วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย 2


เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เก่า มาสู่รัฐชาติใหม่ที่เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ลงตัวดีนัก

กลุ่มผู้นำการเมืองใหม่มาจากคณะราษฎร ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่(ไม่มีสตรีเลย) คนเหล่านั้นส่วนมากมาจากครอบครัวคนชั้นกลางในภาคกลาง และเข้าเรียนต่อในกรุงเทพฯ ในบรรดาสมาชิกคณะราษฎรรุ่นแรกนั้นมีสมาชิกเป็นมุสลิมด้วย ๔ คนที่มาจากแถวกรุงเทพฯ ภารกิจหลักของคณะราษฎรและรัฐบาลคือการสร้างระเบียบและความมั่นคงให้แก่ประเทศ และนำประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าตามนโยบายหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรในการยึดอำนาจการปกครอง

การเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ทำให้ความหวังในการเลือกตั้งของคนมลายูมุสลิมจางหายไปอย่างรวดเร็ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสี่จังหวัดภาคใต้ ยกเว้นสตูล ล้วนตกเป็นของผู้สมัครไทยพุทธหมด การเลือกตั้งในครั้งต่อไปในปี พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นความสำเร็จครั้งเดียวของผู้สมัครมุสลิมในปัตตานี ยะลา นราธิวาส ในขณะที่ผู้สมัครมุสลิมในสตูลและเป็นอดีต สส.กลับแพ้การเลือกตั้ง แต่การสำเร็จในการเลือกตั้งเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวสั้น ๆ เท่านั้นสำหรับคนมลายูมุสลิม หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นสู่อำนาจในปี ๒๔๘๑ รัฐบาลเริ่มดำเนินนโยบายชาตินิยม อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการการสร้างชาติของเขา การเลือกตั้งนับจากนั้นมาจากปี ๒๔๘๑ ถึง ๒๔๙๑ ชัยชนะตกเป็นของผู้สมัครไทยพุทธเสียเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นสตูลที่ยังสามารถรักษาเก้าอี้ของผู้แทนที่เป็นมุสลิมไว้ได้ตลอดสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม 

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของระบอบปกครองรัฐธรรมนูญก็ได้สร้างความหวังในระดับหนึ่งมาสู่คนมลายูมุสลิมภาคใต้ เป็นครั้งแรกที่เกิดมี "ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของชาติในหมู่คนมลายูมุสลิม" นอกจากนี้ ตนกูมะไฮยิดดิน บุตรชายคนสุดท้องของรายาปตานีเก่า ก็เดินทางกลับจากกลันตันมาพำนักในเมืองไทย แม้การเลือกตั้งไม่อาจให้ความพอใจอย่างเต็มที่แก่คนมลายูมุสลิมก็ตาม ทว่าอย่างน้อยก็ให้พื้นที่สาธารณะแก่พวกเขาในการพูดและแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกได้ ในทางกลับกันก็เกิดการต่อต้านแบบใช้กำลังจากคนมลายูมุสลิมน้อยลง

ดังนั้นช่วงเวลาดังกล่าวจึงถือได้ว่า เป็นช่วงเดียวที่บริเวณมุสลิมภาคใต้มีสันติสุขและความเป็นระเบียบค่อนข้างมาก แม้ว่าการปฏิบัติและกระทำอย่างไม่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจในแถบนั้นยังคงมีอยู่บ้างก็ตาม รัฐบาลสามารถพึ่งพาการทำงานของเจ้าหน้าที่ราชการในท้องถิ่นได้มากขึ้น ในการนำนโยบายและการบริหารไปยังชุมชนและท้องถิ่นเหล่านั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถลดความไม่พอใจและปัญหาของชาวบ้านลงได้ ด้วยการนำเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ไปเสนอให้กับรัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรงได้ทันที อย่างไรก็ตาม อำนาจในการแก้ไขและขจัดปัดเป่าปัญหาความทุกข์เหล่านั้นก็ยังอยู่กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงและในจังหวัด

จนเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติแล้ว เมื่อภาวะเศรษฐกิจขาดแคลนและความปลอดภัยในชีวิตของราษฎรไม่ค่อยมี ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นที่ความไม่พอใจและการร้องเรียนถึงการกระทำอันไม่เป็นธรรม การคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ นำไปสู่การขาดความมั่นใจและไว้ใจในรัฐบาลจากคนมลายูมุสลิม ตอนนั้นคนเหล่านั้นเชื่อว่า แม้ ส.ส.ผู้แทนของพวกเขา ก็ไม่อาจทำงานในฐานะของตัวแทนพวกเขาได้จริงๆ แล้ว  พัฒนาการที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นภายหลังการมีระบอบรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่งก็คือ การเกิดมีเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลมากขึ้น บรรดาเสียงเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านการพูดในที่ชุมชนและผ่านการพิมพ์ แต่ที่มีผลกระทบต่อรัฐมากได้แก่ การพูดในที่สาธารณะที่ใครก็ได้สามารถออกมาพูดได้ในที่ต่างๆ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่และไม่เป็นที่ยอมรับของเจ้าหน้าที่รัฐบาล หลายคนเป็นข้าราชการเก่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ถูกโค่นล้มไป โดยเฉพาะบรรดาผู้พิพากษา

สำหรับชาวมุสลิมการพูดในที่สาธารณะเป็นเรื่องปกติของการชุมนุมปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา เช่นเดียวกับการเรียนในโรงเรียนปอเนาะ ไม่เป็นที่สงสัยว่าความสามารถในการพูดเยี่ยงนักปาฐกถาของฮัจญีสุหลง ซึ่งเริ่มสร้างความวิตกให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย

          ในช่วงปลายทศวรรษ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้มีรายงานและข่าวลือเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของฮัจญีสุหลง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ปกครองต่างๆ ไม่แน่ใจในสถานะและบทบาทของฮัจญีสุหลงว่าทำอะไร และไม่แน่ใจด้วยว่า นัยทางการเมืองของบรรดาสานุศิษย์ของเขานั้นคืออะไร. มาตรการเพื่อความมั่นคงอันหนึ่งที่รัฐบาลคณะราษฎรใช้ในการสร้างความมั่นคงแก่รัฐบาล และระงับยับยั้งการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม (หรือฝ่ายค้านซึ่งสมัยนั้นไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการให้มีได้) จึงได้แก่การใช้บรรดาตำรวจลับและสายสืบ สายลับต่างๆ คอยติดตามนักการเมืองบางคน เพื่อให้รู้ว่าอยู่ในสายตาของรัฐจะได้ยุติการกระทำที่ไม่เป็นผลดีแก่รัฐเสีย ในกรณีของฮัจญีสุหลง มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำการติดตามรายงานลับๆ ในกิจกรรมและขบวนการต่างๆ ของเขา 


           ดังกล่าวบ้างแล้วข้างต้นว่าการแข่งขันและความขัดแย้งกันเอง ระหว่างคนมุสลิมด้วยกัน ก็มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำมุสลิมหัวเก่ากับหัวใหม่ คู่ขัดแย้งแรก ๆ ของฮัจญีสุหลงคนหนึ่ง คือตระกูลอับดุลลาบุตร ในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี. พระพิพิธภักดี (ตนกูมุดกา อับดุลลาบุตร)   ผู้เป็นนายอำเภอมาก่อน ได้รับการแต่งตั้งในระบอบปกครองใหม่ให้เป็นข้าหลวงของจังหวัดสตูล เมื่อเขาเข้าสมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี ๒๔๘๐ ในปัตตานี ฮัจญีสุหลงสนับสนุนผู้สมัครอีกคน คือ ขุนเจริญวรเวชช์ (เจริญ สืบแสง) สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นไทยพุทธและมีทรรศนะทางการเมืองที่ก้าวหน้ากว่า นั่นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นายเจริญ สืบแสงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตลอดมาจากปี พ.ศ.๒๔๘๑ ถึง พ.ศ.๒๔๙๑


อีกปัญหาหนึ่งของฮัจญีสุหลงที่ทำให้ทางการไทยไม่ไว้ใจเขา คือการที่เขามีการติดต่อกับตนกูมะไฮยิดดิน ผู้ซึ่งรัฐบาลไทยเชื่อว่าเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้สุดของไทย ภายใต้บรรยากาศระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และนักสู้เพื่อชาตินิยมลายูก็เคลื่อนไหวหนักในบรรดารัฐทางเหนือของมลายา จึงเป็นธรรมดาที่การเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่าง ๆ ของฮัจญีสุหลง มีการครอบคลุมสองฝั่งชายแดนไทยและมลายาด้วย 

หากได้อ่านรายงานลับของสายสืบไทยก็จะได้เรื่องตลก ๆ สนุก ๆ  มากมาย เพราะข้อมูลของพวกเขามาจากบรรดาสายที่เป็นคนมลายู เนื่องจากคำว่า "มลายู" ใช้ระบุถึงคนมลายูที่อยู่ในมลายาและในสี่จังหวัดภาคใต้ เมื่อได้ยินคนตระโกนด้วยภาษามลายูว่า "เมอเดกา" (เสรีภาพ) ในที่ประชุม เจ้าหน้าที่ซึ่งรับฟังข่าวก็เกิดความตระหนก ดังนั้นในรายงานของเจ้าหน้าที่ราชการที่มีไปถึงกรุงเทพฯ จึงสรุปสถานการณ์ขณะนั้นว่า มีความรู้สึกของการ "แบ่งแยกดินแดน" เพิ่มมากขึ้นในหมู่คนมลายูมุสลิมและอาจนำไปสู่การคิดกบฏได้ หากดูจากน้ำเสียงของรายงานลับที่มีไปถึงกรุงเทพฯ สมัยนั้น เห็นได้ชัดว่า ทรรศนะของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่มีต่อฮัจญีสุหลงและคนมุสลิมทั่วไป ถูกปกคลุมด้วยอคติที่มีต่อศาสนาและวัฒนธรรมอิสลาม หรือไม่ก็มาจากความเขลาต่อพัฒนาการทางการเมืองในมลายาขณะนั้น

การสืบความลับในการเคลื่อนไหวของชาวมุสลิมภาคใต้โดยทางการไทย เป็นรายงานจากข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค 5 ถึงข้าหลวงประจำจังหวัดชายแดนเช่นสตูล ยะลา เพื่อให้ระมัดระวังความเคลื่อนไหวแยกดินแดนของชาวมลายูมุสลิมจังหวัดสตูลและยะลา รายงานนี้ระบุว่า หัวหน้าใหญ่ชาวมลายูมุสลิมในการนี้คือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ มีการปลุกระดมชาวมุสลิมสองฝั่งไทยและมลายา ซึ่งขณะนั้นมุ่งไปที่การจัดตั้งสหพันธรัฐมลายา สายลับไทยที่นายอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ส่งให้ไปสอดแนมฟังคำปราศรัยและติดตามท่าทีของชาวมลายูมุสลิมฝั่งไทย รายงายว่า ในงานที่มีคนมาฟังนับหมื่นคนในรัฐไทรบุรี มีการปลุกใจชาวมลายูในไทรบุรี ด้วยข้อความพาดพิงโจมตีรัฐบาลไทยด้วยว่า  "...ชาติมลายูแต่เดิมเป็นชาติที่ขาดการศึกษาและผู้อุปการะช่วยเหลือ จึงถูกรัฐบาลไทยยึดเอาเมืองมะลายู เช่น จังหวัดสตูล ยะลา นราธิวาส และปัตตานีไปจากประเทศสยามเสีย การกระทำของประเทศสยามที่ยึดสี่จังหวัดไปนี้ กระทำไปโดยไร้ศีลธรรม โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยใช้วิธีล่อลวงพวกพระยาเมืองต่าง ๆ ไปหลอกฆ่าให้ตาย ประชาชนที่ไม่พอใจจึงอพยพไปอยู่กลันตัน เวลานี้เราควรจะระลึกว่าชาติของเราจะสูญสิ้นไปในปี 1950 (พ.ศ. 2493) ตามคำสั่งของพระอาหล่าเจ้า เพราะเวลานี้ชาวมะลายูเปลี่ยนแปลงไปเป็นชาติต่างศาสนาเสียแล้ว บัดนี้เราควรจะคิดกู้ชาติของเรา รวมเป็นชาติมะลายูขึ้น แล้วทำการต่อสู้ในทางศาสนาต่อไป เช่นครั้งโบราณพวกอิสลามได้ทำการต่อสู้กับพวกถือพุทธศาสนา ระยะนี้เราจำเป็นจะต้องทำการต่อสู้ให้จนตัวตายไปเช่นเดียวกับพระมะหะหมัด

เนื่องจากการประชุมนี้อยู่นอกแดนไทย จึงมีชาวมลายูมุสลิมฝั่งไทยไปร่วมเพียง 12 คนรวมทั้งคนที่เป็นสายลับ (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครแต่เดาว่าต้องเป็นคนมุสลิมด้วย) พอถึงการประชุมลับ สายลับไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมได้ นอกจากบรรดาหะยีทั้งหลาย จึงไม่อาจรายงานได้ว่าพูดเรื่องอะไรกันบ้าง แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "ผู้ฟังโอวาทมีจิตใจเบิกบานฮึกเหิมทั่วหน้ากัน" และทุกครั้งที่หัวหน้าการประชุมคือดะโต๊ะออน บิน จาฟฟา จบคำปราศรัยผู้ร่วมประชุมจะตะโกนคำขวัญว่า "มะลายูเป็นมะลายู" สามจบ

ผมคัดลอกรายงานของสายลับไทยมาให้ดูละเอียดเพราะต้องการให้เห็นว่า ที่มาของทรรศนะรัฐและข้าราชการไทยนั้น วางอยู่บนวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน ในอดีตปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวมลายูมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้กับรัฐไทย ถูกกระพือให้ลุกโชนยิ่งขึ้นด้วยอคติและความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจในวัฒนธรรมและความเชื่อแบบอิสลาม อีกฉบับหนึ่งเป็นรายงานของทางตำรวจไทยต่อรัฐบาล หลังจากที่เริ่มมีสำนึกของชาตินิยมมลายูเกิดขึ้น กล่าวคือ "...คนมะลายูที่ได้รับการศึกษาและเป็นเทือกเถาพระยาเมืองมาแต่ก่อน อันมีจำนวนไม่กี่คน หลังจากเสร็จสงครามคราวนี้ การพินอบพิเทาต่อคนไทยออกจะชาเย็นไปพร้อมกับมีท่าทีค่อนข้างมีหัวสูงขึ้น แต่พลเมืองนอก ๆ อันไร้ศึกษานั้น ก็ดูไม่ผิดไปจากนัยตา...ที่ร้ายกว่านี้คือ จำพวกหะยี ผู้สอนศาสนา พยายามที่ชักจูงใจไปในทางศาสนาซึ่งเป็นหนทางแยกพวก เข้ากับคนไทยไม่ได้ ศาสนานี้แหละเป็นการเมืองขั้นแรกของคนมะลายู…"

รายงานชิ้นหนึ่งสมัยนั้น (๒๔๘๘- ๙๐) พยายามสร้างภาพประทับให้กับการมีคนนับถือฮัจญีสุหลงอย่างมากในหมู่คนมุสลิมปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียงที่มีต่อฮัจญีสุหลงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ด้วยการรายงานอย่างมีสีสันดังนี้  "ปรากฏว่ามีผู้ศรัทธามากถึงขนาดก้มลงถอดรองเท้าและล้างเท้าให้กับหะยีสุหลง ก่อนที่จะเข้าไปในสุเหร่าหรือมัสยิดต่าง ๆ และมีสานุศิษย์คอยเดินกางกลดกันแดดให้ในขณะที่เดินทางไปชุมชนชาวมลายูในเขตสี่จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา" รายงานดังกล่าวสร้างความรู้สึกแก่คนภาคกลางว่า ฮัจญีสุหลงกำลังทำตนประหนึ่งราชา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักราชาชาตินิยมไทยไม่อาจรับได้ ในระยะยาวการวาดภาพด้านลบแบบนั้น กลับเป็นสิ่งดีแก่รัฐไทย เมื่อรัฐต้องการเสนอภาพของฮัจญีสุหลง ที่เป็นศัตรูของรัฐและสถาบันทั้งหลาย

๑๑) การสร้างชาติและนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม, พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๗

ยิ่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ เคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น ชะตากรรมของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ก็แน่ชัดมากขึ้นว่า จะต้องผูกพันเข้ากับความเป็นไปของรัฐบาลไทยมากเท่านั้น เป้าหมายของการสร้างรัฐประชาชาติที่เป็นเอกภาพใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด ก็ในเวลาที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ พร้อมทั้งการคุมกองทัพไว้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะภายหลังการจับกุมกลุ่มนายทหารอันมี พ.อ. พระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้าในคดี "กบฏ ๒๔๘๒"

ในช่วงนั้นกล่าวได้ว่า สำนึกทางการเมืองของคนในภาคต่าง ๆ จากเหนือ อีสาน ถึงใต้ มีมากขึ้น. ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะที่คนในประเทศ มองเห็นผู้นำการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในจังหวัดของตนเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ ดังเห็นได้จากบทบาทและการควบคุมรัฐบาลของบรรดา ส.ส.จากต่างจังหวัดโดยเฉพาะอีสาน การก่อตัวขึ้นของลัทธิทหารในญี่ปุ่นและภยันตรายของสงครามยุโรป ทำให้รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลญี่ปุ่นมากขึ้น ในความคิดของหลวงพิบูลสงครามและที่ปรึกษาของท่าน ประเทศไทยสามารถจะเป็นประเทศเข้มแข็งและทันสมัย ซึ่งก็คือศรีวิไลซ์ ได้ด้วยการเดินตามรอยของญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จจนกลายเป็น "แสงสว่างของเอเชีย"

หลังจากกำหนดจุดหมายของนโยบายในการสร้างชาติไว้แน่นอนแล้ว รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ก็เริ่มการรณรงค์ประชาชนภายใต้คำขวัญของลัทธิชาตินิยมไทย นั่นคือที่มาของนโยบายการผสมกลมกลืนแบบบังคับ ซึ่งไม่มีหรือมีก็น้อยมาก ในการอดทน และยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างอันเป็นเฉพาะของชนชาติกลุ่มน้อยและชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ได้อีกต่อไป. นโยบายการสร้างชาติของหลวงพิบูลสงครามพุ่งเป้าไปยังการปฏิรูปและสร้างสรรค์มิติทางวัฒนธรรมและสังคมด้านต่างๆ ของคนในประเทศเสียใหม่ นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

แม้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นลงไปก็ตาม แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลพยายามทำการเปลี่ยนแปลง และแทนที่ความคิดการปฏิบัติเก่า ๆ แบบศักดินาในหมู่ประชากรอย่างจริงจังมากที่สุด ด้วยการประกาศให้ประชาชนปฏิบัติและทำตนใหม่แบบสมัยนิยมและที่เป็นอารยะ ในคำปราศรัยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลาย พลตรีหลวงพิบูลสงครามกล่าวว่า"ในความพยายามที่จะสร้างชาติให้มีพื้นฐานอันมั่นคงและคงทนนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องทำการปฏิรูปและสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในด้านต่าง ๆ ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวัฒนธรรม ซึ่งแสดงออกถึงความเจริญเติบโตและความงดงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเจริญก้าวหน้าและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจริยธรรมของชาติ"

การเน้นถึงความสำคัญและการปรับปรุงทางวัฒนธรรมให้เข้มแข็งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นความต้องการส่วนตัวของจอมพล ป.พิบูลสงครามเอง อีกส่วนหนึ่งน่ามาจากอิทธิพลของญี่ปุ่นและความสำเร็จของประเทศนั้น ในการเปลี่ยนตนเองให้เป็นมหาอำนาจหนึ่งของเอเชียได้ คนที่เชื่อในการอาศัยวัฒนธรรมและมิติด้านจิตใจเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ และในการต่อสู้กับมหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายก็คือหลวงวิจิตรวาทการ (16) ผู้เป็นมันสมองคนสำคัญของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาโดยตลอด

การรณรงค์ทางวัฒนธรรมดังกล่าวเปิดโอกาสให้กับรัฐบาลสามารถนำสังคมไทยให้หลุดออกมาจากเครื่องรัดรึงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้บ้าง เมื่อภยันตรายจากสงครามโลกระหว่างมหาอำนาจเป็นจริงมากขึ้น ผู้นำรัฐบาลไทยถูกบังคับให้จำต้องเลือกข้าง ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ระหว่างฝ่ายอารยะและมีกำลังเข้มแข็งหรือตกเป็นทาสและอ่อนแอ เพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งและเป็นอารยะประเทศ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประเทศอารยะด้วยกันจะได้ไม่ตกเป็นเมืองขึ้น รัฐบาลจึงหาทางที่จะกำจัดบรรดา "ผู้คนที่ยังขัดสนในทางวัฒนธรรมและแสดงออกถึงความโง่เขลาในเรื่องสุขอนามัย สุขภาพ การแต่งกาย และการคิดอย่างมีเหตุผล"   ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในจุดหมายและสถานภาพของประเทศดังกล่าวนี้ รัฐบาลพิบูลสงครามจึงดำเนินการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วย วัฒนธรรมแห่งชาติ. มาตรการที่อ่อนไหวและมีผลกระเทือนต่อผู้คนกว้างไกลกว่าที่คิดไว้(หากได้คิดก่อน) ก็คือบรรดากฎหมายประกาศที่รู้จักกันดีในนามของพระราชบัญญัติ "รัฐนิยม" ทั้งหมดมี ๑๒ ประกาศ ให้ใช้ทั่วประเทศตั้งแต่มิถุนายน ๒๔๘๒-มกราคม ๒๔๘๕ รวม๑๒ ฉบับ 

ตั้งแต่การเรียกชื่อประเทศอันแรกว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็นไทย สัญชาติ การเคารพธงชาติ เพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ไปถึงภาษา การแต่งกาย ไปถึงการทำกิจประจำวันเป็นต้น ภายใต้นโยบายเหล่านี้ที่ความคิดว่าด้วยความเป็นไทยและลัทธิชาตินิยมบนเชื้อชาติไทยเป็นหลัก ได้ขยายออกมาเป็นนโยบายทางการที่เด่นชัดและเร้าใจอย่างยิ่ง

ความจริงทรรศนะในการมองว่า ชาติไทยที่เป็นรัฐชาติที่ปลอดจากพฤติกรรมล้าหลังแบบศักดินานิยมนั้น เป็นทรรศนะที่เอายุโรปเป็นศูนย์กลาง คนเชื้อชาติและภาษาต่างๆ ที่ไม่ใช่ไทยทั้งหลายต่างก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐนิยมด้วยกันทั้งนั้น แต่คนมลายูมุสลิมในทางใต้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด คำที่เคยเรียกเช่น "คนใต้" หรือ "คนอิสลามที่เป็นไทย" ไม่อาจแสดงถึงความเป็นไทยได้เต็มที่อีกต่อไป รัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์เริ่มการรณรงค์สร้างความเป็นไทยของทุกๆ ภาค โดยให้เน้นที่ความเป็นไทยเหนือกว่าลักษณะเฉพาะของภูมิภาค เช่นการเรียกคนภาคเหนือว่า "ถิ่นไทยงาม", คนอีสานว่า "ถิ่นไทยดี", น่าสังเกตว่าไม่มีวลีที่ใช้แทนคนและภาคใต้ในสมัยนั้นได้

ในกรณีของคนมุสลิมภาคใต้ คำที่มาแทนที่คือ "ไทยอิสลาม" ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงถึงความเป็นไทยของคนมลายูมุสลิม นัยของการเรียกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าทางการยอมรับความแตกต่างในศาสนา แต่ไม่เห็นด้วยว่าควรจะมีการให้ความสำคัญและลักษณะเด่นของความแตกต่างเหล่านั้นในหมู่พลเมืองที่เป็นคนไทยของประเทศไทย  ผลก็คือการที่รัฐต้องเข้ามาบังคับและควบคุมการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของพลเมืองตามวิสัยทัศน์ของรัฐ เช่นเดียวกับนโยบายชาตินิยมที่อื่น ๆ รัฐมักขุดและรื้อฟื้นความเก่าแก่ยิ่งใหญ่ของอดีตแต่กำเนิดของตนเอง (ซึ่งมักเป็นนิทานที่ไม่มีความเป็นจริงมากนัก) เพื่อเอามากล่อมเกลาและปลุกระดมคนในชาติให้เชื่อและตายในอุดมการณ์ใหญ่เดียวกัน.

ในกรณีนโยบายรัฐนิยม, รัฐบาลพิบูลได้สร้างผีตัวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ(เชื้อ) ชาตินิยมไทย แล้วบังคับให้ทุกคนในเมืองไทยปฏิบัติและแสดงออกให้พร้อมเพรียงกัน จะได้เป็น "วีรธรรม" ของชาติ ภายใต้ประกาศกฎหมายวัฒนธรรมเหล่านี้ มีการลงโทษและมีการเรียกร้องให้ประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่อย่างเคร่งครัด ในเรื่องการแต่งกาย มารยาท และความประพฤติอันเหมาะสมในวาระและสถานที่ต่างๆ เป็นต้น เช่น การเรียกร้องให้ผู้หญิงสวมหมวกและนุ่งกระโปรงแบบตะวันตก ห้ามกินหมากและพลู ให้รู้จักใช้ช้อนและส้อมในฐานะที่เป็นเครื่องมือการกินของชาติอย่างถูกต้อง  

ในขณะนั้น กล่าวได้ว่าด้านหลักของปัญหาความขัดแย้งนี้ ได้แก่นโยบายและการปฏิบัติด้านลบของรัฐไทยที่ได้กระทำต่อชุมชนและคนมุสลิมภาคใต้ ซึ่งก็เป็นมูลเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเรียกร้องความเป็นตัวของตัวเองในทางการปกครองด้วย. สมัยนั้นศัพท์การเมืองว่า "แบ่งแยกดินแดน" ยังไม่เกิด ในช่วงปี ๒๔๘๒-๒๔๙๐ ความไม่พอใจของชาวมุสลิมมาจากนโยบายสร้างชาติภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามมีอยู่อย่างมาก หัวใจของปัญหาอยู่ที่ลัทธิชาตินิยมไทย ที่รัฐบาลปลุกระดมให้คนทั้งชาติต้องทำตัวให้เป็นไทย จึงจะถือว่ารักชาติ

ภาพที่ปรากฏออกมาก็คือคนมุสลิมถูกห้ามไม่ให้สวมหมวกแบบอิสลาม ส่วนผู้หญิงก็ไม่ให้ใช้ผ้าคลุมหัว อันเป็นธรรมเนียมของคนมุสลิม ภาษามลายูก็ห้ามใช้ โสร่งก็ห้ามนุ่งสำหรับผู้ชาย แต่ให้นุ่งกางเกง สวมเสื้อเชิ้ร์ต ที่ตลกคือเครื่องแต่งกายที่เป็นไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นชุดฝรั่งในทศวรรษ ๑๙๔๐-๕๐ ทั้งสิ้น. จากการแต่งกายก็มาถึงการให้เปลี่ยนชื่อที่ไม่เป็นไทยเสีย ที่เป็นผลทางลบต่อรัฐบาลอย่างมากคือ มีการจับและปรับลงโทษผู้ฝ่าฝืนรัฐนิยม จึงมีการวิ่งไล่จับชาวบ้าน ทำร้ายทุบตีดึงตัวมาโรงพัก ผู้หญิงมลายูก็ถูกดึงกระชากผ้าคลุมหัวทิ้ง กระทั่ง "ผู้กลับมาจากเมกกะใหม่ๆ ใช้ผ้าสารบันไม่ได้ (คือผ้าพันศีรษะ พันไว้นอกหมวกกูเปี๊ยะห์ แสดงให้ทราบว่าเป็นฮัจญี) ที่นราธิวาส ตำรวจถอดออกจากหัวทำเป็นลูกตะกร้อเตะเสียเลย" แม่ค้าที่ขายของในตลาดก็โดนตำรวจตีด้วยพานท้ายปืน เพราะเธอสวมเสื้อกะบายาและมีผ้าคลุมศีรษะ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อคนมลายูมุสลิมอย่างมากได้แก่ การประกาศยกเลิกในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ไม่ให้มีกฎหมายและศาลอิสลาม เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และ๖ ว่าด้วยครอบครัวและมรดก แทนที่การใช้กฎหมายอิสลามในสี่จังหวัดภาคใต้มาก่อน ต่อมายังยกเลิกตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรม ที่ตัดสินคดีมรดกและครอบครัวของคนมุสลิมไปด้วย นัยของการบังคับดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจว่า ศาสนาก็ต้องเป็นศาสนาพุทธอย่างเดียวเท่านั้น ทางการห้ามชาวมลายูเรียนคัมภีร์อัล-กุรอาน ภาษามลายูและภาษาอาหรับ ซึ่งการห้ามดังกล่าวขัดต่อการปฏิบัติกิจทางศาสนาของชาวบ้าน ความไม่พอใจและความตึงเครียดเพิ่มทวีคูณขึ้น 

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ พุทธศักราช ๒๔๘๖ โดยให้เหตุผลว่า "โดยที่เห็นเป็นการสมควรขยายการใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ทั่วถึง เพื่อความมั่นคงและวัฒนธรรมแห่งชาติ" (19) ที่สำคัญคือในมาตรา ๓ ให้ยกเลิกมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๗๗ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ออกกฎหมายให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทั่วประเทศ แต่ในมาตรา ๔ ระบุว่าให้ยกเว้น "บริเวณเจ็ดหัวเมืองซึ่งมีกฎข้อบังคับ ร.ศ. ๑๒๐ ในส่วนที่เกี่ยวด้วยครอบครัว" (20) นั่นคือการยอมรับประเพณีปกครองบริเวณ ๔ จังหวัดมุสลิมภาคใต้ซึ่งมีลักษณะพิเศษของตนเองมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนถึงอุดมการณ์ของรัฐไทยที่เปลี่ยนไปด้วยอย่างน่าสนใจยิ่ง การประกาศบทบัญญัติใหม่นี้มีผลให้รัฐบาลต้องยกเลิกตำแหน่งผู้พิพากษาอิสลาม ที่เรียกว่า "ดะโต๊ะยุติธรรม" ซึ่งทำหน้าที่ในการพิพากษาคดีครอบครัวและมรดกของคนมุสลิม ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยังทำให้รู้สึกว่า ไม่ต้องการประกาศใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยการแต่งงานและทรัพย์สินมรดก ที่ได้มีการแก้ไข และจัดทำขึ้นระหว่างผู้เชี่ยวชาญศาสนาอิสลามและฝ่ายกฎหมายไทย โครงการจัดทำกฎหมายอิสลามนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อทำให้กฎหมายอิสลามและกฎหมายไทยมีความเป็นเอกภาพและเข้าใจอันดีต่อกัน

แต่ในกระบวนการจัดทำกฎหมายอิสลามดังกล่าวนั้นมีความยากลำบากพอสมควร และไม่ค่อยคืบหน้าไปเท่าที่ควร ยิ่งมาประสบภาวการณ์ที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศใช้กฎหมายแพ่งฯ ฝ่ายไทยให้ครอบคลุมไปหมดทุกคนทุกภาค จึงยิ่งทำให้ความพยายามดั้งเดิมในการสร้างกฎหมายที่ร่วมกันได้ทั้งสองศาสนา ห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้น  น่าสนใจว่าการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการยุติศาลศาสนาในปัญหาครอบครัวและทรัพย์สินมรดกนั้น ได้ผลักดันให้ชาวมลายูมุสลิมในสี่จังหวัดไม่มีทางออก นอกจากออกไปหาความยุติธรรมในอีกฝั่งของพรมแดนไทย นั่นคือพวกเขาไปให้ศาลศาสนาในรัฐไทรบุรี ปะลิศ กลันตัน และตรังกานู ช่วยตัดสินปัญหาพิพาทในเรื่องดังกล่าวแทน

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๙๐ ไม่ปรากฏว่ามีสำนวนคดีศาสนาในศาลสี่จังหวัดภาคใต้เลย คิดในมุมกลับเมื่อมองย้อนกลับไป นั่นคือการผลักดันให้เกิดการ "แยกดินแดน" ขึ้นโดยรัฐไทยเอง  สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอีกข้อที่มีนัยอันสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของปัตตานี คือการนำไปสู่การเลือกตั้ง "กอฏี" หรือผู้พิพากษาคดีครอบครัวและมรดกโดยอิหม่าม หรือผู้ปกครองที่เป็นมุสลิมในเขตจังหวัดปัตตานี เนื่องจากปัตตานีไม่มีพรมแดนติดต่อกับรัฐมุสลิมในมลายา การเดินทางไปมากับรัฐมุสลิมในมลายูจึงไม่อาจทำได้เหมือนคนในจังหวัดมุสลิมอื่น ๆ คนที่ได้รับเลือกให้เป็น "กอฏี" อย่างเป็นเอกฉันท์คือ ฮัจญีสุหลง เนื่องจากเป็นที่ยกย่องและนับถือมาอย่างล้นหลาม และปัญหาการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมก็จะเป็นปมเงื่อนใหญ่อันหนึ่ง ที่ทำให้ฮัจญีสุหลงกลายเป็นหัวหน้าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไป

เขานำการต่อสู้เพื่อรักษาความเป็นอิสระของกฎหมายอิสลามในจังหวัดมุสลิมภาคใต้ ฮัจญีสุหลงได้รับการเลือกตั้งในวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ภายใต้ประกาศและบรรยากาศรัฐนิยม คนมลายูมุสลิมถูกห้ามไม่ให้หยุดการทำงานและการเรียนในวันศุกร์ดังแต่ก่อนอีกต่อไป แต่ที่กระเทือนในด้านลึกคือ มีความพยายามของคนไทยพุทธที่จะทำการชักจูงให้คนมุสลิมเปลี่ยนศาสนาด้วย (21) นัยของปฏิกิริยาและการตอบโต้ของผู้คนในบริเวณดังกล่าวแปลได้หลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่เห็นได้ก็คือ แสดงว่าชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ได้ประท้วงบอยคอตปฏิเสธอำนาจศาลไทยอย่างเรียบร้อยไปแล้วนั่นเอง โดยไม่ต้องเดินขบวนเรียกร้อง ร้องเรียนไปยังอำนาจรัฐไทยที่ไหนเลย

นัยอีกข้อก็คือแสดงว่าอำนาจศาลไทยไม่อาจบังคับจิตใจของคนมุสลิมได้ ดังนั้นอำนาจอธิปไตยเมื่อพิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความคิดจิตใจที่มีสำนึกของพลเมืองของตนด้วย ไม่เช่นนั้นอำนาจอธิปไตยก็ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ไปได้เหมือนกัน เมื่อถึงขั้นนั้นการกล่าวโทษว่าประชาชนไม่เคารพเชื่อฟังอำนาจรัฐก็ไร้ประโยชน์เช่นกัน

ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (ตอนที่4)
ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (ตอนที่4)
โดย ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


๑๒) สมัยของการสมานฉันท์ ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม๒๔๘๘-๒๔๙๐


ในช่วงเวลาภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๘) ขบวนการมุสลิมในภาคใต้ก็ทวีความรุนแรงในเนื้อหาความคิดที่แจ่มชัดขึ้น ในขณะที่ฝ่ายทางการก็ไม่เบามือในการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายจากส่วนกลาง ทำให้หน่อเชื้อและเมล็ดของการต่อต้านและการต้องการความเป็นอิสระของพวกเขากันเองเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามมหาอาเซียบูรพา และได้ประกาศทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอันมีสหรัฐฯและอังกฤษเป็นผู้นำ ในระยะต้นญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยในการเรียกร้องเอาดินแดนที่เคยอยู่ใต้อำนาจสยามกลับคืนมา อันได้แก่ กลันตัน, ตรังกานู, เคดะห์และปะลิส ซึ่งยกให้อังกฤษไปในสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๐๙ เพื่อแลกกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากอังกฤษ การเรียกร้องสี่รัฐคืนมาอยู่กับไทยอีก นอกจากเป็นประโยชน์ต่อรัฐไทยแล้ว อีกด้านยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนมลายูมุสลิมในบริเวณปัตตานีอีกด้วย

บัดนี้คนปัตตานีสามารถรื้อฟื้นสัมพันธภาพและแลกเปลี่ยนปัญหาร่วมกันกับพี่น้องมุสลิมในฝั่งมลายาได้มากขึ้น  ตนกูมะมุด มะไฮยิดดิน บุตรชายคนสุดท้องของอดีตรายาแห่งปัตตานี ซึ่งไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ในรัฐไทยสมัยนั้น ก็เดินทางไปพำนักอยู่ในกลันตัน และในระหว่างการยึดครองมลายาโดยญี่ปุ่น เขาร่วมในขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ ตนกูอับดุลยาลาลบิน ตนกูอัลดุลมุตตาลิบ บุตรชายของอดีตรายาแห่งเมืองสายบุรี ซึ่งมีชื่อไทยว่า อดุลย์ ณ สายบุรี เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และต่อมารัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ประท้วงการปฏิบัติอันไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสร้างปัญหาและความลำบากทางเศรษฐกิจและความไม่พอใจทางศาสนาแก่คนท้องถิ่น

หลังจากมีการพิจารณาปัญหาคำร้องเรียนหลายครั้ง ในที่สุดรัฐบาลให้คำตอบมาว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องในการใช้นโยบายการผสมกลมกลืนทางศาสนาและวัฒนธรรม ดังคำตอบจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า "การปฏิบัติงานของข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีนั้นเป็นการสมควร และไม่ได้กระทำการอันที่จะทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่" จากนั้นเขาตัดสินใจออกจากไทยไปพำนักในกลันตันและเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับตนกูมะไฮยิดดิน ในการต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมของคนมลายูมุสลิมต่อไป

หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามลาออกจากตำแหน่งเพราะแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภา นายควง อภัยวงศ์ ได้รับการสนับสนุนจากพลังการเมืองฝ่ายเสรีไทยที่นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป การเมืองระยะก่อนยุติสงครามมหาอาเซียและหลังจากนั้นสะท้อนความขัดแย้งและช่วงชิงการนำระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงครามกับนายปรีดี พนมยงค์ โดยที่ฝ่ายหลังสามารถก้าวขึ้นมานำได้ในระยะนี้ ฐานะอันเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของนายปรีดีคือตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว

ในช่วงนี้เองที่นโยบายฟื้นฟูและปรับความสัมพันธ์อันดีเสียใหม่กับคนมลายูมุสลิมภาคใต้ถูกประกาศออกมา แทนที่นโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สำคัญคือการประกาศพระราชกฤษฏีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. ๒๔๘๘ ในวันที่ ๘ พฤษภาคม พร้อมกับการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีอีกวาระหนึ่ง หลังจากตำแหน่งนี้ว่างมาหลายปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้คือ นายแช่ม พรหมยงค์ เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่คนแรก เขาเป็นข้าราชการสังกัดกรมโฆษณาการ(ต่อมาคือกรมประชาสัมพันธ์) และก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกรุ่นก่อการของคณะราษฎรด้วย

หลังจากนโยบายรัฐบาลปรับระดับของลัทธิชาตินิยมไทยลงไป และหันมาส่งเสริมสนับสนุนฝ่ายศาสนาอิสลามดังแต่ก่อน มีการยอมให้คนมุสลิมหยุดวันศุกร์ดังเดิม ตลอดไปถึงการปฏิบัติทางศาสนาและภาษา ใน พรก.ศาสนูปถัมภ์อิสลามนั้นมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดด้วย บรรดากลุ่มมุสลิมก็ก่อตั้งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเฉพาะสี่จังหวัดภาคใต้ขึ้นมา

ก่อนหน้านี้ฮัจญีสุหลงและผู้นำมุสลิมได้ก่อตั้งองค์กรมุสลิมขึ้นในปัตตานี หลังจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศนโยบายรัฐนิยม องค์กรที่ว่านี้คือองค์กรดำเนินการกฎหมายชารีอะห์ หรือ อัล ฮัยอะห์ อัล-ตันฟีซียะห์ ลี อัล-อะห์กาม อัล-ชาร์อียะห์ โดยมีจุดหมาย "เพื่อรวมพลังบรรดาผู้นำศาสนาที่ปัตตานี ในการพยายามสกัดกั้นการคุกคามของรัฐบาลไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคนมลายูให้เป็นคนสยาม พร้อมพิทักษ์ปกป้องความบริสุทธิ์ของศาสนาจากการแทรกแซงโดยความฝันไทยนิยม" องค์กรดังกล่าวนี้ตั้งขึ้นราวปี พ.ศ.๒๔๘๒   พรก.ศาสนูปถัมภ์  ฝ่ายอิสลามที่ออกมาในปี พ.ศ.๒๔๘๘ (มาตรา ๓) ระบุให้ "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเพื่อให้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์ เกี่ยวแก่การที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร" ทั้งยังให้กระทรวงศึกษาธิการอาจจัดตั้ง "อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย" "เพื่ออิสลามศาสนิกจะได้ศึกษาและรับการอบรมในทางศาสนา

ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนี้ มีสิทธิเข้ารับเลือกเพื่อรับพระราชทานเงินทุนส่ง ไปเข้าศาสนจารีต ณ นครเมกกะ  ตามจำนวนที่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  กำหนดขึ้นเป็นคราว ๆ " (มาตรา ๔) หลังจากรัฐประหาร ๒๔๙๐ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้มีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม ข้อสำคัญคือการยกเลิกความในมาตรา ๓ และให้เปลี่ยนเป็นดังนี้ "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาแก่กรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวแก่การศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนในฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร" หมายความว่าจุฬาราชมนตรีขึ้นกับกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่ปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนพระองค์อีกต่อไป

อีกปัญหาที่รัฐบาลควง อภัยวงศ์ แก้ให้กลับคืนสู่ภาวะสมานฉันท์ในสี่จังหวัดภาคใต้คือเรื่องดะโต๊ะยุติธรรม ด้วยการประกาศให้มีดะโต๊ะยุติธรรมดังเดิม แต่คราวนี้ให้อยู่ภายในโครงสร้างของกระทรวงยุติธรรมและศาลไทย. ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ รัฐบาลที่มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล เป็นผลให้กลับไปใช้กฎหมายอิสลามแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕-๖ ในการวินิจฉัยคดีเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในบริเวณจังหวัดดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรมที่ถูกเลิกไปก็ได้รับการรื้อฟื้นกลับมาใหม่ตามเดิม และประจำอยู่ที่ศาลในเขต ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่เพิ่มมาด้วยและสร้างปัญหาแก่ผู้นำมุสลิมต่อมาคือ ข้อกำหนดที่ให้ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นข้าราชการตุลาการด้วย แม้บรรดาอิหม่ามและผู้รู้ศาสนาอิสลามเป็นผู้คัดเลือกเสนอรายชื่อผู้สมควรเป็นดะโต๊ะยุติธรรม แต่การตัดสินสุดท้ายอยู่ที่รัฐมนตรียุติธรรม ซึ่งเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ด้วย อีกข้อคือต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมพิเศษ คือต้องรู้ภาษาไทยอ่านออกเขียนได้ด้วย ระเบียบและกฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวในการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรม นำไปสู่การคัดค้านโดยผู้นำมุสลิมภาคใต้ ฮัจญีสุหลงไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า ข้าราชการไทยในนามของรัฐบาลไม่มีความถูกต้องในการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมได้ เพราะถือว่าเป็นคนไม่ได้เชื่อในศาสนาอิสลามหรือ กาเฟร การกระทำดังกล่าวจะเป็นการละเมิดศรัทธาและการปฏิบัติศาสนาของชนอิสลาม

คำวิจารณ์อื่น ๆ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมพอที่จะทำหน้าที่ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาอิสลาม และศาลศาสนาควรจะดำเนินการโดยแยกออกจากศาลแพ่งไทยดังเช่นที่เคยทำมาในอดีต ต่อคำวิจารณ์และความเห็นเหล่านี้ รัฐบาลตอบว่าการแยกศาลนั้นทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากไป ในเมื่อคดีเกี่ยวเนื่องในศาสนาอิสลามนั้นมีไม่มากนักในแต่ละปี

ประเด็นขัดแย้งในเรื่องดะโต๊ะยุติธรรมและศาลศาสนา เป็นความขัดแย้งอีกเรื่องหนึ่งระหว่างผู้นำมุสลิมกับรัฐบาลไทย และก็สร้างความขัดแย้งกันเองระหว่างผู้นำมุสลิมในภาคใต้ด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ชื่อของฮัจญี สุหลงกลายเป็นผู้นำมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลมากเป็นพิเศษ ปัจจัยอีกอันที่มีส่วนในการผลักดันการเมืองของมุสลิมภาคใต้ระยะนี้คือ บทบาทของอังกฤษในสงครามมหาอาเซียบูรพาในมลายาและสี่จังหวัดภาคใต้ ฝ่ายรัฐบาลไทยเชื่อว่า  อังกฤษหนุนหลังผู้นำเก่าของปัตตานี คือ ตนกูมะไฮยิดดิน ให้ได้เป็นผู้นำปัตตานีเดิม (คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ถึงกับสัญญาจะให้    เอกราช เพราะไม่พอใจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับตะวันตก.

ต่อมาก็มีผู้นำจากปัตตานีมาเพิ่มอีก คือนายอดุลย์ ณ สายบุรี (ตนกูอับดุลยะลานาแซร์) ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสกับพี่ชาย และท้ายสุดได้ฮัจญีสุหลงมาร่วมขบวนการด้วย

ในประวัติศาสตร์ปัตตานี อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี เขียนถึงบทบาทและการเคลื่อนไหวของตนกูมะไฮยิดดิน มากกว่าที่อื่น ๆ โดยเริ่มราวปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ในการต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นใน มลายา เขาเข้าร่วมในกองทัพอังกฤษที่มีฐานปฏิบัติการในอินเดีย ในขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมมือกับขบวนการใต้ดินชาตินิยมมลายู "ด้วยความหวังว่าเมื่อสงครามสงบลง อังกฤษจะช่วยเขาในการได้ปัตตานีกลับคืนมา" กล่าวกันว่าขณะนั้นเขาได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำจากประชาชนมลายูปัตตานี เขาได้ติดต่อกับบรรดาผู้นำมลายูในภาคใต้ของไทย เพื่อจัดตั้งหน่วยต่อต้านญี่ปุ่น และพร้อมกันนั้นก็ต่อต้านสยามไปในตัว (อาจเรียกได้ว่าเป็นขบวนการ "เสรีมลายู" คู่กับขบวนการ "เสรีไทย" ในภาคกลาง)

แผนการของมะไฮยิดดิน คือ เมื่อสัมพันธมิตรโจมตีญี่ปุ่นในมลายาและภาคใต้ไทย หน่วยเสรีมลายูด้วยการหนุนช่วยจาก Force 136 (หน่วยใต้ดินของสัมพันธมิตรในอุษาคเนย์) ก็จะนำไปสู่การต่อสู้ต่อต้านสยามด้วย เมื่อปัตตานีตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสัมพันธมิตร ขั้นตอนต่อไปคือการปลดปล่อยปัตตานีจากสยามโดยผ่านองค์การสันนิบาตชาติ

แต่แผนการทั้งหมดนั้นไม่ปรากฏเป็นจริง กองทัพญี่ปุ่นพ่ายแพ้อย่างกะทันหัน ทำให้ขบวนการใต้ดินและกำลังสัมพันธมิตรไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำการต่อสู้อย่างมากมาย แต่เหนืออื่นใดคือเมื่อสงครามโลกยุติ อังกฤษไม่สนับสนุนความฝันตามแผนของมะไฮยิดดินเลยแม้แต่นิดเดียว การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทยหลังสงครามเป็นผลประโยชน์ต่อโลกตะวันตกและภูมิภาคนี้โดยรวม มากกว่าการสนับสนุนให้เกิดการแตกแยกและบั่นทอนอำนาจนำของอังกฤษในบริเวณดังกล่าวลงไป

นอกจากบทบาทของอังกฤษในฐานะของปัจจัยภายนอกที่สำคัญแล้ว ท่าทีและการปฏิบัติของทางการไทยเองก็เป็นตัวเร่งที่สำคัญไม่น้อยด้วยเหมือนกัน นั่นคือการทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนมุสลิมมุ่งไปสู่หนทางและทิศทางอะไร ความไม่ไว้ใจและสงสัยในทรรศนะทางการเมืองแบบมุสลิมทำให้รัฐไทย ต้องใช้วิธีการสอดส่องและสายลับเพื่อทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมหัวการเมืองใหม่ดังกล่าว

การเคลื่อนไหวของอังกฤษกับตนกูมะไฮยิดดิน และตนกูยะลานาแซร์ มาถึงฮัจญี สุหลง ถูกรายงานให้รัฐบาลสมัยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกฯ ทราบ "แต่รัฐบาลก็ไม่ได้จัดการอะไร นอกจากสั่งการให้จังหวัดต่างๆในสี่จังหวัดภาคใต้จัดสายลับติดตามพฤติการณ์ของผู้นำศาสนา อิสลามต่อไป" การรับรู้อีกฝ่ายจาก "สายลับ" ในที่สุดแล้วคือการไม่ได้รู้อะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว นอกจาก อะไรที่ฝ่ายไทยคิดและเชื่อก่อนแล้ว ก็คือมีแต่รายงานที่ตอกย้ำและเพิ่มอคติของรัฐไทยต่อสำนึก การเมืองของคนมุสลิมเท่านั้น

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอันก็คือ บรรดาสายสืบทั้งลับและสว่างให้แก่รัฐบาลไทย น่าสนใจมากว่ามาจากคนมุสลิมภาคใต้เองด้วย และเป็นระดับใหญ่ ๆ พอกัน เช่น ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด บ้างเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าใจว่านักการเมืองมุสลิมเหล่านั้น ก็อาจคิดและเชื่อเหมือนกับรัฐไทยก็ได้ ดังนั้นปัญหาเชื้อชาติศาสนา ก็ยังมีลักษณะของปัญหาชนชั้นและอุดมการณ์ทางการเมืองกำกับอยู่ด้วย

ประเด็นใหญ่ของปัญหาสำหรับคนมลายูมุสลิมในภาคใต้คือ เรื่องความถูกต้องเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และข้าราชการ และเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ชุมชนมุสลิมทุกแห่งในโลกใช้กฎหมายอิสลามในการปฏิบัติ นอกเหนือจากกฎหมายทั่วไปของรัฐและรัฐบาลนั้นๆ แล้ว นโยบายการให้ใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดกนั้น เมื่อสยามทำการปฏิรูปการปกครองและรวมศูนย์ทั้งประเทศ ก็อนุโลมให้หัวเมืองภาคใต้ที่เป็นมุสลิมใช้กฎหมายอิสลามดังกล่าวมา จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการสองฝ่ายเพื่อเขียนกฎหมายอิสลามให้เป็นบรรทัดฐาน แต่กินเวลานานมากและไม่เสร็จสมบูรณ์ได้ง่ายๆ จนถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ และ ๖ ที่สมบูรณ์ทั้งประเทศ อันมีผลทำให้ไปยกเลิกกฎหมายอิสลามในพื้นที่ ๔ จังหวัดภาคใต้ไป

ในที่นี้ได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อต้องการชี้ให้เห็นปมเงื่อนปัญหาและความขัดแย้งขณะนั้นว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่ปัญหาเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หากที่หนักหน่วงและมีผลกระทบด้านลบอย่างมากและยาวไกลด้วย คือปัญหาการใช้และสร้างความเป็นธรรมและความยุติธรรมต่อประชาชนชาวมุสลิมเหล่านั้นมากกว่า นั่นคือปัญหาทางการเมืองและการปกครองจากรัฐไทย ที่สร้างอัตลักษณ์และความเชื่อชุดหนึ่งของตนเอง ที่ถือเอาเชื้อชาติเดียวเป็นหลักยึด โดยไม่ยอมเข้าใจและยอมรับนับถือในสิทธิแห่งอัตลักษณ์ของคนเชื้อชาติและศาสนาอื่นที่แตกต่างออกไปด้วย

ดังนั้นความขัดแย้งโดยเนื้อแท้จึงไม่ใช่ปัญหาศาสนาและโรงเรียน ตลอดรวมถึงปอเนาะอะไรแต่อย่างใด ข้อสังเกตนี้คิดว่าปัจจุบันก็ยังใช้ได้อยู่

            อย่างไรก็ตามในระยะเวลาอันสั้น ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๐ นโยบายว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามของพลังการเมืองฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีจุดหมายในการปฏิรูปและสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนมลายูมุสลิมกับรัฐไทย ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สามารถจัดตั้งสถาบันอิสลามระดับชาติลงไปถึงท้องถิ่น และเป็นที่ยอมรับกันทั้งฝ่ายประชาชนมุสลิมและรัฐบาล ประเพณีและการปฏิบัติตามศาสนาแต่ก่อนนี้ก็ได้รับการรื้อฟื้นกลับคืนมาหมดสิ้น ที่ต้องถือว่าเป็นการพัฒนาด้านบวกอย่างมากคือ การเปิดให้มีการเจรจากันระหว่างผู้นำมลายูมุสลิมกับรัฐบาลอย่างเสรีและเปิดเผย 

           
ทว่าสภาพการณ์ด้านเศรษฐกิจหลังสงคราม ที่มีความขาดแคลนและความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะการขาดแคลนข้าวในภาคใต้ มีการลักลอบค้าข้าวข้ามพรมแดน ความลำบากทางเศรษฐกิจเหล่านี้ นโยบายศาสนูปถัมภ์อย่างเดียวไม่อาจแก้ไขและช่วยได้มากนัก ดังนั้นความไม่พอใจของประชาชนต่อการจัดการปัญหาและความยากลำบากจึงยังไม่หมดหายไป ยิ่งหากมีการถูกรังแกหรือ ปฏิบัติอย่างมิชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ประชาชนก็พร้อมจะทำการร้องเรียนและประท้วงให้รัฐบาลส่วนกลางได้รับรู้  

         
ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าวในที่สุดนำไปสู่การพบปะเจรจากับรัฐบาลอย่างจริงจัง ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ" เรื่องนี้สำคัญมากต่อพล๊อตเรื่องใหญ่ เพราะมันจะกลายมาเป็นหลักฐานเอกในการกล่าวหาและทำให้ผู้นำมุสลิมกลายเป็น "ผู้ร้าย" ไปอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง "ปตานี รัฐมลายูนอกมลายา" 

           นอกเหนือจากความขัดแย้งธรรมดาในเรื่องชีวิตและเศรษฐกิจของคนมุสลิมในภาคใต้แล้ว ที่หนักหน่วงกว่านั้นคือ คำร้องเรียนและร้องทุกข์ในเรื่องความทารุณโหดร้ายและการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ไทยโดยเฉพาะตำรวจ หากต้องการสัมผัสความรู้สึกของคนมุสลิมปัตตานีสมัยนั้นต่อปัญหาดังกล่าว ก็จะอ่านได้จากข้อเขียนของอิบราฮิม ชุกรี หนังสือเรื่อง Sejarah Kerajaan Kelayu Patani (ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรปตานี) ตีพิมพ์ในกลันตัน คาดว่าในปลายทศวรรษปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เขากล่าวถึงสถานการณ์ขณะนั้นว่า ดังนี้


ในเวลานั้น (พ.ศ. ๒๔๘๘-๘๙) มีอะไรบางอย่างคล้ายกับโรคติดต่อในหมู่เจ้าหน้าที่สยาม ซึ่งนำไปสู่การละเว้นกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และรับแต่สินบน เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงลงมาถึงระดับล่างสุด เรื่องราวที่สำคัญยิ่งไม่อาจสามารถทำให้เสร็จได้หากไม่มีการเตรียมให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่. สำหรับตำรวจ อาชญากรที่ถูกจับก็สามารถจะมีความปลอดภัยและเป็นอิสระได้ หากเขาให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้น เรื่องที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกกับคนมลายูก็คือ หากเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกับคนที่ไม่ดี เขาจะถูกจับกุมไปทันทีโดยตำรวจสยาม จากนั้นนำตัวไปยังสถานที่เปลี่ยว และทุบตีก่อนที่จะนำตัวไปยังสถานที่คุมขังหรือกักกัน การปฏิบัติทำนองนี้เกิดขึ้นกับคนมลายูที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในขบวนการการเมืองที่วิพากษ์รัฐบาลด้วยเหมือนกัน คนมลายูเหล่านั้นมักถูกข่มขู่และหาเรื่องในหนทางต่างๆ โดยตำรวจสยาม ไม่ก็จับกุม หรืออย่างง่ายๆ ก็ทุบตีโดยไม่นำพาต่อการนำเรื่องของเขาขึ้นสู่ศาล

สภาพของการไร้กฎหมายและขื่อแปบ้านเมืองหลังสงครามโลกและการคอรัปชั่นระบาด และมีมากในเกือบทุกภาคของประเทศไทย แต่ที่หนักหน่วงกว่าเพื่อนได้แก่บริเวณสี่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการลักลอบและสินค้าเถื่อนโดยเฉพาะข้าวที่นำเข้าไปในมลายา รัฐบาลภายใต้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์และนายปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มการเจรจาและนำผู้นำการเมืองมลายูมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของนโยบายสมานฉันท์ทางศาสนา และหวังว่าในที่สุดจะนำไปสู่การร่วมมือกันในปัญหาการเมือง

ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๙๐ รัฐบาลหลวงธำรงฯได้ตั้ง "กรรมการสอดส่องภาวการณ์ใน ๔ จังหวัดภาคใต้" เป็นชุดแรกที่ลงไปรับฟังคำร้องเรียนและปัญหาของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ในวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อบรรดาผู้นำมุสลิมทราบข่าวจึงได้มีการประชุมปรึกษากันอย่างเร่งด่วน ในวันที่ ๑ เมษายน ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อร่างข้อเสนอในปัญหาต่างๆ อันรวมถึงการปกครองทางการเมือง สิทธิและศาสนกิจของชาวมุสลิมแก่ผู้แทนรัฐบาลต่อไป

ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ ในการประชุมเจรจากันระหว่างคณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯกับผู้นำอิสลาม นำไปสู่การเกิดสิ่งที่รู้จักกันต่อมาว่า "ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ" ดังต่อไปนี้

๑) ให้มีการแต่งตั้งบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดของปตานี นราธิวาส ยะลาและสะตูล โดยเฉพาะให้มีอำนาจในการปลด ยับยั้งหรือแทนที่ข้าราชการรัฐบาลทั้งหมดได้ บุคคลผู้นี้ควรเป็นผู้ที่เกิดในท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งของสี่จังหวัด และได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนเอง
๒) ให้ร้อยละ ๘๐ ของข้าราชการในสี่จังหวัดเป็นผู้นับถือศาสนามุสลิม
๓) ให้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
๔) ให้ภาษามลายูเป็นภาษาสำหรับใช้ในการเรียนและสอนในโรงเรียนประถม ๓ โรง(หรือสามระดับ?)
๕) ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลมุสลิมที่แยกต่างหากจากศาลแพ่ง ซึ่งกอฎีนั่งร่วมในฐานะผู้ประเมินด้วย
๖) รายได้และภาษีทั้งหมดที่ได้จากสี่จังหวัดให้นำไปใช้ในสี่จังหวัดทั้งหมด
๗) ให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสลามที่มีอำนาจเต็มในการกำหนดกิจการมุสลิมทั้งปวง ภายใต้อำนาจสูงสุดของผู้ปกครองรัฐตามระบุในข้อ ๑

แม้ข้อเรียกร้อง ๗ ประการไม่ได้บ่งชัดเจนว่าต้องการเรียกร้องการแยกดินแดนออกจากรัฐไทย แต่สาระสำคัญในข้อที่หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุด และถูกนำมาใช้ในการโจมตีและสร้างความรู้สึกปฏิปักษ์ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนมลายูมุสลิมภาคใต้ต่อมาอีกยาวนาน คือความต้องการที่จะให้มีการปกครองที่เป็นอิสระโดยคนท้องถิ่นในสี่จังหวัดเอง น่าเสียดายว่าแนวความคิดดังกล่าวไม่เคยมีการถกเถียงในรายละเอียดและในความเป็นไปได้หรือไม่ได้เพราะอะไรอย่างไร ตรงกันข้ามผู้นำและนักการเมืองฝ่ายไทยพากันคิดไปในทางเดียวว่า นั่นคือสัญญาณของการคิดแยกดินแดนหรือการคิดกบฏต่ออำนาจรัฐส่วนกลางนั่นเอง แทนที่จะมองว่านั่นอาจเป็นหนทางหนึ่งของการปกครองตนเอง และการกระจายอำนาจในการบริหารประเทศจากรัฐบาลกรุงเทพฯ ก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม