วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้


ขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับรัฐปัตตานี มีรากเหง้าของปัญหามาอย่างยาวนานในช่วงสมัยต่างๆ ก่อนที่จะมาถึงยุคปัจจุบัน ความขัดแย้งและความไม่พอใจจากการกระทำของรัฐไทยต่อชาวมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ที่สะท้อนออกมาเป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่พวกเขาถูกกระทำ จนไม่อาจจะเยียวยาให้พวกเขามีความรู้สึกที่ดีกลับคืนมาได้ จากการคบคิดกบฏกลุ่มเล็กๆ จนในที่สุดก็บานปลายเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ใหญ่ขึ้นและมีอยู่หลากหลายกลุ่ม ส่วนการจัดการของรัฐไทยที่แล้วมา ก็ใช้วิถีทางเดียวในการจัดการปัญหาคือการปราบปรามให้สิ้นซาก การจัดการปัญหาด้วยวิธีเช่นนี้จึงไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้ปัญหายิ่งบานปลายออกไปมากขึ้น ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับหัวเมืองทางภาคใต้: บ่อเกิดแห่งความขัดแย้ง

จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นระยะเวลา 700 ปี มาแล้ว จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.1837 ได้มีการเรียกหัวเมืองชายแดนภาคใต้ว่า "หัวเมืองมาลายู" ซึ่งประกอบด้วย เมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และเมืองปัตตานี (รวมจังหวัดยะลา และนราธิวาส) ต่อมาเมื่อประมาณพ.ศ.2310 ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า หัวเมืองมาลายูทั้ง 4 จึงตั้งตัวเป็นอิสระ

กระทั่ง พ.ศ.2328 สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงให้เดินทัพไปตีหัวเมืองปัตตานี และรวบรวมหัวเมืองทางใต้ ทั้ง 4 เข้ามาอยู่ในความปกครองของไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยให้มีการปกครองแบบอิสระ แต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับเมืองหลวง (กรุงเทพ) 3 ปีต่อครั้ง หากไม่ส่งจะถือว่าเป็นกบฏ และได้จัดระเบียบการปกครองบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่สำหรับหัวเมืองทางใต้ ในขั้นต้นให้เมืองไทรบุรีและเมืองกลันตัน อยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช เมืองปัตตานี ตรังกานู อยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองสงขลา
จากกรณีนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นความไม่พอใจของ ตวนกูราบิดิน[1] (เชื้อสายสุลต่าน เมืองปัตตานี) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานีต่อมาตวนกูราบิดินได้ไปชักชวน องค์เชียงสือ กษัตริย์ญวนในสมัยนั้นให้ยกทัพมาตีไทย แต่ได้รับการปฏิเสธ ตวนกูราบิติน จึงได้ไปสมคบกับ โต๊ะสาเยก (มาจากประเทศอินเดีย) ก่อการกบฏ และยกกองทัพของเมืองปัตตานีมาตีเมืองสงขลาได้สำเร็จ
พ.ศ.2334 หลังจากเมืองสงขลาตกอยู่ภายใต้อำนาจของเมืองปัตตานี ทางกรุงเทพฯได้ยกทัพของเมืองนครศรีธรรมราชไปทำการปราบปราม และยึดเมืองสงขลากับคืนมาได้ พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งให้พระยาเมืองสงขลายกกองทัพไปตีเมืองปัตตานีกลับคืนมาอยู่ภายใต้ความปกครองได้ดังเดิม และเพื่อเป็นการริดรอนกำลังของเมืองปัตตานี รัชกาลที่ 1 ทรงได้แยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คือ (1) เมืองปัตตานี (2) เมืองยะหริ่ง (3) เมืองหนองจิก (4) เมืองสายบุรี (5) เมืองยะลา (6) เมืองรามัน และ (7) เมืองระแงะ โดยได้ทรงแต่งตั้งให้ข้าราชการไทย และมาลายูที่มีความจงรักภักดีเป็นเจ้าเมือง แต่ภายหลังเจ้าเมืองต่างๆ ได้ก่อความยุ่งยากมาโดยตลอด รัชกาลที่ 1 จึงทรงเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าเมืองทั้ง 7 เป็นคนไทยทั้งหมด และทรงยกระดับเมืองสงขลาขึ้นเป็นหัวเมืองเอก โดยขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีอำนาจควบคุมดูแลเฉพาะเมืองไทรบุรีด้านฝั่งมหาสมุทรอินเดียเพียงเมืองเดียว เนื่องจากมีพื้นที่กว้างอยู่แล้วเหตุการณ์ได้สงบมาโดยตลอด
จนกระทั่ง พ.ศ.2374 สมัยรัชกาลที่ 3 ระหว่าง พ.ศ.2381 เมืองไทรบุรีได้ทำการกบฏ 2 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สามารถปราบปรามได้โดยง่าย การก่อการร้ายสงบมาโดยตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5

สมัยรัชกาลที่ 5: การสูญเสียอำนาจการปกครองของเจ้าเมืองในหัวเมืองภาคใต้

รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) โดยในปี พ.ศ.2440 ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่โดยเรียกว่า "พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องถิ่น ร.ศ.116" ซึ่งได้ทดลองใช้มาจนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2444 จึงทรงประกาศใช้อย่างเป็นทางการโดยให้ใช้กับ 7 หัวเมืองภาคใต้ คือเมืองปัตตานี สายบุรี ยะลา หนองจิก ยะหริ่ง รามัน และเมืองระแงะโดยเรียกว่า "ข้อบังคับสำหรับปกครอง 7 หัวเมือง ร.ศ.120" มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นทั้ง การบริหารการปกครองเมืองที่แบ่งออกเป็น มณฑลเทศาภิบาล มีตำแหน่งพระยาเมือง (เจ้าเมือง) ปลัดเมือง กระบัตรเมือง โดยทั้งหมดขึ้นตรงต่อข้าหลวง นอกจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการคลัง การติดต่อกับต่างประเทศ ตลอดจนการศาล โดยการตัดสินคดีความจะมีการส่งผู้พิพากษาจากกรุงเทพฯ ไปตัดสิน
ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ดังกล่าวไม่เพียงจะลิดรอนอำนาจของเจ้าผู้ครองนครในหัวเมืองทางใต้เท่านั้น ในช่วงสมัยเดียวกัน ก็ได้เกิดกบฏขึ้นแทบจะทั่วภูมิภาคของไทย ซึ่งงานศึกษาของนักวิชาการหลายๆ ท่าน ใน หนังสือเรื่อง “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และกบฏผู้มีบุญ” ในสังคมไทย โดย พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และอัจฉราพร กมุทพิสมัย (บรรณาธิการ).[2] พบว่า
การเกิดกบฏในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 มีสาเหตุมาจากการปฏิเสธรูปแบบการปกครองแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชและเป็นการปฏิเสธอำนาจของรัฐสยามส่วนกลางคือกรุงเทพฯ อีกทั้งความไม่พอใจต่อระบบการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2445 หรือ ร.ศ. 121 ซึ่งเกิดกบฏในเวลาไล่เรี่ยกันถึง 3 เหตุการณ์ใน 3 ภูมิภาคของไทยคือ ภาคเหนือเกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ (พ.ศ.2445) กบฏผู้มีบุญอิสาน (พ.ศ.2444-2445 ) และพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดกบฏ ในภาคใต้ (พ.ศ. 2445) จนสืบเนื่องมาเป็นกบฏผู้มีบุญภาคใต้ (พ.ศ.2452-พ.ศ.2454) ในระยะต่อๆ มายังเกิดกบฏในเขตอีสานอีกไม่ตำกว่า 6 ครั้ง ภาคกลาง 4 ครั้ง และภาคใต้ 1 ครั้ง ตัวอย่างในภาคอีสาน เช่น กบฏเจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว (พ.ศ.2467) กบฏหมอลำน้อย มหาสารคาม (พ.ศ. 2476) กบฏหมอลำน้อยชาดา (พ.ศ.2479) กบฏนายศิลา วงศ์สิน (พ.ศ.2502) กบฏหมู่บ้านไทยเจริญ นครราชสีมา (พ.ศ. 2503) ซึ่งกบฏที่เกิดขึ้นดังกล่าว มีการนำความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์มาใช้ที่ชัดเจนก็คือการเกิดกบฏในภาคอีสาน ส่วนภาคอื่นๆ เกิดขึ้นเพราะการปฏิเสธอำนาจการปกครองจากส่วนกลางเสียเป็นส่วนใหญ่
สำหรับทางหัวเมืองภาคใต้ที่เรียกกันว่า “พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดกบฏ” พระยาแขกดังกล่าวหมายถึงพระยาแขกที่เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี ระแงะ รามันห์ ยะลา และหนองจิก โดยผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้ก็คือพระยาเมืองที่มีเชื้อสายมาลายู พระยาวิชิตภักดี (เต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน) ผู้ครองนครปัตตานีองค์สุดท้าย[3] จึงได้คบคิดกับพระยาเมืองระแงะ สายบุรี และพระยาเมืองรามัน (เชื้อสายมาลายูของพระยาสุริยะสุนทรบวรภักดี) ได้ร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนส่งไปให้ข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ประจำสหพันธ์รัฐมาลายูในสิงคโปร์ว่า ประเทศไทยไม่ให้ความเป็นธรรมและรังแกชาวไทยมุสลิม พร้อมทั้งได้ก่อความไม่สงบขึ้น
สาเหตุที่พระยาวิชิตภักดีต้องทำเรื่องร้องเรียนไปยังข้าหลวงใหญ่อังกฤษก็เพราะในช่วงเริ่มต้น เจ้าเมืองทั้งหลายไม่สามารถมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีได้ดั้งเดิม รัฐบาลเป็นผู้มาจัดเก็บโดยตรง และแบ่งรายได้ให้กับเจ้าเมืองแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อรายาปัตตานีพระองค์สุดท้ายเข้ารับตำแหน่ง ทางรัฐบาลก็ตัดไม่ให้รายได้ส่วนนี้แก่เจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ และยังเลื่อนการแต่งตั้งตำแหน่งอย่างเป็นทางการออกไปอีก 2 ปี ระหว่างที่ยังที่ยังไม่แต่งตั้งเจ้าเมือง ทางข้าหลวงในขณะนั้นก็คือ พระยาสุขุมยัยวินิต ได้เกณฑ์กำลังทหารจำนวกว่า 600 คนมาบีบบังคับการเสียภาษีของประชาชนอีกด้วย ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางเจ้าเมืองไม่สามารถร้องเรียนให้ทางรัฐบาลกรุงเทพฯ แก้ปัญหาทุกข์ร้อนต่างๆ ได้เลย
หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2444 ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญและยิ่งตอกย้ำความไม่จริงใจของรัฐไทยที่กระทำต่อเจ้าผู้ครองนครทั้งหลาย โดยเฉพาะรายาปัตตานี ซึ่งถือว่าเป็นความอัปยศที่ท่านไม่อาจจะยอมรับได้อีกต่อไป
โดยทางรัฐบาลคือกรุงเทพฯ ได้ส่งขุนนางคนสำคัญคือ พระยาศรีสิงหเทพ มาเจรจากับเจ้าเมืองมลายูเพื่อแก้ปัญหาความไม่พอใจของเจ้าเมืองที่เกิดขึ้น โดยพระยาศรีสิงหเทพได้ขอเข้าพบรายาปัตตานี และขอให้พระองค์ลงชื่อในหนังสือฉบับหนึ่งซึ่งเขียนด้วยภาษาไทย โดยแจ้งกับรายาปัตตานีว่า เนื้อหาในหนังสือฉบับนี้เป็นข้อร้องเรียนต่างๆ และแนวทางแก้ปัญหาของเต็งกูอับดุลการเดร์ เพื่อจะนำเสนอต่อองค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่องค์รายาปัตตานีปฏิเสธไม่ยอมลงชื่อเพราะเขียนเป็นภาษาไทย พระยาศรีสิงหเทพให้คำมั่นว่า หนังสือนี้มิใช่หนังสือสัญญาและรายาจะไม่ถูกผูกมัดจากเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว แต่รายาปัตตานีก็ยังไม่ลงนาม จนที่สุดพระยาศรีสิงหเทพให้เจ้าหน้าที่แปลหนังสือนั้น และอ่านให้รายาปัตตานีฟัง หลังจากอ่านแล้ว พระยาศรีสิงหเทพได้ให้คำมั่นอีกครั้งหนึ่งว่า ฝ่ายปัตตานีจะไม่มีข้อผูกมัดใดๆ จากหนังสือดังกล่าว และยังสามารถแก้ไขได้ในภายหลังหากรายามีประสงค์ เมื่อได้ฟังคำมั่นรับรองแข็งแรง ในที่สุดเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดีน รายาปัตตานีก็ยอมลงนามในหนังสือนั้น พระยาศรีสิงหเทพจึงออกเดินทางไปสิงคโปร์ เมื่อไปถึงสิงคโปร์ พระยาศรีสิงหเทพแจ้งให้ Swettenham ข้าหลวงอังกฤษทราบว่า ปัญหาปัตตานีคลี่คลายแล้ว เพราะเต็งกูอับดุลกาเดร์ ยอมรับระเบียบการปกครองแบบใหม่ของรัฐบาลสยามในการเจรจานั้น
ทางฝ่ายรายาปัตตานีก็ได้ให้คนของตนแปลหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นภาษามลายู เมื่อทราบความในหนังสือดังกล่าวก็สร้างความตกใจให้กับรายาปัตตานีเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือแตกต่างจากที่พระยาศรีสิงหเทพได้อธิบายให้ฟัง เพราะหนังสือกลับมีเนื้อหาเป็นว่า รายาปัตตานีเห็นชอบและยอมรับพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.116 เพื่อความมั่นคงของปัตตานีและเห็นชอบให้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของสยามที่มีอำนาจเด็ดขาดทุกเรื่องในปัตตานี
ทางรายาปัตตานี ก็ทรงหาทางที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ทางรัฐบาลกรุงเทพฯ ก็ยังบังคับพระองค์ให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นให้ได้ เมื่อไม่สามารถจะยอมรับตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ รายาปัตตานีจึงถูกจับในที่สุด ถูกถอดยศแล้วนำไปจองจำที่เมืองพิษณุโลก มีกำหนด 10 ปี หลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์กบฏอีกหลายๆ ครั้งตามมาในช่วงปี พ.ศ. 2452 -2454 ซึ่งพบว่าผู้ก่อการกบฏส่วนหนึ่งเป็นคนของอดีตพระยาเมืองปัตตานี
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2448 พระยาวิชิตภักดีได้ถวายฏีกาของพระราชทานอภัยโทษ โดยให้สัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระราชทานอภัยโทษให้พระยาวิชิตภักดีจึงได้เดินทางกลับมาอยู่ที่เมืองปัตตานีในสภาพสามัญชนธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.2449 รัชกาลที่ 5 ทรงยุบเลิกตำแหน่งพระยาเมืองหรือเจ้าเมืองทั้ง 7 ลง โดยคงเหลือเพียง 4 หัวเมือง คือ (1) หัวเมืองปัตตานี (2) หัวเมืองยะลา (3) หัวเมืองนราธิวาส (4) หัวเมืองสายบุรี) จนกระทั่ง พ.ศ.2454 พระยาวิชิตภักดี ได้ยื่นเรื่องขอรับเบี้ยหวัดย้อนหลัง และขอกรรมสิทธิ์ครองครองที่ดินเดิมจำนวน 600 แปลง แต่ไม่ได้รับการพิจารณาเนื่องจากเป็นกบฎต่อแผ่นดินพร้อมกันนั้นศาลได้พิพากษาให้ยึดที่ดินจำนวน 600 แปลง ของพระยาวิชิตภักดี เข้าเป็นทรัพย์แผ่นดิน ซึ่งจากกรณีนี้ ได้สร้างความโกรธแค้นให้กับพระยาวิชิตเป็นอย่างมาก จึงมีการวางแผนที่จะสังหารข้าราชการชั้นผู้ใหญ่โดยพระยาวิชิตภักดีได้วางแผนเชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาร่วมงานเลี้ยงที่บ้าน แต่ทางการสืบทราบแผนการดังกล่าวเสียก่อน จึงส่งทหารจากเมืองนครศรีธรรมราชไปจับกุมตัวพระยาวิชิตภักดี แต่พระยาวิชิตภักดีรู้ตัวเสียก่อน จึงอพยพครอบครัวหนีไปอยู่ที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และเสียชีวิตที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียเมื่อ พ.ศ.2476 ต่อมาในภายหลังพระยาวิชิตภักดี ได้รับการยกย่องจากสมาชิกโจรก่อการร้ายว่า ท่านเป็น "วีระบุรุษที่ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนให้อิสลาม"
ในงานของ Syukri ผู้เขียน ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี พบว่าเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2445 มีความสำคัญต่ออนาคตของปัตตานีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งได้เขียนถึงไว้ว่า
ปี ค.ศ.1902 (พ.ศ.2445) เป็นปีที่เมืองปะตานีสูญเสียอำนาจอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการสูญเสียอธิปไตยของบรรดารายาและชาวเมืองปะตานี สิทธิเสรีภาพและความเป็นเอกราชอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้ากรุงสยามโดยสิ้นเชิง นับเป็นปีแห่งความอับยศที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองปะตานี[4]
ซึ่งความอับปยศดังกล่าวนอกจากเป็นผลจากโครงสร้างแห่งความพ่ายแพ้ของหัวเมืองแล้ว สิ่งที่สร้างความอัปยศให้กับบรรดาเจ้าผู้ครองนครทั้งหลายนั้น มาจากความไม่จริงใจ และการใช้วิธีการหลอกลวงของข้าหลวงจากส่วนกลางเพื่อให้เจ้าผู้ครองนครเหล่านี้สยบยอมต่ออำนาจ และเป็นการจัดการปัญหาความขัดแย้งให้เสร็จสิ้นในเวลาอันรวดเร็ว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรายาปัตตานีองค์สุดท้าย นับว่าได้สร้างรอยบาดแผลจนยากจะลืมเลือน และกลายเป็นความโกรธแค้นที่ฝังใจ จนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ และความบาดหมางในครั้งนี้ก็ได้ถูกส่งต่อไปยังทายาทรุ่นแล้วรุ่นเล่า กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจกันในทัศนะของทางการว่าขบวนการการต่อสู้ที่เกิดขึ้นคือ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ในเวลาต่อๆ และยังเป็นคำที่หลอกหลอนเจ้าหน้าที่รัฐตราบจนกระทั่งปัจจุบัน

กำเนิดขบวนการแบ่งแยกดินแดน

มีนักวิชาการบางท่านสรุปไว้ว่า เหตุแปรเปลี่ยนเกิดขึ้น “เมื่อสี่จังหวัดภาคใต้ถูกรวมเข้าไปในประเทศไทยเมื่อปี 2445” และเห็นว่า
ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ถือกำเนิดมาโดยบรรดาอดีตเจ้าครองนคร ซึ่งต้องเสียสิทธิพิเศษไป เจ้าผู้ครองนครคนแรกที่ตั้งตัวเป็นกบฏคือ พระยาวิชิตภักดี (อับดุลกอเดร) อดีตเจ้าผู้ครองนครปัตตานีคนสุดท้ายซึ่งได้ต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2444[5]
ขบวนการที่ต่อต้านอำนาจรัฐไทยเริ่มแรกถูกเรียกจากทางการในชื่อที่ว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ขบวนการโจรก่อการร้าย” แล้วเหลือแค่เพียง “โจรก่อการร้าย” ด้วยมีการให้เหตุผลว่าเพื่อลดโทนความรู้สึกที่ค่อนข้างรุนแรงลง
ขบวนการแบ่งแยกดินแดน มีอยู่ด้วยกัน 2 สายที่สำคัญ สายแรก เป็นการสืบทอดอุดมการณ์การต่อสู้ทางการเมือง จากเครือญาติสายเจ้าเมืองปัตตานีองค์สุดท้ายและเจ้าเมืองของหัวเมืองอีก 6 เมืองที่สูญสิ้นอำนาจทางการเมืองสมัยการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกสายหนึ่งคือสายที่สืบทอดอุดมการณ์จากกลุ่มลูกหลานของรายาปัตตานี หลังจากที่กลุ่มคนเหล่านี้ได้สิ้นชีวิตไปแล้ว และผนวกกับอุดมการณ์ทางด้านศาสนาเข้ามาเป็นตัวนำมวลชนให้เข้าร่วมอุดมการณ์ ซึ่งมี 5 กลุ่มหลักดังต่อไปนี่
โจรก่อการร้าย 5 กลุ่ม
มีชื่อเป็นภาษามาเลเซียว่า Barisan Nasional Pembebasan Pattani : B.N.P.P. หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า National Liberation Front of Pattani: N.L.F.P. เคลื่อนไหวปฏิบัติการระหว่าง พ.ศ.2490-2491 เป็นการร่วมก่อตั้งระหว่าง เต็งกูมามุด มะไฮยึดดิน บุตรชายคนที่ 7 ของพระยาวิชิตภักดี (อับดุลกอเดร) รายาปัตตานีองค์สุดท้าย สำเร็จการศึกษาจากปีนัง แล้วเข้ารับราชการในแผนกศึกษาของรัฐกลันตัน พยายามดำเนินการตามแนวความคิดของบิดาโดยได้ร่วมกับ เต็งกูบัตตารอ หรือเต็งกูอับดุล กาเดร์ และเต็งกูยะลา นาเซร์ หรือนายอดุลย์ ณ สายบุรี บุตรพระยาสุริยะบวรภักดี อดีตเจ้าเมืองสายบุรี ได้นำเอา "ขบวนการรวมเผ่ามาลายูที่ยิ่งใหญ่" (Kumpulan Meayu Pattani Raya : Kumpra) ซึ่งได้จัดตั้งขบวนการขึ้นในรัฐกลันตัน หลังจากที่บิดาของเต็งกูมามุด มะไฮยิดดิน สิ้นชีวิตลง มารวมกับกลุ่มก่อการร้ายของ เต็งกูยะลา นาเซร์ หรือนายอดุลย์ ณ สายบุรี โดยมี หะยีสุหลง โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตของรายาปัตตานีองค์สุดท้าย เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติในประเทศไทย เมื่อ พ.ค.2490 ร่วมกับผู้นำศาสนาอิสลามประมาณ 100 คน ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 7 ข้อ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 จนเป็นเหตุให้หะยีสุหลงถูกจับขังคุกในที่สุดในข้อหาเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดน
มีชื่อภาษามาเลเซีย ว่า BarisanRivolusi Nasional Melayu Pattani : B.R.N. เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2503 โดยนายหะยีอามีน โต๊ะมีนา บุตรชายของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา เป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ระหว่าง พ.ศ.2510 ได้จัดพิมพ์หนังสือ "รวมแห่งสันติ" เผยแพร่อุดมการณ์ของบิดา จนกระทั่งประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2503 ได้จัดตั้งหน่วยกู้ชาติตามแนวทางของ เปาะจิกาเข็ม หัวหน้ากบฏเปาะจิกา โดยร่วมกับตวนกูยะลา นาเซร์ ซึ่งแยกตัวมาจากขบวนการ B.N.P.P. จัดตั้งเป็นขบวนการปฏิวัติแห่งชาติ Barisan Rivolusi Nasional Melayu Pattani ได้กำหนดแผนการก่อความไม่สงบในวันฮารีรายอ 18 มีนาคม พ.ศ. 2508 โดยจะจับตัวผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจในระหว่างการอวยพร แต่เจ้าหน้าที่สืบทราบพฤติการณ์ก่อน จึงได้จับกุมตัว หะยีอามีนฯ พร้อมพวก 7 คน มาดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ จนถึงปลายปี พ.ศ.2508 จึงถูกปล่อยตัว ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองการทหารทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย
โจรก่อการร้ายองค์การปลดแอกแห่งชาติปัตตานี หรือ Pattani United Liberation Opqanization : P.U.L.O. หรือ Pertubohan Persatuan Pembebasan : P.P.P.P. เมื่อประมาณ พ.ศ.2505 มีชาวมุสลิมประมาณ 2,000 คน ซึ่งเดินทางจากประเทศไทย และมาเลเซียไปแสวงบุญที่กรุงเมกกะประเทศซาอุดิอารเบีย ได้ประชุมจัดตั้งสมาคมขึ้น 2 สมาคม คือ สมาคมนักศึกษาหนุ่ม (อาดู) มีชาวไทยมุสลิมเป็นประธาน และเลขาธิการ และสมาคมปัตตานีรวมซาอุดิอารเบีย มีชาวซาอุดิอารเบีย เป็นประธาน และชาวมาเลเซียเป็นเลขาธิการ ได้กำหนดนโยบายเพื่อแบ่งแยกดินแดน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทั้งโดยสันติวิธี และใช้กำลังอาวุธ จนกระทั่ง พ.ศ.2511 จึงมีการรวมตัวกันระหว่าง 2 สมาคมข้างต้นเป็นผลสำเร็จ และตั้งชื่อใหม่ว่า Pattani United Liberation Organization: P.U.L.O. หรือ Pertu Bohan Persatuan Pembebasan Pattani : P.P.P.P. มีตวนกูบีรอ กอตอนีรอ หรือกูบีรอ ณ วังคราม เป็นประธาน สมาชิกส่วนใหญ่เมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศไทย ได้ทำการเคลื่อนไหวในรูปกลุ่มพลังมวลชน มีการเดินขบวนเรียกร้องหลายครั้ง โดยเฉพาะระหว่าง 18 ธ.ค.2518 - 14 ธ.ค.2519 ที่ จังหวัดปัตตานี ประธานของขบวนการคือ หะยียูโซ๊ะ บินสุหลง หรือหะยี่ยูโซ๊ะ ปากีสถาน ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองการทหารทั้งในประเทศไทย และมาเลเซีย
GERAKAN MUJAHIDIN ISLAM PATANI มีความเป็นมาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพรรคพวกโจรก่อการร้ายหลายกลุ่มหลายขบวนการที่เคยปฏิบัติการเคลื่อนไหวมาในอดีต แต่ภายหลังได้ยุติการเคลื่อนไหวหรือลดบทบาทลง ซึ่งแกนนำหลักของกลุ่มเชื่อว่าประกอบด้วย แนวร่วมมูจาฮีดินปัตตานี ( BARISAN BERSATU MUJAHIDIN PATANI – BBMP ) และขบวนการมูจาฮีดินปัตตานี ( GERAKAN MUJAHIDIN PATANI – GMP) โดยแนวร่วมมูจาฮีดินถูกก่อตั้งขึ้นในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งมีบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่มีแนวความคิดที่จะร่วมขบวนการต่างๆ ที่ปฏิบัติการล้มเหลวและขาดเอกภาพให้สามารถรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวและมีความเข้มแข็ง ตลอดจนมีวัตถุประสงค์ที่เด่นชัดเหมือนกันในการปลดแอก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชากรส่วนใหญ่มีศรัทธานับถือศาสนาอิสลาม และสถาปนาอาณาบริเวณนี้เป็นรัฐอิสระ เรียกว่า “ รัฐปัตตานี ” ดารุลมุอารีพ ยึดถือหลักการต่อสู้เพื่อพิทักษ์และดำรงความเป็นธรรมตามแนวทางศาสนาอิสลาม หรือนัยหนึ่งคือหลักจีฮัด ( JIHAAD ) มีศูนย์การปฏิบัติการอยู่ในเมืองโกตามารู รัฐกลันตัน
BARISAN BERSATU KEMERDEKAAN PATANIเป็นกลุ่มโจรก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินการต่อสู้เพื่อปลดปล่อย 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ในห้วงระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลว และมีสภาพที่อ่อนแอลง ดังนั้นโจรก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ จึงมีแนวคิดในการรวมตัวให้เป็นเอกภาพในการเคลื่อนไหว แต่ไม่เคยบรรลุเป้าหมายอย่างสมบูรณ์แม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มอนุรักษนิยมมาเลเซียตะวันออก เพื่อให้เป็นเพียงต้นแบบในการปฏิวัติแยกดินแดน แต่ยังขาดความเชื่อมโยงให้เป็นระดับสากลกับการก่อการร้ายมุสลิม เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียเองก็ตระหนักถึงภัยของการแยกดินแดนของกลุ่มอนุรักษนิยมมุสลิมในมาเลเซียตะวันออก ซึ่งอาจจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มก่อการร้ายสากล การรวมตัวขององค์กรและขบวนการ 4 กลุ่มประกอบด้วย BIPP, BRN-CONGRESS, GMP และ NEW PULO ซึ่งเกิดจากมติของการประชุมที่เรียกว่า “ การประชุมบรรดานักต่อสู้เพื่อปัตตานี ” เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2532 ให้จัดตั้งองค์การร่วมหรือองค์การปายง (UMBRELLA ORGANIZATION) อันมีวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างเอกภาพและดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
กล่าวได้ว่าการก่อตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนและการก่อการร้ายของขบวนการต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสาเหตุมาจากพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับหัวเมืองมลายูในอดีต นโยบายของรัฐที่นำมาใช้ในพื้นที่มีส่วนสร้างความรุนแรง ประกอบกับข้าราชการในพื้นที่ที่มีความหวาดระแวงต่อชาวมุสลิมและไม่มีความเข้าใจในวิถีชีวิตของประชาชน ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนและขบวนการต่างๆ เติบโต และได้รับการสนับสนุนจากมวลชนในระดับที่กว้างขวางมากขึ้น

ที่มา

ชัยวัฒน์ สถาอนันท์. ความรุนแรงกับการจัดการความจริง: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551.
ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ (บรรณาธิการ), แผ่นดินจินตนาการ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2551.
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย. กรุงเทพฯ: โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549.
นิธิ เอียวศรีวงศ์, (บรรณาธิการ). มลายูศึกษา: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชนมลายูมุสลิมในภาคใต้. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2550. (ความรู้เที่ยงคืนชุดที่ 4).
พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และอัจฉราพร กมุทพิสมัย (บรรณาธิการ). “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และกบฏผู้มีบุญ” ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์ จำกัด, 2527.
เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร.หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์. กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน. 2547.
ปิยนาถ บุนนาค. นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.  2475-2516). กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.
วรมัย กบิลสิงห์. ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ร่วมด้วยช่วยกัน, 2548.
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. สันติภาพในเปลวเพลิง. กรุงเทพฯ: เนชั่นบุกส์. 2547.
อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง. ดูซงญอ ฤๅคือกบฏ. ทางนำ. ตุลาคม 2543. หน้า 7.
อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี แปลและเรียบเรียงโดย หะสัน หมัดหมาน มะหามะซากี เจ๊ะหะ และ ดลมนรรจ์ บากา. ปัตตานี: โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี. 2541 หน้า 53-54.
อิมรอน มะลูลีม. วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ: กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ. อิสลามิคอะคาเดมี. 2538. หน้า 161.
ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ และชัยวัฒน์ สถาอนันท์. ภูมิหลังชาวมุสลิมในประเทศไทย /ปัญหาอิสลามในสี่จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.
สุรินทร์ พิศสุวรรณ และชัยวัฒน์ สถาอานันท์. สี่จังหวัดภาคใต้กับปัญหาสิทธิมนุษยชน. กรุงเทพฯ, สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527.
สุพจน์ แจ้งเร็ว, ผู้แปล. บทเรียนจากประวัติศาสตร์: ฮัจญีสุหลงกับจังหวัดมุสลิมภาคใต้, แปลจาก Lesson from History: Hajji Sulong and the Muslim Provinces of the South. ผู้เขียน Dr. James Ockey, Senior Lecturer, Department of Political Science University of Canterbury, New Zealand. ใน เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร.หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์. กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ: มติชน, 2547.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม