ชำแหละปัญหายาเสพติดชายแดนใต้ | |
ผอ.ปปส.ภาค 9 ชำแหละปัญหายาเสพติดชายแดนใต้ นราธิวาสแหล่งใหญ่ โยงไฟใต้-เจ้าหน้าที่?
ปัญหาที่รุมเร้าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้มีแต่ปัญหาความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานร่วม 7 ปีเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ ซุกซ่อนอยู่ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันด้วย และหนึ่งในนั้นคือ จากสถิติการจับกุมคดียาเสพติดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เก็บรวบรวมโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 (ปปส.ภาค 9) พบว่ายอดจับกุมมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2551 มีการจับกุมคดียาเสพติดทั้งหมด 5,297 คดี ปี 2552 ขยับขึ้นเป็น 5,886 คดี ขณะที่ในปีปัจจุบันคือ 2553เพียงแค่ 4 เดือนแรก (ม.ค.- เม.ย.) มียอดจับกุมไปแล้วถึง 2,172 คดี ที่น่าตกใจก็คือ ยาเสพติดประเภทพืชกระท่อม ซึ่งมีฤทธิ์กล่อมประสาท และเป็นที่นิยมของวัยรุ่นตลอดจนเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นยาเสพติดที่มีการซื้อขายและแพร่ระบาดสูงสุดในประเทศ รองลงมาคือยาบ้า โดยมี จ.นราธิวาส เป็นแหล่งพักขนาดใหญ่ “ทีมข่าวอิศรา” สัมภาษณ์พิเศษ นายสงคราม ขำต้นวงษ์ ผู้อำนวยการ ปปส.ภาค 9 เพื่อยืนยันถึงสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ที่กำลังเบ่งบานท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง? ความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากผลการสำรวจล่าสุดที่ทาง ปปส.ภาค 9ได้ว่าจ้างให้นักวิชาการทำการสำรวจ พบว่าประชาชนในพื้นที่มองว่าปัญหาของยาเสพติดมีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขการจับกุม จะพบสถิติการจับกุมสูงขึ้นเช่นกัน ไล่มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2546 หลังจากรัฐบาลในสมัยนั้นประกาศสงครามกับยาเสพติด สถิติการจับกุมพุ่งสูง ต่อมาในปี 2547 ก็ลดต่ำลง จากนั้นก็เริ่มทะยานขึ้นจนถึงปัจจุบัน เป็นสัญญาณว่ามีการค้าและการแพร่ระบาดของยาเสพติดมากขึ้นจริงๆ ประเภทของยาเสพติดที่พบมากคืออะไร? ส่วนใหญ่เป็นยาเสพติดประเภทยาบ้า กัญชาแห้ง และพืชกระท่อม โดยเฉพาะพืชกระท่อมชัดเจนว่าเป็นยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดสูงมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมจะนำเข้ามาจากพื้นที่ภาคใต้ตอนบน จาก จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้มีกลุ่มผู้ค้าเริ่มนำเข้าจากทางประเทศมาเลเซีย โดยจุดที่นำเข้าคือด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา และด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ระยะหลังเริ่มพบการนำเข้าตามแนวชายแดนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลักลอบขนผ่านเส้นทางธรรมชาติ สาเหตุที่มีการลักลอบนำเข้ามากขึ้น เนื่องจากความต้องการของกลุ่มผู้เสพมีจำนวนมาก ราคาของใบกระท่อมจากต้นทางจะอยู่ที่ประมาณ 300-500 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อนำเข้ามาจะขายได้ถึงกิโลกรัมละ 1,500 บาท หากนำเข้าจากมาเลเซียราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท ส่วนใหญ่จะมีการนำเข้ามาครั้งละ 30 กิโลขึ้นไป ยกตัวอย่างนำเข้าใบกระท่อมสดจากมาเลเซีย ต้นทุน 300 บาท เอามา 30 กิโลกรัม ต้นทุน 9,000 บาท แต่เอามาขายกิโลละ 1,000 บาท กำไรอยู่ที่กิโลกรัมละ 700 บาท กำไรที่มากว่า 2 เท่าตัว เป็นมูลเหตุจูงใจให้เกิดกลุ่มผู้ค้าที่ลักลอบนำเข้ายาเสพติดประเภทพืชกระท่อมมากขึ้น แล้วสถานการณ์ยาบ้าเป็นอย่างไร? ส่วนใหญ่ยาบ้าจะมีเส้นทางการขนส่งจากทางประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทย ทั้งชายแดนภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ผ่านภาคกลางมายังพื้นที่ภาคใต้และสามจังหวัดชายแดน บางส่วนก็นำไปพักในประเทศมาเลเซีย เมื่อลูกค้าต้องการจึงจะนำกลับเข้ามาอีกครั้ง ทำให้ดูเหมือนว่ามีการนำเข้ายาบ้าจากประเทศมาเลเซีย แต่จริงๆ แล้วก็เป็นยาบ้าที่ผ่านบ้านเราออกไป ส่วนยาบ้าที่ผลิตในประเทศมาเลเซียนั้น เคยพบบ้างเหมือนกันแต่น้อยกว่ายาบ้าที่ถูกส่งมาจากทางตอนบนของประเทศ สาเหตุที่กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดต้องนำยาบ้าไปพักไว้ในประเทศมาเลเซีย เราพบว่ากลุ่มนักค้ายาเสพติดในพื้นที่โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส มีเครือข่ายค่อนข้างใหญ่และสามารถนำยาบ้าเข้ามาได้ครั้งละมากๆ ประกอบกับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียมีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าเขา จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะทำเป็นจุดพักและซุกซ่อน โอกาสที่เจ้าหน้าที่จะตรวจพบก็ยากกว่า ที่ผ่านมาเคยพบการส่งยาบ้าจากทางฝั่งมาเลเซียย้อนกลับไปขายในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน อย่างพื้นที่ จ.ระนอง เราก็เคยจับกุมได้ เคยตั้งด่านอยู่ที่ อ.ถ้ำพรรณราย จ.นครศรีธรรมราช ตรวจพบยาบ้า ซึ่งจริงๆ แล้วที่ผ่านมาเราเคยพบแต่การตรวจขาลง แต่ครั้งนี้ตรวจพบในขาขึ้นมาจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส เป็นแหล่งพักยาเสพติดแหล่งใหญ่ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ฝั่งไทย คือตัว อ.สุไหงโก-ลก โดยเฉพาะ ต.มูโนะ และฝั่งมาเลเซีย สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มีผลหรือเอื้อต่อการแพร่กระจายหรือขนย้ายยาเสพติดหรือไม่? จริงๆ แล้วมองได้สองด้าน ด้านแรกจะมองว่ายากขึ้นก็ได้ เพราะช่วงเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ มีเจ้าหน้าที่ลงมาในพื้นที่มาก มีการตั้งด่านตั้งจุดตรวจจุดสกัดมาก หลายๆ ครั้งก็สามารถตรวจค้นจนพบยาเสพติด แม้ด่านต่างๆ จะมีเป้าหมายหลักส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง แต่ก็ตรวจพบยาเสพติดอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถือว่าการมีด่านมากๆ เป็นอุปสรรคในการลำเลียงหรือขนส่งยาเสพติดอยู่เหมือนกัน แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ก็ถือว่าปัญหาความไม่สงบเป็นปัจจัยในการเพิ่มยาเสพติดด้วยเช่นกัน เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทุ่มเทกำลังไปทำงานในเรื่องของการเฝ้าระวังการก่อเหตุร้าย ทำให้มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการปราบปรามยาเสพติด อีกประเด็นหนึ่งก็คือ บางพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไม่ค่อยถึง เนื่องจากมีความไม่ปลอดภัย การจะเข้าไปขอความร่วมมือจากประชาชนให้รวมตัวกันต้านภัยยาเสพติดก็ทำได้น้อยลง มีการพูดกันมากเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเสียเอง โดยเฉพาะเป็นผู้ค้า ผู้ขนส่ง หรืออยู่เบื้องหลัง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร? กรณีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวพันกับยาเสพติดถือเป็นส่วนน้อย แต่ก็ยอมรับว่าต้องมีกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการขนส่ง ถือเป็นเรื่องค่อนข้างยากในการเข้าไปดำเนินการ เพราะเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รู้ข้อมูลของฝ่ายรัฐ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการตรวจค้นจับกุมได้ง่าย เช่น การขนส่ง หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐขนส่งเอง เมื่อเจอด่านตรวจค้น เมื่อแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะไม่ถูกตรวจค้น เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐที่จะค้ายาสามารถทำได้ง่ายและสะดวกกว่ากลุ่มอื่นๆ อีกรูปแบบที่เจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ก็พบเป็นส่วนน้อย คือมีเจ้าหน้าที่บางรายที่สามารถจับกุมยาเสพติดได้ แต่ไม่นำส่งยาเสพติดของกลาง โดยอ้างว่าเอายาเสพติดไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้สายข่าว เนื่องจากไม่มีเงินให้ เรื่องนี้มันก็มองได้ 2 มุม กล่าวคืออาจเป็นความจำเป็นของเจ้าหน้าที่รายนั้นเพื่อความสะดวกในการทำงาน หรือจะมองว่าทำให้ยาเสพติดถูกส่งเข้าไปในขบวนการค้ายาต่อไปอีกก็ได้ เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เป็นระดับไหน? ส่วนใหญ่จะไม่พบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ จะพบระดับปฏิบัติมากกว่า เพราะการค้ายาเสพติดมักจะหลบหลีกเจ้าหน้าที่ และเป็นความลับ ยกเว้นกลุ่มที่ถูกจับ อาจจะมีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเรียกค่าตอบแทนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งหรือขายให้กลุ่มผู้ค้า ในปัจจุบันที่มีข้อมูลอยู่ ยังไม่พบชัดเจนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากโรงพักนั้นโรงพักนี้เรียกเก็บรายการจากกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดเหมือนธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ แต่เชื่อว่ามีการเอื้อกัน อย่างบางรายเลี้ยงสายที่เป็นกลุ่มผู้ค้าเอาไว้ ได้ทั้งผลประโยชน์และผลงานในเรื่องการจับกุมยาเสพติด สรุปก็คือมีหลายรูปแบบ หลายพื้นที่กำลังมีปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของยาไอซ์ หรือยาเสพติดประเภทคลับดรัก ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร? ยาไอซ์เป็นยาเสพติดที่เริ่มมีการแพร่ระบาดสูงขึ้น โดยเป็นยาเสพติดประเภทเดียวกับแอมเฟตามีน หรือเมทแอมเฟตามีน แต่มีความบริสุทธิ์มากกว่า คือ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เพราะยาบ้าโดยทั่วไปมีความเข้มข้นเพียง 20-30เปอร์เซ็นต์ จะมีคาเฟอีนหรือแป้งผสมเข้าไป หลายคนจึงนิยมเสพไอซ์ เพราะเชื่อว่าบริสุทธ์กว่า นิยมเสพโดยการนำเกล็ดไอซ์ไปลนกับความร้อนแล้วสูบควันเข้าไป การออกฤทธิ์ของยาเสพติดประเภทนี้ค่อนข้างเร็ว เพียง 8วินาทีก็เข้าสู่สมอง สร้างความพึงพอใจ กระปรี้กระเปร่า จึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ทั้งยังมีความเชื่อว่าไม่ทำให้สุขภาพทรุดโทรม ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ผิดมากๆ แม้ยาไอซ์จะเป็นที่นิยมค่อนข้างสูงในกลุ่มผู้เสพแต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดก็คือเรื่องของราคา เพราะราคาค่อนข้างสูงมาก ขายกัน 1 กรัม 2,000-3,000 บาท ใช้ได้ 3-4 ครั้ง มีมากใช้มาก ปัจจุบันในสถานบริการเป็นแหล่งใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดมาก หากในอนาคตยาไอซ์มีราคาถูกลงจะยิ่งเป็นปัญหามากกว่านี้ มีแนวโน้มที่ยาไอซ์จะราคาถูกลงด้วยหรือ? ปัจจัยที่จะทำให้ยาไอซ์ถูกลง อยู่ที่สารตั้งต้นในการผลิต คือ สารอีพีดี แหล่งผลิตสารตั้งต้นนี้รายใหญ่อยู่ที่ประเทศจีนกับอินเดีย ปัจจุบันจีนให้ความร่วมมือในการควบคุมอย่างเข้มงวด การสั่งซื้อสารอีพีดีต้องชัดเจนว่านำไปเพื่ออะไร โดยหลักส่วนใหญ่จะใช้ไปทำยารักษาไข้หวัดหรืออาการหืดหอบ พอจีนคุมเข้ม ก็เริ่มหันมาใช้อีพีดีเทียม ซึ่งก็มีผสมอยู่ในยาแก้หวัด เคยพบมีการกว้านซื้อยาเหล่านี้เพื่อนำไปสกัดเป็นยาบ้าหรือยาไอซ์ ที่ผ่านมาเคยพบการสั่งยาแก้หวัดจากประเทศมาเลเซียผ่านด่านเข้ามาในประเทศไทยเพื่อส่งออกไปยังแหล่งผลิตในประเทศเพื่อนบ้านอีกที หลายๆ ครั้งที่สามารถจับยาแก้หวัดได้หลักแสนเม็ด พบว่าเอาไปสกัดอีพีดีเทียมเพื่อนำไปทำสารตั้งต้น ฉะนั้นหากกลุ่มผู้ผลิตสามารถหาสารตั้งต้นได้ง่าย และความต้องการของผู้เสพมีมากขึ้น แนวโน้มที่ราคาจะลดลงก็มีมาก การแก้ไขปัญหาเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดในระยะหลังเป็นอย่างไรบ้าง? จริงๆ แล้วทุกวันนี้มีหลายกลุ่มมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนจะรู้กันว่าพื้นที่นี้กลุ่มผู้ค้าคือใคร อยากได้ยาเสพติดต้องติดต่อที่คนนี้ แต่ปัจจุบันไม่มีรูปแบบ ทุกคนที่มีเงินมีศักยภาพก็จะหายาเสพติดได้ เพราะฉะนั้นรูปแบบการพบปะสัมพันธ์แบบเมื่อก่อนจึงไม่มี ทำให้โอกาสในการนำยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ค่อนข้างมีความต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการแพร่กระจายของยาเสพติดมากกว่าเดิม อีกส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากกลุ่มนักค้าที่ถูกจับกุมแล้วไปติดคุก และไปเจอกันในคุก ก็ไปสร้างเครือข่าย เราเคยพบบางครั้งจับได้อยู่กันคนละจังหวัดคนละภาค มาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีเดียวกันและมีความเชื่อมโยงกันในตอนหลัง เพราะส่วนใหญ่ไปรู้จักกันในเรือนจำ ที่ผ่านมาเราคิดว่าเรือนจำเป็นจุดที่จะทำให้กลุ่มคนที่ค้ายาเสพติดยุติบทบาทลง แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ถือว่าเป็นปัญหาที่เรากำลังเร่งแก้ไขกันอยู่ ที่มา : สุเมธ ปานเพชร | |
http://narater2010.blogspot.com/
|
วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556
ผอ.ปปส.ภาค 9 ชำแหละปัญหายาเสพติดชายแดนใต้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น