วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กำเนิดพระพุทธรูป


พุทธศาสนายุค พ.ศ.๕๐๐-๘๐๐
(Buddhism in B.E. 500-800)

        หลังจากที่พระเจ้าปุษยมิตรแห่งราชวงศ์สุงคุได้ทำลายพุทธศาสนาลงอย่างหนัก ทำให้สถานการณ์พุทธศาสนาโดยรวมอ่อนแอลงอย่างมากแต่ศาสนาพราหมณ์เริ่มได้รับการสนับสนุนฟื้นฟูมากขึ้น ราชวงศ์สุงคะปกครองอยู่ ๑๐๒ ปีจึงสิ้นสุดลง ต่อมาจึงปกครองด้วยราชวงศ์กาณวะราชวงศ์นี้ส่วนมากเป็นพุทธศาสนิกชนจึงทำให้สถานการณ์พุทธศาสนาดีขึ้นมาก ราชวงศ์นี้มีกษัตริย์ปกครอง ๔ พระองค์ รวมเวลา ๔๕ ปี ในยุคนี้ได้มีพระมหากษัตริย์ที่มีเดชานุภาพยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในอินเดียทางเหนือ โดยสายเลือดพระองค์ไม่ใช่ชาวอินเดียอารยัน แต่เป็นเชื้อสายฝรั่งกรีก ผู้ที่ทำให้พุทธศาสนาแผ่ไพศาลในอินเดียเหนือและเลยไปถึงเอเชียกลาง พระองค์คือพระเจ้ามิลินท์หรือเมนันเดอร์ตามสำเนียงกรีก


๑.พระเจ้ามิลินท์ ( King Milinda) 


เหรียญตราของพระเจ้ามิลินท์

     พระเจ้ามิลินท์ (Milinda) หรือเมนันเดอร์ (Menander) ได้ขยายอิทธิพลลงมาถึงเมืองตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำคงคา ปรากฏในตำนานฝ่ายบาลีและฝ่ายจีนว่า ตอนแรกพระองค์มิได้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้ขัดขวางพุทธศาสนาด้วยพระราโชบายต่าง ๆ อนึ่ง เนื่องจากพระองค์เป็นผู้แตกฉานในวิชาไตรเพทและศาสนาปรัชญาต่าง ๆ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย จึงได้เที่ยวประกาศโต้วาทีกับเหล่าสมณะพราหมณ์ ก็สามารถเอาชนะสมณะพราหมณ์เหล่านั้นรวมทั้งพระภิกษุในพุทธศาสนาขนาดภิกษุสงฆ์พากันอพยพหนีออกจากนครสาคละ (ปัจจุบันอยู่ในเขตปากีสถาน) จนหมดสิ้น เมืองสาคละว่างภิกษุสงฆ์อยู่ถึง ๑๓ ปี จนกระทั้งคณะสงฆ์ต้องเลือกสรร ส่งพระภิกษุหนุ่มผู้เจนจบพระไตรปิฎกและลัทธินอกพระศาสนาองค์หนึ่งชื่อ พระนาคเสนขึ้น ข้อความที่อภิปรายปุจฉาวิสัชนากันนั้นต่อมามีผู้รวบรวมขึ้นเรียกว่า มิลินทปัญหา (Milindapanha) คัมภีร์มีทั้งในฉบับสันสกฤตและบาลี ในฉบับสันสกฤต ให้ชื่อว่า "นาคเสนภิกษุสูตร" ได้มีผู้แปลถ่ายออกสู่ภาษาจีนประมาณพันปีเศษมาแล้ว ส่วนภาษาบาลีนั้นพระพุทธโฆษาจารย์ คันธารจนาจารย์ ชาวมคธ เป็นผู้แต่งคำนิทาน และคำนิคมประกอบเข้าไว้ในมิลินทปัญหาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๙ ส่วนเนื้อธรรมอันเป็นตัวปัญหามิได้กล่าวไว้ว่าผู้ใดแต่ง อย่างไรก็ดีในฉบับสันสกฤตได้บอกชาติภูมิของพระนาคเสนว่าเป็นแคว้นกัศมีระ ในฉบับบาลีกล่าวว่า


พระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน


    ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์ บิดาชื่อโสณุตตระอาศัยอยู่ ณ กชังคลคาม ข้างภูเขาหิมาลัย เป็นข้อความตรงกัน (ภูเขาหิมาลัยตั้งต้นจากแคว้น กัศมีระ (Kashmir) ของอินเดียผ่านเนปาล ทิเบต ภูฏาน สิกขิมจดชายแดนพม่า) ในยุคนั้นพุทธศาสนานิกายสรวาสดิกวาทิน กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ พระนาคเสนอาจจะสังกัดนิกายนี้ และคัมภีร์ฝ่ายจีนกล่าว่าพระนาคเสนได้รจนาคัมภีร์ตรีกายศาสตร์ด้วยผลของการอภิปราย นับเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงต่อพุทธศาสนา เพราะพระนาคเสนชนะส่วนพระเจ้ามิลินท์ยอมจำนนเกิดพระราชศรัทธาปสาทะในพุทธศาสนาเพราะทรงแจ่มแจ้งในพุทธธรรมโดยตลอดมา วาระสุดท้ายของพระองค์ทรงสวรรคตที่ในกระโจมที่พัก และมีการพิพาทกันระหว่างเจ้าเมืองต่างๆ ของอินเดีย และมีการแจกพระอัฐิของพระเจ้ามิลินท์แก่เมืองต่าง ๆ คล้ายกับพระศาสดา หลังจากการสวรรคตของพระเจ้ามิลินท์แล้วกษัตริย์กรีกที่ปกครององค์ต่อมาอ่อนแออาณาจักรจึงแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์นี้คือพระเจ้าเฮอมีอุส (Hermaeus) ก่อนที่อาณาจักรจะแตกสลายพร้อมกับการขยายอำนาจของพวกสกะ (Sakas) จากเอเชียกลางเข้าครอบงำอาณาจักรของพระเจ้ามิลินท์เดิม เมื่อทราบประวัติพระเจ้ามิลินท์แล้ว ควรที่จะได้ทราบประวัติของพระนาคเสน พอสมควรดังนี้

๒.พระนาคเสน ( Nagasena)

     ท่านนับว่าเป็นผู้ทำให้พระเจ้ามิลินท์กลับมานับถือพุทธศาสนา และสนับสนุนเป็นอย่างดี ในมิลินทปัญหากล่าวว่า พระนาคเสนเกิดที่เมืองกชังคละ แถบภูเขาหิมาลัย บิดาเป็นพราหมณ์ชื่อว่าโสณุตตระ ในวัยเด็กอายุ ๗ ขวบได้ศึกษาไตรเพทและศาสตร์อื่น จนเจนจบ จึงถามบิดาว่ามีศาสตร์อื่นที่จะต้องเรียนบ้างไหม บิดาตอบว่ามีเท่านี้ ต่อมาวันหนึ่งได้พบพระโรหนะมาบิณฑบาตที่บ้านบิดา เกิดความเลื่อมใสจึงให้บิดานิมนต์มาที่บ้านถวายภัตตาหารและคิดว่าพระรูปนี้ ต้องมีศิลปวิทยามาก จึงขอศึกษากับพระเถระ พระเถระกล่าวว่า ไม่อาจสอนผู้ที่ไม่บวชได้ จึงของบิดาบวชที่ถ้ำรักขิต ได้ศึกษาพุทธศาสนากับพระโรหนเถระ


    ต่อมาเมื่ออายุ ๒๐ ปีก็ได้รับการอุปสมบท วันหนึ่งเกิดตำหนิอุปัชฌาย์ในใจว่าอุปัชฌาย์ของเราช่างโง่จริง ให้เราศึกษาพระอภิธรรมก่อนเรียนสูตรอื่น ๆ พระโรหณะผู้อุปัชฌาย์ทราบกระแสจิตจึงกล่าวว่า พระนาคเสนคิดอย่างนี้หาถูกต้องไม่ พระนาคเสนทราบว่าพระอุปัชฌาย์รู้วาระจิตของตน จึงตกใจและขอขมา แต่พระเถระกล่าวว่า เราจะให้อภัยได้ง่าย ๆ ไม่
 
     พระนาคเสนต้องไปทำภารกิจอย่างหนึ่งที่สำคัญคือต้องไปโปรดพระเจ้ามิลินท์ที่ เมืองสาคละ ให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยก่อนจึงจะอภัยให้ และแล้วพระโรหนะก็ส่งไปศึกษาเพิ่มเติมกับพระอัสสคุตตะ ที่วัตตนิยเสนาสนะวิหารเมืองสาครพักอยู่ ๗ วัน พระเถระจึงยอมรับเป็นศิษย์ ต่อมาได้แสดงธรรมเทศนาให้เศรษฐีท่านหนึ่งฟังจนทำให้เขาบรรลุโสดาบันและเมื่อมาไตร่ตรองคำสอนที่ตนสั่งสอนอุบาสกก็บรรลุโสดาบันตาม ต่อมาไม่นานจึงเดินทางจากสาคละไปสู่ปาฎลีบุตร พักที่อโศการามแล้วศึกษาธรรมกับพระธรรมรักขิตจนจบภายใน ๖ เดือนพระนาคเสนเดินทางไปบำเพ็ญเพียรที่รักขิตคูหาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหันต์ คณะสงฆ์ทั้งหลายจึงอนุโมทนาแล้วประกาศให้ท่านไปโต้วาทะกับพระยามิลินท์ พระนาคเสนจึงเดินทางไปนครสาคละ แล้วพบพระเจ้ามิลินท์ที่นั้น เมื่อได้ตอบโต้ปัญหากับพระเจ้ามิลินท์แล้ว ทำให้พระองค์เกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนาขึ้นมา และเปล่งว่าจาถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

๓.กำเนิดพระพุทธรูป ( Creation of Buddha image)

    ทฤษฎีการกำเนิดพระพุทธรูป ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่มีประเด็นที่น่าพิจารณาอยู่ ๓ ประเด็นคือ 

พระพุทธรูปแบบคันธาระ ศิลปะกรีกโรมัน 

     ๑.เชื่อว่าพระพุทธรูปเกิดมาในสมัยที่พุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพ อยู่ในหนังสือของพระถังซัมจั๋งซึ่งเดินทางเข้าอินเดียได้กล่าวถึงพระเจ้าอุเทนเมืองโกสัมพี สร้างพระพุทธรูปไม้จันทน์บูชาพระพุทธองค์ และพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถีก็สร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นเช่นกัน แต่หลักฐานทางโบราณคดียังไม่มีการขุดพบ จึงยังไม่มีสิ่งยืนยันที่เด่นชัดหรือมีน้ำหนักพอ นอกจากนั้นยุคสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก่อนพุทธปรินิพพานสองร้อยปีเศษ ก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์สร้างพระพุทธรูปแต่อย่างใดเป็นแต่แกะสลักรอยพระพุทธบาท แทนเท่านั้น


     ๒.เกิดในสมัยพระเจ้ามิลินท์หรือเมนันเดอร์ซึ่งเป็นกษัตริย์กรีกปกครองอินเดียโดยมีเมืองหลวงที่สาคละ ในหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์ของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่าเริ่มสร้างสมัยนี้ แต่มาแพร่หลายสมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราช ในหนังสือประวัติศาสตร์ พุทธศาสนาของเจ้าคุณพระราชธรรมนิเทศ (ระบบฐิตญาโณ) ก็กล่าวว่าสร้างในสมัยพระเจ้าคุณพระเจ้ามิลินท์ เช่นกัน ทฤษฎินี้มีผู้ยอมรับมากที่สุด


     ๓.เกิดในสมัยพระเจ้านิษกะมหาราช ปกครองอินเดียเหนือโดยมีศูนย์กลางที่เมืองโปุรุษปุระ หรือ เปชวาร์ หนังสือกำเนิดพระพุทธรูปหลายสมัยของบรรจบ เทียมทัตกล่าวว่าพระพุทธรูปแบบคันธารราฐเกิดในสมัยพระเจ้ากนิษกะนี้ ก่อนหน้ายังไม่มีการสร้างแต่อย่างใด พระเจ้ากนิษกะทรงรับสั่งให้ช่างกรีก สร้างพระพุทธรูปขึ้นตามแนวพุทธลักษณะศิลปะผสมกรีก-โรมัน

 
      อย่างไรก็ตามการสร้างพระพุทธรูปส่วนมากแล้ว เชื่อกันว่าเริ่มจากสมัยพระเจ้ามิลินท์เป็นต้นมา กล่าวคือเมื่อชนชาติกรีกเข้ารุกรานอินเดีย เมื่อชนชาติกรีกที่เข้ามาตั้งแต่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เข้ารุกรานอินเดียได้แล้ว ก็ได้ตั้งรกรากถาวรที่บากเตรีย คันธาระ สาคละและหลายส่วนของอาฟกานิสถาน ปากีสถานและอินเดียเหนือ เริ่มมาเลื่อมใสในพุทธศาสนา คำว่า คันธาระ (Gandhara) มาจากคำว่า คันธารี คติของพวกกรีกไม่รังเกียจสร้างรูปเคารพและก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นพุทธมามกะก็ได้สร้างรูปเคารพของตนอยู่มากมายหลายองค์ด้วยกัน เช่น เทพเจ้ายูปีเตอร์หรือ ซิวส์ ฮิรา เฮอร์มีส อิรีสอพอลโล อาร์เตมิส เอเธนา โปซีดอน อาโปรดตี ฯลฯ เทพเจ้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพระเจ้าประจำธรรมชาติ และพวกกรีกสร้างเป็นเทวรูปดุจมนุษย์มีสัดส่วนเป็นสันงดงามจนจัดเป็น สัญลักษณ์อันหนึ่งแห่งศิลปกรรมของชาติกรีกโบราณ

    
      ครั้นเมื่อเปลี่ยนใจมาเลื่อมใสพุทธศาสนา นิสัยความเคยชินที่ได้กราบไหว้บูชาเทวรูป ทำให้พวกกรีกเกิดมโนภาพคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาบ้าง เพื่อให้เป็นทัสนานุตตริยะยามนึกถึงพระบรมศาสดา ไม่เกิดความว้าเหว่เปลี่ยวใจ ฉะนั้นจึงได้เกิดคติสร้างพระพุทธรูปขึ้นในหมู่ชาวกรีกขึ้นก่อน ภายหลังพุทธมามกะชนชาติอินเดียได้พบเห็นพระพุทธรูปเข้าก็เกิดความปสาทะจึง ได้หันมานิยมสร้าง พระพุทธรูปตามคติของชาวกรีกขึ้นแต่ได้ดันแปลงเป็นแบบอย่างศิลปกรรมแห่งชนชาติของตน แม้พวกพราหมณ์พลอยเกิดสร้างเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ขึ้นกราบไหว้บูชาคติรังเกียจสร้างรูปเคารพจึงเป็นอันจืดจางไปจากชาติชาวอินเดียโดยพฤตินัย ในสมัยพระเจ้ามิลินทะจึงนับว่าเป็น ยุคแรกแห่งการสร้างพระพุทธรูป ลักษณะพุทธรูปของช่างชาวกรีกก็สร้างให้เหมือนมนุษย์จริงลักษณะที่เห็นว่างดงามดวงพระพักตร์คล้ายคลึงกับเทวรูป จนบางครั้งทำเป็นพระมัสสุ (หนวด) บนพระโอษฐ์ก็มี เบื้องบนพระเศียรทำเป็นพระเกตุมาลา (ขมวดผม) เพื่อให้เห็นแตกต่างจากรูปพระสาวก เส้นพระเกศาก็ทำเป็นลักษณะม้วนเกล้า ดังเช่นพระเกศาของพระกษัตริย์ ผ้ากาสาวพัสดุ์ทำเป็นรอยกลีบย่นเห็นชัดเจนดุจผ้าจริง ๆ และมักจะมีประภามณฑลรายรอบพระเศียร แต่ไม่มีลวดลาย พระพุทธปฏิมากรดังกล่าวนี้ ช่างกรีกคิดสร้างสรรค์เป็นปางต่าง ๆ โดยอาศัยพระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเป็นบรรทัดฐาน เช่น ปางตรัสรู้ก็ทำเป็นขัดสมาธิวางพระหัตถ์ซ้อนกันภายใต้ร่มไม้โพธิพฤกษ์ ปางแสดงพระธรรมจักรทำเป็นรูปประทับบนบัลลังก์ และจีบพระดรรชนี เป็นวงกลมดุจวงจักรดังนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ดีพุทธศิลป์ดังกล่าวนี้ มาแพร่หลายรุ่งเรืองอย่างกว้างขวางก็ในสมัยต่อมาคือสมัยพวกอินโดไซรัส หรือ พวกง้วยสีมีอำนาจในอินเดียภาคเหนือเรียกว่า "พุทธศิลป์แบบคันธาระ (Gandhara Arts)" ทั้งนี้เพราะเกิดขึ้นแถวแคว้นคันธาระนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม