วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อีกทีกับเรื่อง ปัตตานี


                ปัตตานี – ปาตานี – ตานี นั้นตามประวัติเท่าที่พอจะค้นหาจากประวัติศสตร์ ก็จะทราบว่า ดินแดนแห่งนี้ เป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนามาก่อน แต่ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นอิสลามในภายหลัง  แล้วก็มีคนที่จะเลือกมองปัตตานีจากจุดนี้ และก็ทึกทักอ้างว่า แต่เดิมนั้น ปัตตานีเป็นรัฐอิสลามที่มีความเจริญรุ่งเรือง ครั้งหนึ่งศูนย์กลางเคยอยู่บริเวณมัสยิดกรือเซะ เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ ว่ากันว่ามีชุมชนของชาติต่างๆ อยู่กันหนาแน่นจนมีคำเปรียบเปรยว่า “หลังคาต่อกันจนแมวเหยียบไม่ถึงพื้น” นั่นคือภาพความเจริญรุ่งเรืองหนึ่ง ในแต่ละยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง
              บริเวณที่หยิบยกมาพูดถึงกันมาก ๆ  ก็คือเมืองเก่า น่าจะอยู่แถบบ้านบานา (บานาแปลว่า เมือง) มีหลักฐานสิ่งก่อสร้างเก่าแก่อยู่มากครับ อย่างมัสยิดกรือเซะ (ที่ว่ากันว่าสร้างโดยชาวจีนที่ไปหลงรักลูกสาวเจ้าเมือง เปลี่ยนเข้ารับอิสลามและอาสาสร้างมัสยิดแต่สร้างไม่เสร็จ ตามประวัติจริงสร้างโดยช่างชาวอาหรับ มัสยิดและเมืองที่กรือเซะน่าจะถูกเผาสมัยที่ทัพไทยรวมกับเมืองนคร ยกไปตีและเผาบ้านเมืองทิ้ง ซึ่งก็เป็นบริบททางประวัติศาสตร์ สมัยนั้น ใครรบชนะ ก็เอาบ้านเอาเมืองไป เผาเมือง เผาศาสนสถาน เหมือน ๆ กับที่อยุธยาก็เคยโดน  ส่วนเรื่องตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นเรื่องเลอะเทอะ โกหกทั้งเพ) เป็นต้น
               ตำนานหนึ่งของการเข้ามาของอิสลามซึ่งเป็นที่แพร่หลายในชนชาวมลายูปัตตานีเล่าไว้ว่า เมื่อครั้งที่อิสลามเข้ามา ดินแดนนี้ยังเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนานำแสงสว่างและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ปัตตานี  ในสมัยนั้นยังไม่มีชาวมุสลิม  ปัจจุบันนี้ ประชาชนปัตตานีส่วนใหญ่ ก็คิดว่าตัวเองเป็นคนไทย (ในความหมายของ “ประเทศ”) ครับ และรักประเทศนี้ไม่น้อยกว่าคุณและผม เพียงแต่มีความแตกต่างเรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งเขาเรียกตัวเองว่าเป็นคน “นายู” หรือ มลายู 
             เมื่ออ้างว่าแถบนี้เคยเป็นดินแดนอิสลามมาก่อน เราจะเอาเกณฑ์หรือเงื่อนไขอะไรใช้แบ่งแยก ใช้เกณฑ์ “ความเป็นเจ้าของ” ในทางประวัติศาสตร์แล้วกันนะครับ น่าจะยอมรับกันได้ทั่ว เราจะย้อนไปว่าใครเป็นเจ้าของแล้วมาสรุปกัน ตามนี้นะครับ
  • ในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีการพบว่ามีการตั้งชุมชนโบราณอยู่แล้ว ตลอดทั่วคาบสมุทร มีหลักฐานเครื่องดินเผาตลอดต่อเนื่องมาถึงยุคสำริด และเข้าสู่ยุคที่ได้รับอิทธพลของศาสนาพราหมณ์ –ยุคนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของใคร แต่เป็นยุคที่ยังไม่มีศาสนาอิสลามเกิดขึ้นในโลก ซึ่งเรื่องนี้ชัดเจน คงไม่ต้องบอกว่า เดิม หรือถ้านับหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ปัตตานี คืออะไร ในอดีต
  • ในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๗ หรือปี พ.ศ. ๖๐๐ อาณาจักรลังกาสุกะเกิดขึ้นน่าจะอยู่บริเวณรัฐเคดะห์และ อ.ยะรัง ของปัตตานีปัจจุบัน เป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่สุดในแหลมมลายู รับเอาอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียมีทั้งศาสนาฮินดูและพุทธ มีการติดต่อค้าขายและเป็นที่พักของเรือสินค้าจากอินเดีย จีน และอาหรับ  ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ มีการส่งทูตไปเมืองจีน ยุคนี้เป็นฮินดูและพุทธ ซึ่งยืนยันได้อีกครั้งว่า เป็นยุคที่ อิสลาม ยังไม่ได้เกิดขึ้นในโลก
  • ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ รัฐลังกาสุกะเริ่มเสื่อมอำนาจและตกเป็นเมืองขึ้นของศรีวิชัย ชาวจีนชื่อ เจาจูกัว ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือชื่อ ชูฝันจิ ว่า เมืองลังกาสุกะเป็นเมืองหนึ่งใน ๑๕ เมืองที่เป็นเมืองขึ้นของสันโฟชิหรือศรีวิชัย  ยุคศรีวิชัยนั้นพุทธมีอิทธิพลสูงกว่าฮินดู ดังปรากฏสิ่งก่อสร้างหลายย่างที่ยังเป็นหลักฐานในปัจจุบัน และก็ยังไม่มีอิสลามเกิดขึ้นในโลกอีกเช่นกัน
  • และภายหลังลังกาสุกะตกเป็นของอาณาจักรมัชปาหิต ซึ่งเป็นอาณาจักรฮินดูแห่งสุดท้ายในหมู่เกาะมาเลย์
  • ปี พ.ศ. ๑๘๓๕ อาณาจักรสุโขทัยแผ่อำนาจเข้ามาครอบครองรัฐอโยธยา-สุพรรณภูมิและร่วมกับนครศรีธรรมราช ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของมัชฌปหิตออกไปจากแหลมมลายู ลังกาสุกะจึงอยู่ในการควบคุมของนครศรีธรรมราช –นครศรีธรรมราช (เชื่อว่า) ตั้งเมืองขึ้นใหม่หรือกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหลังยุคศรีวิชัยเสื่อม เป็นเมืองที่พื้นเดิมเป็นแบบพราหมณ์ ต่อมาในยุคของเจ้าศรีธรรมโศก มีการรับเอาอิทธิพลของพุทธสายลังกาเข้ามาเผยแผ่ ยุคนี้ลังกาสุกะยังไม่เป็นอิสลาม และแหลมมลายูยังไม่เป็นอิสลาม
  • พ.ศ. ๑๘๖๖ สุโขทัยหลังจากพ่อขุนรามคำแหงสิ้นลง พระบรมราชากษัตริย์แห่งรัฐอโยธยา(พระบรมชนกของพระเจ้าอู่ทอง) ปฏิเสธอำนาจของสุโขทัย และเข้ายึดครองนครศรีธรรมราชตลอดไปจนถึงหัวเมืองต่างๆ บนแหลมมลายู จนถึงเกาะสิงคโปร์ ส่งพระพนมวังนางสะเดียงทองปกครองเมืองนคร และพระพนมวังแต่งตั้งให้พระฤทธิเทวา (เจสุตตรา) ออกไปครองเมืองตานี (ชื่อเรียกตานีสมัยนั้น “โกตามหาลิฆัย” หรือ “ลังกาสุกะ”) ยุคนี้ ปัตตานี ก็ถูกเปลี่ยนมือจาก สุโขทัยมาเป็นอยุธยา
  • พ.ศ. ๒๐๑๒ – ๒๐๕๗ พญาอินทิราซึ่งเป็นเหลนปู่ของพระฤทธิเทวา ย้ายเมืองโกตามหาลิฆัย จากบ้านปราวันหรือปราแว อ.ยะรัง มาสร้างเมืองปัตตานีขึ้นใหม่ที่บริเวณสันทรายใกล้ปากน้ำปัตตานี แถบบ้านบานา ช่วงนี้ปัตตานี ก็ยังคงเป็นเมืองที่นับถือพุทธศาสนา
  • ในช่วงเดียวกัน เมืองมะละกาซึ่งเป็นเมืองเดียวที่ได้รับอิทธิพลของอิสลามในยุคนั้นอันเป็นผลจากการติดต่อค้าขายกับอาหรับ มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง  และเมื่อมะละกาเริ่มเขืมแข็งขึ้น ก็เริ่มทำการแข็งเมืองไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่อยุธยา ในสมัยนั้นตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงทรงส่งกองทัพไปตีมะละกาสองครั้งแต่ไม่สำเร็จ มะละกาส่งกองทัพเข้ายึดครองเมืองขึ้นของไทยจนหมด ได้แก่ ปาหัง ตรังกานู กลันตัน ไทรบุรี ลฯ ในขณะเดียวกัน มะละกาก็ทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาอิสลามไปด้วย ปัตตานีซึ่งเคยนับถือศาสนาพุทธมาก่อนก็ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม สุลต่าน มันสุร์ชาฮ์ กษัตริย์มะละกา หันมารับศาสนาอิสลามในรัชสมัยพญาอินทิราซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่านอิสมาเอลชาฮ์ กล่าวกันว่าในสมัยนี้ปัตตานีได้มีการทำลาย พระพุทธรูป เทวรูป โบราณสถานในเมืองโกตามหาลิฆัยจนหมดสิ้น   นี่เป็นหลักฐานชัดเจนว่า อิสลามได้แผ่ขยายเข้ามาในปัตตานี ช่วงพุทธศัตวรรษที่ 20 นี่เอง
  • ข้อมูลจากประวัติเมืองตานี ตรงนี้บ่งชี้ว่าเดิมปัตตานีไม่ได้นับถือผีสางนางไม้อย่างที่กล่าวอ้าง แต่เป็นเมืองที่ผู้คนแม้แต่เจ้าผู้ครองนครก็นับถือพระพุทธศาสนา
  • เหตุการณ์ต่อจากนั้น เมืองปัตตานี ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ เมื่อพม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระยาตานีศรีสุลต่าน ยกทัพมาช่วยอยุธยา ในฐานเมืองประเทศราช แต่กลับถือโอกาสเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และหลังจากนั้น ก็มีความพยายามตีกรุงศรีอยุธยาอีกหลายครั้ง ภายใต้เงื่อนไขต้องการเป็นอิสระจากอยุธยา อีกหลายครั้ง 
  • จนประทั้งในแผ่นดินสมเด็จพระนเศวร ทรงเห็นว่าปัตตานี พยายามจะแข็งเมือง และเป็นปัญหาเสมอ ๆ เวลาที่อยุธยาอ่อนแอ ปัตตานี จะฉวยโอกาศยกทัพมาตีอยุธยาอยู่เสมอ  สมเด็จพระนเรศวร จึงทรงโปรดให้ยกทัพไปตีเมืองปัตตานี แต่ไม่สำเร็จ ตลอดจนมาถึงสมัยสมัยพระเพทราชา และต่อเนื่องมาจนถึงเสียกรุงและสมัยกรุงธนบุรี ปัตตานี เลยถือตัวเองว่าตัวเองเป็นอิสระมาตลอด และอ้างว่า ปัตตานีเป็นเอกราช
  • กระทั่งสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกทัพหลวงลงมาปราบปรามพม่าที่มาตีหัวเมืองทางแหมมลายูจนเรียบร้อย และในปี พ.ศ.๒๓๒๘ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับที่เมืองสงขลา ให้ข้าหลวงเชิญกระแสรับสั่งออกไปยังหัวเมืองที่เหลือ คือ เมืองปัตตานี ไทรบุรี และเมืองตรังกานู ให้มายอมเป็นเมืองขึ้นเช่นเดิม แต่สุลต่านมูฮัมหมัดพระยาปัตตานีในขณะนั้นขัดขืน จึงมีรับสั่งให้พระยากลาโหมยกกองทัพไทยไปตีเมืองปัตตานีได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ ซึ่งในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการปราบปราม และยึดครองปัตตานีได้สำเร็จ  จากนั้นได้มีการกวาดต้อนครอบครัวและศาสตราวุธเป็นจำนวนมาก เทครัวมายังอยุธยา หลักบานสำคัญคือ ปืนใหญ่ แห่งเมืองปัตตานี  ๒ กระบอก หนึ่งในนั้น คือ “พญาตานี” ที่ปัจจุบัน ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม
               น่าจะเพียงพอ สำหรับคนที่เลือกอ้างประวัติศาสตร์ เฉพาะในช่วงที่ปัตตานีเป็นอิสลาม โดยเลือกที่จะมองปัตตานีในแค่ยุคที่ตนเองเลือกจะมองเท่านั้น  ผมแค่ฉายภาพในประวัติศาสตร์ให้ท่านได้เห็นเท่านั้นแหละครับ แต่สิ่งที่ผมกังวลสุด คือ ปัญหาไฟใต้ มีอะไรที่ทับซ้อนอยู่ และมือที่มองไม่เห็น มีคนบิดเบือนประวัติศาสตร์ มีคนชี้นำปลุกระดมเพื่อให้กลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนา หรือชนชา่ติ และลามปามไปจนถึงการแบ่งแยกดินแดน  ดังนั้นรัฐบาลและเรา คนไทยทุกคนใช้ความสุขุม อดทนและหนักแน่นให้มากในการแก้ปัญหา 
               เวลาไฟไหม้  คนเราจ้องแต่จะดับไฟ  มีใครมองไปถึงเชื้อไฟบ้างหรือปล่าว ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ครับ อย่ามัวไปคิดทฤษฏีใหม่อะไรให้ปวดหัว ไม่มีใครเป็นอัจริยะเกินพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอกครับ จะไปเพีัยนแผลงเป็น เข้าใจ เขาถึง อะไรก็เถอะ.............เลิกเมาหมัด......เลิกเมาหมอบ.......แล้วจะแก้ปัญหาไฟใต้ได้แน่นอน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม