วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

สรุปข้อมูลสถิติเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้

สรุปข้อมูลสถิติเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ 

 
ขณะที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ (Deep South Watch) สรุปข้อมูลสถิติเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ ประจำเดือนมีนาคม 2556 ระหว่างวันที่ 1 – 31 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของฟาฏอนีย์ ที่นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ กับครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาที่ประเทศมาเลเซีย 
 
สถิติในช่วงดังกล่าวชี้ว่า มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 131 ครั้ง จำแนกเป็นเหตุก่อกวนโดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต มากที่สุดคือ 64 ครั้ง ตามด้วยเหตุยิง 39 ครั้ง วางระเบิด วางเพลิง อย่างละ 9 ครั้ง เหตุจักรยานบอมบ์ 4 ครั้ง โจมตีฐานทหาร 2 ครั้ง ในขณะที่เหตุคาร์บอมบ์ การยิงปะทะ ยิงและเผา และระเบิดและยิง อย่างละ 1 ครั้ง
 
สำหรับเหตุคาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวนั้น พบว่าไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนเหตุจักรยานบอมบ์ทั้ง 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นทหาร 4 รายและเด็กชายวัย 9 ปี 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 40 ราย
 
จากสถิติดังกล่าว พบว่ามีนัยเชื่อมโยงกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังริเริ่มขึ้นอย่างเปิดเผยทั้ง 2 ครั้งระหว่างตัวแทนรัฐไทย ที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กับ ตัวแทนกลุ่มต่อต้านรัฐ นำโดยนายฮัสซัน ตอยยิบ ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐทั้งหมด
 
จากสถิติการก่อเหตุทั้ง 131 ครั้ง พบว่า ทหารเป็นผู้ที่ถูกโจมตีมากที่สุด 57 ราย โดยได้รับบาดเจ็บ 48 ราย เสียชีวิต 9 ราย รองลงมาคือราษฎร เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 40 ราย
 
เมื่อรวมข้อมูลจากฝั่งรัฐทั้งหมด พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดอาวุธหรือเรียกว่าเป้าหมายทางทหารนั้น ตกเป็นเป้าถูกโจมตีมากขึ้น ประกอบด้วย ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ทหาร ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน กองอาสารักษาดินแดน (อส.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ทั้งหมดเสียชีวิต 14 ราย ได้รับบาดเจ็บ 57 ราย รวม 71 ราย
 
เมื่อคำนวณรวมสถิติการโจมตีเป้าหมายทางทหารหรือ Hard target ในรอบเดือนมีนาคม 2556 เดือนเดียว คิดเป็นร้อยละ 51.08 จากจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 139 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บคิดเป็นร้อยละ 56.44 จากจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 101 ราย และเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 36.84 จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด  38 ราย
 
รศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อธิบายว่า สถิติดังกล่าวเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวในการริเริ่มกระบวนการสันติภาพว่า มีแนวโน้มว่าจะมีการมุ่งโจมตีเป้าหมายทางทหาร หรือ Hard target อย่างเช่นทหาร ตำรวจ
 
“อาจจะสะท้อนให้เห็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่น่าจะสอดคล้องกับเงื่อนไขขั้นต้นของการพูดคุยสันติภาพในรอบเดือนที่ผ่านมา” รศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ศรีสมภพ ก็ยังไม่มั่นใจนักว่า การวิเคราะห์ผ่านตัวเลขและสถิติดังกล่าว จะสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้อาจมีเงื่อนไขอื่นๆ มาประกอบสาเหตุการเปลี่ยนเป้าหมายมาสู่การโจมตีเป้าหมายทางทหารหรือ hard target มากขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา 
 
รศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุว่า นี่เป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้น แต่การมุ่งโจมตีเป้าหมายทางทหารหรือ hard target ยังส่งสัญญาณเชิงบวกในแง่ของการเลือกเป้าหมายที่ไม่ใช่ประชาชนที่ถือเป็นเป้าพลเรือนหรือ Soft target ซึ่งจะทำลายความชอบธรรมในการต่อสู้ของกลุ่มขบวนการเอง
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม