วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประวัติการใช้ ผ้าคลุมผม และ หมวกกปิเยาะห์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


ประวัติการใช้ ผ้าคลุมผม 
และ หมวกกปิเยาะห์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


     ก่อนพุทธศตวรรษที่ 11 การแต่งกายของชาวไทยมุสลิมในภูมิภาคนี้รับรูปแบบมาจากวัฒนธรรมของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ปรากฏว่าวัฒนธรรมใดที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลามค่อยๆ ยกเลิกไป ดังเช่น การแต่งกายของชาวลังกาสุกะแต่เดิมจะคล้ายกับชาวอินเดีย คือ ชายนุ่งผ้าผืนเดียวใช้พันรอบตัว ชายผ้าด้านหนึ่งนำมาพาดไหล่เรียกว่าแบบ “โดตี”

       สำหรับการแต่งกายของชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ การแต่งกายบางแบบก็เลิกใช้แล้ว อย่างเช่นชุดกระโจมอกของผู้หญิงได้เลิกใช้มาประมาณ 80 ปีมาแล้ว ทั้งที่ในอดีตเคยเป็นที่นิยมทั่วไปสำหรับใส่อยู่กับบ้าน หรือออกงานนอกบ้านโดยใช้ผ้านุ่งเป็นผ้าสตือรอ (ไหม) เป็นถุงนุ่งยาวกรอมเท้า (ดูภาพที่1) ผ้ากระโจมอก มักใช้ผ้าแอแจ๊ะ (ผ้าไหมลายต่างๆ เช่น ลายคดกริชตามแนวนอน ลายมัดหมี่ หรือผ้าตลิโป๊ะ (ผ้าไหมลิโป้จากจีน) หรือผ้าปาเต๊ะ และผ้าคลุมผมมักใช้ผ้าป่านมีดอกสวยงาม หรือผ้าปลางิน (ผ้าแพรชนิดหนึ่ง ทำเป็นดอกดวงโต โดยการใช้ใบตองแห้งมัดแล้วย้อมสีพื้นของผ้า ผ้าชนิดนี้ ทำในปัตตานีสมัยก่อน) วิธีคลุมก็อาจคลุมโดยปล่อยชายทั้งสองข้างไว้ข้างหน้า หรือจะตลบชายข้างใดข้างหนึ่ง ให้พาดโอบไปข้างหลังก็ได้ ผู้ที่แต่งกายแบบนี้มักนิยมเกล้าผมมวยแบบโบราณ หรือปล่อยสยายลงมาเมื่ออยู่กับบ้าน (จิตติมา ระเด่นอาหมัด ,2529 :37 )


ภาพที่ 1 ในอดีตหญิงไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่งกายชุดกระโจมอกเมื่ออยู่กับบ้าน  ซึ่งการแต่งกายแบบนี้ได้ยกเลิกไปเมื่อ 80 ปีมาแล้ว ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540  ที่มา : จุรีรัตน์ บัวแก้ว, 2540 : 194.

       งานวิจัยนี้จะกล่าวเน้นเฉพาะเรื่องผ้าคลุมผมและหมวกกปิเยาะห์เท่านั้น สำหรับผ้าคลุมผมเรียกว่า ฮิญาบ (Hijab) มาจากภาษาอาหรับว่า ฮายาบา (Hayaba) แปลว่า การอ่อนน้อมถ่อมตน ความสงบเสงี่ยม ซึ่งหมายถึงผู้ที่สวมผ้าคลุมผมแล้วมองดูสุภาพและสงบเสงี่ยม ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในคัมภีร์กุรอาน บทที่ 24 อายะฮฺที่ 30-32 (“Hijab”. http:www.Islamiclifestyle.com/Hijab.htm 18 สิงหาคม 2548) เนื้อผ้าที่ใช้ในการผลิต ผ้าคลุมผมมีหลายชนิด เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าไหม ชีฟอง เป็นต้น ผ้าคลุมผมมีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกัน เพราะสตรี ในแต่ละประเทศมีวิธีการใช้ผ้าคลุมผมในรูปแบบที่แตกต่างกัน บางประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่บางประเทศยังคงอนุรักษ์แบบเดิมไว้ 

     อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าหญิงในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มมีการใช้ผ้าคลุมผมเมื่อใด พบเพียงหลักฐานเป็นภาพถ่าย การแต่งกายของคหบดีเมืองปัตตานี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวมเสื้อตัวยาว แขนยาว นุ่งผ้าตาหมากรุก ห่มสไบแล้วเกล้ามวยต่ำ ส่วนคนรับใช้กระโจมอก นุ่งผ้าถุงผ้าตาหมากรุกและยังไม่มีการใช้ผ้าคลุมผม (ดูภาพที่ 2)

       นอกจากนี้ ยังพบภาพถ่ายการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เมืองปัตตานีนั้น เริ่มมีการใช้ผ้าคลุมผมสตรีบ้างแล้ว (ดูภาพที่3) แต่จากภาพถ่ายที่ประชาชนมารอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว ก็ไม่ปรากฏให้เห็นว่ามีการใช้ผ้าคลุมผมสตรีแต่อย่างใด (ดูภาพที่ 4)


ภาพที่ 2 การแต่งกายของคหบดีเมืองปัตตานีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่มีการใช้ผ้าคลุมผมแต่นำมาห่มเป็นผ้าสไบ   
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ



ภาพที่ 3 ราษฎรมารอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พลับพลาเมืองปัตตานี สังเกตการแต่งกายของหญิงมีทั้งนุ่งผ้ากระโจมอก มีจำนวนน้อยที่ใช้ผ้าคลุมผม ชายสวมเสื้อ นุ่งผ้าตาหมากรุก บางรายใช้ผ้าโพกศีรษะ
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ 

อ้างถึงใน สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2547 :54


ภาพที่ 4 ชาวเมืองปัตตานีจัดขบวนแห่บุงอซิเฆะ(บุหงาสิเระ)ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2472 หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อและใช้ผ้าคล้องคอ
ไม่ใช้ผ้าคลุมผม ส่วนชายสวมเสื้อคอปิด แขนยาว นุ่งผ้าปาลิกัต 
สวมหมวกซอเก๊าะและบางคนโพกผ้าทับหมวกกปิเยาะห์
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ 

อ้างถึงใน สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2547 : 60


     อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่าผู้หญิงมุสลิมน่าจะมีการใช้ผ้าคลุมเรื่อยมา แต่ใช้ในหลายลักษณะได้แก่ พาดไหล่ คลุมไหล่ คลุมศีรษะ ปิดผมบางส่วนและปิดผมทั้งหมด จนกระทั่งถึงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 ได้แถลงนโยบายสำคัญคือการนำประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นอารยะ ซึ่งรัฐบาลได้วางแนวทางในการปฏิบัติที่สำคัญ 3 ประการคือ การสร้างความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ การสร้างความเป็นปึกแผ่นของชาติ และ การสร้างวัฒนธรรมอันดีงาม

      สำหรับนโยบายการสร้างชาติทางวัฒนธรรมนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้หญิงนุ่งผ้าโสร่งและคลุมผมตามประเพณีนิยมของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ข้าราชการท้องถิ่นได้รับคำสั่งให้ชักจูงผู้หญิงมุสลิมเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงแบบไทย กระโปรงแบบฝรั่ง และสวมหมวกแทนผ้าคลุมผม จากคำสั่งส่วนกลางดังกล่าว กรมการจังหวัดปัตตานีได้รายงานกลับมาว่า ในชั้นแรกชาวไทยมุสลิมไม่ยอมเปลี่ยนแบบเครื่องแต่งกาย จึงต้องเรียกประชุมชี้แจงว่าผู้ที่แต่งกายแบบเดิมจะไม่ได้รับความสะดวก ในการติดต่อกับราชการ (สุวดี ธนประสิทธิ์พัฒนา, 2542 :116 ) (ดูภาพที่ 5)

ภาพที่ 5 ภาพโฆษณาให้ประชาชนในภาคใต้ปรับปรุงการแต่งกาย
ตามแบบที่รัฐบาลยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างว่าจะทำให้ไทย
เป็นประเทศอารยะตามแบบตะวันตกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2484
ที่มา : นันทิรา ขำภิบาล, “นโยบายผู้หญิงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม 

พ.ศ.  2481-2487 อ้างถึงใน สุวดี ธนประสิทธิ์พัฒนา, 2542 :117

         จากภาพโฆษณาที่รัฐบาลชักชวนให้ประชาชนที่ต้องออกไปในที่ชุมชน อย่าเปลือยกายท่อนบนหรืออย่าใช้ผ้าคาดอก อย่าสวมเสื้อชั้นในตัวเดียวหรือทูนของบนศีรษะ แต่ให้ผู้หญิงไว้ผมยาว สวมเสื้อชั้นนอกให้สะอาดเรียบร้อยและนุ่งผ้าสิ้น (ผ้าถุง) ผลปรากฏว่านโยบายการสร้างชาติทางวัฒนธรรมนี้ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้หญิงมุสลิมอย่างมาก เพราะต้องหันมาปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล หญิงมุสลิมที่เป็นสามัญชนไม่มีเงินตัดเสื้อ กระโปรงตัวใหม่ รองเท้า หมวกและกระเป๋า ก็ไม่สามารถออกไปทำธุระนอกบ้าน ต้องใช้วิธีการหยิบยืมเสื้อผ้าจากญาติพี่น้อง ดังนั้น ผู้ที่มีเสื้อผ้าตามที่รัฐบาลโฆษณามักเป็นผู้ที่มีฐานะดี เช่น ครอบครัวคหบดี ข้าราชการ เป็นต้น

        จากการสัมภาษณ์นางนิรอเมาะห์ ระเด่นอาหมัด อายุ 79 ปี (สัมภาษณ์,วันที่ 14 สิงหาคม 2548 ) ซึ่งเป็นครอบครัวข้าราชการเล่าว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ท่านพร้อมเพื่อนสาวซึ่งมีสามีเป็นข้าราชการอยู่แผนกเดียวกันที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี หลังจากท่านได้แต่งงานตามหลักศาสนาอิสลาม ฝ่ายสามีได้ปฏิบัติตามนโยบายรัฐนิยม เรื่องการจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงนัดแนะให้ภรรยาทั้งคู่ไปพบที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อจดทะเบียนสมรส ทั้งคู่จึงขี่จักรยานคนละคันโดยแต่งตัวตามแบบรัฐนิยม คือ นุ่งผ้าถุงจีบให้พองๆ คล้ายกระโปรง รัดด้วยเข็มขัด ใส่เสื้อเข้ารูปแขนยาวแบบตะวันตก สวมรองเท้าสานส้นเตี้ย เพื่อสะดวกในการ ขี่จักรยาน (ปกติสวมรองเท้าส้นสูง) สวมหมวกปีกกว้าง

       ท่านเล่าว่า ท่านสามารถใช้เชือกรัดใต้คาง ส่วนเพื่อนสาวสวมหมวก แต่ไม่ใช้เชือกรัดใต้คาง เมื่อขี่จักรยานโดยจับแฮนด์ข้างเดียวด้วยแขนขวา ส่วนแขนซ้ายจับหมวก ปรากฏว่าลมพัดแรง กระโปรงเปิด จึงต้องปล่อยมือข้างซ้ายมาจับกระโปรง ทำให้หมวกถูกลมพัดปลิวตกลงไป ในแม่น้ำ ตามสมัยรัฐนิยมเมื่อออกจากบ้านต้องสวมหมวก มิฉะนั้นจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ท่านกับเพื่อนปรึกษากันว่า ต้องเดินทางต่อไปให้ทันเวลานัด แต่เป็นการเดินทางที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลตลอดทาง แสดงว่าผู้หญิงมุสลิม ในสมัยนี้เมื่อออกจากบ้านจะไม่ใช้ผ้าคลุมผมซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายนี้กลายเป็นเรื่องตลกขบขันและ สร้างความรำคาญให้แก่ประชาชนอย่างแน่นอน เพราะปรากฏว่าเมื่อหมดสมัยรัฐนิยมประชาชนก็หันมาแต่งกาย ตามแบบท้องถิ่นนิยม และค่อยๆ พัฒนาตามแบบของผู้หญิงในประเทศสหพันธรัฐมาลายู (มาเลเซียตะวันตก ในปัจจุบัน) และอินโดนีเซีย เช่น ชุดกุรง กบายอ เป็นต้นช่วงนี้มีทั้งใช้ผ้าคลุมผมและไม่ใช้ ผู้หญิงสูงวัยมักใช้ผ้าป่านรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผืนใหญ่คลุมศีรษะ แต่หญิงสาวนิยมใช้ผ้าผืนเล็กชนิดบางทั้งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและสี่เหลี่ยมจัตุรัสคลุมไหล่หรือพาดไหล่

         ต่อมาการแต่งกายของผู้หญิงไทยมุสลิมได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นที่นิยมในหมู่หญิงสาว ลักษณะคล้ายเสื้อกบายอแต่เน้นรูปทรงกว่า เสื้อแบบนี้เรียกว่า บานง เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย ส่วนสตรีที่เป็นฮัจยะห์ นิยมคลุมผมด้วยผ้า 2 ผืนๆ หนึ่งเป็นผ้าสีขาวบางๆ มีลวดลายเล็กๆ หรือไม่มี เรียกว่า มือดูวาเราะห์ เป็นผ้าที่ซื้อมาจากซาอุดิอาระเบีย ใช้สำหรับปิดผมให้มิดชิด และอีกผืนหนึ่งเป็นผ้าป่านสำหรับคลุมตามประเพณีท้องถิ่น (จิตติมา ระเด่นอาหมัด ,2529 : 39-40 )


         เมื่อมีกลุ่มดะวะห์มาช่วยเผยแผ่ศาสนา ทำให้ศาสนาอิสลามมีบทบาทต่อการแต่งกายของชาวไทยมุสลิมมากขึ้น แต่เดิมลักษณะการแต่งกายเป็นศาสนาวัฒนธรรมอยู่แล้ว แต่อาจมีบางอย่างที่ขัดต่อศาสนาบ้าง เมื่อมีการเผยแพร่หลักปฎิบัติในการแต่งกายให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม โดยถือว่าการเปิดเผยอวัยวะบางส่วนของ ร่างกายเป็นการไม่เหมาะสม บริเวณที่ควรปกปิดสำหรับผู้ชายได้แก่ อวัยวะตรงกลางลำตัวตั้งแต่บั้นเอวลงไป ถึงกลางน่อง ถ้าเป็นหญิงต้องปกปิดทั่วร่างกาย เว้นแต่ใบหน้ากับมือเท่านั้น ขณะนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะ การแต่งกายของชาวไทยมุสลิมอย่างขนานใหญ่ กล่าวได้ว่าเป็นการปฏิวัติการแต่งกายก็ย่อมได้ ฉะนั้นภาพการแต่งกายคล้ายชาวอาหรับ ชาวปากีสถาน ชาวบังกลาเทศและอื่นๆ ได้ปรากฏให้เห็นตามท้องถนน แต่ในขณะ เดียวกัน เอกลักษณ์การแต่งกายดั้งเดิมก็ถูกดัดแปลง ให้เข้ากับหลักศาสนาอิสลามและสมัยนิยมตามลำดับ (จิตติมา ระเด่นอาหมัด ,2529 : 38 ) 
 
         ในปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือปอเนาะเกิดขึ้นทั่วไปในท้องถิ่น แต่ละโรงเรียนกำหนดให้นักเรียนหญิง แต่งกายปกปิดให้มิดชิดตามหลักศาสนาอิสลาม ในระยะแรกเรียกชุดนี้ว่า ชุดดะวะห์ (ตามชื่อกลุ่มดะวะห์) ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อชุด ฮิญาบ ซึ่งประกอบด้วย เสื้อกุรงสีขาว ผ้าถุงสีพื้นยาวกรอมเท้า จุดเด่นของชุดนี้คือ ผ้าคลุมผมซึ่งประกอบด้วยผ้าสีดำสำหรับปิดผมแล้วคลุมทับด้วยผ้าขาวหรือดำยาวคลุมไหล่ อีกชิ้นหนึ่ง (ดูภาพที่ 6 )


ภาพที่ 6 ปัจจุบันนักเรียนหญิงจะสวมผ้าคลุมผมสีขาวหรือสีดำ
ที่มา : เมืองโบราณ, 2536 :หน้าปก


          สำหรับประวัติความเป็นมาของการใช้หมวกกปิเยาะห์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ปรากฏหลักฐาน ชัดเจนว่ามีการใช้หมวกกปิเยาะห์เมื่อใด แต่ในสมัยโบราณ ชายนิยมแต่งกายด้วยชุดปูฌอปอตอง ซึ่งปัจจุบัน ไม่นิยมแล้ว ประกอบด้วย เสื้อคอกลมสีขาว ผ่าหน้ายาวพอสมควร สวมทางศีรษะได้ ติดกระดุมสามเม็ด แขนสั้น ส่วนผ้าที่นุ่งมีลักษณะเหมือนผ้าขาวม้า ทำด้วยสีสันค่อนข้างฉูดฉาด มักเย็บเป็นถุง ใช้นุ่งทับบนเสื้อ วิธีนุ่งต้องให้ชายทั้งสองข้างห้อยอยู่ตรงกลางเป็นมุมแหลม (ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าปูฌอปอตอง) มีผ้ายือแฆ เป็นผ้าจากเมืองจีนคล้ายแพรดอกในตัวหรือไหม เป็นผ้าที่มีขนาดเล็กกว่านุ่งทับบนผ้าปูฌอปอตองอีกชั้นหนึ่ง เสร็จแล้วเหน็บกริชหรือหอกด้วยก็ได้ 

         การแต่งกายแบบนี้นิยมใช้สตาแงโพกศีรษะ ภาษามลายูเรียกว่า สตางัน หรือ สตาแง เป็นผ้าโพกศีรษะที่พับเป็นรูปต่างๆ (ดูภาพที่ 7 ) นอกจากนี้ยังมีภาพวาดขณะกองทัพไทยขนปืนใหญ่นางพญาตานีลงเรือสำเภา เป็นรูปชายแต่งกายแล้วมีผ้าโพกศีรษะ (ดูภาพที่ 8) ซึ่งในสมัยนี้อาจจะยังไม่นิยมสวมหมวกกปิเยาะห์ ในขณะเดียวกันจากภาพถ่ายเจ้าเมืองของ 7 หัวเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สะท้อน ให้เห็นการใช้หมวกรูปทรงต่างๆ โดยเฉพาะหมวกซอเก๊าะเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว (ภาพที่ 9-14)


ภาพที่ 7 การแต่งกายของชายไทยมุสลิมในสมัยโบราณในชุดปูฌอปอตอง 

โดยใช้สตาแงเป็นผ้าโพกศีรษะ ปัจจุบันได้เลิกใช้ไปแล้ว
ที่มา : จิตติมา ระเด่นอาหมัด ,2529 : 39


          ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชนชั้นปกครองและข้าราชการนิยมใช้ผ้าโพกศีรษะ เมื่อแต่งกายด้วยชุดท้องถิ่นและชุดเครื่องแบบข้าราชการ จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีการแต่งกายด้วยชุดสากลนิยมและชุดข้าราชการมักใช้หมวกซอเก๊าะ (ดูภาพที่ 9 -15) ส่วนประชาชนสวมเสื้อแขนสั้น นุ่งผ้าตาหมากรุกแล้วโพกศีรษะ (ดูภาพที่ 8และ14) ในอดีต หมวกซอเก๊าะทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีดำ มีทั้งที่ทำในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสั่งซื้อจากอินโดนีเซีย นิยมใช้ทั่วไปเวลาออกนอกบ้าน รวมทั้งไปละหมาดที่มัสยิด ต่อมาความนิยมลดลง เนื่องจากหมวกกปิเยาะห์ใช้สะดวกกว่า แต่ในปัจจุบันมีการนำเข้าหมวกซอเก๊าะจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศแถบตะวันออกกลาง

ภาพที่ 8 กองทัพไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ตีเมืองตานีได้แล้วขนปืนใหญ่ “นางพญาตานี” ลงเรือสำเภา สะท้อนให้เห็นชาวเมืองตานีแต่งกายแล้วโพกศีรษะ
ที่มา : โครงภาพพระราชพงศาวดาร, 2526 

อ้างถึงใน สุดจิตต์ วงษ์เทศ, 2547 : 35

ภาพที่ 9 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับยืนทางขวามือ) ทรงฉลองพระองค์ เสื้อตือโละบลางอ ทรงพระภูษาปาลิกัต พระมาลาซอเก๊าะตามแบบชายไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเสด็จประพาสหัวเมืองมลายู
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ, 11 ธันวาคม 2539 อ้างถึงใน จุรีรัตน์ บัวแก้ว, 2540 : 197.

ภาพที่ 10 พระยาสุริยสุนทรบวรภักดี ศรีมหารายามัตตาอับดุล วิบุลยขอบเขตประเทศราช (เต็งกูอับดุลมุฏฏอเล็บ หรือ นิวิตำนาเซร์)
พระยาเมืองสายบุรี สวมหมวกสีขาวและโพกผ้า
ที่มา : http://kaekae.pn.psu.ac.th/psupn/file/pn_picture_pn-old0003.jpg

ภาพที่ 11 พระยาพิทักษ์ธรรมสุนทรนริศรสุรบดินทร์นรินทรภักดี (เต็งกูเดร์)
ผู้กำกับทำนุบำรุงราชการเมืองปัตตานี สวมเสื้อแขนยาว คอปิด นุ่งผ้าปาลิกัต โพกผ้าที่ศีรษะ (สตาแง)
ที่มา : http://kaekae.pn.psu.ac.th/psupn/file/pn_picture_pn-old0002.jpg



ภาพที่ 12 พระยาภูผาภักดี ศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา 

(เต็งกูเงาะซำซูดิน) เจ้าเมืองระแงะโพกผ้า ที่ศีรษะ
ที่มา : http://kaekae.pn.psu.ac.th/psupn/file/pn_picture_pn-old0005.jpg


ภาพที่ 13 พระวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตประเทศราช (เต็งกู อับดุลกาเดร์) สวมหมวกซอเก๊าะสีดำ  ที่มา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตติมา ระเด่นอาหมัด


ภาพที่ 14 พลทหารเมืองปัตตานีนุ่งผ้าถุงแล้วนุ่งผ้าตาหมากรุกแบบปูฌอปอตอง โพกผ้าที่ศีรษะ ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ



ภาพที่ 15 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ

ให้จัดซื้ออาหาร พระราชทานราษฎรเมืองปัตตานี
ในงานฉลองศาลาวัดตานีนรสโมสรเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2448 ในภาพจะเห็นข้าราชการเมืองปัตตานีสวมเสื้อคอปิด นุ่งผ้าปาลิกัต โพกผ้าที่ศีรษะ
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ

อ้างถึงใน สุดจิตต์ วงษ์เทศ, 2547 : 45

           ต่อมาชายมุสลิมเมื่อแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแล้วจะสวมหมวกซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ หมวกซอเก๊าะและหมวก กปิเยาะห์ คำว่าหมวกกปิเยาะห์นั้นเป็นคำภาษาอาหรับว่า Kupiah หรือ Tokiah สันนิษฐานว่าประเพณีการสวม หมวกกปิเยาะห์นั้นเข้ามาพร้อมกับการรับนับถือศาสนาอิสลาม 

         เนื่องจากการสวมหมวกกปิเยาะห์ถือเป็นสัญลักษณ์ของศาสนิก ชายมุสลิมใช้สวมศีรษะ เพราะยึดท่านศาสดาและผู้นำทางศาสนาเป็นแบบอย่างของการแต่งกาย ใช้สวมได้ทุกเวลาถือเป็นสิ่งที่ดีงาม รูปทรงของหมวกกปิเยาะห์ บางแบบจะคล้ายคลึงกับหมวกของนักบวชหรือผู้นำทางศาสนายิวและศาสนาคริสต์ (อับดุลเราะมัน เจ๊ะอารง, (สัมภาษณ์), 5 สิงหาคม 2548) แต่เดิมหมวกกปิเยาะห์ใช้ในกลุ่มโต๊ะครูและโต๊ะปาเก และค่อยๆ ขยายไปสู่ชายมุสลิมทั่วไป

         หมวกกปิเยาะห์เดิมใช้วีธีการปักจักรเป็นลวดลายต่างๆ และนิยมใช้สีขาวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังนิยมใช้หมวกกปิเยาะห์ที่ถักด้วยโครเชต์ เพราะพกพาสะดวกและเริ่มใช้หมวกกปิเยาะห์สีต่างๆ บ้างประปราย ซึ่งส่วนใหญ่ จะผลิตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากซาอุดิอาระเบีย

         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พบหลักฐานเป็นภาพถ่ายที่ชาวเมืองปัตตานีจัดขบวนบุหงาสิเระเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ (ดูภาพที่ 4) ประชาชนแต่งกายด้วยเสื้อตือโละบลางอ โพกผ้าที่ศีรษะ ส่วนข้าราชการสวมเสื้อคอปิดแขนยาว สวมหมวกซอเก๊าะ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมสีดำ อย่างไรก็ตามเมื่อประมาณ ร้อยกว่าปีมาแล้วความนิยมใช้หมวกกปิเยาะห์สีขาวเริ่มปรากฏให้เห็น ซึ่งชาวไทยมุสลิมจะใช้เวลาไปทำพิธีละหมาดกับเวลาไปศึกษาหาความรู้ทางศาสนาอิสลาม

         แต่เดิม หมวกกปิเยาะห์สีขาวนี้นิยมใช้กันในหมู่ชาวอาหรับ แต่ทางภาคใต้นั้นมีผู้สวมใส่เป็นประจำ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่เคยไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียมาแล้ว กับผู้ที่กำลัง ทำการศึกษาตามปอเนาะต่างๆ ชาวบ้านจะให้เกียรติต่อบุคคลเหล่านี้มากพอสมควร ส่วนหมวกซอเก๊าะสีดำ ชาวไทยมุสลิมในภาคใต้นิยมใส่ในช่วงเวลาของการไปงานต่างๆ ไปธุระ และไปมัสยิด (ประมูล อุทัยพันธุ์, 2529: 2911) ถ้าเป็นผู้อาวุโส และผู้นำทางศาสนานิยมโพกผ้าทับหมวกกปิเยาะห์ ซึ่งวิธีการสวมแบบนี้ ได้รับอิทธิพลจากชาวเยเมน หรืออาจใช้ผ้าคลุมศีรษะแบบชาวอาหรับก็ได้ (อับดุลเราะมัน เจ๊ะอารง, สัมภาษณ์ 5 สิงหาคม 2548)

อย่างไรก็ตาม หมวกกปิเยาะห์ยังคงได้รับความนิยมสวมใส่เรื่อยมาตราบเท่าทุกวันนี้
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม