว่าฝ่ายกบฏได้วางแผนมาก่อนแล้วอย่างแน่ชัด จึงสามารถ "นำสมัครพรรคพวกเข้าปะทะ" ยิงฝ่ายตำรวจก่อน ไม่มีความบังเอิญหรือความประจวบกันข้าวของปัจจัยต่าง ๆ หากเป็นการกบฏ เรื่องทั้งหมดต้องแน่นอน ชัดเจน นั่นคือ การมีหัวหน้ากบฏ และมีวันเวลาของการลงมือ เรื่องทั้งหมดจึงไม่มีเนื้อที่ให้กับคำถามและความสงสัยอันใดสำหรับผู้อ่าน กลายเป็น "ความจริง" อีกอันหนึ่งไปในประวัติศาสตร์ชาติไทย 

ในบทความ "มองสถานการณ์ภาคใต้ผ่านแว่นกบฏชาวนา"(๒๕๔๗) นิธิ เอียวศรีวงศ์  วิเคราะห์ว่า "กรณีดุซงญอนั้นเป็น "กบฏชาวนา" ขนานแท้และดั้งเดิมทีเดียว โดยเริ่มจากชาวบ้านฝึกวิชาคงกระพันชาตรีเพื่อต่อสู้กับโจรจีนมลายู ซึ่งเคยปล้นเสบียงอาหารของชุมชนไป แต่เจ้าหน้าที่รัฐระแวงสงสัยและตรวจตราเข้มงวดมากขึ้น ชาวบ้านไม่พอใจจึงเกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น (ดูรายงานของธนวัฒน์ แซ่อุ่น ในมติชน, ๕ พ.ค. ๒๕๔๗ ซึ่งแม้รายละเอียดจะแตกต่างจากงานของนักวิชาการ แต่เนื้อหาหลักก็ลงรอยกัน) เพื่อขับไล่อำนาจรัฐมิให้เข้ามาแทรกแซงในชุมชนมากเกินไป หาได้มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนประการหนึ่งประการใดไม่ 

(8) ในขณะที่ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มองกลับไปยังกบฏดุซงญอว่า "ตามประวัติศาสตร์แล้ว กรณีกบฏดุซงญอเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับชาวบ้านมลายูมุสลิมที่ดุซงญอ จ.นราธิวาส และเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งสมัยนั้นมีกรณีความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ และมีการต่อสู้กันแล้วแต่ยังมีข้อถกเถียงในสรุปตัวเลขคนตาย แต่อย่างน้อยประมาณ ๔๐๐ คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๔๐ คน ซึ่งคนไทยรู้จักกันในนามของกบฏดุซงญอ แต่นักประวัติศาสตร์มลายูมุสลิม หรือมาเลเซียเรียกว่า เคบังอีตัน แปลว่า การลุกขึ้นสู้ 

(9) "กบฏดุซงญอ" เป็นตัวอย่างอันดีของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ว่าไม่มีเหตุการณ์ใดที่เกิดและเป็นเรื่องเป็นราวของมันเองโดดๆ หากแต่มันจะต้องเกี่ยวพันผูกโยงกับเหตุการณ์อื่นๆ อีกมากมาย นี่เองที่ทำให้ความหมายคลาสสิคดั้งเดิมของคำว่า "historian" ซึ่งเฮโรโดตัสเป็นผู้ริเริ่มใช้ จึงหมายถึงการสืบสวนหรือเจาะหาเข้าไปถึงเรื่องราวในอดีต

นอกจากการจัดการกับหลักฐานข้อมูลหลากหลายแล้ว เวลาที่ผ่านไปก็ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถสร้างและทำความเข้าใจความนึกคิดของอดีตในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาได้บ้าง นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "บริบท" ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นหนึ่งในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์  ในด้านของการนำเสนอ ถ้าจะใช้ศัพท์แบบการเขียนนิยาย ก็คือในแต่ละเหตุการณ์จะมีพล๊อตเรื่อง มีทั้งพล๊อตเรื่องหลักและรอง การจะเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ จำเป็นจะต้องรู้ถึงพล๊อตเรื่องทั้งหมดด้วย จึงจะทำให้สามารถวินิจฉัยเรื่องราวนั้นๆ ได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด และจึงจะบรรลุการเกิดความเข้าใจในเหตุการณ์นั้นๆ ได้อย่างดีมากที่สุดด้วย

ท้องเรื่องใหญ่ของกรณี "กบฏดุซงญอ" นั้นอยู่ในเรื่องการเคลื่อนไหวเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และสิทธิของประชาชนชาวมลายูมุสลิมใน ๔ จังหวัดภาคใต้สุด อันได้แก่ ปัตตานี,นราธิวาส, ยะลา(ในอดีตคืออาณาจักรปตานี), และสตูล ซึ่งดำเนินมายาวนาน แต่ในพล๊อตเรื่องนี้ เราจะจำกัดเพียงแค่การเคลื่อนไหวของประชาชนมลายูมุสลิม ในปัญหาการเมืองการปกครองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งแรก, ผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงรัฐบาลยุคเสรีไทยหลังสงครามโลก, กรณีรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ แล้วมาจบลงในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง, กินเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง ๒๔๙๑ ราวสิบปีหรือหนึ่งทศวรรษ

เนื้อหาสำคัญของเรื่องราวในตอนนั้น ไม่ยุ่งยากและลำบากต่อการเข้าใจมากนัก หากไม่เอาอคติและอัตวิสัยไปจับเสียก่อน ที่สำคัญคือความรู้สึกและความเชื่อในลัทธิชาตินิยมไทย ซึ่งขณะนั้นก็อยู่ในช่วงเวลาที่กำลังก่อรูป และสร้างฐานรากในสังคมและความคิดของสังคมไทยอยู่ ยังไม่ได้เป็นวิธีคิดและรับรู้ที่คนไทยทั่วไปรับมาเหมือนกันหมดดังเช่นปัจจุบัน หากพิจารณาจากพล๊อตเรื่องหลักแล้ว กรณีกบฏดุซงญอจะเป็นพล๊อตเรื่องรอง ในเรื่องหลักนั้นจะได้แก่เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏหะยีสุหลง"

๘) การเมืองกับประวัติศาสตร์

ความเกี่ยวพันและโยงใยกันอย่างแนบแน่นระหว่างประวัติศาสตร์ของ "กบฏหะยีสุหลง" กับ "กบฏดุซงญอ" มีส่วนอย่างมากต่อความรับรู้และเข้าใจของเราต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนมลายูมุสลิม จุดสำคัญที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้ตระหนักคือ มันมีสิ่งที่เรียกว่า ความแตกต่าง หลากหลาย และซับซ้อนแม้ในระหว่างชุมชนและขบวนการมุสลิมกันเอง สำหรับคนนอกโดยเฉพาะรัฐและหน่วยงานราชการทั้งหลาย บรรดาชุมชนมุสลิมในประเทศไทยถูกมองว่าเหมือนกันหมดและหยุดอยู่กับที่

ทรรศนะและการมองแบบด้านเดียวที่ผิดพลาดนี้ได้รับการตอกย้ำและทำให้ชัดเจนขึ้นโดยประวัติศาสตร์แบบกระแสหลักที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ ประวัติศาสตร์ที่อาศัยหลักฐานที่มีอยู่ และความสามารถและความเที่ยงธรรมของนักประวัติศาสตร์ในการบอกผู้อ่านในที่สุดว่าเรื่องราวที่เต็มนั้นคืออะไร ในกรณีของสองประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ ปัจจัยทางการเมืองระดับชาติที่มีผลต่อการรับรู้ความจริงของประวัติศาสตร์นั้น ได้แก่การเข้ามาพบกันของเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ ในปี ๒๔๙๑ ซึ่งมีผลกระทบต่อทิศทางของการเมืองและรัฐบาลไทยและรวมไปถึงมลายาที่ยังเป็นอาณานิคมอังกฤษขณะนั้นด้วย ในประเทศไทย เหตุการณ์สำคัญๆ ช่วงนั้นที่มีผลต่อการเมืองระดับชาติคือ การสิ้นพระชนม์อย่างลี้ลับของรัชกาลที่ ๘ ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๙ ตามมาด้วยการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ส่วนในมลายาซึ่งเพิ่งก่อตั้งสหพันธรัฐมลายาภายใต้การปกครองของอังกฤษ คือการประกาศภาวะฉุกเฉินในปี ๒๔๙๑ โดยอ้างว่าพรรคคอมมิวนิสต์มลายากำลังจะก่อการลุกฮือ

ในทศวรรษปีพ.ศ. ๒๔๘๐ กล่าวได้ว่า ฮัจญีสุหลงคือผู้นำประชาชนมุสลิมภาคใต้ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ที่คนมุสลิมภาคใต้เคารพนับถือมากในสมัยนั้น เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองของคนมลายูมุสลิมในบริเวณปัตตานี ทั้งยังเป็นผู้นำมุสลิมรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูงสำเร็จจากเมืองมักกะฮ์ จากนั้นกลับมาฟื้นฟูการศึกษาอิสลามในปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง จนกระทั่งเข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนมุสลิม โดยเฉพาะการนำการต่อสู้ประท้วงนโยบายเชื้อชาตินิยมของรัฐไทย และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ราชการ จนกระทั่งเขาถูกจับกุมในปี ๒๔๙๑ ถูกพิพากษาลงโทษ จนได้รับการปลดปล่อยกลับมาในปี ๒๔๙๗ ก่อนที่จะถูกฆาตกรรมอย่างลึกลับในที่สุด. ในประวัติศาสตร์การเมืองฉบับทางการ การเล่าเรื่องเหตุการณ์ในช่วงนั้น ระบุว่าฮัจญีสุหลงคือหัวหน้าของการกบฏทั้งหลายในภาคใต้รวมทั้ง การลุกฮือที่ดุซงญอด้วย

ในทศวรรษปี ๒๕๑๐ ความรับรู้เรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ" ได้เลือนไปจนกระทั่งหาสาเหตุและรูปร่างของความขัดแย้งเหล่านั้นไม่ได้อีกแล้ว โดยเฉพาะการเริ่มการเจรจาระหว่างผู้นำมุสลิมกับรัฐบาลไทยสมัยนั้น ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายรัฐบาลไทยกลับสร้างเนื้อเรื่องที่วางอยู่บนการลุกฮือก่อกบฏ และในที่สุดนำไปสู่การเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้นในบริเวณดังกล่าว ทั้งหมดเป็นความผิดของฝ่ายมลายูมุสลิมเองที่ลุกฮือขึ้นประท้วงต่อต้านกระทำการรุนแรงต่อรัฐไทยเอง ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลไทยจึงต้องทำการควบคุมความสงบด้วยการใช้กำลังปราบปราม การใช้กำลังของรัฐจึงเป็นความชอบธรรมมาแต่ต้น 

การปราบการกบฏเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่รัฐบาลจะได้ทำการปกครองดินแดนดังกล่าวได้อีกต่อไป วาทกรรมประวัติการเมืองดังกล่าว จึงอธิบายปัญหาและเรื่องราวความไม่สงบในขณะนั้นได้อย่างชัดเจนและสมเหตุสมผล เพื่อบรรลุเป้าหมายของวาทกรรมนี้, ฮัจญีสุหลงจึงต้องถูกทำให้เป็นหัวหน้าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และกิจกรรมที่ร้ายแรงที่สุดคือ การทำการแบ่งแยกดินแดนเหล่านั้นออกจากรัฐไทย ในขณะที่ "กบฏดุซงญอ" ก็กลายเป็นพล๊อตเรื่องรองของ "กบฏหะยีสุหลง" ไป ด้วยวาทกรรมและการปฏิบัติทางการเมืองบนพื้นฐานดังกล่าวนี้เอง ที่บริเวณสามจังหวัดภาคใต้กลับสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง

ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (ตอนที่3)
ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (ตอนที่3)
โดย ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


๙)  ฮัจญีสุหลงกับขบวนการชาตินิยมมลายู


ฮัจญีสุหลงเกิดในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ในหมู่บ้านกำปงอาเนาะรู มณฑลปัตตานี บิดาชื่อฮัจญีอับดุลกาเดร์ บิน มูฮัมหมัด หลานปู่ของฮัจญีไซนับ อาบีดิน บิน อาหมัด หรือ "ตวนมีนาล" ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราศาสนาที่ชื่อว่า "กัชฟ์ อัล-ลีซาม" และ "อากีดัต อัลนายีน" อันเป็นตำราศาสนามีชื่อเสียง (1) เขาเริ่มต้นศึกษาในโรงเรียนปอเนาะ อายุได้ ๑๒ ปี บิดาส่งไปเรียนวิชาการศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์ ปัจจุบันอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยได้เข้าศึกษากับครูที่มีชื่อเสียงและเป็นนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามในนครมักกะห์ หะยีสุหลงศึกษาภาษาอาหรับ คัมภีร์และตำราอย่างแตกฉาน จนเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นเดียวกันและรุ่นหลัง ได้รับการขอให้เปิดสำนักสอนศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์จนมีชื่อเสียง มีศิษย์เป็นจำนวนมากจากภูมิภาคต่างๆ ของโลก

เหตุที่ทำให้ฮัจญีสุหลงตัดสินใจเดินทางกลับ ปัตตานีเพราะความตายของบุตรชายคนแรก เมื่ออายุได้   ปีเศษ ๆ การเดินทางกลับครั้งนั้น เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของฮัจญีสุหลงอย่างที่เขาเอง ก็คงคาดไม่ถึงปัตตานีและสังคมมุสลิมภาคใต้ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ในสายตาใหม่ของฮัจญีสุหลง ยังคงสภาพเหมือนสังคมอาหรับ ในยุคที่ศาสนาอิสลามเพิ่งเผยแพร่ คือเป็นสังคมที่ล้าหลังและคนมุสลิมยังมีความเชื่อในไสยศาสตร์ และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นอื่น ๆ อีกมาก สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ ฮัจญีสุหลงตัดสินใจปักหลักที่นี่ แทนที่จะเดินทางกลับไปมักกะห์ตามความตั้งใจเดิม ได้ทิ้งบ้านช่อง ทรัพย์สินและตำราศาสนามากมายไว้ที่นั้น "ด้วยความสำนึกในหน้าที่ของมุสลิมที่ดี ที่จะต้องเผยแพร่ศาสนาอิสลามให้ถูกต้องตามโองการของอัลเลาะฮ์" 

ฮัจญีสุหลงเริ่มการเป็นโต๊ะครู  โดยเปิดปอเนาะที่ปัตตานี เพื่อสอนหลักศาสนาแบบใหม่ ลบล้างความเชื่อผิด ๆ โรงเรียนของเขามีชื่อว่า มัดราซะห์ อัล-มาอารีฟ อัล-วาตานียะห์ เป็นโรงเรียนศาสนาที่มีรูปแบบใหม่ มีการวัดความรู้และใช้ระบบมีชั้นเรียน มีการฝึกภาคสนามแก่นักเรียนทุกเช้า จุดหมายของโรงเรียนแบบใหม่จึงมีมากกว่าการสอนศาสนา หากแต่น่าจะมีวิสัยทัศน์สมัยใหม่ด้วย นั่นคือการมองถึงสังคมและกว้างกว่านั้นถึงประเทศชาติ ดังที่โรงเรียนมีคำว่า "อัล-วาตานียะห์" ซึ่งมีความหมายว่า "แห่งชาติ" ที่ป้ายชื่อโรงเรียนด้วย เขาเดินทางเทศนาไปยังที่ต่าง ๆ ในมณฑลปัตตานี

การเผยแพร่ความคิดใหม่    ของเขา ลบล้างความเชื่อเดิมที่ผิด ๆ และที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม การกระทำดังกล่าวถูก    ตอบโต้ จากโต๊ะครูหัวเก่าตามปอเนาะต่าง ๆ จนมีผู้รายงานการเคลื่อนไหวของหะยีสุหลงต่อข้าหลวงมณฑลว่า เขาจะเป็น "ผู้ก่อความไม่สงบและจะทำให้ราษฎรก่อตัวเป็นภัยต่อแผ่นดิน" เขาถูกเรียกตัวไปสอบสวนแต่ปล่อยตัวไปเพราะไม่มีหลักฐาน

การเผยแพร่ศาสนาอิสลามของฮัจญีสุหลงประสพความสำเร็จอย่างมาก ชาวบ้าน สนับสนุนให้เปิดโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแทนการสอนในปอเนาะที่ทำกันอยู่ โรงเรียนสร้างด้วยเงินบริจาคและร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในการสร้าง แต่ความไม่วางใจและหวาดระแวงของกลุ่มปกครองต่อพฤติกรรมและบุคลิกผู้นำของ ฮัจญีสุหลง ทำให้เกิดข้อพิพาทขัดแย้งกับกลุ่มผู้นำท้องถิ่น คือพระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะหริ่ง และพระพิพิธภักดี นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีบุตรชาย ในเรื่องการสร้างโรงเรียน

ข้อพิพาทนี้ทำให้ฮัจญีสุหลง เกิดกินแหนงแคลงใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีขณะนั้นคือ พระวิเทศปัตตนาทร (แจ้ง สุวรรณจินดา) เพราะไม่เป็นกลาง ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัตนภักดี เป็นผู้ว่าฯคนสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์. เมื่อคณะราษฎรปฏิวัติสยาม ได้ปลดพระยารัตนภักดีออก เนื่องจากเป็นฝ่ายคณะเจ้า คนนี้มีความสำคัญเพราะจะกลับมามีบทบาทอันมีผลด้านลบอย่างแรงต่อการจับกุมฮัจญีสุหลงในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์  โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่ฮัจญีสุหลงดำเนินการก่อสร้างกับราษฎรมาเสร็จสมบูรณ์ และ เปิดใช้อย่างเป็นทางการก็ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เรียบร้อยแล้ว โดยที่พระยาพหลฯ เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้บริจาคเงินช่วยการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ทั้งยังเดินทางไปร่วมในวันทำพิธีเปิดโรงเรียนอีกด้วย

โรงเรียนที่ฮัจญีสุหลงสร้างขึ้น กลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของคนมุสลิม ทำหน้าที่เหมือนมัสยิดแห่งหนึ่งไปด้วย จะมีคนมาทำละหมาด(นมาซ) ประจำวัน คนที่จำได้เล่าว่า "ทุกตอนเย็นจะมีชาวบ้านกลุ่มใหญ่เดินผ่านหน้าบ้านผมทุกวัน เสียงเกี๊ยะที่เดินผ่านหน้าบ้าน ผมดังกริ๊กๆๆ ลั่นไปหมด พวกนั้นเขาเดินไปทำละหมาดกันที่โรงเรียนของฮัจญีสุหลง….."  ภาพประทับใจและจินตนาการอันเกี่ยวกับบทบาทและความนิยมของฮัจญีสุหลงในสายตา และความรับรู้ของรัฐไทย น่าจะไม่ตรงกับความคิดและความตั้งใจของคนมุสลิมในท้องถิ่นเหล่านั้นเท่าไรนัก นอกจากไม่เข้าใจในความหมายทางศาสนาอิสลามและการปฏิบัติของคนมุสลิมเองแล้ว ปัจจัยที่ยิ่งไปเพิ่มช่องว่างระหว่างการเคลื่อนไหวมวลชนของมุสลิมภาคใต้กับรัฐไทย ได้แก่การก่อตัวและพัฒนาไปจนถึงจุดสุดยอดของความคิดว่าด้วยรัฐไทย ที่กำลังจะเดินไปบนหนทางของมหาอำนาจ ลัทธิชาตินิยมไทยภายใต้จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งจะเป็นกงจักรปีศาจที่ร่อนไปตัดคอผู้ที่ขวางหน้าอย่างไม่ปราณี

ประเด็นที่น่าสนใจในการก่อตัวและเติบใหญ่ของขบวนการมุสลิมหัวใหม่ในปัตตานี ไม่ใช่อยู่ที่การนำไปสู่การเรียกร้องทางการเมือง ที่สำคัญคือข้อเรียกร้อง ๗ ประการ ซึ่งมีเนื้อหาใหญ่ที่การทำให้สี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้มีการปกครองของตนเอง เพื่อทำให้หลักการปกครองอิสลามสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างแท้จริงเท่านั้น หากแต่จุดที่สำคัญไม่น้อยในด้านของพัฒนาการทางภูมิปัญญาของคนมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ ได้แก่ การเกิดแนวคิดและอุดมการณ์การเมืองสมัยใหม่ ที่วางอยู่บนหลักการอิสลาม

ในแง่นี้มองได้ว่า การเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลงกับคณะ เป็นผลพวงของการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กับการเกิดและเติบใหญ่ของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งชุมชนมุสลิมจะต้องพัฒนาและเปลี่ยนไปพร้อมกับรัฐสมัยใหม่นี้ด้วย ลัทธิอาณานิคมและความเป็นสมัยใหม่ที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ เข้ามาในสังคมมุสลิม ไม่ว่าจะในรูปแบบของรัฐประชาชาติ ระบบการศึกษาแบบใหม่ การเกิดขึ้นของสิ่งพิมพ์ทุนนิยม (print capitalism) ช่วยสร้างจินตนาการของชุมชนการเมืองใหม่ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นได้ (imagined community) มาจนถึงแนวคิดว่าด้วยสิทธิอัตวินิจฉัยของรัฐ (self-determination) และสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชน (human rights)

อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากลภายใต้องค์การสหประชาชาตินั้น กลุ่มที่ทำการต่อสู้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็คือกลุ่มคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้นี้เอง  ที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าว คือการจุดประกายให้กับการเกิดจิตสำนึก การตระหนักถึงอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน ซึ่งจำเป็นต้องการพื้นที่หรือเทศะ(space) อันใหม่ที่เอื้อต่อ การเติบใหญ่ของสำนึกทางการเมือง ดังนั้นการมองไปที่รัฐ ในฐานะที่เป็นพื้นที่และมีอำนาจอันเป็นเหตุเป็นผล ในการทำให้ปัจเจกชนสามารถก้าวไปสู่อุดมการณ์ของเขาแต่ละคนและในส่วนทั้งหมดได้ จึงกลายเป็นเป้าหมายของการเคลื่อนไหวเพื่อการไปบรรลุความเป็นอิสลามที่แท้จริงต่อไป

ประเด็นนี้จึงเรียกร้องให้เราหันกลับมาคิดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัฐไทยทั้งหมดด้วยว่า เราต้องให้น้ำหนักไปที่การเคลื่อนไหวและสำนึกของปัจเจกชนและกลุ่มชนในนท้องถิ่นต่าง ๆ หลากหลาย ใหญ่บ้างเล็กบ้างทั่วราชอาณาจักรไทยด้วยว่า ในระยะที่รัฐไทยส่วนกลางพยายามสร้างและทำให้สมาชิกส่วนอื่น ๆ ภายในเขตแดนตามแผนที่สมัยใหม่ ต้องคิดและจินตนาการถึงความเป็นชุมชนชาติใหม่ร่วมกันนั้น บรรดาคนและชุมชนโดยเฉพาะตามชายขอบและที่มีอัตลักษณ์พิเศษไปจากคนส่วนใหญ่นั้น ก็ควรมีสิทธิและความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนชาติใหม่นี้ด้วย ไม่ใช่ด้วยการถูกบังคับให้เชื่อและทำตามแต่ถ่ายเดียว นี่คือบทเรียนที่ในระยะต่อมาจะมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงของสังคมที่โลกาภิวัฒน์มากขึ้น ๆ

๑๐) การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของรัฐไทย และทรรศนะต่อคนมลายูมุสลิม ๒๔๗๕-๒๔๙๑

น่าสังเกตว่าในช่วงเวลา ๑๕ ปีจากปี พ.ศ. ๒๔๖๖ -๒๔๘๑ อันเป็นช่วงของสายัณห์สมัยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการก่อรูปขึ้นระบอบทหารภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นช่วงเวลาที่รัฐไทยอยู่ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองใหม่นั้น นโยบายและการปฏิบัติที่ปราบปรามและกดขี่กระทบกระทั่งคนมลายูมุสลิมในทางวัฒนธรรมและการเมือง แทบไม่มีหรือมีก็น้อยมาก

การปะทะลุกฮืออย่างรุนแรงครั้งสุดท้ายระหว่างคนมลายูมุสลิมในอาณาจักรปตานีกับกองกำลังรัฐสยามเกิดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๖๕ การกบฏปะทุขึ้นในหมู่บ้านน้ำทราย ในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อชาวบ้านปฏิเสธที่จะเสียภาษีและค่าเช่าที่ดินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ มูลเหตุของความไม่สงบนี้มาจากการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติการศึกษาภาคประถมบังคับในปี ๒๔๖๔ ตามกฎหมายนี้เด็กมลายูมุสลิมทุกคนที่ถึงเกณฑ์ต้องเข้าโรงเรียนประถมซึ่งก็คือโรงเรียนไทยนั่นเอง

ผลจากการ "กบฏ" ครั้งนี้ทำให้รัชกาลที่ ๖ (ครองราชย์ ๒๔๕๓-๖๘) จำต้องแก้ไขนโยบายเรื่องการศึกษา และการเก็บภาษีของคนมุสลิมในภาคใต้เสียใหม่ อันเป็นที่มาของการปรับนโยบายและท่าทีต่อมลายูมุสลิมในบริเวณภาคใต้ของกระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรก นักวิชาการมุสลิมกล่าวว่า "แสดงว่ารัฐบาลกรุงเทพฯ คงได้ตระหนักและรู้สึกถึงถึงการเกิดขึ้นของลัทธิชาตินิยมมลายู ในหมู่คนมลายูในรัฐตอนเหนือของมลายา และรวมถึงความตั้งใจของพวกเขาในการยื่นมือข้ามพรมแดนเข้าช่วยญาติพี่น้องของเขา"  การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อภาพลักษณ์และอุดมการณ์ของชาติไทยใหม่ กล่าวได้ว่าเริ่มก่อรูปขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม